ธีทัต จันทราพิชิต
4 สิงหาคม 2563

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เกิดการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในสามประการหลักด้วยกันโดยสรุป ได้แก่ การยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หากประเมินการชุมนุมครั้งนี้ด้วยท่าทีระมัดระวัง ก็อาจอธิบายได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ปรากฎขึ้นท่ามกลางบริบทที่เป็นข้อจำกัดเชิงบริบอย่างน้อยสองประการ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 อันส่งผลให้สังคมต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงเวลาเช่นนี้ ประกอบกับช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของไทยกำลังทรุดตัวอย่างหนัก เมื่อมองด้วยท่าทีระแวดระวังต่อบริบทรอบข้างแล้วจึงนำมาสู่คำถามได้เช่นกันว่าการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกมีความเหมาะสมเพียงใดในสถานการณ์ที่เสถียรภาพของประเทศกำลังคลอนแคลนและยากจะฟื้นตัว แต่ในทางกลับกันก็นำมาสู่คำถามถึงจุดตั้งต้นที่นำมาสู่การจัดชุมนุมและความสมเหตุสมผลของการชุมนุมครั้งนี้นั้นเป็นอย่างไร
การชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 กล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันมีเหตุตั้งต้นจากรัฐบาลที่เป็นฝ่ายจุดชนวนความไม่พอใจของประชาชนจากเหตุการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างสองมาตรฐาน เนื่องจากในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข ต่างเน้นย้ำด้วยท่าที่ขู่ขวัญให้ประชาชนระมัดระวังสุขภาพตนเองให้ดีตลอดเวลา เช่นเดียวกับการสื่อสารย้ำเสมอมาว่า “การ์ดอย่าตก” เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง ทว่าในทางกลับกัน รัฐกลับเป็นฝ่ายทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นเสียเองจากกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากอียิปต์ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยฐานะของแขกบ้านแขกเมือง ปัญหาจึงเกิดขึ้นเนื่องจากการปล่อยปละละเลยต่อการกักตัวผู้ติดเชื้อในมาตรฐานเดียวกันกับที่คนทั่วไปได้รับ และนำมาสู่การปิดทำการของสถานที่สาธารณะอย่างเลี่ยงไม่ได้
เมื่อรัฐที่พยายามบอกให้ประชาชนอย่าการ์ตกกลับการ์ดตกเสียเอง ซึ่งการละเลยมาตรการเช่นนี้ไม่ใช่แค่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนถูกปฏิบัติคนละมาตรฐาน แต่ยังทำลายความเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อรัฐลงไปและแปรเปลี่ยนกลายเป็นความโกรธ แล้วจึงนำมาสู่การจุดกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาล แล้วลุกลามมาเป็นการนัดชุมนุมในวันที่ 18 กรฎาคม พ.ศ.2563 ทั้ง ๆ ที่ไฟของการชุมนุมมอดลงไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากกรณีของสนามมวยลุมพินี
โดยในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกครั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้เริ่มรวมตัวกันในช่วงเวลา 16.00 น. หน้าร้านแมคโดนัลด์ และโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันก่อนเวลานัดชุมนุมเป็นเวลาเกือบชั่วโมง และเมื่อถึงเวลา 17.00 น. อันเป็นเวลานัดชุมนุมผู้คนจำนวนมากก็พร้อมหน้ากันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยได้ทำการเดินลงถนนเพื่อไปบริเวณอนุสาวรีย์ และปิดถนนส่วนหน้าร้านแมคโดนัลด์ กับโรงเรียนสตรีวิทยา พร้อมกับเริ่มกิจกรรมอย่างการชูรูปคนโดนอุ้มหาย ปราศรัยโจมตีรัฐบาลกับโครงสร้างทางสังคม ซึ่งหลายครั้งก็มีความเกินเลยไปบ้าง
ทั้งนี้ความเกินเลยจากขอบเขตได้สะท้อนถึงจุดที่สำคัญมากของการชุมนุมครั้งนี้ ก็คือ “ความใหม่” ไม่ใช่ความใหม่ในรูปแบบวิธีการ เพราะลักษณะของโมเดลที่ถูกสร้างขึ้นดูจะพยายามเดินรอยตามการชุมนุมรุ่นพี่อย่างกรณี 14 ตุลา หรือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปีพ.ศ. 2553 ความใหม่ในที่นี้จึงไม่ใช่ความใหม่ในรูปแบบกระบวนการ แต่คือความใหม่จากการที่กิจกรรมถูกจัดโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ส่วนมากไร้ประสบการณ์ทางการเมือง ข้อความในตอนปราศรัยหลายครั้งจึงไม่ได้ดึงดูดคนเสียเท่าไหร่ และหลายครั้งรุนแรงเกินไปมากจนไม่ส่งผลดีต่อขบวนการ ทั้งการจัดการทางโลจิกติกส์กับความปลอดภัยของผู้ชุมนุมก็นับว่าอ่อนด้อยจนไม่สามารถสร้างหลักประกันได้ว่าจะสามารถนอนค้างคืนตามที่ทีมผู้จัดการชุมนุมได้ประกาศบนเวที
ความผิดพลาดดังกล่าวโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยได้ส่งผลทำให้ผู้เข้าร่วมจำนวนมากตกอยู่ในความหวาดระแวง ระส่ำระส่าย จนในที่สุดนำมาสู่การยุติการชุมนุม
แม้การจัดงานครั้งนี้จะมีปัญหาจากความใหม่เช่นนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าปรากฎการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่แสดงความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่จำนวนมากต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง หากความผิดพลาดนี้จะกลายเป็นประสบการณ์ทางการเมืองเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ไปอีกหลายสิบปี ก็นับว่าการชุมนุมนี้ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในด้านการจุดประกายจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทางการเมืองในหมู่คนรุ่นเดียวกัน