Articles

สรุปภาพรวมกิจกรรมสนทนาการเมือง “What The Thesis?” ครั้งที่ 6 “Management for Reopening after COVID-19”

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จัดเสวนาวิชาการ “What The Thesis?” ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “Management for Reopening after COVID-19” โดยกิจกรรมสนทนาวิชาการนี้แบ่งออกเป็น 4 ช่วงด้วยกันได้แก่ ช่วงแรกจะเป็นการอัพเดตกระแสข่าวทั่วโลก ก่อนที่ช่วงที่สองจะเป็นการสำรวจภาพรวมของงานวิชาการที่มีต่อประเด็น “การจัดการวิกฤต” ถัดมาในช่วงที่สามจะเป็นการสนทนาวิชาการในหัวข้อ “SEA กับแนวทางหลัง COVID-19” และในช่วงสุดท้ายจึงเป็นการสนทนาการวิชาการในอีกหัวข้อคือ “Back to Norms or New Normals” โดยจะสรุปต่อไปตามลำดับ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สำหรับส่วนแรกที่เป็นการอัพเดตกระแสข่าวสารทั่วโลกในช่วงเดือนเมษายนและที่ผ่านมา สรุปข่าวโดยขวัญข้าว คงเดชา แบ่งเป็นข่าวสี่ด้าน ได้แก่

ด้านสังคม เริ่มจากประเด็นความเหลื่อมด้านการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเรื่องที่ยากขึ้นสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ยังถือว่าการสมัครบริการอินเตอร์เน็ตถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่จำเป็นสำหรับครอบครัว ส่งผลให้นักเรียนในกลุ่มข้างต้นเสมือนว่าถูกทอดทิ้งจากระบบการศึกษาไทย ซึ่งต่อเนื่องกับประเด็นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นโยบายการเยียวยาทางเศรษฐกิจจากรัฐเป็นเรื่องที่ลำบาก เนื่องจากเดิมมีปัญหาเรื่องของรายได้ ประกอบกับความลำบากในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต จึงส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลเองถือเป็นปัญหาที่ไทยต้องแก้ไขเช่นกัน

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ช่วงวิกฤติCOVID-19 เช่นนี้ส่งผลกระทบด้านลบกับเศรษฐกิจ หลายประเทศ GDP ลดลง ธุรกิจทั่วโลกมีหลายรายที่ประกาศปิดตัวลง หรือเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องปรับโครงสร้างองค์กรอย่างเร่งด่วนเพื่อเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในไทยได้แก่ บริษัท Nissan ประกาศลดจำนวนพนักงาน หรือบริษัท Sharp และ Panasonic ที่ประกาศย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่เพียงสะท้อนให้เห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 แต่ยังสร้างความกังวลถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคตด้วย

ด้านการเมือง กระแสของ Rising China กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการที่จีนกำลังเพิ่มพูนสถานะทางอำนาจผ่านการแสดงบทบาทนำในองค์การระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม กระแสการต่อต้านจีนก็มีอยู่มากเช่นกัน จากกรณีที่จีนเตรียมประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนำมาสู่ความกังวลของชาวฮ่องกงว่าจะถูกลิดรอนเสรีภาพทางการเมือง และนำมาสู่การก่อม็อบต่อต้านจีนอีกครั้ง นอกจากนั้นยังมีแรงสนับสนุนจากประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งไต้หวันที่ออกมาประกาศสนับสนุนคนฮ่องกงในการต่อต้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีน กล่าวได้ว่า แรงต่อต้านจีนจากพันธมิตรชานม ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย ได้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง นอกจากนั้นในกรณีของไทยยังมีเหตุการณ์ร้อนแรงเช่นกัน ในกรณีของ #ตามหาความจริง การยิงเลเซอร์ที่เป็นการชวนให้สังคมร่วมถกเถียงเกี่ยวกับปริศนาการสังหารประชาชนในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ทั้งปี 2535 และปี 2553 ซึ่งส่งผลให้เกิดการถกเถียงถึงการยอมรับความจริงหลายชุดในเหตุการณ์ความรุนแรงเดียวกันที่คนบางกลุ่มปฏิเสธตลอดมา  

และสุดท้ายในด้านสิ่งแวดล้อม กระแสการลงทุนด้านพลังงานธรรมชาติกำลังลดลงในช่วงต้นปี นอกจากนั้นยังมีความกังวลจากกรณีของป่า Amazon ที่เผชิญการคุกคามจากการลักลอบตัดไม้และขโมยทรัพยากรทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในช่วงต้นปี

ถัดมาในส่วนที่สอง ศิปภน อรรคศรี นำเสนอผลของการสำรวจวงการวิชาการระดับโลกในประเด็นของ “การจัดการวิกฤต” (crisis management) ซึ่งหมุดหมายสำคัญของการศึกษาเรื่องการจัดการวิกฤตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (scientific) อยู่ที่ช่วงปี 1940s ซึ่งเกิดกระแสของการศึกษาเรื่องการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งในเชิงพฤติกรรมศาสตร์และการจัดการองค์กรเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงถือว่าการก่อตั้ง Disaster Research Center ในปี 1963 เป็นหลักไมล์ที่สำคัญของศาสตร์การจัดการวิกฤต ในขณะที่ระยะต่อมา แนวคิดและทฤษฎีการจัดการวิกฤตเริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างหลากหลายมากขึ้น ช่วงปี 1970s มีการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการจัดการวิกฤตกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในบริบทของสงครามเย็น และต่อมาช่วงปี 1980s เกิดการพัฒนาแนวคิดการจัดการวิกฤตสู่การสร้างเป็นแนวคิดการจัดการวิกฤตองค์กรเพื่อรับมือปัญหาวิกฤตหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ก่อนที่ในช่วงปี 2000s จะเริ่มประยุกต์ใช้การจัดการวิกฤตที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ ดังกรณี เฮอริเคน Katrina ในปี 2005 หรือกรณีของวิกฤตจากการก่อการร้ายข้ามชาติอีกด้วย

 ทั้งนี้จากการสำรวจงานวิชาการในช่วงปี 2010-2020 ที่ประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องการจัดการวิกฤต เข้ากับเรื่องของการรับมือโรคระบาดระดับกว้าง (pandemic) พบว่า มีการประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าวในหลากสาขาวิชาทั้งรัฐประศาสนศาสตร์, รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ หรือสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยในระยะเวลา10ปีมานี้ ประเด็นเรื่องการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อจัดการวิกฤต และประเด็นการจัดการองค์กรหรือสถาบัน ต่างได้รับความสนใจในวงการวิชาการเท่ากันเป็นอันดับที่หนึ่ง (27%) รองลงมาจึงเป็นงานเชิงธรรมาภิบาลในการจัดการวิกฤต (17%) ขณะที่งานเรื่องบทบาทประชาสังคมในการจัดการวิกฤตก็ได้รับความสนใจมาก (10%) ทั้งนี้งานที่ได้รับความสนใจรองๆลงมาได้แก่ การจัดการเชิงร่วมมือข้ามหน่วยงาน/รัฐ (7%) ระบอบแพทยาธิปไตย (6%) และอันดับสุดท้ายเท่ากัน (3%) ได้แก่ กรณีศึกษาเปรียบเทียบ และภาวะความเป็นผู้นำในการจัดการวิกฤต

นอกจากนี้ ในส่วนที่สองนี้ยังมีการกล่าวถึงงานวิชาการสองชิ้นที่นำเสนอประเด็นการจัดการวิกฤตโรคระบาด ได้แก่ บทความ “Common Challenge: Different Response? The Case of H1N1 Influenza” (2015) ของ Vera-Karin Brazova และ Piotr Matczak ในงานชิ้นแรกเป็นการเปรียบเทียบ 22 ประเทศ กรณีศึกษาในเรื่องของมาตรการจัดการวิกฤตรับมือการแพร่ระบาดของ H1N1 โดยให้ความสนใจกับสองระยะ ระยะเตรียมมาตรการรับมือ จำเป็นต้องสนใจทั้งเรื่องการสร้างความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐ, การกระจายอำนาจควบคุมโรคระบาด และแผนการรับมือโรคระบาดล่วงหน้าของรัฐ ทั้งนี้ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า การกระจายอาจมากหรือน้อยนั้นอาจไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จเสียทีเดียว ประเทศที่กระจายอำนาจน้อยแต่มีความละเอียดในการค้นหากลุ่มเสี่ยงและวางมาตรการที่รับฟัง stakeholders รวมถึงประชาชนอย่างรอบด้าน จะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการจัดการกับโรคระบาด ขณะที่ประเทศที่แม้มีการกระจายอำนาจมากแต่ประชาชนไม่ไว้วางใจหรือจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่คำนึงถึงประชาชนก็มีแนวโน้มล้มเหลวในการควบคุมโรคระบาดเช่นกัน ส่วนงานที่สอง “COVID 19 and the policy science: initial reactions and perspective” (2020) ของ Christopher M. Weible และคณะ เป็นงานที่นำแนวคิดเรื่องความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคนิคที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายทางนโยบายของ Harold D. Lasswell มาประยุกต์ใช้กับการศึกษานโยบายการจัดการวิกฤตโรคระบาด COVID-19 โดยปัจจัยสำคัญ 3 เรื่องที่งานชิ้นนี้มองว่าส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายจัดการ COVID-19 ได้แก่ การสำรวจผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อและลดจำนวนกลุ่มเสี่ยง, ความเป็นการเมืองในการแทรกแซงนโยบาย และการสร้าง “เรื่องเล่า” ที่กำหนดความรับรู้ของประชาชนที่มีต่อนโยบาย ด้วยแนวทางข้างต้นจึงช่วยให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มความสำเร็จของนโยบายจัดการโรคระบาดได้แม้เหตุการณ์ยังไม่สิ้นสุดก็ตาม

ในส่วนหลักของการสนทนาวิชาการมีสองประเด็นจากสองวิทยากร เริ่มจากวิทยากรคนแรกคือ นิตยา โพธิ์นอก นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา ในประเด็น “SEA กับแนวทางหลังโควิด2019” โดยเริ่มจากการอธิบายพัฒนาการของ EIA กับ SEA  โดย EIA (Environmental Impact Assessment) หรือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นกรอบการประเมินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถึงอย่างไร การประเมิน EIA พบว่ามีปัญหาที่ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อันมาจากผลกระทบจากหลายโครงการ ขณะที่ SEA เป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของนโยบายที่กว้างกว่าระดับโครงการใดโครงการหนึ่ง ให้ความสำคัญกับทางเลือกในการจัดทำนโยบายให้สอดคล้องกับพื้นที่จริง และยังให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ตัวอย่างหนึ่งที่วิทยากรได้ยกคือ SEA ว่าด้วยการบริหารจัดการลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง รวมถึงลดความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรน้ำอีกด้วย หรือตัวอย่างของ SEA การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดกาญจนบุรี ที่แสดงให้เห็นว่า SEA เป็นแนวทางที่ช่วยให้เกิดการประนีประนอมระหว่างประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ และวิ่งแวดล้อมให้พัฒนาด้วยกันได้ภายใต้ความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้เมื่อตั้งคำถามถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทางเลือกของ SEA จึงเปิดให้มีทางเลือกของนโยบายใหม่ ทั้งการหยุดการดำเนินโครงการชั่วคราวเพื่อดูผลกระทบ หรือการใช้ระบบดิจิตอลในการจำลองสภาพพื้นที่จริงก่อนจะนำเสนอเพื่อดำเนินการโครงการต่อไป กล่าวโดยสรุป การมองหาทางเลือกของนโยบายใหม่และการพยายามจัดทำนโยบายให้สอดคล้องความต้องการจริงของประชาชนในพื้นที่ถือเป็นข้อดีของ SEA

ส่วนท้ายสุดของกิจกรรมนี้เป็นการนำสนทนาของวิทยากรคนที่สอง ณพจักร สนธิเณร นักวิชาการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ในประเด็นของ “Back to Norms or New Normals” เพื่อเสนอแนวคิดเชิงทฤษฎีต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปหลังเจอวิกฤตโรคระบาด COVID-19 โดยวิทยากรสนใจเรื่องของ “Norm” หรือก็คือ สิ่งที่ควบคุมวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของผู้คน ซึ่งมุมมองสำหรับการทำความเข้าใจ norms ที่อาจเปลี่ยนไปหลังจบวิกฤต COVID-19 สามารถมีได้ 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก แนวคิด Melting Pot ของ Gordon Childe ที่สนใจเรื่องการปะทะกันของชุดวัฒนธรรมระหว่างก่อนกับหลังช่วง COVID-19 ที่อาจเกิดเป็นการแทนที่ด้วยชุดวัฒนธรรมใหม่ กลับสู่วัฒนธรรมเดิม หรือผสมกลมกลืนก็ได้ แนวทางที่สอง เป็นการเข้าใจผ่านการตอบสนองทางจิตวิทยาในมุมมองของ Cheng&Cheung ที่เสนอแนวคิดว่าแม้จะกลับสู่สถานการณ์ปกติ แต่ความกลัวและความหวาดระแวงทางจิตวิทยาจะยังคงอยู่และส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งตัวอย่างคือ กรณี The Siege of Sarajevo (1993) ที่ผู้คนมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงพื้นที่โล่งกว้าง เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตที่เคยปฏิบัติในช่วงสงครามและเคยชินกับพฤติกรรมดังกล่าวเรื่อยมา แนวทางที่สาม เป็นมุมมองของ Dipali Mukhopadhyay ที่ตั้งข้อสังเกตถึงความสามัคคีในชุมชนที่มากขึ้นหลังจากเคยช่วยเหลือเพื่อนบ้านมาในช่วงวิกฤต นอกจากนั้น มุมมองที่สี่อันเป็นข้อถกเถียงปลายปิดในเรื่องของทางแพร่งระหว่างสุขภาพกับเสรีภาพ ซึ่งนำมาสู่คำถามของสังคมว่าจะเดินต่อไปอย่างไร เว็บไซต์ไทยชนะที่ละเมิดเสรีภาพแต่จะช่วยประกับความปลอดภัยเรื่องสุขภาพจะเป็นที่ยอมรับเพียงใด หรือในอีกทางการปิดกั้นเสรีภาพเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน อาจส่งผลให้เกิดความอัดอั้นจนเกิดม็อบต่อต้านหลังหมดช่วง COVID-19 หรือไม่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: