เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 Indonesian Association for Public Administration (IAPA) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ที่เรียกกันว่าWebinar ผ่านโปรแกรม ZOOMและถ่ายทอดสดผ่าน YouTube โดยได้เชิญนักวิชาการ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญจาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียมาแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นของการรับมือสถานการณ์โรคระบาดCOVID-19 ในแต่ละประเทศ โดยวิทยากรแต่ละท่านนำเสนอเรื่องราวและประสบการณ์ของประเทศตัวเองใน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถิติยอดผู้ติดเชื้อ หรือนโยบายและมาตรการที่มีการบังคับใช้ 2. ข้อสังเกตและบทวิเคราะห์ต่อการบริหารและการดำเนินการทั้งที่ได้ผลและไม่ได้ผล 3. ข้อเสนอ คำแนะนำ และสิ่งที่ควรจะมองต่อไปในอนาคตภายหลังบทเรียนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
Prof. Eko Prasojo จากสาธารณรัฐอินโดนีเซียเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจพื้นฐานต่อสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศอินโดนีเซียและนโยบายของรัฐบาลเพื่อรับมือโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการการเว้นระยะห่างทางสังคม การสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ให้ย้ายไปทำงานและเรียนที่บ้านแทน การโยกย้ายงบประมาณเพื่อสนับสนุน
การป้องกันยับยั้งโรคระบาด และนโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนประชาชนและธุรกิจในช่วงเวลาวิกฤต ทั้งนี้ Prof. Prasojo กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น 2 ประการ คือ
1. มีกฎหมายและระเบียบบังคับที่เยอะเกินไปส่งผลให้แต่ละกระทรวงผู้รับผิดชอบนั้นมีความสับสนจนเกิดเป็นการทับซ้อนกันภายในหน่วยงานของรัฐ
2. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น สืบเนื่องจากไม่มีความชัดเจนในบทบาท อำนาจอิสระในการบริหารท้องถิ่น และงบประมาณทำให้ความร่วมมือระหว่างทั้งสองนั้นไม่หนักแน่น
ท้ายที่สุดแล้ว Prof. Prasojo ได้เสนอแนะว่าควรจะมีการบูรณาการนโยบายเพื่อที่จะสร้างบรรยกาศและความเข้าใจในการประสานงานขององค์กรต่างๆ ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงสถานการณ์ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือคำถามถึงอนาคตว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ผลักดันธรรมาภิบาลระดับโลก (Global Governance) ให้เกิดขึ้นเพื่อที่ทุกคนจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้และที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
Prof. Kwon Gi-Heon จากสาธารณรัฐเกาหลีกล่าวถึงข้อเท็จจริงกับสถานการณ์ภายในเกาหลีใต้และการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลที่ได้รับคำชมจากสื่อต่างชาติมากมาย โดยองค์ประกอบหลักที่รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้ในการรับมือกับสถานการณ์นั้นได้แก่
1. การมีศูนย์กลาง (KCDC) ที่มีความเข้มแข็งและเด็ดขาด การจัดตั้งศูนย์บังคับบัญชากลางและศูนย์การบริหารมาตรการตอบโต้ระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ มีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน
2. ความร่วมมืออันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ในการรับมือกับโรคระบาด ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และภาคส่วนเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมไปถึงกำลังพลที่มีความพร้อมและประชาชนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครยิ่งเสริมให้การรับมือนั้นเป็นไปอย่างหนักแน่น
3. เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์(Smart Infrastructure และSmart Governance)อาทิ มาตรการการกักตัว 14 วัน การตรวจหาเชื้อเชิงรุก และการติดตามผู้ติดเชื้อ
4. การถอดบทเรียนในอดีตจากเหตุการณ์โรคระบาดSARS (2003) และ MERS (2015) และนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน
ในตอนท้ายProf. Kwon Gi-Heon เสนอว่าจากการที่แต่ละประเทศเผชิญสถานการณ์และประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน จึงเห็นควรที่จะมีช่องทางการแบ่งปันนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์วิกฤตที่กระทบต่อทั้งโลกเช่นนี้
Prof. Alex Brilliantes จากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์หลังจากอธิบายข้อเท็จจริงของสถานการณ์ปัจจุบันในฟิลิปปินส์แล้ว Prof. Brilliantes ได้กล่าวถึงความกระตือรือร้นของรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาด กรอบการบริหารและแนวปฏิบัติที่ฟิลิปปินส์ยึดเป็นแนวทางคือหลักการที่รัฐบาลกลางเป็นผู้ริเริ่มเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปต่อยอด แต่ทั้งหมดนั้นต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered)
Prof. Brilliantes ยังอธิบายถึงความสำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นในการมีอำนาจในการจัดการและริเริ่มโครงการเพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาดได้เองโดยมีรัฐบาลกลางทำหน้าทีเพียงแค่ช่วยเหลือและให้คำแนะนำ และยังได้ยกตัวอยากกรณีของเมืองมาริกินา ปาซิก เวเนซุเอลา และบาเกียวที่มีการจัดการอย่างเท่าทันสถานการณ์
ในตอนท้ายProf. Brilliantesได้กล่าวถึงข้อกังวลและสิ่งที่ควรจะเรียนรู้เพื่อการพัฒนาในอนาคต ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการประสานงานแบบ cross cooperation การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในการบริหารงาน ศักยภาพความเป็นผู้นำที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ และการปรับตัวของประชาชนเข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal)
Prof. JoseChen จากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)กล่าวถึง 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การเตรียมพร้อมซึ่งไต้หวันให้ความสำคัญในเรื่องของโรคระบาดCOVID-19 ตั้งแต่ปลายปี 2019ก่อนประเทศอื่นๆ ความตื่นตัวนี้ทำให้ไต้หวันมีความสามารถในการรับมือได้รวดเร็วและเท่าทันเหตุการณ์
2. การรับมือกับการแพร่ระบาด ไต้หวันสามารถออกนโยบายป้องกันก่อนที่การแพร่ระบาดนั้นจะกระจายวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการระงับเที่ยวบิน การกักตัว และการเว้นช่องว่างระหว่างบุคคล และยังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างฐานข้อมูลที่สามารถแบ่งปันไปยังทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะแค่ในองค์กรของรัฐ
3. การฟื้นตัว ซึ่ง Prof. Chen มองว่าความร่วมมือในระดับภูมิภาค การแบ่งปันข่าวสาร ข้อมูล นโยบาย และประเด็นทางสาธารณสุขจะสามารถช่วยเหลือและบรรเทาความรุนแรงของโรคระบาดนี้ได้ เนื่องจากแต่ละประเทศนั้นมีฐานความเข้าใจและมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากสามารถจัดการความรู้และถ่ายโอนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันภายในภูมิภาค
Prof. Woothisarn Tanchai จากประเทศไทยกล่าวถึงสถานการณ์COVID-19 และมาตรการของรัฐที่เกิดขึ้นตามลำดับเหตุการณ์นับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม และพบว่ามี 4สิ่งที่เรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ
1. ชุมชนยืดหยุ่น (Community resilience) แต่ละชุมชนต่างมีแนวทางและวิธีการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคระบาดที่แตกต่างกันไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่
2. ความเป็นผู้นำแบบรวมศูนย์ (Centralized leadership) ซึ่งประกอบด้วยการขับเคลื่อนนโยบายแบบเบ็ดเสร็จเพื่อการบริหารที่เป็นระบบและชัดเจนถึงบทบาทของแต่ละภาคส่วน
3. การประสานความร่วมมือในหลายภาคส่วน (Multi-sectoral Collaboration) นอกจากการแบ่งปันข้อมูลเพื่อการตัดสินใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว ความร่วมมือจากฝ่ายวิชาการทั้งระดับชาติและภูมิภาคก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
4. การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาด (Pandemic Preparedness) โดยนำหลักการ (เทคนิค) ทางการแพทย์มาใช้เพื่อรับมือและต่อสู้กับไวรัส
สุดท้ายProf. Woothisarn ย้ำว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรักษาสมดุลระหว่างสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศในยามที่ต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤตเช่นนี้
Prof.Hidehiko Kanegae จากประเทศญี่ปุ่นอธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบันก่อนจะกล่าวถึงการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ญี่ปุ่นนั้นมีมาตรการและหน่วยงานรองรับในเรื่องของภัยพิบัติธรรมชาติ แต่ในเรื่องของโรคระบาดกลับมีประสบการณ์เพียงเล็กน้อยในอดีต จึงส่งผลให้การเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือโรคระบาดยังไม่ดีเท่ากับมาตรการรองรับของภัยพิบัติตามธรรมชาติ
นอกจากนี้Prof. Kanegae ยังได้ตั้งคำถามถึงปัญหาภายใต้ความเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถสั่งการให้มีการปิดพื้นที่ (Lockdown)เนื่องจากความเป็นประชาธิปไตยของญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญต่อความเป็นเสรีอย่างมากจึงไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการขอความร่วมมือมากกว่าการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล
ในตอนท้ายProf. Kanegae กล่าวถึงสถานการณ์ของCOVID-19 ที่ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ไปสู่ความเป็นสังคม 5.0 ที่ผสมผสานโลกไซเบอร์และโลกแห่งความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศต่างแบ่งปันความรู้ มาตรการการรับมือ และข้อคิดเห็นต่อการบริหารของรัฐและสถานการณ์โควิด สามารถสรุปเป็นปัจจัยสำคัญได้ 5 ประการ คือ
1. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามความสามารถที่พึงมีของประเทศ
2. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างหลากหลายภาคส่วน
3. ภาวะผู้นำ การมีบทบาทที่ชัดเจนและปฏิบัติตามสายการบังคับบัญชาเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือการทับซ้อนกันของหน้าที่
4. ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการรับมือกับวิกฤต
5.ความร่วมมือระหว่างภูมิภาคที่นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลและนโยบายเพื่อการพัฒนาและรับมือกับโรคระบาดในระดับภูมิภาค
————————————————–