ธีทัต จันทราพิชิต
6 มีนาคม 2563
Kingdom เป็นซีรีย์เกาหลีของทาง Netflix ที่ถูกปล่อยให้รับชมในช่วงต้นปี 2019 แม้หน้าฉากของ Kingdom จะเป็นภาพยนตร์ผีดิบซอมบี้ แต่การที่เกาหลีได้พิสูจน์ว่าตนสามารถผลิตภาพยนตร์แนวเดียวกันให้มีคุณภาพในภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan (2016) ก็ทำให้เป็นการรับประกันคุณภาพของ Kingdom ได้ระดับหนึ่ง ทั้ง Kingdom ยังต่างจากภาพยนตร์ผีดิบซอมบี้โดยทั่วไป แม้แต่กับภาพยนตร์ซอมบี้ของเกาหลีด้วยกันเองตรงจุดที่ Kingdom ปรากฏกลุ่มตัวละครที่สำคัญต่อสังคมเกาหลีมากๆ นั้นก็คือ กลุ่มบัณฑิตลัทธิขงจื่อ
ทั่วไปแล้วรากทางวัฒนธรรมของเกาหลีแม้มองด้วยสายตาคนนอกก็สามารถรู้ได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับลัทธิขงจื่อ อย่างลึกซึ้ง โดยมองอย่างหยาบได้จากภาพบุคคลเกือบทั้งหมดบนธนบัตรของเกาหลีใต้ที่มีความเกี่ยวข้องกับลัทธิขงจื่อไม่มากก็น้อย ความเป็นขงจื่อจึงแทรกอยู่ในกระแสเลือด เป็นรากทางวัฒนธรรมของคนเกาหลี เช่นกัน Kingdom ก็ยังมีกลุ่มตัวละครที่เป็นขงจื่ออยู่ ทั้งยังสามารถเอาซีรีย์มาอธิบายได้ด้วยมุมของแบบขงจื่อได้ด้วย
หากมองลึกกว่าหน้าฉากความเป็นภาพยนตร์ผีดิบซอมบี้ เนื้อเรื่องของ Kingdom คือ เรื่องที่เล่าถึงศึกชิงบัลลังก์ ผีดิบหรือโรคระบาดนั้นก็เป็นผลจากการแก่งแย่งชิงอำนาจของขุนนางกับกษัตริย์ โดยตัวเอกของ Kingdom คือ องค์ชายรัชทายาทที่สถานะทางอำนาจคลอนแคลน ขณะที่กลุ่มตัวร้ายคือ กลุ่มที่กุมอำนาจปกครองอาณาจักรโชซอนอย่างแท้จริงอย่าง พระมเหสี และขุนนางในเครือ ผีดิบใน Kingdom ไม่ได้เกิดจากอะไรอื่นแต่เกิดจากการที่กษัตริย์แห่งโชซอนสวรรคตก่อนที่พระมเหสีจะให้กำเนิดบุตร(?) ทำให้บัลลังก์จะตกไปถึงรัชทายาทโดยปริยาย เพื่อรักษาอำนาจของพวกตนพระมเหสีและขุนนางเครือญาติจึงได้หาทางยื้อชีวิตกษัตริย์ทุกวิถีทาง แม้ว่านั่นจะหมายถึงการที่กษัตริย์ต้องเป็นผีดิบก็ตาม
จากข้างต้นแก่นของ Kingdom จึงเป็นการแก่งแย่งชิงบัลลังก์ แต่ Kingdom มีความเกี่ยวพันกับขงจื่ออย่างไร? คำตอบคือ เราสามารถมองอาเพศที่เกิดขึ้นในเรื่องผ่านมุมแบบขงจื่อได้ โดยขงจื่อมีชีวิตในสมัยยุคชุนชิวไปจนใกล้จะถึงยุคจ๋านกว๋อซึ่งเป็นยุคที่เต็มไปด้วยสงครามและความวุ่นวายพร้อมคนตายเป็นจำนวนมหาศาล[1]สำหรับขงจื่อเขามองว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งผิดปกติ ปัญหาใหญ่คือ สิ่งผิดปกติในยุคสมัยนั้นเกิดขึ้นจากอะไร คำตอบของขงจื่อก็คือ สิ่งผิดปกติเริ่มจากการปฏิบัติตัวผิดไปจากจารีตที่ดีงามก่อนหน้า เพราะถ้าทำตามจารีตแล้วไม่มีทางที่จะเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเป็นแน่ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่สำคัญแนวคิดหนึ่งในลัทธิขงจื่อที่เรียกว่าหลี่ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับจารีต[2] หากเป็นเช่นนี้การที่เหล่าขุนนางฝั่งพระมเหสีได้ทำผิดจารีตผ่านการไม่ยอมให้รัชทายาทขึ้นบัลลังก์เป็นกษัตริย์นั้นก็คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมไม่เป็นไปตามครรลอง เมื่อผิดจากครรลองก็นำมาสู่เหตุอาเพศนานัปการ
นอกจากคำอธิบายแบบขงจื่อที่ใช้ในการอธิบายความผิดปกติในเรื่อง กลุ่มตัวร้ายใน Kingdom ก็ถูกออกแบบให้ตรงข้ามกับลัทธิขงจื่อโดยสิ้นเชิง ตัวร้ายใน Kingdom ไม่ได้ให้ความสำคัญกับลัทธิขงจื่อทั้งยังดูถูก เหยียดหยาม และเป็นเหล่าขุนนางกับพระมเหสีนี้เองที่ทำการกวาดล้างเหล่าบัณฑิตขงจื่อ ทั้งเหล่าขุนนางยังไม่ได้ปฏิบัติตนตามแบบอย่างของขงจื่อผ่านการไม่เชื่อฟังนายเหนือหัวที่ชอบธรรมอย่างองค์ชายรัชทายาท ยังไม่นับรายละเอียดทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญอีกนับไม่ถ้วนที่ทางทีมงานใส่เข้ามาเพื่อให้เห็นภาพของเหล่าขุนนางตัวร้ายเป็นผู้ที่ทำให้ระเบียบที่ดีงามอยู่ก่อนหน้านั้นเสื่อมลง
แม้ Kingdom จะดำเนินเรื่องผ่านองค์ชายรัชทายาทที่แสดงตัวเป็นบุคคลที่ดีงามตามแบบขงจื่อ ไม่ว่าจะการแสดงตัวเชื่อฟังบิดามารดา (แม้จะมีความคิดอยากจะรัฐประหารยึดอำนาจบิดาที่เป็นกษัตริย์ก็ตาม) หรือการคบหาเหล่าบัณฑิตขงจื่อ แต่ Kingdom ก็ยังเขียนตัวร้ายได้มีเสน่ห์ เราจึงเห็นเหล่าตัวร้ายที่แม้จะมีพฤติกรรมที่เลวทราม แต่ก็คงรู้สึกไม่เต็มอิ่มหากขาดพวกเขา ทั้งนี้เมื่อมองผ่านสายตาของคนยุคปัจจุบัน การพยายามกวาดล้างบัณฑิต และลัทธิขงจื่อของเหล่าขุนนาง รวมถึงการใช้ผีดิบ ก็อาจมองในฐานะสัญญะได้ว่าเป็นการเข้ามาของตะวันตก และความเป็นสมัยใหม่ จนนำไปสู่การตั้งคำถามได้ว่าการกระทำของขุนนางฝั่งพระมเหสีทำเพียงเพื่อความละโมบของตนเพียงอย่างเดียวจริงหรือ?
สุดท้ายอนาคตของอาณาจักรโชซอนใน Kingdom จะเป็นเช่นไร องค์รัชทายาทจะพาโชซอนกลับสู่ครรลอง หรือว่าขุนนางกับพระมเหสีกันแน่ที่จะพาโชซอนไปสู่ระเบียบใหม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปใน Kingdom Season 2 ทาง Netflix ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้
[1] ยุคชุนชิว (771 – 476 ก่อนคริสตกาล) และยุคจ๋านกว๋อ (475 – 221 ก่อนคริสตกาล) เป็นสมัยที่อารยธรรมจีนแตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยจำนวนมาก นับเป็นสมัยที่วุ่นวาย และเต็มไปด้วยกลุ่มขบวนความเคลื่อนไหวทางปรัชญา ลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื่อต่างเกิดในช่วงสมัยนี้
[2] สำหรับหลี่ (礼) ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ได้อธิบายว่าความหมายใกล้เคียงกับคำว่าจารีต โดยสุวรรณา สถาอานันท์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่าหลี่นั้นจำเป็นต้องมีแนวคิดอีกแนวคิดอยู่ด้วยคือ มนุษยธรรม หรือที่ในภาษาจีนเรียกว่าเหริน (仁) หากพิจารณาแล้วว่าจารีตหรือพิธีกรรมไหนไม่มีองค์ประกอบของคุณธรรม ไม่ใช่หลี่แต่อาจเป็นเพียงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สืบๆ ต่อมาเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติมได้ใน สุวรรณา สถาอานันท์. (2556). กระแสธารปรัชญาจีน : ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : ศยาม