Articles Pop Culture

การเกิดขึ้นของเสรีนิยมประชาธิปไตยใน The Lego Movie

ธีทัต จันทราพิชิต
8 พฤษภาคม 2563


ในปี 2014 มีภาพยนตร์อนิเมชั่นคุณภาพเข้าฉายจำนวนมากหนึ่งในนั้นคือ ภาพยนตร์ที่ชื่อว่า The Lego Movie ด้วยเนื้อหา กับพฤติกรรมของตัวละครที่ดูตลกขบขัน มันไม่เป็นการยากอะไรเลยที่ The Lego Movie จะถูกมองว่าเป็นอนิเมชั่นสำหรับเด็ก เหมือนที่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าอนิเมชั่นเป็นสื่อบันเทิงสำหรับเด็กอยู่ ทั้งยังมีจุดมุ่งหมายค่อนข้างชัดในส่วนของการขายสินค้าใต้แบรนด์ของตัวเอง แต่ภายใต้หน้าฉากของความเป็นการ์ตูนอนิเมชั่นสำหรับเด็กนี้เอง The Lego Movie กลับสามารถพุ่งเข้าไปสู่ข้อถกเถียงในเชิงปรัชญาการเมืองได้อย่างแนบเนียน ทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจและเผยแพร่เหตุผลว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยมีความสำคัญอย่างไร

The Lego Movie เล่าเรื่องของโลกที่ทุกอย่างเป็นชิ้นส่วนตัวต่อเลโก้ โดยมีผู้บริหารเป็นเลโก้ที่มีชื่อสุดสิ้นคิดว่า Business ที่ทำตัวเป็นเผด็จการอยากเห็นทุกอย่างเป็นไปตามที่ตนเองคิดไว้ สำหรับ Business ไม่มีอะไรอื่นนอกจากการเห็นเลโก้ต้องถูกต่ออย่างที่เขาต้องการว่าจะให้เป็น โดยในระยะแรก Business ทำได้เพียงแต่การให้เลโก้ทุกตัวประกอบสิ่งก่อสร้างจากเลโก้ตามใบสั่งเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วอุดมคติของเขาไม่ใช่การต่อเลโก้ตามใบสั่ง แต่การติดกาวให้เลโก้ทุกตัวหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่สามารถขยับไปไหน และโลกทั้งใบก็จะกลายเป็นไปตามที่เขาอยากจะเห็น กลับกันกลุ่มตัวเอกที่เป็นกบฏต่อระบอบการปกครองของ Bussiness เป็นเลโก้ที่มีสถานะเป็น Master Builder ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เรื่องเลือกมาใช้เพื่ออธิบายเลโก้ที่สามารถต่อเลโก้ได้เองโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีใบต่อ ทำให้ที่สุดแล้วการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกบฏที่ต้องการเสรีภาพในการต่อเลโก้ กับรัฐบาลที่ต้องการให้เลโก้ถูกต่อตามใบต่อจึงเกิดขึ้น

จากเรื่องย่อมองผิวๆ แล้ว The Lego Movie มีสารของการเชิดชูเด็ก ต่อต้านผู้ใหญ่ค่อนข้างชัด เพราะเด็กเป็นวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความเป็นไปได้ พวกเขาจึงสามารถต่อเลโก้นอกลู่นอกทางจากใบต่อ ซึ่งในข้อถกเถียงนี้ The Lego Movie ก็พยายามพุ่งเข้าใส่จริงๆ เพราะที่จริง The Lego Movie นั้นต้องการเล่าความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกในการจัดการกับตัวต่อเลโก้ แต่นอกเหนือจากประเด็นเด็กกับผู้ใหญ่ The Lego Movie ยังส่อแทรกประเด็นของเสรีนิยมกับประชาธิปไตยไว้อย่างน่ามหัศจรรย์

โดยตัวร้ายอย่าง Business เป็นภาพแทนของระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (ไปจนถึงเผด็จการเบ็ดเสร็จ) ที่ต้องการให้สังคมเดินไปตามที่เขาต้องการโดยไม่สนใจในตัวปัจเจก กลับกันเหล่ากบฏ Master Builder  ถูกแทนภาพให้เป็นเสรีนิยมที่เชิดชูความเป็นปัจเจกจนเกินเลย นี้เองคือปัญหาของเสรีนิยมคลาสสิกเพราะเสรีนิยมโดยนัยยะแล้วเป็นแนวคิดที่เชิดชูปัจเจก และให้คำๆ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง[1]ซึ่งสำหรับเสรีนิยมปัจเจกนั้นแตกต่างกันในระดับสารัตถะ จนไม่มีวันที่ปัจเจกจะมีวันเหมือนกันได้ หากมีการบังคับคุกคามความแตกต่างนี้เสรีนิยมนับเป็นการคุกคามเสรีภาพ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมในประเทศที่สมาทานระบอบเสรีประชาธิปไตยจึงมีขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมเกิดขึ้นค่อนข้างมาก เพราะเสรีนิยมเป็นแนวคิดที่ยกย่องบูชาความหลากหลายโดยธรรมชาติ[2][3]

นอกจากเรื่องปัจเจกแล้ว หัวข้อใจกลางของเสรีนิยมอีกอย่างคือ เสรีภาพ โดยหากปัจเจกคือ ประธานที่เป็นที่มาแห่งเสรีนิยม เสรีภาพก็คือหัวใจที่ทำให้แนวคิดเสรีนิยมมีชีวิต และเพราะมีเสรีภาพจึงไม่ควรจะมีการรุกล้ำเสรีภาพไม่ว่าจะกรณีไหนทั้งนั้น นี่เองทำให้แนวคิดเสรีนิยมมุ่งเป้าไปที่การจำกัดอำนาจรัฐ [4]และกลายเป็นปฏิปักษ์กับระบอบเผด็จการเกือบทุกประเภท เพราะทั่วไปแล้วระบอบเผด็จการไม่ว่าจะมากจะน้อยจะมีวิธีมองที่สนใจภาพรวมมากกว่าภาพย่อย หรือในที่นี้หมายถึงชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย โดยพวกเขาอาจได้สาธารณูปโภคไม่ขาด แต่ก็อาจไม่ได้มีคุณภาพขนาดเอาไปคุยโวได้

แล้วในเมื่อตัวเอกใน The Lego Movie เป็นเสรีนิยมมันไม่นับเป็นข้อดีงั้นหรือ คำตอบที่น่าสนใจมาก The Lego Movie ใช้การเล่าเรื่องแบบโต้งๆ แต่กลับสามารถใส่สารที่ปกติภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อหรือภาพยนตร์โปรโลกเสรีลืมกล่าวถึงกันคือ เสรีนิยมเป็นแนวคิดที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เพราะการนำคนร้อยพ่อพันแม่ที่มีจุดประสงค์ มีเป้าหมายในการดำรงชีวิตไม่ตรงกันมาอาศัยอยู่ร่วมกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นแล้วกลุ่มที่เป็นตัวแทนของเสรีนิยมอย่าง Master Builder จึงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้สักคน เพราะแต่ละคนมีความต้องการที่จะบรรลุให้ถึงผลประโยชน์ของตัวเองโดยที่ไม่สนผลประโยชน์ของคนอื่นในที่นี่คือ การต่อเลโก้ให้ออกมาตามใจของตน เราจึงได้เห็นเลโก้แบทแมนประกอบเรือดำน้ำโดยที่ใช้แต่ชิ้นส่วนสีดำ ขณะที่เลโก้ยูนิคิตตี้ที่กำลังประกอบเลโก้ชิ้นเดียวกันใช้ชิ้นส่วนที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส และเลโก้นักบินอวกาศทะเลาะกับเลโก้ที่ชื่อว่าลูซี่เพราะใช้ชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นส่วนยานอวกาศ ทั้งเรือที่เกิดจากการทำงานแบบตัวใครตัวมันนี้ก็ไม่สามารถทนต่อความดันน้ำจนแตกเป็นชิ้นๆ ในที่สุด

สำหรับ The Lego Movie ความแตกต่างหลากหลายอย่างเดียวจึงไม่ใช่พลังโดยตัวมันเอง สิ่งที่ทำให้ความแตกต่างหลากหลายสามารถทรงพลังได้คือ การยอมร่วมมือร่วมใจกันอย่างเป็นเอกภาพและเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย เพราะความหลากหลายนำมุมมองวิธีคิดที่เหมาะสมต่อการจัดการปัญหามาให้ นั่นทำให้ตอนสุดท้าย ความสำเร็จของ Master Builder มาจากการที่สามารถร่วมมือโดยให้คนที่ชำนาญจัดการในส่วนที่ตนเองเชี่ยวชาญ ขณะที่คนอื่นก็ทำตามผู้เชี่ยวชาญคนนั้น แม้ The Lego Movie จะไม่ได้บอกตรงๆ แต่ตามประวัติศาสตร์ความคิดหนทางที่จะสมานความแตกต่างหลากหลายโดยที่ยังมีเสรีภาพมากที่สุดคือการใช้ระบอบการปกครองที่ชื่อว่า ประชาธิปไตย โดยปัจเจกต้องยอมเสียเสรีภาพบางส่วน แต่นั่นเป็นไปเพื่อให้เสรีภาพ และความเป็นปัจเจกยังสามารถเป็นไปได้ต่อไป หากเปรียบปัจเจกเป็นเลโก้มันก็เหมือนการต่อเลโก้ชิ้นแยกๆ ให้กลายเป็นชิ้นใหญ่ๆ ต่อไป

ที่สุดแล้ว The Lego Movie เป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าถึงเหตุผลที่ว่าทำไมมนุษย์โดยเฉพาะมนุษย์เสรีนิยมจึงควรใช้การปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย เหมือนดังเพลงประกอบภาพยนตร์ Everything Is AWESOME!!! ที่ในตอนแรกสื่อให้ผู้ชมคิดว่าเป็นเพลงเชิดชูระบอบเผด็จการ แต่ในตอนจบโดยที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเนื้อร้อง Everything Is AWESOME!!! กลายเป็นเพลงที่เชิดชูระบอบเสรีประชาธิปไตยไปในที่สุด


[1] นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ. (2558). เสรีนิยมกับประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, หน้า 55

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 30 – 35

[3] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2557). ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สมมติ, หน้า 126

[4] นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ. (2558). เสรีนิยมกับประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, หน้า 1

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: