เกม การทำให้เป็นเกม และนวัตกรรมทางความคิด: การใช้เกมในการสร้างการศึกษาความเป็นพลเมือง
Game, Gamification and Thinking Innovation: Gaming for Civic Education
ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์
2 ตุลาคม 2563
“เมื่อก่อนเกมเป็นผู้ร้ายในสังคมเสมอ แต่วันนี้เราจะมาทำให้เห็นว่าเกมก็มีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ได้”
– รัชกร เวชวรนันท์ หรือ บอส จากเพจ Boss Lab Board Game
I
ในปัจจุบัน การเรียนรู้จากการเรียนการสอนในห้องเรียนด้วยวิธีแบบดั้งเดิม คือการมีครูคนหนึ่งยืนพูดอยู่หน้าห้อง กับนักเรียนจำนวนมากที่นั่งฟังอยู่ตามโต๊ะเรียนนั้นได้ถูกลดความสำคัญลงไปมาก อาจเป็นเพราะการเรียนแบบปกติในห้องเรียนนั้น เป็นเพียงการรับสารจากครูผู้สอนเท่านั้น การรับสารจึงไม่ได้เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือการเข้าไปมีประสบการณ์โดยตรงกับเรื่องนั้น ๆ ทำให้ความเข้าใจที่มีต่อเรื่องนั้น ๆ อาจจะไม่เท่าการได้มีประสบการณ์โดยตรง เกมจึงเป็นคำตอบหนึ่งในการเติมเต็มช่องว่างนั้น ที่ทำให้นักเรียนได้เป็น “ผู้เล่น” ที่มีส่วนร่วม ในการ “เล่น” ได้จริง
เหตุการณ์ต่าง ๆ จึงเป็นเสมือน “ปรากฎการณ์” (phenomenology) ที่การที่เราจะสามารถเข้าถึงสิ่งๆ นั้นได้นั้น เราจะต้องมีประสบการณ์ หรือความสำนึกรู้ต่อสิ่งนั้น (consciousness of/towards [something])[1] เราจึงจะสัมผัสและรับรู้เชื่อมโยงกับสิ่งนั้นได้จริง ซึ่งความรู้ก็เช่นเดียวกัน ความรู้เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ที่ต้องอาศัยประวัติศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อน ในแง่นี้ประวัติศาสตร์จึงเป็นเสมือนแพลตฟอร์ม (platform) ในการดำเนินเรื่อง ทำให้การได้รับ (conceive) ความรู้นั้นต้องอาศัยเวลาและพื้นที่ในการก่อตัว ซึ่งการก่อตัวนั้นก็เกิดจากประสบการณ์นั่นเอง ดังนั้น ความรู้ในแง่นี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บทเรียนจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนนั่นเอง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมจึงไม่สามารถตอบโจทย์การก่อเกิดขึ้นของความรู้ในตัวนักเรียน การเรียนรู้จึงต้องการประดิษฐกรรมทางความรู้ หรือนวัตกรรมทางความคิด (knowledge innovation หรือ thinking innovation) ที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้นักเรียน/ผู้เรียน ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และเข้าถึงตัวเนื้อหาของการศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งเกม ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งในนั้น
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังพูดถึงนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เมื่อเรานึกถึงนวัตกรรม สิ่งที่เรามักจะนึกถึงอาจจะเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อระบบการเงิน ตลาด หรือระบบเศรษฐกิจ ที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มของลูกค้า/ผู้ใช้บริการ เช่น เปลี่ยนจากการจ่ายเงินแบบเงินสด ไปเป็นการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการใช้บัตรพลาสติกหรือการโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ หรือจะเป็นการเปลี่ยนสถานที่ของตลาดจากคลองถมมาอยู่ในลาซาด้า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก กล่าวคือเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงบังคับที่มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ในโลก หรือที่มักเรียกกันว่า disruption การเกิด disruption ที่หมายความว่าการทำลาย ซึ่งการทำลายนั้นก็หมายความว่าสิ่งเก่าหรือวิถีแบบเก่านั้นจะถูกทำลายไป และสิ่งใหม่ก็จะบังเกิดขึ้น ซึ่งสภาวะแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากนวัตกรรม เช่น ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดงานประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะนโยบายนวัตกรรมไทยในหัวข้อ “นวัตกรรมไทย: รังสรรค์นโยบายสู้วิกฤต” ซึ่งทางสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้เข้าร่วมประชุม ในการประชุมมีการเสนอแนวทางการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนด้านสุนทรียะ จากนั้นก็มีการระดมสมองของผู้เข้าร่วมเพื่อนำไปเสนอนโยบาย ซึ่งผู้นำเสวนาได้เปิดด้วยคำถามที่ว่า “คิดว่าวิกฤตในปัจจุบันมีที่มาจากอะไร” ส่วนมากก็จะเป็นคำตอบเรื่องโรคระบาด แพลตฟอร์ม การเปลี่ยนตลาดของเศรษฐกิจ แต่ในด้านของการเมืองและการบริหารของรัฐยังไม่ค่อยเป็นประเด็นมากนัก แม้จะเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนที่ค่อนข้างมากของปัญหาในการเผชิญกับวิกฤต เพราะรัฐนั้นเป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการและถืออำนาจรัฐ อันเป็นกลไกสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น การรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ แม้กระทั่งโรคระบาดที่คาดไม่ถึงนั้น รัฐก็มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องรู้เท่าทัน “disruption” ของโลก ด้วยเหตุนี้เอง นวัตกรรมทางความคิด ที่จะนำมาสร้างสรรค์นโยบายใหม่ ๆ ที่สอดรับต่อความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก นวัตกรรมทางความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ
เมื่อมีนวัตกรรมทางความคิดที่จะนำไปสู่การออกแบบต่าง ๆ เพราะแน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความคิด การจะสร้างระบบการเมืองที่ดี ก็ต้องอาศัยนวัตกรรมทางความคิดเช่นกัน แม้ว่าเราจะต้องการให้เกิด “ปรากฎการณ์” เพื่อให้ผู้คนมีส่วนร่วมในระบบการเมือง แต่หากต้องการประสบการณ์ที่ดีที่เป็นที่มาของปรากฎการณ์ ก็ต้องมีความคิดที่ดีก่อน เพราะฉะนั้นนวัตกรรมทางความคิดที่จะนำมาสู่การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงต้องอาศัยความคิดที่เป็นประชาธิปไตย เพราะความเป็นประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบด้วยประชาชน เพราะ demos ที่แปลว่าประชาชนนั้นเป็นส่วนสำคัญใน democracy ดังนั้น “นวัตกรรมทางประชาธิปไตย” จึงเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่จะนำไปสู่การออกแบบการเมืองใหม่ ๆ ที่จะออกแบบวิธีการ วิถีทาง หรือเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่จะดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้การปกครองและการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ วางอยู่บนความรับรู้ ความร่วมมือ และความสำนึกรู้ของประชาชนต่อการบริหาราชการของรัฐมากยิ่งขึ้น[2] เช่น ในกรณีของประเทศไต้หวัน ที่สร้างแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็น เป็นการสำรวจความคิดเห็นที่ไม่ได้มีเพียงแค่การลงมติที่กำหนดคำตอบให้มีแค่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย แต่เป็นพื้นที่ที่ระดมความคิด เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ในสังคม เช่น ในกรณีข้อถกเถียงว่าควรจะอนุญาตให้มี Uber หรือบริการรถแท็กซี่ที่ใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเรียกบริการรับส่งที่คนขับใช้รถส่วนตัว ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถโดยสาร การทำแบบนี้จะเป็นการเบียดเบียนผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่หรือไม่ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว จะผิดศีลธรรมด้วยหรือหรือไม่[3] คำตอบเหล่านี้ไม่มีทางได้มาจากการลงมติแบบทวิลักษณ์ (dichotomy) ที่ต้องเลือกจะหว่างซ้ายหรือขวา แต่ต้องเป็นการอภิปราย ถกเถียง เพื่อให้ได้มาซึ่งการตกผลึกทางความคิด และนำไปสู่ข้อเสนอ หรือการตัดสินใจที่ทุกฝ่ายยอมรับ
นอกจากนี้ หน่วยงานราชการในสหราชอณาจักรก็ได้เริ่มใช้นวัตกรรมประชาธิปไตย มาปรับใช้กับประชาชน[4] เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย สถานะพลเมืองของตนเอง สิทธิความเป็นพลเมือง และสร้างให้เกิดความตระหนักถึงการมีส่วนร่วม ตลอดจนการสร้างความเข้าใจในการตัดสินใจ (decision-making)[5] การอบรมให้ประชาชนเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิตอล โดยผ่านการกระจายอำนาจโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าถึงประชาชน จึงเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาราชการของรัฐ[6] นำไปสู่การตั้งสมัชชาพลเมือง (citizens’ assembly)[7] ซึ่งแม้ว่าการใช้นวัตกรรมประชาธิปไตยในแนวทางนี้จะเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะ (public sphere)[8] ให้กับประชาชนในชุมชนได้เข้ามาพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน[9] จะเป็นลักษณะของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy)[10] ที่สุดท้ายก็ต้องการฉันทามติ แต่อย่างน้อย มันก็ทำให้เกิดความเข้าใจต่อการมีส่วนร่วมที่ต้องอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่ไม่เห็นด้วยอย่างสันติ และเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
II
ในแง่นี้ เกมจึงนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง เพราะเกมนั้นตอบโจทย์ถึงทั้งการมีส่วนร่วม ความรับรู้หรือสำนึกรู้ของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ เพราะ เกมนั้นต่างกับการรับรู้ผ่านสื่อบันเทิงอื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือเพลง หรือแม้กระทั่ง podcast ที่ผู้ชม/ผู้ฟัง ทำได้เพียงรับสารอยู่ฝ่ายเดียว เพราะเกมนั้นให้ผู้เล่นได้เข้าไปเล่นเอง เจอประสบการณ์ด้วยตัวเอง อีกทั้งเกมยังมีการตั้งเงื่อนไขและกติกาบางอย่าง เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ในการเล่น เกมจึงเป็นเกมได้ก็ต่อเมื่อมีกติกา ให้ผู้เล่นทุกคนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน การแข่งขันในเกมภายใต้เงื่อนไขและกติกาเดียวกันจึงทำให้เกมได้สร้างโลกเสมือนที่มีจักรวาล (cosmology) เฉพาะตัวหนึ่ง ๆ ขึ้นที่กำหนด การเล่นเกมจึงเป็นเสมือนการเข้าไปสู่โลกของเกมที่มีเงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้เล่นโดยเฉพาะ เป็นการสร้างตัวตนใหม่ของผู้เล่นให้ยอมรับเงื่อนไขและมีความเท่าเทียมกับผู้เล่นคนอื่น ๆ
การเล่นเกมจึงเป็นการจำลองความเป็นพลเมืองในจักรวาลของเกม จึงเป็นการต้องเรียนรู้ถึงการเป็นพลเมืองของชุมชนทางการเมืองหนึ่ง ๆ เป็นการศึกษาความเป็นพลเมือง (civic education) ไปโดยปริยาย โดยเกมนั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากโลกมนุษย์คือ เกมนั้นจะไม่อนุญาตให้ผู้เล่นเล่นต่อไปได้ หากไม่ทำตามกติกาและเงื่อนไขของเกม เกมจึงเป็นลักษณะของการสอนโดยให้ประสบการณ์จริงแก่ผู้เล่น ต่างจากโลกของมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นอนาธิปไตย (anarchy) ที่มนุษย์สามารถจะทำอะไรก็ได้ แม้จะมีกฎหมายมาเป็นข้อห้าม แต่ก็ยังมีการละเมิดกฎหมายอยู่ และกฎหมายนั้นก็ไม่ได้กระทบต่อมนุษย์ และที่สำคัญคือ การเล่นเกมนั้นเมื่อแพ้ หรือพลาดแล้ว สามารถกลับมาเล่นใหม่ได้ แต่ในโลกมนุษย์หากพลาดก็อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น การเรียนรู้ผ่านเกม โดยให้เกมเป็นเครื่องมือ จึงเท่ากับเป็นการฝึกฝนให้รู้จักเคาระกติกาและเงื่อนไขในบริบทของชุมชนการเมืองหนึ่ง ๆ เพื่อที่เมื่อออกมาจากเกมแล้ว จะได้นำมาปรับใช้ในโลกมนุษย์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชีวิตจริงของมนุษย์นั้นอาศัยอยู่
การทำให้กลายเป็นเกม (gamification) นั้นคือการนำสิ่งที่เป็นวัตถุที่เราต้องการจะศึกษา มานำเสนอในรูปแบบเกม โดยผ่านการออกแบบให้ผู้เล่นได้มีประสบการณ์ในการเล่นและเข้าใจกับมัน เช่นเดียวกันกับทาง Modern Civics Projects ที่ได้พยายามวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่จะสามารถนำมาทำเป็น game-based learning หรือการเรียนรู้ที่มีพื้นฐานมาจากเกม และพยายามจะผลักดันให้ game-based learning มีพื้นที่ในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการศึกษาความเป็นพลเมืองมากขึ้น[11] โดยรูปแบบของเกมจะเป็น simulation หรือเกมจำลองเหตุการณ์ เพื่อเป็นการให้ผู้เล่นได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ทำให้เกิดความรู้ที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนของสถานการณ์นั้น ๆ หรือนำไปปรับใช้เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์นั้นจริง ๆ เช่น เกมที่เรียนรู้กระบวนการไต่สวนในศาล เกมที่เรียนรู้ระบบของศาลและการดำเนินการ โดยผู้เล่นจะรับบทเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาประชาชนที่มาใช้บริการ เกมแนะนำหน่วยงานราชการของสหรัฐอเมริกา เกมการเลือกตั้ง เกมแนะนำสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งเกมที่สอนถึงรากเหง้าประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับสีผิว[12] ซึ่งล้วนแต่เป็นเกมที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง ที่จะนำการมีส่วนร่วมในเกมไปปฏิบัติและสร้างสรรค์สังคมได้ในอนาคต
III
สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับมูลนิธิฟรีดิช เนามัน (ประเทศไทย) (Friedrich Naumann Foundation (Thailand)) และสำนักวิชาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้จัดงานเทศกาลเกมประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมี เพื่อเป็นการเปิดให้นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมเล่นเกมที่ทางมูลนิธิฯ และทีมงานได้เตรียมไว้ ซึ่งมีบางช่วงบนเวทีได้มีการเสวนาเกี่ยวกับนวัตกรรมเกม และการนำเกมมาปรับใช้ในการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง การเมือง และประชาธิปไตย[13]
ขวัญข้าว คงเดชา นักวิชาการจากสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดคำถามแรกด้วย “เกมเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีหรือไม่ เพราะแต่ก่อน เกมจะถูกมองในเชิงลบ” ให้วิทยากรแต่ละท่านได้แสดงทัศนะ
ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดิช เนามัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า “นี่คือโจทย์แรกที่จะทำเกม … เมื่อได้ยินคำว่าประชาธิปไตยในห้องเรียนครั้งแรก ก็ยังไม่เข้าใจ เพราะเป็นคำที่เข้าใจยาก จนกว่าจะได้มีประสบการณ์บางอย่างกับมัน ดังนั้นเมื่อวิชาความรู้ที่เรียนยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในจิตในใจของเรา ก็ยากที่จะเข้าใจได้ … ด้วยความที่มูลนิธิมาจากเยอรมัน ที่เยอรมันจะนิยมเล่นบอร์ดเกม (board game) กันเยอะ จึงคิดว่าควรจะมีเกมในประเทศไทยที่ช่วยในการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านประสบการณ์ (experience-based game) จึงออกแบบให้เป็นเกมที่มีส่วนร่วม การทำเกมจึงต้องคิดวางแผนก่อนว่า เกมนี้อยากจะให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง หรือทฤษฎีอะไร เช่น เรื่องธรรมาภิบาล การเลือกตั้ง และจึงหากลไกของเกมที่ผู้ออกแบบจะต้องคำนึงว่าผู้เล่นจะได้อะไรจากเกมนี้ เกมอาจจะแบ่งเป็น เกมเพื่อความสนุก กับเกมเพื่อการศึกษา เกมจึงไม่ได้เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีเพียงอย่างเดียวเหมือนที่เคยถูกมอง แต่ยังคงสอนในเรื่องการมีส่วนร่วมและยังเป็นการศึกษาได้อีกด้วย”
จากนั้น ดร.วิศวัฒน์ สกุลศักดิ์นิมิต ผู้ร่วมก่อตั้ง Boss Lab Board Game และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้กล่าวต่อไปว่า “ผมสอนเคมี เวลาสอนเคมีนักศึกษามันจะเหม่อ ตาลอย เพราะ บทเรียนไม่เข้าหัว จึงอยากจะสร้างแรงจูงใจให้เข้าถึงบทเรียน จึงสร้างสื่อ ซึ่งก็คือบอร์ดเกม เพราะง่าย หากเป็นเกมคอมพิวเตอร์ก็จะยากทั้งผู้เล่นและผู้สร้าง” นอกจากนี้ ดร.วิศวัฒน์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สื่อมีหลายประเภทที่ให้ความสนุกสนาน ยกตัวอย่างเช่น เกมหรือหนัง แต่เกมต่างกับหนังตรงที่เกมทำให้เราได้เข้าไปเล่นกับมันโดยตรง และเราก็ยังสามารถลองผิดลองถูกกับมันได้ และยังสามารถเรียนรู้ไปกับมันได้ด้วย”
อาจารย์เนรมิต จิตรรักษา คณบดีสำนักวิชาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า “ได้ริเริ่มพัฒนาเกมเพราะเมื่อก่อนในการเรียนการสอนจะต้องท่อง ยิ่งเป็นเรื่องการเมือง รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือแม้แต่หน่วยงานราชการ ต่อมาได้พบกับมูลนิธิฯ Boss Lab board Game จึงได้จุดประกายสร้างเกมเพื่อการเรียนรู้ และเกมก็ยังเป็นสิ่งท้าทาย เพราะการเล่นก็ต้องการที่จะชนะ ดังนั้นเราจึงต้องใช้กลยุทธ ต้องคิดในการเล่น ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ (โดยไม่รู้ตัว)”
ด้าน รัชกร เวชวรนันท์ หรือ บอส จากเพจ Boss Lab Board Game กล่าวว่า “เป็นคนชอบเล่นเกม เพราะเล่นแล้วได้ประโยชน์ เช่น เมื่อก่อนเล่นการ์ดยูกิ จึงได้รู้ภาษาอังกฤษจากการ์ดยูกิ เพราะอยากรู้ว่าการ์ดใบนั้นมีคุณสมบัติอะไร ดังนั้นเกมจึงมีประโยชน์มากกว่าที่จะคิดว่าเป็นโทษ อีกทั้งเกมยังมอบประสบการณ์ให้กับผู้เล่น เกมมักจะจำลองประสบการณ์ที่ไม่พบมากนักในชีวิตจริง เป็นการฝึกแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลองที่เกมมอบให้ หากเล่นดี ผลลัพธ์ก็จะออกมาดี หากเล่นไม่ดี ผลลัพธ์ก็จะออกมาไม่ดี ในต่างประเทศมีการใช้เกมในการเรียนการสอนแล้ว แต่ในไทยยังไม่มี จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทำ อีกทั้งบอร์ดเกมยังทำให้เราได้เห็นปฏิกิริยาของผู้ที่ร่วมเล่น ทำให้ได้ศึกษาการมีส่วนร่วมของการเล่นเกม และเชื่อว่า เกมเพื่อการศึกษายังสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ในอนาคต”
ต่อมา ดร.อภิญญา ดิสสะมาน นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า “เคยได้ร่วมมือกับทางมูลนิธิฟรีดิช เนามันในการสร้างเกม ที่ช่วยการเรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง (conflict management) จากเกม Peace Socracy ที่สอนให้รู้จักการแก้ปัญหาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเมื่อเกิดความขัดแย้ง ทำให้เข้าใจถึงความต้องการของทั้งสองฝ่าย โดยการสังเกต นำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยตนก็มีบุตรสองคน การจะสอนบุตรจึงไม่ใช่เรื่องง่ายในยามที่บุตรยังเด็ก จึงใช้เกมในการสอน เพราะเกมทำให้บุตรมีความสนใจด้วย เพราะมีความสนุก เกมจึงทำให้เกิดพัฒนาการ ทำให้เกิดการคิดที่เป็นระบบ ต้องมีการวางแผน สะท้อนถึงการวางแผนชีวิตของเรา การเล่นเกมจึงเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
โดยสรุปวิทยากรทุกท่านพูดถึงการใช้เกมที่แต่ก่อนอาจถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายของสังคม มาประยุกต์ใช้ในแง่ของนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเกม เทคโนโลยี และเนื้อหาสาระทางวิชาการที่ต้องการใส่เข้าไปในเกม การผสมผสานทั้งหมดนี้จึงเป็นไปเพื่อการดึงศักยภาพของนวัตกรรมทางความคิดมาให้มากที่สุด โดย ดร.พิมพ์รภัช ได้ทิ้งท้ายว่า “มีแผนจะพัฒนาไปเป็น B-sport การแข่งขันบอร์ดเกมระดับชาติ ร่วมกับกรรมาธิการรัฐสภา นอกจากนี้ ยังมีเกม Democracy Timeline เป็นเกมทดสอบความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ต้องเรียงลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์ในไพ่ที่ผู้เล่นได้รับ[14] สุดท้ายก็จะมีการเฉลย และได้ความรู้ที่ถูกต้องในที่สุด โดยสามารถเล่นได้ทางออนไลน์ ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาจากบอร์ดเกมไปเป็นเกมออนไลน์ หรือนำเกมที่มีฟังก์ชั่นในการเรียนการสอนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เว็ปไซต์หรือแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ การเรียนรู้โดยเกมจึงอาจพัฒนาไปสู่การเรียนรู้โดยเกมออนไลน์ และพัฒนาไปสู่ digital democracy หรือประชาธิปไตยดิจิตอล เหมือนกับกรณีไต้หวันที่ได้กล่าวไปข้างต้น”
IV
โดยสรุปตั้งแต่ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราพยายามตั้งโจทย์เพื่อหาเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน โดยได้กล่าวว่าการเรียนรู้ต้องการประสบการณ์ ความรับรู้ของมนุษย์นั้นต้องการการเข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์นั้นโดยตรง ดังนั้นเกมจึงเป็นคำตอบที่มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเรียนรู้ นอกจากการอ่านหนังสือและฟังจากครูสอนในห้องเรียน แน่นอนว่า หลังจากการเล่นเกมแล้ว จะต้องมีการพูดคุยและอภิปรายผลจากการเล่นเกม เพื่อสรุปและถอดบทเรียนที่ได้รับจากการเล่นเกม ให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมากขึ้นว่าเราได้อะไรจากการเล่นเกม การอภิปรายจึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ที่นักเรียนได้จากการเล่นเกม ทำให้ผู้เรียนได้รู้สึกว่าเขานั้นมีส่วนร่วมในการเล่นเกมโดยแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการกำหนดทิศทางและทำหน้าที่เชื่อมโยงประสบการณ์จากเกมเหล่านั้นให้เข้ากับหลักทฤษฎีหรือบทเรียนนั้น ๆ ที่ผู้สอนต้องการจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เกมจึงเป้นเครื่องมือที่สำคัญในการเชื่อมโยงบทเรียนหลักเข้ากับประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้สัมผัส ยิ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยแล้ว การใช้เกมที่ต้องการให้ผู้เล่นมีส่วนร่วมย่อมเป็นการจำลองสถานการณ์จริงที่ต้องการให้เรียนรู้ไปในตัว
เกมจึงพาผู้เรียนเข้าไปมีจิตสำนึกต่อบทเรียนนั้น ๆ จริง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงการท่องจำ หรือการอ่านหนังสือที่แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการสัมผัสกับประสบการณ์อย่างจริงจัง การมีจิตสำนึกต่อบทเรียนนั้น ๆ จะทำให้ผู้เรียนรู้สึก “อิน” หรือ “เข้าถึง” บทเรียนนั้นจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องพยายามหรือฝืนใจในการเรียนรู้ การเรียนรู้ในปัจจุบันจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในแบบแผน หรือวิธีการเดิม ๆ ที่มีลักษณะถูกแช่แข็งให้อยู่ตามสภาพเดิมเป็นเวลานาน เมื่อโลกหมุนไปและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน การเรียนการสอนและวิธีการเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไปหยุดนิ่งอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง วิธีที่เราจะเลือกเกมมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้จึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในอีกหลากหลายทางเลือก และแน่นอนว่ายังคงมีอีกหลากหลายทางเลือกที่รอการค้นพบเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการเรียนการสอน หรืออาจจะมีชิ้นส่วนของวัตถุดิบต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในโลกใบนี้ ที่รอการนำมาร้อยเรียงและประดิษฐ์ให้เป็นเครื่องมือใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ต่อไป ตราบเท่าที่สิ่งที่สำคัญที่สุดของนวัตกรรมทางความคิด ซึ่งก็คือมนุษย์และความคิดของมนุษย์นั้นยังคงอยู่
References
Bowie, A. (2003) Introduction to German Philosophy: From Kant to Habermas, London: Polity.
Habermas, J. (2011) The Structural Transformation of the Public Sphere: An Inquiry into a Category of Bourgeois Society, London: Polity.
Habermas, J. (2009) Between Facts and Norms: Contributions to a Discourse Theory of Law and Democracy, London: Polity.
Stirling, A. (2015) Towards innovation democracy? Participation, responsibility and precaution in the politics of science and technology, STEPS Working Paper 78, Brighton: STEPS Centre
[1] https://plato.stanford.edu/entries/phenomenology/ (Access 22 Sep 2020)
[2] https://elect.in.th/2020/05/digital-democracy/808/ (Access 22 Sep 2020)
[3] https://www.wired.co.uk/article/taiwan-democracy-social-media (Access 22 Sep 2020)
[4] Stirling, A. (2015) Towards innovation democracy? Participation, responsibility and precaution in the politics of science and technology, STEPS Working Paper 78, Brighton: STEPS Centre
[5] https://www.gov.uk/government/publications/innovation-in-democracy-programme-launch (Access 22 Sep 2020)
[6] https://www.thersa.org/action-and-research/rsa-projects/public-services-and-communities-folder/IID (Access 22 Sep 2020)
[7]https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/896502/IiDP_handbook_-_How_to_run_a_citizen_assembly.pdf (Access 22 Sep 2020)
[8] Habermas, J. (2011) The Structural Transformation of the Public Sphere: An Inquiry into a Category of Bourgeois Society, London: Polity, 27-28
[9] Habermas, J. (2009) Between Facts and Norms: Contributions to a Discourse Theory of Law and Democracy, London: Polity, 289-292
[10]https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/896505/IiDP_case_studies.pdf (Access 22 Sep 2020)
[11] https://www.moderncivicsproject.com/blog/gamebasedlearning (Access 22 Sep 2020)
[12] สามารถลองเข้าไปเล่นได้ใน https://www.icivics.org/games (Access 22 Sep 2020)
[13] สามารถรับชมได้ที่ https://www.facebook.com/fnf.thailand.org/videos/1034674930322704/ (Access 22 Sep 2020)
[14] สามารถลองเล่นได้ที่ https://elect.in.th/game-timeline/ (Access 22 Sep 2020)