ธีทัต จันทราพิชิต
22 พฤษภาคม 2563
แม้การคลายล็อคดาวน์ขั้นสองจะได้เริ่มขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID -19 ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในชีวิตไม่ว่าจะในด้านของสุขภาพ หรือเศรษฐกิจ ไม่ต่างจากเมื่อ 5 เดือนก่อนที่ COVID -19 เริ่มการระบาดขึ้น ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของ COVID -19 ทำให้การตัดสินใจของรัฐตกอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญที่รู้จักกับโรคระบาดอย่างดีอย่างบุคลากรทางด้านสาธารณสุข
ทว่าแม้มาตรการทางสาธารณสุขที่ออกมาจะเป็นที่เข้าใจได้ แต่เราก็พบว่ายิ่งมาตรการเข้มข้นเท่าไหร่อิสรภาพของประชาชนยิ่งน้อยลงเท่านั้น หากไม่มีโรคระบาดเชื่อได้ว่าการออกมาตรการดังกล่าวต้องเป็นสิ่งที่ต้องโดนกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการเป็นแน่ รัฐเกือบทั้งหมดทั่วโลกจึงเข้าสู่ระบอบใหม่ที่ถูกเรียกว่า “ระบอบสุขภาพ” หรือ “Health Regime” ไม่มากก็น้อย
แน่นอนทุกวันนี้ยังไม่มีรัฐไหนบรรลุความเป็นระบอบสุขภาพโดยสมบูรณ์แบบ แต่หากอยากทราบว่าระบอบสุขภาพ ที่เข้าใกล้กับความสมบูรณ์แบบที่สุดเป็นอย่างไรก็คงต้องรับชมจากสื่อ ซึ่งหนึ่งในสื่อที่แสดงภาพของระบอบสุขภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ภาพยนตร์ที่ชื่อว่า Harmony
Harmony เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นแนว Dystopia[1] สร้างจากนวนิยายรางวัลโดยนักเขียนผู้ล่วงลับชาวญี่ปุ่น อิโต้ ซาโตชิ โดย Harmony เล่าถึงโลกหลังสงครามนิวเคลียร์ที่มนุษย์กลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด จนแม้แต่ไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจคลาดชีวิตคนได้ก็ยังเป็นภัยอันใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของมนุษยชาติ
สิ่งที่คนในโลกของ Harmony พัฒนาจึงเป็นสังคมที่ถูกขับเคลื่อนโดยการคำนึงถึงชีวิตของมนุษย์อย่างสูงซึ่งผลก็ออกมาในรูปของการปกครองระบอบสุขภาพ ในโลกของ Harmony สิ่งที่เรียกว่าอายุและโรคภัยแทบจะถูกกำจัดออกไปจากพจนานุกรมเพราะการสอดส่องดูแลโดยรัฐผ่านสิ่งที่เรียกว่า WatchMe จนประชาชนต่างใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีโรคภัยมารุมเร้าทั้งยังทำให้ร่างกายของประชาชนแข็งแรงแม้แต่หญิงที่อายุ 70ปีก็ยังมีหน้าตาไม่ต่างจากหญิงอายุ 40ปี แต่ทั้งหมดต้องแลกมากับอิสรภาพอย่างหนัก เพื่อที่จะมีสุขภาพดี
ในระบอบสุขภาพของ Harmony ประชาชนจำต้องเลิกกินอาหารที่มีไขมันสูงอย่างของทอดของมัน และการเสพสิ่งเสพติดอย่างเหล้า บุหรี่ หรือกระทั่งกาแฟทั้งหมดกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ จึงไม่แปลกที่อาหารที่เสิร์ฟในร้านอาหารสุดหรูของโลก Harmony ก็ยังมีแต่ผักผลไม้ กับนํ้าเปล่า กลับกันหากมีการเสพสิ่งของที่ทำลายสุขภาพเข้าไปสิ่งตอบแทนกลับมาคือ การลงทัณฑ์ทางสังคมของคนที่ไม่รู้จักค่าของชีวิตตน
ภายนอกสังคมใน Harmony เป็นสังคมที่ดูดี ผู้คนมีนํ้าใจเมื่อเห็นคนไม่สบายบนรถโดยสารสาธารณะก็รีบลุกขึ้นถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ขณะเดียวกันรัฐก็ให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์เป็นอย่างสูง แต่สิ่งที่ประชาชนต้องจ่ายกลับเป็นความทุกข์จากการที่เลือกอะไรไม่ได้ แม้แต่สิทธิ์ที่จะเพิ่มนํ้าหนัก ส่วนการที่ชีวิตมนุษย์กลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็กลับทำให้สิทธิ์ที่จะตายถูกปิดผนึกลงอย่างสิ้นเชิง
ผลที่ตามมาคือ เกิดการกบฏในหมู่วัยรุ่นที่ WatchMe ยังไม่ทำงานและยังมีความสามารถที่จะเลือก ผ่านสิ่งที่เรียกว่าการฆ่าตัวตาย ซึ่งเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะสำหรับ Harmony สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าตนเลือกได้มีเพียงไม่กี่ทาง และทางที่จะทำให้ผู้อื่นเสียหายน้อยที่สุดพร้อมแสดงความไม่พอใจต่อการจับตาและชี้แนะเพื่อปกป้องพวกเขาจากอันตรายถึงชีวิตคือ การทำลายชีวิตพวกเขาด้วยน้ำมือของตัวเอง
โดยพื้นฐาน Harmony มีลักษณะของวรรณกรรมรางวัลญี่ปุ่นคือ เป็นวรรณกรรมที่มีลักษณะต่อต้านสังคม เพราะโดยลักษณะของญี่ปุ่นที่เป็นสังคมที่มีลักษณะรวมหมู่สูงนั้นได้ทำการกดทับความเป็นปัจเจกลง หนทางที่จะแสดงความเป็นปัจเจกได้จึงเป็นการกบฏต่อค่านิยมของสังคม สังคมใน Harmony ก็ไม่ต่างกันทุกคนต่างพากันใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกัน แสดงพฤติกรรมแบบเดียวกันอย่างการสงสารคนที่พวกเขาไม่แม้แต่จะพูดคุยหรือรู้จัก เพราะว่ารัฐบาลและสังคมมองว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำฉะนั้นจงกระทำเสีย อีกนัยคือ รัฐของ Harmony มองคนในลักษณะเป็นฟันเฟืองที่ต้องหมุนไปในทิศทางที่ประสานกลมเกลียวกันตามสิ่งที่นักเสรีนิยมเรียกว่าอินทรียนิยม
อินทรียนิยมหรือว่า Organism เป็นแนวคิดแบบลัทธิองค์รวม ที่เชื่อว่ารัฐเป็นร่างกายที่ประกอบจากส่วนต่างๆ จำนวนมาก โดยแต่ละส่วนถูกลิขิตหน้าที่ของตนมาตั้งแต่แรกดังปอดที่มีไว้หายใจ กระเพาะที่มีไว้ย่อยอาหาร และหัวใจที่เอาไว้สูบฉีดโลหิต กระนั้นแม้ทุกส่วนจะมีหน้าที่ของตัวเองที่ถูกลิขิตเอาไว้ แต่ทุกส่วนก็ต้องทำงานสัมพันธ์กันเพื่อที่จะสามารถมีชีวิตต่อไปได้อย่างยืนยาว[2] หัวใจจะทำงานแทนสมองไม่ได้ และสมองก็จะทำงานแทนหัวใจไม่ได้เช่นกัน
ใน Harmony ได้มีภาพแทนถึงร่างกายของมนุษย์ในรูปของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะในโตเกียวที่สิ่งก่อสร้างถูกฉาบด้วยสีแดงทั้งเมืองเหมือนกับเครื่องในหรือเส้นเลือดของมนุษย์ อีกนัยคือ มนุษย์ในเรื่องเปรียบได้กับเม็ดเลือดที่ทำให้ร่างกายสามารถขยับและมีชีวิตยืนยาว ถ้าเม็ดเลือดไม่ว่าจะขาวหรือแดงแข็งแรง ร่างกายก็ย่อมแข็งแรงตาม
เช่นนั้นเอง Harmony จึงได้วิพากษ์สังคมรวมหมู่ที่เห็นมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายด้วย และหนทางที่จะแสดงความเป็นตัวเองในสังคมเช่นนี้คือ การแสดงว่าตนไม่ได้เกิดมาเป็นอย่างที่ถูกลิขิตเอาไว้เท่านั้น หากคนเกิดมาเป็นเม็ดเลือดเพื่อทำการลำเลียงอาหารให้ร่างกายที่ชื่อว่ารัฐ ทางที่จะแสดงความเป็นปัจเจกได้คือ การไม่ทำหน้าที่ตามที่ถูกลิขิตไว้ ไม่ว่าทางใดก็ตาม การแสดงความเป็นปัจเจกออกมาจึงจำต้องแสดงความกบฏต่อหน้าที่หรือค่านิยมที่รัฐปลูกฝัง ตัวอย่างเช่น ตัวร้าย(?) ของ Harmony ก็มีการพูดถึงการค้าประเวณี การฆ่าคนและการก่อการร้ายด้วยสีหน้านิ่งเฉย ทั้งๆ ที่ทั้งหมดถูกสังคมมองว่าเป็นสิ่งไม่ดีทั้งคู่ เช่นกันการฆ่าตัวตายก็เป็นการแสดงความเป็นกบฎเพราะมันทำลายสิ่งที่สังคมให้ค่าเป็นอย่างสูงอย่างชีวิตมนุษย์
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาแบบ social distancing ของคณะรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อ “เจาะมุมมอง สามรัฐศาสตร์ ผ่ามหาวิกฤตโควิด-19” ว่าการมาของ COVID-19 ทำให้รัฐเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าระบอบสุขภาพ และระบอบสุขภาพ ก็มีลักษณะอำนาจนิยมไม่มากก็น้อย[3] แม้ระบอบสุขภาพของ Harmony จะมีลักษณะสุดโต่ง และเป็นไปไม่ได้จริงตามประสาของวรรณกรรม Dystopia แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราคงไม่อยากให้เกิดระบอบสุขภาพเต็มขั้นแบบที่เกิดใน Harmony เพราะมันคือ ระบอบที่กำจัดความเป็นปัจเจกออกไปจนหมด
ผลของระบอบสุขภาพ ใน Harmony จบลงด้วยปัญหาการฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปีเพื่อที่จะบอกว่าตนมีอิสรภาพที่จะเลือก แต่รัฐใน Harmony ก็ไม่ได้ต้องการให้การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจึงพยายามสร้างนวัตกรรมในการทำลายต้นตอของการฆ่าตัวตายจนนำมาสู่การสลายการรับรู้ตัวตน เพื่อที่ผู้ใต้ปกครองจะไม่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตอีก
ดังนั้นแล้ว การจะบรรลุซึ่งระบอบสุขภาพสมบูรณ์แบบ จึงเรื่องของระบอบที่ไม่ต้องการความเป็นปัจเจก แต่ต้องการเพียงกลจักรในการขับเคลื่อนให้รัฐคงอยู่ตราบนานเท่านาน น่าเสียดายที่จะไม่มีวันนั้นในโลกแห่งความจริง
[1] ดิสโทเปีย (Dystopia) มีความหมายถึงสังคมที่ไม่พึงปรารถนา ตามพจนานุกรมเคมบริดจ์ได้ให้ความหมาย ไว้ว่า “ชุมชนทางสังคมที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ชั่วร้าย และอยุติธรรม ส่วนใหญ่ใช้กับโลกสมมติที่มีฉากเป็นอนาคตหลังเกิดบางสิ่งที่เลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง” ขณะเดียวกันในทางวรรณกรรมเป็นชื่อเรียกของวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีฉากหลังเป็นโลกที่แย่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ความหมายหลังดูเพิ่มเติมได้ใน Mihailescu, C. (1991). Mind the Gap: Dystopia as Fiction. Style,25(2), 211-222. Retrieved from http://www.jstor.org/stable/42945903)
[2] นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ. (2558). เสรีนิยมกับประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, หน้า 55 – 56
[3] ดูเนื้อหาของการเสวนาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?v=554208178826129&ref=watch_permalink