Articles

DemTools Series: สำรวจนวัตกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง จาก NDI Tech

ศิปภน  อรรคศรี
5 มกราคม 2564

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ในฐานะส่วนเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอย่างรอบด้านไม่ว่าจะด้านอาหารการกิน, การเดินทาง หรือที่พัก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม แล้วการสร้างสรรค์นวัตกรรมจะนำมาพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยของสังคมโดยเฉพาะในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้อย่างไร ชุดบทความ “DemTools” จึงขอเชิญชวนร่วมกันสำรวจและประเมินประสิทธิภาพของนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยนวัตกรรมดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย NDITech ซึ่งเป็นทีมงานภายใต้หน่วยงาน National Democratic Institute (NDI)

บทความ “DemTools” นี้จะเป็นการชวนผู้อ่านร่วมสำรวจเครื่องมือนวัตกรรมการเมืองของ NDITech จำนวนทั้งสิ้น 4 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่ “Apollo” นวัตกรรมการเก็บรวบรวมข้อมูลการเลือกตั้งและบริการอื่นๆจากภาครัฐ, “Civi” นวัตกรรมแพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างรัฐบาล พรรคการเมือง หรือขบวนการทางสังคมกลุ่มต่างๆ, “DemGames”  แพลตฟอร์มสำหรับเล่นเกมฝึกทักษะ และ “Fix My Community” นวัตกรรมการร้องเรียนปัญหาในท้องถิ่น โดยในส่วนของเครื่องมือชิ้นแรกนี้จะเป็นการสำรวจเครื่องมือที่ชื่อว่า “Apollo” ก่อนที่จะเป็นการวิเคราะห์ความสำเร็จในการนำเครื่องมือชิ้นดังกล่าวไปใช้จริงในบริบทการเลือกตั้งประธานาธิบดีไอวอรีโคสต์ในปี 2015 แล้วจากนั้นจึงเป็นการแนะนำเครื่องมือแต่ละชิ้น ได้แก่ Civi, DemGames และ Fix My Community พร้อมกรณีศึกษาการใช้งานจริงในประเทศตัวอย่างตามลำดับ


“Apollo” นวัตกรรมการเก็บข้อมูลการเลือกตั้งโดยพลเมือง

เครื่องมือชิ้นแรกของบทความนี้เริ่มกันที่ Apollo ในเว็บไซต์ของ DemTools ระบุถึงวัตถุประสงค์หลักของเครื่องมือชิ้นนี้ไว้ว่ามีไว้เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพในการตรวจสอบ (monitoring) ในระดับพื้นที่ปฏิบัติการตรวจสอบการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการสังเกตการณ์อย่างเป็นระบบในวันเลือกตั้ง ทั้งนี้องค์ประกอบหลักสำหรับสังเกตการณ์โดยสรุปได้ดังนี้

1. ฐานข้อมูลเกี่ยวกับอาสาสังเกตการณ์ ได้แก่ พื้นที่ปฏิบัติการ หน่วยเลือกตั้งที่เข้าสังเกตการณ์ อาสาสมัครสามารถเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานตลอดช่วงเวลาได้หรือไม่ หรือมีความขัดข้องของอุปกรณ์หรือไม่ รวมถึงข้อมูลคร่าวๆของอาสาสมัคร เพื่อให้คณะทำงานสามาถติดตามช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉินได้

2. แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลของอาสาสมัครภาคสนาม โดยมีให้เลือกใช้ในแต่ละบริบทดังนี้

            2.1 แบบฟอร์มสังเกตการณ์กระบวนวันเลือกตั้ง (Election Day Form: Process Data) เป็นการสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งว่าเป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งเพียงใด

            2.2 แบบฟอร์มรายงานความผิดปกติ (Critical Incident Form) เป็นแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกในกรณีที่พบเหตุการณ์ความผิดปกติในวันเลือกตั้งที่เป็นความเสี่ยงและอาจส่งผลร้ายต่อการเลือกตั้งได้

            2.3 แบบฟอร์มสรุปผลภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Election Day Form: Results Data) เป็นการนำข้อมูลที่ได้จดบันทึกมาจัดทำเป็นภาพรวมของเหตุการณ์วันเลือกตั้งในเชิงสถิติ

จากการอธิบายภาพรวมฟังก์ชันการใช้งานของ Apollo แล้ว ยังสามารถศึกษาตัวอย่างการใช้งานผ่านกรณีศึกษาของประเทศไอวอรีโคสต์ ในการตรวจสอบการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2015 โดยองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งโดยภาคประชาชนที่ชื่อว่า “POECI” (Civil Society Platform for the Observation of Elections in Côte d’Ivoire) และได้รับการสนับสนุนจากองค์กร NDI ในการให้ความรู้เพื่อจัดเตรียมกระบวนการนับคะแนนแบบคู่ขนาน (PVT) และได้ให้คำแนะนำในการทดลองใช้ระบบช่วยจัดเก็บข้อมูลในวันเลือกตั้งอย่าง “Apollo” ซึ่งตัว Apollo ช่วยไม่ว่าจะในเรื่องของการบันทึกข้อมูลผลการนับคะแนน, การกระทำของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งว่าเป็นไปตามกฎหมายการเลือกตั้งเพียงใด หรือความพร้อมของสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ ผลจากการกระจายตัวของอาสาสมัคร PVT ไปกว่า 107 เขตเลือกตั้ง จึงทำให้เกิดการเก็บข้อมูลในทางสถิติได้จำนวนมาก มีการรายงานสถานการณ์จากอาสาสมัคร PVT กว่า 5,285 คน, มีการรายงานข้อมูลจากการสังเกตการณ์ราวๆ 38,000 ข้อความจากทุกพื้นที่สังเกตการณ์ หลังจากนั้นข้อมูลที่ถูกดึงมาไว้ที่ฐานข้อฒูลกลางจึงถูกนำมาประมวลผลเพื่อรายงานผลการลงพื้นที่สังเกตการณ์เลือกตั้งโดยกลุ่ม POECI ต่อไป แม้หลังจากนั้นกลุ่ม POECI ก็ยังคงใช้ Apollo ในการเก็บข้อมูลเรื่อยมาไม่ว่าจะในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปี 2016 หรือเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2018 เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว การเลือกใช้งาน Apollo จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการเปิดพื้นที่ให้มีการร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งด้วยพลังพลเมือง ด้วยการใช้งานที่ยากแต่สามารถใช้เวลาเรียนรู้ได้ และสามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายประเภทเพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการวิเคราะห์ภาพรวมของการเลือกตั้ง ทั้งนี้ด้วยตัวอย่างของกรณีศึกษาประเทศไอวอรีโคสต์ จึงช่วยให้มั่นใจได้ว่าการใช้งาน Apollo จะช่วยเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพได้แน่นอน

เว็บไซต์แนะนำการใช้งานเครื่องมือ Apollo:  https://www.dem.tools/apollo
เข้าทดลองใช้ระบบได้ที่: https://apollodemo.demcloud.org/accounts/login?next=%2F


Civi” นวัตกรรมการสื่อสารระหว่างภาครัฐ – พรรคการเมือง – ประชาสังคม

เครื่องมือชิ้นที่สองสำหรับสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน “Civi” เป็นระบบแพลตฟอร์มเพื่อรองรับเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ที่มีจุดประสงค์ทั้งเพื่อการติดต่อเชื่อมประสานระหว่างภาคประชาชน, พรรคการเมือง และองค์กรภาครัฐ โดยหากจำแนกความสามารถในการใช้งาน Civi จะสามารถอธิบายได้ดังนี้

1. สามารถค้นหาชื่อหน่วยงาน, องค์กร หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เราพบเจอ โดยการติดต่อสามารถใช้ข้อมูลช่องทางติดต่อที่หน่วยงานหรือกลุ่มดังกล่าวให้ไว้ในระบบ Civi หรือสามารถส่งข้อความติดต่อเพื่อร้องเรียนปัญหาได้โดยตรงด้วยระบบส่งข้อความของ Civi

2. สามารถตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่เคยร้องเรียนไว้กับแต่ละหน่วยงาน, พรรค หรือกลุ่มประชาสังคม ได้อีกด้วย โดยจะมี interface สรุปภาพรวมไว้ทั้งหน่วยงานที่เคยติดต่อ, ปัญหาที่เคยร้องเรียน, ความคืบหน้าในการดำเนินการ, บทบาทขององค์กรที่รับเรื่องร้องเรียน และช่องทางติดต่อองค์กร

3. สามารถตั้งเป็นกลุ่มประชาสังคมที่สนใจปัญหาทางสังคมเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน รวมถึงสามารถค้นหาได้ว่ามีการจัดกิจกรรมของภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราสนใจอยู่ในช่วงเร็วๆนี้หรือไม่

ทั้งนี้การใช้งานของระบบ Civi ได้รับความสนใจในการนำไปใช้จริงดังเช่นในกรณีของประเทศยูเครน จากกรณีศึกษาของยูเครนจะเห็นได้ว่า ประเทศยูเครนเริ่มมีกระแสการตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อตรวจสอบการเมืองให้มีความโปร่งใสนับตั้งแต่ Revolution of Dignity ในช่วงปี 2013 ด้วยกระแสทางวัฒนธรรมการเมืองดังกล่าวจึงนำมาสู่การทดลองใช้ระบบ Civi ตั้งแต่ปี 2015 โดยริเริ่มจากการใช้งานภายในรัฐสภาเพื่อทำความคุ้นเคยกับการรับเรื่องร้องเรียน ก่อนที่ในระยะเวลาต่อมาจะขยายขอบเขตไปเป็นการใช้งานในระดับพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และเกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนที่สนับสนุนพรรคอย่างสม่ำเสมอยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสวงกำไรที่ให้ความสนใจเข้าใช้งานระบบของ Civi ด้วยจำนวนหนึ่ง

โดยสรุปในส่วนของการใช้งาน Civi นั้นถือได้ว่ามีทั้งคุณประโยชน์ในฐานะสื่อกลางในการติดต่อเรื่องร้องเรียนและการสร้างเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม การใช้งาน Civi อาจถูกมองได้เช่นกันว่าเป็นการทำงานที่ซับซ้อนในระดับหนึ่ง และหากหน่วยงานใดมีระบบเว็บไซต์หลักอยู่แล้ว กรณีการใช้งาน Civi อาจถือว่าเป็นความซ้ำซ้อนในการใช้งานและเป็นการเพิ่มภาระการทำงานของฝ่ายประชาสัมพันธ์ในการควบคุมตรวจสอบระบบให้สม่ำเสมอก็ได้เช่นกัน

เว็บไซต์แนะนำการใช้งานเครื่องมือ Civi: https://www.dem.tools/civi
เข้าทดลองใช้ระบบได้ที่: https://civi.demcloud.org/en/civicrm


DemGames” แพลตฟอร์มเกมปลูกฝังประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมให้เยาวชน

ลำดับที่สามของนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยที่ออกแบบโดย NDITech ว่าด้วยเครื่องมือ “DemGames” แพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของพลเมืองผ่านการร่วมเล่นเกมที่ให้ความรู้ในเรื่องของประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการทำกิจกรรมร่วมกันในฐานะพลังภาคพลเมือง โดยรายละเอียดสำคัญของเครื่องมือชิ้นนี้กล่าวได้ว่ามีลักษณะสำคัญดังนี้

1. เกมฝึกทักษะมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ เกมตอบคำถามหลายตัวเลือก, เกมจับคู่คำศัพท์แนวคิดประชาธิปไตย รวมถึงมีเกมจำลองบทบาทให้เราได้ฝึกทักษะการตัดสินใจจากสถานการณ์จำลอง

2. มีระบบเก็บคะแนนสะสมหากผู้ใช้งานได้เล่น DemGames อย่างต่อเนื่อง และหากเก็บคะแนนได้ถึงระดับที่กำหนดก็จะเปิดให้เล่นในเลเวล (level) ถัดไป

3.  สามารถออกแบบเกมได้เองเพื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการเล่นเกม ปรับระดับของความยาก-ง่ายได้ รวมถึงเกมยังรองรับระบบการใช้งานผ่านเสียง

ทั้งนี้ การใช้งานระบบ DemGames ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพัฒนา และทดลองใช้ผ่านความร่วมมือของ NDI กับองค์กรภาคีเครือข่ายในต่างประเทศ เพื่อทดสอบการใช้เกมเพื่อเสริมทักษะในด้านของการประกอบสร้างเหตุผล,  การระบุหาข้อสนับสนุน หรือการใช้เหตุผลในการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ โดยกัวเตมาลาเป็นตัวอย่างประเทศที่ทาง NDI ได้นำ DemGames มาให้ทดลองสร้างเกมให้เยาวชนทดลองร่วมใช้เกมเพื่อฝึกทักษะการถกเถียงแลกเปลี่ยน รวมถึงมีการแนะนำเกมจับคู่คอนเซปต์ประชาธิปไตยซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ทดลองเล่นเกมเช่นกัน

เว็บไซต์แนะนำการใช้งานเครื่องมือ DemGames:  https://www.dem.tools/demgames
เข้าทดลองใช้ระบบได้ที่: https://demo.demgames.app/


Fix My Community” นวัตกรรมการร้องเรียนปัญหาในสังคม

เครื่องมือชิ้นสุดท้ายของบทความนี้เป็น Fix My Communityซึ่งเป็นนวัตกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคพลเมืองและการสื่อสารทางตรงกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ด้วยวิธีการเข้ามีส่วนร่วมนำปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาร้องเรียนในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ และเพื่อทำให้สังคมได้ติดตามทุกประเด็นปัญหาที่พบเจอในสังคมอย่างทั่วถึง ส่วนระบบการใช้งานของ Fix My Community มีโดยสรุปดังนี้

1. ร้องเรียนปัญหาถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทั้งในรูปแบบของเอกสารที่เป็นทางการ หรือร้องเรียนในเชิงข้อเสนอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ และสามารถแนบไฟล์รูปถ่ายได้เพื่อให้เห็นสามารถเตรียมการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ผู้ที่ร้องเรียนปัญหาจะได้รับการแจ้งทันทีหากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ได้ร้องเรียนไป

2.  สำรวจปัญหาทั้งหมดที่พบภายในชุมชนของตัวเองเพื่อทำความเข้าใจปัญหาได้ นอกจากนั้นผู้นำชุมชนสามารถเก็บข้อมูลปัญหาที่พบเพื่อทำการแก้ไขและสามารถรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขลงในระบบได้ทันที

3. จัดประเภทปัญหาร้องเรียนอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ร้องเรียนซ้ำซ้อน, ประเภทของปัญหาในท้องถิ่น หรือความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหานั้นๆ เป็นต้น

ขณะที่ความสำเร็จในการใช้งานของ Fix My Community กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ในหลายประเทศที่ทดลองใช้ผ่านโครงการชื่อ “Fix My Street” แพลตฟอร์มรายงานปัญหาเกี่ยวกับท้องถนนในแต่ละท้องถิ่น ประเทศที่นำไปใช้ อาทิ อังกฤษ (https://www.fixmystreet.com/), นอร์เวย์ (https://www.fiksgatami.no/) หรือโคโซโว (Ndreqe.com)  เป็นต้น โครงการประสบความสำเร็จในกรณีประเทศข้างต้น เนื่องจากความสะดวกในการใช้งาน เพียงแค่รายงานปัญหา ระบุพื้นที่เขตที่พบปัญหา และใส่รูปภาพประกอบเพื่อให้เห็นภาพของปัญหาชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นระบบยังมีการแจ้งความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอื่นๆที่ได้รับรายงานเพื่อให้สังคมได้รับทราบและร่วมกันตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย

เว็บไซต์แนะนำการใช้งานเครื่องมือ Fix My Community:  https://www.dem.tools/fix-my-community

เข้าทดลองใช้ระบบได้ที่: https://fmcdemo.demcloud.org/

——————

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: