ธีทัต จันทราพิชิต
12 ตุลาคม 2563
หากกล่าวถึงการ์ตูนญี่ปุ่นในช่วงหลายปีมานี้ เราคงต้องเคยได้ยินชื่อของ Attack on Titan หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ผ่าพิภพไททัน” เป็นแน่ โดยผ่าพิภพไททันโด่งดังถึงระดับที่นักร้องเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตชาวไทยอย่าง พี สะเดิด แต่งเพลงล้อตัวเอง[1]โดยเนื้อหาได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนอย่างเพลง “เขาเรียกผมว่าเอเรน” ทว่านอกจากความโด่งดังแล้วผ่าพิภพไททันยังเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาซับซ้อน ลึกซึ้ง มีเส้นเรื่องมีประเด็นชัดเจน และตั้งคำถามกับคนดูอยู่ตลอด และประเด็นที่เป็นประเด็นหัวใจของผ่าพิภพไททันก็คือ ประเด็นว่าด้วยเสรีภาพ
ผ่าพิภพไททันเล่าเรื่องการต่อสู้ของมนุษย์กับศัตรูลึกลับที่ไม่รู้ที่มาที่ชื่อว่าไททัน (ยักษ์) โดยหลังจากการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานมนุษย์ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องหลบไปอาศัยอยู่ในกำแพงขนาดยักษ์เพื่อป้องกันอันตรายจากไททัน ฉากหลังของไททันตั้งแต่ตอนแรกจึงสร้างความรู้สึกของการถูกคุมขัง โดยกรอบบางอย่างที่แสดงตัวออกมาในรูปของกำแพง ทว่าการคุมขังนี้ก็ยังให้ความรู้สึกของความปลอดภัยด้วยเช่นกัน
เมื่อเราใช้ทฤษฎีหรือปรัชญาการเมืองในการมอง ผ่าพิภพไททัน เป็นการ์ตูนที่สามารถถูกมองได้ด้วยปรัชญาแบบโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) โลกที่ปราศจากกำแพงคือ โลกที่อยู่ในสภาวะธรรมชาติที่คนสามารถตายได้ทุกเมื่อ การจะเอาตัวรอดในสภาวะเช่นนั้นจำเป็นต้องมีองค์อธิปัตย์ เพื่อการก่อร่างของสังคม เพื่อให้เกิดความรอดจากการตายโหง กำแพงในที่นี่จึงเปรียบได้กับการเกิดขึ้นของสังคมไปโดยปริยาย
เพียงแต่หากมองผ่าพิภพไททันเป็นการ์ตูนที่เล่าโดยใช้มุมมองแบบฮอบส์ ผ่าพิภพไททันก็ยังเป็นการ์ตูนที่วิพากษ์มุมมองแบบฮอบส์ไปพร้อมกัน เพราะโดยทั่วไปโทมัส ฮอบส์มองว่าสังคมจะปลอดภัยต่อเมื่อเกิดการมอบอำนาจให้องค์อธิปัตย์ หากสังคมในผ่าพิภพไททันปลอดภัยเพราะเหตุนั้น ผู้แต่งอย่างอิสายามะ ฮาจิเมะ (Isayama Hajime) ก็ตั้งคำถามด้วยการทำลายความปลอดภัยที่เกิดจากการส่งมอบให้องค์อธิปัตย์ตั้งแต่เริ่มเรื่องด้วยการเริ่มเรื่องให้มนุษย์ถูกโจมตีโดยไททันขนาดมหึมาที่สูงกว่ากำแพง จนกำแพงชั้นหนึ่งจากทั้งหมดสามชั้นต้องพังทลายลง
การมีองค์อธิปัตย์หรือมีกำแพงเพื่อการปลอดภัยจึงไม่ได้รับประกันว่าชีวิตมนุษย์จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมีกำลังที่มากกว่าเข้ามายุ่งหยาม สังคมที่แลกเสรีภาพเพื่อความปลอดภัยก็สามารถพังทลายลงได้ไม่ต่างกัน
เช่นนั้นแม้เราจะแลกเสรีภาพไปแล้วต้องอยู่ในกำแพงแบบที่ “มนุษย์” ในเรื่องได้จ่ายไปก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความปลอดภัยในชีวิต ขณะเดียวกันการที่เอาคนไปคุมขังไว้เช่นนั้นแม้จะอ้างว่าเป็นเพราะความปลอดภัย กลับยิ่งทำให้ตัวละครในเรื่องโหยหาเสรีภาพมากยิ่งขึ้น
ลักษณะดังกล่าวแสดงออกมาผ่านตัวเอกของผ่าพิภพไททันอย่างเอเลน เยเกอร์ซึ่งเป็นพวกบูชาเสรีภาพยิ่งชีพ โดยเอเลนเชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพสมบูรณ์ตั้งแต่เกิดมา และการจะพรากเสรีภาพเหล่านั้นจะเป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด
ความบูชาเสรีภาพของเอเลนทำให้เขามองว่ามนุษย์มีเสรีภาพแม้แต่เสรีภาพในการจะพรากชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่พยายามจะขัดขวางหรือลิดรอนเสรีภาพของตน ในขณะเดียวกันเอเลนจะมองว่ามนุษย์มีเสรีภาพที่จะป้องกันชีวิตหรือละเมิดคนอื่นเพื่อให้ตนยังมีเสรีภาพอยู่ต่อไป แต่หากทำเช่นนั้นก็ต้องยอมรับแนวโน้มที่จะต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพด้วยเช่นกัน
เสรีภาพแบบเอเลนจึงเป็นเสรีภาพที่ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของตัวบุคคล เป็นเสรีภาพที่คนสามารถละเมิดอะไรก็ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เสรีภาพของตัวเองโดนละเมิด ในสภาวะเช่นนี้ยิ่งแข็งแกร่งยิ่งมีเสรีภาพมาก จนถึงขนาดคนที่แข็งแกร่งที่สุดคือ คนที่มีเสรีภาพมากที่สุด ซึ่งสำหรับเอเลนเขาต้องการจะเป็นคนที่มีเสรีภาพมากที่สุด ซึ่งทำให้เขาต้องเป็นคนที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดเช่นนี้สะท้อนอยู่ในนามสกุลของเอเลนอย่างเยเกอร์ (Jäger) ที่เป็นภาษาเยอรมันว่าผู้ล่า เพราะตามความเชื่อแบบนี้มีแต่ผู้ล่าที่จะมีเสรีภาพได้ ส่วนผู้ถูกล่าจะถูกคุกคามหนีระหกระเหินหาทางเอาชีวิตรอด แต่ด้วยการที่เอเลนเป็นตัวละครที่บูชาเสรีภาพยิ่งชีพเมื่อดำเนินเรื่องไปถึงจุดหนึ่งที่เขามีโอกาสปลด “อาวุธ” คู่ต่อสู้ที่มีแนวโน้มจะมาละเมิดเสรีภาพของเขา เขาก็ไม่ห้ามหรือปลดอาวุธคนที่มีท่าทีเป็นศัตรูด้วย แถมท้าให้พิสูจน์เสรีภาพด้วยการเอาชีวิตของเขากับศัตรูเป็นเดิมพัน สำหรับเอเลนเสรีภาพมากกว่าชีวิตไม่ว่าจะชีวิตของคนอื่นหรือตัวเอง
เราอาจกล่าวได้ว่าเสรีภาพแบบเอเลนว่าเป็นเสรีภาพเชิงลบ (Negative Liberty) โดยแท้ เพราะเป็นสภาวะที่บุคคลจะมีเสรีภาพต่อเมื่อสามารถทำอะไรก็ได้ และไม่มีอะไรมาละเมิดเสรีภาพผ่านการพยายามเข้าขัดขวางการกระทำแห่งเสรีภาพโดยผู้อื่น [2]
แน่นอนการบูชาเสรีภาพเช่นนี้ก็มีปัญหาอยู่ แต่ที่สุดแล้วการบูชาเสรีภาพเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการปิดกั้นที่มากเกินจนบีบให้มนุษย์ต่างโหยหาเสรีภาพ ผ่าพิภพไททันได้เติมส่วนที่ขาดหายไปของฮอบส์เรื่องหลังจากมีองค์อธิปัตย์ที่คอยลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพื่อความปลอดภัยของสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบก็ชัดเจน เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์จะยังโหยหาเสรีภาพ และจะพยายามกลับไปสู่ภาวะที่มีเสรีภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งขัดกับข้อเสนอของฮอบส์ที่มองว่ามนุษย์จะโหยหาความปลอดภัยและหลีกหนีจากสภาวะที่ทุกคนมีสิทธิ์ตายได้อย่างเท่าเทียมอย่างสภาวะธรรมชาติ[3]
กระนั้นนอกจากประเด็นเรื่องเสรีภาพผ่าพิภพไททันยังมีประเด็นอีกจำนวนมาก ทั้งประเด็นเรื่องศีลธรรม พลังอำนาจ การจัดการความทรงจำ หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องเสรีภาพก็ยังสามารถมองได้อีกหลายแง่มุม แต่ทั้งหมดเราปฏิเสธไม่ได้ว่าผ่าพิภพไททันมีเนื้อหาที่ชวนให้ชวนขบคิดต่อ โดยเฉพาะเมื่อผ่าพิภพไททันได้เข้ามาสู่ช่วงสุดท้ายเนื้อเรื่องของผ่าพิภพไททันก็ยิ่งแสดงถึงความลึก และความใส่ใจของอิสายามะ ฮาจิเมะต่อการ์ตูนเรื่องนี้ โดยอนิเมะซีซันสุดท้ายจะเริ่มฉายในเดือนธันวาคมและจะจบลงในหนึ่งปีต่อจากนี้แล้วสุดท้ายหนทางของเสรีภาพในผ่าพิภพไททันจะเป็นเช่นไร เราก็ต้องไปหาคำตอบกันต่อ
[1] เพลงดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากมีมตามอินเตอร์เน็ตที่ล้อเลียนว่าพี สะเดิด มีใบหน้าคล้ายกับตัวเอกในเรื่องผ่าพิภพไททันหรือเอเลน เยเกอร์ มีมดังกล่าวสร้างเสียงหัวเราะ และเป็นที่โด่งดังในวงกว้าง และตัวผุ้ถูกล้อเลียนอย่างพี สะเดิดก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี จนถึงขนาดที่งพี สะเดิดได้ออกทวีตในทวิตเตอร์ส่วนตัวในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ว่าหากมียอดผู้ติดตามถึงหนึ่งพันคนเมื่อไหร่ เขาจะแต่งเพลงเขาเรียกผมว่าเอเรน
[2] Berlin, I. (1969). “Two concepts of liberty” in Four Essays on Liberty. Oxford, England: Oxford University Press. P.118 – 172
[3] Hobbes, T., & Malcolm, N. (2012). Leviathan. Oxford: Clarendon Press.