Article 77 In Their View

การชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยจังหวะแห่งโอกาสสู่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งการเมืองไทยร่วมสมัย

ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร (สันติวิศวกร)
สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

                                                                        

เกริ่นนำ         

         “ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในทุกสังคม แต่ความรุนแรงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันป้องกัน ความท้าทายอยู่ที่เราจะช่วยกันหาทางออกและจัดการความขัดแย้งได้อย่างไร อะไรจะเป็นแนวทางในการลดการเผชิญหน้า สร้างความเข้าใจผ่านจุดยืนที่แตกต่างกัน โดยให้ทุกฝ่ายพอใจและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข”ชุดแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่สันติศึกษาให้ความสนใจและน่าจะเป็นหลักสำคัญในการใช้ทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนามาจากอดีตและพัฒนามาถึงปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งอาจเรียกความขัดแย้งครั้งนี้ได้ว่าเป็นความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย”

            คนยุคผมทันเห็นเหตุการณ์ปี 35ตอนนั้นเรียนอยู่ในระดับมัธยม ชนชั้นกลางออกมาทวงคืนคำมั่นสัญญาจากพลเอกสุจินดา คราประยูร ภายหลังจากการชุมนุมและความรุนแรง จึงมีการรณรงค์ธงเขียวและจัดทำรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองในอดีตและในขณะเดียวกันเพื่อปฎิรูปการเมืองในอนาคตผ่านรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยถือเป็นการจัดการและแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญของสังคมไทย ตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งผลของการจัดการความขัดแย้งนี้ ทุกฝ่ายยอมรับทั้งกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 

            ภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 การเมืองดำเนินไปในทางที่มันเป็นควรจะเป็น บริบททางการเมืองตอนนั้นไม่ได้เอื้อให้เกิดการชุมนุมของคนรุ่นผม เนื่องจากทุกคนพึงพอใจกับบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น ภายหลังจึงเริ่มมีปมแห่งความขัดแย้งในสภาแล้วลุกลามมานอกสภา ประเด็นความขัดแย้งในขณะนั้นเกี่ยวข้องการบริหารราชการแผ่นดิน การทุจริตในเชิงนโยบาย การแทรกแซงองค์กรอิสระของฝ่ายการเมืองและความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่มีความเห็นแตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แสดงออกมาในสังคมจากคู่ขัดแย้งแต่ไม่ได้ชัดเจนเท่าความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้ ความขัดแย้งครั้งนั้น นำมาสู่การชุมนุมจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น ทุกเพศทุกวัยจนนำมาสู่การรัฐประหารในปี 2549และ 2557  นักเรียน นิสิตและนักศึกษาไม่ได้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำการชุมนุมเหมือนคนเดือนตุลา หรือ คนรุ่นใหม่ในตอนนี้ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์การชุมนุมของนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ตอนนี้ ซึ่งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้ว เลียนแบบตามภาพยนตร์ดัง คือ the Hunger Gamesปรากฏการณ์นี้ รัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยต่อรัฐ  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แรกๆ ที่นักศึกษา-คนรุ่นใหม่แสดงออกตั้งแต่รัฐบาล คสช.บริหารราชการแผ่นดินใหม่ๆ และมาแสดงออกในการชุมนุมครั้งนี้และตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ 

            การชุมนุม เรียกร้อง ประท้วงและต่อต้านไม่สนับสนุนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตอนนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก คือ “การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงนักศึกษาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเหมือนคนเดือนตุลาที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแต่ในตอนนี้มีนักเรียนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ด้วย” จริงๆ แล้วบทบาทของนักเรียนไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นในการชุมนุมครั้งนี้ เราสามารถเห็นได้จากแกนนำในการชุมนุมครั้งนี้ เช่น เพนกวินที่ได้เริ่มมีบทบาทและแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่เป็นนักเรียนก่อนหน้าที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเสียอีก อะไรที่ทำให้นักเรียนในระดับมัธยมต้องการมีบทบาทในกิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้? มันน่าสนใจที่ว่านักศึกษาทุกคนในประเทศไทยจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจริงหรือไม่? แล้วคนที่อายุน้อยกว่านักศึกษา เช่น เด็กนักเรียนมัธยมจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองพร้อมกันทั้งประเทศได้จริงหรือไม่? แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและเราจะหาทางออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้อย่างไรมากกว่า

            ในการชุมนุมครั้งนี้ ผมคิดว่ามีคำ 2 คำที่น่าสนใจ คือ “ปลดแอก” และ  “จะไม่ทน” ซึ่งเป็นแสดงความรู้สึกของนักเรียน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้สึกอึดอัด ไม่พอใจและไม่สามารถที่ยอมรับได้อีกต่อไป ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ เพราะมันเป็นการสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ไม่สามารถยอมรับโครงสร้างทางสังคมและการเมืองแบบเดิมได้อีกต่อไป มันเป็นเรื่องน่าเห็นใจหากเราผู้ใหญ่ลองคิดทบทวนดีๆ ว่านักเรียน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่เกิดมาก็พบกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อและมีการจัดการบางอย่างเพื่อยุติความขัดแย้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งขัดกับสิ่งที่พวกเขาเรียน พวกเขาเติบโตบนสภาพแวดล้อมของความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างน้อยก็กว่า 20 ปีพวกเขาซึมซับเรื่องราวเหล่านี้มาโดยตลอดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว มีแต่ความทรงจำและจินตนาการในทางลบเกี่ยวกับนักการเมืองไทย การเมืองไทยและประชาธิปไตยไทย มันกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ฝั่งรากลึกในระบบคิดของพวกเขา ในขณะที่ความขัดแย้งก็วนเวียนอยู่แบบนี้ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีคำอธิบายที่จะช่วยทำให้เขาเข้าใจระบบโครงสร้างอันเดิมที่พวกเขากำลังใช้ชิวิตอยู่ ในขณะที่โครงสร้างที่ใหญ่กว่าภายนอกประเทศที่โครงสร้างภายในประเทศเชื่อมโยงอยู่ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ สังคมเราไม่มีชุดความคิด หรือ นวัตกรรมทางสังคมที่รองรับสภาพบ้านเมือง เราไม่สามารถอธิบายให้พวกเขาฟังได้ว่าประเทศเรากำลังมีลักษณะอย่างไรกันแน่ อยู่ในสถานะไหนของระบบโลก การเข้าถึงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีได้โดยง่ายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับพวกเขา การค้นหาความรู้และการหาข้อมูล ทั้งถูกบ้างผิดบ้าง ผสมผสานกับการเรียนรู้ผ่านความทรงจำความขัดแย้งที่ไม่มีทางออก นำมาสู่พัฒนาการความขัดแย้งจากคนรุ่นเก่าตกทอดมาเป็นมรดกความขัดแย้งของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันกับคนรุ่นเก่า

            อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้เริ่มต้นจากเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ ซึ่งค่อยๆ สะสมเรื่องราวความไม่พอใจของกลุ่มนักศึกษามาเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร การเข้าควบคุมประเทศของ คสช การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล คสช การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สถานการณ์ที่สำคัญที่ค่อยๆ สะสมความไม่พอใจที่ทำให้กลุ่มนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุม คือ1) การทำรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่พวกเขาเชื่อว่าทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2)ภายหลังการรัฐประหาร ภายใต้หนัง  the Hunger Gamesมีอิทธิพลต่อการชูสามนิ้วต่อต้านรัฐเผด็จการ 3)ความรู้สึกว่าการคุกคามสิทธิ-เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในช่วงการควบคุมอำนาจของ คสช ภายใต้มาตรา 44  3) ความคิดเห็นเรื่องการจัดการงบประมาณของรัฐที่ไม่โปร่งใสใช้สร้างอุทยานประวัติศาสตร์ราชภักดิ์4) การนำงบประมาณของรัฐไปเช่าเครื่องบินไปดูงานฮาวายอย่างไม่เหมาะสมแม้จะถูต้องตามระเบียบราชการ 5) การที่ ปปช.ไม่สามารถเอาผิดผู้อยู่ในอำนาจได้คดีนาฬิกาของนักการเมือง 6) การใช้กระบวนการยุติธรรมในยุบพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง 

            แต่ประเด็นที่ทำให้การชุมนุมจุดติด คือ 1) การอุ้มหายของนักศึกษาวันเฉลิมที่พนมเปญ 2) การคุกคามสิทธิ-เสรีภาพของประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล คสชและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ3) รัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการเข้าสู่อำนาจใช้อำนาจและรักษาอำนาจของรัฐบาล เหตุการณ์เหล่านี้ ได้นำมาสู่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ของนักศึกษาและการชุมนุมของนักศึกษาทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างนักศึกษา-คนรุ่นใหม่กับรัฐบาล นอกเหนือจากความขัดแย้งทั้งสามประเด็นแล้ว การชุมนุมยังได้รื้อความขัดแย้งในโครงสร้างสังคม ความไม่เข้ากันกับโครงสร้างทางสังคมต่างๆ มากมายของไทย รวมถึงเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีใครเคยนำออกมาเพื่อการปฎิรูป ด้วยข้อเสนอการปฎิรูปพระมหากษัติรย์ 10 ประการ

            ตอนนี้ความขัดแย้งได้พัฒนาไปมากแล้วโดยจะเห็นได้จากการยกระดับของการชุมนุมในด้านจำนวนคู่ขัดแย้งที่มีเพิ่มมากขึ้น การชุมนุมและความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ของคู่ขัดแย้งใน 4 ลักษณะ คือ 1) นักศึกษา-เยาวชนคนรุ่นใหม่ กับ รัฐ  2) ผู้สนับสนุน นักศึกษา-เยาวชนคนรุ่นใหม่ กับ ผู้ไม่สนับสนุนนักศึกษา-เยาวชนคนรุ่นใหม่ และ 3) ผู้สนับสนุนนักศึกษา-เยาวชนคนรุ่นใหม่ กับ รัฐ และ 4) นักศึกษา-เยาวชนคนรุ่นใหม่ กับ ผู้ไม่สนับสนุนนักศึกษา-เยาวชนคนรุ่นใหม่ ขอบเขตของความขัดแย้งได้มีการขยายทั้งในด้านของเนื้อหาและขอบเขตจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ยื่นข้อเสนอสามข้อ คือ การยุบสภา การแก้รัฐธรรมนูญและการเลิกคุกคามเสรีภาพของผู้ที่มีความคิดเห็นต่างได้พัฒนาต่อไปสู่การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกและนักศึกษาธรรมศาสตร์จะไม่ทนร่วมกัน พร้อมข้อเสนอเพิ่มเติมเป็นสิบข้อที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ยาวมาถึงการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 16 สิงหาคม การชุมนุมวันที่ 19 กันยายน การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมและการชุมนุมแบบไร้แกนนำตอนนี้ มีคนเสื้อแดงและพี่น้องประชาชนจำนวนมากมาร่วมจัดกิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้ด้วยอย่างต่อเนื่อง โดยวางบทบาทเพื่อมาสนับสนุนจุดยืนของนักศึกษา  

            ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้าน ชุมนุมประท้วงปักหลักชุมนุมบริเวณใกล้กันบริเวณที่กลุ่มนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ชุมนุม ด้วย คือ กลุ่มนักศึกษาอาชีวะปกป้องสถาบัน กลุ่มไทยภักดีและคนเสื้อเหลือง ที่มีจุดยืนในการปกป้องสถาบันมาร่วมด้วย โดยเชื่อว่ากลุ่มนักศึกษามีจุดยืนในการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยคอยเฝ้าดูสถานการณ์ว่าจะมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของคู่ขัดแย้งจากช่วงการชุมนุมทั้งของเสื้อเหลือง เสื้อแดงและ กปปส. มาสนับสนุนจุดยืนเดิมของพวกเขาผ่านกลุ่มนักศึกษา-เยาวชนคนรุ่นใหม่และกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันและกลุ่มไทยภักดี“ความขัดแย้งยังคงเป็นเรื่องเดิมเพียงแต่คู่ขัดแย้งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา” 

         ภายหลังการชุมนุมตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนมาถึงปัจจุบัน ข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ประชาชนปลดแอกและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่ทน ได้รวมข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาภายใน 1 เดือน ประกอบด้วย 1) แก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สสร เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับและมีความเป็นประชาธิปไตย 2) การยุบสภาในรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับตามหลักการประชาธิปไตย 3) การให้รัฐ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสถาบันการศึกษาหยุดคุกคามนักศึกษา นักเรียน คนรุ่นใหม่และประชาชน 4) การไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ 5) ความปรารถนา-ความฝันที่ต้องการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง 6) การให้เปิดอภิปรายวิสามัญของรัฐสภาเพื่อหาทางออกและ 7) การให้นายกรัฐมนตรีลาออก ทั้ง7 ประเด็นเป็นการสะท้อนโครงสร้างความขัดแย้งของสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ การปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

         อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสนใจในความขัดแย้งและการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากความขัดแย้งและการชุมนุมในอดีตทั้งของการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดงและ กปปส. นอกเหนือจากที่เราเห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นเด็ก-ไม่ใช่ผู้ใหญ่ เราเห็นว่าความขัดแย้งและการชุมนุมครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างนักศึกษา (เด็ก) และ รัฐ (ผู้ใหญ่) สูงมากเนื่องจากหนึ่งในการออกมาชุมนุม คือ ความฝันของพวกเขาที่ต้องการเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนของสังคมไทยมาโดยตลอด แต่กลับไม่มีการเผชิญหน้ารุนแรง หากลองเปลี่ยนคู่ขัดแย้งจากเด็ก กับ รัฐ เป็นผู้ใหญ่ กับ ผู้ใหญ่ ผมคิดว่าการเผชิญหน้าคงเกิดไปตั้งแต่วันแรกแล้ว 

            ปรากฏการณ์นี้มันน่าสนใจทีเดียว แม้เด็กจะมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากและทำให้ผู้ใหญ่รู้สึกไม่พอใจมากโดยเฉพาะเมื่อประเด็นความขัดแย้งหนึ่งเป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะสามารถนำมาวางในสังคมได้ แต่ด้วยค่านิยมเด็กในสายตาของผู้ใหญ่ที่ว่าเป็นลูกเป็นหลานช่วยปรับลดความตึงเครียดความขัดแย้งได้บ้าง แตกต่างกับการชุมนุมระหว่างผู้ชุมนุม (ผู้ใหญ่) และ รัฐ (ผู้ใหญ่) เราจะเห็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์เน้นย้ำมาตลอดว่าห้ามใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาโดยเด็ดขาดซึ่งเราไม่ค่อยเห็นสถานการณ์แบบนี้เท่าไหร่และเราก็ควรจะให้เครดิตรัฐบาลด้วย ผมจึงคิดว่าความขัดแย้งครั้งนี้ คือ จุดเปลี่ยนและโอกาสสำคัญของการจัดการความขัดแย้งร่วมสมัยของการเมืองไทยที่นักศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับผู้ใหญ่

ข้อเรียกร้องไม่ได้เป็นเรื่องใหม่

            ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลยแต่เป็นพัฒนาการความขัดแย้งที่พัฒนาจากความขัดแย้งในอดีตตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งสะท้อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 1) การพัฒนาประชาธิปไตย ประเด็นความขัดแย้ง คือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยและเราจะพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร? 2) การใช้กระบวนการจัดการความขัดแย้ง หรือ แก้ไขความขัดแย้งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการและการพัฒนาประชาธิปไตย ประเด็นความขัดแย้งคือ การทำรัฐประหารเป็นกระบวนการที่เหมาะสมหรือไม่ในการจัดการ หรือ แก้ไขความขัดแย้งของการเมืองไทย? 3) สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ประเด็นความขัดแย้ง คือ บทบาทของสถาบันในสังคมไทยสมัยใหม่ควรเป็นอย่างไร? และ 4)  คือ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ประเด็น คือ การบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การไม่มีธรรมาภิบาลของรัฐบาล นโยบายมุมมองการบริหาราชการแผ่นดินไม่ได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในบริบทความมั่นคงรูปแบบใหม่และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

            ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยตลอดระยะเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองครอบคลุม วนเวียนบนเรื่องเหล่านี้ ผ่านคู่ขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ความขัดแย้งเหล่านี้สามารถทำความเข้าใจได้สองลักษณะ 1) ความขัดแย้งเดิมที่แฝงในโครงสร้างของสังคม (Deep Rooted Conflict) เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับประชาธิปไตย การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยของสถาบันทหาร โดยการใช้รัฐประหารเป็นกระบวนการจัดการ หรือ แก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งทั้งสามประเด็นมีความสัมพันธ์กัน ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปสำหรับผู้คนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งนำมาสู่การสะสมความคิดเห็นที่แตกต่างที่ละเล็กที่ละน้อยของผู้คนในแต่ละแต่ยุคสมัย ความคิดของคนรุ่นหนึ่งเริ่มเปลี่ยนแปลง ส่งต่อไปอีกรุ่นเริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จนมาถึงคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากคนรุ่นเดิมทั้งหมด

             สำหรับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ทันจะเห็นภาพในอดีตทั้งหมด อาจจะไม่ทันร่วมความมรงจำร่วมสมัยต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  หรือ เข้าใจเหตุการณ์ทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากจุดเริ่มต้น มาสู่อีกจุดหนึ่งและจนถึงปัจจุบันทั้งหมดอย่างละเอียด แต่จับหลักการประชาธิปไตยมาเป็นจุดเริ่มต้นในการมองเห็นความแตกต่างระหว่างหลักการสากลกับสภาพปัจจุบันของประเทศที่เป็นจริงของประเทศแล้วมองรื้อกลับไปในอดีต “ในขณะที่คนรุ่นเดิมมองพัฒนาการจากอดีตมาสู่ปัจจุบันแต่คนรุ่นใหม่มองจากปัจจุบันกลับไปสู่อดีต” ทำให้เกิดการย้อนแย้งของมุมมองโดยไม่มีกระบวนการสร้างความเข้าใจสภาพที่เป็นจริงของประเทศให้ผู้คนในแต่ละยุคได้เข้าใจมากพอที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปของคนแต่สมัยโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ นักศึกษา-คนรุ่นใหม่ยึดหลักการเปรียบเทียบสากลมาใช้เป็นกระบวนการทำความเข้าใจสภาพที่เป็นจริงของประเทศแทน

             ดังนั้นนักศึกษาจึงเปรียบเทียบประเทศเรากับประเทศอื่นๆ โดยยึดหลักประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยของเราไม่เหมือนกับประเทศอื่น ในส่วนของประเด็นสถาบันพระมาหากษัตริย์ก็เช่นกันที่นักศึกษาไม่ได้อยู่ในยุคที่มีความเชื่อมโยงกับการรับรู้กับประเด็นสถาบันพระมาหากษัตริย์ เท่ากับคนยุคเดิม นักศึกษาจึงเปรียบไทยกับประเทศอื่นที่มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยนักศึกษาต้องการปฎิรูปให้สถาบันสามารถอยู่คู่กับสังคมไทยสมัยใหม่ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ผ่านข้อเสนอ 10 ประการปัญหาที่ทำให้เรื่องสถาบันลุกลามเพราะรัฐบาลไม่ทำให้เกิดความชัดเจน หรือ ไม่ชี้แจงว่าเรื่องเกี่ยวกับสถาบันเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล สถาบันไม่มีหน้าที่โดยตรงกับข้อเรียกร้อง ส่วนที่เป็นจุดสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักศึกษารู้สึกว่าขัดกับหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด คือ การใช้รัฐประหารในการจัดการ หรือ แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยสามารถใช้ได้ในบริบทความขัดแย้งในอดีตแต่สำหรับปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การเมืองระหว่างประเทศและเทคโนโลยี ทำให้ความคิดของผู้คน รวมถึงคนรุ่นใหม่ไม่เห็นว่าการใช้รัฐประหารสอดคล้องและเหมาะสมกับสังคมไทยในบริบทของการพัฒนาประชาธิปไตยอีกต่อไป

            2) ความขัดแย้งใหม่ที่พอกพูนขึ้น เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในปัจจุบัน เช่น การเอารัดเอาเปรียบทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ เป้าหมายที่ต้องการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลผ่านรัฐธรรมนูญด้วยกลไกสมาชิกวุฒิสภา การตีความหมายของรัฐธรรมนูญที่ดิ้นไปมาอยู่ที่ว่าใครอยู่ในอำนาจ ระบบยุติธรรมที่ล้มเหลว คุกมีไว้สำหรับคนจน ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่เน้นจากด้านบนลงล่าง ผู้นำและเครือข่ายขาดจริยธรรมทางการเมือง ผู้นำขาดทักษะและความรู้การจัดการความขัดแย้ง การถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รัฐบาลไม่รับฟังเสียงคนรุ่นใหม่ที่อยากสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง ความไม่สอดคล้องกับบทบาท หน้าที่และวิธีการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของสถาบันทหารที่ขัดกับการพัฒนาประชาธิปไตย วิธีการต่างๆ ไม่ได้ทำให้ผู้คนคลายความอึดอัดใจ 

            ไม่มีกลไกบริหารความแตกต่างทางความคิดและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในประเทศแต่กลับหลอมรวมทุกคนให้มีความคิดเหมือนของตน สะท้อนจุดยืนและวิธีคิดของสถาบันทหารไทยกับการเมืองไทยที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยและชาติมีแบบเดียวเท่านั้น สภาพทางการเมืองเช่นนี้นำมาสู่การตึงตัวในสังคม ผู้คนไม่พอใจ เกิดการตั้งคำถามและชุมนุม กลุ่มนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ ที่กำลังเริ่มเรียนรู้การเมืองและประชาธิปไตยไทย นักศึกษาใช้กระบวนการเริ่มต้นในการสำรวจการเมืองไทยด้วยการสังเกต ตั้งคำถามแล้วเปรียบเทียบว่าทำไมประชาธิปไตยประเทศของเขาจึงไม่ได้เป็นแบบประเทศอื่น ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของเขาในฐานะพลเมืองของรัฐว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและรับฟังความคิดเห็นต่างเพื่อพัฒนาชาติร่วมกันทุกฝ่าย

ความรู้สึกของนักศึกษา

            ผมได้พูดคุยกับนักศึกษาที่สนับสนุนการชุมนุมและนักศึกษาที่ไปร่วมการชุมนุมร่วมกับเยาวชนปลดแอกในวันที่ 19 กันยายน โดยพวกเขาได้สะท้อนมุมมองของเขาออกมาถึงความอึดอัดใจที่เป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ เขาเล่าให้ผมฟังว่าเขารู้สึกเหมือนตัวเขา คือ ตัวละครเอกอย่างวิลสตัน สมิธในหนังสือวรรณกรรมคลาสิคของ จอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง 1984สภาพสังคมของประเทศไทยในตอนนี้แทบจะไม่ต่างอะไรจากในหนังสือเล่มนี้เลย รัฐสามารถชี้นกเป็นไม้ชี้ไม้เป็นเป็นนกได้ อยากจะทำอะไรก็ตามที่รัฐต้องการ นักศึกษาบอกว่ารัฐบาลคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มาก โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านี้ได้บ่มเพาะความเกลียดชังและเมล็ดแห่งความขัดแย้งของประชาชนที่มีต่อรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเหตุผลที่นักศึกษาตัดสินใจว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง 

            นอกจากนี้ พวกเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเป็นไปเพื่อให้ คสช. และพลเอกประยุทธ์สืบทอดอำนาจด้วยกลไก 250สว. เป็นการเอารัดเอาเปรียบทางการเมือง ไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย พวกเขายังเห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลล้มเหลว รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงการบริหารราชการแผ่นดินเกิดข้อครหาในภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การแทรกแซงองค์กรอิสระของผู้มีอำนาจเมื่อมีการพิจารณาความอันเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของตนและในทางตรงกันกับฝ่ายตรงข้าม การนำทรัพยากรของรัฐไปใช้ในนามส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง การให้ความสำคัญกับความมั่นคงโดยการจัดซื้อยุทธโธปกรณ์เสริมของทัพมากเกินความจำเป็นในขณะที่ประชาชนกำลังลำบาก มีการช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นผิดจากกระบวนการยุติธรรม รัฐไม่ได้ผดุงรักษาระบบยุติธรรม มีการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ปราบปรามผู้มีความคิดเห็นที่ต่างจากตนพวกเขาออกมาเพราะเขารู้สึกไม่พอใจกับการที่รัฐบาลควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี บริหารราชการแผ่นดินไร้ประสิทธิภาพ ไม่เข้าใจคำว่าชาติในครรลองประชาธิปไตย ไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกบนพื้นฐานของหลักสิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย พวกเขาต้องการหลักประกันว่าสังคมในอนาคตของพวกเขาจะถูกออกแบบที่เหมาะสมสำหรับคนในยุคข้างหน้า เขาควรมีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดไม่ใช่มีเพียงแต่รัฐเท่านั้น 

            อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ พวกเขาเล่าว่าผู้ใหญ่ หรือ รัฐ ยังใช้กรอบความคิดเดิมที่มองว่าพวกเขาเป็นเด็กตามความเชื่อของสังคมไทยที่ว่าเด็กยังไงก็คือเด็ก ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนรู้ว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม เด็กไม่มีทางเข้าใจโลกได้ดีเท่าผู้ใหญ่แต่สำหรับเด็กเขาคิดว่าเขาเติบโตมาคนละยุคกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ในสังคมไทยมีความเข้าใจในโลกของตนเองในแบบของตนเองและต้องการให้คนอื่นเข้าใจและอยู่ในโลกของผู้ใหญ่ ในขณะที่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่อยู่ในสถานะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อสังคมไทยได้ง่ายกว่า คนรุ่นไม่ได้อยู่ในเฉพาะสังคมไทยสังคมเดียวอีกต่อไปแต่เป็นสังคมโลก ซึ่งชุดความคิดนี้ตรงข้ามกับแนวคิดท่านนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้นักศึกษาต้องคิดเป็น โดยรู้ว่าอะไรเหมาะสมกับประเทศ ซึ่งท่านมักจะเน้นเสมอว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกบางอย่างควรนำมาใช้และบางอย่างไม่ควรนำมาใช้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีแนวคิดเช่นกันว่าอะไรที่ประเทศควรนำมาใช้และอะไรที่ประเทศไม่ควรนำมาใช้เช่นกันแต่เรื่องที่ต้องการและไม่ต้องการแตกต่างกันตามยุคสมัยเป็นไปไม่ได้ที่เราจะให้ทุกคน หรือ คนยุคนี้คิดเหมือนคนยุคที่แล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ก็อาจจะลืมไปแล้วว่าผู้ใหญ่ก็เคยเป็นเด็ก หรือ คนรุ่นใหม่มาก่อน ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยบางอย่างในตอนนั้น เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ได้คิดไม่เป็นแต่เขาคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่ ไม่มีทางที่อะไรจะเหมือนกันไปหมดตลอดไปเมื่อเวลาผ่านไปและผสมผสานกับความคิดใหม่ๆ ที่เกิดจากการสะสมความรู้ในแบบที่คนรุ่นใหม่ชอบ ซึ่งสิ่งที่เขาชอบกลายเป็นความสนใจ สิ่งที่เขาสนใจจะถูกมาพัฒนาและใช้แทนที่ความคิดเดิมของพวกเราในไม่ช้า 

            เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องทำหน้าที่แทนเราแน่นอนในอนาคต ระบบความคิดคนรุ่นใหม่จะกลายเป็นโครงสร้างหลักของสังคม ระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ถูกทักทอไม่ใช่แค่เพียงตามสิ่งที่เราให้เขาเรียนในห้องเรียน แต่เขาหาความรู้ เข้าถึงข้อมูล หรือ ข่าวสารด้วยทักษะที่มีด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในโลกออนไลน์และนำมาประกอบกับความรู้จากแหล่งอื่นๆ ซึ่งทำให้เขามีปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดที่เขาเห็นว่าเหมาะสม สิ่งที่เขาจะมีน้อยกว่าผู้ใหญ่มีมาก คือ ประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่อาจจะนำมาใช้ได้ 

            พวกเขารู้สึกไม่พอใจ โดยเฉพาะเมื่อผู้ใหญ่บอกว่าพวกเขาว่าถูกจูงจมูก หรือ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นการบอกพวกเขาว่าพวกเขาเป็นพวกคิดไม่เป็น แน่นอนที่พวกเขาต้องได้รับอิทธิพลมาจากที่ใดสักแห่ง หรือ จากผู้ที่เขาเห็นว่าความคิดไปในทางเดียวกัน เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันแต่มันคงเป็นไปได้ยากที่ผู้ชุมนุมทั้งประเทศจะได้รับอิทธิพลเหมือนกันและจากที่เดียวกัน ทุกวันนี้หากมีผู้อยู่เบื้องหลังจริงก็คงเป็นเพียงผู้ตามและไม่สามารถจะนำได้ “เพราะนักศึกษาได้ทำให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมไร้สายไปแล้ว” อย่างไรก็ตามนี่คือจุดร่วมที่ต่างกันและสามารถเชื่อมกันได้ เราจะเห็นว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็มีมุมที่สามารถนำมาผสานกันได้  เด็กก็ต้องไม่เลยเถิดเกิน-ไม่ใช้คำให้ผุ้ใหญ่เจ็บช้ำน้ำใจไปมากกว่านี้และผู้ใหญ่ก็ต้องไม่บีบบังคับกดดันจนเกินไปเช่นกัน ดังนั้น คนยุคที่แล้ว หรือ คนยุคผมก็ไม่มีทางเข้าใจคนรุ่นปัจจุบันได้หากไม่ลองสื่อสารและพูดคุยกัน ปรับความคิดเห็นบนจุดยืนที่แตกต่างกันให้ได้มากที่สุดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและตั้งใจทำ “โดยยึดหลักการ” ประเด็นสำคัญ คือ เราอาจต้องยอมรับความจริงไม่ว่าจะเห็นด้วยกับนักศึกษา หรือ ไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ผู้ใหญ่ (รัฐ) ต้องพยายามเข้าใจจุดนี้ก่อนในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อพลเมืองทุกคนของรัฐ และนักศึกษาจะเห็นด้วยหรือไม่ก้ตามก็ต้องเข้าใจว่ารัฐก็มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฏหมาย ซึ่งเราต้องสร้างกระบวนการนี้ขึ้นมาในการสร้างสมดุลขอบเขตของแต่ละฝ่ายบนจุดยืนของตนเอง ก่อนจะนำไปสู่การเจรจา หรือ การไกล่เกลี่ยต่อไป จึงจะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ แล้วจึงค่อยๆ หาจุดร่วมและปรับให้สมดุลกันต่อไป 

ปัจจัยประกอบที่ทำให้ความขัดแย้งพัฒนามาสู่การชุมนุม

            การสื่อสารไม่มีการสื่อสารเกิดช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจกันขยายมากขึ้นระหว่างรัฐบาลกับนักศึกษา หรือ ไม่มีการสร้างความสัมพันธ์กับนักศึกษาที่อยากแสดงความความคิดเห็นที่แตกต่าง การรับฟังถือเป็นองค์ประกอบและจุดเริ่มต้นสำคัญของการจัดการและแก้ไขความขัดแย้ง หรือ การพัฒนาให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งรัฐมีหน้าที่สำคัญนี้ ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชุมนุมมักจะเน้นเสมอถึงการที่รัฐบาลไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างทั้งที่ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ให้เสรีภาพอยู่เหมือนกัน ภายใต้ข้อบังคับของประกาศการรวมกลุ่มตาม พรก.ฉุกเฉินรับมือสถานการณ์ของโรค อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยรัฐแสดงให้เห็นถึงการประนีประนอมอยู่เหมือนกัน เพราะเห็นว่าเป็นเยาวชน นิสิต นักศึกษาและเป็นลูก เป็นหลานของคนไทยด้วยกัน แต่น่าเสียดายที่ให้นักศึกษาได้สื่อสารฝ่ายเดียวในบรรยกาศที่เขารู้สึกกดดันและอึดอัด จึงพัฒนากลายเป็นการสื่อสารกับรัฐในรูปแบบการชุมนุม ประท้วงและต่อต้าน ซึ่งทำให้สถานการณ์เช่นนี้ไม่ดีและต้องใช้ความพยายามมากว่าเดิมในการปรับทัศนคิต ความไม่เข้าใจกันและพฤติกรรมของทั้งสองฝ่าย สถานการณ์จะเป็นอีกแบบหากรัฐบาลกับนักศึกษาได้ทำการสื่อสารกันก่อนที่จะมีการชุมนุมในลักษณะสุนทรียสนทนา การที่การสนทนาไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทรฺโอชา ทุกครั้งท่านนายกรัฐมนตรีก็จะบอกว่าฟังตลอดผ่านการชุมนุม ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้รู้สึกว่าการสนทนาทางตรงจะช่วยลดความร้อนแรงของการชุมนุมได้      

            นอกจากนี้รัฐ หรือ หน่วยงานของรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรทำลายโอกาสในการสื่อสารด้วยการวิจารณ์ว่าร้ายกลุ่มนักศึกษาที่เห็นต่าง ความเห็นส่วนตัวก็ควรจะเก็บไว้เองในช่วงที่สถานการณ์กำลังตึงเครียด ไม่ควรสร้างประเด็นความเกลียดชังระหว่างกันให้มากขึ้น ตัวอย่างของการทำให้ความขัดแย้งอยู่ในเชิงลบ ทำให้เกิดความตึงเครียดและเกลียดชัง เช่น ภายหลังการชุมนุมวันที่ 16 บรรยากาศจบไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีการเผชิญหน้าของผู้ชุมนุมสองฝ่าย ทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองแต่สถาบันการศึกษากลับกำลังสร้างเงื่อนไขกับนักเรียนมัธยมตอนนี้ ซึ่งทำลายสภาพของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและผู้ใหญ่กับนักศึกษานักเรียนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการระบบความคิดเป็นแบบเดิมที่นักเรียนต้องเชื่อฟังคุณครูในขณะที่ ระบบคิดของนักเรียนสัมพันธ์กับหลักสิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิเสรีภาพตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ ซึ่งคุณครูไม่ได้ทราบ หรือ มีความรู้มีความรู้น้อยมาก หรือ ทราบแต่ไม่สนใจ

            ผู้นำขาดความรู้และทักษะพื้นฐานในการจัดการความขัดแย้งก่อนเกิดรัฐประหาร มีการไกล่เกลี่ยทางการเมืองเกิดขึ้น โดยคนกลางแบบใช้อำนาจ (Coercive Mediator)   โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ล้มเหลวเนื่องจากขาดความรู้และทักษะเกี่ยวกับ1)ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับคนกลาง พลเอกประยุทธ์ไม่มีความรู้ในการเป็นคนกลางทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องอาศัยการรับฟังจุดยืนของผู้คนที่แตกต่างแล้วผสานหาจุดยืนร่วมกันใหม่ ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เพียงสองวันเช่นนี้ ในหลายกรณีทั่วโลก การไกล่เกลี่ยในลักษณะนี้ใช้เวลาเป็นปี หรือ หลายปี จึงจะสามารถไกล่เกลี่ยได้   ผู้คนยอมรับคนกลางแบบมีอำนาจเนื่องจากสามารถยุติความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ (Crisis Management) ซึ่งผู้คนเชื่อว่าเมืองยุติความรุนแรงได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่คนกลางแบบใช้อำนาจจะทำคือ การจัดการความขัดแข้ง หรือ การจัดการความคิดเห็นที่มีจุดยืนที่ต่างกันระหว่างปฎิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือ เลือกตั้งก่อนปฎิรูป และจึงทำการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution) ด้วยการสร้างจุดยืนใหม่ร่วมกันบนข้อขัดแย้งในโครงสร้าง (Deep-Rooted Conflict) และข้อขัดแย้งที่เกิดจากรัฐบาลในขณะนั้น แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่แนวทางข้างต้น คือ คนกลางแบบใช้อำนาจตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองเป็นคู่ขัดแย้งเมื่อเลือกจุดยืนของคู่ขัดแย้งด้านหนึ่ง คือ “ปฎิรูปก่อนเลือกตั้งด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ รัฐบประหารและเริ่มรักษาอำนาจ โดยจะคืนความสุขให้ประชาชน ด้วยเหตุผลในการทำรัฐประหาร คือ การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง” แต่เป็นที่ประจักษ์ว่าตลอดระยะเวลาในการอยู่ในอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งแต่ควบคุมอำนาจในฐานะ คสช การรักษาอำนาจในฐานะรัฐบาล คสช และการสถาปณาอำนาจในฐานรัฐบาลปรกติที่มาจากการเลือกตั้งและจัดทำรัฐธรรมนูญ 60 รัฐบาลไม่ได้ให้ควาสามสำคัญกับการจัดการ หรือ แก้ไขความขัดแย้งเลย ความขัดแย้งจึงยังคงดำรงอยู่มาจนถึงความไม่พอใจของนักศึกษาในตอนนี้  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ควรจะทำหน้าที่เป็นรัฐบาลพิเศษในการแก้ไขความขัดแย้งกลับเปลี่ยนสภาพมาเป็นรัฐลาลปรกติ ซึ่งควรจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพลเรือน หรือ พรรคการเมืองโดยทั่วไป อีกเหตุผลหนึ่ง คือ การที่สังคมยอมรับการทำรัฐประหารครั้งนั้นในฐานะเครื่องมือจัดการความรุนแรงเพราะทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้พยายามในการจัดการความขัดแย้งและแก้ไขความขัดแย้งแล้วไม่สำเร็จด้วยคณะกรรมการ คอป และ แนวคิดการนิรโทษกรรม แต่อย่างน้อยทั้งสองรัฐบบาลได้มีความพยายามในการจัดการความขัดแย้งและแก้ไขความขัดแย้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีความพยายามดังกล่างเลยทั้งที่อยู่ในบทบามที่ทำได้มากกว่าทั้งสองรัฐบาล

            2)ขาดทักษะการฟัง การไม่รับฟังคนอื่นเป็นคุณสมบัติประจำตนของพลเอกประยุทธ์ นอกจากไม่รับฟังพลเอกประยุทธ์ยังตั้งธงไว้ โดยยึดแนวทางการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมาโดยตลอด มากกว่าการเลือกตั้งแล้วปฏิรูปจึงทำให้การไกล่เกลี่ยล้มเหลว ก่อนตัดสินใจทำรัฐประหารเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นไปตามประชาธิปไตย ทำให้ผู้คนอีกหลายกลุ่มในสังคมไม่เห็นด้วยมาโดยตลอดตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหารโดยพลเอกสนธิ เมื่อ พ.ศ. 2549 ผลของการทำรัฐประหารทำให้เกิดคนที่ได้เปรียบและผู้ที่เสียเปรียบทางการเมืองในลักษณะ Win-Lose ทั้งในสถาบันการเมืองและนอกสถาบันการเมือง ในช่วงที่นิสิต นักศึกษาและนักเรียนกำลังเริ่มเรียนรู้ประชาธิปไตยและการเมืองผ่านสถานการณ์ต่างๆ และผ่านพรรคอนาคตใหม่ที่เขาเห็นว่าเป้าหมายของพรรคมีความใกล้เคียงกับพวกเขามากกว่าพรรคอื่นๆ ประกอบกับที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้นทั้งหมดเป็นเงื่อนไขพอสมควรที่มีผลต่อการออกมาต่อต้าน ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลของนักศึกษา นิสิต นักเรียนและคนรุ่นใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ 

คำถามจากนักศึกษา

            การชุมนุมครั้งนี้มีนักศึกษาของผมหลายคนไปร่วมการชุมนุม มีทั้งนักศึกษาที่เคยเรียนวิชาสันติศึกษากับผมและที่ไม่เคยเรียนแต่มีความสนใจสันติศึกษาในการนำใช้ในการชุมนุมครั้งนี้ มีนักศึกษาในที่ชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ถามว่า ถ้าอาจารย์ต้องจัดการการชุมนุมครั้งนี้ด้วยหลักสันติศึกษาอาจารย์จะทำอย่างไงในการชุมนุมครั้งนี้คำถามนี้มีนัยว่าเขาควรจะจัดกระบวนการจัดการชุมนุมอย่างไรให้การชุมนุมประสบผลสำเร็จโดยหลักสันติวิธี ข้อสำคัญคือไม่การสูญเสีย หรือ บาดเจ็บเกิดขึ้น ปราศจากความรุนแรงจากทุกฝ่าย ตามที่ได้สังเกตดู นักศึกษาอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เรียกว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติและปราศจากการใช้ความรุนแรงแม้จะมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ซึ่งนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจการชุมนุมโดยสันติของผู้ชุมนุมเป็นอย่างไร การชุมนุมโดยสันติก็มีความเข้าใจที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลักคิดที่ใช้ ต้องเข้าใจก่อนว่าการชุมนุมประท้วงทางการเมืองไม่ใช่เรื่องปรกติที่เกิดขึ้นทุกวัน มันเป็นการแสดงออกที่ไม่พอใจของกลุ่มคน ซึ่งแน่นอนมักจะไม่เป็นไปตามระเบียบของสังคม หรือ ผิดกฎหมายแน่นอน อย่างไรก็ตามการชุมนุมโดยทั่วไป แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมมักจะบอกเสมอในตอนแรกว่าเป็นการชุมนุมจะอยู่ภายใต้หลักของกฏหมายแต่ก็มักจะมีการกระทำผิดกฏหมาย ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือ กปปส ก็ตาม เช่นเดียวกับ การใช้อหิงสาในการชุมนุมของทุกลุ่ม รวมถึงของนักศึกษา ซึ่งการชุมนุมก็มักจะบอกเสมอว่าการชุมนุมของพวกเขาไม่ใช่ความรุนแรงในการชุมนุมและเป็นอหิงสา ซึ่งก็มีผิดพลาดบ้างเป็นปรกติของทุกกลุ่มในการควบคุมผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการต่อสู้โดยมาใช้ความรุนแรงในการปลดแอกของอินเดียต่ออังกฤษ โดยมหาตะมะคานธี ซึ่งการชุมนุมของนักศึกษาอาจทำได้ไม่ง่ายนัก

            หลักอหิงสาของคานธี คือ การดื้อเพ่งไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ซึ่งทำงานควบคู่ไปกับหลักสัตยานุเคราะห์ ที่วางอยู่บนพื้นฐานความจริงของมนุษย์ ความเป็นธรรม ความรักและควาเมตตาแก่เพื่อมนุษย์ด้วยกัน ที่จะจรรโลงสังคมให้เป็นสุข ผู้คนต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำร้าย หรือ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและการไม่มองผู้อื่นในแง่ลบ ด้วยกาย วาจา หรือ การใช้คำหยาบคาย หรือ ประชดประชันเสียดสี แต่จะมองผู้อื่นในแง่บวก การไม่ทำร้ายผู้อื่นแม้เขาจะทำร้ายเราทั้งกายและใจก็ตามเราก็จะไม่ตอบโตผู้ที่ทำร้ายเราด้วยความรุนแรงแต่เราจะใช้วิธีตอบโต้แบบไร้ความรุนแรง ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องมีศรัทธา ความเชื่อในวิธีนี้และต้องมีการฝึกฝนจิตใจ การคิดแบบอหิงสาไม่ได้ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดแต่สิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาแต่กำเนิด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการชุมนุมโดยสันติวิธีโดยยึดหลักคานธีอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยากจะนึกใช้เลยก็ทำได้เลย ต้องเข้าใจ ปรับจิตใจและฝึกฝน แม้กระทั่งคานธีเองก็ประสบปัญหาพอสมควรในตอนแรกในการทำความเข้าใจกับชาวอินเดียในการต่อต้านอังกฤษแบบไร้ความรุนแรงทุกรูปแบบ มันไม่ง่ายเลยที่เราจะเอาชนะความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามได้ทันที ดังนั้น หากปราศจากความเข้าใจพื้นฐานที่แท้จริงของอหิงสา การชุมนุมโดยอ้างหลักอหิงสามักล้มเหลว ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่การชุมนุมต่างๆ ของเรามากมายในอดีตที่แกนนำการชุมนุมส่วนใหญ่มักจะบอกเสมอว่าเราจะชุมนุมโดยสันติวิธีแต่สุดท้ายแล้วทุกการชุมนุมก็ลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน เพราะไม่ได้เข้าใจและศรัทธาทำการชุมนุมด้วยวิธีนี้อย่างจริงจัง 

            สำหรับการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ของนักศึกษา ในความคิดส่วนตัวคิดว่าหากเราลองนำความเข้าใจอหิงสาและสัตยานุเคราะห์ของคานธีซ้อนทักกับการชุมนุมครั้งนี้ จะเห็นว่าไม่สอดคล้องกันสักเท่าไหร่หากดูจากหลักการของอหิงสาตามแบบของคานธีจะมีความคล้ายคลึงอยู่หนึ่งกรณีแต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว ที่มีนักศึกษาได้แสดงออกเช่นเดียวกับที่คานธีทำในการให้ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม ยุติไม่ฆ่ากันเอง คือ การอดข้าวและน้ำ อย่างไรก็ตามแตกต่างจากคานธี เพราะนักศึกษาต้องการกดดันรัฐ ในการแสดงให้เห็นถึงความลำบากของประชาชนที่ไม่มีเงินจะซื้ออาหารเนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับแนวคิดที่จะได้กล่าวต่อไปนักคิดสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ Gene Sharp ที่พัฒนาความยากของคานธีให้ดูง่ายขึ้น เป็นการไม่ใช้ความรุนแรงสมัยใหม่ ด้วยวิธีการประท้วงและกดดันในหลายรูปแบบโดยปราศจากความรุนแรงหรือ ปฎิบัติการไร้ความรุนแรง 198วิธี ต่อต้านรัฐที่มีลักษณะเผด็จการ (The Methods of Nonviolent Actions) ซึ่งการชุมนุมประท้วงต่อต้านของนักศึกษาครั้งนี้ดูจะสอดคล้องกับแนวคิดนี้มากกว่า เขาชี้ให้เห็นว่าผู้คนที่ไม่พอใจสามารถสื่อสาร หรือ ทำการแสดงออกที่ไม่เห็นด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อถอดถอนความชอบธรรมของรัฐที่มีลักษณะเผด็จการเพื่อเปลี่ยนอำนาจไปสู่รัฐใหม่ที่มีความชอบธรรมและให้มีความเป็นประชาธิปไตย  

            ในการชุมนุมครั้งนี้ นักศึกษา-คนรุ่นใหม่ได้นำวิธีของ Sharp มาใช้แล้วหลายวิธี  เช่น การแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ การชุมนุมประท้วงแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ การสื่อสารทั้งทางเสียงและภาพผ่าน Live ผ่าน social media การทำป้าย หรือ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความไม่พอใจ การแสดงป้ายประท้วง การแสดงป้ายขาวโดยไม่มีข้อความ การแสดงละครเชิงสัญลักษณ์ การวิ่งในสัญลักษณ์แฮมทาโร่การรวมตัวพ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ร่ายคาถาขับไล่สิ่งชั่วร้าย การนั่งชมความงามของรัฐสภาใหม่ การผูกโบว์ขาวของนักเรียนและการชูสามนิ้วที่ไม่ได้มีการชูตามความหมายที่รัฐบาลคิด คือ ตามแบบอย่างของลูกเสือแต่เป็นการชูตามความหมายของหนังเรื่อง the Hunger Games เป็นต้น อย่างไรก็ตามให้เลือกใช้วิธีการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เวลาและเป้าหมายของการชุมนุมให้มากที่สุดและวิธีการที่เลือกใช้ว่าจะได้ผลอย่างไร ไม่ใช่แค่ต้องทำไปเพื่อความสะใจ หรือ ประชดเท่านั้น เพราแต่ละวิธีการมีที่มาที่ไปและเป้าหมายของวิธีนั้นๆ

            ดังนั้น เมื่อยึดมั่นในกระบวนการสันติวิธีแล้ว สันติวิธีจะเป็นเกราะป้องกัน  เราจะไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ แม้ใครจะใช้ความรุนแรงกับเรา เมื่อใดที่เราเริ่มใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือกถือว่าการชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธีได้สิ้นสุดลง ความชอบธรรมในการต่อสู้จะหมดลง ดุลพลังการต่อสู้ หรือ ความชอบธรรมจะเป็นของอีกฝ่าย หรือ ฝ่ายอื่นๆ ทันที เราต้องไม่ปล่อยให้ความเกลียดชังทำให้เราใช้ความรุนแรง หรือ ตอบโต้เพราะเราก็จะไม่ได้ต่างอะไรกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับเราและเมื่อเลือกใช้กระบวนการสันติวิธีในการชุมนุมนี้แล้ว ต้องยอมรับผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งในเชิงสังคมและกฎหมายการสร้างแผนงานการทำสันติวิธีในการชุมนุมมีความสำคัญ การชุมนุมควรมีกรอบของการชุมนุมในด้านเนื้อหาที่ชัดเจนและสมาชิกทุกคนเข้าใจตรงกัน ความท้าทายตอนนี้เมื่อการชุมนุมมีลักษณะไม่มีแกนนำใครอยากจัดก็ได้เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าวันหนึ่งมันจะไม่ผิดพลาดและนำไปสู่การเผชิญหน้ากับรัฐ อย่างไรก็ตามขณะนี้ การชุมนุมได้มีการเน้นย้ำอย่างชัดเจนหลายครั้งในเรื่องของแนวทางที่ควรดำเนินการตามสันติวิธีนอกจากนี้ควรคิดถึงกฎระเบียบต่างๆ ในการชุมนุมให้ทุกคนทราบและยึดถือเหมือนกัน ความล้มเหลวของการชุมนุมมักจะเกิดจากสมาชิกทำเกินบทบาท หรือ ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการจัดการชุมนุม การหาแนวทางหากมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ชุมนุม ทุกการชุมนุมต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นสำคัญ ซึ่งจากการชุมนุมที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดีแม้จะเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมแล้วแต่ผู้ชุมนุมไม่ได้ขยายอารมณ์มากนักแต่เน้นแนวทางสันติวิธี-ใช้การต่อสู่เชิงสัญลักาณ์ ต้มยำทำ (แกง) แทน 

จังหวะแห่งโอกาส

            ในมุมของสันติศึกษาเราเชื่อว่าในทุกๆ ความขัดแย้งจะมีจังหวะแห่งโอกาส(Ripe Moment)ซ้อนอยู่เสมอ จังหวะแห่งโอกาสคือ “จังหวะ”ที่ความขัดแย้งยังไม่ได้พัฒนาไปสู่ขั้นสูงสุดและเป็นจังหวะที่ความรุนแรงยังไม่เกิดขึ้นแต่เป็นจังหวะที่ความขัดแย้งกำลังคงตัว คู่ขัดแย้งกำลังคุมเชิงบนจุดยืนและความสัมพันธ์ที่ยังมีความพยายามเข้าใจกันอยู่บ้าง คู่ขัดแย้งกำลังต่างฝ่ายต่างมีความคิดที่จะลองพิจารณาความเป็นไปได้ในการตอบสนองจุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ เมื่อผู้ชุมนุมได้ยื่นเวลาให้รัฐบาลเพิ่มไปอีก 1 เดือนหลังจากการชุมนุมและยืนข้อเสนอครั้งแรก และจะกลับมาชุมนุมอีกหากยังไม่ได้รับการตอบสนองชี้ให้เห็นว่าผู้ชุมนุมก็ให้โอกาสรัฐบาล โอกาสได้เปิดขึ้นแล้วแม้ผู้ชุมนุมจะกลับมาชุมนุมอีกหากไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งแสดงว่าผู้ชุมนุมยังมีความหวังและยังให้พื้นที่รัฐบาลแต่ถ้าหากหลายครั้งแล้วรัฐบาลก็ยังไม่สามารถตอบสนองได้ หรือ แสดงให้เห็นว่ามีความพยายาม ผู้ชุมนุมอาจเลิกกระบวนการนี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าจังหวะแห่งโอกาสได้หมดไปแล้ว 

             ดังนั้น จังหวะเช่นนี้เปรียบเสมือน “โอกาส”ของการรับฟังพูดคุยและเจรจาผ่านคู่ขัดแย้งกันเอง รวมถึงผ่านคนกลาง เพื่อพยายามเข้าใจจุดยืนของอีกฝ่ายและพยายามตอบสนองจุดยืนที่แตกต่างกันด้วยกระบวนการจัดการและแก้ไขความขัดแย้งที่เหมาะสมกับคู่ขัดแย้งก่อนที่เวลาเหมาะสมนี้จะหมดไป ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้ก็คงมีความพยายามกันแล้วบ้าง? ไม่เคยมีความขัดแย้งทางการเมืองครั้งไหนที่ความคิดเห็นที่แตกต่างกันตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจะมาบรรจบและสามารถนำมาวางในสังคมได้อย่างเหมาะสมเท่าครั้งนี้ จังหวะของความขัดแย้งตอนนี้ สามารถนำมาสู่โอกาสการจัดการและแก้ไขความขัดแย้งที่ค้างคาในอดีตได้มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาอย่างไรก็ตามความท้าทายของจังหวะแห่งโอกาสครั้งนี้ อยู่ได้ไม่นานก่อนจะเปลี่ยนสภาพไปสู่ความรุนแรง โดยสิ่งที่ทำให้เกิดจังหวะแห่งโอกาสในการชุมนุมครั้งนี้ประกอบด้วยสถานการณ์เหล่านี้

            1) ความขัดแย้งในครั้งนี้ ประกอบด้วยความขัดแย้งหลักและความขัดแย้งรอง ซึ่งตอนนี้ผู้ชุมให้ความสำคัญกับความขัดแย้งหลัก คือ เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษติรย์ โดยหัวข้อความขัดแย้งที่รัฐบาลกังวลมากที่สุด คือ ความฝันของผู้ชุมนุมที่ต้องการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง สิ่งที่กลุ่มนักศึกษากำลังทำ คือ การนำเรื่องเดิมในอดีตที่ไม่สามารถมาวางในสังคมมาพูดจาได้ในสังคม ภายใต้ความสัมพันธ์ของคู่ขัดแย้งเด็กกับผู้ใหญ่ที่กำลังดูท่าทีและพยายามต่อรองกันอยู่ หากเราเข้าใจจุดยืนของผู้ชุมนุมในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะพบว่าทั้งผู้ชุมและรัฐบาลต่างมีจุดยืนเดียวกัน คือ ยังต้องการให้ประเทศไทยคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ ผู้ชุมนุมไม่ได้ต้องการล้มล้าง หรือ ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด สิ่งที่ต้องนำมาพูดคุยกัน คือ จะปรับตามรายละเอียดของผู้ชุมนุมได้มากน้อยเพียงใด จุดสำคัญ คือ จุดยืนหลักของทั้งผู้ชุมนุมและรัฐบาลไม่ได้ขัดกันจนหาที่ยืนร่วมกันไม่ได้

            2) การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ แม้เรื่องที่ขัดแย้งจะดูหนักกว่าทุกครั้งที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายทั้งนักศึกษาและรัฐก็มีความพยายามรักษาพื้นที่ของกันและกันไม่ให้กระทบกระทั้งกัน อย่างน้อยก็ไม่เห็นเกิดความรุนแรงทางกายภาพต่อกัน แม้จะเกิดการสาดสีใส่เจ้าหน้าตำรวจก็ตาม ซึ่งถือเป็นความรุนแรงแม้ผู้กระทำจะให้คำอธิบาบอบ่างไรก็ตาม ซึ่งก็น่าสนใจว่ารัฐมีความอดทนอดกลั้นพอสมควร ประกอบกับผู้ชุมนถมส่วนใหญ่รักษาสัญญาตามที่ได้ตกลงกับทางตำรวจเรื่องกรอบของการชุมนุม ซึ่งทำให้รัฐมีความสบายใจในระดับหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายไม่พยายามทำให้อีกฝ่ายฝ่ายอยู่ในสถานการณ์หลังชนฝา หรือ หมาจนตรอก ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอกับการชุมนุมประท้วงในอดีต เช่น การชุมนุมเสื้อเหลือง การชุมนุมเสื้อแดงและการชุมนุมของ กปปส ซึ่งมักนำมาสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างกันและนำไปสู่การทำรัฐประหาร 

            3) ทุกครั้งที่ผ่านมาผู้ที่เป็นคู่ขัดแย้ง คือ รัฐ กับ ผู้ใหญ่ แต่ครั้งนี้ คือ รัฐ กับ เด็ก นักศึกษา นิสิต นักเรียนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ปรากฏการณ์นี้สำคัญมากต่อบริบทการจัดการความขัดแย้งที่เรามักไม่เห็นรัฐยอมได้มากเท่าครั้งนี้หากเกิดการชุมนุมที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผู้ใหญ่ (ทหาร)และผู้ที่สนับสนุนผู้ใหญ่บางส่วน ยังให้ความเอ็นดูพอสมควรตามค่านิยมของเราที่เห็นว่าเป็นลูกเป็นหลาน แม้ลูกหลานจะพูดจาหักหาญน้ำใจผู้ใหญ่ไปมากก็ตามแต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ใช้ความรุนแรง แน่นอนมีการกดดัน ควบคุมตัว แต่หากเทียบกับเมื่อก่อนที่ผู้ชุมนุมเป็นผู้ใหญ่และกล่าวถึงสถาบัน ความเข้มข้นในการกดดันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่แตกต่างกันมาก ซึ่งเด็กก็ควรจะเห็นโอกาสตรงนี้ด้วยและพยายามเข้าใจผู้ใหญ่เช่นกัน ในขณะเดียวการชุมนุมของเด็กเป็นการชุมนุมที่ยึดมั่นในสันติวิธีและปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ดังนั้น พฤติกรรมของคู่ขัดแย้งอยู่ในสภาวะที่ยังพอเป็นไปได้ที่จะทำการพูดคุยระหว่างกัน หรือ การไกล่เกลี่ย ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ขัดแย้งที่เป็นเด็กกับผู้ใหญ่ที่ได้กล่าวไปแล้วทำให้โอกาสในการเกิดการเผชิญหน้าต่ำ การปรับจุดยืนร่วมกันและสร้างโอกาสในการอยู่รวมกันได้มีสูง 

            4) ทั้งในสภาและนอกสภาต่างพูดคุยกันเรื่องการจัดการสถานการณ์ความขัดแย้ง ในสภามีการหยิบยกแนวคิดการปรองดองต่างๆ ที่เคยทำในอดีตนำออกมาหารือ รวมถึงผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการในยุคปัจจุบันมาพิจารณาด้วย การเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เกิดกระบวนการ สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญเหมือนตอนจัดทำรัฐธรรมนูญปี 40เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านที่เสนอเปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่นอกสภาข้อเสนอของกลุ่มนักศึกษาเป็นการคลี่ประเด็นความขัดแย้งในสังคมไทยที่ไม่เคยมีความชัดเจนเท่าครั้งนี้เพื่อนำไปสู่การพูดคุย แลกเปลี่ยน แนวทางและทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายสามารถยืนอยู่ร่วมกันได้  แสดงให้เห็นถึงจังหวะแห่งโอกาสครั้งนี้ ซึ่งเราไม่ควรปล่อยให้หลุดไป ในความขัดแย้งครั้งนี้มีโอกาสซ้อนอยู่มากมาย อยู่ที่เราจะเริ่มมองหาด้วยการเปิดใจรับฟังและปรับไปพร้อมกันทุกฝ่ายหรือไม่

            5) การมองสถานการณ์ตอนนี้ ว่าไม่มีใครผิดใครถูกมีความจำเป็นแม้จะลำบากมากสำหรับทุกฝ่ายก็ตาม หรือ ในลักษณะ Lose-Lose Situation ให้ทุกคนได้ใช้ถ่ายทอดความทรงจำและเปลี่ยนผ่านสู่ความทรงจำใหม่ในลักษณะ Win-Win Situation เนื่องจากในอดีตเราเห็นแล้วว่าเมื่อเราใช้วิธีคิดที่ใช้กฏหมายนำเสมอในสถานการณ์ความขัดแย้งฝั่งรากลึกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ผลออกมาเป็นเช่นไร เราคงไม่ต้องการให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำเช่นในอดีต โดยเฉพาะกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ อนาคตของชาติ ลูกหลานของเรา ดังนั้น หากจะใช้วิธีคิดเดิมที่รู้อยู่แล้วว่าจะจบลงเช่นไรก็อาจจะทำให้ความขัดแย้งพัฒนาต่อไปสู่ความรุนแรง ผมคิดว่านี่คือจังหวะที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่คงค้างจากอดีตมาสู่การจัดการความขัดแย้งและปรองดองของสังคมไทยในปัจจุบัน

การจัดการจังหวะแห่งโอกาส   

         เมื่อจังหวะแห่งโอกาสได้เปิดขึ้น การรับฟังและการเจรจาทั้งจากคู่ขัดแย้งเองและผ่านคนกลางมีความเป็นไปได้ เราจะสร้างสันติวิศวกร (Peac Eengineers) ขึ้นมา สันติวิศวกร คือ ผู้ที่มีหน้าที่สำคัญในการประสานงานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้ชุมนุม สร้างความเข้าใจจุดยืนของผู้ชุมนุมต่อรัฐอย่างเป็นมิตร ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ลำบากใจสำหรับผู้ชุมนุมและรัฐ แต่โดยทั่วไปแล้วในการชุมนุมและรัฐ จะมีคนที่มีความสามารถแตกต่างกัน มีความถนัดแตกต่างกัน บางคนมีทักษะในการเป็นผู้นำ บางคนมีทักษะในการวางแผน บางคนมีทักษะในการปฏิบัติ สันติวิศวกร คือ อีกคนหนึ่งที่มีความถนัดในการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ มีพรสวรรค์ หรือ ลักษณะเป็นนักฟังและนักเจรจาที่เป็นมิตร ไม่ใช่พวก Hardliners แต่เป็น Softlinersมีความเข้าใจหน้าที่คนกลางพอสมควร สื่อสารเชื่อมระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐ ศึกษาจุดยืนของกันและกันอย่างแท้จริง ออกแบบทางออกที่ทั้งรัฐและผู้ชุมนุมอาจยังไม่ได้มองร่วมกันอย่างรอบด้านได้

         “You see it your way, I see it my way…. We can work it out” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง  “We Can Work It Out” ของ The Beatles เพลงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำความเข้าใจจุดยืนที่แตกต่างกันของคู่ขัดแย้งและหาทางออกร่วมกันในจังหวะแห่งโอกาสครั้งนี้ได้ดี เป้าหมายของการจัดการตอนนี้ จะประกอบไปด้วย การจัดการระยะสั้น การจัดการระยะกลางและการจัดการระยะยาว ในระยะเริ่มต้นของการจัดการความขัดแย้งจะอยู่ที่สันติวิศวกรที่จะแบ่งออกเป็น 2 ทีม แต่ละทีมจะประกอบไปด้วยตัวแทนของรัฐ ตัวแทนของผู้ชุมนุมและคนกลางที่ตัวแทนของรัฐและผู้ชุมนุมเลือกมาให้มาร่วมทีม โดยสันติวิศวกรทีมที่ 1 มีหน้าที่ดูแลการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนสันติวิศวกรทีมที่ 2 มีหน้าที่ในการจัดการกับข้อเรียกร้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยทำการจัดการข้อเรียกร้องในสองลักษณะ คือ ข้อเรียกร้องที่เร่งด่วนและข้อเรียกร้องที่ต้องใช้เวลา การมืวิศวกรสองทีมจะช่วยในการจัดกับสถานการณ์ระยะสั้น (Crisis Management) การจัดการกับสถานการณ์ระยะกลาง (Relationship Management) และการจัดการสถานการณ์ระยะยาว (Conflict Management & Conflict Resolution) 

การจัดการระยะสั้น

            การจัดการระยะสั้นเพื่อหยุดทำร้ายกันก่อนในทุกมิติจากทั้งสองฝ่าย โดยร่วมกันสำรวจการใช้ความรุนแรง หรือ แนวโน้มที่จะนำมาสู่ความรุนแรงระหว่างกัน  เมื่อเราสามารถคาดคะเน หรือ หยุดทำร้ายกัน ทั้งทางกายและพฤติกรรมที่มีลักษณะยั่วยุจากทุกฝ่าย ความสัมพันธ์ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการระยะกลาง โดยในระยะสั้นนี้ รัฐบาลและผู้ชุมนุมสร้างสันติวิศวกรทีมที่หนึ่ง โดยมีหน้าที่ 1) ทำหน้าที่ประสานงานและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน 2) ตั้งทีมทำงานและกรอบการทำงานร่วมกันในการป้องกันความรุนแรง และ 3) ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุม

การจัดการระยะกลาง

         การจัดการระยะกลาง คือ การเจรจาตกลงกันในขณะที่การชุมนุมกำลังดำเนินอยู่ โดยเราจะหารือว่าเรื่องใดที่จำเป็นต้องเร่งรีบ เห็นว่ามีความเร่งด่วนก็หารือกันก่อน ประเด็นใดที่ดูจะหารือกันได้ยากและใช้เวลา ก็ไม่จำเป็นต้องรีบในขั้นตอนนี้ ต่อเมื่อหาข้อสรุปเรื่องเร่งด่วนได้แล้ว จึงค่อยดำเนินการเรื่องที่ต้องใช้เวลาต่อไป โดยจะตั้งสันติวิศวกรทีมที่ 2 เพื่อจัดการ 1) รับฟังและทำความเข้าใจจุดยืนระหว่างกัน  2 ) ตั้งกรอบการทำงานและระยะเวลาในการทำงานของสันติวิศวกรคร่าวๆ 3) ช่วยกันเลือกประเด็นหัวข้อเรียกร้องที่เร่งด่วน หรือ เฉพาะหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าทำได้ทันทีและประเด็นที่ต้องใช้เวลาเพื่อเตรียมสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น ประเด็นของบทเฉพาะกาล 4) เริ่มการเจรจาจาข้อเรียกร้องที่สามารถดำเนินได้ก่อนแล้วจึงหารือประเด็นที่ต้องใช้เวลาต่อไป และ 5) จัดทำข้อเสนอร่วมกันเพื่อบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อในการจัดการระยะต่อไป

            การจัดการระยะกลางนี้มีความสำคัญมากในการเชื่อมต่อไปถึงการจัดการระยะยาว โดยในการจัดการระยะนี้ สันติวิศวกรจะให้ความสำคัญกับ “จุดยืน”  “หลักการ” และ “เหตุผล” และจัดการจุดยืน หลักการและเหตุผลของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ บางครั้งจุดยืนไม่ได้วางอยู่บนหลักการ  หรือ บางครั้งจุดยืนไม่ได้วางอยู่บนเหตุผล หรือ บางครั้งจุดยืนมีเหตุผลแต่ไม่ได้วางอยู่บนหลักการ หรือ บางครั้งจุดยืนมีหลักการแต่ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผล ความท้าทายของสันติวิศวกรในขณะนี้ต้องสร้างความชัดเจนว่าจุดยืนของคู่ขัดแย้งใดมีเหตุผลแต่ไม่มีหลักการ หรือ จุดยืนใดมีหลักการแต่ไม่มีเหตุผล โดยต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning) ว่าเรื่องใดที่เราจะมาเรียนรู้กันทั้งในทางปิดในตอนแรกเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงเปิด หรือ เรื่องใดที่เราสามารถทำได้แบบเปิดเผยเลย 

            ทั้งนี้ หัวข้อที่จะนำมาเรียนรู้กันทางสังคมประกอบด้วย 1) การพัฒนาประชาธิปไตย ประเด็นความขัดแย้ง คือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยและเราจะพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร? เราถกเถียงกันในระดับปรัชญา หรือ ระดับหลักการและการปฏิบัติ 2) การใช้กระบวนการจัดการความขัดแย้ง หรือ แก้ไขความขัดแย้งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการและการพัฒนาประชาธิปไตย ประเด็นความขัดแย้งคือ การทำรัฐประหารเป็นกระบวนการที่เหมาะสมหรือไม่ในการจัดการ หรือ แก้ไขความขัดแย้งของการเมืองไทย? เรามีกระบวนการในการจัดการความรุนแรงน้อยไปหรือไม่ เพียงแค่ พระราชกำหนดฉุกเฉิน กฎอัยการศึกและรัฐประหาร เราควรมีมาตรการอื่นนอกเหนือจากแนวทางกฎหมายและแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่ กระบวนการูดคุยแห่งชาติพอเป็นไปได้ไหมเป็นต้น  3) สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ประเด็นความขัดแย้ง คือ บทบาทของสถาบันในสังคมไทยสมัยใหม่ควรเป็นอย่างไร? เช่น ผู้ชุมนุมจะล้มล้างสถาบันใช่ หรือ ไม่ หรือ อะไรที่ทำให้รัฐบาลและผู้สนับสนุนคิดเช่นนั้น หรือ การทำความเข้าใจระหว่างคำว่าสถาบันในสังคมไทยกับตัวบุคคลในสถาบัน เป็นต้น และ 4)  คือ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ประเด็น คือ การบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การไม่มีธรรมาภิบาลของรัฐบาล นโยบายมุมมองการบริหาราชการแผ่นดินไม่ได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในบริบทความมั่นคงรูปแบบใหม่และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เป็นต้น 

การจัดการระยะยาวและทางออกด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

         จากระยะสั้นและกลางเราจะได้ความมั่นใจ ความปลอดภัย เราจะได้หัวข้อและข้อหารือเพื่อนำมาใช้ในการสร้างสัญญาประชาคมใหม่ (New Social Contract) โดยรัฐธรรมนูญเป็นเพียงตัวช่วยเดียวที่สามารถกำหนดจุดยืน หลักการและเหตุผลใหม่ให้กับสังคม รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยมานาน โดยประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นกระบวนการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้นเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ถือเป็นสัญญาประชาคมที่ทุกฝ่ายยอมรับด้วยที่มาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สำหรับสังคมไทยการมีรับธรรมนูญจำนวนมาก ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทย รัฐธรรมนูญ คือ ทางออกที่เป็นกลางที่สุดสำหรับความขัดแย้งร่วมสมัยของไทยทั้งนี้ ปัญหาของสังคมไทยที่โยงใยมาถึงระบบยุติธรรม คือ ความเข้าใจและการตีความที่แตกต่างกันของมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ คำอธิบายในแต่ละมาตรามีความสำคัญมากในครั้งนี้ มากกว่าทุกครั้ง ต้องจัดการกับเจตนารมณ์กลางของรับธรรมนูญให้ชัดเจนและแต่ละมาตราที่มีความละเอียดอ่อนหลังจากหารือกันแล้วในระยะกลาง ควรต้องดำเนินการ 1) จัดทำคู่มือรายละเอียดของการอธิบายมาตราแต่ละมาตรา 1.1) คู่มือของผู้ใช้อำนาจตุลาการ บริหารและนิติบัญญัติ และ 1.2) คู่มืออ่านเข้าใจง่ายสำหรับประชาชน ก่อนที่จะมีการทำประชามิติ เพื่อที่จะได้รับการยอมรับในแง่ของเนื้อหา 

            ในส่วนของรัฐธรรมนูญในภาพรวมในเชิงของกระบวนการและขั้นตอน เราสามารถดำเนินการได้สองทาง คือ 1) ไม่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่นำรัฐธรรมนูญฉบับที่เราเห็นชอบร่วมกันมาปรับแก้ไขใหม่ตามที่คู่ขัดแย้งเห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ของเรา ที่ได้มีการจัดทำขึ้นมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน หากศึกษาจะพบว่ามาตราส่วนใหญ่ในรัฐธรรมนูญนั้นล้วนแล้วเป็นการแก้ไขมาจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น ข้อดี คือ สามารถแก้ไขได้เร็วกว่าการร่างใหม่ ข้อด้อย ขณะนี้ประเด็นความขัดแย้งได้แตกขยายออกไปมากว่าข้อเสนอ หรือ ประเด็นที่จะแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้และจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้รับการบรรจุลงไป หากยึดจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทุกกลุ่มขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์

            2)ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการจัดสร้างโครงสร้างความสัมพันธ์ บทบาทและหน้าที่ทั้งระบบใหม่ของสังคมไทยสมัยใหม่ หรือ สัญญาประชาคมฉบับร่วมรุ่นที่แตกต่างกันของผู้คนในสังคม แตกต่างจาก สัญญาประชาคมฉบับเดิมที่เป็นฉบับร่วมชนชั้นของผู้คนในสังคม ข้อดี สังคมจะเริ่มต้นใหม่ วงจรความขัดแย้งร่วมสมัยทางการเมืองจาก 2475 ยุติ สังคมตั้งต้นกันใหม่ ข้อด้อย คือ ใช้เวลานาน โดยเฉพาะขณะนี้ความขัดแย้งก็ยังดำเนินต่อไปบนข้อเรียกร้องที่พัฒนาไปเรื่อยๆ จากทุกส่วนของสังคม เปรียบเสมือนการรับฟังความคิดเห็นของผู้คนผ่านความขัดแย้ง ความท้าทายอยู่ที่การพูดคุยในระยะกลางว่าจะสามารถออกแบบหน้าตาโครงสร้างทางสังคมใหม่อย่างไรที่ลงตัว เราจะออกแบบได้ครบทุกประเด็นและสำหรับทุกคนในประเทศนี้ไหมและต้องมั่นใจว่าประเด็นเหล่านั้นจะไม่นำมาสู่ความขัดแย้งแบบเดิมในสังคมอีก

            นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมดข้างต้น เราควรมีขั้นตอนบางอย่างในเชิงพิธีกรรมหลังจากเราได้ข้อสรุปในการถอดถอนความรู้สึกและความทรงจำที่แย่ๆ ร่วมกันจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมในอดีต มาถึงเหตุการร์ปี 35 รวมถึงความรุนแรงทางการเมืองสมัยใหม่ตั้งปี 49– 53 ยาวมาถึงปัจจุบัน คือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ โดยในขณะเดียวกันจัดตั้งการสือบสวนหาความจริงทุกกรณีข้างต้นไปควบคู่กัน ส่วนในเฉพาะกรณีเหตุการณ์รถพระที่นั่งขบวนเสด็จเมื่อทุกฝ่ายเข้าร่วมระยะกลางแล้วให้ทั้งรัฐและผุ้ชุมนุมทำพิธีถอดถอนจุดยืนออกจากสถานการณ์นั้น เช่นเดียวกับกรณี 2475 ที่ผู้ก่อการจัดพิธีขอคมาต่อรัชการที่ 7 เป็นต้น

         “ไม่เคยมีความขัดแย้งทางการเมืองครั้งไหนที่สามารถนำประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มาสู่โอกาสการรับฟัง พูดคุยและร่วมจัดการได้เท่าครั้งนี้ เพราะนักศึกษา-คนรุ่นใหม่เป็นผู้เปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่ได้รับความชอบธรรมบางประการ ได้รับการยกเว้นพอสมควรในฐานะเป็นลูกเป็นหลาน โอกาสของการปรองดองและนำสังคมไทยอยู่ร่วมกันบนจุดยืนร่วมใหม่มีสูงมาก ทั้งในสภาและนอกสภาต่างพูดคุยกันเรื่องการจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งตอนนี้ สังคมไทยกำลังเรียนรู้การพัฒนาประชาธิปไตยผ่านความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่แตกต่างกันเรื่อยมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนมาถึงการชุมนุมครั้งนี้ ปรากฏการณ์นี้ คือ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งของสังคมไทยที่จะนำมาสู่โอกาสำคัญของสังคมไทยในการปรองดอง กระบวนการ หรือ ทางออกสำหรับสถานการณ์ครั้งนี้ที่เราน่าจะพลิกวิกฤตความขัดแย้งเป็นโอกาสในการอยู่ร่วมกันได้”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: