Articles By Election

บัตรเสียฝุ่นตลบ งบหาเสียงไม่พอ ขอผู้ช่วยเพิ่มไม่ได้: ข้อค้นพบจากกลไกและระเบียบการเลือกตั้งของ กกต. ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งซ่อม จ.ขอนแก่น เขต 7 (ตอนที่ 1)

ศิปภน อรรคศรี
4 กุมภาพันธ์ 2563


การเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดขอนแก่น เขต 7 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมานี้ สะท้อนให้เห็นอะไรบ้างในแง่มุมของการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง กล่าวอย่างรวบรัดคือ แม้จะมีการติดตามสถานการณ์เลือกตั้งซ่อมผ่านสื่ออย่างเกาะติด แต่ก็มีทั้งสิ่งที่ผู้ที่ติดตามข่าวสารการเมือง “เห็น” และ “ไม่เห็น” จากสื่อทั่วไปและกระแสสังคมที่กล่าวถึงเหตุการณ์เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ สิ่งที่ “เห็น” ได้ชัดเจนในกระแสสังคม ได้แก่ กระแสการตรวจสอบทุจริตต่างๆในช่วงวันเลือกตั้ง เช่น กรณีกำนันกาบัตรให้คุณยายผิดพรรค, ข่าวเจ้าหน้าที่ยืนดูผู้ใช้สิทธิลงคะแนนในคูหา เป็นต้น สังคมจึงจับตาว่ามีการทุจริตโดยระบบราชการเพื่อจัดการเลือกตั้งโดยเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่อย่างไร

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ยังมีบางสิ่งที่ผู้ติดตามข่าวการทุจริตจากการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ “ไม่เห็น” จากกระบวนการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา กล่าวโดยสรุปคือ เป็นความเสี่ยงต่อการการทุจริตในขั้นกลไกและระเบียบการเลือกตั้ง บทความชิ้นนี้จึงแบ่งอภิปรายถึงช่องโหว่อย่างน้อย 3 เรื่องของกลไกและระเบียบการเลือกตั้งที่พบจากการสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดขอนแก่น เขต 7 ได้แก่ การออกแบบบัตรเลือกตั้งที่สัมพันธ์กับจำนวนของบัตรเสีย, ข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ช่วยหาเสียง และข้อจำกัดด้านงบประมาณในการหาเสียง เพื่อชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ และยังเป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้สมัครอาจทำการทุจริตต่อระเบียบกติกาการเลือกตั้ง โดยจะแบ่งลงทีละตอนต่อเนื่องกัน 2 ตอน 3 ประเด็นด้วยกัน

บัตรเสียและบัตรเปล่า? ปัญหาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนบัตรเสียกับความโปร่งใสของการเลือกตั้ง

สำหรับประเด็นของการเกิดบัตรเสีย หากพิจารณาจำนวนบัตรเสียในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่มากถึง 5,524 ใบ ซึ่งเป็นที่กังขาของสังคมถึงจำนวนบัตรเสียที่มากผิดปกติ ด้วยการที่บัตรเสียดังกล่าวมีจำนวนมากในระดับที่อาจเป็นปัจจัยที่ตัดสินชัยชนะของการเลือกตั้งขอนแก่น เขต 7 ประกอบกับการมีข่าวที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ประกาศมั่นใจในชัยชนะการเลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่น โดยอ้างจำนวนบัตรเสียจำนวนมากในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และคะแนนที่พรรคพลังประชารัฐแพ้เลือกตั้งไปเพียงกว่า 3,00 คะแนน จึงเป็นเหตุให้การปราศรัยใหญ่ก่อนวันเลือกตั้งซ่อมเขต 7 ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคเพื่อไทยเองต่างมีการประกาศรณรงค์ให้ชาวหนองเรือและชาวมัญจาคีรีไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเน้นกากบาทลงคะแนนให้ตรงช่องว่าง ห้ามกากบาทที่โลโก้พรรคหรือทำเครื่องหมายที่เข้าข่ายบัตรเสีย เพื่อลดโอกาสเกิดบัตรเสียจำนวนมากแบบครั้งก่อนและหวังให้เกิดการลงคะแนนที่สะท้อนเสียงของผู้ลงคะแนนอย่างแท้จริง

หลังจากการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น เขต 7 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 ผลการลงคะแนนออกมาดังนี้ ผู้มาใช้สิทธิมีจำนวน 81,063 คน จำนวนบัตรดีจำนวน 78,568 ใบ (ร้อยละ 96.92) ขณะที่บัตรเสียมีจำนวน 1,680 ใบ (ร้อยละ 2.07) คำนวณได้ว่า บัตรเสียเสียลดลงจากการเลือกตั้งใหญ่ 24 มีนาคม 2562 มากถึง 3,844 ใบ ซึ่งอาจถือเป็นความสำเร็จของทั้งการประชาสัมพันธ์ของ กกต.และพรรคการเมืองที่ช่วยอธิบายวิธีการกาบัตรให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายรายเข้าใจมากขึ้นถึงวิธีการกาบัตรที่ถูกตามระเบียบ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนบัตรเสียกับคะแนนเลือกตั้งนั้นสัมพันธ์กันอย่างไรได้อีก ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตต่อบัตรเสียหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น ดังกรณีเหตุการณ์ “บัตรเปล่าไร้รอยกากบาท” ที่เกิดขึ้นในหลายหน่วยเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ (และอาจเคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา)

ตัวอย่างเช่น หน่วยเลือกตั้งที่ 4 อำเภอมัญจาคีรี ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอมัญจาคีรีกับหนองเรือ มีการเกิดบัตรเสียถึง 12 ใบ โดยเป็นบัตรเปล่าที่ไม่มีการกากบาทลงคะแนนใดๆมากถึง 5 ใบ เป็นบัตรที่กาลงคะแนนให้พรรคเสรีรวมไทย (ผู้สมัครถอนตัวไปแล้วจึงไม่ได้รับคะแนน) 4 ใบ และเป็นบัตรที่ลงคะแนนผิดระเบียบ 3 แบบ (กาเครื่องหมายดอกจัน 1 ใบ, กา 2 ช่อง 1 ใบ และขีดเครื่องหมายถูก 1 ใบ) นำมาสู่คำถามถัดมาว่า นี่เป็นการลงคะแนนผิดวิธีโดยสุจริตหรือเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการทุจริตการเลือกตั้ง?

นอกจากนั้นอีกหลายเขตเลือกตั้งทั้งในมัญจาคีรีและหนองเรือ ก็พบบัตรที่มีลักษณะต้องสงสัยว่าการเกี่ยวพันกับการทุจริตการเลือกตั้งหรือเป็นเพียงการกาผิดโดยสุจริต ทั้งการลงคะแนนด้วยบัตรเปล่า, บัตรที่กากบาทมากกว่า 1 ช่อง หรือบัตรที่ลงคะแนนเป็นรูปดอกจันหรือเครื่องหมายอื่น เป็นต้น ซึ่งประเด็นข้อสงสัยในส่วนนี้ต้องหาหลักฐานพิสูจน์และจำเป็นต้องมีการศึกษาหารูปแบบปฏิบัติการของกระบวนการทุจริตการเลือกตั้งทั้งเมื่อครั้ง 24 มีนาคม 2562 และอีกหลายครั้งก่อนหน้านั้นเช่นกัน เพื่อหาทางรับมือไม่ให้เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งถัดไปภายภาคหน้า

#สถาบันพระปกเกล้า

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: