ธีทัต จันทราพิชิต
4 กันยายน 2563
เป็นการยากจะปฏิเสธว่าตำรา และหนังสือทางวิชาการมีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการนักศึกษาไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะธรรมชาติของความสงสัยใคร่รู้เยาวชนจะเลือกหนังสือที่มีเนื้อหาพูดถึงสิ่งที่สังคมไม่ค่อยจะพูดถึง ไปจนถึงการอ่านหรือเสพสื่อที่มีลักษณะเนื้อหาเป็นกบฏต่อค่านิยมอันเป็นแบบแผนในทางสังคม หนึ่งในสื่อเหล่านั้นเป็นงานเขียนชื่อว่า “สามัญสำนึก” หรือ “Common Sense” ของโทมัส เพน (Thomas Paine) ซึ่งจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้อ่านออกเสียงบางช่วงบางตอนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฟังขณะถูกคุมตัวไปที่สน.เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 [1]แต่ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในหนังสือถูกหยิบขึ้นมาอ่านในสภาวะการเมืองเช่นนี้กันเล่า
สามัญสำนึกไม่ใช่งานเขียนร่วมสมัย ทั้งไม่ได้พูดถึงความขัดแย้งหรือสถานการณ์ในประเทศไทยแต่อย่างใด อันที่จริงสามัญสำนึกถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1776 ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติอเมริกา โดยผู้เขียนคือ โทมัส เพน บิดาผู้ก่อตั้ง (Founding Father) ของสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าสุดโต่งที่สุด[2]
เนื้อหาของ สามัญสำนึก หลักๆ เป็นการพูดถึงการกดขี่ประเทศแม่อย่างสหราชอาณาจักรต่ออาณานิคมในทวีปอเมริกา ซึ่งการจะพูดถึงการกดขี่ของประเทศแม่ก็หนีไม่พ้นจะต้องกล่าวโจมตีรัฐบาลของกษัตริย์อังกฤษ สามัญสำนึกจึงเป็นงานเขียนที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นสาธารณรัฐนิยม สนับสนุนความเท่าเทียม และการให้อาณานิคมลุกขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม โดยโทมัส เพนเขียนไว้ตอนหนึ่งในบทความว่าสิ่งที่ถูกเสนอในหนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไรอื่นนอกจาก “ข้อเท็จจริงบ้านๆ ข้อเสนอพื้นๆ และสามัญสำนึก” [3]อีกนัยหนึ่ง สำหรับโทมัส เพนสิ่งที่เขาเขียนทั้งหมดเป็นสิ่งง่ายๆ ที่เพียงใช้ตามองกับสามัญสำนึกในการพิจารณาก็สามารถเข้าใจได้
ด้วยเหตุนั้นสามัญสำนึกจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นวิชาการอะไรมากมาย มันเป็นงานเขียนที่มีลักษณะเป็นบทความไว้ใช้ปลุกระดมทางการเมืองเสียมากกว่า แต่ด้วยเนื้อหาที่ตรงใจชาวอเมริกัน ณ ขณะนั้น และภาษาที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน การยกตัวอย่างประเทศอังกฤษว่าไม่สมควรจะปกครองอเมริกาก็เป็นไปอย่างบ้านๆ ผ่านการกล่าวโจมตีศัตรูทางการเมือง
จึงไม่แปลกที่ประโยคแบบ “เกาะเล็กๆ ที่ไม่มีความสามารถปกป้องตัวเองได้เป็นที่สมเหตุสมผลต่อการได้รับการปกป้องโดยอาณาจักร แต่มันแสนจะไม่สมเหตุสมผลที่แผ่นดินใหญ่จะถูกปกครองจากบนเกาะ”[4] และคำถามอย่าง “หรือท่านสามารถทำให้เวลาย้อนกลับ หรือคืนความบริสุทธิ์ให้โสเภณีได้?”[5] ปรากฎบนหน้ากระดาษ เพราะมันเป็นสิ่งเรียบง่ายที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ สามัญสำนึกจึงประสบความสำเร็จทันทีที่ถูกตีพิมพ์ และกลายเป็นหนังสือเล่มสำคัญเล่มหนึ่งของสหรัฐอเมริกามาถึงปัจจุบัน โดยสิ่งที่ผู้อ่านต้องทำเพื่อเข้าถึงสามัญสำนึกมีเพียงการยอมรับข้อเสนอเบื้องต้นในเรื่องจุดกำเนิดสังคมและรัฐบาลเท่านั้น ผ่านการถือว่ารัฐเป็นความเลวทรามที่จำเป็น ดังเช่นประโยค “สังคมก่อกำเนิดโดยความต้องการของเรา และรัฐบาลกำเนิดโดยความชั่วร้ายในตัวเรา”[6]
ดังที่กล่าวไปสามัญสำนึกเป็นงานเขียนช่วงปฏิวัติอเมริกา มีเนื้อหาต่อต้านกลุ่มผู้มีอำนาจ แม้จะมีปัญหาเรื่องบริบท แต่สามัญสำนึกก็ยังมีความเหมาะสมจะกลายเป็นงานที่ถูกใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาลอยู่ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่รัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอำนาจใกล้เคียงกับสภาพที่เกิดขึ้นในหนังสือ
แต่การที่สามัญสำนึกถูกอ่านไม่ใช่เพียงแค่เนื้อหาที่เยาวชนคิดว่าใกล้เคียงกับสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นการแสดงถึงความคลางแคลงสงสัยในสถานการณ์ของประเทศไทยในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่
ความสงสัยนำมาสู่ความพยายามแสวงหา โดยได้มีรายงานข่าวจากบีบีซีไทยว่าเกิดการเพิ่มของยอดขายหนังสือวิชาการอย่างหนังสือประวัติศาสตร์ สังคม ปรัชญา [7]เมื่อมีผู้ซื้อ ผู้ขายก็กล้าที่จะลงทุน ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ “สามัญสำนึก” ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย โดยได้รับการออกแบบตัวรูปเล่มกับปกอย่างสวยงาม สามัญสำนึกจึงถูกอ่านอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
การปรากฏตัวของ “สามัญสำนึก” จึงไม่ได้แสดงให้เห็นองค์ความรู้แบบอื่นนอกจากองค์ความรู้กระแสหลัก แต่แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางข้อมูลที่รัฐไทยไม่ยอมพูดเสียจนขัดกับสิ่งที่เรียกว่าสามัญสำนึกของเยาวชน
[1] จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์: ประธาน สนท. แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ราดสีขาวใส่ตัวเอง หลังได้รับการประกันตัว. (1 ก.ย. 2563). เข้าถึงจากhttps://www.bbc.com/thai/thailand-53982192
[2] Ellis, J. (2005, July 31). ‘Thomas Paine and the Promise of America’: Founding Father of the American Left. Retrieved from https://www.nytimes.com/2005/07/31/books/review/thomas-paine-and-the-promise-of-america-founding-father-of-the.html
[3] แปลจาก I offer nothing more than simple facts, plain arguments, and common sense
[4] แปลจาก Small islands not capable of protecting themselves, are the proper objects for kingdoms to take under their care; but there is something very absurd, in supposing a continent to be perpetually governed by an island
[5] ประโยคเต็มๆ คือ Ye that tell us of harmony and reconciliation, can ye restore to us the time that is past? Can ye give to prostitution its former innocence?
[6] แปลจาก Society is produced by our wants, and government by our wickedness
[7] วัชชิรานนท์ ทองเทพ. (31 ส.ค. 2563). ประชาชนปลดแอก: กระแสความนิยมหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เกี่ยวพันอย่างไรกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53970497