Raw data สำหรับรายการ The Standard Daily x KPI กับอาจารย์ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา ในประเด็น ‘กฎหมายและการยุบพรรค’ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563
ประวัติการยุบพรรค กรณีประเทศไทย และกรณีของอนาคตใหม่(?)
สถิติการยุบพรรคในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา
นับตั้งแต่พ.ศ. 2541 ที่มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541”เป็นต้นมา มาถึงปี 2550 ที่ได้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550” และจวบจนมาถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2563 ที่ได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560” ประวัติศาสตร์ของการยุบพรรคการเมืองในประเทศไทยแม้เพิ่งผ่านไปเพียงระยะเวลา 22 ปี จากพ.ศ. 2541-2563 แต่โดยรวมแล้วมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบหรือถูกประกาศให้สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองแล้วทั้งสิ้น 142 พรรค[1][2][3](ทั้งนี้ผู้ค้นคว้าไม่ได้รวมถึงพรรคที่สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเนื่องจากความสมัครใจของพรรคการเมืองเองเช่น กรณีของพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นต้น เนื่องจากผู้ค้นคว้าต้องการต่อยอดจากการค้นคว้าของแหล่งข้อมูลทั้งงานวิจัยและบทความที่ให้ความสำคัญกับการยุบพรรคเพราะเหตุผลของการขัดต่อกฎหมายเป็นสำคัญ**)
แบ่งประเภทตามสาเหตุที่ใช้ยุบพรรคและประกาศสิ้นสภาพพรรคการเมือง (พ.ศ.2541-2563)
(พรรคที่มีเครื่องหมาย “ * ” เป็นพรรคที่ผู้ค้นคว้าเห็นว่าถูกยุบเพราะเหตุทางการเมือง)
- จำนวนสมาชิกหรือสาขาไม่ครบตามเกณฑ์ขั้นต่ำ มีทั้งสิ้น 88 พรรค
- กกต.สั่งให้สิ้นสภาพ47 พรรค
- พรรคเสรี, พรรคเสรีธรรม, พรรคแนวร่วมเกษตรกร, พรรคแรงงาน, พรรคโบราณรักษ์, พรรคไทยก้าวหน้า, พรรคไทยพัฒนา, พรรคไทยพิทักษ์ไทย, พรรคไทยมหาชน, พรรคไทยรวมพลัง, พรรคไทยสามัคคี, พรรคชาติเกษตรกรไทย, พรรคชาตินิยม, พรรคชาติประชาชน, พรรคชาติพัฒนา (รอบ2), พรรคชาติสามัคคี, พรรคชาวนาชาวไร่ไทย, พรรคชาวนาพัฒนาประเทศ, พรรคชีวิตใหม่, พรรคทางเลือกที่สาม, พรรคธรรมรัฐ, พรรคนำไทย, พรรคปฏิรูป, พรรคประชาชนไทย, พรรคประชาชาติไทย, พรรคประชาธรรม, พรรคประชาสังคม, พรรคพลังเกษตรกร, พรรคพลังเสรีธรรม, พรรคพลังไทย, พรรคพลังสามัคคี, พรรคพัฒนาไทย, พรรคพัฒนาสังคมไทย, พรรคมหาราษฏร์ธิปัตย์, พรรครวมไทย, พรรครวมพลังไทย, พรรครักชาติ, พรรครักสามัคคี, พรรคสังคมประชาชน, พรรคสังคมพัฒนา, พรรคสันติภาพไทย, พรรคประชาธรรม, พรรคเมืองไทยของเรา,พรรคพลังคนกีฬา,พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า,พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย,พรรคแทนคุณแผ่นดิน, พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน, พรรคเพื่อนไทย, พรรคมหาชน
- ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค 41 พรรค
- พรรคเสียงประชาชน, พรรคเอกราช, พรรคไทยภูพาน, พรรคไทยร่ำรวย, พรรคคุณธรรม, พรรคนำวิถี, พรรคนิติศาสตร์ไทย, พรรคประชาชาติไทย, พรรคปวงประชาธรรม, พรรคพัฒนาประชาธิปไตย, พรรครักเมืองไทย, พรรครักษ์ไทย, พรรคศรีสยาม, พรรคศิลปิน, พรรคสตรีเพื่อชาติ, พรรคสยามก้าวหน้า, พรรคสยามสันดี, พรรคสังคมไท, พรรคสังคมธิปไตย, พรรคสันติภาพชาวไทย, พรรคสาธารณชน, พรรคสู้เพื่อไทย, พรรคอยู่ดีมีสุข, พรรคอุดมรัฐ, พรรคเทียนแห่งธรรม, พรรคเพื่อประชาชน, พรรคเสรีประชาไท, พรรคร่วมมาตุภูมิ, พรรคแรงงาน, พรรคประชาชนก้าวหน้า, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคปวงชนชาวไทย, พรรคพลังแผ่นดิน, พรรคพลังไทย, พรรคพอเพียง, พรรคภพไท, พรรครวมไทยพัฒนา, พรรคสหธรรม, พรรคอนุรักษ์นิยม
- กกต.สั่งให้สิ้นสภาพ47 พรรค
- ไม่จัดการประชุมใหญ่พรรคการเมือง มีทั้งสิ้น 9 พรรคพรรคเกษตรเสรี, พรรคแรงงานไทย, พรรคไทยเสรี, พรรคไทยช่วยไทย, พรรคไทยธรรมาธิปไตย, พรรคพลังใหม่, พรรคพลังมหาชน, พรรครู้แจ้งเห็นจริง, พรรคสังคมประชาธิปไตย
- ไม่นำส่งรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือนำส่งล่าช้า 13 พรรคพรรคไทยมหารัฐ, พรรคกฤษไทยมั่นคง, พรรคถิ่นไทย, พรรคธัมมาธิปไตย, พรรคนิติมหาชน, พรรคพัฒนาสังคม, พรรคพิทักษ์ไทย, พรรครักแผ่นดินไทย, พรรคสังคมใหม่, พรรคอธิปไตย, พรรคเพื่อนเกษตรกรไทย, พรรคสยาม
- ไม่นำส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง นำส่งล่าช้า หรือใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้อง มีทั้งสิ้น 20 พรรคพรรคเกษตรกร, พรรคเกษตรก้าวหน้า, พรรคเสรีประชาธิปไตย, พรรคไทยประชาธิปไตย, พรรคก้าวหน้า, พรรคชาติประชาธิปไตย, พรรคธรรมชาติไทย, พรรคประชาชน, พรรคประชารัฐ, พรรคพลังธรรม, พรรควิถีไทย, พรรคสันติภาพ, พรรคอำนาจประชาชน, พรรคชีวิตที่ดีกว่า, พรรคพลังแผ่นดินไท, พรรคบำรุงเมือง, พรรคดำรงไทย, พรรคชาติสามัคคี, พรรคคนขอปลดหนี้, พรรคเพื่อประชาชนไทย
- *กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จำนวน 3 พรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย, พรรคชาติไทย, พรรคพลังประชาชน
- *กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 พรรคพรรคไทยรักไทย, พรรคพัฒนาชาติไทย, พรรคแผ่นดินไทย, พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
- *กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข1 พรรคพรรคไทยรักษาชาติ
- กระทำผิดกฎหมาย 2 ข้อขึ้นไป มีทั้งสิ้น 4 พรรค
- พรรควิถีไทย:ไม่ยื่นรายงานกิจการและรายงานการเงิน
- พรรคพลังเกษตรกร:ยื่นรายงานกิจการโดยไม่ผ่านการรับรองของที่ประชุมใหญ่พรรคการเมือง และรายงานการใช้จ่ายเงินขาดหลักฐานประกอบ
- พรรคไท:ใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่ถูกต้อง และจัดการประชุมใหญ่พรรคการเมืองไม่ถูกต้อง
- พรรคเอกภาพ:ยื่นรายงานทั้งสองฉบับล่าช้าไป 9 วัน
ข้อกฎหมายที่ใช้ในการยุบพรรค
- “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541”
- มาตรา 35: หัวหน้าพรรคจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปี และแจ้งต่อ กกต.ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
- มาตรา 39: สามารถหาสมาชิกพรรคได้ 5,000 คนขึ้นไป และต้องมีสมาชิกที่อยู่ในแต่ละภาคและจังหวัดตามที่ กกต.กำหนด มีสาขาพรรคภาคละอย่างน้อย 1 สาขา ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่จัดตั้งพรรคการเมือง
- มาตรา 62: จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีให้ถูกต้อง ยื่นต่อ กกต.ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
- มาตรา 66 (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หริเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ
- “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550”
- มาตรา 26:สามารถหาสมาชิกพรรคได้ 5,000 คนขึ้นไป และต้องมีสมาชิกที่อยู่ในแต่ละภาคและจังหวัดตามที่ กกต.กำหนด มีสาขาพรรคภาคละอย่างน้อย 1 สาขา
- มาตรา 37: คณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองต้องจัดใหญ่มีการประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งก่อนการประชุมใหญ่ประจําปีของพรรคการเมือง
- มาตรา 42: หัวหน้าพรรคจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปี และแจ้งต่อ กกต.ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
- มาตรา 44: ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้ของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง ตลอดจนจัดให้มีการทําบัญชีตามมาตรา ๔๕ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
- มาตรา 94 (2) กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
- “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560”
- มาตรา 33 (1) สามารถหาสมาชิกพรรคได้ 5,000 คนขึ้นไปและต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน มาตรา 33 (2) ต้องมีสมาชิกที่อยู่ในแต่ละภาคและจังหวัดตามที่ กกต.กำหนด มีสาขาพรรคภาคละอย่างน้อย 1 สาขา
- มาตรา43: ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายการตามที่คณะกรรมการกำหนด
- มาตรา84: เงินที่พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรตามมาตรา ๘๓ ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง การจัดทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้จัดทำรายงานให้คณะกรรมการทราบทุกสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับการจัดสรร
- มาตรา92: การการกระทำที่อาจจะเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
กรณียุบพรรคอนาคตใหม่
สำหรับกรณีวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่จะมีการอ่านคดียุบพรรค ‘อนาคตใหม่’โดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยว่าด้วยความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)ที่ว่าด้วยการสั่งยุบพรรคการเมืองหากทำผิดข้อกฎหมายมาตรา 20 วรรคสอง, มาตรา 28, มาตรา 30, มาตรา 36, มาตรา 44, มาตรา 45, มาตรา 72 หรือ มาตรา 74 ประกอบมาตรา 72ว่าด้วย ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่าเป็น “คดีเงินกู้พรรค” ซึ่งคำถามที่สำคัญคือ “เงินกู้พรรคถือเป็นการรับบริจาคจริงหรือ? และจะจำแนกอย่างไรว่าเงินแบบใดที่เป็นเงินที่มาจากแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย?”
ในส่วนของคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องจาก กกต. เพื่อพิจารณาเรื่องที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) ได้ให้เงินกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่เป็นจำนวน 191,200,000 บาท โดยถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ทั้งนี้ข้อกังขาที่เกิดขึ้นคือ การที่ กกต. ข้ามขั้นตอนการดำเนินคดี โดยทำการสืบสวน ไต่สวน และข้ามไปเข้าสู่กระบวนการสั่งฟ้องทันที โดยข้ามขั้นตอนให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยก่อน ประกอบกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ไต่สวนพยานบุคคล เพียงแต่ให้พยานบุคคล 17 ปากจัดทำหนังสือความเห็นต่อศาลแทน
บรรณานุกรม
ณรงค์เดช สรุโฆษิต. (2554). แนวทางปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง.กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล. (2558). การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ :
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ.
เว็บไซต์
“มองย้อนศึกเลือกตั้ง 21 ปี ถูกยุบ 132 พรรค ไทยรักษาชาติยืนลำพังบนปากเหว,” (14 กุมภาพันธ์ 2562). ไทยรัฐ
ออนไลน์. เข้าถึงผ่านเว็บไซต์: https://www.thairath.co.th/news/politic/1495560.
(สืบค้นเมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2563).
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “การเมืองเรื่องยุบพรรคการเมือง,” (19 มีนาคม 2562). The 101 World. เข้าถึง
ผ่านเว็บไซต์: https://www.the101.world/dissolution-of-political-party/.
(สืบค้นเมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2563).
[1]งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี 2554 พบว่ามีพรรคการเมืองที่ถูกยุบ 123 พรรคการเมือง
ดูเพิ่มเติม: ณรงค์เดช สรุโฆษิต. (2554). แนวทางปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง.กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
[2]จากการค้นคว้าของไทยรัฐออนไลน์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้ว 132 พรรค แล้วภายหลังจากนั้นผู้ค้นคว้าได้พบว่ามีการยุบพรรคการเมืองและคำสั่งให้สิ้นสภาพพรรคอีก 8 พรรค จึงรวมเป็น 142 พรรคการเมือง
ดูเพิ่มเติมได้ที่: “มองย้อนศึกเลือกตั้ง 21 ปี ถูกยุบ 132พรรค ไทยรักษาชาติยืนลำพังบนปากเหว,” (14 กุมภาพันธ์ 2562).ไทยรัฐออนไลน์. เข้าถึงผ่านเว็บไซต์: https://www.thairath.co.th/news/politic/1495560. (สืบค้นเมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2563).
[3]ข้อมูลจากทาง The 101 World ระบุว่ามีจำนวน 133 พรรคการเมืองที่ถูกยุบ ก่อนที่ผู้ค้นคว้าจะพบว่าภายหลังมีการยุบพรรคและประกาศให้สิ้นสภาพพรรคเพิ่ม รวมเป็น 142 พรรคการเมือง
ดูเพิ่มเติมได้ที่: ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “การเมืองเรื่องยุบพรรคการเมือง,” (19 มีนาคม 2562). The 101 World. เข้าถึงผ่านเว็บไซต์: https://www.the101.world/dissolution-of-political-party/. (สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563).

กรณีศึกษาการยุบพรรคการเมืองในต่างประเทศ:ประเทศในสหภาพยุโรป,
สาธารณรัฐเกาหลี และราชอาณาจักรกัมพูชา
การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี ปี 1923 เนื่องมาจากช่องโหว่ในรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นที่กล่าวว่าจะสามารถยกเลิกพรรคการเมืองได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา[1]ทว่าในกรณีของพรรคนาซีนั้นกลับเป็นการแฝงกายเข้ามาในรูปแบบของพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายล้างระบบการปกครอง ต่อมาจึงได้มีการตรากฎหมายสำหรับการยุบพรรคการเมืองไว้ในมาตรา 21 และยังได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินในกรณีนี้ เพื่อที่จะอุดช่องโหว่ที่ว่าจนสามารถกล่าวได้ว่าการกระทำนี้กลายมาเป็นรากฐานที่หลายประเทศนั้นนำมาปฏิบัติตาม
สหภาพยุโรป
แต่ละประเทศในสหภาพยุโรปมีกฎหมายและข้อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสั่งยุบพรรคการเมืองที่แตกต่างในรายละเอียด สิ่งที่น่าสนใจคือตัวสหภาพที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการยุบพรรคการเมืองอันเป็นเรื่องภายในประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญVenice Commission[2](คณะกรรมการเวนิส)หรือ European Commission for Democracy through law (คณะกรรมการยุโรปว่าด้วยประชาธิปไตยผ่านกฎหมาย)ได้รับรองการจัดทำแนวปฏิบัติ Guidelines on Prohibition and Dissolution of PoliticalParties and Analogous Measures[3]ในเดือนธันวาคม ปี 1999 มี 7 แนวทางที่ 47 ประเทศ[4]ได้มีการให้สัตยาบัน (ratification) อันได้แก่
- รัฐยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมสมาคมอย่างเสรีในพรรคการเมือง
- การจำกัดสิทธิ์จะทำได้ต่อเมื่อมีข้อกำหนด (provisions) ที่เกี่ยวข้องจากThe European Convention for the Protection of Human Rights และข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ
- การห้ามหรือยุบพรรคการเมืองจะมีความชอบธรรมก็ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรอันได้แก่การใช้ความรุนแรง คุกคามสิทธิและเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือความพยายามที่จะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
- ไม่สามารถให้พรรคการเมืองรับผิดชอบการกระทำส่วนบุคคลได้
- การห้ามหรือยุบพรรคการเมืองควรเป็นวิธีสุดท้าย
- มาตราการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามหรือยุบพรรคการเมืองจะต้องเป็นผลจากการพิจารณาคดีของศาลและจะต้องมีหลักฐานมากเพียงพอที่จะสนับสนุน
- การห้ามหรือยุบพรรคการเมืองจะต้องถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรทางกฎหมาย (judicial body)
ทั้ง 7 ข้อเป็นการสรุปโดยย่อ สาระสำคัญนั้นคือเสรีภาพในการแสดงออกและเข้าร่วมเป็นหนึ่งในพรรคการเมือง รัฐจะสามารถห้ามหรือยุบพรรคการเมืองได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรที่มีน้ำหนักมากพอ และจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The European Convention for the Protection of Human Rights/ECHR) ที่ได้มีการนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1953 ในอนุสัญญาฯ มีสองมาตราที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองและมักจะถูกนำมาใช้อ้างยามเมื่อพรรคการเมืองตัดสินใจฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป(European Court of Human Rights)มาตรา 10เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ที่ว่าทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกและมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล และมาตรา 11 เสรีภาพในการชุมนุมและเข้าสมาคม (Freedom of Assembly and Association)[5]ที่กล่าวถึงการพรรคการเมืองโดยตรง ทั้งนี้ยังพูดถึงพรรคการเมืองในเชิงที่ว่าเป็นสิ่งที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่ามาตรา 11 (2) ก็ยังได้มีการพูดถึงการจำกัดพรรคการเมืองโดยรัฐมีอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงยามเมื่อมีเหตุจำเป็นที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐและประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งหากมีการยื่นเรื่องถึงศาลว่ารัฐนั้นได้ละเมิดมาตราที่ 11 ทาง ECHRจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ารัฐได้มีการแทรกแซงจริงหรือไม่ หากเป็นจริงจะดำเนินการพิจารณาว่าเป็นการละเมิดมาตราที่ 11 (2)ต่อ ทั้งนี้รัฐจะต้องพิสูจน์ว่าการกระทำของรัฐนั้นเป็นไปตามกฎหมาย มีเป้าหมายอันชอบธรรม และเป็นสิ่งจำเป็นต่อความเป็นประชาธิปไตยภายในสังคม
ทั้งนี้ก่อนที่ทางคณะกรรมการเวนิสจะได้จัดการแนวทางปฏิบัติฯ ขึ้นมาก็ได้มีการทำวิจัยสำรวจประเทศจำนวน 40 ประเทศถึงข้อบังคับและกฎการยุบพรรคการเมืองภายในประเทศ[6]แม้ว่างานศึกษาชิ้นนี้จะเขียนเมื่อปี 1998-1999 แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงรากฐานของโครงสร้างและความคิดของประเทศในยุโรปต่อการยุบพรรคการเมือง แม้ว่าในงานศึกษาชิ้นนี้จะไม่สามารสรุปได้ถึงมาตราฐานกลางที่ประเทศในยุโรปนั้นใช้ในการสร้างกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามหรือยุบพรรคการเมือง ทว่าก็มีข้อเหมือนและบรรทัดฐานที่ใช้ร่วมกัน ได้แก่
1. การห้ามอย่างเป็นทางการ (Formal Restriction)
1.1 การตั้งชื่อที่มีกฎระเบียบแตกต่างกันออกไปแต่ส่วนมากมักจะมีข้อห้ามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
1.2 ความสำคัญของพรรค อาทิจำนวนคนในพรรค และกิจกรรมภายในพรรคที่บ้างประเทศคาดหวังให้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
1.3 เรื่องการเงิน หลายประเทศนั้นไม่ได้ให้ความสนใจมากและเมื่อมีการทำผิดก็ไม่ได้มีการลงโทษถึงขั้นยุบพรรค อาจจะมีเพียงแค่ลงโทษเพียงเล็กน้อย (Sanction) หรือให้ชดใช้เงินคืน
- การห้ามโดยการกระทำ (Material Restriction)หมายถึงการกระทำของพรรคหรือจุดมุ่งหมายของพรรค โดยสาระสำคัญแล้วการกระทำที่ส่งผลให้เกิดการห้ามหรือยุบพรรคนั้นคือการที่พรรคมีแนวโน้มที่จะเป็นพรรคหัวรุนแรงสุดโต่ง (Extremist),ผลักดันการใช้ความรุนแรง เหยียดหยาม และความเกลียดชังภายในสังคม (อาทิ war-like Propaganda),การใช้ความรุนแรงเพื่อหมายที่จะโค้นล้มรัฐบาล ทั้งนี้ทาง ECHRไม่ได้กำลังจะลดความเป็นประชาธิปไตย และได้อธิบายว่าพรรคการเมืองที่มีแนวคิดที่แตกต่างและต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบของประเทศนั้นสามารถทำได้และตั้งอยู่ในการเมืองระดับชาติต่อเมื่อไม่มีการใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง
จาก 2 ข้อที่ได้กล่าวไป การยุบพรรคภายในประเทศยุโรปนั้นไม่ค่อยเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นก็มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กระทบกับความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ส่วนร่วม การห้ามหรือการยุบพรรคจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นวิธีสุดท้ายโดยที่รัฐนั้นจะกระทำอะไรก็ต้องคิดว่าจะไปละเมิดอนุสัญญาฯ หรือไม่ เพราะพรรคการเมืองที่ถูกสั่งยุบนั้นมีอำนาจในการยื่นเรื่องไปยังศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้
กรณีศึกษาที่ 1พรรคการเมือง Herri Batasuna และ Batasuna ในราชอาณาจักรสเปน
ในปี 2009 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้มีการตัดสินว่าการยุบพรรคHerri Batasuna และ Batasunaในปี 2003 ตามที่ศาลสูงสุดของราชอาณาจักรสเปนได้วินิจฉัยสืบเนื่องจากการกระทำที่ขัดต่อหลักการความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Western Europe (ETA)หรือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เคยก่อเหตุฆ่าคนมากกว่า800 คน[7]เป็นการกระทำที่ไม่ละเมิดต่ออนุสัญญาฯ มาตรา 10 และมาตรา 11ในคำวินิจฉัยได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าการกระทำของราชอาณาจักรสเปนนั้น เป็นไปตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยมีการทำตามจุดมุ่งหมายที่ชอบธรรมภายใต้กรอบของอนุสัญญาฯ ในมาตราที่ 11[8]
กรณีศึกษาที่ 2พรรค People’s Democracy Party (HADEP) ในสาธารณรัฐตุรกี
ในปี 2010 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้มีการตัดสินว่าการยุบพรรคHADEP ตามข้อกล่าวหาว่าเป็นศูนย์กลางของการกระทำการผิดกฎหมายซึ่งให้การสนับสนุนต่อกลุ่มก่อการร้ายPKKของสาธารณรัฐตุรกี ในปี 2003 นั้นเป็นการละเมิดอนุสัญญาฯ ในมาตราที่ 11 และได้สั่งให้สาธารณรัฐตุรกีจ่ายเงินให้แก่ตัวแทนของพรรคเป็นจำนวนเงินมากกว่า 26,200 ยูโร โดยศาลพิจารณาจากหลักฐานและข้อมูลไม่เห็นถึงการกระทำความผิดขั้นรุนแรงดังที่ทางสาธารณรัฐตุรกีได้กล่าวอ้าง หนึ่งในคำวินิจฉัยที่น่าสนใจคือ แม้ว่าHADEP จะสนับสนุนกลุ่มความเป็นเอกราชของ Kurdแต่ก็ไม่ได้กระทำการที่ละเมิดต่อความเป็นประชาธิปไตยและไม่อาจจะนับเป็นการเข้าร่วมหรือสนับสนุนการก่อการร้าย[9]
สาธารณรัฐเกาหลี
ใกล้เคียงกับบรรทัดฐานของประเทศในสหภาพยุโรปที่การยุบพรรคการเมืองนั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงและน้อยครั้งที่จะเกิดขึ้น สาธารณรัฐเกาหลีให้ความสำคัญต่อพัฒนาและรักษาความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีของประชาชน ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก และถือว่าการมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนนั้นคือฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนความเป็นประชาธิปไตย ในเรื่องของการยุบพรรคนั้นภายในรัฐธรรมนูญได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจน ตามมาตรา 8 (4)หากจุดประสงค์และกิจกรรมของพรรคการเมืองละเมิดวิถีความเป็นประชาธิปไตยเบื้องต้น (Basic democratic order) รัฐบาลสามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมือง โดยศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตัดสินใจ ทว่าการยุบพรรคการเมืองนั้นควรจะเป็นการกระทำสุดท้ายหากไม่มีทางเลือกอื่นเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองนั้นทำลายประชาธิปไตย การตีความคำว่าวิถีความเป็นประชาธิปไตยเบื้องต้นควรจะทำให้รัดกุมและแคบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นเดียวกันภายใต้พรรคการเมืองในสาธารณรัฐเกาหลีมีเสรีภาพในการเลือกอุดมการณ์หรือแนวความคิดที่ตัวเองต้องการตราบใดที่สิ่งที่ยึดถือนั้นไม่ปฏิเสธวิถีความเป็นประชาธิปไตยเบื้องต้น สาธารณรัฐเกาหลีได้ให้คำจำกัดความการละเมิดวิถีความเป็นประชาธิปไตยเบื้องต้นว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแต่ต้องเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างภัยคุกคามที่อาจจะส่งผลความมั่นคงของสังคมและประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเกาหลี
กรณีศึกษาพรรค Unified Progressive Party (UPP) ในปี 2014
เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1988 นับจากการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเกาหลีที่ได้มีการใช้อำนาจเข้ามายุบพรรคการเมือง[10] ในปี 2014 ศาลมีคำสั่งตัดสินให้ยุบพรรค UPPสืบเนื่องจากจุดประสงค์ของพรรคที่ยึดอยู่บนหลักของสังคมนิยมแบบเกาหลีเหนือ (North Korea’ Socialism) ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเกาหลี และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มใต้ดินของเกาหลีเหนือที่ชื่อRevolutionary Organization (RO) โดยตรง เชื่อว่า UPPนั้นคือพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของเกาหลีเหนือเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศผ่านการปฏิวัติ[11]ในขณะเดียวกันก็มีหลายฝ่ายออกมาโจมตีว่าสิ่งที่ศาลตัดสินต่างหากที่เป็นภัยคุกคามต่อวิถีความเป็นประชาธิปไตย พรรคUPP เป็นหนึ่งในพรรคที่สนับสนุนให้มีการเจรจาและรวมชาติระหว่างเกาหลีเหนือและใต้อย่างสันติภาพ และการที่พรรคๆ หนึ่งจะมีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างไม่ควรจะกลายเป็นอาชญากรรมทางความคิด
ราชอาณาจักรกัมพูชา
ปี 2017 รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชารับรองการแก้ไขกฎหมาย(legislative amendment) มาตรา 45 ว่าด้วยเรื่องของพรรคการเมือง หลังจากปี 1997 ที่ได้มีการออกกฎหมายดังกล่าว มาตรา 45 ก็ได้ถูกแก้ไขอีกเป็นจำนวนสองครั้งในปี 2016 ในการแก้ไขครั้งล่าสุดของปี 2017 มาตรา 45 ได้ให้สิทธิรัฐบาลในการยุบพรรคการเมืองได้ หากเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ โดยที่ไม่ได้ตีความคำว่าความมั่นคงของชาติอย่างชัดเจนและไม่ได้มีการจัดทำการปรึกษาสาธารณะ หลังจากการแก้ไขดังกล่าวสหรัฐฯ ก็ได้แสดงออกถึงความกังวลต่อสิทธิเสรีภาพของพรรคการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย[12]การแก้ไข้กฎหมายดังกล่าวนี้คล้ายจะเป็นการมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการห้าม จำกัด หรือแม้แต่สั่งยุบพรรค และจะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยทำให้กัมพูชาตกอยู่ในการปกครองแบบพรรคเดียว โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านอย่าง CNRP ที่มีความเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะกำจัดพรรคของตนเอง
กรณีศึกษาการยุบพรรค กู้ชาติกัมพูชา(CNRP)
ศาลได้ตัดสินให้มีการยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา ในปี 2017 ด้วยข้อกล่าวหาวางแผนโค่นล้มรัฐบาล โดยหัวหน้าพรรค CNRPถูกจับในข้อหากบฏ สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ และสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่พรรค CNRPไม่ส่งทนายมาแก้ต่างในการไต่สวนก็ถือเท่ากับเป็นการยอมรับความผิดนั้น ส่งผลให้สมาชิกหลายคนภายในพรรคต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ การยุบพรรคการเมือง CNRPเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเพียงหนึ่งปี หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อกวาดล้างศัตรูทางการเมือง
——————————————-
สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
18 กุมภาพันธ์ 2563
[1]ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (2015) การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หน้า 21
[2]ที่ปรึกษาของสภายุโรป(The Council of Europe) ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คณะมนตรียุโรป (European Council) หรือคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union)
[3]Council of Europe (2000). Guidelines on Prohibition and Dissolution of Political
Parties and Analogous Measures, adopted by the Venice Commission at its 41stplenary session. Venice, 10- 11 December, 1999. สืบค้นจาก https://www.google.com/search?q=Guidelines+on+Prohibition+and+Dissolution+of+Political+Parties+and+Analogous+Measures&rlz=1C1CHBF_enTH869TH869&oq=Guidelines+on+Prohibition+and+Dissolution+of+Political+Parties+and+Analogous+Measures&aqs=chrome..69i57j69i59l2j69i61.9423j0j4&sourceid=chrome&ie=UTF-8
[4]ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 มีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 47 ประเทศ สืบค้นจาก https://www.coe.int/en/web/conventions/full-list/-/conventions/treaty/005/signatures
[5]Council of Europe (2010) The European Convention on Human Rightsสืบค้นจาก https://www.echr.coe.int/Documents/Convention_ENG.pdf
[6]Council of Europe (2000). Guidelines on Prohibition and Dissolution of Political
Parties and Analogous Measures, adopted by the Venice Commission at its 41stplenary session. Venice, 10- 11 December, 1999. สืบค้นจาก https://www.google.com/search?q=Guidelines+on+Prohibition+and+Dissolution+of+Political+Parties+and+Analogous+Measures&rlz=1C1CHBF_enTH869TH869&oq=Guidelines+on+Prohibition+and+Dissolution+of+Political+Parties+and+Analogous+Measures&aqs=chrome..69i57j69i59l2j69i61.9423j0j4&sourceid=chrome&ie=UTF-8
[7]Thomas Ayres (2004) Batasuna Banned: The Dissolution of Political Parties Under the European Convention of Human Rights, p. 100. 27 B.C. Int’l & Comp. L. Rev. 99
[8]“It was “prescribed by law” and pursued “a legitimate aim” within the meaning of Article 11 of the Convention”P. 3 of European Court of Human Rights (2009). Chamber Judgment Herri Batasuna and Batasuna v. Spain.
[9]“Even if HADEP advocated the right to self-determination of the Kurds, that would not in itself be contrary to democratic principles and could not be equated to supporting acts of terrorism”P. 3 of European Court of Human Rights (2010), Dissolution of Turkish political party HADEP was not justified.
[10]NK news (2014). What S. Korea’s dissolution of a ‘pro-North’ party means retrieved from https://www.nknews.org/2014/12/what-s-koreas-dissolution-of-a-pro-north-party-means/
[11]Hyun Lee (2014) The Erosion of Democracy in South Korea: The Dissolution of the Unified Progressive Party and the Incarceration of Lee Seok-ki. The Asia-Pacific Journal: Japan Focus. Retrieved from https://apjjf.org/2014/12/52/Hyun-Lee/4245.html
[12]Nguon Serath (2017). Cambodia passes law enabling dissolution of political parties. Nikkei Asian Review. Retrieve from https://asia.nikkei.com/Politics/Cambodia-passes-law-enabling-dissolution-of-political-parties