ขวัญข้าว คงเดชา
20 ตุลาคม 2563

‘Cause Anywhere with you feels right. จะที่ไหนก็ได้ แต่อาจจะไม่ใช่ที่กรุงเทพ
‘Cause anywhere with you feels right
Anywhere with you feels like
Paris in the rain
Paris in the rain
We don’t need a fancy town
Or bottles that we can’t pronounce
‘Cause anywhere, babe
Is like Paris in the rain
When I’m with you ooh ooh ooh
เนื้อเพลงของ Lauv กล่าวถึงสถานการณ์ของฝนพร่ำและความโรแมนติคที่เมืองหลวงของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานครไม่น่าจะมีวันได้สัมผัส (ในเร็ววันนี้) ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกันวิ่งเหยาะๆ หนีฝนโดยที่ไม่หกล้มจมน้ำขังรอการระบาย การนั่งเหม่อมองเมืองที่ฐานน้ำพุ ณ ลานจตุรัสอันเป็นพื้นที่สาธารณะไม่ใช่ลานน้ำพุกว้างๆ ของห้างใจกลางเมือง การเต้นรำบนท้องถนนเวลากลางคืนที่ว่างเปล่า ไม่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ดึกขนาดนี้รถมันยังติดอีกเหรอวะ? การเดินฟังเพลงบนทางเท้าที่ข้างขวาคือถนนโล่งๆ ไร้ซึ่งมลภาวะจากการจราจรติดขัดของรถนับล้านคัน และข้างช้ายเป็นพุ่มดอกไม้ที่เบ่งบานอย่างสวยงามแทนขยะเปียกกองสุ่มและสายไฟที่หย่อนลงมาเฉียดหัว ไม่ต้องกังวลว่าหากเดินไม่ก้มมองเท้าแล้วจะตกท่อโดยไม่ทันรู้ตัว หรือไม่ต้องกลัวว่าหากใส่หูฟังจะไม่ได้ยินเสียงบีบแตรของมอเตอร์ไชค์ที่เร่งรีบขับย้อนศรบนทางของคนเพราะรถติด การกระโดดขึ้นรถบัสในยามคำคืนเพื่อไปที่ไหนก็ได้แล้วชมทัศนียภาพรอบกายในยามวิกาล โดยไม่ต้องกลัวความตีนผีของรถสาธารณะที่ปาดขวาเข้าซ้าย หรือไม่ต้องกลัวตายเพราะหลงไปอยู่ส่วนไหนของกรุงเทพแล้วไม่มีรถกลับบ้าน
แน่นอน ในกรุงเทพสิ่งที่ได้กล่าวไปนั้นอาจจะสามารถทำได้ ในหนังไทยหลายเรื่องก็เห็นความโรแมนติคสไตล์ฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นการยืนคุย ณ สะพานตากสิน หรือนั่งมองแม่น้ำเจ้าพระยา แต่คำถามสำคัญคือประชากรภายในกรุงเทพกี่คนที่สามารถทำตัวโรแมนติคได้อย่างในหนัง ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศ สิ่งที่เขาเห็นในหนังไม่ใช่สิ่งไกลตัว เพียงแค่เดินออกจากบ้านไม่กี่สิบนาทีก็สามารถไปทิ้งตัวลงที่ปาร์คท่ามกลางแดดแล้วนอนตักอ่านหนังสือฟังเพลงกับคู่รักของคุณได้โดยไม่ต้องกังวลอะไร จึงเป็นดังที่ วีรพร นิติประภา (2563) บอก ‘เมืองเฟก คนเฟก ความรักก็เฟก…. เมืองมันไม่มีปัจจัยช่วยให้คนตกหลุมรัก’ กรุงเทพช่างเป็นเมืองที่ไม่โรแมนติคเลยแม้แต่น้อย
นอกจากไม่มีความรักในเมืองหลวงแห่งนี้แล้ว
ยังไม่มีความปลอดภัยอีกด้วย…
หาความรักว่ายาก หาความปลอดภัยในกรุงเทพกลับยากยิ่งกว่า
ไม่ใช่ว่าเมืองหลวงที่เป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างกรุงเทพไม่ปลอดภ้ย เมื่อเทียบกับหลายประเทศและสถานที่ท่องเที่ยว กรุงเทพคือประเทศที่ 47จาก 60 ประเทศทั่วโลกที่มีความปลอดภัยดีเยี่ยม (EIU, 2019) ทว่าประเด็นสำคัญที่หลายคนเห็นอยู่ทุกวันแต่ก็ทำลืมไปบ้างคือความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของประชากรในเมืองหลวงแห่งนี้ ความปลอดภัยในความหมายนี้จึงสื่อถึงทั้งทรัพย์สิน ชีวิต และสภาพจิตใจ มาตรฐานการใช้ชีวิต (the standard of living) ในกรุงเทพเรียกได้ว่าย่ำแย่สำหรับบุคคลทั่วไป สำหรับผู้ที่มีฐานะขึ้นมาหน่อยก็อาจจะกลายเป็นเมืองที่มีการอำนวยความสะดวกครบครัน ทว่าการใช้ชีวิตแบบที่ไม่ใช่แค่การกินนอนทำงานไปวันๆ เรียกว่ายังไม่อาจจะผ่านเกณฑ์เลยด้วยซ้ำ
เราสามารถมองปัญหาของกรุงเทพได้สองมิติ 1. มิติของคนที่ค่อนข้างมีฐานะแต่กลับไม่สามารถใช้ชีวิตได้เพราะการจัดการบริหารเมืองหลวงที่ปิดกั้นโอกาสในการเสพสุขส่วนบุคคล และ 2. มิติของประชากรทุกคน (โดยเฉพาะคนที่ไม่มีฐานะหรือกำลังทรัพย์มากพอในการสนับสนุนตัวเองเท่ากลุ่มแรก) ที่ต้องจำทนอยู่ในเมืองหลวงอันไร้ซึ่งความแน่นอนในความปลอดภัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะการบริหาร โครงสร้าง หรือแม้แต่เรื่องของการวางผังเมือง
มิติที่ 1 ปัญหาโลกที่หนึ่ง[1]
‘คิดอะไรไม่ออก ไม่รู้จะไปไหน ไปเดินห้าง’ กลายเป็นวัฒนธรรมของคนในเมืองกรุง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยให้อยู่ข้างนอกหรือจะเพราะพื้นที่ในเมืองกรุงนั้นไม่มีความเป็นสาธารณะมากเพียงพอ พื้นที่สาธารณะหรือ public space คือสถานที่ที่ประชากรในชุมชนนั้นๆ มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้งานได้อย่างเท่าเทียมไร้ซึ่งอุปสรรคไม่ว่าจะจากสถานะการเงิน เพศ หรือข้อจำกัดอื่นๆ หากพูดตามหลักมันคือสิทธิในการอยู่ในเมือง หรือ Right to the City ที่เสนอขึ้นโดย Henri Lefebvre ในปี 1968 ซึ่งคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หรือเป็นพลเมืองของสถานที่แห่งนั้นหรือไม่ก็ได้
ในกรุงเทพไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็พบแต่พื้นที่ส่วนบุคคล ผู้ที่มีทรัยพ์สินมากก็สามารถครอบครองพื้นที่ในกรุงเทพได้มากกว่า ไร้ซึ่งพื้นที่เปิดสำหรับประชาชนทุกกลุ่มในการทำกิจกรรมต่างๆ จากสถิติ WHO ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการมีสวนภายในเมืองไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ทว่าในปี 2019 กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะเพียง 6.9 ตารางเมตรต่อคน (อลิษา ลิ้มไพบูลย์, 2563) ไม่เพียงพอที่จะผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ และที่สำคัญสถานที่ตั้งก็ห่างไกล ประชาชนต้องเดินทางหลายกิโลเพื่อมายังสวนสาธารณะ ซึ่งยังไม่รวมการจราจลที่ติดขัดและเส้นทางที่ไม่เชื่อมกัน
นอกจากเรื่องของสวนสาธารณะที่เป็นดังพื้นที่สาธารณะขั้นต้น ยังมีเรื่องปัญหาห้องน้ำสาธารณะ พฤติกรรมของคนในเมืองกรุงเลือกที่จะเข้าห้องน้ำตามห้าง หรือไม่ก็สถานที่ราชการและปั้มน้ำมัน ทั้งนี้ในบ้างกรณียังต้องเสียค่าเข้าห้องน้ำคนละ 5 บาท (อย่างต่ำ) ในหลายพื้นที่ ขนาดความต้องการพื้นฐานตามชีวภาพของมนุษย์ยังกลายเป็นเรื่องที่ลำบากภายในเมืองหลวงของประเทศไทย สถานที่สาธารณะเพื่อการศึกษาอย่างห้องสมุดยิ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ย่ำแย่ ในกรุงเทพมีห้องสมุดเพียง 50 แห่งที่เปิดในบริการ และอีกกว่า 100 แห่งที่เป็นห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอีกครั้งจำเป็นจะต้องมีการสมัครสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง และประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งคือจะเห็นพฤติกรรมการเข้าคาเฟ่หรือร้านกาแฟเพื่ออ่านหนังสือมากกว่าการเข้าห้องสมุด
ข้อสังเกตจากประเด็นดังกล่าวคือเรื่องของทรัยพย์สิน ทุกกิจกรรมมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสีย แม้กระทั่งในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่น้อยนิดอย่างสวนสาธรณะหรือห้องสมุดยังต้องเสียค่าเดินทาง เนื่องจากสถานที่ตั้งของสถานที่พวกนี้มักจะกระจุกอยู่ในตัวเมืองมากกว่าการกระจายออกไปยังชุมชนต่างๆ ในเมืองหลวง ซึ่งกลับกันกับกรณีของห้างสรรพสินค้าที่มีการกระจายแทรกตัวไปยังแต่ละพื้นที่อย่างครบครัน
ฉะนั้นแล้วจึงเห็นได้ว่า สำหรับคนที่มีเงินขึ้นมาหน่อยพวกเขาสามารถใช้วันหยุดเดินทางสองชั่วโมงเพื่อไปดูงานอาร์ตแกลเลอรี่ใจกลางเมือง หรือไปดูคอนเสิร์ตที่ต้องรอกว่าหลายชั่วโมงเพื่อที่จะหาที่จอดรถเพราะไร้ซึ่งขนส่งสาธารณะ ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีฐานะสูงกว่ากลุ่มแรกก็คงกดจองตั๋วบินไปแสวงหาความสุขในการใช้ชีวิตที่ประเทศอื่นแทน หากเปรียบเทียบกันแล้วปัญหาในมิติที่ 1 ย่อมมีสภาพเหมือนปัญหาโลกที่หนึ่งและไม่ได้ย่ำแย่เท่ากับปัญหาของมิติที่ 2
มิติที่ 2 ปัญหาขั้นพื้นฐานที่ส่งผลต่อทรัพย์สินและชีวิต
ความปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน (basic human needs) ตามรายงานของ The Economist Unit เรื่อง Safe Cities Index ตัวชี้วัดความปลอดภัยของเมืองแบ่งได้ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ digital security, health security, infrastructure security และpersonal security ในงานชิ้นนี้จะมุ่งความสนใจไปยังความปลอดภัยทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านส่วนบุคคลเป็นหลัก
ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนนาคมไม่เอื้ออำนวยในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเท้าหรือเดินทางด้วยยานพาหนะ หากประชาชนประสงค์ที่จะเดินด้วยทางเท้า นอกจากจะต้องทนสภาพอากาศร้อนและมลภาวะจากข้างถนน ยังต้องเผชิญสภาพของทางเท้าที่ไม่เท่ากันเต็มไปด้วยหลุมและเศษการแตกกระจายของกระเบื้องบนพื้น และเมื่อเงยหน้าขึ้นมองฟ้าก็อาจจะเห็นสายไฟรุงรังที่อาจจะช็อตคนตายเมื่อไรก็ได้แทนก้อนเมฆ ซึ่งถึงแม้ว่าในปี 2563 ระบบไฟฟ้าของไทยจะมีโครงการกรุงเทพเมืองไร้สายแต่ก็จัดการเก็บเสาไฟฟ้าลงดินได้แค่บางส่วนในย่านใจกลางเมืองเท่านั้น ความปลอดภัยของประชาชนเมื่อเดินบนทางเท้าในกรุงเทพที่ว่าแย่อยู่แล้วยิ่งต่ำกว่าเดิมเมื่อมอเตอร์ไชค์ที่หลีกหนีจากติดขัดจากถนนตัดสินใจขึ้นมาวิ่งบนทางเท้าอย่างไร้ซึ่งการควบคุม
การเดินทางด้วยยานพาหนะมีความเป็นไปไม่ต่างกัน ด้วยยานพาหนะส่วนตัวประชาชนต้องเจอกับการจราจลติดขัดหลายชั่วโมง ซึ่งรถติดในกรุงเทพนั้นเป็นในลักษณะของการติดกระทบ กล่าวได้ว่าเมื่อถนนเส้นหนึ่งติด ถนนอีกสิบยี่สิบเส้นก็พากันติดตามไปด้วย จนประชาชนไม่รู้จะเลี่ยงไปทางไหนเมื่อผลสุดท้ายก็คือติดทุกเส้นที่ไป การตัดถนนและออกแบบเส้นทางสัญจรของประเทศไทยทำแบบขยายโดยปราศจากการวางแผนถึงอนาคต หลายคนมักพูดว่าเมื่อสิบปีก่อนใครจะไปคิดว่าตรงนี้จะกลายเป็นชุมชนมีถนนหลักตัดผ่าน และเพราะเหตุนี้การสร้างถนนจึงไม่สอดคล้องรองรับซึ่งกันและกันส่งผลให้เป็นปัจจัยในการเกิดการจราจรติดขัด ทั้งนี้ปริมาณรถที่มากเกินกว่าที่ถนนของเมืองจะรองรับได้เองก็เป็นปัญหาสำคัญ ลักษณะถนนในกรุงเทพเป็นแบบก้างปลา ที่ถนนหลักนั้นมีซอยเชื่อมหลากหลายซอย แต่ซอยพวกนั้นเป็นซอยตัน แล้ในปัจจุบันกรุงเทพซึ่งมีซอยตัน 45% ของถนนทั้งหมด ถนนเส้นรองหรือซอยต่างๆ มักจะเป็นถนนที่เจ้าของที่ดินบริเวณรอบข้างนั้นเป็นผู้จัดการ
ด้านการเดินทางด้วยยานพาหนะแบบขนส่งสาธารณะยิ่งเผชิญหน้ากับปัญหาที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ทั้งไร้ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจำกัดการเข้าไว้ที่ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้น รถโดยสารสาธารณะไม่ได้คุณภาพ อยู่ในสภาพที่ใกล้พัง ประชาชนไร้ซึ่งความมั่นใจแต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากภาวนาไม่ให้รถที่ตนนั่งนั้นเสีย ระเบิด ไฟไหม้ หรือแย่กว่า คือไปท้าชนกับรถคันอื่นๆ ในท้องถนน รถไฟฟ้าสาธารณะก็กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ และยิ่งดูเส้นทางของรถไฟฟ้าที่วางไว้แล้วก็มีเรื่องกังวลของการรองรับจำนวนประชากรที่มากขึ้นในแต่ละสถานีที่กระจายออกไป แถมค่าใช้จ่ายก็ยังสูงเกินกว่าที่ประชาชนบางกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ คุณภาพของรถไฟฟ้าที่ผูกขาดไว้ที่เจ้าเดียวก็สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่มีทางเลือกต่อการเดินทางผ่านขนส่งสาธารณะมากยิ่งนัก ทั้งยังต้องฝากชีวิตไว้กับความไม่แน่นอนของการบริการนั้นๆ
ทั้งหมดที่กล่าวไปย่อมมีความสัมพันธ์และส่งผลต่อความปลอดภัยส่วนบุคคลในชีวิตประจำวันของประชาชนในกรุงเทพ ทว่ายามเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันและควบคุมไม่ได้อย่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ พบว่ากรุงเทพกลายเป็นเมืองที่เปราะบางต่อผลกระทบของปัจจัยเหล่านั้น มาตรฐานการรับมืออยู่ในระดับต่ำ จากการที่ฝนตกหนักเพียงไม่ถึงชั่วโมง น้ำก็ท่วมขังสูง ส่งผลให้เกิดสภาพการจราจรที่ติดขัดกระทบไปทุกพื้นที่ของกรุงเทพ ประชาชนต้องรับผลกระทบจากการจัดการที่ไม่ทันเวลา เดินลุยน้ำท่วม บางทีก็ตกหลุมตกบ่อโดยไม่ทันระวังใต้น้ำ เจอกับสายไฟฟ้าที่จมอยู่ในน้ำ และเส้นทางกลับบ้านที่ไม่เชื่อมต่อ กลายเป็นการต่อสู้กับวิกฤตทุกครั้งที่ฝนตกในกรุงเทพ เป็นต้น
มีตั้งหลายปัจจัยที่ทำให้เมืองนั้นเป็นเมืองที่ไร้คุณภาพ แล้วเหตุใดถึงได้ให้ความสนใจแต่แค่เรื่องของการวางผังเมือง?
Henri Lefebvre ชี้ให้เห็นว่าภูมิศาสตร์มีความนิ่งเฉย ในขณะที่พื้นที่เมืองคือประดิษฐกรรมที่สร้างขึ้นมาให้มีการควมคุมได้ ในประการนี้ การทำให้เป็นเมือง (urbanization) ตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและฐานประชากรโดยไม่คำนึงถึงการวางแผน ออกแบบ และจัดผังเมืองอย่างมีระบบย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่และการใช้ชีวิต เนื่องจากทรัพยากรและพื้นที่ในเมืองนั้นมีจำกัด ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตแบบไร้ซึ่งการวางแผนได้ การวางแผนและออกแบบผังเมืองคือการบูรณาการทุกมิติของสังคมและทรัพยากรภายในพื้นที่หนึ่ง และต้องตอบสนองต่อความต้องการและความเป็นอยู่ประชาชน
ปัจจุบัน ลักษณะการเติบโตของกรุงเทพเป็นไปในรูปแบบไร้ทิศทาง หากมีเงิน อยากจะปลูกจะสร้างสิ่งใดก็สามารถทำได้ เป็นการก่อสร้างเมืองตามดีมานที่แต่ละบุคคลมี เราจึงเห็นได้ถึงปัญหายามเมื่อรัฐต้องการที่จะสร้างเส้นทางคมนาคมสาธารณะผ่านเขตพื้นที่ต่างๆ รัฐต้องจัดการกับปัญหาของการเวียนคืนพื้นที่เนื่องจากมีชุมชมอาศัยอยูก่อนหรือมีสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมอื่นๆอยู่แล้ว ทั้งนี้การสร้างเส้นทางเหล่านั้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจลติดขัดเป็นการกระทำที่ปลายเหตุ ตั้งแต่ต้นหากรัฐสามารถแบ่งถนนและออกแบบเส้นทางให้มีการเชื่อมโยงแทนการปล่อยให้มีซอยเล็กซอยน้อยตัดเข้าตรงนู่นที่ ตรงนี้ที สภาพการจราจลและการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะภายในกรุงเทพคงไม่เข้าขั้นวิกฤตถึงขนาดนี้ จึงกล่าวได้ว่ากรุงเทพนอกจากจะสร้างเมืองในรูปแบบของใครมีเงินก็ได้ที่ ยังเป็นการสร้างเมืองโดยไร้ซึ่งแบบแผน วันนี้เห็นว่าดีก็สร้างไป หากวันข้างหน้ามีปัญหาต้องการแก้ไขก็ทุบทิ้งแล้วสร้างทับใหม่ แล้วปัญหาส่วนมากที่มักจะมุ่งสนใจก็เป็นปัญหาย่อยที่ไม่ได้แก้ไขภาพร่วมของกรุงเทพเลยแม้แต่น้อย
เมื่อไร้ซึ่งการวางแผนผังเมือง จึงไม่แปลกที่กรุงเทพนั้นจะเผชิญกับปัญหาล้านแปดดังที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ ปัญหาสำคัญอย่างปัญหาน้ำท่วม สาเหตุหลักก็มาจากการไม่วางผังเมืองและการละเลยของภาครัฐในการบังคับปราบปรามการพัฒนาที่ไม่ตรงกับข้อปฏิบัติ อาทิการก่อสร้างในพื้นที่ลุ่มต่ำที่สามารถทำเป็นพื้นที่รองรับและระบายน้ำ กลับถูกพัฒนาไปเป็นหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนเมืองแทน ทว่าปัจจัยนอกเหนือจากการวางแผนเมืองที่สะเปะสะปะแล้ว ยังมีปัจจัยของระบบราชการที่แสวงหาประโยชน์จากอำนาจในการตรวจสอบ การผ่อนปรน และการอนุมัติให้ทำการก่อสร้างใดๆ ภายในเมือง การตัดสินใจดังกล่าวล้วนขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ เมื่อสองปัจจัยจากทั้งโครงสร้าง (การไร้ซึ่งการวางแผนทางผังเมืองที่เป็นระบบ) และตัวกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลมีความสอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาเมืองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเลยดำเนินไปในเชิงลบ
ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะฟันธงว่าหากสามารถจัดผังเมืองให้เป็นระบบได้ทุกอย่างจะดี ยังมีปัจจัยของการบริหาร ของการถ่วงดุลทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และอื่นๆ ที่เห็นควรจะต้องทำร่วมกันไปกับการจัดผังเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกคนภายในเมืองนั้นๆ ทว่าหากสามารถมีการศึกษา ให้ความสำคัญ และวางแผนในระยะยาวอย่างเป็นระบบจริงๆ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
และสุดท้ายนี้ ประเด็นสำคัญไม่แพ้กันที่ควรได้รับความสนใจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ งบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชนทุกคนในประเทศกำลังกระจุกตัวอยู่แต่เพียงเมืองหลวง จนในตอนนี้กลายเป็นประเทศกรุงเทพไปเสียแล้ว แล้วหากเงินทั้งหมดถูกนำมาปรนเปรอให้กรุงเทพแต่ยังมีการจัดการบริหารได้แย่ขนาดนี้ เมืองหลักเมืองรองหรือเมืองไม่มีชื่ออื่นๆ จะต้องทำเช่นไร
อ้างอิง:
The Economist Unit (2019) Safe Cities Index 2019: Urban Security and Resilience in an Interconnected world. The Economist Intelligence Unit Limited 2019. Retrieved from https://safecities.economist.com/wp-content/uploads/2019/08/Aug-5-ENG-NEC-Safe-Cities-2019-270×210-19-screen.pdf Accessed 5th October 2020.
วีรพร นิติประภา (2563) “ถ้าคุณตกหลุมรัก เย็นนี้ก็เลิก” มุมมอง ‘วีรพร’ ต่อกรุงเทพฯ เมืองที่ไม่โรแมนติก. Voice Online. สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/8mRreeakQ, เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563
อลิษา ลิ้มไพบูลย์ (2563) พื้นที่สาธารณะ: สิทธิของคนทุคนที่อยู่ในเมือง ไม่ว่าจะมีบ้านหรือไม่มี. Penguin Homeless. สืบค้นจาก
https://penguinhomeless.com/%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B0-%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87/ เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563
ว่าน ฉันทวิลาสงศ์ และอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ (2563) มหานครซอยตัน สืบค้นจาก https://theurbanis.com/insight/01/09/2020/2651 เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563
[1] First World Problem มีความหมายสื่อถึงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก อาทิ อินเตอร์เน็ทไม่ดี…. ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาของโลกที่สาม อาทิภัยความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงการศึกษ เรื่องพวกนั้นจึงเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ไม่ได้เผชิญความลำบากอย่างแท้จริง