Articles Events

24 มิถุนายน 2475 2563: 88ปีนี้ ประชาชนไปไหนกัน?

14 ธันวาคม 2562

ครั้งแรกในรอบ 5 ปีกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน และครั้งแรกในประเทศไทยกับรูปแบบของการชุมนุมที่มีชื่อเรียกว่าแฟลชม็อบ (Flash mob) จัดขึ้นบน skywalk บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประชาชนเดินหน้ารวมตัวกันในกิจกรรม ‘ไม่ทน-ไม่ถอย’ ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1 ชั่วโมงก็สลายตัวไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นกลับส่งผลกระทบต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองสำหรับประเทศไทย

อ่านเรื่องราวของกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มเติมที่ #เดืนเชียร์ลุง VS #วิ่งไล่ลุง

23 มกราคม 2563

กิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองผ่านการวิ่งและเดิน เรื่องแปลกใหม่ที่หลายคนคิดไม่ถึงว่าการเมืองในประเทศไทยจะมีกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ นอกจากการชุมนุมประท้วง กิจกรรมแรกคืองาน ‘วิ่งไล่ลุง’ ที่จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงจุดยืนของการไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ สวนรถไฟ ส่วนกิจกรรมที่สองที่จัดในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นคืองาน ‘เดินเชียร์ลุง’ จุดประสงค์เพื่อแสดงความรักและความสนับสนุนต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะถือเป็นสัญญาณอันดีของความเป็นประชาธิปไตย สลัดทิ้งรูปแบบการประท้วงอย่างเก่า หันมาจัดกิจกรรมที่ชูความชื่นชอบ ความคิดเห็น และความสนใจทางการเมืองขึ้นมาแทน และให้ประชาชนเป็นคนเลือกว่าจะเข้าร่วมและสนับสนุนความคิดแบบไหน เป็นการปะทะกันทางการเมืองภายใต้ความเป็นประชาธิปไตยที่เคารพการมีตัวตนของทั้งสองฝ่าย แต่แน่นอนภายในงานทั้งสองฝ่ายย่อมมีการใช้ถ้อยคำอาฆาตและการเสียดสีผสมปนเปตามบรรยากาศและอารมณ์ของการชุมนุมทางการเมืองรูปแบบเดิมอยู่ด้วย

21 กุมภาพันธ์ 2563

การเมืองและขบวนการกลุ่มนักเรียนนักศึกษานั้นอยู่คู่กันมาเป็นเวลานาน ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของไทยก็สามารถเห็นร่องรอยของการมีส่วนร่วมของนักศึกษาได้อย่างชัดเจน การออกมาชุมนุมในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2563 ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับความขัดแย้งของเหตุการณ์ทางการเมืองที่ส่วนมากนั้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ (เสื้อเหลือง-เสื้อแดง กปปส. และอื่นๆ) บทบาทของคนรุ่นใหม่ในหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาถือว่ามีน้อยมาก ทว่าในช่วงเวลาปัจจุบันพวกเขาสามารถสะท้อนเสียงของตัวเองได้จึงก้าวเข้ามาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองแทน พร้อมกับความหวังว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับอนาคตของตัวเอง กระบวนการประท้วงในรูปแบบใหม่ภายในสถานศึกษาที่ได้นำเอาเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการรวมกลุ่ม ทำให้เราได้เห็นการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบที่อาจเรียกว่าเป็นการชุมนุมแบบ “ไร้ซึ่งสายการบังคับบัญชาแบบดั้งเดิม (traditional chain of command)” ถึงขั้นเป็นการชุมนุมแบบ “ไร้ผู้นำ (headless)” เลยก็ว่าได้

และวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ประชาชนไปไหนกัน?

ปัจจุบันที่ทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่ประชาชนในหลายประเทศกลับไม่ยอมให้สิทธิและการแสดงออกทางการเมืองของตนถูกจำกัดไป ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกันหรือไม่? เป็นคำถามและการตั้งตารอวันครบรอบ 88 ปี การปฏิวัติสยาม เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แม้จะยังคงมีประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ระบุไว้ชัดเจนถึงการห้ามจัดกิจกรรมที่มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม ทว่ายิ่งใกล้วันกระแสกิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อย้ำเตือนถึงประวัติศาสตร์การเริ่มต้นของประชาธิปไตยแห่งประเทศไทยก็ยิ่งมีมากขึ้น

‘ลบยังไง ก็ไม่ลืม’

กิจกรรมแรกในกรงุเทพฯ ย่ำรุ่ง ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ‘ลบยังไง ก็ไม่ลืม’ โดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ฟ้ายังไม่ทันสว่างประชาชนจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยคนก็ปรากฏตัวหน้าสัญญาลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยบริเวณฝั่งร้าน McDonald’s พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ในช่วงเวลาตี 5 กว่าตามที่นัดหมาย เกิดการโต้เถียงขนาดย่อมระหว่างผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมที่ประสงค์จะกางผ้าขาวเพื่อฉายภาพและวีดิทัศน์ของคณะราษฎรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ให้ในการห้ามปรามครั้งนี้คือเรื่องของความปลอดภัยเนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งออกมานอกเขตทางเท้ามาอยู่บนถนนใหญ่ และเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทางผู้ชุมชนก็พยายามจะอธิบายและมีการตะโกนโห่ กล่าวในลักษณะว่า ‘จัดเพื่อรำลึก แค่แป๊ปเดียวเดี๋ยวก็เสร็จ ถ้าให้จัดก็เสร็จไปแล้ว เป็นตำรวจ เป็นข้าราชการกินภาษีประชาชนต้องรับใช้ประชาชน’ และยังมีการผลักและแตะต้องร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย ทว่าก็ไม่ได้กลายเป็นการปะทะครั้งใหญ่ ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ยอมให้จัดกิจกรรมได้ ก่อนเวลา 6 โมงที่ฟ้าเริ่มสว่างทางทีมผู้จัดก็ได้ฉายวีดิโอคณะราษฎรกล่าวคำแถลงอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรกพร้อมกับส่งเสียงร้องไชโย 3 ครั้งในตอนจบ

‘ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญา รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย’

ต่อมาในเวลา 10. 30 น. คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้จัดกิจกรรม ‘ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญา รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย’ ณ รัฐสภาสัปปายะสภาสถาน เกียกกาย แม้จะมีการอ่านประกาศแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม  แต่การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ โดยในตอนแรกของการชุมนุมได้เริ่มด้วยการระลึกถึงการปฏิวัติ 2475 ผ่านการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 โดยบุคคลที่แต่งตัวเลียนแบบทหารไทยในช่วงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วตามมาด้วยการประกาศข้อเรียกร้องทางการเมืองโดยมีหัวข้อหลักๆ อยู่ที่การยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน และการเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้ ก่อนที่นายอนุสรณ์ อุณโณจะอ่านคำแถลงการณ์และยื่นข้อเรียกร้องให้ผู้แทนในสภา

‘อ่านประกาศคณะราษฎรเพื่อตระหนักว่าใครคือเจ้าของประเทศนี้’

ก่อนที่จะจบวันลงด้วยการรวมตัวกันที่ สกายวอล์ค แยกปทุมวัน กับกิจกรรม ‘อ่านประกาศคณะราษฎรเพื่อตระหนักว่าใครคือเจ้าของประเทศนี้’ เวลา 18.00 น. โดย สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ร่วมกับ เยาวชนปลดแอก (FreeYouth) ประชาชนหลายช่วงวัยจำนวนมากเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม เช่นเดียวกันกับสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ โดยช่วงเวลาก่อนการเริ่มกิจกรรมเต็มไปด้วยความวุ่นวายเนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดและจำนวนผู้คนที่มีมาก เจ้าหน้าที่พยายามจะเจรจากับกลุ่มผู้จัดกิจกรรมเนื่องจากความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กลุ่มผู้จัดเมื่อเดินทางมาถึงเองก็พยายามไกล่เกลี่ยและเอ่ยติดตลกลักษณะที่ว่าโควิดก็ยังมีอยู่เช่นเดียวกันกับพรก.ฉุกเฉิน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายก็ว่าได้

เมื่อเวลา 18.00 น. ประชาชนและกลุ่มผู้จัดต่างยืนรอที่จะร้องเพลงชาติทว่ากลับไม่มีเสียงเพลงเปิดขึ้นจึงได้เดินหน้าเริ่มกิจกรรมการอ่านประกาศคณะราษฎรท่ามกลางเสียงตะโกนให้กำลังใจของประชาชนที่ค่อยรับฟัง มีป้ายและกระดาษเขียนแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองชูขึ้นระหว่างการอ่านประกาศคณะราษฎร โดยในช่วงสุดท้ายได้มีการเปล่งเสียงตะโกนคำว่า

‘เป็นของราษฎร!’
‘เป็นของราษฎร!’

ออกมาพร้อมๆ กันและการโยนกระดาษกระจายทั่วบริเวณ ท้ายที่สุดในเวลา 18.20 น. ก็เป็นอันจบกิจกรรมและสลายตัวของผู้เข้าร่วมอย่างรวดเร็ว


หลังจากการยึดอำนาจของ คสช. กิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทยก็ถูกแช่แข็ง แม้จะเห็นการออกมาทำกิจกรรมในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทว่ากลับไม่ได้เป็นที่สนใจในหน้าสื่อและประชาชนโดยทั่วไปเท่ากับปี 2563 การปลดล็อคทางการเมือง การกลับมามีการเลือกตั้ง และความหวังที่จะเข้าสู่ระบอบความเป็นประชาธิปไตยปลุกให้การแสดงออกทางการเมืองกลับมามีสีสันอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย นับตั้งแต่ปลายปี 2562 จะเริ่มเห็นถึงกระแสของการออกมาแสดงออกทางการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นเราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ การแสดงออกทางการเมืองแบบกายภาพ และการแสดงออกทางการเมืองผ่านโลกเสมือน แม้ว่าทั้งสองจะมีความแตกต่างกันและส่งผลกระทบในระดับที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ปรากฏชัดคือการพึ่งพากันและกันของการแสดงออกสองประเภทที่ได้กล่าวไป ต่างส่งเสริมให้กระบวนการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่จำต้องได้และสร้างความรู้สึก ‘ใกล้ตัว’ มากยิ่งขึ้น หลายคนที่เคยมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวก็เริ่มหันมาตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น กำลังจะเกิดขึ้น และเคยเกิดขึ้น ซึ่งการระลึกถึงการปฏิวัติสยามก็เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์เหล่านั้น

24 มิถุนายน 2475 วันแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมา แม้จะไม่ค่อยเห็นการออกมาเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่เรียกว่า ‘ลงถนน’ เพื่อวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยเท่าปี 2563 แต่วงการวิชาการให้ความสนใจกับวันที่ 24 มิถุนายน เป็นอย่างมากและในทุกปีจะมีการจัดเสวนาและบรรยายถึงเหตุการณ์ในวันอย่างหนาแน่นจนผู้ที่สนใจต้อง “สับราง” ไปฟังอย่างวุ่นวาย มีข้อกังขาว่าแท้จริงแล้วการปฏิวัติในครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อความเป็นประชาธิปไตยของไทยจริงหรือไม่? คำว่าประชาธิปไตยในสมัยนั้นตรงกับประชาธิปไตยที่เข้าใจในปัจจุบันหรือไม่? และที่สำคัญการปฏิวัติในครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อประชาชนจริงหรือไม่ เนื่องจากคณะผู้ทำการปฏิวัตินั้นไม่ใช่ตาสีตาสาทั่วๆ ไป? ซ้ำยังมีการวิจารณ์ว่าเพราะการปฏิวัติครั้งนั้นทำเมื่อประเทศยังไม่พร้อมจึงกลายมาเป็นต้นตอของปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยหลัง 2475

คำตอบของคำถามทั้งหลายยังเป็นการถกเถียงในแวดวงวิชาการ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์การเมือง แต่การปฏิวัติ 2475 ที่ไร้ซึ่งเลือดนั้นสะท้อนให้เห็นความสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ บทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เรื่องงานบ้านงานเมืองที่มักจะถูกสงวนไว้ให้แก่ชนชั้นเจ้านายถูกท้าทายด้วยคำประกาศที่มี ถ้อยคำอันเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยว่า ‘ประเทศนี้เป็นของราษฎร’ เมื่อการใช้คำว่าประเทศที่เคยถูกสงวนไว้ให้เป็นของชนชั้นเจ้านายถูกแปรเปลี่ยนมายังราษฎรหรือประชาชนทั่วไป เกิดการจุดประกายให้แก่ผู้คนได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิอันควรจะมีของตน กล่าวได้ว่ายามเมื่อประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ ย่อมรู้สึกว่าสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการสั่งการแบบ top down และเมื่อใดที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจทางการเมือง เมื่อนั้นพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยก็ถือว่าได้เกิดขึ้นมาแล้ว

นักวิชาการจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ได้อธิบายว่าในช่วงสมัยของการปฏิวัติได้ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองว่าตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีร่องรอยของความพังทลายในตัวเองอยู่แล้ว ประชาชนได้ฝากความคาดหวังไว้กับระบอบของคณะราษฎร ระบอบเก่านั้นไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนที่เริ่มเปิดรับกระแสจากต่างชาติ ทั้งพิษจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ตัดโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนได้รับการศึกษามากยิ่งขึ้น และเริ่มเห็นการแสดงออกทางการเมืองจากชาวบ้านธรรมดาที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้ มีการเขียนวิจารณ์และวิเคราะห์ถึงระบอบการเมืองในสิ่งพิมพ์ต่างๆ คุณปฐมาวดีชี้ว่าการปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม ทั้งอาจเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ในสยามขณะนั้นกำลังสุกงอมจนจะร่วงจากต้นเสียด้วยซ้ำ

อ่านบทสัมภาษณ์คุณปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ เพิ่มเติมที่ In Their View: 2475

ฉะนั้นแล้วประชาชนสามารถมีมุมมองต่อประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ คำถามในเรื่องของการปฏิวัติ 2475 จะยังเป็นที่ถกเถียงและใฝ่หาคำอธิบายกันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ 24 มิถุนายน สร้างขึ้นทั้งในปี 2475 และปี 2563 คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนนั้นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตามวิถีการปกครองแบบประชาธิปไตย


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: