ขวัญข้าว คงเดชา
4 กุมภาพันธ์ 2563
#เลือกตั้งซ่อมเขต7ขอนแก่น ในวันที่ 22 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา กระแสตอบรับต่อผลการเลือกตั้งโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ปรากฏข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกด้วยถ้อยคำของความโกรธเคือง ผิดหวัง หรือแม้แต่ท้อแท้สิ้นหวังกับอนาคตของประเทศ ผลคะแนนการเลือกตั้งซ่อมกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ของกลุ่มคนในโลกโซเซียล ทั้งยังไม่ปักใจเชื่อว่าชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐนั้นจะเกิดขึ้นจริง (อย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม) สิ่งที่เห็นชัดนอกจากการวิจารณ์ประเด็นของการโกงเลือกตั้งคือกระแสโจมตีประชาชนในเขต 7 ของจังหวัดขอนแก่นที่หลายฝ่ายเรียกว่าเป็นพื้นที่ เมืองหลวงของเสื้อแดง ถูกชี้นำกลับไปถึงวาทกรรม โง่ จน เจ็บ ที่ว่าชาวบ้านนั้นโง่เขลา ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง ถูกชักจูงโดยง่ายจากเศษเงิน และต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจ ซึ่งทัศนคติเหล่านี้มีอยู่เต็มไปหมดในโลกโซเชียลแม้จะไม่ได้กล่าวออกมาเสียงดังหรือเขียนออกมาตรงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา คนในพื้นที่นั้นโง่เขลายอมขายเสียงทำลายชะตาของประเทศเพื่อเศษเงินดังที่ได้กล่าวไว้จริงหรือ?
.
‘พลังประชารัฐมันโกง!’ ‘มันต้องมีการโกงกันแน่ๆ ไม่งั้นพรรคลุงไม่ชนะหรอก’ หรือ ‘งงมาก คนเกลียดพรรคนี้เยอะมาก แต่พอเลือกตั้งมันดันชนะ (เพราะอะไร) ???’ เป็นตัวอย่างของความขัดแย้งที่ประชาชนบนโลกโซเชียลแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ถึงชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐ (‘พรรคพลังเขย่ง’) โดยพวกเขาไม่สามารถทำให้ตัวเองเชื่อได้ว่าจังหวัดขอนแก่นซึ่งตลอดมานั้นเป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทยในที่สุดถูกสั่นคลอนลง หลายคนอาจลงความเห็นว่ากลไกการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม กล่าวได้ว่าคนในโลกโซเชียลยังยึดภาพในอุดมคติว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยมีลักษณะเป็นการต่อสู้ระหว่างขาวและดำ และปฏิเสธปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ออกมาอย่างที่ปรากฎ แม้ด้วยช่องว่างของกฎระเบียบและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ทำให้เห็นช่องว่างที่อาจจะใช้เป็นโอกาสของการทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ แต่ที่ผ่านมาอย่างในกรณี #กกต.มีธง #ยุบกกต ก็ไม่ได้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการฉ้อโกงอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม การที่ไม่ปรากฏการร้องเรียนจากคนภายในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้สังเกตุการณ์แทนพรรคเพื่อไทยที่เฝ้าจับตาอยู่ทุกหน่วยเลือกตั้งอย่างแข็งขัน เพราะฉะนั้นแล้วแม้จะพบเห็นช่องว่างที่สามารถเอื้อต่อการทุจริตการเลือกตั้ง แต่การทุจริตหรือการโกงการเลือกตั้งที่จะสามารถส่งผลในการลงโทษผู้สมัครและพรรคการเมืองยิ่งจำเป็นที่จะต้องมีหลักฐานที่เป็นรูปธรรม
.
‘ประชาธิปไตยจบสิ้น ประเทศจะต้องรับกรรม’ คือประโยคของการตัดพ้อและแสดงออกถึงความท้อแท้ที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างระหว่างคนนอกและคนในพื้นที่ ‘ประชาธิปไตยล่มสลาย เผด็จการจงเจริญ’ คืออะไร แล้ว ‘เศรษฐกิจประเทศตกต่ำ’ สำคัญแค่ไหนสำหรับชาวบ้านที่วิถีชีวิตความความเป็นอยู่ และความต้องการความใส่ใจจากภาครัฐของพวกเขา ฉะนั้นแล้ว ‘การเลือกพรรคที่ชอบกาคนที่ใช่’ นั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ปากท้องความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แนวความคิดเช่นนี้เป็นเหตุผลที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้แทนในการเลือกตั้งซ่อม แม้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านเลือกนั้นก็ไม่ตรงใจกับคนนอกพื้นที่ที่เฝ้าจับตามองก็ตาม ภาพที่ปรากฏสำหรับคนในโลกโซเชียลจึงการเป็นการเปรียบความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยเป็นความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย ความเป็นเผด็จการที่โลกออนไลน์พยายามจะผูกยึดไว้กับฝ่ายบริหารทำให้เขาตีตราทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐโดยไม่ตระหนักถึงเส้นแบ่งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาถึงจะถูกโลกออนไลน์ตีตราว่าเป็นเผด็จการแต่ยังอยู่ในกระบวนการภายใต้ประชาธิปไตยตามหลักสากลซึ่งมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
.
‘เสียเวลากาให้หมามาครองประเทศ’ นอกจากจะแสดงความวิตกกังวลแล้ว ยังบ่งบอกถึงมายาคติที่ผู้คนในโลกออนไลน์ยึดโยงกับพรรครัฐบาลและการสืบทอดอำนาจการบริหารในการเมืองไทย ทว่าในการเลือกตั้งซ่อมเขต 7 ขอนแก่น ผู้สมัครที่ถูกโซเชียลกล่าวหาว่าเป็นหมาคืออดีต สส.หลายสมัยผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่อย่าง สมศักดิ์ คุณเงิน ฉะนั้นจะเห็นว่าปัจจัยเรื่องบุคคล (ผู้สมัคร) จึงเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้การเลือกตั้งภายในพื้นที่มีหลากหลายมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องของพรรครัฐบาล (พรรคพลังประชารัฐ) หรือพรรคฝ่ายค้าน (พรรคเพื่อไทย) เท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่าในขณะที่คนนอกตัดสินพรรคการเมืองตามมายาคติที่ตัวเองยึดถือ คนในพื้นที่กลับเห็นหน้าของ สมศักดิ์ คุณเงิน ขึ้นมาค้านภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของพรรค และจากการลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม เห็นว่าแม้แต่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยเองยังให้การยอมรับในตัวของ สมศักดิ์ คุณเงิน เนื่องด้วยผลงานที่ผ่านมามากกว่า 30 ปี ทั้งนี้คนนอกโดยเฉพาะบนโลกโซเชียลที่ส่วนมากภาพจำของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นหลังจากพรรคอนาคตใหม่และการก่อตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย (ที่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นแค่วาทกรรมหรือไม่) เข้าใจว่าการเลือกตั้งในเขต 7 นี้จะเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป (24 มีนาคม) ยิ่งเมื่อมีสองพรรคใหญ่ต่างขั้วลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งซ่อม หลายคนจึงมองเห็นเป็นภาพของการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ ทว่าแท้จริงแล้วศึกประชาธิปไตยแบบที่คนในโลกออนไลน์คาดหวังมีจริงหรือไม่ ก่อนจะเกิดกระแสการเมืองในโลกออนไลน์ เพื่อไทยก็คือเพื่อไทย การเลือกตั้งในครั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีมายาคติว่าเพื่อไทยนั้นคือฝ่ายประชาธิปไตยคู่กับอนาคตใหม่ แต่คือเพื่อไทยที่มีรากฐานมาจากนปช.และ พ่อใหญ่ทักษิณ เสียมากกว่า ในการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่นที่ผ่านมานั้นพรรคเพื่อไทยชูธงการหาเสียงผ่าน ประชาธิปไตยที่กินได้ ของวันวานที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังโหยหาและฝังอยู่ในใจ กระนั้นผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยอย่าง ธนิก มาสีพิทักษ์ เองกลับไม่ได้รับความสนใจเท่า และแม้แต่กลยุทธ์การหาเสียงก็ไม่ได้ดึงความโดดเด่นของผู้สมัครคนนี้ออกมา นี้คือความแตกต่างระหว่างมายาคติที่คนนอกมองพรรคกับการได้สัมผัสบุคคลที่จะมาเป็นผู้แทนในพื้นที่
.
‘คนขอนแก่นมันโง่ เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน 500 บาท เลือกบักตูบ’ แนวคิดที่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยแพ้เพราะเผด็จการใช้เงินฟาดหัวประชาชน หรือ ‘ไม่แน่ใจแล้วว่า มันโกง หรือ คนขอนแก่น มันโง่’ อาจจะเป็นการกล่าวหาที่ตื้นเขินและขาดหลักฐานเกินไป จำนวนเงิน 500 บาท ที่ว่า #รับเงินหมา นั้นเท็จจริงประการใด การรับรู้ข้อเท็จจริง และการคาดเดาของคนนอกที่แตกต่าง หรือบางทีก็ไม่มีความเข้าใจเลยเสียด้วยซ้ำกลายเป็นการวาดภาพมายาคติที่รู้ไม่จริง ลามไปเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบที่คนขอนแก่นเมื่อได้อ่านก็รู้สึกหัวร้อนไม่ว่าจะเลือกพรรคไหนหรือไม่ได้เลือกเลยก็ตาม คล้ายกับเป็นการกล่าวโทษจากคนนอกว่าคนในพื้นที่นั้น ‘เห็นแก่ตัวเองไม่สนใจส่วนรวมของประเทศ’ หรือแม้แต่การกล่าวในเชิงที่ว่า ‘แถวบ้านไม่ค่อยได้ดูข่าวในโซเชียลเลยออกมาเป็นแบบนี้ไง’ วนกลับไปยังวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ซ้ำอีกครั้ง แม้จากการลงพื้นที่จะพบว่า คนขอนแก่นทุกคนต่างมีความต้องการที่จะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองไม่ใช่แค่รอเพียงเงินแจก และเมื่อลองมองย้อนกลับมาดูตัวเองก็ยังเป็นที่น่ากังขาว่าผู้คนบนโลกออนไลน์รับรู้และเข้าใจกฎหมาย หลักเกณฑ์ ความเป็นประชาธิปไตย และการเลือกตั้งมากแค่ไหน เช่นตัวอย่างที่หลายคนออกมาพูดด้วยความสะใจว่า ‘จะรอดูการคำนวนสส.ใหม่ว่ากกต.จะปกป้องมาดามเดียร์ตามคำสั่งนายหรือเปล่า’ ขณะที่ความเป็นจริงแล้วการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่นครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการทุจริตการเลือกตั้ง สส.ที่ได้เข้าไปแทนจึงไม่มีผลกับการคำนวณสส.เดิม เป็นต้น ดังนั้นแล้วกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งหากสังคมกำลังนำภาพความคิดที่ยึดติดจากโลกโซเชียลมาตัดสินได้ทั้งหมดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงนั้นเป็นอย่างไร ดังที่คนขอนแก่นได้ออกมาแย้งด้วยอาการตัดพ้อเช่นเดียวกันว่า ‘ให้เกียรติคนขอนแก่นหน่อย ไม่ตรงใจหาว่าโง่’
.
ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้สึกไม่ยอมรับรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐที่ถูกจับวางให้เป็นตัวแทนระบอบเผด็จการในประเทศ ทำให้เกิดการปฏิเสธและสร้างข้อกล่าวหาต่อผลการเลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่น ที่เป็นการปักใจเชื่อว่าชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นได้เพราะการโกง การเอื้อประโยชน์จากพรรครัฐบาล กลไกของรัฐ และการจ่ายเงินซื้อเสียง ตอลอดจนการแสดงทัศนคติต่อระดับความรู้และความเข้าใจทางการเมืองที่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของคนในพื้นที่ ว่าเป็นความถดถอยของสังคมประชาธิปไตย จนกลายเป็นการสร้างวาทกรรมของความเกลียดชังที่แบ่งแยกคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ด้วยรากฐานของความเชื่อที่ยึดติดกับความคิดแง่ลบที่มีต่อรัฐบาลทำให้เกิดการสร้างมายาคติในโลกโซเชียลมีเดียดังที่กล่าวมา แต่สิ่งสำคัญที่สังคมควรจะต้องตระหนักถึงก็คือ ความเชื่อ มายาคติ และทัศนคติต่อรัฐบาลในโลกโซเชียลที่สังคมเข้าถึงอยู่นั้น อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะมีการโกงการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ชัยชนะและความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ยังมีปัจจัยให้ศึกษา และมีข้อเท็จจริง ข้อมูลให้วิเคราะห์อีกมากมาย เพื่อให้ชุดความจริงของแต่ละกลุ่มได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์การเมืองไทยในขณะนี้มากที่สุด