Protest at Its Half-life: Should They Move on or Mob on (?)

ณพจักร สนธิเณร
22 ธันวาคม 2563
ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นกลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้นัดหมายว่ารวมตัวกันเพื่อชุมนุมประท้วงแบบ เบิ้ม เบิ้ม ซึ่งอาจตีความได้ว่าคณะราษฎร 2563 เป็นการชุมนุมประท้วงประเภทที่มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก (mass protest) ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างไรก็ตามด้วยบริบททางสังคมและการเมืองที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และการบังคับใช้กฏหมายอื่นๆ ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดรูปแบบการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ให้แตกต่างจากการชุมนุม mass protest ครั้งที่ผ่านมา
เป็นระยะเวลาสามเดือนตั้งแต่การชุมนุมประท้วงได้จุดติดขึ้นมา กลุ่มคณะราษฎร 2563 ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าสู่ช่วงวิกฤติครึ่งชีวิต (half-life) เพราะปัญหาทั้งในมิติโครงสร้างการชุมนุม และมิติมวลชน สอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ชี้ผลวิเคราะห์ว่ามวลชนเดินเข้าร่วมการชุมนุมคณะราษฎร 2563 น้อยลงซึ่งเป็นนัยสำคัญในด้านขนาดและรูปแบบของการชุมนุม[1]
ที่ผ่านมาพบว่า คณะราษฎร 2563 ใช้รูปแบบของการชุมนุมแบบ ไป-กลับ ของมวลชน ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางหลวงหรือสถานีรถไฟฟ้า ในจุดเชื่อมต่อหรือย่านที่สำคัญของเมือง ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุมคือการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ “ทุกคนเป็นแกนนำ” ซึ่งทำให้ม็อบรายวัน (ดูแฮชแท็ก[2] #ม็อบ(วันที่)(สองพยางค์แรกของชื่อเดือน) เช่น #ม็อบ24พฤศจิกา) พยายามจะจัดการชุมนุมในรูปแบบ แฟลช ม็อบ (flash mob) คือการชุมนุมที่เกิดการรวมตัวของมวลชนอย่างรวดเร็วแสดงออกอย่างรวดเร็วและแยกย้ายกันไปอย่างรวดเร็ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแตกตื่นและความประทับใจต่อผู้พบเห็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งแกนนำบางคนพยายามจะใช้คำเรียกว่า ม็อบที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (organic mob) การเลือกใช้การชุมนุมระยะสั้นแทน เมื่อชุมนุมเสร็จก็กลับบ้าน จากนั้นวันถัดไปก็นัดใหม่ การชุมนุมรูปแบบนี้มีต้นทุนต่ำกว่าการชุมนุมยืดเยื้อ ฉะนั้นเงินทุนที่ใช้ในการจัดการชุมนุมประท้วงจึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อ ผู้จัดการชุมนุม (คำเรียกตามพระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558) แม้การที่ท่อน้ำเลี้ยงของม็อบลดลงไปจนแกนนำต้องหันมาขอรับบริจาค เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลักของการชุมนุมรูปแบบนี้มีเพียงค่าตอบแทน/จ้างกลุ่มการ์ด กับค่าเช่าเครื่องเสียง[3] เท่านั้น
ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นการชุมนุม ประท้วงของคณะราษฎร 2563 ได้เข้าสู่ช่วงวิกฤติครึ่งชีวิต เพราะการชุมนุมอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ในมิติของโครงสร้างการชุมนุม (protest organizing) พบปัญหาการแตกหัก ชกหน้า ไล่ล่าของกลุ่มการ์ดผู้รักษาความปลอดภัย ตลอดจนปัญหาทุกคนเป็นแกนนำแต่บางคนเป็นแกนนำมากกว่า ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกวัน เวลา และสถานที่ในการชุมนุม ปัญหาที่แกนนำซึ่งเป็นแกนนำมากกว่ามักจะแก้เกี้ยวด้วยการอ้างว่าเป็นการ “แกง” (แกล้งหลอกให้ข้อมูลเท็จของการชุมนุม) ตำรวจหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่คนที่ได้รับผลกระทบหรือคนที่ประกันหม้อใหญ่กินก็คือกลุ่มมวลชนที่ไม่ได้เป็นแกนนำของแกนนำ ประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมืองผ่านการชุมนุมประท้วง คนที่ต้องอาศัยทุนทรัพย์ส่วนบุคคลในการเข้าร่วมการชุมนุม โดยทั้งหมดนี้บางทีปัญหาโครงสร้างของการชุมนุมอาจจะมาจากการจัดการรายรับรายจ่ายที่แกนนำของแกนนำได้มาจากท่อน้ำเลี้ยงและเงินบริจาค การถูกตั้งคำถามต่อการกระจาย/จัดสรรเงินทุนดังกล่าวทำให้แกนนำและแม่ยกหลายคนจิตตกจนต้องหยุดพักรับเงินบริจาคชั่วคราว ไม่ต่างจากการใช้จ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าฟุ่มเฟือย (ดูแฮชแท็ก #แจงรายจ่ายม็อบด้วยจ้า) ดังสุภาษิตที่ว่า love of money is the root of all evil
ส่วนในมิติของมวลชน (mass) นั้น กลุ่มคณะราษฎร 2563 ต้องตอบโจทย์ที่สำคัญให้ได้เช่นเกี่ยวกับการชุมนุม mass protest อื่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้า คือการรักษาฐานมวลชน ให้มีจำนวนใกล้เคียงกับตอนที่การชุมนุมประท้วงจุดติดขึ้นมา การรักษาจำนวนมวลชนเอาไว้ ต้องอาศัยเทคนิค ในการเชิญชวน การปราศรัย และรูปแบบการชุมนุม ของผู้จัดการชุมนุม หรือแกนนำ ที่ผ่านมาการปราศรัยที่ไม่สร้างสรรค์ ทำให้มวลชนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่มีแกนนำระดับแม่เหล็กเดินสายปราศรัยเพื่อดึงดูดมวลชน[4] เช่นเดียวกับการแสดงออกถึงแนวคิดหรือข้อเรียกร้องของการชุมนุมด้วยการกลั่นแกล้งคุกคาม (bullying) กลุ่มผู้เห็นต่าง-สลิ่ม (ซ่าหริ่ม) หรือกระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะอ้างว่าการกลั่นแกล้งคุกคามดังกล่าวเป็นเพียงแค่การล้อเลียน (parody) แค่ความสนุกสนานจากการล้อเลียนผู้อื่นเท่านั้น ปัญหาเกี่ยวกับมวลชนที่ส่งผลด้านลบต่อการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งกลับนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มคนที่เห็นต่างอย่างมีนัยมากขึ้นทั้งในโลกของความเป็นจริงและในสื่อสังคมออนไลน์ (social media) แม้ว่าผู้สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 จะออกมาปลอบใจว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงปฏิบัติการ io ของภาครัฐเท่านั้น (ดูแฮชแท็ก #อนุชนรักชาติศาสน์กษัตริย์) สอดคล้องกับการศึกษาของ เปรมศักดิ์ แก้วมรกฏ[5] กลุ่มวัยรุ่นกล้าที่จะแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมโดยให้ “ความรู้” ทางการเมืองกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ฉะนั้นการปะทะกันของขั้วอุดมการณ์และการปฏิเสธความเป็นใหญ่ของกระแสความคิด (dominant stream) ในสังคมออนไลน์จึงทำให้เกิดการสั่นคลอน และการเสื่อมถอยของฐานมวลชนของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่เป็นเยาวชน
ถ้าจะเล่นต่อก็ต้องเล่นให้ใหญ่เบิ้มไม่อย่างนั้นก็กลับบ้านไป วันนี้หากผู้จัดการชุมนุมต้องการจะใช้การประท้วงเป็นเครื่องมือในการผลักดันวาระของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ให้สำเร็จก้าวต่อไปนั้นอาจจะไม่ใช่แค่การนัดสหายแต่งกายด้วยเสื้อตัดชายเหนือเอว (crop top) เป็นการล้อเลียนเพื่อเอามัน (parody) อีกครั้งหนึ่งเท่านั้น
ปรับโครงสร้างม็อบ
ความหวังในการปรับโครงสร้างการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ต้องเริ่มที่การปรับ แกนนำ เพื่อให้เกิดพลังของความเป็นกลุ่ม จึงจำเป็นที่จะต้องมีเอกภาพแกนนำ ในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นนายทุนเบื้องหลังม็อบ เจ้าของม็อบ บุคคลต้นแบบ (role model) ของแกนนำม็อบ หรืออาจารย์ของแกนนำม็อบ ครั้งนี้แกนนำที่เป็นแกนนำมากกว่าจะต้องออกมาใช้การเมืองบนพื้นที่สาธารณะอย่างเต็มตัวเสียที เพราะปัจจุบันแม้ว่าแกนนำหลัก (รุ่นอ่านแถลงการณ์ครั้งที่ 1) จะได้รับการปล่อยตัว/ประกันตัวออกมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถดึงมวลชนจำนวนมากออกมาได้เช่นเคยต่างจากที่นักวิชาการด้านความมั่นคงประเมินเงื่อนไขสถานการณ์ไว้ ส่วนแกนนำหลัก รุ่นที่ 2 (รุ่นอ่านแถลงการณ์ ครั้งที่ 2) ก็ยังไม่มีความสามารถแจ้งเกิดกับมวลชนภายใต้กลุ่มคณะราษฎร 2563 เช่นเดียวกันกับโครงสร้างของกลุ่มการ์ด และการจัดการบัญชีรายจ่ายของเงินบริจาคและน้ำเลี้ยงให้เป็นที่ไว้วางใจของมวลชน
หรือจะเปลี่ยนจากชั่วคราวเป็นค้างคืน – รูปแบบของการชุมนุมจำเป็นต้องมีจุดชุมนุม (สถานที่ชุมนุม) ส่วนกลางเพื่อให้เกิดลักษณะเฉพาะของ mass protest อันเป็นจุดหมายปลายทางของมวลชนที่ต้องการแสดงออกร่วมกันผ่านการชุมนุมประท้วงไม่ว่าเขาจะมาจากส่วนไหนของประเทศ การชุมนุมขนาดใหญ่ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการชุมนุมประท้วงแบบยืดเยื้อมีประสิทธิผลมากกว่าการชุมนุมแบบ ไป-กลับ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การจัดการเวลาที่สามารถรอมวลชนให้ค่อยๆ ทยอยมาสมทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือในแง่ของการสร้างแรงกดดันต่อสังคมที่จะส่งต่อไปยังภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อความสงบและเรียบร้อยในสังคม นอกจากนี้ผู้จัดการชุมนุมยังสามารถทำให้การชุมนุมประท้วงเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน (eventful protest) ก็สำคัญในช่วงของ กปปส. มีสโลแกนอาหารดีดนตรีไพเราะในช่วงหลังของการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 2563 เราจะเห็นการแสดงของกลุ่มที่เรียกว่าคณะราษฎแดนซ์ เช่นกัน
จะสั่งให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหรือยู่เหนือการเมือง
การโจมตีศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาและวัฒนธรรมประเพณีของสังคมไทยดึกดำบรรพ์ (สังคมของไดโนเสาร์และซ่าหริ่ม) เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง หลักของมวลชนจำนวนมากภายใต้คณะราษฎร 2563 แต่การจะใช้ประเด็นเรื่องการล้มล้างหรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเป็นทางสองแพร่งที่สำคัญที่สุดของการชุมนุมต่อไปว่าจะหลีกเลี่ยง ลดความก้าวร้าว แบบที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามจะใช้คำสำคัญว่า ปฏิรูป ตามด้วย สถาบันฯ หรือจะเพิ่มความร้อนแรงด้วยการโจมตีสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหากเลือกข้อหลัง แม้การชุมนุมจะได้รับการสนับสนุนจากมวลชนที่พร้อมจะท้าทายการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อย่างล้นหลามแต่สิ่งหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือทำให้ประชาชนทั่วไปมองการชุมนุมว่าเป็นเรื่องของการล้มเจ้า เกิดการรวมตัวและการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมาคานน้ำหนัก และอาจจะมีการกระทบกระทั่งดังเช่นที่เคยเกิดขึ้น[6] เช่น การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2563 และทั้งนี้มวลชนกลุ่มผู้ประท้วงอาจจะได้ยินเสียงคำรามของกลุ่ม tyrannosaurus rex และจะตระหนักถึงขนาดที่แท้จริงของ echo chamber ของจุดยืนเรื่องสถาบันฯ ของตน กับค่านิยมและความเชื่อเรื่องสถาบันฯ ของสังคม
ความรุนแรงจะเป็นคำตอบหรือไม่ – เนื่องจากที่ผ่านมาเงื่อนไขสำคัญของการลดลงอย่างชัดเจนของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงคือมาจากลักษณะนิสัย (characteristics) หรือรูปแบบการใช้ชีวิต (lifestyle) ของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็น “คนรุ่นใหม่”[7] ที่ใจเร็วด่วนได้ผลลัพธ์บั้นปลาย (#ให้มันจบที่รุ่นเรา) การยกระดับการชุมนุมโดยการใช้ความรุนแรงเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการชุมนุมประท้วง ไชยันต์ ไชยพร[8] ได้กล่าวถึงการประท้วงที่เริ่มจากการดื้อแพ่งไม่เคารพกฎหมายต่างๆ สร้างสิ่งกีดขวาง กีดขวางทางจราจร ทำลายกล้องจราจร จลาจล จงใจละเมิดกฏหมายและความสงบของสังคมในลักษณะรวมหมู่ที่เรียกว่า อนาธิปไตยแบบฝูงชน (mob rule) การทำลายทรัพย์สิน ปล้นร้านค้า (looting) เผารถยนต์ ทุบกระจก ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะพบข้อความที่ถูกพ่นสีหรือเขียนไว้ในพื้นที่ของการชุมนุมแต่ละแห่งซึ่งเป็นการบอกอย่างตรงไปตรงมาและถึงการปล้นร้านค้า “looting” และแม้แต่การเผยแพร่งานเขียนทางวิชาการของผู้ที่สนับสนุนการชุมนุม Black Lives Matter ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการปล้นร้านค้ากับชัยชนะของการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม ปณิธาน วัฒนายากร อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ให้ความเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจนัดรวมตัวกันแบบต่างคนต่างมาคราวละมากๆ โดยใช้ “ฮ่องกงโมเดล” คือการปิดสถานที่ ปิดถนน ปิดเส้นทางคมนาคม และเผาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องที่ตนต้องการ[9] ซึ่งตรงกับการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการข่าวของรัฐบาลที่รวบรวมโดย ปรกรณ์ พึ่งเนตร ว่า อาจมีการสร้างสถานการณ์บางอย่างเพื่อระดมมวลชน และสร้างเงื่อนไขใหม่ ซึ่งสถานการณ์ที่ว่านี้เป็นไปได้ทั้งแบบจงใจให้เกิด และไม่จงใจให้เกิด โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีความรุนแรง เช่น มวลชนปะทะกันจากการยั่วยุ เช่นเดียวกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพลว่าข้อกังวลของสังคมคือสถานการณ์ที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองระหว่างประชาชนด้วยกัน[10] อย่างไรก็ตามหากกลุ่มผู้ชุมนุมเลือกความรุนแรงเป็นแนวทางในการยกระดับย่อมเป็นอีกหนึ่งก้าวเดินแบบ เบิ้ม เบิ้ม ไม่ว่าท้ายที่สุดความรุนแรงจะนำมาสู่การปฏิรูปสถาบันและสังคม หรือนำมาสู่การปราบปรามการชุมนุมประท้วงแต่ทางเลือกนี้ให้เหตุการณ์ประท้วงจบอย่างรวดเร็วไม่น่าเบื่อแน่นอน
สุดท้ายนี้ ทั้งโครงสร้าง รูปแบบ ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฏร 2563 รวมถึงมวลชน ที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วง และในช่วงวิกฤติครึ่งชีวิตของการชุมนุมนี้ ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหากผู้จัดการชุมนุมหรือแกนนำยังยืนยันจุดยืนที่จะให้การชุมนุมสาธารณะเป็น platform ในการผลักดันวาระ (agenda) ของตนเองเข้าสู่ระบบการเมืองให้สำเร็จ ซึ่งจะต้องเป็นการเลือกตัดสินใจอย่างรอบคอบคิดถึงผลดีและผลเสียที่จะตามมาทั้งต่อตนเอง มวลชน และสังคม แต่หากว่าเหนื่อยล้าก็แค่หยุด เพราะคนในสังคมจำนวนหนึ่งก็มองว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์การชุมนุมได้และผู้ชุมนุมลดน้อยลงจนต้องเลิกชุมนุมไปเอง แต่สิ่งที่ไม่ควรทำก็คือจัดการชุมนุมแบบไร้จุดหมายไปเรื่อยๆ เพื่อเอาตัวรอดจากผลกระทำของผู้ที่จงใจที่ฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง ในเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับผู้กระทำผิด เพราะจากการชุมนุมของ modern mass protests ที่ผ่านมาได้มีบทเรียนให้เห็นแล้วว่าเมื่อบรรยากาศของความชอบธรรมจากฝูงชนหมดไป กระบวนการทางกฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกม็อบไม่สามารถหลีกหนีได้
[1] ปกรณ์ พึ่งเนตร. 2563, พฤศจิกายน. ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม. ใน การเมือง เนชั่นทีวี. เข้าถึงได้จาก https://www.nationtv.tv/main/content/378804257
[2] ในปัจจุบันแฮชแท็ก (hashtag) นั้น ใช้กันแพร่หลายทั้งใน Facebook, Instagram และ Twitter ซึ่งบางคนอาจใช้เป็นการเน้นข้อความ แต่ในที่นี้ในการชุมนุมจะใช้สื่อสารกันเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเป็นการพูดคุยกันในหัวข้อเดียวกัน หรือเรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน โดยเมื่อเลือก/คลิกเข้าไปในแฮกแท็กหนึ่งๆ ก็จะปรากฏข้อความที่ผู้ใช้ที่ติดแฮชแท็กนั้นๆ ไปด้วย กล่าวคือ ผู้ใช้ที่ต้องการจะสื่อสารกับผู้อื่นในแพล็ตฟอร์มเดียวกัน สามารถสื่อสารกันผ่านแฮชแท็กได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกันหรือติดตามกันเป็นส่วนตัว ระบบแฮชแท็กจึงทำให้การสื่อสารเป็นไปได้ในวงกว้างมากขึ้น ส่วนมากแฮชแท็กนั้นจะเป็นที่นิยมใน Twitter และ Instagram โดยจะมีการจัดอันดับว่าแฮชแท็กใดทุกใช้มาก แฮชแท็กใดกำลังเป็นที่นิยม เป็นต้น – บรรณาธิการ
[3] กรุงเทพธุรกิจ. 2563, ตุลาคม. มุมมองรัฐศาสตร์ ‘ข้อเรียกร้อง’ จุดอ่อนม็อบ สถานการณ์ยังหาทางออกร่วมกันได้. ใน กรุงเทพธุรกิจ. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/903335
[4] ปกรณ์ พึ่งเนตร. 2563, พฤศจิกายน. ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม. ใน การเมือง เนชั่นทีวี. เข้าถึงได้จาก https://www.nationtv.tv/main/content/378804257
[5] เปรมศักดิ์ แก้วมรกฎ. 2560. วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของวัยรุ่น ในสังคมพหุวัฒนธรรม : กรณีศึกษา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, การเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
[6] ปกรณ์ พึ่งเนตร. 2563, พฤศจิกายน. ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม. ใน การเมือง เนชั่นทีวี. เข้าถึงได้จาก https://www.nationtv.tv/main/content/378804257
[7] ปกรณ์ พึ่งเนตร. 2563, พฤศจิกายน. ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม. ใน การเมือง เนชั่นทีวี. เข้าถึงได้จาก https://www.nationtv.tv/main/content/378804257
[8] ไชยันต์ ไชยพร. 2563, ตุลาคม. การชุมนุมประท้วงที่ ‘รุนแรงที่สุด’ ในรอบ 50 ปี. ใน กรุงเทพธุรกิจ. เข้าถึงได้จากhttps://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651325
[9] กรุงเทพธุรกิจ. 2563, ตุลาคม. มุมมองรัฐศาสตร์ ‘ข้อเรียกร้อง’จุดอ่อนม็อบ สถานการณ์ยังหาทางออกร่วมกันได้. ใน กรุงเทพธุรกิจ. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/903335
[10] จิระพงษ์ เต็มเปี่ยม. 2563, พฤศจิกายน. ไม่มีอีกแล้วบิ๊กเซอร์ไพรส์. ใน คอลัมภ์การเมือง แนวหน้า. เข้าถึงได้จาก https://www.naewna.com/politic/columnist/45805