เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีสาธารณะ “Section 77 of the 2017 Constitution: Ways to Improve Law-Making Process Quality” พร้อมเปิดตัว “หลักสูตรวุฒิบัตร การรับฟังความคิดเห็นและศึกษาผลกระทบก่อนการเสนอกฎหมาย” ณ ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 77”
ปาฐกถาโดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีการแสดงออกถึงความคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดแจ้ง เห็นได้จากมาตรา 26 ที่มีเนื้อหาว่าการตรากฎหมายที่ไม่ได้มีเงื่อนไขบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม และไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร และมาตราที่สำคัญไม่แพ้กันซึ่งแสดงถึงความคำนึงนี้ก็คือ มาตรา 77 ซึ่งศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย ได้ชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบหลักของมาตรา 77 ที่อยู่ในวรรคทั้ง 3 ของกฎหมายดังต่อไปนี้
1.มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น
2.การพิจารณาความจำเป็นของกฎหมาย
3.รัฐต้องจัดดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวก
4.จัดการรับฟังความคิดเห็นให้ผู้เกี่ยวข้อง
5.วิเคราะห์ผลกระทบหากมีการบังคับใช้
6.ประเมินผลหลังการออกกฎหมาย
7.หลีกเลี่ยงระบบอนุญาต
8.ไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษเป็นโทษทางอาญาเท่านั้น
หนึ่งในหลักการที่สำคัญนั้นก็คือ หลักการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดายนัก โดยเฉพาะการรับฟังที่นำมาสู่การได้ยินอย่างแท้จริง กระบวนการจึงนับเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นนั้นเองงานสัมมนานี้จึงเกิดขึ้นด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการรับฟัง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างกระบวนการแสดงความคิดเห็นที่ดีเท่าที่ทำได้จากการมีทรัพยากรอันจำกัด และสามารถหาถึงผู้เกี่ยวข้องกับตัวกฎหมายจริงๆ ทำให้คำถามที่สำคัญในที่นี้คือ “จะฟังอย่างไรให้ได้ยินจริงๆ แล้วจะทำอย่างไรเพื่อสร้างกระบวนการที่ปราศจากอคติ เป็นกลาง มีประสิทธิภาพ เหมาะสมและรอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้”