Articles

บ้านพี่เมืองน้อง: เมื่อมังกรจะกลับมาผงาด มดจะอยู่อย่างไร?

ขวัญข้าว คงเดชา
10 ตุลาคม 2563

ในช่วงที่ผ่านมา กัมพูชา หนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดจีน เพื่อนบ้านของประเทศไทยได้ทำการเปิดบ้านอ้าแขนต้อนรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในประเทศอีกครั้งหนึ่ง จนสร้างความวิตกกังวลให้แก่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก  มีข่าวจากสหรัฐฯ แจ้งถึงความกังวลว่ากัมพูชานั้นกำลังเตรียมการก่อสร้างรับรองกองทัพของจีนในฐานทัพเรือเรียมใกล้บริเวณอ่าวไทย ในรายงานข่าวได้แสดงภาพดาวเทียมให้เห็นถึงบริเวณอาคารฐานทัพเรือของสหรัฐฯ อันเก่าที่ถูกทุบทำลายลงไป จึงมีการเรียกร้องให้ทางรัฐบาลกัมพูชาออกมาชี้แจ้งเหตุผล แน่นอนว่าทางกัมพูชาได้ออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่นและยังยืนยันว่าตามรัฐธรรมนูญของประเทศไม่อนุญาติให้มีการมาตั้งฐานทัพต่างชาติในแผ่นดินกัมพูชา ทั้งยังขัดต่อสนธิสัญญาปารีสปี 1991 อีกด้วย ทว่าความเคลือบแคลงและวิตกกังวลของสหรัฐฯ ก็ยังไม่คลี่คลายลงแต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เห็นถึงเค้าลางความเสี่ยงของอิทธิพลที่ขยายตัวมากขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารของประเทศจีน รัฐบาลจีนประกาศอย่างชัดเจนถึงจุดยืนและแนวทางการหวนกลับมาเป็นที่หนึ่งของจีน ดังชื่อในภาษาจีนที่แปลโดยคร่าวได้ว่าประเทศที่อยู่ ณ ใจกลาง (中国) ใจกลางทั้งทางภูมิศาสตร์และทางศูนย์อำนาจ นั้นคือสิ่งที่ประเทศจีนต้องการ เราจะเห็นได้จากความใฝ่ฝันของจีน (中国梦) ที่มีเป้าหมายในการเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2049 ทว่าเรื่องการพัฒนาภายในประเทศก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ประเทศจีนต้องการ เราจึงเห็นยุทธศาสตร์และการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุกของสาธารณรัฐประชาชนจีน

หนึ่งในสองนโยบายสำคัญของประเทศจึนคือ One belt One Road ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นทางสายไหมใหม่ ที่จะเชื่อมความเจริญทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ทั้งเส้นทางบนบกและทางทะเล โดยจีนมียุทธศาสตร์ในการให้ความสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาเส้นทางเหล่านี้  จนเกิดเป็นข้อครหาของการสร้างการทูตกับดักหนี้ (debt trap diplomacy)

 อีกหนึ่งนโยบายที่มีความสำคัญและสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสั่นคลอนความเป็นมหาอำนาจไม่แพ้กันคือยุทธศาสตร์สายประคำไข่มุก (String of Pearl) ว่ากันว่ามันเป็นเส้นทางการเดินทางทะเลของจีนแผ่นดินใหญ่ที่วางไกลถึงแอฟริกา หลายคนกล่าวว่ามีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ในประเด็นเพื่อการคุ้มครองปละปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า โดยไข่มุกนั้นสื่อถึงฐานเรือเทียบท่าแต่ละจุดและเมื่อขีดเส้นเชื่อมโยงจะได้สายสร้อยที่ทำหน้าที่ในทางด้านเศรษฐกิจและทางการทหารเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเด็นทางการทหารของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความกังวลในฝ่ายความมั่นคงที่มีมานาน และความกังวลนั้นยิ่งทวีคูณขึ้นในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ในปีนี้หากไม่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 การขยายอิทธิพลและอำนาจของจีนจะเป็นเรื่องน่าหวั่นเกรงต่อเนื่องอย่างแน่นอน ที่ผ่านมายุทธศาสตร์การป้องกันประเทศและการทูตทางทหารของจีนปฏิบัติในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารทุกเหล่า การสะสมและสนับสนุนการคิดค้นอาวุธยุทโธปกรณ์ เพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศ ส่งผลให้ถึงความไม่เท่าเทียมทางดุลอำนาจทางการทหาร ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภูมิภาคโดยรอบและสภาวะของความหวาดระแวงด้านความมั่นคง (security dilemma) โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมีประเด็นเรื่องข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และความขัดแย้งระหว่างฮ่องกงกับไต้หวัน สามารถกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับภายในประเทศ สำหรับยุทธศาสตร์สายประคำไข่มุกถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการทหารเชิงรุกของจีนในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อเป้าหมายในการสร้างฐานอิทธิพลของตัวเองต่อเวทีโลก

ปัจจุบันเมื่อสงครามกับก่อการร้ายสิ้นสุดลงไป บทบาทใหม่ของขั้วตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ผู้เป็นฝ่ายประชาธิปไตยจึงห้วนกลับมายังสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์ ประจวบเหมาะกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนน่าหวาดกลัวของจีนอย่างพอเหมาะพอเจาะ เราจึงเห็นการต่อสู้ของสองมหาอำนาจจากสองขั้วอีกครั้งในเวทีโลก เปรียบได้ว่า เป็นยุคใหม่แห่งการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ โครงสร้างของโลกแบบขั้วอำนาจเดียว (unipolarity) ถูกท้าทายมาสักระยะ และกำลังเพิ่มความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด สถานการณ์ในมหาสมุทรทะเลจีนใต้ รวมไปถึงการต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่จากฮ่องกงและไต้หวัน ทั้งหมดล้วนลดบทบาทของสหรัฐในฐานะผู้คุมอิทธิพล และที่สำคัญยังลดความเป็นที่หนึ่งทางการทหารของสหรัฐด้วยเช่นกัน

บ้านพี่เมืองน้อง

ความสัมพันธ์ไทย-จีนดำเนินมาอย่างยาวนานและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่เห็นได้ชัดถึงความสนิทใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศและสองรัฐบาล ประเทศไทยมีนโยบายและการตอบรับที่ดีต่อประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการค้าหรือเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาซึ่งนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของจีน จนปัจจุบันเรียกได้ประเทศไทยให้ความสำคัญและพึ่งพิงประเทศจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบในยุคสมัยที่ผ่านมาไม่เท่าไร สหรัฐฯ ต่างหากที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย จนเรียกได้ว่าเป็นมหามิตร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือภาวะของการแข่งขันทางอิทธิพลภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการ Balance Strategic Engagement เพื่อรักษาสมดุลของทั้งสองพันธมิตร ทว่าไม่ต้องใช้นักวิเคราะห์นโยบายหรือยุทธศาสตร์เชิงลึกก็เห็นแนวโน้มของความเอนเอียงที่ชัดเจนเกินพอดีของประเทศไทยต่อประเทศจีน

แต่ละยุคแต่ละสมัย ทุกประเทศย่อมมีแนวโน้มที่จะเอนไปหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนเอง ฉะนั้นการเลือกข้างในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ประเทศขนาดเล็ก(ทางอำนาจ) มักจะโคจรรอบประเทศขนาดใหญ่ (ทางอำนาจ) เสมอ หากแต่การกระทำใดที่มันเกินพอดีอันไม่คงไว้ซึ่งสมดุลและไร้ซึ่งชั้นเชิงทางการทูตนั้นอาจจะส่งผลเสียต่อประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นการทูตไผ่ลู่ลม บทบาทและชั้นเชิงทางการทูตของไทยในปัจจุบันนั้นเทียบไม่ได้กลับยุคสมัยที่ผ่านมา  

สถานการณ์โลกปัจจุบันยังอยู่ในความคลุมเครือ แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มมีธงในใจของตนเองอยู่แล้ว ประเทศไทยเองก็เช่นกัน แม้บนเอกสารทางการจะให้คงไว้ซึ่งการรักษาความสัมพันธ์ทั้งสองด้าน แต่การให้สัมภาษณ์ การป้อนนโยบายเอื้อต่อผลประโยชน์ หรือการจัดจ้างอนุมัติโครงการใดก็แล้วแต่ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของประเทศที่เบนเข็มทิศไปยังคนละฝั่งกับพันธมิตรในยุคสงครามเย็น

ดังที่ได้กล่าวไปการเลือกข้างหรือเห็นความสำคัญของบ้านพี่เมืองน้องที่นักการเมืองและผู้บริหารประเทศหลายคนมักหยิบยกมาพูดนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ท่าทีโอนอ่อนต่อจีนกลับชวนให้สงสัยเคลือบแคลจนเกิดเป็นการล้อเลียนว่าไทยนั้นไม่ใช่ไทย แต่เป็นมณฑลไทกั๋วไปแล้ว นั้นคือสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น มีหลากหลายวิธีที่จะเชื่อมความสัมพันธ์และเพิ่มพูนผลประโยชน์โดยไม่จำเป็นจะต้องลดความสำคัญหรือสถานะของประเทศไปเป็นมด

“มดน้อยช่วยราชสิงห์ได้…”[1]

ในฐานะนักการทูต ไม่เหมาะสมที่จะพูดประโยคที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเรานั้นเป็นรองเขา

ในฐานะผู้บริหารประเทศ ยิ่งไม่สมควรที่จะลดสถานะของประเทศให้ต่ำกว่าเขา

คำกล่าวเช่นนี้สะท้อนออกมาในสองมิติ มิติที่ 1 เรื่องภายในประเทศ ทิศทางของรัฐบาลที่ชัดเจนว่ายอมอ่อนลงให้กับจีนถึงขนาดประกาศว่าตนเองเป็นมดที่จะช่วยราชสิงห์ สร้างภาพจำที่ก่อให้เกิดขั้นของอำนาจระหว่างไทยและจีน สามารถแปลได้เสียด้วยซ้ำว่าผู้บริหารประเทศที่กล่าวเช่นนี้ไร้ซึ่งความมั่นใจในฐานะของตนเอง (โดยการแสดงตนว่าไม่สามารถเทียบเท่ากับจีนได้) เน้นหาแต่การพึ่งพิงมหาอำนาจจนลืมความเป็นอธิปไตยของตนเอง ข้อเท็จจริงคือแม้การจะเทียบเท่ามหาอำนาจย่อมเป็นไปได้ยาก หากแต่การลดตัวเองให้อยู่ในฐานอำนาจที่ต่ำกว่าเขาก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรหนัก ในทางการทูตหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถ้าคุณแสดงให้เห็นว่าคุณนั้นยอม คุณก็ไร้ซึ่งอำนาจ (leverage) ที่จะนำไปต่อรอง

ซึ่งนำไปสู่มิติที่ 2 ผู้บริหารที่กล่าวประโยคดังกล่าวอาจจะคิดหรือไม่คิด แต่มันก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าจากภาษิตร้อยพันคำการเลือกใช้คำว่ามดในบริบทนี้หมายถึงอะไร และยามเมื่อผู้บริหารประเทศแสดงท่าทีและทัศนคติดังกล่าว ประเทศจีนที่ทราบดีว่าตนนั้นมีอำนาจเหนือกว่า ยิ่งใช้ข้อได้เปรียบในตรงนี้เพื่อที่จะแทรกเข้ามาแสดงหาผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นด้วยเพราะรู้ดีว่ากำแพงหรือชั้นเชิงในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศนั้นมีต่ำ โดยสรุปแล้วยามเมื่อคนในประเทศยังมองว่าเราเป็นรองเขา ประเทศอื่นย่อมมีอำนาจเพิ่มขึ้นทวีคูณจากแต่ก่อนและก้าวเข้ามาต่อรองด้วยความมั่นใจเพราะรู้แน่ชัดว่าคงไม่กล้าที่จะร้องขออะไรมาก ซึ่งเกิดเป็นคำถามว่าต่างอะไรกันกับสมัยการล่าอาณานิคมที่ต้องมีรัฐส่งบรรณาการ?  

งานชิ้นนี้ผู้เขียนไม่ได้ต้องการให้ไทยแสดงท่าทีแข็งต่อจีนเพื่อแสดงว่าตนเองก็ไม่ได้ด้อยกว่า แต่ต้องการให้มีชั้นเชิงมากกว่าการสนับสนุนจนเกินหน้าเกินตาดังเช่นปัจจุบัน เพิ่มบทบาทของประเทศไทยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเพิ่มอำนาจต่อรองให้มากกว่าเดิม

ประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือถึงแม้ประเทศไทยจะไม่เทียบเท่าประเทศจีน แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งข้อที่จะนำมาต่อรอง ทางภูมิรัฐศาสตร์ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค ในยุทธศาสตร์การขยายอิทธิพลของจีนมีประเทศไทยปรากฏและผลประโยชน์อีกมากเช่นเดียวกัน แน่นอนผลประโยชน์เหล่านั้นย่อมให้ผลดีทั้งสองฝ่าย ทว่าการที่ประเทศไทยกลัวจะตกขบวนจึงกระโดดขึ้นรถไปของจีนโดยไม่คิดหรือเจรจาต่อรองราคาให้ดีก่อนทำให้เราเสียความไปได้ที่จะได้มากกว่านี้ หรืออย่างน้อยก็ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทยมากกว่านี้

ลำพังมดตัวเล็กๆ จะไปต่อกรอะไรกับราชสิงห์? ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศเล็กไม่จำเป็นจะต้องสร้างอิทธิพลของตัวเองขึ้นมาเพื่อการต่อรอง แต่สามารถดึงอิทธิพลของประเทศใหญ่เข้าในรูปแบบของการยืมมือได้ Free and Open Indo-Pacific: FOIP คือยุทธศาสตร์ของสหรัฐเพื่อพยายมรักษาอิทธิพลของตันเองในภูมิภาค ซ้ำยังมีความพยายามจัดตั้งกลุ่ม QUAD ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดียที่มีความกังวลต่อการขยายอิทธิพลของจีนจนเกิดเป็นการร่วมกลุ่มเพื่อสนับสนุสนุน FIOP ฉะนั้นแล้วจึงเห็นได้ถึงความพยายามที่จะคงฐานอำนาจของกลุ่มสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยควรจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ยามที่ประเทศจีนนั้นเริ่มแผ่ขยายเขตอิทธิพลของตัวเองมากขึ้นทุกวัน

การทำเช่นนั้นนอกจากจะเป็นการรักษาสมดุลทางอำนาจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ (ที่ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ) ยังเพิ่มอำนาจในการต่อรองของไทย แม้ว่าอำนาจนั้นจะเป็นการยืมมือคนอื่นมาให้จีนรู้สึกต้องชะลอการตักตวงผลประโยชน์เพื่อหันมาดึงเรากลับไปเป็นพรรคพวกก็ตาม เพราะอย่างไรเสีย ประเทศไทยที่ชอบวางตัวเป็นกลางก็ได้รับหน้าที่สำคัญอย่างการเป็นคนประสานงานเรื่องข้อพิพาททางทะเลจีนใต้ ถึงในรูปธรรมแล้วจะไม่สามารถทำอะไรได้มาก แต่บทบาทเช่นนี้ย่อมเป็นผลดีต่ออิทธิพลของประเทศ

ในยามที่มังกรกำลังผงาด มดไม่ควรทำตัวเป็นมด แต่ควรทำตัวเป็นเพื่อนที่สามารถสนับสนุนมังกรได้แม้ว่าจะน้อยนิด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการแสดง การไปยืนอยู่ข้างๆ ย่อมดีกว่าหมอบกราบให้เขา อย่างน้อยในสายตาของประชาคมโลก บทบาทของไทยจะได้ไม่ถูกบดบังด้วยคำว่าเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกจีนกลืนไปหมดแล้ว อย่าไปเสียเวลาคบค้าสมาคมด้วยเลย ฉะนั้นแล้วเมื่อผู้บริหารประเทศเลือกแล้วที่จะเข้าหาจีน ก็จงเข้าไปแบบอกผายไหล่ผึ่ง ไปให้การสนับสนุนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค ไม่ใช่การคลานไปประจบเพื่อหวังว่าเขาจะให้ผลประโยชน์กลับมาแก่เราด้วยเหตุผลเพราะเพียงเชื่อว่าเราเคยเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมาก่อน


[1] นายกรัฐมนตรีมอบภาษิตไทยให้นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ในพิธีลงนามความเข้าใจระหว่างไทย-จีน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: