Articles By Election

เลือกคนหรือเลือกพรรค (ตอนที่ 2)

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
4 กุมภาพันธ์ 2563


จากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นที่น่าจับตาว่าเขต 7 นี้ จะเป็นการเลือก “คน” หรือ พรรค” เพราะเป็นการแข่งขันกันระหว่างนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส. เจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย กับนายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีต ส.ส. พื้นที่จากพรรคพลังประชารัฐ โดยมีพรรคอนาคตใหม่ และพรรคอื่นๆ เป็นตัวแปรที่จะตัดคะแนนเช่นกัน
.
ผลปรากฎว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ 95,049 คน คิดเป็นร้อยละ 71.58 นายนวัธ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 29,745 คะแนน ส่วนนายสมศักดิ์ได้ไป 26,553 คะแนน ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าช่องว่างของคะแนนนั้นห่างกันเพียง 3,192 คะแนน ส่วนพรรคอนาคตใหม่นั้น นายสมควร ไกรพนได้คะแนนไป 12,414 คะแนน ส่วนพรรคอื่นๆ ได้คะแนนรวมกัน 19,999 คะแนน มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 71.58
.
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด อำเภอมัญจาคีรี นายนวัธได้ไป 12,986 คะแนน ส่วนนายสมศักดิ์ได้ไป 10,062 คะแนน ในขณะที่อำเภอหนองเรือ นายสมศักดิ์ได้คะแนนไปถึง 15,290 คะแนน ส่วนนายนวัธได้ไป 13,854 คะแนน
.
ในระดับอำเภอจะเห็นได้ว่าอำเภอมัญจาคีรีเป็นฐานเสียงของนายนวัธและพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ส่วนอำเภอหนองเรือก็เป็นพื้นที่ของนายสมศักดิ์อย่างชัดเจนเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรที่จะต้องวิเคราะห์อีกสองปัจจัยคือ คะแนนเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักร และจำนวนบัตรเสีย ซึ่งพบว่ามีผลต่อการแพ้ชนะเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน
.
ในส่วนของคะแนนเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักร นายนวัธได้ไป 2,724 คะแนน ในขณะที่นายสมศักดิ์ได้ไปเพียง 862 คะแนน และเมื่อวิเคราะห์จากจำนวนบัตรเสีย พบว่าสูงถึง 5,524 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.81 ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบช่องว่างของคะแนนระหว่างนายนวัธกับนายสมศักดิ์ ถึงแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน แต่ก็สามารถอธิบายได้ว่า คะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร รวมถึงจำนวนบัตรเสีย มีผลต่อการตัดสินผลแพ้ชนะในเขตเลือกตั้งนี้ไม่มากก็น้อย
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายนวัธถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. จากการต้องโทษคำพิพากษาประหารชีวิต จึงทำให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างในวันที่ 22 ธันวาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐยังคงส่งนายสมศักดิ์ คุณเงินลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนมาส่งนายธนิก มาสีพิทักษ์ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน
.
ด้วยช่องว่างของคะแนนที่ห่างกันเพียง 3,192 คะแนน จึงทำให้ผลแพ้ชนะยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก ในมุมพรรคเพื่อไทยอาจจะมองว่าหากเกิดปรากฎการณ์ “เทคะแนน” เหมือนการเลือกตั้งซ่อมเขต 5 จังหวัดนครปฐม บวกกับความนิยมของพรรคในพื้นที่ ก็น่าจะชนะได้ แต่ในมุมของพรรคพลังประชารัฐก็อาจจะมองว่า ผู้สมัครคือนายสมศักดิ์มีฐานคะแนนเดิมอยู่พอสมควรอยู่แล้ว อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ไม่ได้แพ้อย่างขาดลอย จึงน่าที่จะพลิกกลับมาชนะได้ไม่ยาก
.
อนึ่ง ตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้คือ คนที่จะกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะเป็นการเลือกตั้งเพียงวันเดียว ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต อีกทั้งยังเป็นช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ และจำนวนบัตรเสีย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐต่างรณรงค์หาเสียงเน้นย้ำในทุกเวทีเสมอ นอกเหนือไปจากการณรงค์ความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ระหว่างนายธนิก ซึ่งเป็นคนอำเภอมัญจาคีรีโดยกำเนิด กับนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นคนอำเภอหนองเรือโดยกำเนิด

รวมไปถึงความสำเร็จในเรื่องนโยบาย ทางพรรคเพื่อไทยก็ชูความสำเร็จของนโยบายพรรคไทยรักไทยในอดีต ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็ชูนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน และความเป็นพรรครัฐบาลที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้
.
ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า นายสมศักดิ์ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 40,252 คะแนน ส่วนนายธนิกได้คะแนน 38,010 คะแนน ซึ่งในครั้งนี้ช่องว่างของคะแนนลดลงเหลือเพียง 2,242 คะแนน เมื่อวิเคราะห์คะแนนแยกอำเภอก็สะท้อนภาพฐานเสียงที่ชัดเจน ในอำเภอมัญจาคีรี นายธนิกได้ 18,086 คะแนน ส่วนนายสมศักดิ์ได้ 15,111 คะแนน ส่วนอำเภอหนองเรือ นายธนิกได้ 19,873 คะแนน ส่วนนายสมศักดิ์ได้ 25,040 คะแนน
.
จะเห็นได้ว่า อำเภอมัญจาคีรียังคงเป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคเพื่อไทย แต่ในอำเภอหนองเรือนั้นก็เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นของนายสมศักดิ์เช่นเดียวกัน แต่ในอำเภอนี้นายสมศักดิ์ค่อนข้างชนะขาด จึงทำให้นายสมศักดิ์ได้รับเลือกตั้ง ภาพการแบ่งแยกฐานคะแนนเสียงอย่างชัดเจนระหว่างอำเภอมัญจาคีรีและอำเภอหนองเรือจึงเป็นภาพที่ถูกฉายซ้ำต่อจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562
.
ส่วนจำนวนบัตรเสียนั้นลดลงเหลือ 1,680 ใบ คิดเป็นร้อยละ 2.07 อนึ่ง อีกปัจจัยสำคัญคือการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 81,063 คน คิดเป็นร้อยละ 61.38 ซึ่งลดลงจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ถึง 13,986 คน คิดเป็นร้อยละ 10.2 จึงน่าสนใจว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นกลุ่มก้อนคะแนนสำคัญที่หายไปที่ส่งผลต่อผลแพ้ชนะในครั้งนี้เช่นกัน
.
การเลือกตั้งซ่อมเขต 7 จังหวัดขอนแก่น จึงเป็นสนามการเลือกตั้งที่สูสีและแข่งขันกันสูงมาก จากข้อมูลสถิติและข้อมูลภาคสนามที่ได้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิจัย พบว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งในเขตนี้ยังคงมีทั้งการเลือกตั้งจากความนิยมในตัวบุคคล และความนิยมในพรรคการเมือง
.
เมื่อพิจารณาจากผลคะแนนที่สะท้อนออกมาทั้งการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 และการเลือกตั้งซ่อมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ก็จะเห็นได้ว่าช่องว่างของคะแนนผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งกับผู้สมัครที่ได้อันดับ 2 ยังห่างกันไม่มากนัก อยู่ที่ระหว่าง 2,000 – 3,000 คะแนน จึงทำให้เชื่อได้ว่าปัจจัยตัดสินผลแพ้ชนะในเขตเลือกตั้งนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอนาคต
.
คำอธิบายพฤติกรรมการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนี้จึงอาจไม่ได้มีเพียงคำอธิบายหนึ่งเดียวว่าเลือก “คน” หรือเลือก “พรรค” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจเลือกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีทั้งเรื่องของความนิยมในตัวผู้สมัครเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือความนิยมในพรรคการเมืองอีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกระแสที่ขับเคี่ยวอย่างสูสีในการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: