ขวัญข้าว คงเดชา
12 ตุลาคม 2563

YOUNG DUMB AND AMAZED
ปลายปี 2562 โลกต่างจับตาดูการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนผู้ออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในหลายประเทศ จนมีการเรียกขานปี 2562 ว่าเป็นปีแห่งการประท้วง เนื่องจากการลุกฮือของประชาชนในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบแบบโดมิโน่[1] ไปยังประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ซิลี เลบานอน โคลัมเบีย เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่าปี 2563 จะเป็นอีกปีแห่งการประท้วง และที่สำคัญจะเป็นการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งเยาวชน นักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่กลุ่ม first jobber (เด็กจบใหม่ หรือผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตการทำงาน)
ในประเทศไทยเองก็ปรากฏกระแสการแสดงออกทางการเมืองด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ หลังจากที่ประชาชนถูกตัดขาดทางการเมืองมานานหลายปี ไม่ว่าจะเป็นการออกมาวิ่งไล่ลุง/เดินเชียร์ลุง หรือการออกมาทำ flash mob ร้องเพลงชาติ ณ บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงปี 2563 นั้นเป็นการเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นแย้ง เช่น บางกลุ่มที่มองการออกมาแสดงออกของกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าเป็นการทำลายความสงบและพาประเทศไทยกลับเข้าไปสู่วังวนของความขัดแย้งเดิม บางกลุ่มเชื่อว่ากลุ่มรุ่นใหม่เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นขั้วตรงกันข้ามทางการเมืองกับรัฐบาล ยิ่งทำให้สถานการณ์ภายในประเทศที่โดนผลกระทบจากโควิด-19 ทรุดหนักยิ่งขึ้น ทว่าสื่อต่างชาติและกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยต่างมองเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในทิศทางบวก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ณ ตอนนี้ จะเห็นได้ถึงนัยยะสำคัญ 2 ประการ
1. การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยเยาวชนในประเทศไทย
การชุมนุมที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งแบบสีเสื้อ มักจะมีกลุ่มประชากรในวัยกลางคนขึ้นไปเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ แต่กรณีปี 2563 จะเห็นได้ถึงการเข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางของกลุ่มเยาวชน และการลดลงของบทบาทของกลุ่มประชากรในวัยกลางคนในฐานะพลังขับเคลื่อนทางสังคม จนเป็นที่สังเกตได้ถึงความแตกต่างระหว่างวัยที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างช่วงวัยมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ เยาวชนไม่ใช่ตัวแสดงใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์สังคมไทย ย้อนกลับไป ประเทศไทยมีการแสดงออกทางการเมืองด้วยการชุมนุมประท้วงหรือสไตรค์จากกลุ่มนักเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2475 หลังการปฏิวัติสยาม[2] ทว่าในหลายปีที่ผ่านมา เสียงของเยาวชนกลับไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในภาคสังคมและการเมืองเสียเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ไม่สามารถเข้าถึงและบางครั้งก็ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเสียด้วยซ้ำ โดยในรายงานวิจัยเรื่อง การรับรู้ต่อการเมืองไทย พ.ศ. 2548-2559 กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง Generation Y กรณีศึกษานักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 5 ภาค ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นทางด้านการเมืองของกลุ่มเยาวชน Generation Y อายุระหว่าง 19-39 ปี ในปีพ.ศ. 2559 ปรากฏผลว่าสำหรับเยาวชนกลุ่ม Generation Y การมีส่วนร่วมทางการเมืองคือการไปใช้สิทธิเลือกตั้งและติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อ ร้อยละ 54.2 แสดงออกว่าไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองเนื่องจากเกรงกลัวผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ อันตรายต่อชีวิต การยอมรับ หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งนี้ยังมองว่าเรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่มีความซับซ้อน ไม่เกี่ยวข้องกับเยาวชนที่ไม่พร้อม ไม่มีความสามารถ และไม่รู้เรื่องการเมือง[3]
จากรายงานดังกล่าว กลุ่มเยาวชนมองเรื่องการเมืองเป็นแค่การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การรับฟังและรับรู้ข่าวสาร หากแต่ไม่ใช่การเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงรุก ดังวาทะที่นิยมใช้กันในสังคมว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก ตั้งใจเรียนหนังสือให้จบเสียก่อน เป็นคำพูดที่สร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เยาวชนจึงไม่ได้ให้ความสนใจการเมืองในฐานะเรื่องรอบตัว และผู้ใหญ่เองก็มองว่าประเด็นทางการเมืองเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนืออำนาจของเด็ก ตลอดมาจึงได้เมินเฉยถึงการมีตัวตนของกลุ่มเยาวชนในแวดวงทางการเมือง หรือในหลายครั้งก็ไม่ให้ค่า ดังในเนื้อเพลงที่ประชาชนไทยเกือบทุกคนในประเทศต่างร้องเป็นอย่าง เด็กเอ๋ยเด็กดี ที่มีเนื้อหากล่าวถึงหน้าที่และขอบเขตของเด็กที่พึงปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อฟังพ่อแม่และอาจารย์ วาจาต้องสุภาพอ่อนหวาน หรือการเป็นคนกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นการสอนให้เกิดการเชื่อฟังและทำตามมากกว่าการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองเหมือนที่การศึกษาในปัจจุบันนั้นพยายามจะผลักดัน เป็นค่านิยมที่เจอกันมารุ่นต่อรุ่นจนกลายเป็นภาพที่ยากจะลบจากสังคมว่าการเป็นเด็กนั้นคือการอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่เท่านั้น นันแหละคือหน้าที่ของเด็กที่ดี หรือเด็กที่จะโตไปประสบความสำเร็จ ดังสุภาษิต เดินตามผู้ใหญ่มาไม่กัด เชื่อฟังผู้ใหญ่ ประพฤติตนตามผู้ใหญ่ก็จะสุขสบายไร้ซึ่งภัยร้ายเช่นกัน ฉะนั้นแล้วในเรื่องของการแสดงออกทางการเมือง
ผู้ใหญ่จึงมองว่าเด็กไม่ประสีประสา และเป็นผู้ใหญ่ต่างหากที่ต้องคอยชี้แนะปลูกฝังความรู้ให้แก่กลุ่มเยาวชนต้องเห็นถูกเหมือนที่ตนคิด การแสดงออกทางการเมืองในปัจจุบันของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจึงเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ใหญ่นั้นไม่ปักใจเชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จากการนึกคิดของเยาวชนด้วยตัวเอง กลับกัน ผู้ใหญ่พร้อมที่จะปักใจเชื่อว่ามีกลุ่มคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ชักจูงเด็กเหล่านี้เสียมากกว่า เหมือนครั้งที่ตนเองนั้นเคยทำกับลูกหลานเมื่อในอดีต
ในปัจจุบัน ยุคที่เทคโนโลยีและช่องทางการรับรู้ข่าวสารมีความรวดเร็วและเข้าถึงง่ายมากกว่าในสมัยที่ผู้ใหญ่คุ้นเคย หมดแล้วซึ่งยุคสมัยที่ประชาชนได้แต่รอรับสารทางเดียว กลุ่มคนรุ่นใหม่มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารที่ต้องการได้ในเวลาอันสั้น โดยไม่จำเป็นต้องรอการรับสารทางเดียวเหมือนเช่นเคย ทั้งยังมีแหล่งข้อมูลให้เลือกอย่างหลากหลายไร้ซึ่งข้อจำกัด ข่าวสารของพวกเขาจึงผ่านกระบวนการของการตรวจสอบเสียส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดความเคลือบแคลงถึงข้อมูลที่ผู้ใหญ่นั้นป้อนให้ในอดีตรวมไปถึงความรู้ในระบบการศึกษาทั่วไป จนเป็นที่มาของคำศัพท์ว่า ‘ตาสว่าง’ และการขุดค้นประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกหนังสือเรียน กลายเป็นการสร้างความตื่นรู้และตื่นตัวทางองค์ความรู้ของกลุ่มเยาวชนที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้เพียงแค่ปลายนิ้วแตะหน้าจอ เมื่อเทียบกันแล้ว ในยุคของกลุ่มผู้ใหญ่ขาดความสะดวกในการเข้าถึงและทรัพยากรทางการศึกษาก็มีอย่างจำกัด จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมผู้ใหญ่บางกลุ่มจึงไม่มีความรู้อื่นนอกจากเรื่องที่สื่อกระแสหลักและระบบการศึกษาทั่วไปได้สั่งสอน และหลายครั้งกลายเป็นการมองว่าสิ่งที่กลุ่มเยาวชนในปัจจุบันพูดนั้นเป็นเรื่องหลอกหลวงหรือเรื่องไร้สาระที่ถูกปั้นขึ้นมาชักจูงโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม ล้อไปกับค่านิยมที่เชื่อว่าเด็กนั้นยังไม่เป็นประสาต้องคอยอยู่ในโอวาทและการควบคุมของผู้ใหญ่ โดยที่ไม่รู้ว่าความปกติของพวกเขา (ผู้ใหญ่) กลายเป็นความรู้ล้าหลังและรู้ไม่จริงในสายตาเยาวชนรุ่นหลัง
เมื่อมีการตื่นรู้ จึงมีการตื่นตัวทางการเมือง จนเกิดกระแสการแสดงออกทางการเมืองแบบใหม่ในสังคมไทย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับยุคสมัย แนวความคิดใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือการวางบทบาทของตนเอง (กลุ่มเยาวชน) เรื่องของการเมืองสำหรับคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่มีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงตั้งรับ (passive) อีกต่อไป แต่เขาทราบและศึกษาถึงสิทธิและความสามารถในการเข้าไปมีส่วนในการเมืองได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปีเพื่อแสดงสิทธิทางการเมืองของตนเอง ทั้งนี้ ที่สำคัญคือการตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่ออนาคตของตัวเอง ผิดกับค่านิยมเก่าที่ว่า เรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องไกลตัว จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีผลต่อชีวิตของบุคคลนั้นๆ อยู่ดี หรือ จะรัฐบาลไหนก็ต้องทำมาหากินต่อไปอยู่ดี ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับค่านิยมที่ผลักเด็กให้ออกจากเรื่องทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนในปัจจุบันจึงไม่ได้โต้กลับแค่ค่านิยมที่อ้างว่าเด็กไม่สมควรมายุ่งเกี่ยวทางการเมือง แต่ยังรวมไปถึงค่านิยมที่ว่าการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องของคนทั่วไปด้วย
สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือระบอบการปกครอง แต่มีคำว่าสิทธิเข้ามาเกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญ เยาวชนรับรู้และเข้าใจถึงคำว่าสิทธิอันพึงมีในฐานะที่เป็นทั้งพลเมืองและมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเหนือร่างกายของตนเอง สิทธิในการแต่งตัว สิทธิทางข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่สิทธิในการแสดงออกทางความคิดเห็น พวกเขาตระหนักรู้แล้วว่าการเมืองสามารถส่งผลกระทบในหลากหลายระดับต่อการดำรงชีวิตได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของข้อความประเภท ‘หากการเมืองดี เราจะ….’ ‘หากประเทศเป็นประชาธิปไตย พวกเราจะ….’ หรือแม้แต่ #การเมืองดี บนสื่อสังคมออนไลน์
จะเห็นได้ว่าการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังสร้างกระบวนการในการขัดเกลาสภาพทางการเมืองของประเทศไทย ตามทฤษฏีว่าด้วยการผลัดเปลี่ยนของรุ่น หรือ Generation Replacement (Abramson and Inglehart, 1992) การผลัดเปลี่ยนหรือการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทนรุ่นเก่านั้นจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมภายในสังคม ท้ายที่สุดเมื่อสามารถเปลี่ยนค่านิยมได้ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางการเมืองให้เป็นไปตามค่านิยมใหม่ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการทดแทนกันของรุ่นคือประชากร แต่ละบุคคลเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ต่างคนจึงต่างมีความทรงจำ ความเชื่อ และค่านิยมที่ต่างกันออกไป ดังแนวความคิดของ Karl Mannheim (1952) ที่ได้อธิบายเรื่องของรุ่น (Generation) ในเชิงสังคมศาสตร์มากกว่าในเชิงชีววิทยา ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่แปลกใหม่เป็นอย่างมาก ทั้งการมองเรื่องทางชีวะภาพผ่านความคิดแบบสังคมศาสตร์และอธิบายในเชิงปรากฏการณ์ทางสังคม ด้วย Mannheim ได้กล่าวว่ากลุ่มของบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นรุ่นเดียวกัน อาจจะมีอายุที่ใกล้เคียงกัน แต่จะต้องผ่านประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่โตขึ้นมาแบบเดียวกัน สามัญสำนึกทางสังคมของรุ่น (common generation consciousness) จะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ในวัยเยาว์ที่ขัดเกลาให้พวกเขานั้นโตขึ้นมามองโลกและเข้าใจโลกด้วยประสบการณ์จากเหตุการณ์เหล่านั้น อาทิ รุ่นของเยาวชนในสังคมปัจจุบันจะมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกันคือเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประสบการณ์นี้อาจจะส่งผลให้รุ่นนี้โตขึ้นมามีค่านิยมรักษาความสะอาดและห่วงใยเรื่องของสุขภาพเป็นสำคัญ แต่ทว่า Mannheim ก็ยังได้อธิบายต่อว่า เนื่องจากประชากรภายในรุ่นนั้นมีความแตกต่างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย ภาษา วัฒนธรรม หรือแม้แต่ชนชั้น ก็สามารถทำให้การมองโลกนั้นแตกต่างกันออกไป จึงไม่ได้มีความเป็นเอกภาพภายในรุ่นหนึ่งรุ่น ยกตัวอย่างกรณีของการแพร่ระบาดดังที่ได้กล่าวไป ประชากรภายในรุ่นนี้ที่มาจากทวีปเอเชียอาจจะมีความเชื่อและการปฏิบัติในการรักษาความสะอาดและสุขภาพของตนเองต่างจากประชากรภายในรุ่นที่มาจากฝั่งตะวันตกก็เป็นได้
ทั้งนี้การศึกษาเรื่องของรุ่นสามารถทำได้หลายรูปแบบ หลายคนพยายามที่จะจับแนวคิดนี้ไม่ทางชีววิทยา ก็ทางสังคมศาสตร์ ซึ่งแท้จริงแล้วการศึกษาเรื่องของวัยนั้นสามารถนำศาสตร์ทั้งสองมาวิเคราะห์แบบควบคู่กันได้ ในแนวคิดเรื่องการผลัดเปลี่ยนของรุ่น แม้จะเน้นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงค่านิยมโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ Abramson และ Inglehart ก็ยังนำเสนอประเด็นในเรื่องของประชากรศาสตร์เป็นสำคัญด้วยเช่นกัน โดยทั้งคู่เสนอให้มองว่าการทดแทนค่านิยมนั้นเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ‘กลุ่มคนรุ่นเก่าที่มีค่านิยมชุดหนึ่งกำลังล้มตาย และพวกเขาถูกแทนที่อย่างต่อเนื่องด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ส่งผลให้เกิดการลดลงของค่านิยมเก่าและเป็นการเพิ่มมากขึ้นของค่านิยมใหม่’[4] ฉะนั้น ปัจจุบันนี้ที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดถดถอย นอกจากจะส่งผลเสียในเชิงเศรษฐกิจแล้วยังส่งผลในทางลบต่อการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมด้วยเช่นกัน สถานการณ์ ณ เวลานี้จึงเห็นถึงการปะทะกันของสองค่านิยมที่มีคำว่ารุ่นและวัยเป็นเกณฑ์สำคัญในการขีดเส้นแบ่งระหว่างทั้งสองฝ่าย
2. ความขัดแย้งระหว่างวัย
ยามเมื่อมีการตื่นรู้ทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เนื่องด้วยการกระทำของกลุ่มเยาวชนย่อมถูกมองว่าเป็นการท้าทายความเชื่อแบบเก่าจนถึงอำนาจของกลุ่มคนในวัยผู้ใหญ่ จึงไม่สามารถหลีกหนีคำอธิบายของการเป็นความขัดแย้งระหว่างวัย หรือที่เรียกกันติดปากว่า generation conflict ได้
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัยนี้ไม่ใช่ปัญหาทางสังคมการเมืองแบบใหม่ แต่เป็นปัญหาที่มีมานานอยู่แล้ว และถูกแปรรูปทวีความตึงเครียดและรุนแรงขึ้นยามเมื่อกลุ่มเยาวชนมีการตื่นรู้ทางองค์ความรู้ที่แตกต่างจากกลุ่มผู้ใหญ่ หากศึกษาย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างวัยเป็นปัญหาภายในองค์กรหรือปัญหาภายในสถาบันครอบครัวเสียส่วนใหญ่ แต่เมื่อยุคสมัยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งในสังคมจึงเคลื่อนย้ายจากเรื่องภายในบ้านมาอยู่ระดับเรื่องภายในประเทศมากยิ่งขึ้น และแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้าก็คือการเคลื่อนย้ายไปสู่ความขัดแย้งภายในโลก อาทิ การร่วมมือกันในระดับระหว่างประเทศของกลุ่มเด็กนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นต้น
ในระดับประเทศและระดับภายในสถาบันครอบครัว จะเห็นถึงความเกี่ยวข้องที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กล่าวได้ว่าในบางครั้งความขัดแย้งภายในครอบครัวก็ส่งผลให้เกิดเป็นความขัดแย้งภายในสังคม เป็นปัญหาภายในครอบครัวที่มีความคล้ายกันจนเกิดเป็นความรู้สึกเกี่ยวข้อง (relatedness) อาทิ วิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน ทุกคนออกมาพูดว่าแท้จริงแล้วมันอาจจะเป็นปัญหาของสังคมที่หล่อหลอมกันมาต่างหากที่ส่งผลต่อการเลี้ยงดูบุตรหลาน ในอีกทางปัญหาทางสังคมก็อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาภายในครอบครัว อาทิ เรื่องของความคิดเห็นทางการเมืองนอกบ้านที่ส่งผลทำให้บรรยากาศภายในบ้านที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันนั้นเกิดความขุ่นมัวขึ้น เป็นต้น
ในกรณีของความขัดแย้งระหว่างวัยในองค์กร ตัวขับเคลื่อนความตึงเครียดระหว่างคนต่างวัยคือทัศนคติแบบเหมารวม (stereotype) ซึ่งคนต่างช่วงวัยกันมักจะมีการรับรู้และภาพจำของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจนว่าบุคคลภายในกลุ่มตรงกันข้ามเป็นคนแบบไหนหรือประเภทอะไร จนทำให้เกิดการแบ่งแยก หรือที่ Urick, Hollensbe et al. (2016) เรียกว่าการแบ่งกลุ่มเขาแบ่งกลุ่มเรา (in-groups และ out-groups) เมื่อศึกษาเรื่องของวัยผ่านความเข้าใจในเชิงตัวตน (identity) จะพบว่ามนุษย์ประสงค์ที่จะจัดประเภทตัวเองและคนอื่นตามความเหมือนและความแตกต่าง เพื่อที่จะเติมเต็มความต้องการในการเข้าสังคมหรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนั้นๆ (Urick, Hollensbe et al., 2016) ทั้งยังเปรียบเทียบตนเองถึงความแตกต่างจากกลุ่มหนึ่ง และเปรียบเทียบตนเองถึงความเหมือนในอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดภายในองค์กรคือคำกล่าวถึงนิสัยการทำงานของคนที่อยู่คนละช่วงวัยกัน เช่น กลุ่มผู้มีอายุมักจะกล่าวหาว่า เด็กสมัยนี้เหยียบขี้ไก่ไม่ฟ่อ ไม่อดทน ไม่สู้งาน เด็กรุ่นใหม่เองก็ขมวดคิ้วให้กับการทำงานของผู้ใหญ่ที่ หัวโบราณ ทำงานล่าช้าแบบระบบราชการ ไม่กล้าออกนอกจากกรอบดั้งเดิม ผลที่ตามมาคือไม่ว่าบุคคลในกลุ่มตรงกันข้ามจะเห็นต่างหรือเห็นด้วยกับกลุ่มของตนเอง ก็ไม่สามารถลบภาพจำที่ฝังอยู่ในสำนึกของกลุ่มได้ เช่น นาย A อาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำงานของกลุ่มวัยตัวเอง แต่ก็ยังไม่พ้นการถูกเหมารวมไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หรือกรณีของเด็กชายคนหนึ่งซึ่งเป็นเยาวชนที่เลือกยืนอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับกลุ่มวัยของตน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถก้าวพ้นการถูกเหมารวมตามค่านิยมและความเชื่อในสังคมว่า เพราะเป็นเด็กถึงได้โดนผู้ใหญ่ชักจูง และในการเหมารวมครั้งนี้ไม่ได้มีแต่ฝ่ายของกลุ่มผู้ใหญ่ที่หยิบยกมาใช้ แต่กลุ่มคนในวัยเดียวกันที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกลับเป็นผู้หยิบยกขึ้นมาใช้โจมตีเสียเอง
แนวความคิดของการเหมารวมวัย (generation stereotype) สามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทางสังคมการเมืองได้ เพราะการเหมารวมมีความเกี่ยวข้องกับค่านิยมในสังคมอย่างมีนัยสำคัญ จึงเห็นได้ถึงการกล่าวหาว่าเด็กรุ่นใหม่นั้น ชังชาติ เนื่องจากค่านิยมตามที่ได้กล่าวไปในข้อหนึ่งและภาพจำของการเหมารวมว่าเด็กรุ่นนี้นั้นมีความคิดในแง่ลบต่อรัฐ ซึ่งในความจริงแล้วความคิดในเชิงลบอาจเป็นการติเพื่อก่อ หรือวิธีการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบของกลุ่มคนวัยนี้ที่ต้องการจะพัฒนาประเทศไม่ต่างจากคนวัยอื่นๆ ในทางกลับกัน เด็กรุ่นใหม่ก็มีภาพจำของผู้ใหญ่ว่าเป็น ไดโนเสาร์ ภายใต้ กะลาแลนด์ ที่ไม่ยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงและไม่ว่าพวกเขาจะพูดอะไรก็ไม่ยอมเชื่อ ฉะนั้นจึงไม่คิดเสียเวลาที่จะพูดกับพวก สลิ่ม เสียดีกว่า
ถึงกระนั้น การเหมารวมวัยก็เป็นเพียงส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดสภาวะตึงเครียด โดยอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยและช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างวัยคือความอัดอั้นตันใจ (frustration) ซึ่งส่งผลให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อต้านกลุ่มคนรุ่นเก่า (Isayev, 2007; Connolly, 2019) ความอัดอั้นที่มีขีดจำกัดนี้เกี่ยวข้องกับบทบาทของอำนาจภายในสังคม ในตัวอย่างของความขัดแย้งระหว่างวัยภายในครอบครัว จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของผู้ใหญ่ที่มีทรัพยากรมากกว่า (จึงเท่ากับมีอำนาจ) และเด็กที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรของผู้ใหญ่ (จึงต้องอยู่ภายใต้อำนาจ) ยิ่งเมื่อเพิ่มค่านิยมดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น สภาวะของเยาวชนจึงตกเป็นผู้พึ่งพิงอาศัยอำนาจของผู้ใหญ่อย่างเด็ดขาด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงเห็นได้ถึงกรณีการตัดหางปล่อยวัดภายในครอบครัวที่มีการทะเลาะกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก ในช่วงเวลาของการประท้วงในหลายเดือนที่ผ่านมาก็เช่นเดียวกัน ปรากฏการข่มขู่ไล่เยาวชนออกจากบ้านหรือไม่ส่งเสียเลี้ยงดูเพราะการแสดงออกทางการเมือง และเพราะผู้กุมอำนาจภายในบ้านนั้นเล็งเห็นแล้วว่าตนเองมีอำนาจสามารถกระทำเช่นนั้นได้
ความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้สร้างผลกระทบทั้งในระดับสถาบันครอบครัวไปจนถึงสังคมส่วนรวมที่มองเด็กเป็นเพียงผู้ไร้อำนาจจากการถูกควบคุม บังคับ และข่มขู่ จึงไม่แปลกหากวันหนึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เผชิญกับประสบการณ์เดียวกันในวัยเยาว์จะจับมือกันลุกขึ้นมาตอบโต้หรือต่อต้านกับอำนาจเก่าของผู้ใหญ่ John Connolly (2017) อ้างถึงแนวคิดของ Norbert Elias ที่กล่าวเพิ่มเติมถึงความอัดอั้นตันใจของกล่มเยาวชนว่ามีเรื่องของโอกาสที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การเข้าถึงโอกาสในชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ถูกควบคุมหรือในบางครั้งก็ปิดบังโดยกลุ่มคนรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการทำงาน โอกาสในความก้าวหน้า หรือแม้แต่โอกาสในการใช้ชีวิต ล้วนถูกกำหนดโดยกลุ่มคนรุ่นเก่าไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ และเมื่อโอกาสในชีวิตที่ถูกบีบให้เหลือเพียงไม่กี่ตัวเลือกผสมเข้ากับความอัดอั้นตันใจในความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของคนทั้งสองกลุ่มจึงส่งผลให้เกิดการปะทุกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มในที่สุด
นักเรียนเอ๋ย นักเรียนเลว
นับตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงในช่วงต้นปี 2563 เราเห็นถึงปรากฏการณ์การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนอย่างต่อเนื่อง หลายคนเชื่อว่าการขับเคลื่อนทางสังคมและการแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทยและอีกหลายประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้หากไม่มีวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงเดือนมีนาคม ทั้งนี้ แม้จะเกิดวิกฤตการณ์ของเชื้อไวรัสและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาด COVID-19 ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสการแสดงของประชาชนได้ ยิ่งเมื่อในสังคมปัจจุบันนั้นมีเครื่องมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เอื้ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงเห็นการเคลื่อนไหวสำคัญหลายเหตุการณ์บนช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงชื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง การสร้างความตระหนักรู้ด้วยการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีสอนในระบบการศึกษาทั่วไป หรือแม้แต่การรวมกลุ่มเครือข่ายนอกประเทศอย่างที่รู้จักกันในชื่อของพันธมิตรชานม (Milk-Tea Alliance) ด้วยเครื่องมือที่มาพร้อมกับยุคโลกาภิวัตน์ทำให้เรื่องของการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว ในบางครั้งก็อาจจะเริ่มมาจากจุดเล็กๆ อย่างวงการแฟนคลับชีรีย์บอยเลิฟ (Boy love: BL) ที่นำพาไปสู่อะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างการร่วมมือกันเรียกหาอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเป็นประชาธิปไตย
เมื่อสภาวการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย ช่องทางออนไลน์เหล่านั้นก็กลายเป็นฐานสำคัญในการผลักดันให้มีการแสดงออกทางการเมืองในช่องทางออฟไลน์ (Offline platform) หรือโลกแห่งความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น เป็นกลไกการทำงานของสองช่องทางแบบคู่ขนานในการแสดงออกทางการเมืองด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับเครื่องมือทันสมัยเหล่านี้ และกระบวนการแสดงออกทางการเมืองแบบนี้คือความแตกต่างที่ผลักให้ช่องว่างภายในสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างวัย เครื่องมือ เทคโนโลยี หรือแม้แต่นวัตกรรมกลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างคนสองช่วงวัย จนอาจจะกล่าวได้ว่าในขณะที่กลุ่มคนผู้มีอายุพยายามจะไล่ตามให้เท่าทัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเครื่องมือพวกนี้ก็นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความได้เปรียบแก่กลุ่มของตนเองแล้ว
ยามเมื่อเครื่องมือพร้อม ปัจจัยที่กระตุ้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างสภาพเศรษฐกิจ ความไม่เสรีเป็นธรรมในสังคม การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และความเหลื่อมล้ำ ในหลายปีที่ผ่านมาผสมเข้ากับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งเป็นแรงส่งให้เกิดการแสดงออกทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลง เยาวชนจากหลากหลายกลุ่มต่างเดินหน้าจัดการประท้วง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ภาพเหล่านี้เราเคยเห็นผ่านตามาในหลายยุคและหลายประเทศ ทว่าสิ่งที่เหมือนจะใหม่สำหรับสังคมไทยคือกลุ่มนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาลงไปที่ออกมาจัดการประท้วงเองเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในต่างประเทศการเดินขบวนของนักเรียนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในบริบทของประเทศไทยกลุ่มเยาวชนที่มักจะมีบทบาททางการเมืองส่วนมากมักจะเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยขึ้นไปเสียมากกว่า การจัดการชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มที่มีชื่อว่า นักเรียนเลว จึงเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางสังคมศาสตร์ที่น่าสนใจ
ในเบื้องต้น มีกระแสการออกมาชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาวเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ในสถานศึกษาจากกิจกรรม ชู 3 นิ้วขณะ เคารพธงชาติ ซึ่งต่อมาก็ถูกกดดันและข่มขู่โดยอาจารย์และผู้ปกครองบางส่วน จนเกิดเป็นการเดินขบวนไปยังหน้ากระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิเสรีภาพภายในโรงเรียนของเด็กทุกคน เป้าประสงค์ของกิจกรรม เลิกเรียนไปกระทรวง คือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจในโครงสร้างระบบการศึกษาไทยที่ไม่มีคุณภาพ เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิทางร่างกาย ทั้งนี้สิ่งที่เป็นประเด็นดึงดูดความสนใจมากกว่าคือกระบวนการและวิธีการจัดการประท้วงของกลุ่มเด็กนักเรียนที่หลายคนกล่าวขานว่าเป็นการ เอาคืนที่เจ็บแสบแบบที่คาดไม่ถึง ตั้งแต่การเลือกเอานกหวีดที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมของ กปปส. (หรือที่เรียกกันว่า ม๊อบนกหวีด) เมื่อ 5-6 ปีก่อนมาเป่ากลับใส่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้เคยเป็นแกนนำ กปปส. มาก่อน จนถึงการร้องเพลงอันเป็นกิจกรรมสันทนาการทั่วไปในรั้วสถานศึกษา “ใครเอ่ยเคยเป่านกหวีด ใครเอ่ยเคยเป่านกหวีด เป่าปี๊ด เป่าปี๊ดไล่รัฐบาลก่อนหน้า…”[5] และเพลง สู้เข้าไปอย่าได้ถอย อันเป็นเพลงประจำการชุมนุมของ กปปส. เพื่อให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้รำลึกถึงความหลังสมัยที่ท่านเคยไปขับไล่รัฐบาลในปี 2556-2557 ทั้งนี้เมื่อกลุ่มทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าไปแทรกตัวเพื่อเจรจากับกลุ่มนักเรียนก็ถูกสกัดด้วยเพลงชาติไทย ณ เวลานั้น หนึ่งในนักเรียนที่ปราศรัยขอร้องให้เหล่าเจ้าหน้าที่หยุดการรุกเข้ามาในบริเวณที่นักเรียนนั่งประท้วงกันอย่างสงบสันติ กล่าวในทำนองว่า ถ้าพวกพี่ไม่ยอมหยุด เรามีวิธีทำให้พี่หยุด ก่อนจะเปิดเพลงชาติเรียกเสียงปรบมือและโห่ร้องของผู้มาร่วมชุมนุม ครั้นเมื่อนายณัฏฐพลได้เดินทางมาถึงยังบริเวณหน้ากระทรวงที่กลุ่มนักเรียนเลวได้ปักหลักประท้วงอยู่ก็เผชิญกับเสียงตระโกน ‘ไปต่อแถว! ไปต่อแถว! ไปต่อแถว!’ เรียกร้องให้รัฐมนตรีทำตามระเบียบสังคมหากต้องการที่จะขึ้นพูดปราศรัยก็ต้องเคารพหลักการทางสังคมและต่อแถวเพื่อรอเวลาของตน
ประเด็นที่น่าสนใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางอำนาจ คำว่า ไปต่อแถว เมื่อย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่าเป็นประโยคคำสั่งที่ถูกใช้มาเป็นเวลาอย่างยาวนานในทุกสถาบันการศึกษา เด็กทุกยุคทุกสมัยเผชิญกับประโยคคำสั่งนี้ในทุกเช้าของชีวิตการเรียน ซึ่งประโยคสั้นๆ เพียงแค่นี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงภาพใหญ่ของอำนาจภายในสถานศึกษาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาของไทย และในวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เด็กนักเรียนซึ่งถูกครอบด้วยประโยคคำสั่งของอาจารย์มาตลอดกลับนำมันขึ้นมากตระโกนสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งของการพลิกกลับของอำนาจผ่านการแย่งชิงความหมาย
สถานศึกษาที่ทำหน้าที่บ่มเพาะอนาคตของชาติ กลายเป็นสถานที่ของการใช้อำนาจที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด นับตั้งแต่การบริหารงานแบบ top-down ไปจนถึงกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว บุคลากรครูมีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายทั้งในทางตรง (ลงโทษหรือให้รางวัล) และทางอ้อม (กดดันเด็ก กลั่นแกล้ง หรือแม้แต่การเมินเฉยต่อเด็ก) บุคลากรทางการศึกษาสามารถสร้างอาณาจักรของตนเอง โดยมีเด็กนักเรียนคอยรับฟังคำสั่ง และหากไม่เชื่อฟังก็จะมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น โรงเรียนจึงกลายเป็นสถานที่แห่งอำนาจในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว วิธีการศึกษา ความคิด การแสดงออก หรือแม้แต่ความฝัน (Osborn, 2019) ‘เด็กไม่มีทางเลือก พวกเขาถูกบังคับให้เข้าโรงเรียน สมัครเข้าเรียนในวิชาที่พวกเราออกแบบ และใช้เวลาตามตารางที่พวกเรากำหนดให้’[6] จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นป้ายประท้วงที่เขียนว่า ‘Our first dictatorship is school’ ในกิจกรรมวันที่ 19
การเดินขบวนของกลุ่มเด็กนักเรียนจึงเป็นการโต้กลับค่านิยมและความเชื่อของคนรุ่นเก่าที่ว่าเด็กนักเรียนนั้นไม่ประสีประสาเรื่องการเมือง เป็นการแสดงออกว่าพวกเขานั้นไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ พวกเขาสนใจเรื่องการเมือง ค้นคว้าหาความรู้ที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา และพร้อมที่จะแสดงออกต่อความไม่ยุติธรรมเพื่อสิทธิและเสรีภาพของตัวพวกเขาเอง
เมื่อมีการกล่าวถึงรุ่นก่อนๆ ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มรุ่นเก่าที่เป็นคล้ายฝั่งตรงกันข้ามเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงวัยห่างกันไม่มาก เช่น กลุ่มรุ่นพี่มหาวิทยาลัย กลุ่มรุ่นพี่ first jobber และอื่นๆ จนเกิดเป็นคำถามว่าเหตุใดกัน กลุ่มพี่ๆ ถึงไม่ออกมาเรียกร้องและรักษาสิทธิของตนเองให้เร็วกว่านี้? ทำไมต้องรอจนถึงรุ่นของพวกเขา? หรือคำถามในเชิงที่ว่าหลายรุ่นที่ผ่านมาก็ไม่เคยมาแสดงออกและเรียกร้องเหมือนเยาวชนรุ่นนี้ กิจกรรมของกลุ่มนักเรียนเลวนั้นเป็นเหตุเป็นผลจริงหรือไม่? ดังที่เคยได้กล่าวถึงในข้างต้นว่าในกลุ่มเดียวของวัยนั้นไม่ได้มีความเป็นเอกภาพที่ชัดเจนจึงเป็นไปได้ที่จะเกิดความแตกต่าง คำถามนี้จึงสามารถอธิบายได้ใน 2 ประเด็น
1. ความตื่นตัวภายในสังคมอยู่ในช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นความไม่พอใจหรือความเคลือบแคลงปรากฏในกลุ่มพี่ๆ แต่ความรู้สึกพวกนั้นกลับมีไม่มากพอที่จะผลักให้พวกเขาออกมา จะมีเพียงแค่ประชากรจำนวนน้อยที่กล้าออกมาสู้เมื่อ 5-6 ปีก่อน ความตื่นตัวทางการเมืองของกลุ่มพี่ๆ ยังมีอยู่ในระดับต่ำดังในรายงานของสถาบันพระปกเกล้า (ศรัณยุ หมั้นทรัพย์, 2562) และถึงแม้มี ก็เป็นเพียงเฉพาะกลุ่ม จำนวนไม่มากเท่าในปัจจุบัน จึงไม่สามารถนำไปสู่การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างในปัจจุบัน
2. การควบคุมจากรุ่นก่อนหน้า ปัจจัยอย่างค่านิยมและความเชื่อในสังคมส่งผลสำคัญต่อการตื่นตัวทางการเมืองของ “กลุ่มพี่ๆ” อย่างที่ได้อธิบายว่ามีเพียงคนจำนวนน้อยที่มีความตื่นตัวทางการเมือง และคนที่ตื่นตัวและกล้าแสดงออกทางการเมืองก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะสังคมในช่วงเวลานั้น กลุ่มพี่ๆ ต้องเผชิญกับการกดดัน การควบคุม และการไม่สนับสนุนของคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา กล่าวโดยย่อคือ แม้พวกเขาจะมีความตื่นตัวหรือไม่ก็ตาม พวกเขาไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้เพราะการจับตามองของคนรุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งผิดกันกับในปัจจุบัน กลุ่มของน้องๆ นอกจากจะมีความตื่นตัวทางการเมืองแล้วพวกเขาทราบดีว่ามีรุ่นก่อนหน้าพวกเขา (กลุ่มพี่ๆ) ที่เผชิญกับสภาวะการกดดันมาก่อนคอยให้กำลังสนับสนุน นี่คือโอกาสของกลุ่มน้องๆ ที่กลุ่มพี่ๆ ไม่เคยได้รับมาก่อนในสังคม
ท้ายที่สุดแล้ว แม้กลุ่มผู้ใหญ่หลายคนจะมองการกระทำของเยาวชนในช่วงนี้นั้นไร้เหตุผลและถูกชักจูง เพียงไม่นานเดี๋ยวก็เลิกตามกระแสกันไป แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วทีละเล็กทีละน้อยพร้อมกับการเติบโตขึ้นของประชากรกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้ต่อให้วันนี้การกระทำของเยาวชนเป็นการกระทำตามกระแส แต่ผลที่ได้คือการสร้างค่านิยมใหม่ในสังคมที่สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติไม่ได้ย่ำอยู่กับที่เหมือนระบบการศึกษาเมื่อหลายสิบปีก่อน กลับกันพวกเขาแสดงให้เห็นว่าในวันนี้แม้การเปลี่ยนแปลงจะยังมาไม่ถึงแต่มันกำลังเริ่มทำงาน ต่างจากรุ่นก่อนๆ เด็กในรุ่นนี้เข้าใจเรื่องสิทธิ เรื่องเสรีภาพ เรื่องของความยุติธรรมที่ควรมี และเรื่องของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เด็กในรุ่นนี้จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าที่พร้อมพัฒนาประเทศไปตามทิศทางของประชาธิปไตยและสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นหลังต่อๆไป เหมือนอย่างกลุ่มพี่ๆ ที่ในอดีตนั้นได้แต่นึกคิดอยู่ภายในใจ วันนี้พวกเขาได้เปิดตัวออกมาให้การสนับสนุนกลุ่มน้องๆ อย่างเต็มที่ ฉะนั้นแล้วที่สื่อต่างชาติบางสำนักพูดจึงไม่ได้เป็นประเด็นที่เกินความเป็นจริง การแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนี้อาจจะประสบความสำเร็จแล้วก็เป็นได้
[1] ผลกระทบแบบโดมิโน่ หรือ Domino effect เป็นการเปรียบเทียบผลกระทบที่มีผลต่อกัน คล้ายกับตัวต่อของโดมิโน ซึ่งเมื่อตัวใดตัวหนึ่งล้มจะส่งผลให้ตัวอื่นๆ ล้มลงตาม ในกรณีทางการเมืองอาจจะกล่าวได้ถึงพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งประเทศและส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นหรือมีการทำตามอย่าง
[2] การแสดงออกทางการเมืองโดยกลุ่มนักเรียนครั้งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักเรียนหญิงจากโรงเรียนสตรีวิทยาทำการเดินขบวนสไตรค์เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจค่อพระนิพิฐนิติสาสน์ (เชย สิงหเสนี) ที่พูดจาดูถูกนักเรียนหญิงว่า ‘….หน้าที่ของผู้หญิงก็มีแต่การเหย้าการเรือน การที่กระทรวงธรรมการได้ให้การศึกษามาได้เพียงเท่านี้ก็เป็นการดีเกินอยู่แล้ว….’ (ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช, 2020)
[3] ศรัณยุ หมั้นทรัพย์ (2562) การรับรู้ต่อการเมืองไทย พ.ศ. 2548-2559 กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง Generation Y กรณีศึกษานักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 5 ภาค สถาบันพระปกเกล้า
[4] ‘More Materialist Europeans are dying off, and that they are being continuously replaced by younger, less Materialist Europeans, generational replacement tends to lead to a gradual decline in the proportion of Materialists and to a gradual growth in the proportion of Postmaterialisits.’ (Abramson and Inglehart, 1992, p.184)
[5] เหล่านักเรียนรวมกันร้องเพลงลามะลิลาในกิจกรรมการเดินขบวน ‘เลิกเรียนไปกระทรวง’ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ณ กระทรวงศึกษาธิการ
[6] ‘Children do not have a choice. They are mandated to attend school, enroll in classes we design, and spend their time in a schedule we dictate’ (Osborn, 2019)
อ้างอิง:
Elena Isayev (2007). Unruly Youth? The Myth of Generation Conflict in Late Republican Rome. Historia: Zeitschrift fur Alte Geschichte, Bd. 56, H. 1 (2007), pp. 1-13
Flora Holmes (2020). 2019 was the Year of the Protest. What about 2020? The Article. Retrieved from https://www.thearticle.com/2019-was-the-year-of-the-protest-what-about-2020
Jennifer Osborne (2019). The Dictatorship That Is School. The Medium. Retrieved from https://medium.com/swlh/the-dictatorship-that-is-school-223f972806fe
John Connolly (2019). Generational Conflict and the Sociology of Generations: Mannheim and Elias Reconsidered. Theory, Culture & Society, 2019, Vol. 36(7-8) pp. 153-172. DOI: 10.1177/0263276419827085
Karl Mannheim (1952). The Problem of Generations in Paul Kecskemeti (ed.). Essays on the Sociology of Knowledge: Collected Works, Volume 5. New York: Routledge. p. 276–322.
Paul R. Abramson and Ronlad Inglehart (1992). Generational Replacement and Value Change in Eight West European Societies. British Journal of Political Science, Apr. 1992, Vol. 22, No. 2, Pp. 183-228.
Urick, Hollensbe, Masterson and Lyons (2016). Understanding and Managing Intergenerational Conflict: An Examination of Influences and Strategies. Work, Aging and Retirement, 2016, Vol. 00, pp.1-20. Doi: 10.1093/workar/waw009
ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช (2563) การชุมนุมประท้วงของนักเรียน คนรุ่นใหม่สมัยคุณปู่ หลังการปฏิวัติ 2475 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 สืบค้นจาก https://themomentum.co/thai-students-uprising-after-siamese-revolution-2475/?fbclid=IwAR2mlwgu6g-tHuVoodXszqLJNmD6K3Mfe_0MOweca3PXoL6FMdwmfYpqi5c
ศรัณยุ หมั้นทรัพย์ (2562) การรับรู้ต่อการเมืองไทย พ.ศ. 2548-2559 กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง Generation Y กรณีศึกษานักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 5 ภาค สถาบันพระปกเกล้า