Articles

โครงสร้างและวัฒนธรรมทางสังคมของทหาร : ต้นเหตุสังหารหมู่ (?)

ขวัญข้าว คงเดชา
14 กุมภาพันธ์ 2563


เหตุการณ์น่าสะเทือนใจที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 และ 9 กุมภาพันธุ์ 2563 ที่ผ่านมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก นำมาซึ่งความโศกเศร้าและการสูญเสีย โดยผู้ก่อเหตุหลังจากใช้อาวุธยิงผู้บังคับบัญชา พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส และแม่ยาย นางอนงค์ มิตรจันทร์ จนเสียชีวิตแล้วยังได้ขโมยรถจี๊ปดัดแปลงรวมถึงอาวุธสงครามจำนวนมากก่อเหตุโศกนาฏกรรม ณ ห้าง Terminal 21 โคราช ดังที่เป็นข่าว ในเวลาต่อมาได้มีการเปิดเผยถึงชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุร้ายในครั้งนี้ซึ่งเกิดจากเรื่องการชื้อขายบ้านและที่ดินภายใต้โครงการสวัสดิการเงินกู้ที่กองทัพบกจัดทำขึ้น

ผู้ก่อเหตุนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมใน “โครงการจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักเพื่อขายให้ทหาร” ของผู้บังคับบัญชาและแม่ยาย ในธุรกิจดังกล่าวจะมีบริษัทจัดสรรที่เอกชนนำเอาที่ดินของตัวเองหรือที่ดินที่ชื้อมาจัดสรรขายโดยผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารจะเป็นผู้นำโครงการมาเสนอให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และก็นำคนสนิทของตนมาเป็นนายหน้า ทว่าสิ่งที่พิเศษในธุรกิจประเภทนี้คือการ ‘ชื้อที่มีเงินทอน’ หรือเงินส่วนเกินที่ผู้ก่อเหตุนั้นสมควรจะได้รับ ธุรกิจที่ว่านอกจากการใช้อำนาจกดดันแล้วเจ้าของโครงการ ซึ่งอาจจะเป็นนายทหารระดับสูงหรือนายทุนเจ้าของโครงการหรือทั้งคู่ ยังนำ ’เงินทอน’ มาใช้เพื่อดึงดูดให้ทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชาซื้อที่ดิน โดยจะกล่าวชักชวนในลักษณะว่าซื้อบ้านแล้วได้ของ (เงิน) แถม

กระบวนการดังกล่าวได้ใช้สวัสดิการเงินกู้ของทหารเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเงินทอนขึ้นมาหลอกล่อทหารชั้นผู้น้อย ตามหลักการสวัสดิการเงินกู้ของทหารนั้นสร้างมาเพื่อให้ทหารชั้นผู้น้อยที่มีเงินเดือนไม่สูงมากสามารถมีกำลังชื้อที่ดินและบ้านเป็นของตัวเองได้ หากแต่เมื่อบางกลุ่มเล็งเห็นถึงช่องโหว่ในโครงการสวัสดิการทหารจึงได้ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกว้านชื้อที่ดินราคาถูก (ที่บางครั้งไม่สมควรและไม่อาจจะนำมาปลูกเป็นที่อยู่อาศัยได้) นำมาแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ แล้วขายในราคาที่สูงกว่าเดิม, ใช้อำนาจและแรงจูงใจเกณฑ์พลทหารผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาให้กู้เงินจากโครงการสวัสดิการ และเนื่องจากการจะสร้างเงินทอนนั้นจำเป็นต้องให้พลทหารกู้เงินให้สูงกว่าราคาที่ดิน (ที่มีการโก่งราคาอยู่ก่อนแล้ว) โครงการสวัสดิการเงินกู้จึงเข้ามามีบทบาท เจ้าของโครงการจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลากรที่ดูแลโครงการสวัสดิการเพื่อประเมินราคาที่ดินให้สูงกว่าความเป็นจริงจึงจะมีเงินเหลือมาทอนให้แก่นายทหาร ที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนภายใต้ช่องโหว่ของระบบและโครงสร้างที่เอื้อผลประโยชน์ต่อเจ้าของโครงการผู้ที่ส่วนมากมักจะเป็นนายทหารระดับสูงเข้าหุ้นกับเอกชนและร่วมมือกับผู้ให้กู้ในโครงการสวัสดิการ และเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องเป็นหนี้เงินกู้บวกเงินทอนและในบางครั้งก็อาจจะโชคร้ายได้ที่ดินที่ไม่เหมาะสำหรับการสร้างบ้านพักอาศัย

ในปัจจุบันแม้ยังไม่มีการออกมายืนยันถึงกรณีของผู้ก่อเหตุกราดยิงที่โคราชและกระบวนการเงินทอนดังกล่าว แต่หลายฝ่ายก็ได้เปิดเผยว่ามีความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการชื้อ-ขายบ้านและที่ดิน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกเองก็ได้แถลงว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการ “ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ”[1] เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดถึงพลวัตเชิงอำนาจ  (power dynamic) ที่ปรากฎในโครงสร้างและระบบ ในโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อทหารนอกจากปัจจัยของการล่อลวงหรือการโกงการประเมินราคาที่ดิน แล้วยังมีประเด็นเรื่องของอำนาจของผู้บังคับบัญชาที่มียศตำแหน่งสูงกว่าอันเป็นหนึ่งในการใช้ช่องโหว่ในระบบเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือนอกจากผู้มียศสูงกว่าจะสามารถออกคำสั่งหรือสร้างแรงกดดันต่อทหารชั้นผู้น้อยได้อย่างชอบธรรมภายใต้ระบบของทหาร แล้วจะยังมีความสามารถในการควบคุม (manipulate) โครงการเงินกู้เปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือของตนเองอย่างไม่ผิดกฎหมาย กับทั้งการใช้เงินตอบแทนเป็นแรงจูงใจให้เข้าร่วมกระบวนการอีกด้วย 

กรณีกระบวนการชื้อบ้านมีเงินทอนจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการใช้ช่องโหว่ของโครงสร้างในสังคมทหาร หลายครั้งที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่สามารถออกมาเรียกร้องได้ ทว่ากรณีของผู้ก่อเหตุกราดยิงเป็นหนึ่งในการปะทุออกมาแบบความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) จากการกดทับหลายชั้นในความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ที่ถูกสนับสนุนโดยความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Cultural Violence) ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรุนแรงหรือ Triangle of Violence โดย Johan Galtung (1969)[2] บิดาแห่งสันติศึกษา อธิบายถึงความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงทั้งสาม อันได้แก่ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง, ความรุนแรงทางวัฒนธรรม และความรุนแรงทางตรงโดยยกสามเหลี่ยมหรือภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนหนึ่งอยู่เหนือน้ำเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา (manifest) และอีกส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำไม่สามารถมองเห็นได้ชัด (Latent) มาอธิบายถึงความเกี่ยวข้องของทั้งสาม ในขณะที่ความรุนแรงโดยตรงคือการทำร้ายทั้งทางกำลังและทางวาจาอยู่ตรงจุดยอดของสามเหลี่ยมพ้นน้ำ สามารถมองเห็นการกระทำได้อย่างชัดเจน ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่หมายถึงกฎหมายหรือระบบอันเป็นรากฐานภายในสังคมถูกสร้างขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งหรือไปจำกัดประโยชน์รวมถึงสิทธิ์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่หมายถึงความเชื่อทางการ ทัศนคติ วิธีคิด และบรรทัดฐานที่หล่อหลอมให้ผู้คนภายในสังคมเชื่อว่าการกระทำอะไรบ้างอย่างนั้นเป็นสิ่งสมควร ในหลายครั้งก็รวมไปถึงการยินยอมให้บุคคลอื่นมีอำนาจเหนือกว่าเพียงเพราะความอาวุโสหรือยศตำแหน่ง ความรุนแรงทั้งสองนั้นมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางตรง โดยทั้งคู่ถูกวางไว้ใต้น้ำ เปรียบเสมือนสิ่งที่มองเห็นไม่ชัดแต่เป็นฐานสำคัญของความรุนแรงทั้งหมด 

Text Box: ปรากฏให้เห็น (Manifest)

ในกรณีของเหตุการณ์น่าเศร้าที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นนี้เกิดจากความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกภายในสังคมทหารควบคู่ไปกับโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นระเบียบหรือกฎที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติกันมายาวนาน สิ่งที่เกิดขึ้นแม้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน และแน่นอนย่อมไม่ชอบธรรม หลายคนจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่ากับความรุนแรงโดยตรงที่คร่าชีวิตผู้คนและเห็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะสร้างความชอบธรรมให้ผู้ก่อเหตุ หรือเห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปหลายคนที่เกิดขึ้น บทความนี้เพียงต้องการวิเคราะห์และเข้าใจถึงเบื้องหลังที่ส่งผลให้เหตุการณ์น่าสลดนั้นเกิดขึ้น รวมไปถึงบริบทของสังคมเพื่อสร้างคำถามต่อว่าจะป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร ความรุนแรงทางตรงที่ปรากฎเป็นข่าวสะเทือนข่าวของผู้ก่อเหตุเป็นสิ่งที่สมควรประณาม และเมื่อมองให้ลึกลงไปการกระทำเช่นนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการระเบิดของความอัดอั้นจากการที่ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมและโครงสร้างของสังคมทหาร

 เมื่อศึกษาด้านวัฒนธรรม สังคมของทหารเป็นสังคมปิด[3] มีความใกล้เคียงกับความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง    ศ. ดร. สุจิต บุญบงการ (2019)[4] อธิบายถึงองค์การทหารว่า ‘มีเอกลักษณ์ร่วมกันที่ไม่เหมือนกลุ่มอื่น สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความเป็นอิสระของทหาร ความต้องการที่ไม่ให้ใครเข้ามายุ่งในเรื่องของตน’ ทั้งยังมีความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพมากกว่าฝ่ายพลเรือน เห็นได้จากโรงเรียนและวิทยาลัยที่ผลิตรุ่นของทหารออกมาจนกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มทางการเมืองที่มีความแข็งแกร่งกลุ่มหนึ่งในสังคม หนึ่งในงานเขียนที่พูดถึงวัฒนธรรมภายในสังคมทหารโดย พล.อ.ต. ยงยุทธ หาบุบผา (2013)[5] อาจจะทำให้เข้าใจถึงความคิดภายในกองทัพได้บางส่วน สิ่งที่สำคัญที่มาควบคู่กับความเชื่อว่าทหารคือผู้ปกป้องของชาติคือเกียรติศักดิ์ของทหาร “ระบบเกียรติศักดิ์” หรือ Code of Honor มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมของทหาร ในคู่มือนักเรียนนายเรืออากาศ พ.ศ. 2556 ได้ให้คำนิยามระบบเกียรติศักดิ์ดังต่อไปนี้ ‘ระบบที่ปลูกฝังอุปนิสัยอันสำคัญยิ่งของนักเรียนนายเรืออากาศ การยึดถือตาม คำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวยืนยันไว้ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง เป็นการกระทำอันสัตย์ซื่อ และความคิดอันสะอาดบริสุทธิ์ มีความสัตย์จริงทั้งกาย วาจา ใจ’[6] ระบบที่ว่าเป็นการปลูกฝังตั้งแต่ในระดับของโรงเรียนเตรียมทหาร น.ท. ณรงค์ สุขพ่อค้า ร.น. (2016)[7] ได้อ้างถึงหนังสือครบรอบ 50 ปี โรงเรียนเตรียมทหารที่เขียนว่า ‘ระบบเกียรติศักดิ์มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังอุปนิสัย และลักษณะทหาร เป็นระบบที่มีอิทธิพลยิ่งในชีวิตประจำวันของนักเรียนเตรียมทหาร’ นอกจากระบบเกียรติศักดิ์แล้วสิ่งสำคัญในบทความของ พล.อ.ต. ยงยุทธ หาบุบผา คือระบบอาวุโสของสังคมทหาร โดยผู้เขียนอธิบายว่าระบบอาวุโสนั้นเปรียบเหมือนการผสานผู้คนที่แตกต่างให้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นจึงจจำต้องนำมาปลูกฝังและสร้างวินัยให้แก่ทหาร ซึ่งระบบอาวุโสที่ว่าผู้เขียนก็ได้ยกคำนิยามของ SOTUS มาใช้เพื่ออธิบาย ท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญในสังคมทหารตามความคิดของผู้เขียนนั้นประกอบไปด้วย ‘ระบบอาวุโส ระบบเกียรติศักดิ์ และวินัยทหารจึงเป็นจุดแข็งของทหารให้ดำรงสืบทอดกันมา’การปลูกฝังดังที่ได้กล่าวไปแสดงให้เห็นถึงความคิดฐานหนึ่งภายในสังคมของกองทัพ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือความเป็น ‘ผู้อาวุโสเป็นผู้นำตามครรลองครองธรรม ผู้อาวุโสจึงเป็นผู้มาก่อน มีสิทธิในทางก่อน’ การปฏิบัติตามระเบียบอันเคร่งครัดตามระดับยศตำแหน่งและความอาวุโสคือสิ่งสำคัญของทหาร ด้วยการหล่อหลอมดังกล่าวสร้างให้เกิดสภาพของโครงสร้างในสังคมทหารที่ทหารชั้นผู้น้อยต้องจำยอมผู้อาวุโส เป็นการมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้ด้วยไม่มีการตั้งคำถามเนื่องจากการปลูกฝังในค่านิยมดังที่ว่า 

อำนาจของผู้มียศสูงกว่านั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากการปลูกฝังมาเป็นรุ่นสู่รุ่นในความเชื่อ ยังมีปัจจัยในเชิงโครงสร้างที่สนับสนุนเพิ่มความน่าเชื่อถือต่ออำนาจในมือของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เช่น อำนาจในการให้ทั้งคุณและให้ทั้งโทษ พ.ร.บ. วินัยทหาร ปี 2476 หมวด 2 ว่าด้วยวินัย[8] ได้ระบุถึงพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการกระทำผิดวินัยของทหารไว้ ข้อที่น่าสนใจได้แก่

1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน 

2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย

3. ไม่รักษามารยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร

7.ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร’ 

ระเบียบและกฎเหล่านี้หากให้ตีความล้วนเป็นเรื่องอัตวิสัย (subjective) และสนับสนุนกับหลักความเชื่อ ทัศนคติ และการปฏิบัติดังที่ได้กล่าวไปในแง่วัฒนธรรมของสังคมทหาร อีกหนึ่งตัวอย่างที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาของทหารอย่างระบบเกียรติศักดิ์ ก็คือการจัดตั้ง “ศาลเกียรติศักดิ์” [9] ในโรงเรียนนายเรืออากาศเพื่อพิจารณาเกียรติศักดิ์และการกระทำของนักเรียนนายเรือ เป็นหนึ่งในการสร้างโครงสร้างเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งความเชื่อและสร้างความชอบธรรม ซึ่งตรงตามหลักทฤษฎีของ Galtung ที่ได้กล่าวว่าทั้งวัฒนธรรมและโครงสร้างต่างพึ่งพาและสนับสนุนซึ่งกันและกันไม่ใช่แค่ฝ่ายใดสนับสนุนฝ่ายหนึ่ง และทั้งสองความรุนแรงนั้นก็ก่อให้เกิดความรุนแรงโดยตรงซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช่การระเบิดจากการอัดอั้น แต่อาจจะเป็นการใช้ความรุนแรงระหว่างฝ่ายที่มีอำนาจและความชอบธรรมจากปัจจัยทั้งหลายต่อผู้ที่อยู่ภายใต้

ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์โศกนาฏกรรมกราดยิงโคราช คล้ายคลึงกับหนังเรื่อง Money Monster (2016)  หรือชื่อภาษาไทยคือ เกมการเงิน นรกออนแอร์ โดย Jodie Foster ที่กล่าวถึงการก่อการร้ายกลางรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้นที่กำลังถ่ายทอดสด โดยหนุ่มปริศนาที่บุกเข้ามาจับพิธีกรรายและทีมงานเป็นตัวประกันได้ออกมาเรียกร้องว่าเขาต้องการคำอธิบายว่าทำไมหุ้นที่เขาตัดสินใจชื้อเพราะเชื่อตามคำแนะนำของพิธีกรรายการถึงได้ทำให้เขาสูญเสียเงินเก็บทั้งชีวิตของเขา โดยหนังเริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นที่เอาใจช่วยตัวประกันก่อนจะพาผู้ชมเข้าไปค้นหาความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชายหนุ่มปริศนาจนหลายคนตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่เป็นตัวร้าย คนที่ถือปืนหรือคนที่มีระบบเป็นเครื่องมือ ชายหนุ่มที่ตัดสินใจลงทุนเงินก้อนสุดท้ายและก้อนเดียวในชีวิตกับหุ้นของบริษัท ทว่ากับเกิดการผิดพลาดหรือที่เรียกว่า glitch ขึ้นทำให้เงินทั้งหมดนั้นสูญหายไปในพริบตา บริษัทโทษว่าเป็นเพราะระบบแต่ชายหนุ่มปริศนาไม่เชื่อ พร้อมกับทีมพิธีกรที่ถูกจับเป็นตัวประกันพยายามคนหาความจริง จนสุดท้ายจึงได้พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าของบริษัทนั้นมีความคิดหัวหมอได้จ้างให้สหภาพแรงงานเหมืองและก่อสร้างของแอฟริกาใต้ประท้วงเพื่อให้มูลค่าหุ้นนั้นตกลงเพื่อที่ตัวเองจะได้ลงทุนและรอตักตวงผลประโยชน์เมื่อมูลค่าหุ้นนั้นกลับมาสูงเหมือนเดิม ทว่าเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่ตกลงเมื่อกลุ่มสภาพแรงงานยืนยันที่จะประท้วงต่อทำให้เจ้าของบริษัทสูญเสียเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนึ่งในนั้นมีจำนวนเงินของหนุ่มปริศนาอยู่ด้วย ทว่ากลับไม่มีใครสามารถเอาผิดกับบริษัทได้เพียงเพราะการลงทุนเช่นนี้นั้นถูกกฎหมาย และไม่มีการชดเชยในจำนวนเงินที่เสียไปเนื่องจากเป็นความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมอยู่แล้วว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง บทสนทนาในฉากสุดท้ายของหนังสามารถอธิบายได้ดีที่สุดเมื่อเจ้าของบริษัทที่เผชิญหน้ากับชายหนุ่มปริศนาเอ่ยถามว่า ‘เขานั้นทำอะไรผิด? สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ผิดกฎหมาย มันก็แค่ธุรกิจก็เท่านั้น’ โดยที่ทุกคนเองก็ไม่สามารถโต้แย้งเขาได้ สิ่งที่ชายหนุ่มนั้นพูดได้คือ แค่มันถูกกฎหมาย…ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกต้อง และสิ่งทีเขาต้องการคือการยอมรับจากเจ้าของบริษัทว่าสิ่งที่ทำนั้นมันผิด ก่อนที่สุดท้ายจะโดนวิสามัญเสียชีวิตลง ชายปริศนานี้เปรียบเหมือนหนึ่งในระเบิดที่ถูกบีบให้ออกมากระทำเนื่องจากความไม่เป็นธรรมในระบบ 

แม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่สิ่งที่แตกต่างกันคือผู้ก่อเหตุในการกราดยิงโคราชนั้นเป็นทั้งเหยื่อและเป็นทั้งผู้ร้าย แต่สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะยอมรับได้แม้ว่าจะมีโครงสร้างและระบบความเชื่อที่ไม่เป็นธรรมอยู่ข้างหลัง หลายคนตั้งคำถามว่าหากเป็นการระเบิดของการอัดอั้นตันใจจริงทำไมถึงจะเป็นจะต้องฆ่าผู้บริสุทธิ์มากมาย ความคิดและสภาวะจิตใจของผู้ก่อเหตุในเวลานั้นไม่ใช่สิ่งที่จะคาดเดาได้ง่าย หากแต่การกระทำของผู้ก่อเหตุนั้นก็เข้าข่ายกับวลีในภาษาลาตินว่า

‘Flectere si nequeo superos, acheronta movebo’

ที่แปลได้ว่า ‘หากข้าไม่สามารถเคลื่อนสวรรค์ ข้าจะนำนรกขึ้นมา’[10] ประโยคดังกล่าวสามารถตีความไปได้ในหลายทิศทาง หนึ่งในนั้นคือหากไม่สามารถทำสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ก็จะนำสิ่งเลวร้ายขึ้นมาแทน 


[1] (2020) กราดยิงโคราช : เยือนบ้านของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ที่อาจเป็นต้นเหตุแห่งความคับแค้น. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-51454084

[2] Johan Galtung (1969). Violence, Peace, and Peace Research สืบค้นจาก https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/002234336900600301

[3] สมคิด พุทธศรี และ จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ (2017) รู้เขารู้เรา เข้าใจวิธีคิดกองทัพไทย ผ่าน สุรชาติ บำรุงสุข สืบค้นจาก https://www.the101.world/surachart_interview_on_military/

[4] ศ. ดร. สุจิต บุญบงการ (2019) ทหารกับการพัฒนาการเมืองไทย มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนาโครงการจัดพิมพ์คบไฟ

[5] พล.อ.ต. ยงยุทธ หาบุบผา (2013). ความเชื่อกับระบบอาวุโสของสังคมทหาร สืบค้นจาก https://www.facebook.com/RTAFrecruitment/posts/488150781256071/

[6] นาวาอากาศเอก พิชิตไชย สุรกิจพิพัฒน์ (2013). ระเบียบโรงเรียนนายเรืออากาศ กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศว่าด้วย ศาลเกียรติศักดิ์นักเรียนนายเรืออากาศ พ.ศ. ๒๕๔๘ หน้า 305 ใน ‘คู่มือการปกครองบังคับบัญชาและฝึกอบรมความเป็นผู้นำนักเรียนนายเรืออากาศ พ.ศ. 2556’ สืบค้นจาก https://issuu.com/anupol1522/docs/manual/305

[7] น.ท. ณรงค์ สุขพ่อค้า ร.น. (2016) การปลูกผังระบบเกียรติศักดิ์ให้กับนักเรียนนายเรือ สืบค้นจาก https://iamjasonbrown.wordpress.com/2016/11/05/137-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4/

[8] (1993) หมวด 2 ว่าด้วยวินัย ใน ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476’ สืบค้นจาก http://www2.crma.ac.th/organ/doc/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%20%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%202476.pdf

[9] นาวาอากาศเอก พิชิตไชย สุรกิจพิพัฒน์ (2013). ระเบียบโรงเรียนนายเรืออากาศ กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศว่าด้วย ศาลเกียรติศักดิ์นักเรียนนายเรืออากาศ พ.ศ. ๒๕๔๘ หน้า 305 ใน ‘คู่มือการปกครองบังคับบัญชาและฝึกอบรมความเป็นผู้นำนักเรียนนายเรืออากาศ พ.ศ. 2556’ สืบค้นจาก https://issuu.com/anupol1522/docs/manual/305

[10] คำแปลในภาษาอังกฤษทั่วไปคือ If I cannot move heaven, I will raise hell หากแต่ถ้าแปลจากภาษาลาตินอย่างตรงตัวคือ If I cannot bring round the gods above, I will move the Underworld โดย Virgil, Aeneid 7.312

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: