ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
4 กุมภาพันธ์ 2563
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานความนิยมในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง หรือเป็นการตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานของความนิยมในพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ล้วนเป็นประเด็นที่เป็นที่สนใจในการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่เสมอ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยในระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มมีคำอธิบายที่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจเลือกเพราะความนิยมในพรรคการเมืองมากขึ้น
.
ส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไปเป็นแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ใบหนึ่งเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ส่วนอีกใบหนึ่งเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554) หรือการเลือก ส.ส. ระบบสัดส่วนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
.
ผลจากการมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ภูมิทัศน์ทางการเมืองอย่างสำคัญตรงที่พรรคการเมืองต้องรณรงค์หาเสียงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ และการที่พรรคการเมืองจะได้คะแนนเสียงจากทั้งประเทศได้นั้น เครื่องมือสำคัญคือการนำเสนอนโยบาย การเมืองไทยกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาจึงเปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่ “การเมืองเชิงนโยบาย” มากขึ้น ซึ่งมีผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกตั้งไปสู่การเลือกพรรคการเมืองมากขึ้น
.
จังหวัดขอนแก่นเป็นที่รู้จักว่าเป็นพื้นที่ที่เป็น “หัวใจ” สำคัญของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานซึ่งครองความนิยมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 จนมาถึงพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 และพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมอย่างสูงเท่านั้น นับตั้งแต่การเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 จนถึงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 พรรคไทยรักไทย, พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย สามารถชนะได้ทุกเขตเลือกตั้ง คว้าทุกที่นั่งในจังหวัดขอนแก่น
.
แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม 2562 ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงได้ที่นั่งมากที่สุดถึง 8 จาก 10 ที่นั่ง โดยที่ 2 ที่นั่งที่เสียไปนั้นเสียให้แก่พรรคอนาคตใหม่ และพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็เริ่มมีคำถามเช่นเดียวกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับความนิยมของพรรคเพื่อไทยในจังหวัดขอนแก่น และความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่เริ่มทำให้มีการตั้งข้อสังเกตกันอีกครั้งว่าการเลือกตั้งในจังหวัดขอนแก่นเป็นการเลือก “พรรค” หรือเลือก “คน”
.
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง เขต 7 จังหวัดขอนแก่น ในพื้นที่อำเภอหนองเรือ และอำเภอมัญจาคีรี ในวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2562 จึงกลายเป็นบททดสอบสำคัญว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เป็นการเลือก “คน” หรือการเลือก “พรรค” เพราะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง นายธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย กับนายสมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัครหมายเลข 2 พรรคพลังประชารัฐ
.
ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าพรรคเพื่อไทยครองความนิยมในจังหวัดขอนแก่นมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นหาก “กระแสพรรค” ยังดีอยู่ รวมถึงความนิยมในนโยบายตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทยก็น่าจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนตัวผู้สมัครคนใหม่เป็นนายธนิก ซึ่งเป็นคนอำเภอมัญจาคีรีโดยกำเนิด แต่ในอีกทางหนึ่ง นายสมศักดิ์ไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ แต่เคยเป็นอดีต ส.ส. มาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2531 – 2548 และเคยสังกัดหลายพรรคการเมือง รวมถึงเป็นคนอำเภอหนองเรือโดยกำเนิดด้วย จึงเชื่อได้ว่านายสมศักดิ์มีฐานคะแนนส่วนตัวอยู่ไม่น้อย ในแง่นี้ ความเป็นไปได้ที่นายสมศักดิ์จะชนะเลือกตั้งก็มีเช่นกัน
.
ในแง่ฐานคะแนนของนายสมศักดิ์ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 นายสมศักดิ์ได้รับเลือกตั้งโดยได้คะแนนไป 26,334 คะแนน (ขณะนั้นสังกัดพรรคเสรีธรรม) ส่วนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 นายสมศักดิ์ได้ไปถึง 52,701 คะแนน (ขณะนั้นสังกัดพรรคไทยรักไทย) ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 นายสมศักดิ์ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วยเพราะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคนั้น จึงส่งภรรยา คือนางประทุมรัตน์ คุณเงินลงสมัคร (ขณะนั้นสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน) ได้ไป 86,047 คะแนน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง (ในตอนนั้นเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขต) ส่วนการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 ได้ส่งพี่ชายนายจงรักษ์ คุณเงิน ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยได้คะแนนไป 30,412 คะแนน แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง จากสถิติจะเห็นได้ว่านายสมศักดิ์มีฐานคะแนนเสียงส่วนตัวเดิมอยู่พอสมควร
.
ส่วนฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น หากว่ากันตามความเป็นจริงแล้วเพิ่งจะสามารถปักธงในพื้นที่เขตนี้ได้เมื่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 สมัยยังเป็นพรรคไทยรักไทย และนายสมศักดิ์ยังลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 52,701 คะแนน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมอย่างสูงสุดจากนโยบายประชานิยม ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขต ในเขตนี้ผู้สมัครทั้ง 3 คนจากพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งทั้งหมด ได้แก่ นายนวัธ เตาะเจริญสุข (119,614 คะแนน), นายปัญญา ศรีปัญญา (110,3111 คะแนน) และนายจตุพร เจริญเชื้อ (105,315 คะแนน) ส่วนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งเขตเล็ก 1 เขต 1 คน นายนวัธ เตาะเจริญสุข จากพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้ง โดยได้คะแนน 50,854 คะแนน หากดูจากสถิติจะเห็นได้ว่า ฐานคะแนนความนิยมในพรรคการเมือง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ไม่ว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน