ความสำเร็จในการสร้างความนิยมในมวลชนคนรุ่นใหม่ของพรรคอนาคตใหม่เป็นปรากฎการณ์ที่สร้างความประหลาดใจในทางการเมืองไทยตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แม้กระทั่งคราวที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบมวลชนทั้งหลายก็ยังคงเหนียวแน่น และแสดงความโกรธเกรี้ยวออกมาผ่านการชุมนุมประท้วงตั้งแต่วันแรกที่มีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
แม้เราอาจบอกได้ว่าพรรคอนาคตใหม่ช่วยปลุกการรับรู้ทางการเมืองขึ้นมาในหมู่คนรุ่นใหม่ขึ้นมา จนปัจจุบันเมืองไทยดูจะเข้าสู่สภาวะความขัดแย้งระหว่างรุ่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความขัดแย้งทางการเมืองแบบเสื้อสีที่ดำเนินมากว่าสิบปี ทว่าแม้ความขัดแย้งจะดูพัฒนา แต่ที่สุดแล้วตัวแสดงทางการเมืองก็ยังคงเป็นคนกลุ่มเดิมอยู่ แล้วเหตุใดเราจึงมองความขัดแย้งทั้งสองไม่ใช่การขัดแย้งเดียวกัน อะไรกันที่ทำให้การเมืองของทั้งสองช่วงเวลาแตกต่างกัน เช่นนั้นเอง ดุลยภาพ จาตุรงคกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ที่สนใจเรื่องความขัดแย้งแบบสองเสี่ยงในสังคมไทยและทั้งยังคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ จึงได้พยายามหาคำตอบของคำถาม และเชื่อมต่อของความขัดแย้งทั้งสองเข้าด้วยกัน
ความขัดแย้งระหว่างวัยในปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับความขัดแย้งเหลืองแดงอย่างไร
ความขัดแย้งจากสิบปีก่อนสามารถมีผลต่อคนในปัจจุบัน โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้อง active ในช่วงเวลานั้น เราต้องเข้าใจว่าคนรุ่นนี้ไม่ได้ถูกหล่อหลอมแค่เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน แต่ถูกหล่อหลอมด้วยวิธีคิดของคนที่เคยมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองหรือสีแดง การจะโฟกัสถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเราจึงต้องโฟกัสไปที่บริบทจากสิบปีที่แล้วด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะอย่างไรก็ตามผลของเมื่อสิบปีก่อนก็ยังดำรงอยู่
การเมืองแบบเหลืองแดงหน้าตาเป็นยังไง เสื้อเหลืองเป็นกลุ่มก้อนที่มีเอกภาพเป็นเนื้อเดียวมากกว่ากลุ่มอื่นจริงหรือไม่
จากการพยายามทำความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองไทย ผมพบว่าแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความแตกต่างทางอุดมการณ์อยู่ก็จริง แต่ทั้งฝั่งเหลืองกับฝั่งแดงต่างมีความหลากหลายในตัวเอง โดยมีงานหลายชิ้นพยายามชี้ให้เห็นถึงจุดนี้
ความเป็นแดงอาจสื่อไปถึงการไม่เอาอำมาตย์ ความเป็นเหลืองอาจสื่อไปถึงการไม่เอาทักษิณ แต่ทั้งสองก็ไม่ใช่อุดมการณ์โดยตัวมันเอง
เราอาจพูดได้ว่าฝั่งเหลืองมีเป้าหมายร่วมกันคือ การไม่เอาระบอบทักษิณ ไม่เอาคอรัปชั่น แต่กลุ่มคนที่มีโวหารแบบนั้นก็มีด้วยกันหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มกษัตริย์นิยมหรืออนุรักษ์นิยม แต่รวมไปถึงกลุ่มเสรีนิยมด้วยนั่นเอง
ในงานของ อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ได้มีการไปสำรวจกลุ่มมวลชนฝั่งเสื้อเหลือง แล้วก็ไปเจอข้อสรุปดังนี้คือ มีมวลชนฝั่งเสื้อเหลืองที่เป็นคนชั้นกลางที่ไม่ได้อินอะไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เกลียดการทุจริตคอรัปชั่น ชอบความโปร่งใส และมองว่าทักษิณเป็นเผด็จการรัฐสภา พร้อมกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างไม่ลังเล
ต่างจากคนเป็นเสรีนิยม พวกอนุรักษ์นิยมอาจไม่เข้าใจว่าอะไรคือ ประชาธิปไตย หรืออะไรคือเสรีนิยม เขาแค่รู้สึกว่าทักษิณเป็นคนที่เข้าไปท้าทายอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยรวมฝั่งเสื้อเหลืองจึงประกอบไปด้วยคนสองกลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนไม่จำเป็นต้องลงรอยทางความคิดเสียหมด
ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งทางการเมืองแบบเหลืองแดงจึงไม่ได้มีลักษณะของความขัดแย้งระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม ทั้งสองต่างจับมือกันไม่เอาทักษิณ ความหลากหลายทางอุดมการณ์เลยถูกลดทอนให้เหลือแค่ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณกับฝ่ายที่ไม่เอาอำมาตย์
แล้วกรณีของฝั่งเสื้อแดงมีลักษณะหน้าตาเหมือนกับเสื้อเหลืองหรือเปล่า
ฝั่งเสื้อแดงไม่ได้หลากหลายน้อยไปกว่าเสื้อเหลือง คนที่สนับสนุนเขาอาจรู้ว่าทักษิณมีความทุจริตคอรัปชั่น แต่เขาไม่สนใจ เพราะถ้าเทียบกับตัวเลือกอย่างพรรคประชาธิปัตย์ยังไงเขาก็ขอเลือกทักษิณดีกว่า ต่อให้ประชาธิปัตย์จะมีภาพลักษณ์ขาวสะอาดยังไง แต่ความขาวสะอาดไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาปากท้องได้เหมือนที่ทักษิณได้ทำ คนบางคนจึงไม่เห็นว่าอุดมการณ์ของทักษิณมีปัญหาเหมือนกับที่ฝั่งเสื้อเหลืองมอง เพราะอุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองโดยรวมของคนเสื้อแดง ไม่ได้ขัดกับอุดมการณ์แบบเผด็จการเสียงข้างมาก (tyranny of the majority) หรือประชาธิปไตยที่ไม่เป็นเสรีนิยม (illiberal democracy) ในระดับที่มากพอจะทำให้เขาเลือกไปอยู่ข้างเสรีนิยม
เป็นไปได้ว่าเขาอาจมองการเมืองเป็นเรื่องของปากท้อง อุดมการณ์ของคนพวกนี้บอกได้ว่ามีความต้องการยกระดับตัวเองให้เท่ากับชนชั้นกลางในเมือง เขาเลยมองว่าทางออกแบบเสรีนิยมที่คนเสื้อเหลืองบางกลุ่มสมาทาน นั้นไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยที่เพียงพอ ที่สุดแล้วเขายังรู้สึกว่าประชาธิปไตยแบบทักษิณตอบโจทย์ของเขามากกว่า ถึงพวกเขาจะไม่ได้เห็นด้วยกับทักษิณทุกเรื่องก็ตาม ฉะนั้นเราจะพูดไม่ได้ว่าคนที่สนับสนุนทักษิณคือ คนไม่มีความคิด ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ว่าทักษิณกำลังทำอะไรอยู่ เขารู้ แต่เขาไม่แคร์
แล้วพอจะมีความเป็นซ้ายความเป็นขวาในการเมืองแบบเหลืองแดงหรือเปล่า
เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ความเป็นซ้าย” กับ “ความเป็นขวา” ว่าคืออะไร หลังจากนั้นจึงต่อว่า กลุ่มต่างๆ ที่เพิ่งกล่าวไปนั้นมีความเป็นซ้ายหรือขวาหรือไม่อย่างไร มีกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมากแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลยในการทำความเข้าใจเหลืองแดง เป็นกลุ่มที่ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) ได้นำมาขยายในงานของเขาชิ้นหนึ่ง กลุ่มนั้นคือ กลุ่มปัญญาชน
โดยแมคคาร์โกแสดงให้เห็นว่าการเป็นปัญญาชนไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ฝั่งเสื้อเหลือง แต่เพียงอย่างเดียว คุณสามารถเป็นปัญญาชนโดยอยู่ข้างเดียวกับฝั่งเสื้อแดงได้ กลุ่มนี้แหละที่ทำให้เห็นว่าความขัดแย้งในเมืองไทยสะท้อนความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างซ้ายขวา
ซ้ายในที่นี่ หมายถึงการผลักดันการเมืองแบบปลดแอก (emancipatory politics) โดยมีทักษิณในฐานะผู้ปลดแอก (emancipator) ให้อิสระแก่ “ไพร่” ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ประชาชนธรรมดา จนถึงปัญญาชนที่เลือกอยู่ข้าง ไพร่ในการต่อสู้กับอำมาตย์ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยทั้งหมดล้วนสมาทานการเมืองแบบปลดแอกในบางลักษณะ ส่วนฝั่งขวามีความหมายของการยึดโยงกับ hierarchy ทางสังคมการเมืองอะไรบางอย่าง แน่นอนว่า hierarchy ที่ดีนั้นในสายตาของพวกอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมย่อมมีความแตกต่างจากกัน
สมัยหนึ่งเราอาจคิดว่าถ้าเขามีอุดมการณ์เขาก็ควรอยู่กับฝั่งเสื้อเหลืองเพราะคนที่เป็นเสรีนิยมต่างอยู่กับฝั่งเสื้อเหลืองทั้งหมด แต่ความจริงกลุ่มที่สนับสนุนเสื้อแดงยังมีปัญญาชนอย่างกลุ่มนิติราษฎร์ที่เขาไม่ได้เห็นด้วยกับทักษิณ แต่รู้สึกว่าอย่างน้อยทักษิณก็ให้อำนาจแก่คนรากหญ้า ว่านี่คือ สิ่งที่ทำให้คนเสื้อแดงสามารถจะถูกนิยามได้ว่ามีความเป็นฝ่ายซ้ายคือ เน้นเรื่องการเท่าเทียมทางการเมืองผ่านการยกระดับคนรากหญ้าให้เท่ากับคนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถพูดได้ว่าฝั่งเสื้อเหลืองไม่ซ้าย ต่อให้มีความหลากหลายจากการผสานกันระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม แต่ถึงที่สุดนั้นก็ยังเป็นความคิดแบบขวา ถ้าเราเข้าใจว่าซ้ายคือ ความคิดที่ขับเน้นความเสมอภาค ขวาก็คือ ความคิดที่ขับเน้นเรื่องของความไม่เสมอภาค เป็นลำดับชั้น การเติบโตของชนชั้นกลางที่เป็นเสรีนิยมเพิ่งเกิดขึ้นสมัยสมัยปลายทศวรรษที่ 2520 – ปลายทศวรรษที่ 2530 แต่การเติบโตของคนกลุ่มนี้ไม่ได้นำมาซึ่งการเติบโตของคนชนชั้นล่างเท่าที่ควร (ถามว่าไม่มีการเติบโตเลยก็ไม่จริงเพราะมีสิ่งที่เรียกในทางเศรษฐกิจว่า Trickle Down Effect) เป็นการเติบโตแบบไม่สมดุล ทำให้ฝั่งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมมีความไม่เสมอภาคเป็นฐานตั้งแต่ตอนเติบโต
แม้การเมืองเหลืองแดงจะมีอิทธิพลต่อการเมืองในปัจจุบัน แต่เราสามารถบอกได้ไหมว่าเราก้าวข้ามการเมืองแบบนั้นมาแล้ว
จากการทบทวนงานวิชาการจำนวนมาก ผมพบว่าเนื้อหาความขัดแย้งแบบเหลืองแดงนั้นถูกขับเคลื่อนโดยอุดมการณ์จำนวนนับไม่ถ้วน แต่อุดมการณ์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันเองโดยธรรมชาติกลับถูดลดทอนให้ขัดแย้งแบ่งเป็นสองฝั่งที่ตายตัว ปัญหาคือ เราจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งกลายเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างคงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของอุดมการณ์ตนได้ โดยไม่ต้องบิดเบือนมันผ่านการจำกัดกรอบความเป็นไปด้วยนิยามแบบเหลืองหรือแดง
โดยหลักการมันทำได้ แต่ด้วยเงื่อนไขหลายประการทำให้ไม่สามารถเกิดขึ้น ซึ่งผมเลยเสนอว่าวิธีคิดแบบเหลืองแดงมันยังไม่หายไปจากสังคม ยังมีคนที่ทำให้เกิดการพูดถึงภัยความน่ากลัวของการเมืองแบบทักษิณ กลับกันภัยของอำมาตย์ก็ถูกทำให้ดูหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เงื่อนไขพวกนี้ทำให้เราไม่สามารถหลุดจากกรอบคิดแบบเหลืองแดง ทั้งๆ ที่มันก็ผ่านมา 5-6 ปีแล้วหลังจาก กปปส. มันเลยเป็นเหตุผลที่ใช้อธิบายว่าทำไมอนาคตใหม่ถึงไม่สามารถเข้าร่วมกับประชาธิปัตย์ได้ และจำต้องจับขั้วกับพรรคเพื่อไทย แม้ว่ามีหลายกรณีที่แสดงถึงความไม่ลงรอยกัน เพราะว่าเรายังไม่หลุดจากกรอบความคิดแบบเหลืองแดง
ในฐานะที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ อาจารย์มองมรดกของการเมืองแบบเหลืองแดงส่งอิทธิพลมาถึงคนหนุ่มสาวสมัยนี้อย่างไร
คุณไม่จำเป็นต้องอินกับการเมืองแบบเหลืองแดงคุณก็เป็นคนรุ่นใหม่ได้ อย่างไรก็ตามพวกเขาย่อมต้องได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่ คนรอบข้าง หรือสื่อต่างๆ รอบตัว ซึ่งบางส่วนก็เป็นเศษซากของความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่าสิบปี ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือวัฒนธรรม
สำหรับผมมีกรณีที่น่าสนใจอย่างคนรุ่นใหมที่โดนเรียกว่า “นีโอสลิ่ม” คือ ไม่เอาทั้งประยุทธ์ แต่ก็ไม่เอาทักษิณ จนถูกเรียกว่าเป็น “สลิ่ม” (ซึ่งเป็นคำด่าทอจากการเมืองแบบเหลืองแดง) บางทีมันอาจเป็นความต้องการก้าวข้ามกรอบความคิดแบบเหลืองแดง แต่ดันถูกรั้งไว้โดยคนที่ไปแปะป้ายว่าเขานั้นเป็นนีโอสลิ่มเพื่อจะดึงเขากลับมาในกรอบเดิม ด้วยการพูดว่าคุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจะเกลียดสองอย่างไม่ได้
สุดท้ายเยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นความหวังใหม่ จะไม่กล้าแสดงออก หรือแสดงออกได้แค่เป็นบางประเด็น เช่น การโจมตีรัฐบาลประยุทธ์ ด่าประยุทธ์ว่า อหอต. และแย่ไปกว่านั้น อาจส่งผลให้มองการเมืองเป็นเรื่องของการสาดโคลนเหมือนในอดีต แทนที่จะเป็นการสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ถ้าเราปลดล็อคตัวเองจากความคิดแบบเหลืองแดงเราจะสามารถมองเห็นความเป็นอื่นได้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่เฉพาะความเป็นแดง ความเป็นเหลือง แต่มันควรจะเป็น spectrum ที่วิ่งระหว่างเหลืองกับแดง ต่างฝ่ายที่เคยขัดแย้งกันแบบแตกออกเป็นสองเสี่ยงก็จะสามารถเข้าใจตรงกันว่า มันมีเฉดตรงกลางอยู่จริงๆ นะ
แต่อย่างไรก็ยังมีเยาวชนบางกลุ่มที่เขาไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจนัยยะสำคัญของการเมืองเหลืองแดง แค่รู้ว่าไม่ชอบทหารกับไม่เอาประยุทธ์ ต้องการอะไรใหม่ๆ โดยไม่ได้อินเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ เช่น คนบางกลุ่มที่โหวตธนาธรเพราะรู้สึกว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาจริงๆ อีกนัยคือ พรรคอนาคตใหม่ก็เป็นกระแสในตัวเอง ไม่ต่างจากพวกวงเกาหลีที่กำลังฮิตในหมู่เยาวชน ส่งผลให้เกิดการโหวตแบบตามๆ กันไป ด้วยเหตุนี้ มันเลยไม่จริงเสมอไปที่คนโหวตเพราะไม่ชอบเพื่อไทย แต่ก็ไม่อยากเอาประชาธิปัตย์ด้วย เลยวิ่งไปหาอนาคตใหม่ มันยังมีคนจำนวนมาก ที่ไปโหวตเพราะว่ามันดูเท่ ดูเก่ง ดูฉลาด ดูแบบเรากำลังเลือกคนอย่าง เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) หรือ เบอร์นีย์ แซนเดอร์ (Bernie Sanders) ที่สุดแล้วคนพวกนี้ยากต่อการจัดว่าเป็นซ้ายหรือเป็นขวา ทั้งพวกเขาแต่ละคนอาจมีจุดยืนที่ขัดแย้งกันเอง และยังไม่ตัดสินใจว่าเขาจะเป็นอะไร เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการที่ช่วยทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิด อย่าลืมว่าเยาวชนรุ่นนี้เขาเติบโตมาในช่วงคสช. เขาเพิ่งมามีจิตสำนึกทางการเมืองจากพรรคอนาคตใหม่ หรือจากกระทู้ต่างๆ ในทวิตเตอร์ ซึ่งหลายๆ กระทู้ก็ไม่ชัดเจนว่าขวาหรือซ้าย อาจมีส่วนผสมของทั้งสอง เช่น เพจ Drama Addict
อาจารย์ช่วยขยายความเพิ่มเรื่องความเป็นซ้าย ความเป็นขวาโดยเฉพาะซ้ายสุดโต่งและขวาสุดโต่งในไทยหน่อยได้ไหม
ทั่วไปแล้วคนจะเข้าใจว่าซ้ายตกขอบคือ พวกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ถ้าลงไปในรายละเอียดกว่านั้นก็ขอยกนิยามของไอเซยาห์ เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) ที่เขียนไว้ใน Two Concepts of Liberty ซ้ายแบบสุดโต่งหมายถึงคนที่ไม่ได้สนในเสียงข้างน้อย เพราะต้องการที่ใช้เสียงข้างมากมาสร้างความชอบธรรมให้การกระทำทุกอย่าง แม้แต่เรื่องที่โหดร้ายดุดัน ถ้าเรามองไปที่ระบอบทักษิณและวิเคราะห์อย่างถึงแก่น เราจะพบว่ามันคือ เผด็จการของเสียงข้างมากที่ใช้เสียงคนรากหญ้ามาให้ความชอบธรรมกับการกระทำทางการเมืองทุกประการแม้แต่การออกมาข่มขู่สื่อและนักวิชาการ หากจะมีอะไรที่เป็นภัยพอๆ กับคุณที่มากับอุดมการณ์แบบฝ่ายซ้ายมันก็คงเป็นการให้ค่ากับความเสมอภาคยิ่งกว่าเสรีภาพของปัจเจก ซึ่งเมื่อสุดโต่งมันสามารถใช้ความเสมอภาคเป็นเหตุผลในการจัดการกับคู่แข่งทางการเมืองได้โดยไม่ลังเล
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ฝ่ายซ้ายทุกคนที่เอาหรือเห็นด้วยกับระบอบทักษิณ เราต้องมองเป็น spectrum ยังมีซ้ายอย่างกลุ่มนิติราษฎร์ที่อาศัยหลักเสรีนิยม เช่น นิติรัฐ และเสรีภาพเชิงลบ เข้าช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรุกล้ำเสรีภาพของปัจเจกจนเกินกว่าเหตุ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถชูประเด็นเรื่องความเสมอภาคอันเป็นจุดเด่นของฝ่ายซ้ายไว้ได้อย่างมั่นคง ส่วนขวาตกขอบก็คือ ขวาแบบไม่สนใจประชาธิปไตยหรือหลักความเสมอภาคเลย การบอกว่าเราควรดำรงอยู่เพื่อ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงไม่ใช่เหตุผลในการดำรงอยู่ (raison d’être) ที่เกินเลยไป
“ทุกวันนี้ปัญหาคือ สังคมเราชินกับการมองแบบสองเสี่ยงเกินไป
ดุลยภาพ จาตุรงคกุล
ถ้าไม่ซ้ายก็ขวาเลย ไม่เหลืองก็แดงเลย
ไม่มองเป็น spectrum ที่เชื่อมระหว่างขวาตกขอบกับซ้ายตกขอบ”
อาจารย์ยกตัวอย่างกลุ่มนักวิชาการฝ่ายซ้ายอย่างกลุ่มนิติราษฎร์มาแล้ว อาจารย์ช่วยยกตัวตัวอย่างหรืออธิบายวิธีคิดแบบนักวิชาการฝ่ายขวาหน่อยได้ไหม
ส่วนใหญ่ผมพบว่าพวกปัญญาชนฝ่ายขวาเขามักจะไม่เปิดตัวกัน อาจกล่าวได้ว่าความไม่วางใจต่อมวลชนเป็นลักษณะหนึ่งของปัญญาชนฝ่ายขวา นั้นทำให้พวกเขาเลือกจะสนทนากันเองมากกว่าเลือกคู่สนทนาเป็นประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัญญาชนฝ่ายขวามองว่าการไปสั่นคลอนความเชื่อ ความหวัง ความศรัทธาของประชาชน พวกเขาอาจพบจุดจบแบบเดียวกับโสคราตีส ไปจนถึงถูกรุมประชาทัณฑ์ทางความคิดหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าทัวร์ลง
พวกเขามีเหตุผลที่จะมองมนุษย์ในแง่ลบ ต้องเข้าใจว่ามันมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างความรู้ที่พวกเขาเชื่อว่าผ่านการกลั่นกรองขัดเกลามาอย่างดี กับความเห็นของคนทั่วไปซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์และอคติ เขาจึงระแวงประชาธิปไตย ทั้งกลัวมวลชนคนส่วนมากเข้าถึงองค์ความรู้แบบผิดๆ จากการขาดกความคิดวิเคราะห์แยกแยะ จนไม่รู้ว่าอะไรดีกับตัวเองและประเทศชาติ นอกจากขบวนการเสื้อเหลืองกับกปปส.คนพวกนี้จะไม่ค่อยเคลื่อนไหวผ่านมวลชน แต่มาเคลื่อนไหวผ่านรัฐบาลและกลไกปรปักษ์เสียงข้างมากแทน
แล้วเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับพลเอก ประยุทธ์
นอกจาก IO รัฐบาล ไม่น่ามีใครพูดได้เต็มปากว่าชอบพลเอก ประยุทธ์ แม้กระทั่งในฝ่ายขวาด้วยกัน มันจะได้ความรู้สึกแบบฮอบส์ ทุกคนไม่มีใครคิดว่าเลวีอาธานเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการปกครอง [1]เป็นไปได้พวกเขาก็ขอผู้ปกครองแบบเพลโตหรือลี กวนยู แต่ในความเป็นจริงทางเลือกมันไม่ใช่ผู้ปกครองแบบเพลโต มันคือทหารหรือผู้ปกครองแบบฮอบส์กับมวลชนที่พร้อมจะฆ่ากันตลอดเวลา ส่วนหนึ่งคงเพราะพวกเขามองมวลชนในลักษณะที่ค่อนข้างแย่พอสมควรอยู่แล้ว เขาเลยรู้สึกว่าเลือกพลเอก ประยุทธ์ยังดีกว่าให้อนาคตใหม่ไปขายฝันลมๆ แล้งๆ ให้กับเด็กๆ ที่ยังไร้เดียงสาทางการเมือง
อะไรคือความแตกต่างระหว่างซ้ายขวาในไทยต่างจากตะวันตก
ไม่ว่าจะพูดถึงซ้ายขวาแบบไหนมันต้องมีการให้นิยามขั้นพื้นฐานสุด กรณีฝ่ายขวาไทย เราต้องเริ่มด้วยการนิยามแนวคิดแบบเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม โดยเสรีนิยมให้ความสำคัญกับ นิติรัฐ เสรีภาพเชิงลบ และตัวปัจเจกซึ่งทั้งสามคุณสมบัติสามารถตีความอย่างกว้างขวาง ส่วนอนุรักษ์นิยมในความหมายที่ผมใช้หลักๆ คือ ประเพณีนิยม (traditionalism) และการระแวงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งครอบคลุมวิธีคิดที่หลากหลาย เช่น การอาศัยความศรัทธามากกว่าเหตุผลในการดำรงชีวิต การยึดเหนี่ยวหลักจารีตประเพณีที่สืบทอดมาแต่อดีต การยกชาติ กษัตริย์ ความเป็นชุมชนที่สามัคคี หรือศาสนาให้อยู่เหนือเจตจำนงของปัจเจก เห็นได้จากระบบบุญกรรมของพุทธศาสนา อันนี้ไม่เหมือนกับเสรีนิยมที่เชื่อในความสามารถกำหนดชะตาชีวิตของปัจเจก จนนำมาสู่ความเชื่อในระบบการเมืองที่ยึดในหลัก meritocracy
ความแตกต่างของทั้งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมในไทยเมื่อเทียบกับตะวันตกคือ อนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ ไม่สามารถแยกออกจากพุทธศาสนาและราชาชาตินิยม มิหนำซ้ำอนุรักษ์นิยมแบบไทยยังมีกองทัพเป็นขาที่สาม กลายเป็นสามสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์แยกออกจากความเป็นไทยไม่ได้ แต่การเป็นอนุรักษ์นิยมในโลกตะวันตกปัจจุบันแทบไม่ให้ค่ากับกองทัพ ทหารจะเข้ามายุ่งเรื่องการเมืองไม่ได้ ความเป็นชาติก็อาจไม่มีการยึดโยงใดๆ กับสถาบันกษัตริย์ แต่ยึดโยงเข้ากับความเป็นชาติพันธุ์เสียมากกว่า ในบางประเทศเช่น สหราชอาณาจักร คนบางกลุ่มอาจเป็นอนุรักษ์นิยมด้วยเหตุผลเพียงเพราะมองว่าการเมืองที่ดีคือการรู้จักประนีประนอม เน้นการปฏิรูปแทนการปฏิวัติแบบที่เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) เน้นย้ำตลอดช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
เมื่อพิจารณาถึงเสรีนิยมในไทย เราจะเห็นว่ามันเป็นเสรีนิยมกระฎุมพี (bourgeois liberalism) ซึ่งเคยรุ่งเรืองในโลกตะวันตกช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนเกิด Great Depression ในตะวันตกเสรีนิยมเขาพัฒนาไปไกลแล้ว มีแตกออกเป็นหลายสาย ไม่ว่าจะเป็น social liberalism, ordo-liberalism และอีกมากมายที่แปะโลโก้ liberalism บ้างก็พยายามให้ความสำคัญกับระบบสวัสดิการมากขึ้น บ้างก็เน้นประเด็นความหลากหลายเชิงอัตลักษณ์ แต่ในไทยคือจิตสำนึกแบบเสรีนิยมเพิ่งก่อตัวได้ไม่นาน เสรีนิยมของไทยไม่ได้เกิดขบวนการนักศึกษาเดือนตุลา แต่เกิดหลังจากนั้นหรือก็คือ ไทยเพิ่งเกิดเสรีนิยมชนชั้นกลางที่ในยุโรปเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ส่วนเราเพิ่งเกิดปลายศตวรรษที่ 20 เราล้าหลังกว่าเขา 100 ปี ไม่ต้องพูดถึงเสรีนิยมแบบคานท์แบบรอลว์มันอีกนาน
แล้วอะไรสิ่งที่แยกเสรีนิยมกระฎุมพีของไทยให้ต่างจากตะวันตก เท่าที่สังเกตุ คือ 1) เสรีนิยมกระฎุมพีไทยมองสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ร.9 เป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งของการเมืองแบบเสรีนิยม และ 2) การที่ชนชั้นกลางพวกนี้หันไปสนับสนุนการทำรัฐประหาร ซึ่งส่วนนี้นักเสรีนิยมตะวันตกอาจไม่รู้จะอธิบายยังไง เพราะมันขัดกับหลักเสรีนิยมทั่วไป
ไมเคิล คอนเนอร์ (Michael Conners) พูดถูกว่าเสรีนิยมแบบไทยมันคือ เสรีนิยมแบบที่ยังไม่ mature คือ ยังไม่เป็นเสรีนิยมเต็มตัว เป็นเสรีนิยมที่ยังระแวงประชาธิปไตย เลยไปจับมือกับขั้วอำนาจที่ไม่มีความเป็นเสรีนิยมอย่างประชาธิปไตยลง โดยหวัง (แบบผิดๆ) ว่านี่เป็นการประนีประนอมในระยะสั้นเพื่อรักษาหนทางระยะยาวสู่การเป็นเสรีนิยมอย่างเต็มตัว
แล้วฝั่งเสื้อแดงมีความเป็นซ้ายแบบตะวันตกหรือไม่ ขอยกตัวอย่างกรณีทักษิณ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษิณดึงทุกอย่างที่ได้เปรียบกับตัวเองไม่ว่าจะซ้ายหรือจะขวา แต่ทักษิณก็มีโวหารที่ไม่ได้เป็นโวหารของฝ่ายขวา ในงานของ เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) เขาเขียนว่าทักษิณเป็นคนที่ชี้ให้เห็นว่าหน้าที่ของข้าราชการคือ การรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ว่าประชาชนต้องไปขอให้เขาช่วย วิธีคิดว่าเราเป็นหนี้บุญคุณข้าราชการคือ วิธีคิดแบบระบบอุปถัมภ์ แน่นอนว่าตัวทักษิณเองก็มีลักษณะของนายทุนที่ไปอุปถัมภ์ชาวบ้านด้วย แต่ยังไงวิธีคิดแบบข้าราชการต้องรับใช้ประชาชนสำหรับประเทศนี้ผมว่ามันเป็นอะไรที่โคตรซ้ายเลย เพราะมันเป็นการ empower คนตัวเล็กๆ ผ่านการสร้างจิตสำนึกที่วันหนึ่งอาจทำให้เขากล้าท้าทายอำนาจระดับประเทศ ทักษิณก็เคยอ้างว่า รุสโซ[2] คือหนึ่งในแรงบันดาลใจของเขา ซึ่งเมื่อนึกถึง รุสโซ ก็จะนึกถึงวลีเด็ดของเขา “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกแห่งหนเขาถูกพันธนาการ (man is born free but everywhere he is in chains)”
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอาจารย์หลายคนที่จบนอก โดยเฉพาะฝรั่งเศส ถึงได้เลือกมองทักษิณว่าเป็นผู้ปลดแอก สมาชิกของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ถอดแบบหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญมาจากฝรั่งเศสและเยอรมัน นอกจากนั้นประชานิยมแบบทักษิณก็มีนัยของความเป็นซ้าย แต่ก่อนอื่นวิธีคิดของนักการเมืองที่เป็นประชานิยมคือ ต้องอาศัยแนวคิดที่ให้ความชอบธรรมกับเสียงของ “ประชาชน” (People) เหนือพลังของเสียงของชนชั้นนำ หรือสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งหลายครั้งก็ถูกมองว่าเป็นเสรีภาพแบบกลวงๆ
โวหารแบบนี้เป็นโวหารที่เห็นในเกือบทุกประเทศบนโลกอย่างที่ในยุคปัจจุบันมีคนอย่างดูเตอร์เต หรือทรัมป์ แต่ทักษิณก็ไม่เหมือนกับสองคนนี้ที่ว่าประชานิยมของทักษิณมันมีความใกล้เคียงกับรัฐสวัสดิการมากกว่า ทักษิณต้องการที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับคนรากหญ้า เนืองจากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นำมาซึ่งความชอบธรรมต่อระบอบของเขา แม้รัฐสวัสดิการแบบทักษิณจะไม่ใช่รัฐสวัสดิการแบบเต็มตัว แต่ก็มีผลที่ค่อนข้างจะสำเร็จแบบรัฐสวัสดิการอย่างเรื่องการให้การศึกษาฟรี หรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค ทักษิณเลยเป็นประชานิยมแบบฝ่ายซ้ายไม่ใช่ประชานิยมแบบฝ่ายขวาที่เน้นการเพิ่มอำนาจให้ชนชั้นนำผ่านการขายฝันให้กับมวลชนระดับล่าง ประชานิยมของทักษิณมันให้ประโยชน์กับชนชั้นล่างจริงๆ หากทักษิณเป็นซ้ายก็เป็นซ้ายที่มีกลิ่นอายแบบรัฐสวัสดิการ แต่ไม่ได้มีความเป็นรัฐสวัสดิการหรือสังคมประชาธิปไตยที่เป็นเสรีนิยมแบบสแกนดิเนเวีย
“อย่างไรก็ดี ไม่ว่าอุดมการณ์จะไทยหรือตะวันตกมากกว่ากัน
ดุลยภาพ จาตุรงคกุล
สิ่งสำคัญคือ มันสะท้อนสิ่งที่ตนต้องการสมาทานจริงๆ หรือไม่
ต่างฝ่ายต้องถามตัวเองให้ดีว่าพึงพอใจกับ จุดยืน ณ ขณะนี้หรือไม่
มันช่วยต่อเติมหรือลดทอนอุดมการณ์ที่ตนสมาทานอย่างไร
ถ้ารู้สึกว่าต้องทำอะไรควรโฟกัสไปตรงไหนเพราะอะไรเป็นพิเศษ”
[1] โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาชาวอังกฤษ มีอิทธิพลในกลุ่มแนวคิดสัญญาประชาคม ฮอบส์มองว่ามนุษย์ชั่วร้ายถึงระดับที่พร้อมจะแสดงความโฉดชั่วทุกเมื่อจนเกิดเป็นความโกลาหล การที่จะหยุดยั้งความโกลาหลได้จำต้องมีผู้นำที่เด็ดขาดที่พร้อมละเมิดเสรีภาพ ประชาชนในโมเดลทางการเมืองของฮอบส์จึงแทบไม่มีสิทธิเสรีภาพ เพราะสิทธิเสรีภาพถูกลิดรอนไปเพื่อแลกกับความสงบของสังคมเป็นที่เรียบร้อย
[2] ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ปัญญาชน นักปรัชญาชาวเจนีวา ความคิดของเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาแนวคิดประชาธิปไตย รุสโซอธิบายว่ามนุษย์ทุกคนมีความดีอยู่ในตัว แต่ถูกทำให้ปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม ความคิดของรุสโซจึงมีลักษณะขับเน้นประเด็นเรื่องความเสมอภาคมากถึงระดับที่ควรใช้ระบอบประชาธิปไตยทางตรงในการปกครอง