ขวัญข้าว คงเดชา
7 ธันวาคม 2563
เมื่อหนึ่งปีก่อนในเดือนพฤษภาคม มีข่าวที่เรียกความสนใจจากผู้ที่ติดตามข่าวสังคมการเมืองของประเทศไทย นั่นก็คือการเข้าชิงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ของ น.ส. เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อหญิงจากพรรคอนาคตใหม่ หรือแม้แต่การจูบกลางสภาของผู้ชายเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เมื่อปลายปี 2562 ณ รัฐสภา แม้ว่าในท้ายที่สุดผลการลงมติเลือกตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะตกเป็นของนาย สุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐด้วยคะแนน 248 ต่อ 246 และการแสดงออกของคู่รัก LGBT จะถูกครหาจน ส.ส. ต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษ แต่เหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วถือเป็นการเพิ่มบทบาทและความสนใจของผู้คนต่อความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศและการดำรงสถานะนักการเมืองนักการบริหารประเทศในสังคมไทยยุคใหม่
ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของบทบาทของเพศในประเด็นการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งถูกหยิบยกมาพูดถึงหรือเป็นที่สนใจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของสตรีและการเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางบ้านเมือง ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (คนที่ 2) คนแรกและคนเดียวของประเทศ คือ รศ.ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ และในปีพ.ศ. 2554 ประเทศไทยก็มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศ อย่าง นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฉะนั้นเรื่องบทบาททางเพศโดยเฉพาะผู้หญิงกับการเมืองจึงไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคมไทย เพียงแต่ช่วง 5-6 ปีนับตั้งแต่การบริหารภายใต้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทบาททางการเมืองของประชาชนทั่วไปถูกจำกัดลงเป็นอย่างมากในทางสังคม บทบาททางการเมืองของสตรีจึงยิ่งหายไปจากความสนใจ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าประเด็นดังกล่าวจะอยู่ในความสนใจของประชาชนและการเมืองทั่วไปหรือไม่ ก็เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลือบแคลงและคำถามต่อบทบาทของเพศสภาพในเกมการเมืองของประเทศไทยยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกไม่เคยหายไปไหน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่คำว่าเพศไม่ได้มีนิยามจำกัดแต่เพียงแค่หญิงและชายอีกต่อไป การศึกษาในประเด็นของเพศและบทบาททางการเมืองจึงยิ่งมีมิติและความซับซ้อนที่ต้องจับตามองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ การจะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศและการเมืองจึงควรที่จะย้อนกลับไปยังสมัยที่เพศสภาพนั้นถูกแบ่งไว้เพียงชายและหญิง ก่อนจะเกิดเป็นกระบวนการต่อสู้ที่นำมาสู่ความพยายามในการสร้างบรรทัดฐานและการยอมรับความเท่าเทียมต่อทุกเพศในสังคมปัจจุบัน
หมุดหมายสำคัญในกระบวนการเรียกร้องสิทธิของสตรีต้องมองย้อนกลับไปตั้งแต่การออกมาเรียกร้องของกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรียุคบุกเบิก หรือ The First Wave of Feminist[1] ถือว่าเหตุการณในครั้งนั้นคือจุดพลิกผันในหน้าประวัติศาสตร์ที่ทำให้เพศหญิงสามารถมีจุดยืนที่เท่าเทียมในสังคมได้ดังในปัจจุบันนี้ หากกระแสของโลกเป็นดังเช่นนั้น แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนในจุดยืนของการสนับสนุนเสรีภาพ อิสระภาพ และความเท่าเทียมทางเพศในยุคที่โลกยังยอมรับเพียงแค่ชายและหญิง?
โครงสร้างแห่งความเท่าเทียม?
เมื่อศึกษาในข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับปรากฏว่าประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศแรกของโลกที่มีการเปิดกว้างในเรื่องของบทบาทของสตรี หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 หรือที่รู้จักกันในนามของการปฏิวัติสยาม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว[2]และฉบับแรก[3]ก็ได้มีการบัญญัติเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของประชาชนทุกคนลงไป สตรีในประเทศไทยมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงและลงสมัครเป็นผู้แทนก่อนประเทศฝรั่งเศสถึง 12 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวความเท่าเทียมและสิทธิของประชาชนภายในสังคมนั้นเป็นประเด็นสำคัญ ในเรื่องของเพศเองก็เช่นกัน ดังที่ปรากฏว่าการเดินขบวนประท้วงของเยาวชนในระดับเด็กนักเรียนเกิดขึ้นครั้งแรกหลังการปฏิวัติ 2475 โดยกลุ่มนักเรียนหญิงผู้ถูกดูถูกด้วยคำพูดจากข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการในอดีต ในลักษณะที่ว่า เป็นผู้หญิง ได้เรียนถึงแค่นี้ก็เป็นพระคุณมากพอแล้ว หน้าที่ของหญิงแท้จริงคือการดูแลงานบ้านงานเรือนเท่านั้น (ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช, 2020) สามารถกล่าวได้ว่าสภาพสังคมในยุคนั้นส่งเสริมสิทธิของสตรีอันถือเป็นหนึ่งในสิทธิพึงมีของประชาชนทุกคนภายใต้ระบอบของความเป็นประชาธิปไตย สตรีที่มีความสนใจก็สามารถเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง สถานะถูกยกขึ้นมามีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชายมากยิ่งขึ้น สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นผู้แทนราษฎรตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2475 อาทิเช่น นางสาวสุวรรณ ปทัมราช นางสุทธิสารวินิจฉัย หรือนางสาวอนงค์ บุนนาค แม้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศนั้นจะมีเพียงบุรุษเพศที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทน แต่ในเวลาอีก 17 ปีต่อมา (การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2492) ประเทศไทยก็ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกคือนางอรพินท์ ไชยกาล จากจังหวัดอุบลราชธานี (อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, 2561) สังเกตได้ว่านับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ โครงสร้างเพื่อความเท่าเทียมนั้นได้ก่อตัวขึ้น แม้ว่าจะมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้สถานะความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างหญิงชายนั้นยังไม่เท่าเสมอกันอย่างในปัจจุบัน แต่ก็เป็นสภาพแวดล้อมในเชิงบวกที่ส่งผลให้ประชาชนในยุคนั้นมีความเท่าเทียมไม่ว่าจะด้วยเพศอะไรมากยิ่งขึ้น
ในเวลาต่อมา แม้ว่าจะเกิดความผันผวนทางการเมืองในประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งส่งผลให้เรื่องของสิทธิสตรีปรากฏเป็นที่สนใจแค่บางช่วงของยุคสมัย ทว่าฐานรากของประเทศอย่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็ยังได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างเพื่อความเท่าเทียมทางเพศเสมอมา ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญที่กล่าวอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวอ้าง อาจจะสามารถอนุมานได้ว่าประเทศไทยนั้นได้สร้างสังคมเพื่อความเท่าเทียมสำหรับผู้หญิงและผู้ชายมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งการตีความดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิด หากแต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมดเสียทีเดียว
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความสนใจในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศจริง มีการร่างกฎหมายเพื่อสนับสนุนทั้งเพศหญิงและชายจริง มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงออกมามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) มากกว่าอยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัว (private sphere)[4] มากยิ่งขึ้นจริง หากแต่ทั้งหมดสามารถยืนยันว่าประเทศไทยและสังคมของไทยนั้นมีความเท่าเทียมจริงหรือไม่? คำถามนั้นยังเป็นที่เคลือบแคลง หลายคนบอกว่าใช่ ในขณะที่อีกหลายคนก็ยังกล่าวเป็นเสียงแข็งว่าไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนับตั้งแต่หลังการปฏิวัติสยามคือการสร้างฐานของความเท่าเทียม เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและกล่าวได้ว่าประเทศไทยนั้นเดินหน้ามายังทิศทางที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ทว่าสิ่งสำคัญที่หลายคนเมื่อพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศมักจะมองข้าม คือเรื่องของคำถามว่าเพียงแค่โครงสร้างก็เท่ากับเท่าเทียมภายในสังคมจริงแล้วหรือ? หากมองดูสภาพสังคมในปัจจุบันจะพบว่าคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวคือคำว่า ไม่ ในสังคมไทยยังมีค่านิยมที่ส่งต่อมาจากอดีตหลงเหลือและฝังตัวอยู่ในสังคมไม่จางหายไปไหน แม้จะมีการปรับโครงสร้างและระบบเพื่อความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น แต่ค่านิยม แนวความคิด และหลักการปฏิบัติยังอยู่ และทำหน้าที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อความพยายามที่จะเป็นสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริงในประเทศไทย
กุลสตรีศรีสยาม
“เกิดเป็นหญิงให้เห็นว่าเป็นหญิง อย่าทอดทิ้งกริยาอัชฌาสัย
เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์
แม้นผัวเดือดเจ้าจงดับระงับไว้ อย่าพอใจขึ้นเสียงเถียงประสม”
สุนทรภู่, สุภาษิตสอนใจหญิง
ในผลงานกวีนิพนธ์แบบกลอนที่ชื่อว่า สุภาษิตสอนใจหญิง ของสุนทรภู่ เขียนกล่าวถึงวิถีการดำเนินชีวิตของสตรีที่ดีตามยุคสมัย เขียนไว้ยาวหลายหน้าหากแต่ผู้เขียนเล็งเห็นว่า 3 ประโยคดังที่หยิบยกมาข้างต้นนั้นสามารถอธิบายถึงใจความหลักของผลงานกวีนิพนธ์เพื่อสตรีโดยชายได้ดีที่สุด 3 ประการคือ 1. เป็นหญิงต้องมีความเป็นหญิง โดยความเป็นหญิงที่ว่านั้นประกอบด้วยการแต่งกายสวยงาม[5] การพูดจาสุภาพอ่อนหวาน[6] หรือแม้แต่การประพฤติตัวอย่างเรียบร้อยในท่าทางการเดิน[7] และอื่นๆ อีกมาก 2. เป็นหญิงแล้วย่อมต้องเป็นหญิง หากทำกิริยาอื่นนอกเหนือจากที่สมควรจะทำ (ตามในข้อ 1) ย่อมไม่ใช่หญิงและแน่นอนย่อมไม่เป็นที่น่าพอใจ 3. เป็นหญิงย่อมมีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้สามี ต้องเคารพ นอบน้อม ทั้งหมดถือเป็นหน้าที่ที่ควรกระทำ[8] และไม่ควรที่จะตอบโต้หรือพยายามเปลี่ยนดุลทางอำนาจภายในสถาบันครอบครัว ผู้เขียนได้ยกสุภาษิตดังกล่าวขึ้นมาเนื่องจากเห็นว่าสามารถสะท้อนค่านิยมความเชื่อและแนวความคิดที่ฟังอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่สมัยก่อนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันนี้ค่านิยมจะไม่ได้มีความสุดโต่งดังในงานกวีนิพนธ์ (ห้ามทานข้าวก่อนสามี กราบเท้าสามีก่อนนอน ห้ามส่งสายตามองคนแปลกหน้า อย่าเสยผม อย่านุ่งผ้าใต้สะดือ เป็นต้น) และสังคมมีความเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น ทว่าแนวคิดหลักทั้งสามยังคงอยู่และทำหน้าที่เป็นกรอบการประพฤติของเพศ ไม่ว่าจะการทำตัวให้สมกรอบของความเป็นหญิง (ไม่ควรดื่มเหล้าเที่ยวเตร่เหมือนผู้ชาย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น) ห้ามทำกิริยาที่ไม่ใช่หญิง และหน้าที่ของการดูแลครอบครัว หากไม่ทำตามย่อมมีผลเสียตามมา
แนวคิดในระดับปัจเจกบุคคลพวกนี้นำไปสู่ความเชื่อและการปฏิบัติต่อเพศภายในสังคม เห็นได้ชัดว่าในสมัยก่อนนั้นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างเพศนั้นค่อนข้างชัดเจนและตายตัว เพศหญิงนั้นคือเพศที่ต้องเป็นรองเพศชาย เมื่อย้ายจากระดับปัจเจกมามองยังระดับภาพรวม เรามักจะคุ้นเคยกับคำพูดในเชิงว่า ผู้หญิงจะไปรู้อะไร อยู่แต่หน้าครัว เป็นแม่ศรีเรือนประจำบ้านเพียงอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตีกรอบเพศหญิงไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ส่วนบทบาททางเพศสภาพในการบริหารบ้านเมืองวางไว้ที่ผู้ชายเพียงอย่างเดียว แม้แต่ในระดับที่เล็กลงอย่างการบริหารครอบครัวก็ยังคงเป็นเรื่องของผู้ชายในการทำหน้าที่ของช้างเท้าหน้า ผู้หญิงมักจะถูกตรึงไว้กับงานหลังบ้านในขณะที่ผู้ชายนั้นมีสิทธิในการกำกับทิศทางว่าเรื่องภายในครอบครัวจะมีการบริหารจัดการอย่างไร การจะสร้างความเท่าเทียมจึงไม่อาจจะทำได้เพียงแค่การก่อร่างสร้างโครงสร้างแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมุ่งสนใจยังค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นด้วย
ผู้แทนประชาชน ผู้แทนสตรี?
ปี 2562 หลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปรากฏจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพศหญิงคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีจำนวน 78 คน จากทั้งหมด 500 คน และจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 26 คนจากทั้งหมด 250 คน สถิติจาก Global Gender Gap Index 2020 โดย World Economic Forum เผยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 75 จาก 153 ประเทศ ด้วยคะแนน 0.708 (0-1) เพิ่มขึ้นมา 2 อันดับจากปีที่ผ่านมา ทว่าตัวชี้วัดในการส่งเสริมด้านการเมืองอยู่ที่อันดับ 129 จาก 153 (0.086) ประกอบด้วยจำนวนผู้หญิงในสภาที่อันดับ 110 และจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรีที่อันดับ 145 จาก 153 ประเทศ (World Economic Forum, 2020 p. 333) จากข้อมูลดังกล่าว แม้สภาวะทางการเมืองและเพศภายในสังคมไทยกำลังไต่ระดับขึ้นไปในทิศทางบวกเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต หลังการเลือกตั้ง 2562 รัฐสภาของประเทศไทยมีจำนวนผู้แทนที่เป็นผู้หญิงสูงถึงร้อยละ 16.2 (The Global Economy, 2020) มากกว่าครั้งไหนๆ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยถึง 4 คน หากแต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว สถิติค่าเฉลี่ยของผู้หญิงในสภาทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 24.5 (Inter-Parliamentary Union, 2020) จำนวนของผู้หญิงในรัฐสภาของไทยยังน้อยมากจนสามารถกล่าวได้ว่าเสียงของผู้หญิงไม่ได้เป็นที่ได้ยินเท่าที่ควร
และเมื่อศึกษาสภาพทางการเมืองของประเทศไทยแล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมว่า หากการเป็นส.ส.คือตัวแทนของประชาชน แล้วการเป็นทั้งส.ส. ด้วยและเป็นสตรีด้วย จะเท่ากับว่าเป็นทั้งตัวแทนของประชาชนและตัวแทนของเพศหญิงไปโดยปริยายหรือไม่? ในงานเชิงวิชาการส่วนใหญเห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว (Jane Mansbridge, 1999; Manon Tremblay, 1998; Daniel Hohmann, 2019.) ผู้ที่จะเป็นกระบอกเสียงแทนที่ดีได้คือผู้ที่เคยประสบพบเจอประสบการณ์หรือสามารถที่จะเข้าใจ (related) กับกลุ่มที่พวกเขานั้นทำหน้าที่แทนให้ ในสังคมไทย การมีจำนวนที่มากขึ้นของสตรีภายในรัฐสภาเท่ากับเสียงของผู้หญิงภายในประเทศจะได้รับการรับฟังมากขึ้น? หรือการเพิ่มขึ้นของจำนวนสตรีในสภาและในพรรคต่างๆ นั้นจะเท่ากับเครื่องมือหนึ่งของการเมืองเหมือนดังที่ผ่านมา? ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 บทบาทของสตรีในการเมืองรัฐสภาของไทยสามารถมองว่าเป็นแค่ไม้ประดับเสียส่วนใหญ่ หรือในบางครั้งก็เป็นการตั้งไว้เพื่อให้ภาพลักษณ์ภายนอกของพรรคหรือของสภานั้นดูมีความเท่าเทียมขึ้นมา โดยไม่ได้คำนึงถึงบทบาทของสตรีอย่างแท้จริง ส.ส.ที่ชูประเด็นในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศนั้นมีสัดส่วนที่น้อยมาก มักไม่ค่อยเป็นประเด็นที่สำคัญหรืออยู่ในความสนใจ (แม้แต่ความทรงจำ) ของใครหลายคน
ในหลายกรณีผู้หญิงมักไม่ได้ถูกเลือก (ไม่ว่าจะเป็นการเลือกภายในพรรคหรือการเลือกตั้งทั่วไป) เพราะคุณสมบัติของส.ส.คนนั้น ผู้หญิงถูกเลือกด้วยเพราะความเป็นเครือข่าย ทายาททางการเมือง เป็นแม่ใคร ลูกใคร น้องใคร พี่ใคร มากกว่า ฉะนั้นการจะเสนอประเด็นที่ตนต้องการนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องผ่านการพิจารณา แม้นจะมีส.ส.สตรีที่เสนอเรื่องเพศแต่ส่วนมากก็มักจะเหมือนกับตุ๊กตาที่ได้ถูกกำหนดบทบาทให้พูดในส่วนนั้นจากพรรคต้นสังกัดอยู่แล้ว คล้ายกับเป็นสีสันหรือการเติมเต็มโควต้าเพียงเท่านั้น เมื่อไปศึกษาดู การที่ผู้หญิงจะสามารถขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองหรือบทบาทสำคัญในแต่ละพื้นที่ได้จำจะต้องมีความใกล้ชิดกับเครือข่ายเป็นสำคัญ ฉะนั้นความน่าเชื่อถือรวมถึงประสิทธิภาพของความเป็นปัจเจกบุคคลในเพศหญิงก็ยังตกอยู่ในความเคลือบแคลงของประชาชน อาทิ อดีตนายกยิ่งลักษณ์ที่ถูกตีตราว่าเป็นตัวแทนของทักษิณ หรือส.ส.หญิงคนอื่นๆ ที่มีภาพจำว่าเป็นภรรยาของส.ส. อีกคน หรือลูกของใครสักคน กล่าวได้ว่าสตรีในการเมืองและรัฐสภามักจะถูกครอบด้วยเงาของบุรุษคนใดคนหนึ่งอยู่เสมอ
ทั้งนี้เมื่อสถานภาพของ ส.ส.หญิงถูกตีกรอบด้วยลักษณะดังที่ได้กล่าวไปผสมเข้ากับภาพจำตามค่านิยมภายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นแนวความเชื่อที่ว่าผู้หญิงนั้นไม่ควรหลุดออกจากกรอบจารีต ห้ามขึ้นเสียงต้องพูดจาไพเราะ หรือเรื่องการบ้านการเมืองเป็นงาน (สกปรกเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม) ของผู้ชายที่ผู้หญิง (ไร้เดียงสาหรือไม่ประสา) ไม่ควรเข้ามาจับต้องให้ตัวเองต้องแปดเปื้อน ความน่าเชื่อถือของผู้หญิงที่มีอยู่น้อยตั้งแต่ในอดีตก็ยิ่งถูกลดทอนลงเหลือเพียงแค่ความขำขัน สีสันในสภา ตัวเบี่ยงเบนประเด็น และไม้ประดับในสภา
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และการมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นเรื่องสิทธิ เพศ และการมีส่วนร่วมถูกยกเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของสังคม ทว่าก็ไม่วายเผชิญหน้ากับปัญหาของการมี เรื่องอื้อฉาว ไม่ว่าจะจากส.ส.หญิงหรือส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประเด็นขัดแย้งระหว่างส.ส.หญิงในสภา (และนอกสภา อย่างบนสื่อโซเซียลมีเดีย) ส่งผลให้บรรยากาศของการเมืองของส.ส.หญิงนั้นดูคล้ายละครหลังข่าว เป็นการต่อสู้แบบเหยาะแหยะของผู้หญิง ในสายตาบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ บางคนก็ส่ายหน้าเวลาเห็นฉากผู้หญิงเขม่นกันเองในละคร จนถึงกับมีคำพูดกล่าวในทำนองว่านี่คือสภาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเขามองว่าการต่อสู้ตบตีของส.ส.หญิงด้วยกันนั้นคือเรื่องไม่เป็นเรื่อง ซึ่งหากมองแล้ว การทะเลาะกันของ ส.ส.หญิงจากพรรคอนาคตใหม่ (ในเวลานั้น) และส.ส.หญิงจากพรรคพลังประชารัฐ ต่างอะไรกันกับการทะเลาะกันของ ส.ส.ชายบางพรรคในเรื่อง “กล้วย” สองเรื่องอาจจะดูไร้สาระและไม่เห็นจะเข้ากับสภาอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน เพราะเมื่อมองด้วยภาพจำแบบ gender binary หรือการแบ่งเพศแบบเป็นสองประเภท หรือการแบ่งเพศชายและหญิงตามกรอบว่าด้วยค่านิยม กรอบว่าสิ่งไหนที่ผู้ชายทำแล้วเหมาะสมแต่ไม่ควรใช้กับผู้หญิง ทั้งในเรื่องการแต่งตัวการใช้ชีวิต หรือแม้แต่การปฏิบัติตัวในสภาก็ไม่เว้น การตีกรอบด้วย gender dualism เช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากจะไม่เห็นใครให้ความยำเกรงต่อส.ส.หญิงมากเท่ากับส.ส.ที่เป็นผู้ชาย
ครั้นเมื่อส.ส.หญิงบางส่วนลุกขึ้นมาแหวกกรอบของสตรีในสภาก็มักจะถูกโจมตีหรือกดทับให้กลับไปอยู่ในสถานะเดิมด้วยคำว่า ก้าวร้าว ไม่มีความเป็นกุลสตรี เป็นการกล่าวว่าหญิงผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมและค่านิยมปรกติ เป็นเรื่องผิดประเพณีอันไม่สมควร ไหนจะเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมที่ถูกยกมาเป็นประเด็นในทุกครั้ง และมักจะนำมาใช้เพื่อการกดผู้หญิง เช่น แต่งตัวไม่ให้เกียรติสภา กลับบ้านไปแต่งตัวให้ดีก่อนค่อยมาอภิปราย ในจุดนี้คำว่าสภา หรือสถานที่ที่เรียกว่าสภากลายเป็นสถานที่แบบพื้นที่สาธารณะซึ่งถูกควบคุมด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ การเข้ามาอยู่ของผู้หญิงนั้นทำได้ แต่หากเกินขอบเขตที่ผู้ชายเห็นว่าเหมาะว่าควรก็จะถูกกดให้ไปอยู่หลังห้องหรือไม่ให้ออกเสียง กล่าวได้ว่าเป็นความพยายามผลักกลับไปสู่พื้นที่ส่วนตัวที่ผู้หญิงเคยอยู่ ในสังคมจึงเห็นมุกตลกในลักษณะที่ว่า ผู้หญิงกลับไปเข้าครัวทำแซนวิชเสีย
โดยสรุปแล้วเรามีโครงสร้าง มีการเปิดสภาให้ผู้หญิงเข้าไปมากขึ้น แต่เนื้อแท้ข้างในนั้นสร้างความเท่าเทียมและยอมรับส.ส.ที่เป็นหญิงได้จริงหรือ?
1. กรอบความคิดว่าส.ส.หญิงนั้นอยู่ภายใต้เงาของบุรุษคนใดคนหนึ่งเสมอ
2. ค่านิยมภายในสังคมนับตั้งแต่สมัยโบราณยังคงหลอกหลอนและสร้างความแตกต่างให้เกิดการแบ่งเพศเป็นสองเสี่ยง (Gender Polarization) ขีดเส้นว่าอะไรที่เพศหญิงควรทำและไม่ควรทำ การจะทำเหมือนชายย่อมไม่เหมาะสม ฉะนั้นอะไรที่ส.ส.ชายทำหรือพูดอาจจะเผชิญกับผลกระทบคนละรูปแบบกับ ส.ส. หญิง
3. ทั้งนี้ในทางการเมืองยังถือว่าเป็นที่ของผู้ชายเสียส่วนใหญ่ ผู้หญิงที่ก้าวเข้าไปหากไม่ทำตัวให้สมกับความคาดหวัง (แต่งตัวให้สวยงาม สุภาพอ่อนหวาน ว่าง่ายตามผู้ใหญ่สั่ง) ก็ถูกมองว่าไม่สมหญิง (การกล้าลุกขึ้นประจันหน้ากับส.ส.ชายเหมือนที่ส.ส.ชายอื่นๆทำ หรือการกล้าที่จะพูด กล้าที่จะไม่อ่อนน้อม) และต้องถูกกำราบ ให้รู้ว่าสถานที่นี้ไม่ใช่สถานที่ของเพศหญิง หรือในที่นี้ลดความน่าเชื่อถือของตัวส.ส.หญิงนั้นลง ไม่ว่าจะเป็นการชี้นิ้วเรียกชื่อ การติเรื่องการแต่งกายหรือภาษาที่ใช้แม้ว่าจะไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองที่กำลังอภิปรายกัน เป็นต้น
ท้ายที่สุดในเรื่องของสตรีและบทบาททางการเมือง สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการรับรู้ถึงโครงสร้างและค่านิยมที่รัดตัวของ ส.ส.หญิง คือการกระทำของ ส.ส.หญิงด้วยกันเอง เช่นเดียวกันในสังคม ปัญหาเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศที่หยั่งลึกในสามัญสำนึกของประชาชนทุกคนส่งผลให้คนในเพศเดียวกันนั้นบางครั้งหันมากดทับกันเอง ในกรณีของส.ส.หญิงในสภา สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถอธิบายได้ 2 ประเด็น
1. การยินยอมเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการเบี่ยงเบนความสนใจ การดึงข่าวมายังเรื่องไร้สาระพวกนี้ และการลดความน่าเชื่อถือของศัตรูผ่านหลายวิธี
2. การไร้ซึ่งความร่วมมือกันของ ส.ส.หญิงด้วยกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสังคมที่เท่าเทียม เราจะไม่เห็น ส.ส.หญิง (ที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว) ในสภาของไทยจับมือร่วมกันเพื่อผลักดันร่างกฎหมายหรือนโยบายเพื่อสิทธิหรือความเท่าเทียม กลับกันจะมีแต่พรรคที่เป็นคนผลักดันเสียส่วนใหญ่ เป็นที่มาของคำกล่าวลักษณะว่า กฎหมายของพรรคนั้นพรรคนี้ จึงย้อนกลับไปยังคำถามที่เขียนไว้ข้างต้นว่าหากเป็น ส.ส.และเป็นผู้หญิง จะต้องทำหน้าที่แทนสตรีทั้งประเทศด้วยหรือไม่? ในกรณีของประเทศไทยเห็นได้ชัดว่านอกจากจะไม่เป็นผู้แทนของสตรีทั้งประเทศแล้วในหลายครั้งยังเป็นแค่ผู้แทนจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น
ในท้ายที่สุดนี้ การพูดถึงแค่เพศหญิงและชายอาจจะเป็นความคิดที่ล้าสมัยเมื่อเทียบกับความผันผวนทางกระแสสังคมและการเมืองของทั้งประเทศไทยและทั่วโลก ความสนใจนั้นเปลี่ยนจากแค่การมีบทบาทของผู้หญิงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกเพศมีบทบาท และนั่นรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual and Transgender) ด้วยเช่นกัน หากแต่จะไม่กล่าวถึงความเป็นมาของบทบาททางเพศในสภาพสังคมไทยที่เริ่มจากสิทธิของสตรีก็คงจะไม่สามารถเข้าใจประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างเต็มที่
ย้อนกลับไปยังโครงสร้างและค่านิยมภายในสังคม ปัจจัยเหล่านั้นแม้ฟังดูอาจจะส่งผลแต่กับเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่มันกลับยังทำหน้าที่ตีกรอบเพศอื่นๆ ซึ่งร่วมถึงเพศชายด้วยเช่นเดียวกัน ยามเมื่อค่านิยมทางสังคมนั้นมองเพียงสองเพศเป็นหลัก เมื่อมีเพศอื่นเข้ามาเสริม เพศนั้นจึงถูกมองว่าเป็นของแปลก หรือที่ร้ายไปกว่านั้นเป็นของผิดแปลก ตามที่ได้อธิบายไปในเบื้องต้น สังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคุ้นเคยกับการแบ่งเพศเป็นสองเสี่ยง หรือที่อาจเรียกว่าเป็นกรอบความคิดแบบ gender polarization การแบ่งเพศเป็นหญิงหรือชายแค่สองเพศฝังตัวกลายเป็นความธรรมดาหรือเป็นธรรมชาติของสังคมและระบบชีวภาพ หากพูดถึงเพศ (sex) ในทางชีวภาพย่อมมีเพียงแค่หญิงและชาย แต่หากเมื่อพูดถึงเพศภาวะ (gender) ในทางสังคม ความหลากหลายนั้นย่อมไม่ถูกจำกัดไว้แค่สภาวะทางร่างกาย ฉะนั้นแล้วจึงปรากฏท่าทีในทางลบต่อกลุ่มเพศหลากหลายดังที่เคยปรากฏในยุคก่อนหน้าที่การยอมรับยังไม่เปิดกว้างเท่าปัจจุบันนี้ คำว่า พวกผิดเพศ ถือเป็นคำที่สามารถนำมาอธิบายกรอบค่านิยมได้ดี เนื่องจากพวกเขาไม่ทำตัวให้สมกับเพศสภาพที่มีตั้งแต่เกิดขึ้นกลายเป็นพวกผิดแปลก ซ้ำเมื่อย้อนกลับไปยังค่านิยมในสังคมที่ตีกรอบบทบาททางเพศในสังคมไทยไว้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าเพศชายมีอำนาจเหนือกว่าเพศหญิง ยามเมื่อเพศชายต้องการผันตัวไปเป็นหญิง (ที่ถือว่าเป็นเพศอ่อนแอ่กว่า) จึงเกิดปรากฏการณ์ของการต่อต้านและยิ่งกดทับกลุ่มผู้ชายที่มีเพศหลากหลาย คล้ายคลึงกันกับผู้หญิงครึ่งชายครึ่งก็มักจะไม่ได้ถูกมองด้วยความสำคัญเท่ากันกับเพศอื่นๆ หลายคนมองว่าเป็นของปลอมที่แอบแฝงและไม่ได้ให้ค่า เพราะในเนื้อแท้พวกเขานั้นเป็นเพศหญิงที่ต้องการจะทำตัวให้แกร่งเท่าชาย
โลกกำลังเผชิญกับกระแสการเพิ่มขึ้นในบทบาทของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในการเมืองและรัฐสภา ในทางสถิติ งานศึกษาตั้งแต่ปี 1976 จนถึง 2013 ปรากฏผลของความเปิดกว้างทางเพศ การออกมาเปิดเผยตัวตน (come out) และเข้าไปมีส่วนในการเมือง รัฐสภา และการร่างกฎหมายมากยิ่งขึ้น มีผู้แทนทั้งสองสภาที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศถึง 207 คน (Andrew Reynolds, 2019) เมื่อพิจารณาจากบริบทนับตั้งแต่กระบวนการเรียกร้องสิทธิเความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม Feminist จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นกลุ่มเพศทางเลือกที่ออกมาลงถนน รณรงค์และกระตุ้นเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมสำหรับเพศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน จนสามารถกล่าวได้ว่าในทางการเมือง กลุ่มเพศหลากหลายนั้นมีความพยายามจะผลักดันและออกมาแสดงเสียงของตนเองมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการเดิน pride parade การประท้วง หรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์อื่นๆ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสภาเองก็เป็นหนึ่งในการผลักดันกรอบทางเพศสภาพที่รัดตัวพวกเขาเอาไว้
ในสถานการณ์ของประเทศไทย การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่สังคมไทยได้ผู้แทนราษฎรที่เปิดตัวอย่างชัดเจนว่ามาจากลุ่มเพศที่หลากหลาย ทั้งยังพร้อมที่จะแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตนอย่างไม่เกรงกลัวต่อค่านิยมที่ยังคงฝังลึกอยู่ในสภาสถานริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ถือเป้นสัญญาณที่ดีต่อความเป็นเสรีและเท่าเทียมกันของทุกเพศภายในสังคม หากแต่ปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นไม่ต่างจากที่เพศหญิงเคยเผชิญและยังคงต้องเผชิญต่อไป ซ้ำร้ายหลายคนมองว่าสิ่งที่ ส.ส.เพศทางเลือกต้องเจอ ในบางโอกาสอาจจะแย่ยิ่งกว่าที่ ส.ส.เพศหญิงต้องเจอเสียด้วยซ้ำ
ประเด็น (ที่บางพวกมองว่า) สำคัญที่สุดคงหลีกไม่พ้นเรื่องของการแต่งกาย ส.ส.หญิงนั้นโดนเพ่งเล็งเรื่องการแต่งกายมาตลอด แล้วยิ่ง ส.ส.ที่มีความหลากหลายทางเพศยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง ต้องเผชิญกับคำว่า กาละเทศ เป็นกรอบกดทับไว้คู่กับเพศสภาพของตน สถานที่ราชการบังคับให้ใช้ระเบียบของเพศแบบสองเสี่ยงเท่านั้น การจะแต่งตัวตามอัตลักษณ์ทางเพศที่ต้องการเป็นนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพและไม่สมควร มีเพียงแค่ชายหรือหญิงตามกฎเกณฑ์ที่ได้ตั้งเอาไว้ ทั้งนี้เมื่อชายแต่งเป็นหญิง สายตาของคนที่มองย่อมมองพวกเขาต่างจากบุคคลธรรมดาเนื่องด้วยค่านิยมที่เคยกล่าวไป ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่พยายามจะแสดงจุดยืนและความเท่าเทียมของตนภายในรัฐสภาจึงถูกลดทอนคุณค่าและความน่าเชื่อถือ ถูกมองเป็นตัวตลก หรือในบางครั้งมองว่าแม้แต่การมีอยู่ของพวกเขาคือตัวอย่างไม่ดีที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
การแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่เป็นที่อื้อฉาวอย่างการจูบกันของคู่รัก LGBT กล่าวได้ว่าเป็นการหยิบเรื่องใต้พรมที่ทุกคนรู้ ที่ทุกคนมักกล่าวว่าประเทศไทยเสรี ที่ทุกคนคิดว่าประเทศไทยไม่ถือเรื่องเพศต่างๆ ขึ้นมาแสดงให้เห็นกันซึ่งๆ หน้าว่าเรื่องที่ทุกคนรู้นี้ ทุกคนยอมรับได้หรือไม่? ซึ่งผลปรากฏว่าเกิดกระแสในทิศทางลบและตราตรึงอยู่ในความทรงจำ (ในแง่ที่ไม่ค่อยดี) ของใครหลายคน เพียงเพราะมีผู้ชายสองคนมาจูบกันที่สภา กลับกันประเด็นอื้อฉาวของ ส.ส.ชายที่ดูและส่งคลิปโป๊กลางห้องประชุมสภากลับถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือเรื่องธรรมดาของเพศชาย “Boys will by boys” ไม่นานคนก็ลืมและไม่ได้ติดใจจะสืบสาวราวเรื่องต่อ กลับกันหากเป็น ส.ส.หญิงแล้วประพฤติตนดัง ส.ส.ชายท่านนั้น มีหวังคงจะได้โดนสังคมรุมประณามพร้อมกับข้อความคุกคามในเชิงว่าเธอนั้นต้องการหรือเป็นผู้หญิงไม่ดีเป็นแน่ หรือหากเป็นส.ส.ที่มีความหลากหลายทางเพศ คงจะโดนรุมประณามไม่ต่างกันว่าเอาแต่หมกหมุ่นเรื่องทางเพศ
หากผู้หญิงเป็นไม้ประดับสภา
หากกลุ่มเพศทางเลือกถูกมองว่าเป็นตัวตลกของสภา
แล้วผู้ชาย เป็นอะไร?
หนึ่งในเหยื่อของโครงสร้างและค่านิยมนี้ด้วยเช่นกันหรือเปล่า?
ท้ายที่สุดเราจะเห็นรูปแบบการกดทับทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมไทย กล่าวได้ว่าประเทศเรานั้นมีโครงสร้างที่ก่อตัวขึ้นเพื่อความเท่าเทียมทางเพศมาเนิ่นนาน (และในหลายกรณีก็มีมาก่อนหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว) แต่โครงสร้างเพื่อความเท่าเทียมนั้นกลับหยุดนิ่ง แม้จะมีความริเริ่มในทางบวกแต่ก็ไม่ได้เดินหน้าพัฒนาต่อ ซ้ำร้ายมีหลายครั้งที่หลายคนพูดว่าโครงสร้างพวกนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ดูเหมือนมีความเท่าเทียมเพียงเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิและความเสมอภาคอย่างแท้จริง แต่เป็นการสร้างเพื่อให้มีครบตามที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยควรจะมี ฉะนั้นแล้วจึงนำไปสู่ปัญหาของความกดทับที่สองที่ฝังรากลึกลงไปในฐานความคิดและการดำเนินชีวิตของประชาชน นั่นก็คือค่านิยมและความเชื่อ
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองอาจจะอธิบายได้ว่า หากโครงสร้างนั้นมีการพัฒนาหรือเพื่อความเสอมภาคอย่างแท้จริง ค่านิยมที่อยู่มานานหลายปีคงมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ทว่าสิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือในระยะเวลานับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ค่านิยมและความเชื่อของไทยที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขีดเส้นแบ่งระหว่างเพศนั้นไม่ได้ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย ในบางกรณีกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นแล้ว โดยสรุปเราจึงเห็นการเมืองในรัฐสภาที่มีแต่กลุ่มเพศชาย โดยมีผู้หญิงและเพศที่หลากหลายเหมือนชนกลุ่มน้อยที่ยังคงต้องต่อสู้ต่อไป ทว่าสถานการณ์ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเลวร้าย เมื่อกระแสรอบโลกนั้นกำลังเสริมบทบาทความเท่าเทียมทางเพศ และกลุ่มส.ส.ในสภารุ่นใหม่ก็พยายามผลักดันประเด็นดังกล่าว หากนำโครงสร้างที่มันหยุดนิ่งมาปัดกวาดและต่อเติม ปรับเปลี่ยนความเข้าใจภายในสังคม อนาคตของประเทศไทยคงมีความยินยอมและยอมรับเพศทุกเพศได้อย่างเท่าเทียมและแท้จริง
——————————————-
อ้างอิง:
ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช (2563) การชุมนุมประท้วงของนักเรียน คนรุ่นใหม่สมัยคุณปู่ หลังการปฏิวัติ 2475 เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 สืบค้นจาก https://themomentum.co/thai-students-uprising-after-siamese-revolution-2475/?fbclid=IwAR2mlwgu6g-tHuVoodXszqLJNmD6K3Mfe_0MOweca3PXoL6FMdwmfYpqi5c
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ (2561) การเลือกตั้งครั้งแรก! กับสตรีผู้ปรารถนาจะมีส่วนร่วมทางการเมือง เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/women-first-election/47199
พระสุนทรโวหาร (ภู่) (ม.ป.ป.) สุภาษิตสอนสตรี เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 สืบค้นจาก http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/supasit.pdf
Andrew Reynolds (2013) Out in Office LGBT Legislators and LGBT Rights Around the World. LGBT Representation and Rights initiative at the University of North Carolina at Chapet Hill. Retrieved from https://lgbtqrightsrep.files.wordpress.com/2015/08/annual-report_may20finalversion.pdf
Daniel Hohmann (2019) When Do Female MPs Represent Women’s Interests? Electoral Systems and the Legislative Behavior of Women. Retrieved from https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/1065912919859437
Inter-Parliamentary Union (2019) Women in National Parliaments. (Situation as of 1st October 2019) Retrieved from http://archive.ipu.org/wmn-e/world.htm
Jane Mansbridge (1999) Should Blacks Represent Blacks and Women
Represent Women? A Contingent “Yes”. The journal of Politics Volume 61, Number 3 Aug., 1999. Retrieved from https://www.journals.uchicago.edu/doi/abs/10.2307/2647821
Manon Tremblay (1998) Do Female MPs Substantively Represent Women? A Study of Legislative Behaviour in Canada’s 35th Parliament. Canadian Journal of Political Science. Vol. 31. No. 3., 1998. Retrieved from https://www.jstor.org/stable/3233040?seq=1
The Global Economy (2020) Thailand: Women in Parliament. Retrieved from https://www.theglobaleconomy.com/Thailand/Women_in_parliament/
World Economic Forum (2020) Global Gender Gap Report 2020. Retrieved from http://www3.weforum.org/docs/WEF_GGGR_2020.pdf
[1] กระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี (feminism) ในยุคบุกเบิก (the first wave of feminism) เกิดขึ้นในช่วงเวลาสมัย 19 – 20 century นำด้วยกลุ่มของสตรีในฝั่งของโลกตะวันตก เป็นคล้ายหมุดหมายสำคัญของการต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี โดยในชวงแรกนั้นเน้นในประเด็นเรื่องของกรมีสิทิมีเสียงเท่ากับผู้ชาย โดยเฉพาะในเรื่องของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
[2] หมวด 3 สภาผู้แทนราษฎร มาตรา 14 “ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้…” ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปีพ.ศ. 2475
[3] หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม มาตรา 12 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย…” ในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2475
[4] พื้นที่สาธารณะในที่นี่มีนัยยะสื่อถึงพื้นที่ปิด ตลอดเวลาที่ผ่านมาปรากฏเพศหญิงที่ถูกปิดกั้นให้ดำรงชีวิจและดำเนินกิจกรรมประจำวันอยู่แต่เพียงในบ้านหรือสถานที่ปิดเสียส่วนใหญ่ จนกระทั่งในยุคร่วมสมัยที่สตรีเริ่มมีโอกาสในการออกมาดำเนินชีวิตนอกบ้าน กล่าวคือสามารถทำงานอย่างอื่นนอกเหนือจากการดูแลบ้าน ดูแลลูกหรือพ่อแม่ มามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะดังเพศชาย
[5] “จะนุ่งห่มดูพอสมศักดิ์สงวน ให้สมควรรับพักตร์ตามศักดิ์ศรี จะผัดหน้าทาแป้งแต่งอินทรีย์ ดูฉวีผิวเนื้ออย่าเหลือเกิน”
[6] “จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู” และ “ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ”
[7] “ประการหนึ่งซึ่งจะเดินดำเนินนาด ค่อยเยื้องยาตรยกย่างไปกลางสนาม อย่าไกวแขนสุดแขนเขาห้ามปราม เสงี่ยมงามสงวนไว้แต่ในที อย่าเหินกรายย้ายอกยกผ้าห่ม อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี อย่าพูดเพ้อเจ้อไปไม่สู้ดี เหย้าเรือนมีกลับมาจึงหารือ”
[8] “คำนับนอบสามีทุกวี่วัน อย่าดุดันดื้อดึงตะบึงตะบอน” “อยู่จนผัวรับประทานอาหารแล้ว นางน้องแก้วเจ้าจงกินเมื่อภายหลัง อย่ากินก่อนภัสดาดูน่าชัง เขาจะรังเกียจใจดูไม่ดี” และ “ถ้าแม้นว่าภัสดาเข้าไสยาสน์ จงกราบบาททุกครั้งอย่าพลั้งหลง เขาเมื่อยเหนื่อยเจ็บปวดในทรวดทรง ช่วยบรรจงนวดฟั้นให้บรรเทา”