Articles Events

In Their View: ประชาชนอยู่ตรงไหนของ 2475 กับคุณปฐมาวดี วิเชียรนิตย์

ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์: ประชาชนอยู่ตรงไหนในวันที่ 24 มิถุนายน

          หากพูดถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นการยากที่จะมองข้ามการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 แต่ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติ 2475 ก็ดูจะขาดตัวแสดงที่เรียกว่าประชาชนไปอย่างน่าใจหาย ด้วยข้อเท็จจริงว่าการปฏิวัติ 2475 เกิดขึ้นโดยกลุ่มข้าราชการไม่กี่ชีวิต ทั้งหลายคนยังเป็นนักเรียนนอก หาใช่ตาสีตาสาทั่วๆ ไป ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหนกันแน่ในการปฏิวัติ

          ด้วยการขาดซึ่งตัวแสดงที่เป็นประชาชน จึงไม่แปลกที่จะมีคนมองว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการยึดอำนาจโดยกลุ่มนักเรียนนอกเห่อฝรั่งที่รีบนำเอาระบอบปกครองของตะวันตกมาใช้โดยที่ไม่คำนึงถึงบริบท และความพร้อมของคนในประเทศ ทำให้หลายครั้งการปฏิวัติ 2475 ถูกมองว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ไปจนถึงเกิดคำอธิบายว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นการยึดอำนาจที่ไม่มีประชาชน และไม่นำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างที่พึงจะเป็น

          เพียงแต่เรื่องเล่าของการปฏิวัติที่ไม่มีประชาชนก็ยังเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าชุดหนึ่งของการปฏิวัติ 2475 ทั้งยังพบว่ามีชุดเรื่องเล่าที่มองการเปลี่ยนแปลงการปกครองแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเรื่องเล่าชุดดังกล่าว จึงเป็นที่ชวนสงสัยว่าแท้จริง ตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนในการปฏิวัติ 2475 เป็นอย่างไร เพื่อคลายข้อสงสัยและเนื่องด้วยโอกาสครบรอบปีที่ 88 ของการปฏิวัติ 2475 ทางสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มีโอกาสสนทนากับ ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ นักวิชาการจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และผู้เขียนหนังสือ “เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ” เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปตลอดกาลครั้งนี้


ในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้นมากเพียงใด และมีการแสดงออกอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

          เป็นคำถามที่ยากมาก ก็มีคำบอกเล่าทั้งสองฝ่ายว่าประชาชนอยู่ในเหตุการณ์นั้นเยอะแค่ไหน อย่างบันทึกความทรงจำของคนในสมัยนั้น บางคนก็บอกว่าคนไปแค่ไม่เท่าไหร่ และไม่ได้ไปเข้าร่วม แค่ไปมุงดูว่ามีก๋วยเตี๋ยว มีอาหารให้กินไหม มีงานมโหรสพอะไรให้ดูหรือเปล่า แต่ก็มีอีกมุมมองหนึ่ง อย่างบันทึกความทรงจำของสวัสดิ์ คำประกอบ เขาก็บอกว่าเช้าวันนั้นเขาเห็นประชาชนเรือนหมื่นเข้าไปดูเหตุการณ์ ซึ่งคำว่าเรือนหมื่นคือเยอะมากในพระนครสมัยนั้น


แสดงว่าไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามในวันนั้นการปฏิวัติได้รับการตอบรับจากประชาชน แล้วมีหลักฐานหรือไม่ว่าประชาชนต่อต้านหรือสนับสนุนการปฏิวัติ

          ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีการต่อต้านจากประชาชน ส่วนเรื่องการสนับสนุน ดิฉันเคยเห็นว่ามีหลักฐานเป็นจดหมายอยู่จำนวนหนึ่งที่ส่งไปกล่าวสนับสนุนคณะราษฎร และเห็นดีเห็นงามกับตัวระบอบใหม่ ส่วนหนึ่งคงเป็นการที่ระบอบใหม่เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นซึ่งก็นับเป็นเรื่องดีกับประชาชน

          อีกทั้งตัวระบอบเก่าหรือตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะนั้นก็มีร่องรอยของความพังทลายในตัวมันเองอยู่แล้ว พอเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นการง่ายที่ประชาชนจะฝากความหวังไว้กับระบอบของคณะราษฎร เห็นได้จากหลักฐานว่าวันที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีคนที่ส่งเงิน ส่งของไปสนับสนุน เช่นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าราชการต่างจังหวัดท่านหนึ่งได้ทำการสละเงินเป็นจำนวน 20 บาทจากเงินเดือนทั้งหมด 50 บาท ให้แก่คณะรัฐบาลใหม่ แสดงให้เห็นว่ามันก็มีคนเข้าไปสนับสนุนเยอะเหมือนกัน จะว่ามันเป็นความรู้สึกแห่งยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ว่าได้


รู้สึกได้ว่าประชาชนจำนวนมากก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่เหตุใดจึงเริ่มมีความคิดว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม

          ดิฉันว่าคนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำกล่าวว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามมาโดยตลอด เอาจริงๆ ความคิดนี้น่าจะมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นที่มีการปฏิวัติเลย แต่ดูแล้วถูกผลิตซ้ำหรือว่าถูกพูดถึงมากที่สุดสักประมาณปลายทศวรรษที่ 2480 ที่เกิดการกลับมาเขียนเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 โดยฝั่งที่พอบอกได้ว่าไม่เห็นด้วยหรือว่าเสียประโยชน์จากการปฏิวัติ และมันเป็นมุมมองของแต่ละคน ปัญหาคือ พอเวลามันถูกผลิตซ้ำ แล้วคนรุ่นหลังไปรับมาโดยที่บางทีก็รู้มาแค่นั้น ก็กลายเป็นการปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามไป และถูกดึงเอามาใช้อธิบายวิกฤตทางการเมืองของประเทศไทย ผ่านการบอกว่าการปฏิวัติครั้งนั้นเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงเวลาที่สมควร เป็นเหตุให้ทหารเข้ามายุ่งทางการเมือง หรือเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกจำนวนมากในเวลาต่อมา


งั้นความสนใจต่อกรณีการปฏิวัติ 2475 ก็มีความเกี่ยวพันกับการเมืองไทยร่วมสมัยไม่มากก็น้อย

          แน่นอน ดิฉันคิดว่าการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 2475 มันเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกได้ว่าบ้านเมืองมีวิกฤตทางการเมือง คือ ช่วงทศวรรษที่ 2540 มันเริ่มมีการไปกล่าวถึงการปฏิวัติ 2475 เพิ่มมากขึ้น มีการจัดงานรำลึกทุกวันที่ 24 มิถุนา อันเป็นวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

          ซึ่งถ้าย้อนไป ดิฉันในวัยเด็กก็ไม่รู้ว่า 24 มิถุนายน 2475 คืออะไร จนกระทั่งดิฉันโตมาแล้วอยู่ในทศวรรษที่ 2540 ขณะเดียวกันตอนนั้นก็เริ่มมีงานที่กลับไปย้อนดูประเด็นที่เกี่ยวข้องการปฏิวัติ ทั้งไม่ว่าจะเป็นคณะราษฎร สถาปัตยกรรม หรือกระทั่งประชาชน ซึ่งมันก็เหมือนกับว่าเวลาเรามีปัญหา เราก็มักจะกลับไปทำความเข้าใจนิยามของอดีตเราเสียใหม่อีกครั้งหนึ่ง เช่นกันเมื่อเกิดเกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา ก็ทำให้เรากลับไปค้นดูที่มาที่ไปของประชาธิปไตย ซึ่งมันไม่สามารถเลี่ยงพ้นจากการปฏิวัติ 2475 ได้ เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการมีระบอบประชาธิปไตยในไทย

          เราก็พอจะสามารถบอกได้ว่ามีการพูดถึงการปฏิวัติ 2475 มาโดยตลอด ทั้งในรูปแบบวิชาการหรือไม่วิชาการ อย่างช่วงทศวรรษ 2490 ก็พูดถึงในแง่ของบันทึกความทรงจำ หรือสารคดีการเมือง มาอีกยุคหนึ่งก็ช่วง 14 ตุลา แต่ในวงวิชาการเริ่มมีแนวทางชัดเจนมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 ณ ช่วงเวลานั้นก็ต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีลักษณะค่อนข้างอนุรักษ์นิยมอยู่สูง ทำให้ค่อนข้างจะมองการปฏิวัติ 2475 ไปในทิศทางลบ แต่ในปัจจุบันการปฏิวัติ 2475 ก็มีมุมมองที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้นอยู่เช่นกัน


เราพอจะบอกได้ไหมว่าข้อสรุปเรื่องการปฏิวัติ 2475 เริ่มที่จะนิ่งเป็นที่เรียบร้อย

          ดิฉันคิดว่าความนิ่งของงานวิชาการมันก็มีความน่ากลัว อย่างหนึ่งคือ การที่จะไม่มีการถกเถียง จนกลายเป็นการผูกขาดความคิดชุดใดชุดหนึ่งไป โดยธรรมชาติก็ต้องมีการถกเถียงกันต่อไป

          อย่างกรณีการปฏิวัติ 2475 ก็มีมุมมองหลายมุมมองไม่ว่าจะลบหรือจะบวก อย่างการมองการปฏิวัติ 2475 ไปในทิศทางบวกเพราะเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงเพราะอย่างน้อยที่สุดเรามีระบบรัฐสภา มีผู้แทนราษฎร ยังไงก็ยังคงไม่นิ่งก็และยังต้องถกเถียง เสนอแง่มุมต่างๆ กันต่อไป


แล้วโดยส่วนตัว มองการปฏิวัติ 2475 อย่างไร

          โดยส่วนตัวการปฏิวัติ 2475 เป็นการปฏิวัติที่มีเงื่อนไข เป็นการปฏิวัติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ ด้านหนึ่งก็เป็นปัจจัยต่างประเทศ เพราะหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีกระแสการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าระบอบการปกครองแบบใหม่ แล้วสยามจะเป็นประเทศเดียวหรือเปล่าที่ยังคงสถานะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนหรือว่าปฏิรูปไปสู่การมีรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยภายในประเทศคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดการปฏิวัติก็คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมทางความคิดของประชาชน โดยประชาชนเริ่มที่จะคิดเรื่องก้าวหน้าอย่างความเสมอภาค ในขณะที่ตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถตอบสนองต่อความคิดดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น สมัยนั้นเมื่อคนสามารถก้าวเข้าสู่ระบบการศึกษา เขาก็คาดหวังว่าจะสามารถก้าวไปสู่การทำงานเป็นข้าราชการ สามารถเจริญก้าวหน้าได้ แต่ว่าตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถที่จะช่วยส่งเสริมให้ชนชั้นล่างกลายเป็นข้าราชการหรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่สามารถทำให้คนโดยทั่วไปเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่ราชการได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้

          ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม ทั้งอาจเป็นไปได้ว่ามันสุกงอมจนจะร่วงจากต้นแล้วเสียด้วยซ้ำ

ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์

เชิญรับฟัง ข้อมูลประวัติศาสตร์และเกล็ดความรู้โดยคุณปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ นักวิชาการจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรายการ Podcast ‘Democracy X Innovations’ ตอนที่ 31 ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2020

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: