Articles

โปรดระวัง! โปรดระวัง! ฉิ่งจู้อี้! ฉิ่งจู้อี้! สงครามเย็นครั้งใหม่ เจาะลึกวิวาทะสีจิ้นผิง กับส่งสารถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่

ขวัญข้าว คงเดชา
27 มกราคม 2564

            การประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2021 ในวันที่ 25 มกราคม ดึงความสนใจจากประชาชนทั่วโลกถึงพลวัตการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จากโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นโจ ไบเดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองประเทศยิ่งอยู่ในสภาวะเปราะบางที่ต่างฝ่ายโดยเฉพาะจีนต่างจับจ้องมองดูก้าวต่อไป

โดยที่ผ่านมาหลายฝ่ายต่างลงความเห็นว่านโยบายการต่างประเทศต่อจีนในช่วงสมัยประธานาธิบดีของทรัมป์นั้นช่างเป็นนโยบายที่สุดโต่งซึ่งมุ่งทำให้เกิดผลประโยชน์ทางการเมืองภายในประเทศของตัวเอง จนเกิดเป็นความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนตำแหน่งมาสู่ไบเดน หลายคนจึงคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทิศทางบวก คล้ายกับว่าการต่างประเทศระหว่างทั้งสองจะห้วนกลับไปในรูปแบบ classic IR politics เป็นกึ่งมิตรกึ่งคู่แข่งเหมือนในการปกครองของรัฐบาลก่อนหน้าทรัมป์

            สาธารณรัฐประชาชนจีนเองก็คาดหวังเช่นเดียวกัน ดังที่ปรากฏในการ เตือน บนเวทีการประชุมที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการส่งสารรับประธานาธิบดีคนใหม่ให้คิดให้รอบคอบว่าจะดำเนินการต่างประเทศอย่างไรถึงจะเป็นผลดีต่อทั้งคู่

“การสร้างกลุ่มขนาดเล็กหรือเริ่มต้นสงครามเย็นครั้งใหม่ การปฏิเสธ การคุกคาม หรือการข่มขู่เพื่อแบ่งแยกเศรษฐกิจออกจากกัน การขัดขวางการค้าหรือการคว่ำบาตร และการสร้างความโดดเดี่ยวหรือแตกแยก มีแต่จะทำให้โลกแตกแยกและทำให้เกิดการเผชิญหน้า[1] [2]

            แม้ว่าในเวทีนี้ สีจิ้นผิง ไม่ได้กล่าวถึงโจ ไบเดนโดยตรง ทว่าก็ไม่ยากเกินที่จะตีความ ในสารที่กล่าวบนเวทีนานาชาติมีใจความโดยย่อว่า สหรัฐฯ ควรยกเลิกมาตรการการกีดกันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้บังคับใช้ดังที่ปรากฏเป็นสถานการณ์ที่เรียกกันว่า สงครามทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจ เพราะยิ่งเป็นการทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสองประเทศและเกิดเป็นความขัดแย้งที่บานปลายจนอาจนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ นัยยะของประโยคนี้ประเทศจีนเสมือนตกเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ และเป็นสหรัฐที่ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบรรยากาศระหว่างประเทศ

            ความหมายของสารคือความแตกแยกอาจจะเกิดขึ้นหากมีเพราะการกระทำที่ดูไม่เป็นธรรมของสหรัฐ ฉะนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจและน่าสงสัยว่าทำไมประธานาธิบดีสีจึงเลือกใช้คำว่า สงครามเย็น  จะเป็นเพราะ 1. การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวในรูปแบบของยุคสงครามเย็นที่เต็มไปด้วยการแบ่งค่ายและกีดกัน หรือต้องการจะชี้ให้เห็นว่า 2. การดำเนินนโยบายดังกล่าวของสหรัฐยิ่งจะมีแต่การผลักดันให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่เท่านั้น

            อีกประเด็นที่น่าสนใจแบบ ironically คือสหรัฐเอมริกาที่มีภาพจำของประชาธิปไตยและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ กลับเป็นฝ่ายที่ถูกกล่าวย้ำเตือนถึงการเปิดเศรษฐกิจเสรีและลดกำแพงทางการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีโดยประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน

คำกล่าวของสีจิ้นผิงจึงมีนัยยะของการเน้นยํ้าว่าสหรัฐฯ นั่นแหละที่กำลังผิดค่านิยมที่ตนเองเป็นคนเผยแพร่และนับถือ

            เรียกว่าการเตือนของประธานาธิบดีสีในเวทีนานาชาติครั้งนี้เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะเป็นการส่งสารถึงสหรัฐฯ ภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่ แถมเป็นการแสดงจุดยืนของจีนให้ทั้งโลกรับทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจของหลายประเทศ

กล่าวคือหากไบเดนยังคงท่าทีเหมือนจะดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวคล้ายกับสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ จีนก็จะไม่ทนนิ่งเฉยอย่างเด็ดขาด แต่หากคิดจะปรับเปลี่ยนท่าที ประเทศจีนก็พร้อมที่จะลงแข่งขันในตลาดเสรีตามกฎเกฑณ์ของโลกอย่างแฟร์ ๆ ด้วยเหมือนกัน

ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เมื่อขึ้นปีใหม่ ประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อโลกย่อมออกมาย้ำถึงจุดยืนของตนเอง สารบนเวทีประชุมนานาชาติในเดือนแรกของปี 2021 ทำให้เราเห็นถึงทิศทางของประเทศจีนและแนวนโยบายการต่างประเทศ นอกจากเรื่องภายในประเทศที่จีนยังคงย้ำว่าแต่ละสังคมมีวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน จึงไม่ควรเอาค่านิยมของประเทศตนมาตัดสินประเทศอื่นเช่นประเทศจีน นอกจากนั้นสีจิ้นผิงยังพยายามย้ำถึงความร่วมมือระดับนานาชาติและการสร้างสายสัมพันธ์ให้เหนียวแน่น เพราะมองว่าปัญหาระดับนานาชาติ ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ฉะนั้นนโยบายอย่างการกีดกันทางการค้า หรือการโดดเดี่ยวประเทศในเวทีโลกจึงมีแต่การสร้างความขุ่นเคือง และความแตกแยกเสียเปล่าๆ

จากสารที่กล่าวในเวทีนั้น ประเทศจีนนอกจากจะยกภาพลักษณ์ของตนเองดังที่เคยทำมาตลอดยังได้กล่าวเปรียบเปรยให้คนอื่นเห็นถึงความแตกต่างกับนโยบายที่สหรัฐฯ กำลังดำเนิน และเมื่อสังเกตในสารที่เอ่ยจะเห็นอีกหลายประโยคที่มีนัยสำคัญต่อทั้งโลกและต่อสหรัฐ ฯ โดยตรง อาทิ ‘Decisions should not be made by simply showing off strong muscles or waving a big fish’[3] ที่แปลโดยคร่าวได้ว่า การตัดสินใจไม่ควรทำเพียงเพื่อแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของตัวเอง หากประโยคดังกล่าวนี้หมายถึงสหรัฐฯ จริง นอกจากจะเป็นกล่าวโทษสหรัฐโดยนัยแล้วยังเป็นการกล่าวลดค่าในเชิงที่ว่าสหรัฐฯ นั้นตัดสินใจไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล เพียงแต่ต้องการจะโชว์พลังอำนาจของตนเองก็เท่านั้น

ถือว่าเป็นการเปิดต้นปีในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจที่น่าสนใจ และยังเป็นการรับน้องประธานาธิบดีใหม่ด้วยเช่นกัน พร้อมๆ กันนั้นทางด้านของสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนที่ 46 ที่เพิ่งขึ้นรับตำแหน่งก็ต้องเผชิญกับความปั่นป่วนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ส่วนหนึ่งเป็นมรดกจากสมัยประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์

โดยทันทีที่เข้ารับตำแหน่งภารกิจแรกของท่านประธานาธิบดีคนใหม่ก็คือการเร่งออกมาตรการที่ตรงกันข้ามหรือยกเลิกนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อบังคับการให้ใส่แมส หรือการยกเลิกคำสั่งห้าม LGBTQ เป็นทหาร นอกจากความท้าทายที่ต้องเผชิญกับปัญหาภายในประเทศหลังสมัยของทรัมป์ ไบเดนยังพยายามรื้อฟื้นสถานะของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศให้กลับคืนมา ทั้งการกลับเข้าสู่ WHO หรือ Paris Agreement ทว่าในความสัมพันธ์กับจีนอาจจะไม่สามารถคลี่คลายได้ง่ายๆ แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันไบเดนต้องการที่จะจัดการปัญหาภายในประเทศอย่างการจัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าก็ตาม แต่ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่ามาตรการที่ตึงเครียดกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะหายไป ดูไปแล้วไบเดนก็กำลังดำเนินรอยตามทรัมป์ในเรื่องนโยบายกดดันจีน ดังที่โฆษกประจำทำเนียบขาวได้กล่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องว่าไบเดนตั้งมั่นที่จะหยุดยั้งการละเมิดทางเศรษฐกิจของจีน [4] จึงไม่แปลกใจนักที่จีนจะออกมาตอบโต้อย่างที่เห็นในเวทีนานาชาติ

โดยสรุป คำกล่าวของประธานาธิบดีสีที่ให้โปรดระวังสงครามเย็นครั้งใหม่จึงไม่ใช่คำเตือนทางด้านภัยความมั่นคงแบบที่หลายสำนักข่าวจั่วหัวไว้อย่างน่าหวาดกลัว อาทิ สหรัฐต้องเผชิญกับสงครามเย็นแน่หากยังไม่เลิกกีดกันการค้า หรือ จีนกำลังขู่กร้าวว่าสงครามเย็นครั้งใหม่จะเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การส่งสารถึงสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและนโยบายการต่างประเทศต่างหาก ที่จริงแล้วสารดังกล่าวดูจะเป็นการหยั่งเชิงของประเทศจีนต่อสหรัฐอเมริกามากกว่าการขู่ให้สหรัฐฯ เปลี่ยนท่าที เพราะหากพูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเป็นที่กังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองมหาอำนาจ ณ ขณะนี้ น่าจะเป็นประเด็นของการหันมาสนับสนุนไต้หวันอย่างไม่ไว้หน้าจีนเสียมากกว่าการกีดกันทางการค้า ดังที่ปรากฏในข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าเครื่องบินรบของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้บินผ่านเหนือน่านฟ้าของไต้หวัน การตอบโต้ของจีนในข่าวนี้ต่างหากที่มีกลิ่นอายของทั้งการทดสอบประธานาธิบดีคนใหม่และการเตือนจริงๆ


[1] Post Today (มกราคม, 2564) สีจิ้นผิงเตือนไบเดน สงครามเย็นอาจปะทุถ้ายังทำแบบทรัมป์เข้าถึงมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 จาก https://www.posttoday.com/politic

[2] ภาษาอังกฤษ To build a small circles or start a new cold war, to reject, threaten or intimidate others, to wilfully impose decoupling, supply disruption or sanctions, and to create isolation or estrangement will only push the world into division and even confrontation

[3] The Guardian (January 2021) Xi Jinping warns of ‘new cold war’ if US keeps up protectionism access on 26 January 2021 from https://www.theguardian.com/world/2021/jan/25/china-xi-jinping-warns-of-new-cold-war-us-protectionist-policies 

[4] Jen Psaki โฆษกประจำทำเนียบขาวกล่าวระหว่าง press briefing ในวันที่ 26 มกราคม 2564 The president is committed to stopping Chinas economic abuses.’

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: