ธีทัต จันทราพิชิต
22 ตุลาคม 2563
สัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นที่น่าจับมองมากที่สุดในสังคมไทยคงหนีไม่พ้นการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนนักศึกษา โดยมีภาพจำจำนวนมากไม่ว่าจะภาพของการสลายการชุมนุมหรือภาพความร่วมมือร่วมใจชนิดที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น แต่หากเราเจาะลงลึกไปในรายละเอียดเราจะพบว่าการชุมนุมครั้งนี้ต่างจากการจัดการชุมนุมก่อนหน้านี้พอสมควรและอะไรล่ะคือ ลักษณะเด่นของการชุมนุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกัน
หากการจะเข้าใจการจัดการชุมนุมครั้งนี้ต่างจากการชุมนุมก่อนหน้านี้อย่างไรเราต้องทำการเข้าใจเสียก่อนว่าการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เยาวชนปลดแอก และธรรมศาสตร์และการชุมนุมมีลักษณะอย่างไร จุดสำคัญที่เราควรเข้าใจเสียก่อนคือ แม้ว่ากลุ่มดังกล่าวจะมีการพยายามจะแสดงตัวว่าเป็นคนรุ่นใหม่แต่โมเดลในหัวของหลายๆ กลุ่มก็ยังหนีไม่พ้นการตามรอยการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นพี่ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของนักศึกษาในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน หรือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553

การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน คือ การพยายามจะก้าวเข้าไปใกล้กับความเป็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงมากขึ้น ไม่ใช่แค่การที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้เข้าร่วมอย่างเปิดเผย โดยมาทั้งขบวนแห่รถ ขบวนแห่เรือ ซึ่งการที่คนเสื้อแดงมาเข้าร่วมเป็นผลจากการแสดงความเคารพการเสียสละเพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมแสดงการขอโทษกับสิ่งที่ได้ทำลงไป
การแสดงความเคารพนี้เป็นการปลดล็อคให้กลุ่มเสื้อแดงเป็นแนวร่วมการชุมนุมโดยอัตโนมัติ แม้ภาพจำของใครหลายคนจะบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นฝั่งประชาธิปไตยมาแต่ไหนแต่ไร และการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยในปี 2563 ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงขาประจำมาร่วมอยู่เสมอ แต่กลุ่มเสื้อแดงเหล่านั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะอย่างไรเสียกลุ่มคนที่เป็นคนชุมนุมหลักของการชุมนุมครั้งนี้ก็คือ กลุ่มชนชั้นกลางในเมืองซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนสำคัญที่ต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง และเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร 2557 กลุ่มเสื้อแดงบางส่วนจึงไม่ได้ไว้ใจกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษา การขอโทษและแสดงความเข้าอกเข้าใจคนเสื้อแดงทำให้การชุมนุมวันที่ 19 กันยายนจึงมีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าร่วมจำนวนมาก แม้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะทำให้แตกกระจายตั้งแต่หลังจากการรัฐประหาร 2557 แล้วก็ตาม[1]
เมื่อเกิดการปลดล็อคแสดงความเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มคนเสื้อแดงการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน จึงมีลักษณะของความเป็นเสื้อแดงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเรื่องของการ์ดผู้รักษาความปลอดภัยที่เข้มแข็งมากขึ้น การกล้าลุย ใจถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกล้าที่จะปักหลักชุมนุมยาวมากยิ่งขึ้น แต่การชุมนุมครั้งนี้ก็เหมือนกับการชุมนุมก่อนหน้าในช่วงเดือนสิงหาคมอย่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม คือ เป็นการชุมนุมที่มีหัว และมีฝ่ายโปรดักชั่นส์ช่วยกันผลักดันให้เกิดเวทีปราศรัย
การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 ความจริงแล้วก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากการชุมนุมก่อนหน้านี้นักนอกจากมีภาพของการเดินขบวน แต่จุดที่เราสามารถมองเห็นได้ว่าภาพในหัวของแกนนำโดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยังคงยึดติดกับโมเดลการเคลื่อนไหวแบบคนเสื้อแดงกับรุ่นพี่นักศึกษา (ซึ่งหลายคนในปัจจุบันอยู่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยเสียด้วย) จุดเล็กๆ แต่สำคัญก็คือ การเลือกเพลงเพื่อผ่อนคลายผู้ชุมนุมในช่วงที่ทางขบวนผู้ชุมนุมถูกกั้นไม่ให้สามารถเดินขบวนต่อไปได้ กล่าวคือ มีอยู่จังหวะหนึ่งที่ทางขบวนผู้ชุมนุมที่กำลังมุ่งไปสู่ทำเนียบรัฐบาลต้องหยุดลงเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ให้ผ่าน และผู้ชุมนุมต้องรอนานนับชั่วโมง ในช่วงท้ายได้มีการเปิดเพลง เพื่อผ่อนคลาย และเป็นนาฬิกาจับเวลาให้เจ้าหน้าที่ เพลงจำนวนมากเป็นเพลงเพื่อชีวิต มีเนื้อหาที่ฟังแล้วรู้สึกได้ว่าได้อิทธิพลจากสมัยขบวนการนักศึกษายุคประชาธิปไตยเบ่งบาน นอกจากนั้นก็ยังมีเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงจำนวนมากเพื่อเอาใจมวลชนรากหญ้า แม้กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะไม่ใช่มวลชนรากหญ้าก็ตาม

การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จึงไม่ได้นอกกรอบไปจากการชุมนุมก่อนหน้านัก นอกจากมีการเดินขบวน เพราะการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีมานับร่วมเดือนแล้ว แต่การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมนี้เองที่นำมาสู่การยกระดับต่อไป กล่าวคือ การสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม พร้อมประกาศพรก.ฉุกเฉินร้ายแรง ทำให้เกิดความโกรธในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก จนการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันนั้นที่มีการนับกันอย่างกระทันหัน ประสบความสำเร็จอย่างถึงที่สุด ด้วยมวลชนในจุดที่พีคที่สุดประมาณหลักแสน และถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจ และเป็นการทะลุกำแพงด้านจำนวนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่สำคัญแทบไม่มีใครสนใจคำปราศรัยเพราะว่างานโปรดักชั่นของการชุมนุมมีเพียงแค่รถขยายเสียงซึ่งได้ยินเพียงแค่กลุ่มคนที่อยู่ใกล้ๆ การชุมนุมครั้งนี้คนจำนวนมากจึงมาเพียงเพื่อรวมตัวแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้ยินโดยมากมีแค่คำตะโกนสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น “ประชาราษฎร์จงเจริญ” ไปจนถึงคำหยาบอย่าง “ไอ้เxี้ยXู่” โดยเหตุที่คำพูดที่ผู้ชุมนุมได้ยินหรือได้ฟังมักจะเป็นประโยคสั้นๆ เพราะหากเป็นการตะโกนอะไรที่มากกว่าสามพยางค์มีแนวโน้มที่คนจะฟังไม่รู้เรื่อง

การทำเช่นนี้ทำให้การชุมนุมครั้งนี้เข้าใกล้กับการชุมนุมแบบไร้หัวมากยิ่งขึ้น แกนนำการชุมนุมก็เริ่มที่จะเข้าใจว่าสามารถระดมคนจำนวนมากออกมาได้โดยการประกาศการชุมนุมก่อนโดยใช้เวลาไม่นานไปกว่าหนึ่งวัน
เมื่อเป็นเช่นนี้การจัดการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม จึงเป็นไปได้ แต่ทางฝั่งรัฐบาลที่ไม่คิดจะประนีประนอมก็ได้ทำการวางกำลังชุดปราบการจราจลเอาไว้ และทำการสลายการชุมนุม จุดที่สามารถทำให้รู้ว่าทางรัฐบาลจะไม่ยอมประนีประนอมนั้นเป็นการที่แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะยอมยุติการชุมนุมเป็นที่เรียบร้อย แต่ตำรวจชุดปราบก็ยังไม่เลิกที่จะทำการปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุม นอกจากนั้นการที่ผู้ชุมนุมได้ทำการชุมนุมโดยสันติไม่มีทีท่าว่าจะก่อความรุนแรง ประกอบกับผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ยังใส่ชุดนักเรียนอยู่เสียด้วยซํ้า กระทำเช่นนี้จึงเป็นการกระทำที่เกินเหตุมาก และกลายเป็นเชื้อเพลิงของความโกรธในหมู่ประชาชน การชุมนุมเพื่อแก้เผ็ดจึงได้เริ่มขึ้น ทั้งความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ผู้ประสานการชุมนุมได้เริ่มที่จะทำการปิดสถานที่นัดชุมนุม แต่ใช้วิธีให้ทุกคนไปเตรียมตัวพร้อมตามสถานีรถไฟ รัฐบาลจึงคาดว่าจะเกิดการชุมนุมขึ้นบริเวณที่รถไฟผ่าน เลยนำมาสู่การปิดรถไฟฟ้า BTS และ MRT เป็นปรากฏการณ์ที่แม้แต่การ Shutdown Bangkok ของกลุ่มกปปส.ก็ยังทำไม่ได้ เพียงแต่ผลของการปิด BTS และ MRT กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเมื่อมีการประกาศว่าพื้นที่ชุมนุมในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจะใช้ห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ และอุดมสุข ประชาชนจำนวนมากที่รออยู่ตามสถานีรถไฟฟ้าที่ตนสะดวกก็ตามพากันเคลื่อนพลเข้าไปสมทบในพื้นที่ชุมนุมที่ตนสามารถไปได้ จนเกิดเป็นภาพคนนับร้อยเดินเรียงแถวกันจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังห้าแยกลาดพร้าว แสดงให้เห็นชัดว่าม็อบนี้มาด้วยใจไม่ใช่มาด้วยเงินไปเสีย หนำซํ้าการปิดแนวรถไฟยังทำให้แท็กซี่ และมอเตอร์ไซต์รับจ้างจำนวนหนึ่งยอมควักเนื้อพาผู้โดยสารไปส่งโดยไม่คิดสตางค์แม้แต่แดงเดียว กลายเป็นความสามัคคีไปเสีย [2]ทั้งการปิดขนส่งมวลชนยังทำให้หุ้นของ BTS ตก เสียรายได้โดยใช่เหตุ แถมยังทำให้ผู้ชุมนุมตั้งคำถามว่าทำไมในเมื่อมีความสามารถสั่งระบบขนส่งมวลชนได้ขนาดนี้แต่เหตุใดจึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาค่าโดยสารราคาแพงขูดเลือดขูดเนื้อได้
การชุมนุมวันที่ 17 ตุลาคม 2563 จึงเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ และที่มีภาพของความสามัคคี เป็นระเบียบ ทรงพลัง โดยมีคนชุมนุมอยู่ทั่วกรุงเทพหลักแสน ยังไม่รวมถึงผู้ชุมนุมในจังหวัดอีกจำนวนมาก แถมเปิดเผยให้เห็นปัญหาของการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ยังคงคิดหลงยุคแบบในสมัยสงครามเย็นได้แบบหมดเปลือก แถมพังทลายความเชื่อว่าคนไร้ระเบียบและขี้เกียจลงไปหมด ภาพของการส่งของจากข้างหลังไปยังแนวหน้าของการชุมนุมแสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่มีคนสั่ง แต่คนไทยก็สามารถเป็นระเบียบได้ ภาพของการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคี และแสดงให้เห็นว่าตอนนี้การประท้วงได้ขยับเข้าสู่จุดที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงได้เกรงกลัวมาตลอด นั่นก็คือ ฮ่องกงโมเดล เป็นที่เรียบร้อย

เมื่อเป็นเช่นนั้นการยิ่งปิดจึงยิ่งเป็นการสุมอารมณ์ความแค้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ และทุกคนพร้อมจะออกมา ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่โดยใคร แต่เพื่อตนเองและโดยตนเอง เมื่อผู้ชุมนุมไม่สามารถได้ยินเสียงคำปราศรัย แต่ทุกคนพร้อมตะโกนคำสั้นๆ เพื่อปลดปล่อยความรู้สึก และจุดหมายของการประท้วงออกมา ทุกคนจึงเป็นแกนนำ และม็อบไร้หัวจึงบังเกิด แม้ว่าวันที่ 18 – 19 ตุลาคม การชุมนุมจะไม่ได้ต่างจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมเสียเท่าไหร่ แถมเราไม่อาจรู้ได้ว่าลักษณะการชุมนุมเช่นนี้เป็นพัฒนาการขั้นสูงสุด ทั้งเราไม่อาจรู้ว่าการชุมนุมครั้งนี้จะพัฒนาอีกไปถึงจุดไหน แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นเป็นที่เรียบร้อย และจะมีสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นปรากฎอีกไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
[1] สมคิด พุทธศรี. (2563). เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่, 7 มกราคม 2563 เข้าถึงจาก https://www.the101.world/interview-claudio-sopranzetti/
[2] ภาพความสามัคคียังแสดงออกมาชนิดที่เราไม่คาดคิดตลอดวันที่ 17 – 19 ตุลาคม 2563 เพราะไม่มีใครคิดภาพคู่แค้นคู่อาฆาตอย่างปทุมวันกับอุเทนถวายจะยอมจับมือกันได้เป็นแน่ แต่การชุมนุมครั้งนี้นักเรียนอาชีวะจากทั้งสองสถาบันต่างยืนเคียงข้างกันอาสาเป็นการ์ดปกป้องผู้ชุมนุมโดยพร้อมเพรียง