Articles

ELECTION: SLIDING BACK TO DEMOCRACY?

ขวัญข้าว คงเดชา
21 มีนาคม 2563


หลายประเทศในเอเชียต่างเผชิญกับปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง (power shift) ไม่ว่าจะเป็นเชิงโครงสร้าง ระบบการเมือง หรือแม้แต่กฎระเบียบทางสังคม (เกษียร เตชะพีระ, 2553) โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างประชาธิปไตยเต็มรูปแบบและเผด็จการอำนาจนิยม (authoritarian) อย่างกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างพยายามขนขวายให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratization) ภายใต้วิกฤติหลายระดับจากหลากปัจจัยภายในประเทศ การเลือกตั้งที่ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปิดช่องทางให้สิทธิ์และเสียงของประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้บริหารของประเทศ

ภายใต้สังคมที่มีความขัดแย้ง การเลือกตั้งจึงเสมือนภาพของแสงสว่างนำทาง (silver lining) ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาทางสังคมและการเมืองร่วมกันได้ ซึ่งภาพวาดเช่นนี้เกิดจากแนวคิดต้นแบบจากสังคมประชาธิปไตยแบบตะวันตก แม้ว่าที่ผ่านมาจะประสบปัญหาในเรื่องของระบบการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ข้อบังคับกฎหมายการเลือกตั้งที่ถูกใช้อย่างบกพร่อง หรือกลโกงการเลือกตั้งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเอาผิดผู้ใดได้เลย แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเลือกตั้งก็ยังคงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของประชาธิปไตย บทบาทการเลือกตั้งในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้นจึงส่งผลให้ความท้าทายต่อประชาธิปไตยนั้นเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ยิ่งเมื่อเผด็จการอำนาจนิยมนั้นหันมาใช้ช่องทางของประชาธิปไตยเพื่อกุมอำนาจและขยายระยะเวลาการอยู่ในอำนาจต่อ ภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่รัฐประหาร เผด็จการ หรือการจำกัดเสรีภาพในทางการเมืองอย่างเดียว แต่คือตัวผู้เล่นที่เป็นรัฐเองนั้นที่ลดทอนความเป็นประชาธิปไตยในสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการทำให้ความไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นชอบธรรมและรองรับด้วยกฎหมาย ดังเห็นได้จากการเลือกตั้งของ 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่มีความเชื่อมโยงกัน ในแง่ที่ว่าเครื่องมือทางประชาธิปไตย ไม่ว่าจะโครงสร้างก็ดี สถาบันก็ดี หรือแม้แต่การเลือกตั้งก็ดี ต่างถูกนำมาใช้ในเชิงที่ไม่เป็นเสรีและไม่เป็นธรรม ซ้ำร้ายยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของระบอบอันไม่เป็นประชาธิปไตย (undemocratic regime) ปรากฎการณ์ดังกล่าวคือ “การถอยหลังของประชาธิปไตย” หรือ Democracy backsliding  ทั้งนี้ งานชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นกระแสการเมืองโลกที่แม้ว่าในตอนนี้จะเห็นถึงการถดถอยของประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ แต่ท้ายที่สุดแล้วระบอบที่ทั้งไม่เสรีและไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เข้มแข็งสมบูรณ์ในตัวมันเอง ระบอบดังกล่าวจึงมีช่องว่าง และยังมีโอกาสให้ประชาธิปไตยสามารถโต้กลับมาได้เสมอ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 หนังสือชื่อ Electoral Challenges in Asia Today” (2016)จัดทำโดย The Asian Network for Free Elections (ANFREL) ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาเพื่ออธิบายทิศทางและวิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้งของ 13 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้จำแนกระบอบการเมืองของแต่ละประเทศในห้วงเวลานั้นเป็น 3 ประเภทที่อยู่ตรงกลางระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตย (ญี่ปุ่น เกาหลี และ ไต้หวัน) และเผด็จการอำนาจนิยม (เกาหลีเหนือ จีน และ ลาว) ได้แก่

1) กลุ่มประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน อาทิ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ติมอร์-เลสเต และ มองโกเลีย

2) กลุ่มประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โดยมักจะเผชิญความท้าทายภายในสังคมที่มีการแบ่งขั้ว เช่น อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, ศรีลังกา และเมียนมา

3) กลุ่มประเทศที่มีความถดถอยของประชาธิปไตย สามารถแบ่งย่อยได้เป็นอีกสองประเภท คือ

3.1 ประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องของประชาธิปไตยอย่าง เนปาล, กัมพูชา และมาเลเซีย

3.2 ประเทศที่เคยมีประวัติศาสตร์ของการเป็นประชาธิปไตยมายาวนานแต่กลับเผชิญกับสภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ได้แก่ ประเทศไทย และบังกลาเทศ

ในปี พ.ศ. 2559 ความท้าทายของการเลือกตั้งมักจะปรากฏในรูปแบบของโครงสร้างกฎกติกาการเลือกตั้งที่จัดทำโดยแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและภาคในประเทศอินโดนีเซียที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียว (single election law) แต่ถูกนำมาทบทวนและปรับเปลี่ยนใหม่ก่อนการเลือกตั้งทุกครั้งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทางการเมืองบางกลุ่ม หรือในประเทศฟิลิปปินส์ เกิดปัญหาเชิงกระบวนการที่เอื้อให้เกิดการโกงการเลือกตั้ง ทั้งชื้อเสียงและข่มขู่ เนื่องจากตัวองค์กรจัดการเลือกตั้ง (EMB) นั้นให้ความสนใจแต่เพียงการระงับข้อพิพาทจากการเลือกตั้ง มากกว่าการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีปัญหาในการปฏิบัติจริง ตัวอย่างเช่น การที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของประเทศไทยปฏิเสธการรับประกันความปลอดภัยในการเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2557 หรือการกำหนดวิธีการเลือกตั้งที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ไม่เป็นระบบ ดังกรณีของการลงทะเบียนเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์ของอินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีตัวแสดงจากหลากหลายฝ่ายเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะพรรคการเมืองแบบเก่า (Traditional) ที่เน้นไปยังตัวบุคคลมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน  สถาบันต่างๆ อย่างคณะกรรมการเลือกตั้งที่ขาดความเชื่อมั่นจากกลุ่มประชาชนที่มาใช้สิทธิ์ และภาคประชาสังคมที่ยังขาดความตื่นตัวและไม่พร้อมที่จะเข้ามามีบทบาทร่วมสังเกตการณ์ความผิดปกติในการเลือกตั้งเท่าไรนัก 

เมื่อช่วงต้นปี 2562 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศที่มีความแตกต่างไม่ว่าจะทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจได้จัดการเลือกตั้งอันเป็นที่น่าจับตามอง พลวัตของความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศสะท้อนให้เห็นถึงความน่ากังวลของการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ในขณะที่ความเป็นห่วงของการเลือกตั้งในห้วงปี 2559 คือโครงสร้าง ระบบ กรอบกฎหมาย และกลโกงการเลือกตั้ง การเลือกตั้งของปี 2562 นั้นกระตุ้นความสนใจและความกังวลในเรื่องของความไม่เป็นเสรีที่เพิ่มขึ้นภายในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตย ในวารสารรัฐศาสตร์ Journal of Democracy” ฉบับที่ 30 เดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา ได้เขียนถึงการเลือกตั้งที่มีปัญหาภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยศึกษาจากกรณีของ 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ผ่านซีรีส์บทความรัฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Southeast Asia’s Troubling Elections” ซึ่งประกอบด้วยบทความทั้งสิ้น 4 ชิ้น ดังต่อไปนี้

“Nondemocratic Pluralism in Indonesia” (2019) เขียนโดย Edward Aspinall และ Marcus Mietzner บทความชิ้นนี้อธิบายถึงเรื่องการเลือกตั้งของอินโดนีเซียเมื่อช่วงต้นปี 2019 เทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 ซึ่งแม้จะมีลักษณะคล้ายการต่อสู้ระหว่างฝ่ายพหุนิยม (pluralist) และฝ่ายประชานิยม (populist) ตามกระแสการเมืองโลกในปัจจุบัน แต่เมื่อสังเกตในเชิงกระบวนการและผลลัพธ์ จะเห็นว่าความเป็นพหุนิยมของอินโดนีเซียนั้นไม่ได้นำพาไปสู่หนทางของประชาธิปไตย ในทางกลับกัน การเลือกตั้งระดับชาติของอินโดนีเซียเมื่อปี 2014 ได้แสดงให้เห็นว่า พหุนิยมของประธานาธิบดี โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ที่สามารถเอาชนะประชานิยมของ ปราโบโว สุเบียนโต (Prabowo Subianto) ได้นั้น กลับกำลังมุ่งสู่ความไม่เป็นเสรีและไม่เป็นประชาธิปไตย โดยผู้นำทางการเมืองได้ตระบัดสัตย์ (decoupling) จากสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ ละเลยคำเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตย และยังขยายรอยแยกความขัดแย้งของอัตลักษณ์ทางศาสนาระหว่างชาวมุสลิมกับกลุ่มพหุนิยมทางศาสนา ส่งผลให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียที่เป็นฝ่ายพหุนิยมจึงเดินหน้าสู่การกลายเป็น “พหุนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” (nondemocratic pluralism) เพื่อจะโค่นฝั่ง “ชาวมุสลิมที่คุกคามเสียงข้างน้อย” (Muslim threat) ภายในประเทศ โดยไม่สนใจว่าผู้นำของฝ่ายตนนั้นจะใช้วิธีที่สวนทางกับประชาธิปไตยเพียงใดเพื่อชัยชนะในครั้งนี้

Duterte Versus The Rule of Law” (2019) ผู้เขียนได้แก่ Björn Dressel และ Cristina R. Bonoan ได้ศึกษาประเทศฟิลิปปินส์ที่มีรากฐานของประชาธิปไตยจากเหตุการณ์ประชาชนร่วมแสดงพลังขับไล่เผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ทว่าหลังจากนั้น การเลือกตั้งในปี 2016 นั้นกลับสร้างแรงกดดันที่ทวีขึ้น ตัวผู้นำที่ได้รับคะแนนนิยมอย่างโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ (Rodrigo Duterte) นโยบายของเขาถูกวิพากษ์ว่าสุดโต่งและไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะจากกรณีการประกาศสงครามกวาดล้างยาเสพติดที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียไปประมาณกว่า 12,000 ชีวิต อีกทั้งการเลือกตั้ง midterm congressional elections เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2019 ฝั่งของดูเตอร์เต้ ได้เก้าอี้วุฒิสภา (senate) เพิ่มขึ้นอีกด้วย มีการใช้อำนาจ “Impeachment” ปลดประธานศาลสูงสุดที่วิจารณ์การทำงานของดูเตอร์เต้ เมื่อปี 2018 เป็นเหตุให้ประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์อยู่ในภาวะเสี่ยงจากการที่ประธานาธิบดี ดูเตอร์เต้ ควบคุมอำนาจได้ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ นอกจากนั้น ยังมีการคุกคามภาคประชาสังคม อย่างเช่น คุกคามสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารของประธานาธิบดี รวมทั้งยังมีประเด็นที่ดูเตอร์เต้ ต้องการล้มรัฐธรรมนูญ 1987 เพื่อเปลี่ยนระบบการปกครองจากรัฐเดี่ยว (unitary state) ให้เป็นสหพันธรัฐ (federal state) โดยมุ่งให้เกิดการดึงอำนาจสู่ประธานาธิบดีมากขึ้น  

          “Democratic demolition in Thailand” (2019) ซึ่ง Duncan McCargo เป็นผู้เขียน บทความว่าด้วยการเลือกตั้ง 2562 ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้นผสมผสานกัน ทั้งการเกาะติดการเลือกตั้ง, ภาคประชาสังคมที่ตื่นตัว และการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ ส่งผลให้พลวัตทางการเมืองไทยเป็นไปอย่างขาดเสถียรภาพรุนแรง ประชาธิปไตยไทยถดถอยอย่างหนักนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งสีเสื้อ โดยเฉพาะยิ่งหลังจากการรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้ประเทศไทยหยุดชะงักไปถึง 5 ปีจนกระทั่งการเลือกตั้งถูกจัดขึ้น ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนั้น รัฐบาลทหารใช้มาตรา 44 ควบคุมตัวผู้เห็นต่างทางการเมือง, เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่, แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง และตั้งพรรคตัวแทนของรัฐบาลทหารลงสมัครในนาม “พลังประชารัฐ” ทำให้การเลือกตั้ง 2562 มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผู้เล่นอย่างพรรคการเมืองเองก็เผชิญกับความไม่แน่นอน การปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่ที่ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่า และเหตุการณ์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ต้องติดตามทิศทางความเปลี่ยนแปลงของ political order กันต่อไป

สิ่งที่สังเกตได้จากสามบทความกรณีศึกษาของบทความข้างต้นคือ การถดถอยของความเป็นประชาธิปไตย (democracy backsliding) และไม่เป็นเสรีลงทุกที ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นกระแสของโลกหรือปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่หาย การถดถอยของประชาธิปไตยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบและอาจจบลงได้ในหลายรูปแบบเช่นกัน หากเป็นการถดถอยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะส่งผลให้เกิดการพังทลายของระบอบประชาธิปไตย แต่หากการถดถอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะทำให้ระบอบนั้นอยู่ในสถานะของความครึ่งๆกลางๆในลักษณะของระบอบการเมืองผสม (hybrid regime) ทั้งนี้หากกล่าวโดยสรุป ความท้าทายใหม่ๆที่ส่งผลต่อการถดถอยของประชาธิปไตย ได้แก่

1. รัฐประหารเชิงคำสัญญา (Promissory Coups) หรือการที่คณะรัฐประหารออกมาอธิบายว่ามีการจำเป็นที่จะต้องปกป้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลที่ถูกเลือกตั้ง และสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งเพื่อฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยเร็ว ในกรณีศึกษาของประเทศไทย รัฐประหารในปี 2557 ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางผู้เชื่อว่าประเทศต้องปฏิรูปให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ก่อนจะจัดการเลือกตั้ง สร้างความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

2. การขยายอำนาจของผู้บริหาร (Executive Aggrandize) จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อผู้บริหารประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งผ่านวิถีทางประชาธิปไตยนั้นใช้อำนาจทางกฎหมายในมือเพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมืองและเพื่อกุมอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จ ตัวอย่างคือ กรณีศึกษาของประเทศฟิลิปปินส์ สังเกตได้ว่า ประธานาธิบดี ดูเตอร์เต้ เข้ามามีอำนาจด้วยฐานเสียงที่ล้นหลาม และได้ใช้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจของตัวเอง หรือจะเป็นการสกัดกั้นคู่แข่งทางการเมืองของตัวเองโดยใช้กฎหมายการถอดถอน (Impeachment) หรือความพยายามเพิ่มอำนาจด้วยการเปลี่ยนระบอบไปสู่สหพันธรัฐ  (Federalism) 

3. การจัดการการเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ (Manipulating Elections Strategically) การเลือกตั้งนั้นถูกวางกลยุทธ์อย่างมีชั้นเชิงเพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มผู้มีอำนาจให้ชนะการเลือกตั้งอย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อ, การขัดขวางคู่แข่งทางการเมือง, การสร้างกฎกติกาขึ้นมาใหม่ หรือแม้แต่การใช้เงินของรัฐเพื่อมาสนับสนุนการหาเสียงของพรรคตัวเอง ในกรณีศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย พบว่าการแบ่งฝ่ายภายในสังคมระหว่างกลุ่มที่อ้างว่าเป็นพหุนิยมกับกลุ่มประชานิยมของมุสลิม การแบ่งขั้วถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการหาเสียง ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด จึงชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองโดยชูนโยบายพหุนิยมต้านประชานิยมของ ปราโบโว สุเบียนโต โดยนำกลุ่มมุสลิมสายกลางมาเข้าร่วมเพื่อดึงดูดเสียงคนกลุ่มคนที่หวาดกลัวการโดนกลืนกินเป็นรัฐเคาลิฟะฮ์ (Caliphate state) คล้ายคลึงกับนโยบายการหาเสียงผู้ว่ากทม.ในห้วงปี 2556 ที่ใช้วาทกรรมสร้างความกลัว “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”  ในขณะเดียวกันกรณีศึกษาของประเทศไทยก็แสดงให้เห็นถึงการแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคตัวแทนรัฐบาลทหาร เช่น สว.แต่งตั้ง 250 คน และการรวม 2 เสียงในสภาเพื่อเลือกนายก และสูตรคำนวณการเลือกตั้งของกกต. ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลของการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่น

ท้ายที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยของทั้ง 3 ประเทศกรณีศึกษา ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็ยังไม่ถดถอยในระดับสิ้นหวังเสียทีเดียว โดยในงาน Is There a Silver Lining?” (2019) ของ Mark R. Thompson ซึ่งเป็นบทความชิ้นสุดท้ายของซีรีส์ Southeast Asia’s Troubling Elections” ได้ชี้ให้เห็นถึงแสงสว่างนำทาง (silver lining) ที่อาจนำประชาธิปไตยหลุดพ้นจากห้วงวิกฤติภายใต้เผด็จการอำนาจนิยม โดยผู้เขียนได้อธิบายเรื่อง “ทางแพร่งของเผด็จการ” (The Dictator’s dilemma) ที่เผด็จการจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้ล้ำเส้นความอดทนอดกลั้นของประชาชนมากเกินไป ตัวอย่างเช่น ในปี 1986 ที่ฟิลิปปินส์เกิดการโกงเลือกตั้งของเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ทำให้ผู้คนเกิดความไม่พอใจที่ถูกขโมยการเลือกตั้งไปจากพวกเขา และนำไปสู่เหตุการณ์ปฏิวัติ “People Power Revolution” ขับไล่เผด็จการในที่สุด หรือในกรณีของประเทศไทยที่เกิดการขยายตัวของความไม่พอใจในความไม่เป็นเสรีในสังคมช่วงที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจช่วงปี 2557-2562 นำมาสู่กระแสเรียกร้องให้ทหารกลับกรมกอง เกิดพรรคการเมืองรุ่นใหม่ที่ชูเรื่องการปฏิเสธการเข้าแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ซึ่งพรรคนั้นได้สะท้อนความไม่พอใจของสังคมที่มีต่อเผด็จการทหาร นอกจากนั้นสิ่งที่กำลังเติบโตในภาคประชาชนของทั้ง 3 ประเทศกรณีศึกษาคือ เผด็จการอำนาจนิยมที่รอเวลาแตกสลาย และประชาธิปไตยที่กำลังกลับคืนมาหลังจากได้พื้นที่แข่งขันตามแนวทางประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้ง (แม้ว่าจะไม่เสรีและไม่เป็นธรรมบ้างก็ตาม) ยังคงมีความสำคัญในฐานะแนวทางการตอบโต้ฝ่ายเผด็จการตามวิถีทางประชาธิปไตย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: