Articles

Vaccine and The State of Godfather: วัคซีนและความเป็นรัฐเจ้าพ่อ

ขวัญข้าว คงเดชา
23 ธันวาคม 2563

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ผู้เขียนได้มีโอกาสเขียนเปเปอร์ในหัวข้อ Securitization of State and Global Governance: the case of global diseasesที่ว่าด้วยความเป็นรัฐมาเฟียกับการก่อร่างสร้างโรคระบาดให้กลายเป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐเพื่อเรียกค่าคุ้มครองจากประชาชนตัวเอง ยกตัวอย่างทั้งเคสของ Ebola และH1N1 โดยผู้เขียนสวมบทเป็นผู้ติดตามข่าวสารจากภายนอก แต่ใครจะไปรู้กันว่าอีก 5 ปีต่อมา โรคระบาดที่เราเคยมองว่าไกลตัวกลับกลายมาเป็นกรอบบังคับฉบับใหม่ในชีวิตช่วงทศวรรษใหม่ และใครจะไปคิดกันว่าเปเปอร์ในวันนั้นจะกลายเป็นเรื่องที่ตรงกับสถานการณ์ในทุกวันนี้ 

            เมื่อต้นปี ในบทความเรื่อง ไวรัสอู่ฮั่นและการแพร่กระจายของอำนาจรัฐ’ได้อธิบายโดยคร่าวเกี่ยวกับแนวความคิดของ Copenhagen School ในประเด็นเรื่องของ กระบวนการประกอบสร้างความมั่นคง (Securitization) และการแพร่ระบาดของไวรัส ว่าไวรัสถูกแปลงให้เป็นเรื่องของความมั่นคงและภัยคุกคามมากยิ่งขึ้นเพื่อรัฐจะได้มีอำนาจอันชอบธรรมและสนับสนุนโดยประชาชนในการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งในหลายครั้งการกระทำของรัฐก็ละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานและค่านิยมภายในประเทศ (นับตั้งแต่การกักตัว การห้ามเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเดินทาง ไปจนถึงปิดเมือง) ทั้งนี้ไม่ได้กำลังจะกล่าวว่าการแพร่ระบาดของไวรัสนั้นเป็นเรื่องหลอกหลวงที่รัฐสร้างขึ้นมา สิ่งที่ต้องการจะเสนอคือกระบวนการในการเพิ่มความหวาดกลัวและแปลงความสนใจให้มองไวรัสนั้นเป็นภัยของชาติ ตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาและบางครั้งก็ก้าวข้ามหลักความเป็นประชาธิปไตย เป็นกระบวนการทำให้ไวรัสเป็นเรื่องของความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และเมื่อเป็นเรื่องของความมั่นคงย่อมหมายถึงคงเรื่องคอขาดบาดตาย ซึ่งล้อไปกับแนวคิด State of Exceptionของ Giorgio Agamben ที่ว่าด้วยเรื่องของสภาวะยกเว้น ประชาชนถูกละเว้นจากการคุ้มครองตามกฎหมายธรรมดา (บังคับใช้กฎหมายพิเศษในสภาวะวิกฤต) และยังเปราะบางต่อการถูกควบคุมอย่างสิ้นเชิงในรัฐ จะเห็นได้ถึงกระแสของความไม่เป็นประชาธิปไตยกับความพยายามในการจัดการกับวิกฤตการณ์ของโรคระบาด

ในช่วงปลายปีกับข่าวของวัคซีนทำให้นึกถึงอีกประเด็นที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่องของรัฐมาเฟียและวัคซีน เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) กับบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ในจำนวนเพียง 26 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วนที่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดเพียงแค่ 18.5%หรือประชาชนเพียง 12.84 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 69.43 ล้านคนของประเทศไทย (โดยประมาณการ) ทั้งนี้วัคซีนตัวนี้ยังมีประสิทธิภาพต้านCOVID-19 เพียงแค่ 62-90%เพียงเท่านั้นเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่น (ตัวเลขจากทางผู้ผลิตที่ทำการประเมินเอง) ทว่าเมื่อศึกษาเพิ่มเติมก็เข้าใจแผนการดำเนินของรัฐไทยมากยิ่งขึ้น การที่จัดซื้อจำนวนโดสของวัคซีนมาในจำนวนน้อยก็เพื่อที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้ประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ โดยมีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยเป็นส่วนรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าวนี้ และยังรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตรายแรกที่จะกระทำการกระจายวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะผู้ร่วมนำผลิตไม่ใช่แค่รับซื้อเพียงอย่างเดียว โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ ถึง 6 พันล้านบาทด้วยกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา 

และในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีข่าวดังภายในภูมิภาคกล่าวว่าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) เดินทางถึงสิงคโปร์เป็นชาติแรกในเอเซีย รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินการแจกจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่แนวหน้าก่อนจะเปิดให้ประชาชนทุกคนในประเทศร่วมถึงกลุ่มที่ไม่ได้มีสัญชาติสิงคโปร์แต่พำนักอยู่ในระยะยาวได้ใช้ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในขณะเดียวกันเมื่อหันกลับมามองยังประเทศไทย ประชาชนหลายคนก็อดที่จะตั้งข้อสงสัยไม่ได้เช่นเดียวกันว่าทำไมประเทศเราถึงได้ตัดสินใจอย่างที่ได้ทำลงไป ยิ่งเมื่อเห็นตารางเปรียบเทียบการจัดซื้อจัดจ้างทำวัคซีนแล้วยิ่งน่าฉงน 

คำว่ารัฐมาเฟีย หรือ mafia stateในทางการเมืองมีความหมายถึงรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีอิทธิพล หรืออาจจะเป็นกลุ่มอิทธิพลประเภทเจ้าพ่อที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญและมีสิทธิในการตัดสินใจภายในรัฐ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น ความพยายามที่จะเข้าการเมืองของราชายาเสพติดอย่างปาโบล เอสโกบาร์ เป็นต้น แต่บทความนี้ไม่ได้กำลังพิจารณาเบื้องหลังและฐานอำนาจของบุคคลที่ขึ้นมาปกครองประเทศไทยแต่อย่างใด คำว่ารัฐมาเฟียในบทความนี้ต้องการที่จะดูถึงลักษณะของความเป็นมาเฟียในรัฐ 

อย่างที่หลายคนนั้นคุ้นเคยความเป็นมาเฟียย่อมมาพร้อมกับความคุ้มครองและการอุปถัมภ์ เห็นได้จากการใช้คำว่า เจ้าพ่อหรือ godfatherซึ่งมีความหมายในเชิงความสัมพันธ์แบบพึ่งพาระหว่างผู้เรียกต่อผู้ที่ถูกเรียก ซ้ำยังเห็นถึงลำดับชั้นอำนาจของความสัมพันธ์ เจ้าพ่อจึงกลายเป็นบุคคลที่มีอำนาจบารมีใจถึงพึ่งได้ ท่านสามรถให้ความคุ้มครองหรือปกป้องดูแลได้เสมอตราบใดที่ยังอยู่ในโอวาทของเจ้าพ่อและมีของกำนัลมาแลกเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ (อาจจะเป็นสิ่งขอหรือคำขอร้องก็ได้) หรือถ้าหากสายใยความสัมพันธ์แบบนั้นมันดูเป็นการผูกมัดจนเกินไป (ประหนึ่งอยู่ในครอบครัว) ก็มีการแลกเปลี่ยนในแบบที่ง่ายและสะดวกอย่างการซื้อขายความคุ้มครอง ดังที่เคยเห็นในมุกตลกสมัยแต่ก่อนว่ามีเจ้าถิ่นเดินตามตลาดมาเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ทว่าจะคุ้มครองจากใครละ ก็คุ้มครองจากคนเก็บเองไม่ใช่หรือ

คล้ายคลึงกัน ในบางกรณีเป็นรัฐเองที่ก่อร่างสร้างภัยทางความมั่นคงขึ้นมาเพื่อที่จะขายค่าคุ้มครองหรือการป้องกันให้แก่ประชาชน การขายในที่นี่อาจจะเป็นเงินทองหรือในบางครั้งก็คือสิทธิและอิสระภาพ และภัยความมั่นคงนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด นั้นคือข้อแตกต่างเล็กน้อยระหว่างกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคง (ที่มีภัยความมั่นคงจริงเพียงแต่รัฐเน้นย้ำถึงสิ่งที่ประชาชนจำต้องกลัว) และความเป็นรัฐมาเฟีย (สร้างภัยขึ้นมาเพื่อขายความคุ้มครองโดยภัยนั้นส่วนมากมักจะไม่ใช่เรื่องจริง) ในสถานการณ์ปัจจุบันสามารถพิจารณาถึงทั้งสองแนวคิดนี้ควบคู่กันไปได้ คือ 1. รัฐนำเอาภัยความมั่นคงจริงมาเน้นย้ำให้เกิดความตื่นตัวหรือหวาดกลัว และ 2. รัฐสบโอกาส นำภัยที่มีอยู่จริง (ที่ได้รับการสร้างให้กลายเป็นเรื่องของความมั่นคงนั้นแล้ว) มาใช้เพื่อขายความคุ้มครองกับประชาชนของตนเอง  

            ประเด็นในเรื่องของวัคซีนนี้ก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะเกิดสายสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ที่ได้ครอบครองการผลิตวัคซีนและประชาชนทั่วไปที่รอความช่วยเหลือจนสร้างสภาวะของ‘บุญคุณ’(การเมืองการปกครองอย่างไทย ๆ แบบพ่อปกครอง/ดูแลลูก)  ยังมีผลประโยชน์ทางธุรกิจของการผูกขาดเป็นสำคัญ แม้ว่าจะเข้าใจได้ว่ารัฐไทยนั้นต้องการที่จะผลิตวัคซีนออกมาเองจึงได้สั่งมาเจ้าเดียวและในจำนวนน้อย ทว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีการจัดซื้อของสองสามเจ้าในจำนวนที่เกินกว่าประชากรของตนเอง ประเด็นนี้จึงอดเป็นที่น่ากังขาของประชาชนไม่ได้ว่ารัฐไทยนั้นต้องการที่จะรักษาและช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตด้วยใจจริงหรือฉวยโอกาสจากยามวิกฤตกันแน่ แม้จะมีการบอกว่าเมื่อถึงเวลาประชาชนจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและฟรี รัฐบาลในตอนนี้อาจจะต้องการที่จะประหยัดและลดการพึ่งพาต่างชาติด้วยความพยายามที่จะผลิตวัคซีนขึ้นมาเอง ทว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมถึงไม่เห็นการทุ่มงบประมาณในการสนับสนุนโครงการ วัคซีนเพื่อคนไทยของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ (CUEnterprise) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทนการขอให้ประชาชนร่วมกันบริจาค หากรัฐสนับสนุนให้มีทางเลือกจากหลากบริษัทในการผลิตวัคซีนย่อมกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าการผูกขาดไว้ที่บริษัทเดียวหรือไม่ เจตนาของรัฐผ่านการกระทำนั้นเป็นที่เคลือบแคลง ประชาชนอาจจะไร้ซึ่งทางเลือกนอกจากซื้อค่าคุ้มครองจากรัฐเพียงแหล่งเดียว เป็นการสร้างสถานการณ์ของการบีบบังคับ (ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นภัยในรูปแบบหนึ่ง หากไม่ยอมรับก็ไม่ได้รับวัคซีน เสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19) ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อความคุ้มครองที่รัฐจัดหามาโดยจะมีคำว่าบุญคุณค้ำคอ 

สถานการณ์ดังกล่าวนั้นเกื้อหนุนให้ระบบอุปถัมภ์หมุนเวียนต่อไปในสังคมการเมืองของประเทศไทย แต่นานกาลการเมืองของประเทศมักจะมีคำว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย และความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายที่พึ่งพาและถูกพึ่งพาเสมอ ประชาชนจึงมักจะได้ยินคำพูดคล้ายการทวงบุญคุณหรือรู้สึกเหมือนตัวเองนั้นเป็นหนี้อะไรบางอย่าง จะต้องมีการทดแทนแลกเปลี่ยนหรืออย่างน้อยก็ต้องรู้สึกขอบคุณอย่างกตัญญู (grateful) เมื่อเทียบกันแล้วกับหลายประเทศที่เผชิญสถานการณ์เดียวกันวัคซีนไม่ใช่สิ่งที่ฟ้าประทานหรือของขวัญของรัฐที่มอบให้แก่ประชาชน แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนในประเทศจำจะต้องได้รับและรัฐจำจะต้องจัดหามาให้ครบต่ออุปสงค์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็สามารถโยงยังประเด็นในเรื่องของ Universal Healthcare ที่นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของโควิดก็กลายเป็นประเด็นเรื่องของสิทธิในการเข้ารับการรักษาอย่างทั่วถึงโดยปราศจากความกังวลด้านการเงินหรืออุปสรรคอื่น ๆ  

ทั้งนี้ แม้จะมีความกังวลและข้อสงสัยอีกมากมาย แต่ในเรื่องของศักยภาพด้านการสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทยไม่ใช่เรื่องน่ากังขาแต่อย่างใด ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศล้วนให้การยอมรับเป็นอย่างดี จากความเข้าใจดังกล่าวนี้ก็คงไม่น่าแปลกเท่าไรหากประเทศไทยต้องการที่จะเป็นผู้ผลิตเองมากกว่าผู้รับซื้อ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของการหากำไรรายได้จากความต้องการของวัคซีนภายในตลาดโลก ณ ปัจจุบัน สถานะความเป็นรัฐแรกและ (เหมือนจะ) รัฐเดียวในตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตวัคซีนเพื่อแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านทั้งหลายก็ดูน่าดึงดูดไม่ใช่น้อย บทบาทของประเทศไทยในบริบทภูมิภาคและสังคมโลกถูกจำกัดไว้แต่ภาพของความขัดแย้ง รัฐบาลทหาร และความไม่เป็นประชาธิปไตย (แบบเต็มใบ) ฉะนั้นความพยายามที่จะเร่งเพิ่มเติมสถานะและอำนาจในการต่อรองระหว่างประเทศโดยการนำเอาเรื่องของภัยคุกคามอย่างโควิดและหนทางเอาชีวิตรอดอย่างวัคซีนมาใช้จึงดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ได้ทั้งรายได้และยังได้ทั้งการมีตัวตนในภูมิภาคและสังคมโลก แถมภาพลักษณ์ยังได้รับการขัดเกลาดูเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงสามารถมีเครื่องมือและศักยภาพมากพอที่จะผลิตวัคซีนไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้ พลิกบทบาทให้ประเทศไทยกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียนตามที่รัฐเคยตั้งความหวังไว้

ท้ายที่สุดนี้ สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นภัยรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่ต้องสงสัย เวลา 1 ปีกับความพยายามปรับตัวให้ทันกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ รัฐไทยเองก็มีวิธีการรับมือที่หลากหลาย ดีบ้าง เป็นที่น่ากังขาบ้าง จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าจะมีแนวทาง นโยบาย และคำสั่งใดเพื่อรักษาทั้งผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของมนุษย์ และความมั่นคงของชาติต่อไป และเหตุใดการบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีนจึงถูกผูกขาดโดยการนำเข้าจากบริษัทเดียวทั้งที่มีวัคซีนที่ถูกผลิตจากหลากหลายบริษัทและให้ผลการทดสอบดีกว่าบริษัทที่รัฐไทยตัดสินใจนำเข้า นี้จะเป็นการแสดงออกของรัฐรูปแบบมาเฟียหรือไม่ ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนมีทางเลือกอย่างเสรีและถูกการกระทำของรัฐถูกตัดสินใจอยู่บนฐานของความมั่นคงของรัฐเท่านั้น

———————————–

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: