ธีทัต จันทราพิชิต
25 พฤศจิกายน 2563

ซุปเปอร์ฮีโร่มักจะมีความผูกพันกับสภาพสังคมไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกรณี Marvel Comics สมัยที่สงครามเย็นร้อนระอุ Marvel ได้ผลิตซุปเปอร์ฮีโร่เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์บ้านเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ ไม่ว่าโทนี่ สตาร์คที่มีเหตุให้กลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่สวมเกราะเพราะถูกลักพาตัวโดยเวียดกง ทั้งยังมีตัวร้ายที่มีความยึดโยงกับคนจีนซึ่งขณะนั้นเป็นคอมมิวนิสต์อย่างแมนดาริน หรือแฟนตาสติกโฟร์ได้พลังพิเศษจากการขึ้นไปสำรวจอวกาศในช่วงที่โซเวียตเริ่มมีความก้าวหน้าทางอวกาศ แต่กลับกัน DC Comics กลับพยายามแยกการ์ตูนกับการเมืองออกจากกัน แม้จะมีบางครั้งที่การเมืองเข้าไปยุ่งก็ตาม ในบรรดาข้อยกเว้นเหล่านั้นก็คือ การ์ตูนเรื่อง Superman Smashes the Klan
Superman Smashes the Klan ดัดแปลงจากตอนหนึ่งของละครวิทยุ The Adventures of Superman ในปี 1946 ชื่อตอนว่า “Clan of the Fiery Cross” ซึ่งตอนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มเหยียดชาติพันธุ์อย่าง Ku Klux Klan โดยแต่ก่อนกลุ่ม Ku Klux Klan มีภาพลักษณ์เป็นบวกซึ่งนั้นมาจากผลของภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสนับสนุนกลุ่มคนขาวเป็นใหญ่อย่าง The Birth of a Nation ในปี 1915 แต่ละครวิทยุสำหรับเด็กอย่าง The Adventures of Superman กลับได้เปลี่ยนจากกลุ่มคนรักชาติให้กลายเป็นกลุ่มตัวร้ายที่น่ารังเกียจโดยสิ้นเชิง และกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ซุปเปอร์แมนส่งผลต่อการเมืองในโลกจริง
เมื่อการ์ตูนเรื่องนี้ดัดแปลงจากละครวิทยุเมื่อกว่าเจ็ดสิบปีก่อนทำให้บางส่วนของ Superman Smashes the Klan ถูกปรับปรุงให้มีความทันสมัยขึ้น โดย Superman Smashes the Klan เล่าถึงครอบครัวคนอเมริกันเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาอาศัยในตัวเมืองเมโทรโปลิส แล้วต้องเจอกับการคุกคามจากขบวนการคนขาวเป็นใหญ่ชื่อ Klan of the Fiery Kross ตัวเรื่องนั้นจะใช้วิธีสลับมุมมองไปมาระหว่างสองมุมมองคือ ซุปเปอร์แมนและสองพี่น้องตระกูลลี ทอมมี่กับโรเบอร์ตา

การที่ Superman Smashes the Klan เล่าสลับไปมาระหว่างสองมุมมองนี้ ทำให้เล่าได้เห็นภาพของผู้อพยพที่ต้องพยายามหาที่ทางในสังคมอเมริกา เพราะทั้งซุปเปอร์แมนและครอบครัวตระกูลลีล้วนแต่มีภูมิหลังจริงๆ เป็นคนนอกที่แปลกแยกจากสังคมคนขาว ในกรณีของครอบครัวตระกูลลีคือเป็นเอเชีย ส่วนกรณีของซุปเปอร์แมนคือเป็นมนุษย์ต่างดาว ทั้งสองกลุ่มต่างเป็นเป้าของกลุ่มคนผิวขาวที่กลัวว่าคนเหล่านี้จะมาแทนที่พวกตน
จุดที่ช่วยขับสารการพยายามหาที่ทางในสังคมอเมริกา เป็นกิมมิคของเรื่องหนีไม่พ้นพลังของซุปเปอร์แมน เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่าซุปเปอร์แมนมีหลายเวอร์ชั่น ตอนแรกที่ซุปเปอร์แมนปรากฏตัวบนหน้าหนังสือการ์ตูน ซุปเปอร์แมนไม่สามารถจะบินได้ด้วยซํ้า แต่สิ่งที่ทำได้คือ เรี่ยวแรงมหาศาล วิ่งเร็วผิดปกติ กระสุนยิงไม่เข้า ส่วนพลังอื่นๆ ตั้งแต่ปล่อยแสงออกจากตา ลมหายใจนํ้าแข็ง จนไปถึงย้อนเวลา เป็นส่วนที่เพิ่มมาทีหลัง และบางพลังก็ถูกตัดทิ้งไป กรณีของ Superman Smashes the Klan ได้ใช้วิธีนำเสนอซุปเปอร์แมนกลับไปแทบจะเหมือนกับตอนแรกที่ปรากฎตัวบนสื่อ ทั้งดีไซน์ที่อิงจากภาพยนตร์ของ Max Fleischer ระหว่างปี 1941 – 1943 และพลังที่ซุปเปอร์แมนทำอะไรไม่ได้นอกจากกระสุนยิงไม่เข้ากับวิ่งเร็ว ทว่านั่นมีเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นในเรื่อง เพราะซุปเปอร์แมนใน Superman Smashes the Klan ปฏิเสธถึงตัวตนที่เขาเป็นจริงๆ ภาพของซุปเปอร์แมนที่เห็นพ่อแม่ชาวคริปตอลเกือบทั้งเรื่องคือ ภาพของเอเลี่ยนหน้าตาน่าเกลียดซึ่งไม่มีความเป็นมนุษย์ ตลอดทั้งเรื่องซุปเปอร์แมนกลัวสายตาของผู้คนที่มองมาที่ตนเสมอ เขากลัวที่จะถูกมองเป็นอื่นที่ไม่ใช่คนขาวแล้วต้องสูญเสียที่ยืนของตนไป การเดินทางของซุปเปอร์แมนในการ์ตูนเรื่องนี้จึงเป็นการเดินทางเพื่อยอมรับตัวตน โดยยิ่งซุปเปอร์แมนยอมรับถึงสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้นเท่าไหร่ เขาจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น

ขณะเดียวกันมุมมองของพี่น้องตระกูลลีกลับมีลักษณะที่ใกล้กับประสบการณ์ของคนเขียนอย่าง Gene Luen Yang ที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีน โดยกรณีของพี่น้องตระกูลลีเป็นการหาที่ทางของตัวเองในสังคมที่พวกเขาเพิ่งจะย้ายเข้าไปอยู่ โดยที่พวกเขาไม่ได้มีสีผิวและหน้าตาเป็นคนผิวขาวแบบซุปเปอร์แมน เนื้อเรื่องส่วนมากจะเน้นไปที่น้องสาวหรือโรเบอร์ตา ลีเสียมากกว่า ซึ่งในฉบับละครวิทยุตัวละครนี้มีบทบาทน้อยมาก เราอาจจะบอกว่าการเพิ่มบทบาทของโรเบอร์ตาเป็นการเพิ่มบทบาทจากการตระหนักถึงปัญหาเรื่องเพศในสังคมอเมริกาก็ว่าได้ โดยโรเบอร์ตาเป็นตัวละครที่ทำให้คนอยู่ใกล้รู้สึกอึดอัดอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับเธอ เธอไม่ใช่คนจีน ครอบครัวของเธอหนีจากไชน่าทาวน์เข้ามาในตัวเมืองซึ่งสื่อนัยยะถึงการปฏิเสธความเป็นจีน พ่อของเธอพยายามจะเน้นยํ้าไม่ให้เธอและแม่พูดภาษาจีนกวางตุ้ง แล้วให้พูดภาษาอังกฤษ แม้แต่ชื่อของเธอก็ยังต้องใช้ชื่ออังกฤษไม่สามารถใช้ชื่อจีนได้ นอกจากนั้นครอบครัวลียังแสดงท่าทีไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มคนผิวดำเพราะกลัวจะถูกตำหนิจากสังคม ทั้งๆ ที่ทั้งพวกเขาต่างถูกคุกคามโดย Klan of the Fiery Kross ไม่ต่างกัน
แต่แม้พวกเขาจะพยายามเป็นคนขาวเสียเท่าไหร่พวกเขาก็ไม่ใช่คนผิวขาว กลุ่ม Klan of the Fiery Kross ทำการคุกคามพวกเขา ไม่ใช่เพราะเรื่องพฤติกรรมแต่เป็นเหตุเพราะผิวสีที่แตกต่างจนทำให้กลัวว่ากลุ่มคนอพยพเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่พวกตน พร้อมกับที่ซุปเปอร์แมนต้องรู้จักยอมรับตัวเอง ครอบครัวตระกูลลีก็ต้องหาทางที่จะอยู่ในสังคมที่พวกเขากลายเป็นคนนอก ไม่ว่าจะในฐานะของคนที่สืบเชื้อสายจีนหรือในฐานะของคนอเมริกัน ซึ่งก็ตามมาด้วยบทสรุปที่สดใสสมกับเป็นการ์ตูนเด็ก แต่ความเป็นการ์ตูนของการ์ตูนเรื่องนี้ก็แฝงเนื้อหาที่คมคายทั้งในแง่ประสบการณ์ชีวิต และการเมือง แล้วคงไม่มีซุปเปอร์แมนฉบับไหนอีกแล้วที่บินได้เพราะเด็กผู้หญิงที่เป็นเอเชียอเมริกันสอนให้รู้จักบิน
อ้างอิง
Chute, H. (2020, June 16). Superman Returns, to Beat Up the Klan. Retrieved from https://www.nytimes.com/2020/06/16/books/review/superman-smashes-klan-gene-lueng-yang.html
McMillan, G. (2019, July 10). How ‘Superman Smashes the Klan’ Updates a Piece of DC History. Retrieved from https://www.hollywoodreporter.com/heat-vision/gene-luen-yang-talks-superman-smashes-klan-1223354
O’Neil, T. (2016, March 31). How the Cold War saved Marvel and birthed a generation of superheroes. Retrieved from https://www.avclub.com/how-the-cold-war-saved-marvel-and-birthed-a-generation-1798246215