Articles

อนาคตใหม่ไต้หวันกับประธานาธิบดีคนเดิม

ขวัญข้าว คงเดชา
2 มีนาคม 2563


วันที่ 11 มกราคม 2563 นางสาวไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน, ไต้หวัน (Republic of China: ROC)  เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน จากจำนวนผู้มีสิทธิสามารถลงคะแนนเสียง 19.3 ล้านคน พรรค Democratic Progressive Party (DPP) ของนางสาวไช่ ได้รับคะแนนคิดเป็น 57.1% หรือ 8.17 ล้านคน[1]  ในขณะที่พรรคคู่แข่งสำคัญอย่าง Kuomintang (KMT) ได้รับคะแนนเสียงเพียงแค่ 38.6% หรือ 5.52 ล้านคน[2] ห่างกันอยู่ 2 ล้านกว่าคน ผลคะแนนการเลือกตั้งในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของชาวจีนไต้หวันต่อสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากการขยายอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ (สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ People Republic of China: PRC) ภายใต้การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (China Communist Party: CCP) และกรณีศึกษาจากฮ่องกงในปีที่ผ่านมา

ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในระดับระหว่างประเทศ แต่ในประเทศเองก็มีการแบ่งเป็นสองฝ่าย 1. Pan-Blue Coalition นำด้วยพรรค KMT มีจุดประสงค์ว่าวันหนึ่งจะกลับไปรวมเป็นจีนเดียวอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ภายใต้การบริหารของ CCP แต่เป็น KMT โดยในปัจจุบันชูนโยบายในการผูกความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ยึดหลักจีนเดียว 2. Pan-Green Coalition นำด้วยพรรค DPP ที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับ KMT ตั้งแต่การดำรงตำแหน่งสมัยแรกของนางสาวไช่ ได้มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับนโยบายจีนเดียว ยึดการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไต้หวันนั้นมีเอกราชเป็นของตัวเองไม่ใช่ของจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าในการแข่งขันเลือกตั้งปี 2563 ที่ผ่านมานั้นความแตกต่างสุดขั้วของทั้งสองพรรคถูกเจือจางลงด้วยภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ จากเดิมที่เน้นเป็นข้อโต้เถียงระหว่างทั้งสองฝ่ายว่าจะการสร้างความเป็นชาติและรัฐชาติของไต้หวัน (Republic of Taiwan) หรือคงความเป็นจีนเดียว (One China Principle) ก็มุ่งความสนใจไปยังการต่อกรกับการคุกคามของอิทธิพลจีนแผ่นดินใหญ่มากยิ่งขึ้น โดยนอกจากนโยบายไม่ยอมรับจีนเดียวและต่อสู้เพื่ออิสรภาพของไต้หวันแล้ว นางสาวไช่ก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจภายในปี 2561 จากที่เคยมุ่งเน้นการปฏิรูปสังคม (Social Reforms) มาเป็นแบบ pro-growth policies ซึ่งในการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยนี้ที่สองนี้ก็ยังจะนำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อรับมือกับผลกระทบของ trade war และถ่วงดุลความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และจีนต่อ

ข้อสังเกตหลังการประกาศผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้แก่ 1. ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในไต้หวันกลุ่มคนอายุ 20-23 ปีคิดเป็นจำนวนเพียงแค่ 6% ของทั้งหมดที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยคนรุ่นใหม่จำนวนนี้เทคะแนนให้แก่พรรค DPP ยิ่งการออกมาแถลงข่าวจากประธานาธิบดีไช่ว่าจะต้อนรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากฮ่องกงในปีที่ผ่านมายิ่งสามารถชื้อใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มาก แม้ว่าผู้มีสิทธิจำนวนมากที่เป็นผู้มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปนั้นจะเลือกโหวตให้แก่พรรค KMT ที่มีนโยบายหันไปหาจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าก็ยังมีตัวแปรสำคัญอย่างกรณีของฮ่องกงที่เป็นแบบอย่างให้ประชาชนชาวไต้หวันเลือกตัดสินใจลงคะแนนอย่างที่ปรากฎ การออกมาประท้วงต่อต้านของชาวฮ่องกงและนโยบายตอบโต้ของกรุงปักกิ่งยิ่งทำให้ประชาชนชาวไต้หวันเคลือบแคลงในตัวจีนแผ่นดินใหญ่ หลายคนมองกรณีของฮ่องกงแล้วสะท้อนดูตัวเองจนเกิดเป็นความหวาดระแวง เป็นโอกาสให้แก่พรรค DPP ที่ปฏิเสธหลักการจีนเดียวได้ชี้ให้ประชาชนเห็นว่า One China, two system นั้นไม่ใช่ทางออกที่ดี โดยได้นำสโลแกน ‘Today Hong Kong, Tomorrow Taiwan’ มาเรียกการสนับสนุนจากประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ 2. การเลือกตั้งในครั้งนี้เสมือนเป็นการประกาศอย่างหนักแน่นถึงท่าทีของไต้หวัน และเป็นสัญญาณที่สื่อไปถึงกรุงปักกิ่งว่าการรวมชาติ (Unification) นั้นไม่มีทางจะเกิดขึ้น เนื่องจากปัจจัยกรณีศึกษาของฮ่องกงและแรงกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน ในขณะเดียวกันก็สามารถกล่าวได้ว่าเป็นจีนแผ่นดินใหญ่เองที่ทำให้ประชาชนไต้หวันหันเหและละทิ้งความสนใจที่จะรวมชาติ

ความตึงเครียดระหว่างทั้งคู่ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีลงนามแถลงการณ์ร่วมเซียงไฮ้ (Shanghai Communique) ในปี 1972 ระหว่าง PRC และสหรัฐฯ ที่ยอมรับว่ารัฐบาลจีน (CCP) เป็นรัฐบาลชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวและไต้หวันเป็นเพียงส่วนหนึ่งในประเทศจีน แต่ในสภาพความตึงเครียดที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือในสถานการณ์ที่มีการใช้กำลังปราบปรามของจีนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างไม่เป็นทางการมาตลอดคงจะไม่อยู่เฉยแล้วยื่นมือเข้ามาช่วย สังเกตได้จากการที่รัฐสภาของสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายสำหรับปฏิบัติกับไต้หวันคล้ายเป็นประเทศอิสระ รวมไปถึงการค้าขายอาวุธ

โดยสรุปผลการเลือกตั้ง 2563 ที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจต่อสหรัฐฯ ที่ต้องการจะค้านอำนาจกับการขยายอิทธิพลของจีน ยังคงให้การสนับสนุนทั้งทางตรง (อาทิ เดินเรือพิฆาตเข้าไปยังช่องแคบไต้หวันเพื่อแสดงออกเป็นเชิงสัญญาลักษณ์ต่อจีน) และทางอ้อม (อาทิ เชิญผู้นำและคนสำคัญทางการเมืองของรัฐบาลไต้หวันเยือนที่สหรัฐฯ) ในขณะที่่เหตุการณ์เดียวกันนี้กลับเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจต่อจีนที่กำลังหาทางคืนความสงบสู่เกาะฮ่องกง สังเกตได้ในการตอบโต้ระหว่างไต้หวันและจีนหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ไต้หวันภายใต้การบริหารของนางสาวไช่แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่มีความคิดจะหวนกลับไป และจีนแผ่นดินใหญ่เองก็ไม่คิดที่จะยอมปล่อยมือจากไต้หวันไปง่ายๆ จากการที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Geng Shuang ออกมาแถลงการณ์ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องภายในประเทศของจีน จะยังมีแค่จีนเดียวเท่านั้นและคัดค้านการเป็นเอกราชของไต้หวัน[3] เช่นเดียวกันการแสดงออกที่รุนแรงในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง รวมถึงนโยบายที่แข็งกร้าวกับการกดดันของกรุงปักกิ่งยิ่งจะทำให้ไต้หวันนั้นตีตัวออกห่างอย่างไม่ต้องสงสัย จากข้อสังเกตทั้ง 3 รวมกับความพึงพอใจของสองประเทศมหาอำนาจกล่าวได้ว่าไต้หวันอาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและแนวโน้มความตึงเครียดแบบใหม่ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วภายใต้การบริหารของนางสาวไช่ อิงเหวินคนเดิม

References:


[1] Sam, C. (2020, January 12). Taiwan 2020 Election Results. Retrieved January 27, 2020, from https://www.bloomberg.com/graphics/2020-taiwan-election-results/

[2] Sam, C. (2020, January 12). Taiwan 2020 Election Results. Retrieved January 27, 2020, from https://www.bloomberg.com/graphics/2020-taiwan-election-results/

[3] Tan, H. (2020, January 13). Taiwan’s pro-growth policy to continue after Tsai election win as supply chains shift in US-China trade war. Retrieved January 27, 2020, from https://www.cnbc.com/2020/01/13/taiwan-elections-tsai-to-continue-pro-growth-policy-amid-us-china-trade-war.html

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: