ขวัญข้าว คงเดชา
3 กุมภาพันธ์ 2563
เริ่มต้นทศวรรษใหม่ 2020 ด้วยการการระบาดของไวรัส โคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ (2019 Novel Coronavirus: 2019-nCoV) วันที่ 27 ธันวาคม 2562 มีการเผยแพร่ข่าวการระบาดภายในอู่ฮั่นท่ามกลางความสงสัยว่ารัฐบาลจีนกำลังพยายามปกปิดข่าวแม้จะมีบทเรียนจากโรคซาร์สเมื่อปี 2545 หรือไม่
วันที่ 3 มกราคม 2563 ทางการได้ออกมาแถลงถึงการระบาดของโรคไม่ทราบชื่อ
วันที่ 10 มกราคม 2563 พบผู้เสียชีวิตรายแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
วันที่ 13 มกราคม 2563 ไวรัสได้กระจายข้ามมายังประเทศไทยเป็นประเทศแรก ก่อนจะมีการค้นพบที่ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา เนื่องด้วยช่วงเวลาตรุษจีนที่มีการหยุดยาวส่งผลให้มีการแพร่ระบาดของโรคออกจากเมืองอู่ฮั่นไปยังเมืองอื่นๆ ในจีนและประเทศโดยรอบ
วันที่ 19 มกราคม 2563 ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้
วันที่ 22 มกราคม 2563 มีการสั่งปิดเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด
วันที่ 28 มกราคม 2563 รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 107 ราย จำนวนคนป่วย 4,474 คน เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนสูงถึง 4,409 คน[1]
การแพร่ระบาดของโรคไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 เกิดการระบาดของโรคซาร์ส ที่มาจากตระกูลเดียวกันกับไวรัสอู่ฮั่น โคโรน่า 2019 และเริ่มมาจากที่เมืองจีนเหมือนกัน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 774 คนและผู้ป่วย 8,098 คน การจัดการของจีนที่ไม่รายงานให้ WHO และการปกปิดข้อมูลทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคชาร์สจนลามไป 30 ประเทศทั่วโลก ประเทศเพื่อนบ้านจีนจึงพยายามเพิ่มมาตรการป้องกันการระบาดอย่างจริงจัง ทว่าถึงแม้จะมีมีบทเรียนมาก่อนหน้าแต่หลายประเทศก็ยังมีปัญหาให้การจัดการและตั้งรับ ภัยคุกคาม ดังกล่าวที่ปรับตัวไปตามบริบทสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลง
โรคระบาดหรือไวรัสถือเป็นหนึ่งในภัยความมั่นคงของรัฐ ในทางตรงมีความเสี่ยงต่อชีวิตของประชาชนภายในประเทศ ในทางอ้อมก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม (โดยเฉพาะความเชื่อใจและเชื่อมั่นในผู้กุมอำนาจรัฐ) ในเหตุการณ์ตึงเครียดเช่นนี้รัฐกลายเป็นผู้เล่นหลักที่จะต้องจัดการกับปัญหาโดยมีหน้าที่ในการเสริมสร้างสาธารณสุขให้ทุกกลุ่มคนภายในประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว คล้ายคลึงกับทฤษฏีสัญญาประชมคม (Social Contract) ที่ว่ามนุษย์นั้นไม่มั่นใจในความปลอดภัยและอิสรภาพของตนจึงได้ยินยอมยกสิทธิตามธรรมชาติให้แก่รัฐ ฉะนั้นรัฐจึงมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
ในกรณีภัยคุกคามจากโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นสามารถกล่าวโยงไปถึง กระบวนการประกอบสร้างความมั่นคง (Securitization) โดย Cophenhegen School of Security Study ได้มีการอธิบายถึงกระบวนการดังกล่าวว่าเป็นการทำให้ประเด็นหนึ่งกลายเป็นเรื่องของความมั่นคง โดยไม่ได้สนใจว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นภัยความมั่นคงจริงหรือไม่ แต่เป็นการกระทำที่ใช้การสื่อสาร หรือ วัจนกรรม (Speech Acts) เพื่อจะโน้มน้าวว่าเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องของความมั่นคง ผลกระทบจากกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคงเป็นได้ทั้งบวกและลบ ทว่าสิ่งที่สำคัญในกระบวนการนั้นคือการที่ประชาชนตกลงสมัครใจที่จะยกสิทธิของตนให้เป็นอำนาจเด็ดขาดของรัฐในการตัดสินใจ
ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นั้นเป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลที่จะจัดการอย่างไรกับสิ่งที่มีอยู่ในมือ กระบวนการประกอบสร้างความมั่นคงเปิดโอกาสให้มีการใช้สภาวะฉุกเฉินที่อยู่นอกเหนือการควบคุมภายใต้ระบอบประชาธิบไตย ในกรณีของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เห็นได้ถึงการละเมิดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว (Freedom of movement) อาทิ สั่งปิดเมืองอู่ฮั่นและคำสั่งกักกันตัว (Quarantine) ภายในสนามบิน เพียงแค่เอ่ยคำว่าภัยคุกคามทางความมั่นคงก็ล้วนแต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องให้ความสำคัญอย่างรวดเร็ว ทำให้ 1. ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ 2. มีความชอบธรรมที่จะปฏิบัตินอกกรอบความเป็นประชาธิปไตย จากกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคง รัฐสามารถโน้มน้าวให้ประชาชนยอมยกอำนาจที่มีแลกกับการคุ้มครองสวัสดิภาพของตน การยินยอมนี้ส่งผลให้การใช้อำนาจของรัฐนั้นมีความชอบธรรม
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ย้อนกลับไปถามถึงการโต้เถียงในแวดวงรัฐศาสตร์และความมั่นคงว่าระหว่าง State security (ความมั่นคงของรัฐ) และ Human Security (ความมั่นคงของมนุษย์) อะไรคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่า?
ในกรณีของภัยความมั่นคงอย่างไวรัสอู่ฮั่นนั้นมีคำตอบที่เห็นชัด ทุกรัฐให้ความสำคัญกับเรื่องของความมั่นคงที่ข้องเกี่ยวกับอธิปไตยและทรัพยากร ไม่สำคัญว่าจะเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนหรือไม่ ในกรณีนี้ที่ประชาชนถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญของรัฐ การปกป้องความมั่นคงของรัฐก็ถือว่าเท่ากับปกป้องคนในรัฐไปในตัว ทว่าในเรื่องที่เป็นสีเทาอย่างผู้ลี้ภัยในยุโรปก็ยังคงเป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงกันต่อไป
ในขณะเดียวกันหัวข้อของการสมัครใจมอบอำนาจให้แก่รัฐของประชาชนก็สามารถมองได้ออกเป็นสองแบบ ปฏิกิริยาตอบโต้ของประชาชนต่อการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดข่าว การออกมาแถลงต่อหน้าสื่อว่าไม่มีปัญหา มองว่ามันก็คือโรคหวัดโรคนึง หรือการเลือกที่จะต้อนรับคนจีนในเทศกาลปีใหม่และย้ำว่ายังคงรับมือได้
1. ถ้าหากรัฐบาลมีความไว้วางใจจากประชาชนสูง การกระทำดังกล่าวก็จะส่งผลดี ประชาชนเล็งเห็นว่ารัฐไม่ได้ตื่นกลัวเพราะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เชื่อมั่นและเพิ่มความรู้สึกที่ว่าพวกเขานั้นต้องการรัฐในฐานะคนที่ให้ความคุ้มครอง ส่งผลให้รัฐมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจต่อไปแม้ว่าจะขัดกับหลักประชาธิปไตยในยามสภาวะฉุกเฉินโดยที่ประชาชนไม่คิดจะตั้งคำถาม ทว่าในทางตรงกันข้าม
2. หากรัฐบาลที่ไร้ซึ่งความไว้วางใจกระทำการดังกล่าว การพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยวิธีเช่นนั้นจะทำให้เกิดปรากฎการณ์ผลตรงกันข้าม (Backfire Effect) ประชาชนมองว่าเป็นการปกปิดการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่มั่นใจที่จะให้รัฐคุ้มครองสวัสดิภาพของตนต่อดังที่เห็นได้ในสื่อออนไลน์และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในปัจจุบันตั้งแต่เรื่องของฝุ่น Pm 2.5 แม้จะไม่ได้เป็นการสร้างความมั่นคงจากวัจนกรรมแต่ก็เป็นการกระทำที่ส่งผลให้เกิดความกลัวและความหวาดระแวงเพิ่มมากยิ่งขึ้นภายในสังคม (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) และอีกครั้งเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐ แม้จะวิพากษ์วิจารณ์แต่สุดท้ายก็ยังต้องการให้รัฐออกมาจัดการ
ความหวาดกลัวทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐทำอะไรก็ได้ ในกรณีของประเทศไทยมีประชาชนหลายคนออกมาเรียกร้องให้รัฐมีความเด็ดขาด ยกเลิกทุกเที่ยวบินจากประเทศจีนและส่งนักท่องเที่ยวจีนทุกคนกลับประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยที่มาจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นจะเสียหายแต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำเพื่อปกป้องประชาชน หรือแม้แต่เรื่องของนักศึกษาไทยที่เมืองอู่ฮั่นของประเทศจีนที่หลายคนเห็นชอบให้รัฐใช้อำนาจส่งเครื่องบินไปรับกลับมาโดยไม่สนใจว่ามีกฎเกณฑ์นานาชาติและหลักปฏิบัติเตรียมพร้อมกับสถานการณ์เช่นนี้อยู่ กล่าวคือ รัฐนั้นมีอำนาจจากแรงสนับสนุนของประชาชนสามารถทำอะไรก็ได้ในช่วงเวลาเช่นนี้
———————————
สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
28 มกราคม 2563
[1] สถิติ ณ วันที่ 28 มกราคม 2563 เวลา 12.15 น. Retrieved from https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6 โดยมหาวิทยาลัย Johns Hopkins Whiting School of Engineering