Articles Events

What The Thesis ครั้งที่ 7: 88 ปี การปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ทางสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดวงเสวนาภายในเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เนื่องในโอกาสครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยมีบรรยากาศเรียบง่ายเป็นกันเอง โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ ขวัญข้าว คงเดชา และศิปภน อรรคศรี จากสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย และวิทยากรอีกสองท่านได้แก่ ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร นักวิชาการผู้ชำนาญการ ประจำพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และปุรวิชญ์ วัฒนสุข นักวิชาการ จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ก่อนการจะเข้าแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ทางผู้ดำเนินรายการได้เสนอรายงานที่เสนอในวงเสวนา What The Thesis เป็นประจำได้แก่หัวข้อ “Update Global News” เพื่อรายงานข่าวสถานการณ์รอบโลก และอัพเดทภาพรวมความสนใจของวงวิชาการสาขารัฐศาสตร์ในประเด็น “Political Transition”

Update Global News

ในส่วนของสถานการณ์รอบโลก Update Global News ขวัญข้าว คงเดชาได้แบ่งหัวข้อของข่าวออกเป็นสี่ประเภทเช่นทุกครั้ง ซึ่งทั้งสี่ด้านได้แก่ 1. ด้านสังคม 2. ด้านการเมือง 3. ด้านเศรษฐกิจ และ 4. ด้านสิ่งแวดล้อม

ด้านสังคม: กระแสการให้ความสำคัญกับคนชายขอบ
จากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาก่อให้เกิดการลุกฮือประท้วงแสดงความไม่พอใจกับการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการหยิบเอาสโลแกน Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำก็มีค่า) หรือเรียกย่อๆ ว่า BLM ที่เคยใช้ในการเคลื่อนไหวของคนผิวสีในช่วงปี 2013 กลับมาใช้อีกครั้ง ก่อนจะตามมาด้วยการลุกฮือประท้วงทั้งที่เป็นไปอย่างสันติ และที่เป็นการจลาจล พร้อมกันนั้นในเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่เรียกกันว่าเป็น LGBT Pride Month หรือเป็นเดือนของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกายิ่งทำให้เกิดการรวมกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมโดยกลุ่มคนชายขอบโดยมีการชูบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นผิวสีอย่าง Marsha P. Johnson ขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพที่สุดของความชายขอบคือ คนที่มีอัตลักษณ์เป็นทั้งคนผิวดำและเป็นทั้งคนที่มีความหลากหลายทางเพศในคนๆ เดียว ซึ่งสะท้อนภาพการกดขี่เชิงอัตลักษณ์อย่างชัดเจน

 อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสความเท่าเทียมยังมีผู้แสดงการต่อต้านเช่นกัน อาทิ Andrzej Duda ประธานาธิบดีของโปแลนด์ที่แสดงท่าทีรังเกียจกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเกย์ว่าเป็นแนวคิดที่เลวร้ายยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์สักอีก เป็นต้น

ด้านการเมือง: ช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อสภาวะสงคราม
ในเดือนมิถุนายนได้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระดับประเทศที่สร้างความตึงเครียดให้แก่นานาชาติถึงสองเหตุการณ์ คือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งอันเนืองมาจากปัญหาพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดีย

ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้นจากเหตุที่เกาหลีเหนือใช้ท่าทีรุนแรงทางการเมืองโดยการระเบิดศูนย์ประสานงานและตัดโทรศัพท์สื่อสารกับฝั่งเกาหลีไทยทิ้ง เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเกาหลีใต้ที่ปล่อยให้นักกิจกรรมและผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือขับเคลื่อนแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลเกาหลีเหนืออยู่เป็นระยะ

นอกเหนือจากกรณีความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลียังมีความขัดแย้งพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีนที่สร้างความตึงเครียดให้กับสถานการณ์โลก โดยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการปะทะกันระหว่างกองกำลังของทั้งสองชาติจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมหลายสิบคน แม้จะไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการปะทะกันขึ้นและฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

ด้านเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจยังคงมีแต่ทรุด
ผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว เศรษฐกิจในประเทศของไทยมีแต่วี่แววที่จะตกต่ำลงอย่างไม่ลดละ ขณะนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปรับลด GDP จากที่คาดการณ์ไว้อีกครั้ง เป็น 8.1% แต่ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ไว้เช่นเดิม ทั้งนี้เพื่อชะลอความเสียหายทางเศรษฐกิจทาง ธปท.ยังได้ออกมาตรการมาอีกอาทิ การออกประกาศให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลและห้ามซื้อหุ้นคืน พร้อมกันนั้นยังได้พิจารณาในการผลักดันให้เกิดโครงการสร้างเงินบาทดิจิทัล โดยจะทดลองใช้ในเดือนกรกฎาคมในกลุ่ม SCG และ Supplier ทั้งหลาย

ด้านสิ่งแวดล้อม: โอกาสและปัญหา
ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการแพร่ระบาดส่งผลให้เกิดการชะงักซึ่งกิจกรรมโดยมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์บางคนเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้ช่วงเวลานี้ไปกับการศึกษาและเพิ่มความรู้ในเรื่องของระบบชีวิภาพ เหมือนการถือโอกาสรีโนเวทห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารหรือโรงภาพยนตร์ เพราะการหยุดของกิจกรรมโดยมนุษย์ทำให้ในหลายพื้นที่ได้เกิดการฟื้นฟูของระบบนิเวศในหลายพื้นที่ แต่ถึงโควิด-19 จะได้สร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับการศึกษาหาความรู้ในบางด้าน แต่ดูเหมือนเราจะต้องอยู่กับโรคระบาดนี้ไปอีกนาน เพราะได้มีกระแสที่เชื่อว่าวัคซีนอาจจะไม่ได้ผลต่อการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดอย่างที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีภูมิคุ้มกันมากกว่าคนทั่วไป โควิด-19 จึงยังคงเป็นปัญหาที่ยุ่งยากสำหรับมนุษย์อีกต่อไป

ภาพรวมความสนใจของวงวิชาการสาขารัฐศาสตร์ในประเด็น “Political Transition

ด้วยธีมของงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการปฏิวัติสยาม 2475 ทำให้ศิปภน อรรคศรีได้เลือกหัวข้ออัพเดทภาพรวมความสนใจทางวิชาการเป็นเรื่องประเด็น “Political Transition”

โดยศิปภนได้เริ่มจากการไปศึกษาผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่าง Dankwart Alexander Rustow ผู้เขียนงานทางวิชาการชื่อว่า “Transitions to democracy: Toward a dynamic model” (1970) ที่มาของความสนใจของ Rustow หลักๆ เกิดขึ้นจากบรรยากาศทางวิชาการของสหรัฐฯ ในขณะนั้นที่สนใจต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของประเทศเผด็จการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นลาตินอเมริกา ยุโรป หรือแอฟริกาเหนือ โดยพยายามจะสร้างกรอบเหตุที่สามารถอธิบายอิงกับประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนผ่านระบอบทางการเมืองของกลุ่มประเทศเหล่านั้น โดยจากการศึกษากรณีของตุรกีและสวีเดน Rustow พบถึงจุดร่วมในกระบวนการพัฒนาเป็นประชาธิปไตยทั้งหมด 4 ขั้นตอนได้แก่

ขั้นที่ 1 National Unity: เกิดสำนึกความเป็นชาติ และสำนึกความเป็นประชาชน

ขั้นที่ 2 A prolonged and inconclusive political struggle: เกิดการต่อสู้ทางการเมืองจนเกิดพลังทางสังคมที่พอมีบทบาทและความสามารถผลักดันให้เกิดการกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย

ขั้นที่ 3 Decision phase: เกิดการประนีประนอมหาทางออกร่วมกันแบบประชาธิปไตย

ขั้นที่ 4 Habituation phase: การที่ผู้คนเคยชินกับกฎของความเป็นประชาธิปไตย

เมื่ออธิบายถึงงานต้นแหล่ง กับทฤษฎีพื้นฐานศิปภนจึงเริ่มทำการไปสืบค้นการศึกษาในช่วงปี 2019-2020 แล้วพบว่ามีความหลากหลายเป็นอย่างมาก โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจมากในช่วงปี 2019-2020 อยู่ที่ประเด็น “บทบาทประชาสังคมในการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” นอกจากนั้นยังมีการศึกษาทั้งในเรื่องระบอบอำนาจนิยม อาหรับสปริง ภูมิรัฐศาสตร์ บทบาทของชนชั้นกลางต่อการเปลี่ยนแปลง บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเรื่องความทรงจำร่วมกันทางประวัติศาสตร์

ทั้งนี้เนื่องจากผู้นำเสนอต้องการเชื่อมโยงประเด็นเปลี่ยนผ่านวิทยาให้เข้ากับธีมของงานที่ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและบทบาทของกองทัพ ผู้นำเสนอจึงเลือกที่จะหยิบงานขึ้นมาเล่า ซึ่งก็คือ งาน“Transitions from Authoritarian Rule” (1986) ของ Guillermo O’Donnell และ Philippe C. Schmitter ที่มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยที่ O’Donnell และ Schmitter ได้สรุปไว้ว่ามีแพทเทิร์นของการเปลี่ยนผ่านที่ทหารจะต้องถอยห่างจากระบอบประชาธิปไตย อันมีเงื่อนไขอยู่ที่วิกฤตความชอบธรรม การปะทะกันระหว่างสายพิราบและสายเหยี่ยวในกองทัพสถานะทางสังคมเศรษฐกิจของทหาร ทั้งนี้งานชิ้นนี้ยังตั้งคำถามถึงเสรีนิยมว่าสามารถไปด้วยกันได้กับระบอบอำนาจนิยมแบบกองทัพเพียงใด แต่อย่างไรก็ตาม งานของ Guillermo O’Donnell และ Philippe C. Schmitter ก็ยังมีปัญหาในส่วนที่ให้ความสำคัญกับกองทัพจนละเลยตัวแสดงที่เป็นพลเรือน ซึ่งเราจะได้เห็นตัวแสดงที่เป็นพลเรือนที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบอบจากวิทยากรท่านต่อไป

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร: การสื่อสารและการ์ตูนการเมือง สะท้อนความเห็นปัญญาชน ก่อนการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

 ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร ได้เคยศึกษาหลักฐานร่วมสมัยของการปฏิวัติสยามไว้ในงาน “ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย (พ.ศ.2465-2475)” (2555) ในส่วนของหนังสือพิมพ์ โดยพบถึงหลักฐานที่น่าสนใจอย่างการ์ตูนการเมือง เนืองจากในขณะนั้นผู้รู้หนังสือในประเทศไทยนับว่ามีน้อยมาก ฉัตรบงกชได้คาดการณ์ว่าจากจำนวนประชากรสิบล้านต้นๆ น่าจะมีผู้อ่านออกเขียนได้สักประมาณหนึ่งล้าน หากเป็นเช่นนั้นการ์ตูนซึ่งใช้ภาพเป็นตัวสื่อสารหลักย่อมมีแนวโน้มว่าจะสามารถสื่อสารกับประชาชนเป็นวงกว้างมากกว่าสื่ออื่นๆ จากการศึกษาฉัตรบงกชได้สรุปลักษณะของสารของการ์ตูนการเมืองออกเป็นสี่ประเด็นหลักๆ ได้แก่

  1. เรียกร้องหาผู้ปกครองที่ดี
  2. วิพากษ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  3. วิพากษ์ตัวขุนนาง
  4. แสดงความเป็นชาตินิยม

 ด้วยหลักฐานร่วมสมัยในสมัยนั้นมีการวิพากษ์รัฐบาลกษัตริย์ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งตัวการ์ตูนก็มีเนื้อหาที่รุนแรงไม่ต่างกัน ดังตัวอย่างภาพการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์เกราะเหล็กที่ชื่อว่า “แก่นเพ็ชร” ซึ่งตีความได้ว่าภาพการ์ตูนของแก่นเพ็ชร์มีเจตนาต้องการเสียดีไปยังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 โดยตรง นอกจากนั้นในสี่ประเด็นดังกล่าวผู้อภิปรายก็ได้ยกตัวอย่างมาประกอบ

ประเด็นแรก การเรียกร้องผู้ปกครองที่ดี สังเกตได้จากภาพที่ตัวละครกำลังสวดภาวนาต่อพระพุทธรูปให้ได้ผู้ปกครองที่ดีซึ่งภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ถูกตีพิมพ์ในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 หรือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือภาพชื่อว่า “อย่าให้เป็นเช่นนี้นะสหายรัก” ซึ่งกำลังสื่อว่ารัฐบาลกษัตริย์ใหม่ไม่ควรจะปฏิบัติตัวตามที่เคยปฏิบัติมาในสมัยกษัตริย์องค์ก่อนที่มีการเล่นพรรคเล่นพวก และถืออภิสิทธิ์จนเกินไป

 นอกจากนั้นยังมีภาพที่แสดงการวิพากษ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วัฒนธรรมการแบ่งชนชั้นแบบศักดินาที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ความสามารถแต่ให้ความสำคัญกับชาติกำเนิด การจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล จนไปถึงการทุจริตทั้งในทางโครงสร้างของระบบการเมือง และทางวัฒนธรรมที่ปฏิบัติตามๆ กันมา เช่นเดียวกับรูปภาพการ์ตูนอีกจำนวนมากที่เจตนาวิพากษ์ข้าหลวง ซึ่งทั้งหมดทำให้เห็นภาพการเลือกปฏิบัติ และสังคมที่เต็มไปด้วยลำดับชั้น โดยเฉพาะภาพ “ไถนาบนหลังคน” กับภาพ “ยักษ์หน้าครกขูดรีดประชาชน”

ถัดมาที่ประการสุดท้ายคือ ภาพของความรู้สึกเป็นชาตินิยมประชาชนที่มีลักษณะแตกต่างจากชาตินิยมของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีลักษณะศูนย์กลางอยู่ที่กษัตริย์อย่างชัดเจน โดยองค์ประธานของความเป็นชาติสำหรับรัฐบาลกษัตริย์คือ ตัวกษัตริย์ แต่องค์ประธานของความเป็นชาติของประชาชนในขณะนั้นกลับเป็นตัวประชาชน และมีลักษณะต่อต้านการเข้ามาของคอมมิวนิสต์ชัดเจน ทั้งการ์ตูนการเมืองยังเล่าบรรยากาศของการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างหมดจดเห็นได้จากภาพของอีแร้งยืนประจันหน้าออกมา แสดงถึงจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งภาพนั้นถูกวาดขึ้นก่อนการปฏิวัติ 2475 เพียงหนึ่งปี

ฉัตรบงกชจึงสรุปได้ว่าจากการศึกษาก่อนการปฏิวัติ 2475 ได้มีกระแสต่อต้านรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ก่อนแล้ว เห็นได้จากหนังสือพิมพ์และการ์ตูนการเมืองจำนวนมากที่ตีพิมพ์ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เนื้อหาของการ์ตูนและหนังสือพิมพ์เหล่านี้เองที่จะกลายเป็นหน่ออ่อนของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข: สนทนางานวิจัย: จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

 สำหรับหัวข้อของ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข เป็นการนำหัวข้องานวิจัยมาทำการสนทนากับผู้ฟัง งานวิจัยที่ได้รับเลือกนำมาอภิปรายครั้งนี้เป็นงานของ รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ในชื่องานว่า “จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”” (2563) โดยเริ่มจากคำถามที่ว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยเกิดสมัยไหนกันแน่? ซึ่งโดยทั่วไปจะนับว่าเกิดจากการปฏิวัติ 2475 แต่ รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ไม่มองเห็นว่าเป็นเช่นนั้น เขามองว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นแค่การเปิดช่องไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ยาวนานเป็นสิบปีเท่านั้น

  เหตุผลที่ ศุภมิตร เลือกที่จะมองเช่นนั้น เพราะหลังการปฏิวัติ 2475 แม้แต่การเลือกตั้งผู้แทนทั้งหมดยังทำไม่ได้ ต้องมีผู้แทนจากการแต่งตั้ง ทั้งหลายครั้งที่บทเฉพาะกาลเพื่อการเปลี่ยนผ่านโดยคณะราษฎรกำลังจะหมดอายุ ก็ได้มีการพยายามต่ออยู่เป็นระยะ สำหรับศุภมิตรระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเกิดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2480 ถึงต้นทศวรรษที่ 2490 คือ ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพิ่งเสด็จเถลิงพระราชสมบัติ โดยมีรัฐธรรมนูญที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเปลี่ยนผ่านสำเร็จของคณะราษฎร กับรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับฟื้นฟูพระราชอำนาจ โดยกรณีของรัฐธรรมนูญ 2489 ที่เกิดการเปลี่ยนผ่านจนแล้วเสร็จ มีปัญหาที่ระบอบปกครองใหม่ยังไม่สามารถตั้งมั่นได้ก็ถูกโค่นล้มไปทำให้ไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นในประเทศแล้วหรือไม่ ภาพที่ศุภมิตร ปิติพัฒน์จึงได้เสนอว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ก่อรูปจนแล้วเสร็จในช่วงต้นรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ไปโดยปริยาย

 สำหรับผู้อภิปรายแล้ว จุดแข็งของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ในปัจจุบันมีงานศึกษาสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีลีลาเป็นไปแบบวิพากษ์ และมองจากข้างนอกเข้ามา แต่งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานศึกษาสถาบันกษัตริย์แบบจากมุมของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านปากคำของบุคคลใกล้ชิด และหลักฐานชั้นต้นจากบุคลากรของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงตัวพระมหากษัตริย์ของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอย่าง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” งานชิ้นนี้จึงมีการลงไปสัมภาษณ์บุคลากรผู้เคยเป็นบริวารรับใช้ของรัชกาลที่ 9 รวมไปถึงศึกษาบริบทที่หล่อหลอมตัวตนของพระองค์โดยดูจากหลักฐานคือ เพลงพระราชนิพนธ์ นอกจากนั้นยังไปศึกษาข้อคิดของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนมากที่มีแสดงถึงเบื้องหลังวิธีคิดการออกแบบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย งานชิ้นนี้จึงมีลักษณะการมองย้อนออกมาจากภายใน

 นอกจากนั้นปุรวิชญ์ยังได้กล่าวถึงจุดที่น่าสนใจของงานชิ้นนี้อีกประการคือ การที่ตัวงานใช้ทฤษฎีกรอบคิดทางรัฐศาสตร์มาใช้และยึดจับไว้อย่างเหนียวแน่น โดยตัวงานนี้ใช้ฐานจากทฤษฎีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของ Walter Bagehot (1826 – 1877) ซึ่ง Bagehot ได้ศึกษารัฐธรรมนูญอันไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอังกฤษและสรุปว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกษัตริย์สามารถมีสิทธิ์ที่จะมีบทบาททางการเมืองได้ทั้งหมดสามสิทธิ์ได้แก่

1. สิทธิ์ในการเป็นที่ปรึกษา (the right to be consulted)
2. สิทธิ์ในการให้กำลังใจ (the right to encourage)
3. สิทธิ์ในการตักเตือน (the right to warn)

 เมื่อศุภมิตรสามารถยึดเกาะทฤษฎีนี้ไว้ได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งสามารถใส่ทฤษฎีอื่นๆ ลงไปได้อีกพอสมควร สำหรับปุรวิชญ์งานวิจัยเกี่ยวกับจุดกำเนิดสถาบันพระมหากษัตริย์เล่มนี้จึงไม่ใช่แค่งานที่แค่มีท่าทีสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์จนมืดบอด อันเป็นคู่ตรงข้ามกับงานที่สักแต่วิพากษ์จนมืดบอดไม่ต่างกัน แต่เป็นงานวิชาการที่สามารถไปสนทนากับงานวิชาการต่างประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเชื่อว่าไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่แต่งานชิ้นนี้จะช่วยเพิ่มสีสันต่อการถกเถียงเชิงวิชาการเป็นแน่แท้

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: