เมื่อวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2563 คณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองได้จัดงานสัมมนา ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5, 6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยคณะผู้จัดงานได้เชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในงานสัมมนาครั้งนี้ในประเด็นของ “ความเป็นพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน” ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านได้นำเสนอโดยหลักในสองประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก กฎหมายพรรคการเมืองที่ส่งผลต่อความเป็นพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน และประเด็นที่สองคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ส่งผลอย่างไรต่อการทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันการเมืองมากขึ้น
งานสัมมนาครั้งนี้กล่าวเปิดงานโดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ใจความสำคัญของบทกล่าวเปิดงานอยู่ที่การตั้งคำถามว่า “จะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองไม่ได้ตกอยู่ในการควบคุมของนายทุน แต่เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง” การที่กฎหมายพรรคการเมืองนำเสนอเรื่องไพรมารีโหวต (primary vote) นั้นเพียงพอหรือไม่ และควรแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองอย่างไรจึงจะตอบโจทย์ดังกล่าวได้ จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงการอภิปรายของวิทยากรแต่ละท่าน โดยมีศาสตราจารย์อัมพร ธำรงลักษณ์ อนุกรรมการเลขาธิการพัฒนาการเมือง ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ
ช่วงแรกเป็นการเริ่มอภิปรายโดย นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมือง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1. เยาวชนยังขาดการเรียนรู้การเมืองในระดับท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ในด้านความเป็นพลเมืองดี
2. พรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชน และต้องทำหน้าที่สนองความคาดหวังของประชาชน
ลำดับที่สองเป็นการตั้งข้อสังเกต 3 ประการ ของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย
1. การตั้งพรรคการเมืองภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันนั้นเป็นไปได้ยาก ตัวอย่างเช่น เงื่อนไขการมีสาขาพรรคครบทุกภาค เป็นต้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวส่งผลแก่พรรคทุกระดับตั้งแต่พรรคขนาดเล็กจนถึงพรรคขนาดใหญ่
2. ไพรมารีโหวตแม้จะเป็นกระบวนการที่ดีในการคัดสรรผู้สมัคร แต่ยังคงมีปัญหาในเชิงกระบวนการ เนื่องจากการลงคะแนนไพรมารีต้องมาจากผู้เป็นสมาชิกพรรค ทว่าการสมัครสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยเฉพาะการสมัครสมาชิกแบบตลอดชีพ ผู้อภิปรายจึงเห็นว่าควรลดค่าสมัครสมาชิกพรรคให้น้อยกว่านี้
3. ว่าด้วยปัญหาของการจัดสรรสัดส่วนการเลือกตั้งแบบเขตกับแบบปาร์ตี้ลิสต์ กติกาการเลือกตั้งใหม่ส่งผลให้พรรคใหญ่ขาดปาร์ตี้ลิสต์ และอาจนำมาสู่การที่ผู้สมัครแย่งกันลงสมัครรับเลือกตั้งแบบเขตมากกว่า
4. กระบวนการส่งเสริมการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องสนับสนุนจิตวิญญาณของประชาชนให้เป็นหมู่บ้านปลอดซื้อเสียง อาจจะยึดโมเดลหมู่บ้านปลอดเหล้า นอกจากนั้นกระบวนการใช้สิทธิต้องเริ่มจากรากฐานของเด็กเยาวชน
นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายเป็นลำดับที่สามในประเด็นดังต่อไปนี้
1. การออกแบบกฎหมายควรเข้าใจธรรมชาติพรรคการเมือง ไม่ควรกำหนดข้อบังคับเป็นหลายข้ออย่างเจาะจงบังคับ เพียงแต่กำหนดข้อห้ามไว้ก็เพียงพอแล้ว
2. ความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค ต้องคำนึงเรื่องความหลากหลายของอัตลักษณ์ภายในพรรคและผู้สนับสนุนพรรคที่เรียกร้องต่อพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นสร้างความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคการเมือง
จากนั้นลำดับต่อมาจึงเป็นการอภิปรายของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยประเด็นหลักได้แก่
1. “กฎหมายพรรคการเมืองสวยหรู แต่กลัดกระดุมผิดตั้งแต่ต้น” เพราะประโยคที่ว่า “พรรคการเมืองเป็นของประชาชน” ไม่อาจเป็นจริงในเชิงปฏิบัติ แต่กลับเกิดอุปสรรคจำนวนมาก ซึ่งนำมาสู่ข้อขัดแย้งว่าพรรคต้องทำตามความต้องการของประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพานายทุนในการระดมทุนดำเนินกิจกรรมเช่นกัน
2. รัฐสภาต้องควบคู่กันไป ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับสมาชิกวุฒิสภาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยอิสระไม่เกี่ยวกับ สส. ซึ่งสังกัดพรรคการเมือง ต่างกันกับ สว. ที่สามารถทำการเมืองโดยอิสระไม่ยึดติดพรรคและไม่ต้องกังวลเรื่องการเป็นพรรคขนาดเล็กที่ต่อรองไม่ได้
3. เรื่องเงินทุนของพรรคการเมือง ควรเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคได้โดยไม่ต้องมีขั้นต่ำหรือขั้นสูง โดยเฉพาะการระดมทุนจากประชาชนที่สนับสนุนพรรคควรเป็นเรื่องที่ทำได้ เพื่อกระตุ้นให้ สส. ระดับเขต มุ่งเน้นการทำประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่
ลำดับที่ห้าในการอภิปรายเป็นของ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ซึ่งมีประเด็นหลักอยู่ที่ “การระดมทุนของพรรคการเมือง” โดยสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
1. การระดมทุนและทรัพยากรเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งมีความเข้มงวดในการป้องกันไม่ให้มีการครอบงำพรรค แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถระดมเงินได้ง่าย ดังตัวอย่างของการขายสินค้าของพรรคแบบออนไลน์ นอกจากนั้นหากขายสินค้าหน้าที่ทำการพรรค จำเป็นต้องขาย “สินค้าที่ระลึก” เท่านั้น จึงส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคที่มีทุนน้อยเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะกรณีของ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่ หรือ กรณีพรรคสามัญชน เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน การยุบพรรคด้วยเงื่อนไขการครอบงำทางการเงินนั้นเป็นไปได้ง่ายมาก
2. เรื่องเงินทุนของพรรคเป็นข้อจำกัด เนื่องจากแต่ละจังหวัดต้องมีสาขาพรรคและมีเจ้าหน้าที่ประจำการ แล้วหากต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด พรรคจะสามารถระดมเงินทุนสนับสนุนให้ทันเพียงพอต่อการหาเสียงได้อย่างไรภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายเช่นนี้
3. กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมีข้อห้ามไม่ให้ ส.ส. หรือข้าราชการการเมืองช่วยหาผู้สมัครหาเสียงท้องถิ่น ซึ่งเป็นการแบ่งแยกการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่นมากจนเกินไป
ถัดมาจึงเป็นการสนทนาต่อเนื่องในประเด็นข้อกฎหมายพรรคการเมืองโดย นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ใจความสำคัญดังต่อไปนี้
1. ปัญหาของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 34 ว่าด้วยการห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้สมัคร หรือห้ามกระทำการใดให้คุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร ข้อกฎหมายนี้มีการเปิดช่องให้ตีความได้กว้างเกินไปจนสามารถส่งผลเสียต่อการสร้างบรรยากาศการหาเสียงของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ควรเปิดช่องให้สามารถได้รับการสนับสนุนโดยการเมืองระดับชาติได้เช่นกัน
2. การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่พรรคการเมืองส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบ ในฐานะกรรมการจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างครบถ้วนตามกฎหมาย ทว่าตัวกฎหมายขัดกันกับความเป็นจริงในทางปฏิบัติ เนื่องจากการเก็บรวบรวมเอกสารข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อการตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ยาก อาทิ เรื่องการตั้งสาขาพรรคครบทุกภาค หรือการหาสมาชิกพรรคให้ครบเกณฑ์กฎหมาย เป็นต้น
ผู้อภิปรายลำดับต่อมาคือ รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง
1. ปัญหาของการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นเป็นปลายเหตุของปัญหาหรือไม่? ในทางกลับกัน แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ประชาชนก็ควรมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อพรรคการเมืองได้อย่างอิสระ เน้นการร่วมแสวงหาทางออกร่วมกันเป็นหลัก
2. ทางแพร่งของการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์พรรคการเมือง ระหว่างระบบโควตา (กรรมการบริหารพรรคกำหนดมา แต่ผู้สนับสนุนพรรคอาจจะไม่ได้ชอบผู้สมัครรายนั้นมาก) หรือไพรมารีโหวต (ผู้ลงคะแนนจะชอบผู้สมัครที่มีผลงานดี แต่กรรมการบริหารอาจจะไม่ชอบผู้สมัครรายนั้น) ควรมีการร่วมหาทางออกแบบระบบใหม่ให้ลงตัว
สำหรับช่วงท้ายหลังจากผู้อภิปรายครบแล้ว จึงเป็นช่วงของผู้เข้าร่วมรับฟังงานสัมมนาได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยตัวอย่างประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยน เช่น การที่ไม่ควรแก้กติกาการเลือกตั้งในช่วงเวลานี้ เพราะทำให้พรรคที่เพิ่งตั้งตัวใหม่ปรับตัวกันไม่ทัน, กกต. ต้องมี digital transformation การสมัครสมาชิกต้องทำได้ง่ายและรวดเร็ว หรือประเด็นการสนับสนุนงบประมาณให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มาจากความตั้งใจของประชาชนกลุ่มเล็กๆ เป็นต้น