Articles Pop Culture

ว่าด้วยสิทธิหุ่นยนต์ใน Westworld

ธีทัต จันทราพิชิต
3 มีนาคม 2563


ทุกวันนี้คงเป็นการยากจะปฏิเสธว่าเส้นทางอนาคตของเศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งไปสู่การใช้หุ่นยนต์เป็นแรงงานในการผลิต โดยเส้นทางที่กำลังจะก้าวต่อไปอาจเป็นหนทางไปสู่ยุคพระศรีอาริย์[1]ที่คนไม่จำเป็นต้องใช้เวลาไปกับการผลิตจนมีเวลาเหลือเฟือที่ไปกับการใช้ในเรื่องที่ตนอยากจะทำ หรืออาจจะเข้าไปสู่มหากลียุค ดิสโทเปียที่คนโดนหุ่นยนต์แย่งงานจนไม่มีกินมีใช้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่สิ่งที่น่าจะต้องตามมาเป็นแน่แท้จากการเพิ่มบทบาทของหุ่นยนต์ในการผลิตคือ เรื่องสิทธิหุ่นยนต์ วันนี้สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยจะชวนไปตั้งคำถามเรื่องสิทธิหุ่นยนต์ผ่านซีรีย์ที่พูดเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้งเรื่องหนึ่งคือ ซีรีย์ที่ชื่อว่า Westworld

Westworld เป็นทีวีซีรีย์ทางช่อง HBO ซึ่งสร้างจากภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันเมื่อปี 1973 โดยเริ่มฉายตั้งแต่ปี 2016 ปัจจุบันมีทั้งหมด 2 ซีซัน Westworld เล่าถึงสวนสนุกคนรวยตีมอเมริกันยุคคาวบอยที่เมื่อแขก (Guests) เข้าไปยังสวนสนุกที่เต็มไปด้วยผู้ต้อนรับ (Host) จำนวนมาก โดยแขกจะสามารถปฏิบัติอย่างไรกับผู้ต้อนรับก็ได้ตามใจชอบ เพราะผู้ต้อนรับในสวนสนุกไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมมาเพื่อปรนนิบัติให้ความบันเทิงแก่ผู้เล่น

Westworld เปิดเรื่องด้วยการแสดงภาพความโหดร้ายของมนุษย์ต่อหุ่นยนต์ในสวนสนุกอย่างการฆ่า และคุกคามทางเพศ แม้ภาพความดิบเถื่อนแรกที่ผู้ชมเห็นบางส่วนจะเป็นภาพการต่อสู้โดยเหล่าหุ่นยนต์เองก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วคนที่เขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์ฆ่ากันเองก็หนีไม่พ้นมนุษย์อยู่ดี พร้อมกับภาพความรุนแรงที่ถูกใส่เข้ามา ก็มีเสียงถามคำถามของผู้ชายคนหนึ่งที่ถามตัวเอกที่เป็นผู้ต้อนรับชื่อว่าโดโรเลส (Dolores) ว่าจะรู้สึกอย่างไรหากจริงๆ ตัวเองเป็นแค่ตุ๊กตาเพื่อความบันเทิงให้กับคนที่เธอไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อเสียงของคำถามประสานกับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ฉากแรกใน Westworld จึงดึงอารมณ์ พร้อมปูปมความขัดแย้งของมนุษย์และหุ่นยนต์ทั้งหมดได้อย่างอยู่หมัด จนทำให้ตลอดทั้งเรื่อง Westworld สามารเล่าความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่ม ซึ่งเมื่อดำเนินเรื่องไปกลับพบว่าเต็มไปด้วยความยุ่งยากจนดูหมดหวังในการแก้ปัญหา

ตลอดทั้งเรื่อง Westworld สามารถตั้งคำถามเรื่องหุ่นยนต์ได้อย่างเฉียบคม โดยสมมติว่าหากหุ่นยนต์หรือ A.I. มีสติสัมปัชชัญญะ และบทบาทในชีวิตมากขึ้น และถามผ่านการให้ภาพความรุนแรงที่มนุษย์ปฏิบัติต่อหุ่นยนต์ไม่ว่าจะทางคำพูดหรือการกระทำ ในงานเขียนที่สำรวจคำตอบของคำถามว่าหุ่นยนต์ควรจะมีสิทธิ์หรือไม่ของ เดวิด เจ. กันเคิล (David J. Gunkel) ชื่อ The other question: can and should robots have rights?[2] ได้แบ่งคำตอบแบ่งนิยามออกเป็นสองแบบผ่านสมมติฐานที่ต่างกันสองสมมติฐาน คือ S1:หุ่นยนต์สามารถจะมีสิทธิ์ และเป็นสามารถมีความสามารถในการเลือกได้[3]กับ S2:หุ่นยนต์ควรมีสิทธิ์ เพราะหุ่นยนต์อาจจะมีความสามารถในการเลือก โดยคำตอบของคำถามว่าหุ่นยนต์จะมีสิทธิ์ได้ไหมนั้นจะแปรผันไปตามการยอมรับหรือปฏิเสธสมมติฐานสองสมมติฐานนี้ ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นสี่คำตอบได้แก่

  1. ปฏิเสธทั้งสองสมมติฐาน: หุ่นยนต์ไม่สามารถจะมีสิทธิ์ เพราะไม่มีความสามารถในการเลือกทุกอย่างเป็นแค่การโปรแกรม โดยคำตอบนี้ตั้งอยู่บนฐานความคิดว่าหุ่นยนต์เป็นเพียงแค่เครื่องมือ
  2. ยอมรับทั้งสองสมมติฐาน: เป็นคำตอบที่ว่าหุ่นยนต์สามารถมีสิทธิ์ได้ ทั้งยังควรมี ทว่าต้องมีข้อแม้คือ หุ่นยนต์ต้องมีศักยภาพที่จะทุกข์ (Suffering) ได้ ทำให้ตราบใดที่หุ่นยนต์ไม่มีศักยภาพดังกล่าว มนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องให้สิทธิ์แก่หุ่นยนต์
  3. ยอมรับสมมติฐานแรก แต่ปฏิเสธสมมติฐานสอง: สำหรับคำตอบนี้ไม่ปฏิเสธว่าหุ่นยนต์จะสามารถพัฒนาศักยภาพในการเลือกต่อไปได้ แต่ถึงจะพัฒนาต่อไปได้หุ่นยนต์ก็ยังไม่ควรจะมีสิทธิ์ในฐานะที่เป็นดั่งทรัพย์สิน หุ่นยนต์ในคำตอบนี้จึงเป็นทาส แต่เป็นทาสชนิดใหม่ที่เรียกได้เต็มปากว่า ทาส 2.0
  4. ปฏิเสธสมมติฐานแรก แต่ยอมรับสมมติฐานสอง: คำตอบนี้ไม่สนว่าหุ่นยนต์จะสามารถมีศักยภาพในการเลือกหรือไม่ เพราะอย่างไรหุ่นยนต์ก็ควรมีสิทธิ์ เหตุที่หุ่นยนต์ควรมีสิทธิ์นั้นไม่ใช่อะไรอื่น แต่เพื่อให้มนุษย์ยังคงความเป็นมนุษย์ต่อไปได้จากการที่ไม่กระทำสิ่งที่ต่ำช้าผิดมนุษยธรรม

สำหรับ Westworld ทางทีมผู้สร้างได้ใส่คำตอบทั้งหมดในเรื่อง แขกโดยทั่วไปที่มาเยือนสวนสนุกนั้นจะมองหุ่นยนต์ในคำตอบที่หนึ่งและสาม ขณะที่อาจมีบางคนที่มองหุ่นยนต์ในแบบคำตอบที่สี่ ทว่าคำตอบที่สองดูจะใกล้เคียงกับคำตอบเรื่องของสิทธิ์ของหุ่นยนต์ที่ทางผู้สร้าง Westworld ต้องการเสนอมากที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนี้สามารถดูได้จากองค์ประกอบของเรื่องโดย Westworld เป็นซีรีย์ที่มีฉากรุนแรงอยู่เป็นจำนวนมาก ฉากรุนแรงนั้นผูกกับเรื่องความเจ็บปวด และความเศร้า แต่นั้นอาจจะไม่มีอะไรเป็นแค่การสนองตัณหาของทีมผู้สร้าง Westworld เท่านั้นก็ได้ ทว่าหากสังเกตอย่างอื่นพบว่าเนื้อเรื่องของ Westworld ยังมีนัยยะที่เกี่ยวพันกับความทุกข์ทรมาณอยู่อีก อย่างชื่อตัวเอกอย่างโดโรเลสก็แปลได้ว่า ความโศกเศร้า (Sorrow)

เรื่องสิทธิ์สำหรับหุ่นยนต์ หรืออาจจะเป็นสิทธิ์ก่อนหน้าอีกนับไม่ถ้วนจึงเกิดจากความทุกข์ทรมาณ สิทธิสัตว์เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะว่ามีคนไม่ต้องการเห็นพวกสัตว์ต้องทุกข์ทรมาณจากการเจ็บปวดของการโดนชำแหละ หรือกระทั่งสิทธิแบบเสรีนิยมก็เกิดขึ้นจากการที่ต้องทุกข์จากการโดนเอาทรัพย์สินที่ลงทุนหามาด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายโดยที่ไม่ถามไถ่ซึ่งความยินยอม หุ่นยนต์จึงควรมีสิทธิ์เพราะหุ่นยนต์ก็เจ็บปวดเป็น ทว่าแค่เจ็บปวดแล้วมันทำให้มีสิทธิ์ได้อย่างนั้นหรือ เพราะสุดท้ายหุ่นยนต์ก็สามารถถูกโปรแกรมให้เจ็บได้อยู่ดี Westworld ได้ตอบข้อนี้ด้วยการสมมติให้หุ่นยนต์มีสติสัมปรัชชัญญะ (consciousness) และมีความสามารถที่จะตัดสินถูกผิดด้วยตัวเอง ซึ่งเนื้อเรื่องของ Westworld Season 1 ก็คือ การเดินทางเพื่อให้ได้มาสติสัมปรัชชัญญะของหุ่นยนต์ จนนำมาสู่บทสรุปว่าเมื่อหุ่นยนต์มีสติความเจ็บปวดที่ได้รับย่อมเกิดจากความรู้สึกของหุ่นยนต์ไม่ใช่เพียงโปรแกรม หุ่นยนต์จึงมีชีวิต และหากมีชีวิตหุ่นยนต์ก็ควรจะได้รับสิทธิ์ เพียงแต่บทสรุปที่ Westworld พาไปนั้นไม่ใช่การได้มาซึ่งสิทธิ์ แต่เป็นความขัดแย้งที่จะซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

แม้ทางผู้ชมจะเชื่อในสิ่งที่ Westworld เสนอหรือไม่ก็ตาม แต่ยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Westworld กลายเป็นซีรีย์ที่สามารถทำให้เราตั้งคำถามถึงเรื่องจริยธรรมกรณีหุ่นยนต์กลายเป็นกลไกสำคัญทางสังคม รวมถึงทำให้เราอดตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ต่อไปได้ด้วย แล้วความขัดแย้งของมนุษย์กับหุ่นยนต์ใน Westworld จะเป็นอย่างไร ติดตามต่อได้ใน Westworld ซีซัน 3 ที่จะฉายในกลางเดือนมีนาคม 2563 


[1] ยุคพระศรีอาริย์ เป็นความเชื่อของพุทธศาสนา หมายถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งจะลงมาโปรดสัตว์ในอนาคต มีนัยยะเป็นดั่งสังคมในอุดมคติของพระพุทธศาสนา

[2] Gunkel, David. (2017). The other question: can and should robots have rights?. Ethics and Information Technology. 10.1007/s10676-017-9442-4.

[3] ในบทความเลือกใช้คำว่า moral subject


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: