ศิปภน อรรคศรี
4 กุมภาพันธ์ 2563
20 คน ทนกันไหวหรือ? ข้อสังเกตต่อความไม่ยืดหยุ่นของกลไกและระเบียบการเลือกตั้งในการมีผู้ช่วยหาเสียง
อ้างอิงจาก “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วย วิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561” ข้อ 15 ให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตมีผู้ช่วยหาเสียงจำนวนไม่เกิน 20 คนต่อเขตเลือกตั้ง และด้วยผลของระเบียบข้อบังคับดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาสำคัญคือ การมีจำนวนผู้ช่วยหาเสียงที่จำกัดเพียง 20 คน อาจไม่สัมพันธ์กับสภาพความจริงของพื้นที่เขตเลือกตั้ง
กฎหมายไม่ได้ให้ความยืดหยุ่นในกรณีที่พื้นที่เขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ ดังที่จะคำนวณเปรียบเทียบแบบเข้าใจง่ายที่สุดต่อไปนี้ โดยรวมพื้นที่ของอำเภอหนองเรือเข้ากับพื้นที่ของอำเภอมัญจาคีรีแล้วจะได้พื้นที่รวมกัน 1,409.6 ตร.กม. ซึ่งหากคำนวณอย่างง่ายที่สุด สมมติว่าผู้สมัครตั้งใจส่งผู้ช่วยหาเสียงทั้ง 20 คน กระจายกันลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทำความรู้จักกับชาวบ้านของแต่ละตำบลให้มีความครอบคลุมทุกพื้นที่ หากคำนวณตามนี้แล้ว โดยเฉลี่ย ผู้ช่วยหาเสียง 1 คน มีหน้าที่รับผิดชอบหาเสียงให้ผู้สมัครพื้นที่คนละ 70.48 ตร.กม.
หรือหากเปลี่ยนมาใช้การคำนวณจากจำนวนของหน่วยเลือกตั้งแทน เขตเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่น เขต 7 มีหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 271 หน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ อำเภอมัญจาคีรีมีจำนวนหน่วยเลือกตั้ง 118 หน่วย และอำเภอหนองเรือมีหน่วยเลือกตั้งจำนวน 153 หน่วย หากคำนวณอย่างง่ายที่สุดว่าด้วยผู้ช่วยหาเสียงจำนวน 20 คน ทุกคนต้องแบ่งพื้นที่รอบหน่วยเลือกตั้งที่ต้องกระจายกันรับผิดชอบหาเสียงครบทั้ง 271 หน่วยเลือกตั้ง เมื่อคำนวณตามนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ช่วยหาเสียง 1 คนจำเป็นต้องรับผิดชอบหาเสียงในพื้นที่รอบๆ14 หน่วยเลือกตั้ง จึงจะสามารถรับผิดชอบหาเสียงได้ครบทุกพื้นที่
เพื่อเป็นการสรุปในส่วนนี้ การทุจริตละเมิดกติกาการเลือกตั้งจึงอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการที่ระเบียบ กกต. อนุญาตให้มีผู้ช่วยหาเสียงได้เพียง 20 คนต่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต 1 คน ซึ่งจะทำให้การประชาสัมพันธ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่เจาะลึกครอบคลุมในแต่ละพื้นที่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพื้นที่นั้นๆมีหมู่บ้านเล็กจำนวนมากหรือเส้นทางการเดินทางยากลำบาก ยิ่งส่งผลให้ผู้ช่วยหาเสียงไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาความไม่เพียงพอของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงที่ระเบียบจำกัดจำนวนคนมาให้ จะนำไปสู่การทุจริตละเมิดกฎกติกาโดยมีการเปลี่ยนไปใช้การรับอาสาสมัคร (แต่ทว่ารับค่าจ้างและทำหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ช่วยหาเสียง) จำนวนมากเพื่อช่วยหาเสียง แทนที่สัดส่วนของผู้ช่วยหาเสียงที่ถูกจำกัดจำนวนแทน
ล้านห้าพี่ว่าไง? ข้อสังเกตต่อกลไกและระเบียบจำกัดงบประมาณที่ใช้ได้ในการหาเสียง
ข้อกฎหมายสำคัญที่จะนำมาพิจารณาในประเด็นนี้คือ “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561” ในข้อ 8 งบประมาณที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตสามารถใช้ได้ในช่วงเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง จำกัดงบอยู่ที่ 1,500,000 บาทเท่านั้น โดยหากนำมาคำนวณอย่างง่ายที่สุดตามข้อจำกัดขนาดพื้นที่จริง เขตเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่น เขต 7 นั้น มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 271 หน่วย และพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,409.6 ตร.กม. ด้วยงบประมาณที่จำกัดไว้ที่ 1,500,000 บาท เท่ากับว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้สมัครสามารถใช้งบประมาณหาเสียงต่อบริเวณ 1 หน่วยเลือกตั้งได้ไม่เกินหน่วยเลือกตั้งละ 5,535 บาท หรือเฉลี่ยต่อทุก 1 ตร.กม. สามารถใช้งบประมาณหาเสียงได้ไม่เกิน 1,064 บาท เท่านั้น
ทั้งนี้หากคำนวณแต่เพียงสื่อช่วยหาเสียงอย่างป้ายหาเสียงหรือใบปลิวแนะนำตัวผู้สมัคร ก็คงไม่เพียงพอ เพราะการหาเสียงยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายจำเป็น ตัวอย่างเช่น รถหาเสียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ผู้สมัครให้ผู้มีสิทธิที่อยู่ในพื้นที่ได้รับทราบ ซึ่งการจ้างรถหาเสียงนั้นมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมด้วย ได้แก่ ค่าตกแต่งรถหาเสียง, ค่าน้ำมันรถ, ค่าเครื่องเสียง, ค่าจ้างทีมงานประจำรถหาเสียง ฯลฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการลงพื้นที่หาเสียง อีกทั้งยังต้องจ่ายเป็นรายวัน ระยะเวลาต่อเนื่องหลายวันก่อนเลือกตั้ง เนื่องจากต้องตระเวนหาเสียงให้ครอบคลุมพื้นที่จนผู้ใช้สิทธิสามารถจำชื่อและพรรคของผู้สมัครได้
นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างการปราศรัยใหญ่ของพรรคในเขตเลือกตั้งอีกด้วย ดังกรณีเขต 7 จังหวัดขอนแก่น ช่วงเลือกตั้งซ่อม ที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐจัดเวทีปราศรัยหาเสียงก่อนเลือกตั้งพรรคละ 2 สัปดาห์ แต่ละสัปดาห์มีการปราศรัยต่อเนื่องกัน 2 ครั้ง ใน 2 พื้นที่ต่างกัน เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการละเมิดระเบียบกติกาว่าด้วยข้อจำกัดงบประมาณในการหาเสียงเพียง 1,500,000 บาท ซึ่งนำมาสู่ข้อสงสัยว่า ระเบียบกติกาออกแบบมาสัมพันธ์กับความเป็นจริงของการหาเสียงเลือกตั้งเพียงใด?
โดยสรุปแล้ว การที่มีกลไกและระเบียบในการพยายามสร้างความเท่าเทียมในการหาเสียงระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็กโดยจำกัดงบประมาณที่ใช้ได้ในการหาเสียงนั้น ยังมีข้อควรพิจารณาโดยสรุปอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก การพยายามจำกัดงบประมาณหาเสียงของพรรคเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากและมีแนวโน้มส่งผลให้พรรคการเมืองเกิด “พฤติกรรมเสี่ยงทางจริยธรรม” ที่จะมองหาช่องว่างในการปลอมแปลงบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการจำกัดจำนวนผู้ช่วย ทำให้พรรคใช้ช่องว่างของระเบียบในการมีอาสาสมัครเพื่อแทนที่จำนวนผู้ช่วยที่ไม่เพียงพอ กล่าวคือ ช่องโหว่ของการออกแบบกลไกและระเบียบนั้นกลับกลายเป็นตัวแปรให้ผู้สมัครหาทางทำการทุจริตต่อกติกาการเลือกตั้งเสียเอง
ถัดมาประการที่สอง งบประมาณที่จำกัดตายตัวเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศนั้นไม่ได้แสดงถึงความเท่าเทียมเป็นธรรมเสมอไป เนื่องจากเขตเลือกตั้งบางเขตมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง ดังกรณีของเขต 7 จังหวัดขอนแก่น และด้วยความกว้างของพื้นที่ทำให้งบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ยิ่งสูงตามไปด้วย หากต้องการให้ผู้สมัครมีความซื่อตรงต่อระเบียบกติกายิ่งขึ้น ตัวระเบียบกติกาเองก็จำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที
และประการสุดท้าย หากอ้างอิงตาม “ระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง ว่าด้วยการจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยงานของรัฐ 2562” รัฐมีหน้าที่จัดหาและอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยสะดวก ทว่าการอำนวยความสะดวกในการเดินทางโดยรัฐยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้อาจเสี่ยงเกิดปัญหาสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเขตเลือกตั้ง ในจุดนี้อาจเป็นการเปิดช่องให้ผู้สมัครทำการทุจริตอำนวยความสะดวกและให้เงินค่าเดินทางเพื่อจูงใจให้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง รัฐจึงต้องมีหน้าที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครคนใดอาศัยโอกาสนี้ทำการทุจริตต่อกติกาการเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายภาคหน้า