ธีทัต จันทราพิชิต
23 มีนาคม 2563
ด้วยความกลัวในโรคระบาดโควิด 19 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดมาตรการป้องกันโควิด 19 ของกรุงเทพมหานคร จนนำไปสู่การสั่งปิดสถานที่เสี่ยงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง สถานศึกษาไปกระทั่งห้างสรรพสินค้า พร้อมกันนั้นเอกชนจำนวนมากตัดสินใจใช้มาตรการ work from home เพื่อป้องกันโรคระบาด ทำให้ขณะนี้เศรษฐกิจไทย หรืออย่างน้อยในกรุงเทพอยู่ในสภาวะแช่แข็ง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจขนาดที่สามารถอยู่รอได้ในสภาวะศรษฐกิจเช่นนี้ได้ มีคนจำนวนมากที่ตกงานเพราะงานที่ทำไม่สามารถ work from home และก็มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถสร้างรายได้จากสภาวะเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้ภาพของฝูงชนจำนวนมหาศาลที่คับคั่งตามสถานีขนส่งเพื่อกลับไปอยู่อาศัยที่บ้านจนกว่าภาวะวิกฤตจะสิ้นสุดจึงบังเกิด ทำให้เราเห็นการเคลื่อนย้ายของประชากรจากเมืองสู่ชนบท และคาดว่าเราคงจะได้เห็นการเคลื่อนย้ายจากชนบทเข้าสู่เมืองในเวลาต่อมา
ณ ปัจจุบันเป็นการยากจะปฏิเสธว่าทิศทางอนาคตของประเทศไทยคือ การกลายเป็นสังคมที่เป็นเมืองมากยิ่งขึ้น ในบทความขนาดสั้น FAQ (Focused and Quick) ของธนาคารแห่งประเทศไทย[1] ได้อธิบายว่าในปี ค.ศ.2030 เศรษฐกิจโลก 61% จะมาจากกิจกรรมในเมือง และประชากรจะหลั่งไหลเข้าสู่เมืองจนประชากรเมืองจะขยายจาก 50% เป็น 70% ในปี ค.ศ.2050 คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรกันที่รอคอยเหล่าผู้อพยพหลั่งไหลเข้าสู่เมืองอยู่กันแน่ และอะไรที่ทำให้พวกเขาต้องหนีออกจากเมืองกลับสู่ชนบท ซึ่งเราสามารถค้นพบคำตอบของคำถามได้จากกราฟฟิกโนเวลที่ชื่อว่า “ตาสว่าง”
ตาสว่างเป็นกราฟิกโนเวล ที่มีฉากเป็นประเทศไทยจากฝีมือทีมงานได้แก่ Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci โดยตาสว่างเล่าถึงนกชายหนุ่มจากอุดรธานีที่เข้ามาแสวงหาโชคในกรุงเทพ ก่อนถูกกระแสธารทางการเมืองซัดสาดให้เข้าไปพัวพันกับการเมืองระดับประเทศ และถูกกลืนกินโดยเมืองใหญ่จนรู้ตัวอีกทีการจะหนีออกจากเมืองกรุงก็เป็นไปได้ยากเสียแล้ว
ด้วยเหตุที่หนึ่งในทีมผู้สร้างกราฟฟิกโนเวลเรื่องตาสว่าง คือ Claudio Sopranzetti ได้ทำวิจัยศึกษาการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และมีงานวิจัยเรื่องชีวิตของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทำให้เนื้อเรื่องของตาสว่างมีความผูกพันกับคนกลุ่มนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ดั่งจะเห็นได้จากการที่นกเป็นทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นทั้งคนเสื้อแดง โดย Claudio Sopranzetti ได้ใส่เนื้อหาที่มาจากงานวิจัยของตัวเองลงไปทั้งไม่ว่าจะผลสรุปความคิดของคนเสื้อแดง และข้อสรุปที่ว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นคนที่รู้จักตรอกซอกซอยในเมืองดีกว่าใคร โดยตัวละครหลักอย่างนก Claudio Sopranzetti ได้อธิบายว่าเป็นการผสมชีวิตของคนหลายๆ คนที่เขาได้พบเจอมาไว้ในตัวละครเดียว[2] หากมองอีกมุมตาสว่างอาจเรียกได้ว่าเป็นการย่อยผลวิจัยของ Claudio Sopranzetti ให้อ่านง่ายและเข้าถึงใจผู้คนได้ดีกว่างานวิจัยทั่วไป
ด้วยเนื้อหาที่สืบเนืองจากงานวิจัยทำให้ตาสว่างมีสารทางการเมืองที่เข้มข้น และแหลมคม แต่หนึ่งในสิ่งที่ตาสว่างแสดงให้เห็นและน่าสนใจไม่แพ้กันคือมุมมองความเป็นเมืองในสังคมไทยซึ่งทางผู้เขียนได้ใช้นํ้าเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงพริกถึงขิง เริ่มจากหน้าปกที่เป็นภาพสถานีรถไฟหัวลำโพงในยามคํ่าคืน พร้อมมีภาพคนยืนอยู่ข้างใน ซึ่งเมื่อทั้งสองรวมกันก็ทำให้รูปเงาบนพื้นคลับคล้ายกับคนกำลังถูกคุมขัง อีกนัยคือ การมายังกรุงเทพเปรียบได้กับการกักขังตัวเองให้ไม่มีแล้วซึ่งอิสรภาพอีกต่อไป
เมืองในตาสว่างถูกฉายภาพว่าภายใต้รูปโฉมอันงดงาม และแสงสีเสียงที่เจิดจ้า เมืองไม่ต่างจากเป็นหุบเหวที่กลืนกินความเป็นมนุษย์ลงไปทีละน้อย โดยปัญหาความวุ่นวายในชีวิตของตัวละครทั้งหมดก็มาจากการอพยพเข้าสู่เมือง โดยนกจะไม่โดนคนบ้านเดียวกันโกงเงินค่าจ้างของเขา ถ้าเขาไม่อพยพเข้าสู่เมืองเพื่อแสวงโชค หรือคนบ้านเดียวกันจะไม่กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเช่นนั้นถ้าเขาไม่โดนเมืองกลืนลงไป หรือนกจะไม่ต้องติดยาเสพติดหากนกไม่ย้ายออกจากชนบทเพื่อทำงานเยี่ยงทาสในสังคมที่กำลังขยายตัวกลายเป็นเมือง เมืองในตาสว่างจึงเป็นสิ่งที่โสมม เป็นสถานที่ที่ความเห็นแก่ตัวถูกฟูมฟักจนเติบใหญ่ และเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยคำลวง พร้อมหลอกใช้ทุกคนที่มันเล็งเห็นว่ามันจะได้ประโยชน์ กลับกันชนบทในตาสว่างถูกให้ภาพที่ตรงข้ามออกไป
หากพิจารณาแล้วตาสว่างเป็นงานที่มีพื้นฐานจากงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มที่เป็นผู้อพยพเข้าสู่เมือง โดยมีเมืองเป็นสนามวิจัย มากกว่าการเป็นงานศึกษาที่ตรงเข้าไปยังสังคมชนบทตรงๆ ภาพของชนบทในตาสว่างจึงเป็นภาพที่มองจากสายตาคนชนบทที่ถูกทำให้เป็นคนเมืองมากกว่า คนชนบทมองชนบทจริงๆ จนอาจเรียกได้ว่าจุดนี้เป็นจุดอ่อนของตาสว่าง ถ้าจะเรียกว่านกตาสว่าง การ “ตาสว่าง” ของนกก็คือ การเห็นภาพเมืองจริงๆ มองเห็นหน้าตาอันอัปลักษณ์ของเมือง ซึ่งก็แลกมากับการเสียการมองเห็นไปตลอดกาล
เราอาจกล่าวได้ว่าการตาสว่างของนกเกิดจากการที่นกกลายเป็นส่วนที่ไม่มีประโยชน์อันใดกับเมืองอีกต่อไป ทำให้เมืองไม่จำเป็นต้องหลอกใช้อีก เพราะถึงนกจะทำงานไร้ทักษะไม่ว่าจะก่อสร้าง ติดพื้นรองเท้า หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่อาชีพทั้งหมดล้วนแต่ให้คุณกับเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่คราวนกตาบอดประโยชน์ของเขาก็หายไป กลับกันชนบทถูกให้ภาพเป็นสถานที่ที่ดีที่พึงกลับไป ราวกับสวรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ปราศจากความวุ่นวาย หรือกระทั่งการหลอกลวง ทำให้ในตอนจบนกกับครอบครัวจึงเลือกหนีจากสิ่งจอมปลอมอย่างเมืองเพื่อกลับไปสู่ชนบท ปัญหาคือ ชนบทดีอย่างที่ตาสว่างเสนอหรือไม่
จุดที่เรียกได้ว่าตาสว่างเสนอออกมาน้อย หรือแทบไม่ได้เสนอเลยคือ การเมืองของชนบทที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น และปัญหาของการกระจายทรัพยากรจากส่วนกลาง การที่นกเข้าสู่เมืองที่จำเป็นต้องเป็นกรุงเทพเพื่อทำงานมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นเพราะว่ากรุงเทพเป็นเมืองเดียวที่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าส่วนกลางได้จัดสรรทรัพยากรไปยังหัวเมืองใหญ่อย่างพอเหมาะไม่แน่ฉากของเรื่องตาสว่างอาจเปลี่ยนเป็นขอนแก่น นครราชศรีมา หรืออุดรธานีจังหวัดบ้านเกิดของนกก็เป็นได้ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทุกคนย่อมอยากจะอยู่บ้าน หรืออย่างน้อยอยู่ให้ใกล้บ้านที่สุด และเมื่อการกระจายอำนาจไม่เป็นไปอย่างทั่วถึงสุดท้ายเมื่อนกกลับไปสู่ชนบทก็ต้องเผชิญกับการเมืองท้องถิ่นที่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวในชีวิตประจำวันอยู่ดี เพราะการเมืองเป็นช่องทางเดียวที่จะนำมาสู่การกระจายอำนาจ การกลับบ้านของนกจึงเป็นการแก้ปัญหาอย่างหมาจนตรอกที่พยายามหนีจากเมืองที่เต็มไปด้วยความหลอกลวงกลับไปสู่ชนบทที่เต็มไปด้วยความหลอกลวงไม่ต่างกัน แม้ทุกวันนี้หัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคในประเทศไทยจะขยายกลายเป็นเมืองมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาในการกระจายอำนาจยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย บางทีปัญหาของนกจะไม่เกิดขึ้นเลยหากมีการกระจายความเจริญ กระจายอำนาจเข้าไปสู่ท้องถิ่น เพราะนกคงไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในเมืองที่หลอกลวง และผลักไสเขาให้เป็นคนอื่นอย่างที่เขาได้เผชิญ
[1] อริสา จันทรบุญทา และจิรัฐ เจนพึ่งพร. (2561).ความเป็นเมือง (Urbanization) และนัยเชิงนโยบายของไทย. กรุงเทพฯ: ธนาคารแห่งประเทศไทย.
[2] สมคิด พุทธศรี. (2563). เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่, 7 มกราคม 2563 เข้าถึงจาก https://www.the101.world/interview-claudio-sopranzetti/