Articles Pop Culture

The Witcher กับการ “รื้อฟื้น” อัตลักษณ์ความเป็นโปแลนด์

ธีทัต จันทราพิชิต
12 มิถุนายน 2563


ช่วงปลายปีที่ผ่านมาทาง Netflix ได้มีการปล่อยซีรีย์ชื่อว่า The Witcher ออกมาและประสบความสำเร็จอย่างสูง ความสำเร็จของ The Witcher อาจเป็นที่ถกเถียงได้ว่าเกิดขึ้นมาจากการตลาดที่มุ่งโปรโมทอย่างหนัก หรือจากการที่มีฐานแฟนเกมอยู่ก่อนแล้ว แต่ในความสำเร็จของซีรีย์จาก Netflix กลับเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงต่อการคงสารที่ทำให้ The Witcher มีความโดดเด่น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

โดยทั่วไปคนจะรู้จัก The Witcher ในฐานะของเกมสวมบทบาทที่ปฏิวัติแกมแนวเดียวกันในช่วงกลางทศวรรษที่ 2010 ความสำเร็จของ The Witcher ในฐานะเกมนั้นเป็นที่เลื่องลือในวงกว้าง ถึงขนาดในปี 2011  นายกรัฐมนตรีของโปแลนด์ ดอนัลต์ ตุสก์ (DonaldTusk) ได้มอบ The Witcher 2: Assassins of Kings ให้บารัค โอบาม่าเนื่องในโอกาสการมาเยือนโปแลนด์[1]

แต่ก่อนที่ The Witcher จะกลายเป็นเกม The Witcher เป็นนวนิยายมีชื่อของดีประจำโปแลนด์มาก่อน จนเราอาจกล่าวได้ว่าถ้าอังกฤษมี The Lord of the Rings กับ Harry Potter โปแลนด์ก็มี Wiedźmin แต่ด้วยความที่ Wiedźmin หรือ The Witcher เป็นนิยายของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นชายขอบของวัฒนธรรมตะวันตก The Witcher จึงไม่ได้กลายเป็นที่รู้จักนอกบริเวณแถบยุโรปตะวันออกเสียเท่าใดนัก

จุดเด่นของ The Witcher คือ การที่ The Witcher มีพื้นหลังที่ใกล้ชิดกับตำนานท้องถิ่นของโปแลนด์และยุโรปตะวันออก ทั้ง The Witcher ยังประสานตำนานพื้นบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง ให้มีลักษณะเหมือนเขียนตำนานพื้นบ้านให้ร่วมสมัยขึ้น โดยในเล่มแรกของ The Witcher ที่เป็นการรวมเรื่องสั้นที่ชื่อว่า The Last Wish ได้มีการนำตำนานพื้นบ้านที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันมาเล่าใหม่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสโนไวท์ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร หรือกระทั่งอาละดิน แต่ The Witcher มีการเล่าที่ขึงขังจริงจังกว่า และเนื้อหาก็ค่อนข้างรุนแรง

แล้วเหตุใด The Witcher เวอร์ชั่นซีรีย์ของ Netflix จึงขัดต่อสิ่งที่นวนิยายชุดนี้ได้ส่งผลกระทบต่อโปแลนด์ ในเมื่อสุดท้ายซีรีย์ก็ทำตัวขึงขัง และ “ดาร์ค” เหมือนซีรีย์ Game of Thrones ที่เพิ่งจบไปก่อนหน้าไม่นาน นั่นเพราะว่า The Witcher มีความสัมพันธ์กับการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของชาวโปแลนด์และการต่อต้านการยึดครองของสหภาพโซเวียต

ด้วยประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ที่ถูกยึดครองและแบ่งแยกโดยชาติมหาอำนาจตะวันตก เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าโปแลนด์มีประสบการณ์คล้ายคลึงกับประสบการณ์ที่ประเทศเอเชียจำนวนมากต้องเผชิญในสมัยจักรวรรดินิยม แต่โปแลนด์มีประสบการณ์ที่แปลกกว่าประเทศเอเชียอยู่อีกจุดหนึ่งคือ การที่โปแลนด์ถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งแม้อาจเป็นที่ถกเถียงได้ว่าโซเวียตเป็นผู้ยึดครองตามแบบเจ้าอาณานิคมตะวันตกหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตกอยู่ภายใต้รัฐบาลระบอบคอมมิวนิสต์ทำให้โปแลนด์มีประสบการณ์เฉพาะของตัวเอง และนำมาสู่การต่อต้านกับความเป็นชาตินิยมขึ้นมา

ด้วยประสบการณ์การถูกยึดครองมาอย่างยาวนานโปแลนด์ต้องเผชิญกับปัญหาการกดขี่จากต่างชาติพันธุ์ เหมือนที่ประเทศอาณานิคมในเอเชียเคยโดน ในทางตรงกันข้ามการกดขี่นี้กลับเพิ่มอัตลักษณ์ความเป็นปึกแผ่นให้ชาวโปแลนด์ มีการกล่าวว่าชาติโปแลนด์เกิดขึ้นมาเพราะความเกลียดชังที่มีต่อรัสเซีย[2] รัสเซียจึงเป็นศัตรูที่รวมอัตลักษณ์โปแลนด์ไว้ด้วยกัน  

สำหรับสหภาพโซเวียตและระบอบคอมมิวนิสต์การตีพิมพ์นวนิยายแนวแฟนตาซีเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือโดนกดขี่ (ในทางตรงข้ามวรรณกรรมแนวไซไฟกลับได้รับการสนับสนุนอย่างหนัก) ในตอนที่ The Witcher ตีพิมพ์ครั้งแรกในฐานะเรื่องสั้นในปี 1986 ขณะที่สหภาพโซเวียตเริ่มที่จะผ่อนปรนทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น จนในที่สุดปี 1991 สหภาพโซเวียตถึงกาลล่มสลาย พร้อมกับการเป็นอิสระของรัฐบริวาร

ด้วยการที่ถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตซึ่งไม่ได้สนับสนุนความเป็นชาตินิยมมากนัก ทั้งยังมีท่าทีกดขี่ทางชาติพันธุ์อย่างหนัก ทำให้ความเป็นโปแลนด์ถูกกดขี่ ในทางตรงกันข้าม The Witcher ก็ทำหน้าที่ในการรื้อฟื้นความเป็นโปแลนด์ออกมา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม The Witcher จึงเต็มไปด้วยนิทานปรัมปรา และตำนานพื้นบ้านของยุโรปตะวันออก นับเป็นนวนิยายที่พยายามค้นหารากของความเป็นโปแลนด์ และปลุกความเป็นชาตินิยมของโปแลนด์ที่เป็นชาติที่ได้ชื่อว่าพิทักษ์ยุโรปจากการรุกรานของตะวันออกมาแต่ไหนแต่ไร แต่กลับถูกทำร้ายโดยชาติยุโรปด้วยกันอีกนับครั้งไม่ถ้วน

The Witcher จึงเป็นนิยายที่มีเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ความเป็นยุโรปตะวันออกอย่างมาก ทั้งมีท้องเรื่องปูมหลังทางประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับโปแลนด์ ภูมิรัฐศาสตร์ของ The Continent ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่องมีลักษณะเดียวกับยุโรปกลาง โดยมีจักรวรรดินิฟการ์ดที่มีลักษณะคล้ายกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อาณาจักรบางอาณาจักรก็ได้รับอิทธิพลจากดินแดนแถบสแกนดิเนเวีย เช่นกันอาณาจักรทางเหนือยังได้รับการออกแบบให้มีลักษณะของโปแลนด์ในศตวรรษที่ 12–13 ที่มีลักษณะแตกกระจาย[3]

จากพื้นหลังของเรื่อง The Witcher จึงนับว่าเป็นงานที่ปลุกอดีตของโปแลนด์ขึ้นมาเลยก็ว่าได้ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในงานที่ช่วยในการสร้างชาติใหม่ของ Poland หลังการยึดครองของสหภาพโซเวียต โดย The Witcher ได้รับการตีพิมพ์ตลอดทศวรรษที่ 1990 และกลายเป็นของดีประจำชาติ สร้างความฝันให้กับประชาชนชาวโปแลนด์จำนวนมาก รวมไปถึงค่ายเกมที่ชื่อว่า CD Projekt Red ผู้สร้างเกมซีรีย์ The Witcher

แม้ลักษณะของชาตินิยมใน The Witcher จะไม่ได้เป็นชาตินิยมที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจแบบชาตินิยมฝ่ายขวาของโปแลนด์[4] เห็นได้จากการที่ลักษณะดินแดนไม่ได้ใกล้เคียงกับยุคอันรุ่งโรจน์ของโปแลนด์ที่เป็นสมัยเครือจักรภพ[5] แต่เราคงบอกได้ว่า The Witcher ยังเต็มไปด้วยความชาตินิยม และความภูมิใจของความเป็นโปแลนด์ ไม่ว่านั่นจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ แต่ The Witcher ได้ช่วยในการสร้างชาติความเป็นโปแลนด์ขึ้นมาใหม่

กลับกันซีรีย์ของ Netflix ชื่อ The Witcher กลับเต็มไปด้วยบริบทของความเป็นอเมริกา ตัวละครจำนวนมากเป็นตัวละครผิวสี ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของภาพยนตร์หรือซีรีย์อเมริกาซึ่งอยู่ในบริบทของการเหยียดชาติพันธุ์ ในขณะที่ The Witcher ที่มีความเป็นยุโรปตะวันออกกลับถูกลดทอนตัดทิ้งไป และเพิ่มความเป็น Game of Thrones เข้ามาแทน เพื่อจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่เป็นอเมริกาได้มากขึ้น

แน่นอนในแง่ความบันเทิง The Witcher อาจไม่ได้ล้มเหลว และส่วนที่ดัดแปลงก็ไม่ได้มีผลต่อความเป็นไปของเนื้อเรื่อง แต่ The Witcher กลับทอนการต่อสู้ทางอัตลักษณ์ของชาวโปแลนด์ลงซึ่งตรงจุดนี้คงนับว่าเป็นจุดที่น่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ความนิยมของซีรีย์ The Witcher ของ Netflix ก็ยังเพิ่มยอดขายหนังสือชุดนี้ด้วยเช่นกัน[6] ทำให้แม้ซีรีย์จะทำลายการเฉลิมฉลองความเป็นโปแลนด์ด้วยการทำให้เป็นอเมริกัน แต่ซีรีย์ก็มีคุณูปการในการทำให้การเพิ่มยอดขายหนังสือที่เชิดชูความเป็นยุโรปตะวันออก บางทีการตัดสินในเรื่องนี้จึงไม่มีขาวมีดำ แต่เป็นสีเทาเหมือนดังที่ตัวละครในเรื่องต้องเผชิญ


[1] Smith, D. (2015, July 30). Poland’s Prime Minister loves this spectacular video game so much he gave it to Obama as a gift. Retrieved from https://www.businessinsider.com/the-witcher-2015-7

[2] Mayblin, L., Piekut, A., & Valentine, G. (2016). ‘Other’ Posts in ‘Other’ Places: Poland through a Postcolonial Lens? Sociology50(1), 60–76. https://doi.org/10.1177/0038038514556796

[3] Walsh, B. W. D. B. C. (2019, November 6). The Witching Hour of Modern Polish Nationalism. Retrieved from https://www.publicmedievalist.com/the-witcher-nationalism/

[4] เรื่องเดียวกัน

[5] เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย [Polish-Lithuanian Commonwealth (1569 – 1795)] เป็นชื่อรัฐของโปแลนด์ที่รวมตัวกับลิทัวเนีย ในช่วงเวลาหนึ่งเครือจักรภพเป็นรัฐที่มีอาณาเขตใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในยุโรป

[6] Tassi, P. (2020, January 5). Netflix’s ‘The Witcher’ Has Sold Out Physical Copies Of The Books On Amazon, In Stores. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/paultassi/2020/01/05/netflixs-the-witcher-has-sold-out-physical-copies-of-the-books-on-amazon-in-stores/#e114131102af

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: