Articles Pop Culture

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของ Assassin’s Creed

ธีทัต จันทราพิชิต
7 กุมภาพันธ์ 2563


Assassin’s Creed เป็นเกมที่ให้เราสวมบทบาทเป็นมือสังหารในช่วงต่างๆ ของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะสงครามครูเสด อิตาลียุคเรเนซองส์ อเมริกา และฝรั่งเศสยุคปฏิวัติ อังกฤษยุควิกตอเรีย หรือย้อนกลับไปไกลถึงสมัยกรีกโรมัน ทว่า Assassin’s Creed ไม่ได้มอบความสนุกสนานจากเกมเพลย์อย่างเดียว Assassin’s Creed ยังได้มอบเนื้อเรื่องที่น่าติดตามให้กับผู้เล่นอีกด้วย ซึ่งเนื้อเรื่องดังกล่าวนี่เองที่มีความเกี่ยวพันกับเสรีภาพ

โดยทั่วไป Assassin’s Creed จะมีโทนเรื่องล้อประวัติศาสตร์ผ่านการนำประวัติศาสตร์มาใส่ทฤษฎีสมคบคิดลงไป เราจึงพบเห็นตัวละครที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์อย่างพีทาโกรัส ลีโอนาโด ดาวินชี หรือนโปเลียน โบนาปาร์ต เข้ามามีบทบาทในเกมซึ่งหลายคนก็กลายเป็นตัวละครสำคัญที่มีผลต่อเนื้อเรื่อง โดยปูมหลังของโลก Assassin’s Creed นั้นมีการต่อสู้ของสององค์กรลับมานานนับพันปีซึ่งองค์กรทั้งสองมีชื่อว่า Assassin และ Templar ซึ่งองค์กรของเหล่าตัวเอกอย่าง Assassin เป็นองค์กรลับที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ เช่นนี้ในทุกภาคเหล่าตัวเอกอย่าง Assassin จึงต้องต่อกรกับศัตรูที่มีเป้าหมายในการพยายามจำกัดเสรีภาพซึ่งโดยส่วนใหญ่วิธีการต่อสู้ก็มักเป็นการลอบสังหาร โดยมีตั้งแต่องค์กรคู่อาฆาตอย่าง Templar ผู้นำทั้งที่เป็นเผด็จการหรือเป็นทรราชย์ ไปจนถึงเทพเจ้าที่พยายามจะควบคุมมนุษย์ ซึ่งเมื่อตัวเอกที่เป็นตัวแทนของเสรีภาพอย่าง Assassin ประสานเข้ากับการเล่าเรื่องล้อไปกับประวัติศาสตร์ และตำนานต่างๆ ทำให้เมื่อเล่น Assassin’s Creed อย่างต่อเนื่องผู้เล่นจะเห็นภาพคร่าวๆ ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของมนุษย์ในแต่ละสมัยไปโดยปริยาย

ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ยังมีข้อสังเกตุว่าแม้ตัวเอกของ Assassin’s Creed อย่าง Assassin จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่ส่วนใหญ่พวกเขาเพียงใช้วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพเท่านั้น ไม่ได้คำนึงว่าจะสร้างระบบเพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพอย่างไร Assassin ในเกมชุดนี้จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับนักอนาธิปัตย์หรือนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายในสมัยหนึ่งที่เชื่อว่าการสังหารผู้นำจะนำมาสู่จุดจบของระบบ แต่ในโลกความจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ตามประวัติศาสตร์การสังหารผู้นำเผด็จการอย่างจูเลียส ซีซาร์สุดท้ายก็นำมาสู่การเกิดขึ้นของจักรวรรดิโรมัน  หรือการสังหารนายพล กาเซ็ม โซเลมานี เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลอิหร่านล่มสลาย ทั้งหมดเราสามารถพูดได้ว่าการเด็ดหัวผู้มีอำนาจไม่ได้นำจุดจบมาสู่ระบบ ไม่เพียงแค่ในเชิงวิธี ในระดับหลักการหลายครั้งการกระทำเพื่อเสรีภาพก็นำมาสู่ความโกลาหลจนไม่สามารถควบคุมไว้ได้ อย่างกรณีอาหรับสปริงก็ทำให้ประเทศอาหรับตกอยู่ในความวุ่นวาย และหลายประเทศก็ยังหาทางลงไม่ได้ ซึ่งผู้สร้าง Assassin’s Creed ก็ตระหนักดีในส่วนที่ว่าเสรีภาพมีสิทธิ์นำมาสู่ความโกลาหลที่อาจลุกลามไปมากกว่าแค่การทะเลาะเบาะแว้งเล็กๆ น้อยๆ เห็นได้จาก Assassin’s Creed:Rogue ที่การตัดสินใจของ Assassin ก็นำมาสู่ภัยพิบัติที่คร่าชีวิตคนไปจำนวนมาก จนมาสู่ข้อสรุปว่าในหลายครั้งความรักบูชาในเสรีภาพก็นำมาสู่ความวิบัติไม่แพ้การควบคุมอย่างเผด็จการ

Assassin’s Creed จึงไม่ได้เพียงฉายภาพกลุ่มคนที่สู้เพื่อเสรีภาพในแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์ ลึกๆ Assassin’s Creed ถามว่าเราบรรลุซึ่งเสรีภาพได้อย่างไร และจะสร้างระเบียบอย่างไรโดยยังคงไว้ซึ่งเสรีภาพ ขณะเดียวกันในเกมศัตรูผู้คุกคามเสรีภาพของมนุษย์ก็ดูจะทวีพลังอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าในภาคต่อไปที่มีข่าวลือว่าจะมีพื้นหลังเป็นยุคไวกิ้งเหล่า Assassin ก็ยังต้องต่อกรกับศัตรูที่มีจุดมุ่งหมายจำกัดเสรีภาพอยู่เช่นเดิม สุดท้ายคำตอบของปลายทางแห่งเสรีภาพนั้นจะเป็นอย่างไร ผู้เล่นก็คงต้องค้นหาไปพร้อมๆ กัน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: