Articles In Their View

In-Their Views: มองหนังและการเมืองเชิงอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 21 ผ่านสายตา สรวิศ ชัยนาม

เรียบเรียงโดย ธีทัต จันทราพิชิต

       

  แม้โดยทั่วไปจะมีความพยายามมองภาพยนตร์ว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ตลอดมาประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ การเมืองเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันมาตลอด ถึงจะมีความพยายามไม่ให้การเมืองไปยุ่งเกี่ยวก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องยาวชิ้นแรกๆ อย่าง The Birth of Nation ก็มีสารของความเป็นการเมืองอยู่อย่างชัดเจน และส่งผลกระทบมาถึงโลกจริงด้วยการปลุกชีพกลุ่มKu Klux Klan ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

         ถึงทุกวันนี้ภาพยนตร์ดูจะไม่ได้สร้างผลกระทบในระดับนั้นอีกแล้ว แต่ก็คงมีผลกระทบในเชิงอุดมการณ์ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะในแง่ของการเผยแพร่แนวคิดแบบอเมริกาเป็นศูนย์กลาง ทางสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยจึงติดต่อขอสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์สรวิศ ชัยนาม นักวิชาการสายมาร์กซิสต์ ผู้เขียนหนังสือ “จักรวรรดิอเมริกา ประวัติศาสตร์แบบทวนกระแส อัตลักษณ์ ชีวอำนาจ”และ“ดิสโทเปียไม่สิ้นหวัง: ภาพยนตร์ฮอลลีวูดและการเมืองโลก” เพื่อทำความเข้าใจการทำงานของภาพยนตร์ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

         ทว่าก่อนวันที่จะสัมภาษณ์ไม่กี่วันก็เกิดการเปิดตัวของกลุ่มRT หนึ่งในแนวร่วมขบวนการนักศึกษาที่พยายามจะเจาะเป้าหมายกลุ่มแรงงาน ด้วยภาษาและสำนวนแบบมาร์กซิสต์ จนกลายเป็นข้อถกเถียงของสังคมโดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ณ ขณะนั้นเป็นจำนวนแทบครึ่งๆ

         เราจึงถือโอกาส สอบถามเพิ่มเติมนอกเหนือจากเรื่องภาพยนตร์ ในเรื่องการเมืองเชิงอุดมการณ์เพื่อตอบคำถามว่าทำไมจึงมีคนหวาดกลัวกับท่าทีแบบฝ่ายซ้ายของคนกลุ่มนี้ แล้วอะไรกันแน่ที่ควรจะเป็นท่าทีสำหรับกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ควรจะทำต่อการมีอยู่ของพวกเขา

อเมริกาที่วางตัวเป็นศูนย์กลางของโลกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมามีอิทธิพลในการแพร่ขยายอำนาจและระบอบทุนนิยมผ่านภาพยนตร์และวัฒนธรรมป๊อปอย่างไรบ้าง

         ตอบแบบกว้างๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐฯ เป็นรัฐหลักที่ช่วยพิทักษ์และก็ขยายระบบทุนนิยม โดยส่วนหนึ่งก็มาผ่านสื่อที่เรียกว่าวัฒนธรรมป๊อป จนอาจบอกได้ว่า pop culture หรือวัฒนธรรมมหาชน ช่วยแพร่ขยายวัฒนธรรมแบบทุนนิยม ซึ่งจริงๆ ก็ยากที่จะเรียกแบบนั้น มันอาจมีคุณค่าแบบทุนนิยมจริง โดยเฉพาะการเน้นเรื่องตัวของปัจเจก ซึ่งหมายถึงคนๆ เดียวไม่พึ่งใคร และค่านิยมในการแข่งขัน ทั้งหมดมันเป็นค่านิยมแบบทุนนิยม แต่ผมว่ามันไม่มีวัฒนธรรมแบบทุนนิยม ในความหมายที่ช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือสร้างชุมชน เพราะเมื่อเน้นความเป็นปัจเจกมันก็กลายเป็นต่างคนต่างอยู่มากกว่า

ซึ่งเพราะทุนนิยมไม่มีวัฒนธรรม มันเลยไปได้ดีกว่าหลากหลายวัฒนธรรมหรืออารยธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะขงจื้อ ฮินดู ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันตก ตัวมันไม่ค่อยแคร์ หรือมันไม่มีวัฒนธรรมในความหมายนี้ เพราะมันเน้นความเป็นปัจเจกบุคคล

ถ้ามองว่าสื่อฮอลีวูด สื่อกระแสหลักของสหรัฐอเมริกา ช่วยขยายอุดมการณ์ ค่านิยมแบบทุนนิยม หรือสร้างความชอบธรรมให้จักรวรรดินิยมสหรัฐฯ อันนี้ก็มีพื้นที่ศึกษามากมาย ตั้งแต่ศึกษาสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ ข่าว อย่างงานคลาสสิกของนอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky)ชื่อ “Manufacturing Consent” ถ้าพวกงานศึกษา pop culture ก็มีมากมาย เล่มคลาสสิกก็งานของแอเรียล ดอฟแมน (Ariel Dorfman) ซึ่งเขียนเกี่ยวกับเรื่องวอล์ค ดิสนีย์ โดนัล ดั๊ก และทุนนิยม[1]

ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่าวัฒนธรรมมหาชนแค่เป็นเครื่องมือของทุนนิยมเท่านั้น มันยังมีความขัดแย้งในตัวเอง บางเรื่องอาจจะมีท่าทีเชิงวิพากษ์แบบซ้ายหน่อยๆ แม้แต่สหรัฐอเมริกาหรือกระทั่งฮอลีวูดก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะมันไม่สามารถผูกขาดความหมายได้ แล้วทำให้มันมีกระแสทวนในตัวของมันเอง ทำให้มีสายผู้กำกับที่ผลิตผลงานที่วิพากษ์ วิจารณ์สังคมตนเอง หรือที่วิพากษ์ระบบทุนนิยม ที่สำคัญอย่าลืมว่าการมองแต่วัฒนธรรมตะวันตก หรือวัฒนธรรมมหาชนอเมริกันในฐานะเครื่องมือเผยแพร่ทุนนิยมดูจะไม่พอ วัฒนธรรมอื่นทั้งญี่ปุ่น เกาหลี รมถึงจีนบางส่วน หรือแม้แต่ไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตซํ้าค่านิยมเหล่านี้

อาจารย์สนใจวัฒนธรรมมหาชนผ่านภาพยนตร์ ภาพยนตร์ประเภทหนึ่งที่อาจารย์บอกว่ามันแสดงภาพของทุนนิยมได้อย่างชัดเจนก็คือ ดิสโทเปีย อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายส่วนนี้

         เรื่องแต่งแนวดิสโทเปียมีด้วยกันสองแบบ แบบแรกเป็นแอนตี้ยูโทเปีย มีเนื้อหาประมาณว่าพอโลกเกิดความดิสโทเปียขึ้น ก็จะมีคนบางกลุ่มลุกขึ้นมาเพื่อทำให้ความดิสโทเปียนั่นหายไป แล้วกลับไปสู่สังคมที่เรามีความสุข ซึ่งก็คือสังคมทุนนิยม อีกแบบก็คือ ดิสโทเปียเชิงวิพากษ์ ดิสโทเปียที่มีพยายามจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นดิสโทเปีย แต่ไม่ได้กลับไปสู่สังคมทุนนิยม เราพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงออกไปเลยอย่างเช่นสังคมนิยมหรือเป็นสังคมอื่นๆ ที่ดีกว่านั้น

         โดยแบบแรกหรือแอนตี้ยูโทเปีย เป็นกระแสอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาที่พยายามจะขัดขวางการปฏิวัติทั้งหลาย ผ่านการสรุปว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากสุดท้ายจุดจบมันคือหายนะ คือ โลกดิสโทเปีย สังคมปัจจุบันอาจไม่ได้ดีไปจนถึงเลวร้าย แต่ความพยายามที่จะเปลี่ยนมันจะนำไปสู่อะไรที่แย่กว่าเสมอ ข้อเสนอแนวนี้มีมาตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส

         เรื่องแต่งแนวดิสโทเปียจึงสอดรับกับกระแสอนุรักษ์นิยมด้วยข้อสรุปนี้ แต่มันก็มีดิสโทเปียอีกแบบซึ่งเป็นแบบที่สองหรือดิสโทเปียเชิงวิพากษ์ที่พยายามเตือนเราว่าดิสโทเปียมันไม่ได้อยู่ในอนาคต เราสามารถเริ่มเห็นแนวโน้มความดิสโทเปียได้ในปัจจุบัน แล้วถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลยนั่นแหละดิสโทเปียจะมาเยือน มันเป็นเหมือนคำพยากรณ์ว่าถ้าคุณไม่อยากให้สังคมถลำลึกไปกว่านี้ คุณต้องทำอะไรแล้วล่ะ เนืองจากหัวใจของทฤษฎีเชิงวิพากษ์ก็คือ การแตกหักกับสิ่งที่เป็นอยู่ ดิสโทเปียที่พยายามปลุกเร้าให้เปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันอย่างดิสโทเปียแนวนี้จึงไปได้ดีกับแนวคิดเชิงวิพากษ์ที่เน้นการแตกหักกับสิ่งที่เป็นอยู่

เช่นนั้นวัฒนธรรมมหาชนอย่างภาพยนตร์ดิสโทเปียแม้จะมีฐานะที่เป็นผลผลิตของทุนนิยม ก็สามารถพลิกเป็นต่อต้านทุนนิยมหรืออาจะเป็นเครืองมือของฝ่ายซ้ายหรือเป็นสังคมนิยมได้สินะ?

         ถูกต้อง อย่างกรณีภาพยนตร์หรือวรรณกรรมดิสโทเปียมันก็ดีในเชิงวิพากษ์และก็ทำให้เห็นปัญหาของที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่ก็มีคำถามตามมาว่าแค่วิพากษ์มันเพียงพอไหม หรือจริงๆ เราต้องการแรงบันดาลใจถึงภาพสังคมที่ดีกว่าด้วย

         นอกจากจะต้องเห็นว่าปัจจุบันมันเลวร้ายและเราจะต่อต้านอย่างไร เราควรรู้ด้วยว่าเราจะพยายามสร้างโลกใหม่ไปในทิศทางไหน มันเป็นไปได้แบบใดบ้าง เราเลยยังจำเป็นต้องพึ่งผลผลิตทางวัฒนธรรมมหาชน โดยเฉพาะงานวรรณกรรมต่างๆ ที่เป็นในสายยูโทเปีย เพราะว่าเราต้องการภาพของโลกที่ดีกว่าปัจจุบันมันจะเป็นเช่นไร

แต่เท่าที่ดูผ่านๆ เหมือนจะไม่ค่อยมีภาพยนตร์แนวนี้เลย

         จริงอยู่ไม่ค่อยเห็นภาพยนตร์แนวนี้นัก แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมมีอยู่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นพวกไซไฟ สองเรื่องล่าสุดผมที่เผอิญได้อ่าน เล่มหนึ่งเขียนโดยของนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในรัฐบาลSyriza[2]ของกรีซ ชื่อ ยานิส วาโรลฟาคิส (Yanis Varoufakis) เป็นนิยายไซไฟชื่อว่าAnother now เซตเรื่องอยู่ในโลกคู่ขนาน ปีที่ตัดเป็นปี 2008 หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา โดยสมมติว่าหลังวิกฤตเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมขนานใหญ่ซึ่งผิดกับโลกของเราที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

         ตัวหนังสือมีความพยายามที่จะบอกว่าทุนนิยมไม่เวิร์คแล้ว และเราควรจะสร้างอะไรเพื่อมาทดแทน สถาบันควรจะเป็นอย่างไร ชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ก็ลองไปหาอ่านดูได้

         อีกเล่มหนึ่งอันนี้หนามากแต่ก็สนุกมาก เป็นของนักเขียนไซไฟที่มีชื่อเสียงชื่อว่า คิม สแตนลีย์ โรบินสัน (Kim Stanley Robinson) ชื่อว่า“The Ministry for the Future”คำว่า “Ministry”ก็เหมือนกับกระทรวง แต่นี่เป็นกระทรวงภายใต้ UN โดยในเรื่องมันเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีไว้ดูแลอนาคต และก็จัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็จะมีไอเดียเยอะมากทั้งที่เป็นเรื่องการเมือง และสิ่งแวดล้อม

แล้วภาพยนตร์แนวนี้มีอิทธิพลกับคนดูอย่างไร

         มีงานเชิงคุณภาพที่ไปดูฝั่งผู้ชมว่าคนที่ชมภาพยนตร์ดิสโทเปียมีปฏิกิริยาอย่างไรอยู่ โดยไปดูว่ามีความกระตือรือร้นที่จะลุกขึ้นมาต่อต้าน มาสู้หรือเปล่า ซึ่งก็พบว่ามีผู้ชมเกินครึ่งก็จะมีปฏิกิริยาเช่นนี้ แน่นอนมันก็เป็นฝั่งผู้ชมที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด

แล้วกรณีนี้ม็อบซึ่งคนบอกว่าการได้สัญลักษณ์การชูสามนิ้วจากTheHunger Games (2012-2015) อาจารย์มองว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นช่วยสร้างผลกระทบในระดับที่นำคนออกมาม็อบด้วยหรือเปล่า

         ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าTheHunger Games ไม่ใช่ภาพยนตร์สายวิพากษ์ ภาคหนึ่งภาคสองอาจจะใช่ ลีลา การเร้าอารมณ์เหมือน แต่บทสรุปไม่สวยและออกไปทางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะย้อนกลับไปสู่ประเด็นที่ว่าความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสุดท้ายฝ่ายซ้ายก็จะไม่ต่างจากฝ่ายขวา อีนางเอกก็หนีไปปลูกผักปลูกหญ้า ใช้ชีวิตสงบในป่าในเขา ดูแล้วมันหดหู่

         The Hunger Games เลยเป็นแอนตี้ยูโทปเปีย เพราะเห็นว่าเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก สุดท้ายมันก็บ้าอำนาจเหมือนกันหมด ไม่ทำอะไรยังจะดีเสียกว่า ทำไปมีแต่เสียเลือดเสียเนื้อเปล่าๆ บทสรุปของฮันเกอร์เกมส์ก็เลยหดหู่ มีคนเคยศึกษาด้วยว่าคนชมส่วนใหญ่ก็ดูจะหดหู่

บทสรุปเหมือนกรณีพาราไซต์(Parasite 2019) ไหม เพราะว่าบทสรุปของเรื่องนั้นก็กลับไปสู่ที่ตัวเอกก็ฝันที่จะหาเงินให้ได้เยอะๆ เพื่อจะพาพ่อกลับมา

         กรณีพาราไซต์ ผมคิดว่าจะได้สารแบบเต็มๆ ต้องอย่าอ่านมันแบบโดดๆ ต้องเอาเรื่องอื่นของบงจุนโฮ(Bong Joon-ho)[3]มาจับด้วย แล้วอาจจะพอเข้าใจว่าเขาพยายามตอบคำถามถึงสิ่งที่เราควรจะทำไว้ว่าอย่างไร

         ในSnowpiercer(2013) เขาตอบแบบซ้าย คณะปฏิวัติต้องมายึดอำนาจ ซึ่งหมายถึงยึดหัวขบวนรถจักร จนนำมาสู่การตัดสินใจทำให้รถไฟตกราง เพราะว่าในการทำให้ขบวนรถไฟวิ่งต่อไปเป็นการผลิตซํ้าความรุนแรงสู้ทำให้รถไฟตกรางยังมีโอกาสสร้างอะไรใหม่ขึ้นมา 

แต่นี่ก็คือกรอบแบบซ้ายเดิม มีคณะปฏิวัติก่อตั้งยึดอำนาจ

อีกเรื่องที่ตามมาคือOkja(2017) หัวใจหลักๆ ของภาพยนตร์เป็นเรื่องความรุนแรงอุตสาหกรรมอาหารที่เราต้องพึ่งพิงทุกวัน โดยเล่าผ่านเรื่องหมูดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการบริโภค ซึ่งหมูตัวนี้กลายเป็นเพื่อนรักของนางเอก ปัญหาของเรื่องเริ่มเมื่อนางเอกก็ไม่ยอมขายหมูที่เป็นเพื่อนของเธอให้กับบริษัท เพราะมิตรภาพไม่มีราคา ให้อารมณ์แบบ “นี่ไม่ใช่ของกิน นี่คือเพื่อนกู”

แน่นอนเธอกล้าหาญที่ร่วมมือกับกลุ่มNGOพิทักษ์สิทธิสัตว์ แล้วพยายามเปิดโปงความรุนแรงของอุตสาหกรรม ถึงท้ายเรื่องเธอจะได้เพื่อนคืน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านั้น สุดท้ายเธอก็กลับไปอยู่ในป่าในเขาอย่างสงบ มันก็เป็นเรื่องของการต่อต้านกับบรรษัทกับทุน แล้วทางออกที่ทำได้กลับมีแต่การหนี หาความสงบกับชีวิต สร้างพื้นที่ห่างระหว่างทุนกับเรา แล้วก็ใช้ชีวิตแบบพึ่งพิงตัวเอง ในป่าในเขา

ฟังดูแล้วOkja ชวนหดหู่ไม่ใช่น้อย แต่เมื่อเทียบกันแล้วพาราไซต์หดหู่สุด โดยมันเปิดโปงทำให้เราเห็นถึงปัญหาชนชั้น ผ่านการเล่าเรื่องสองครอบครัวซึ่งก็คือ ครอบครัวคนรวยที่แทนชนชั้นนายทุน กับครอบครัวคนจน ตามชื่อปรสิตก็คือ ชนชั้นนายทุนนั่นแหละ จริงๆ ก็มีมาตั้งแต่มาร์กซ์แล้ว ที่ทุนคือ ปรสิต ผีดูดเลือด เป็นหมาป่า แต่ก็มีบางคนเหมือนกันที่มองว่าปรสิตเป็นอีกครอบครัวที่หลอกครอบครัวคนรวยเพื่อเข้าไปทำงาน ซึ่งผมไม่เห็นด้วย พวกนี้จริงๆ ควรตีความว่าเป็นแมลงสาบมากกว่า มีการแสดงหลายฉากมากที่พวกนี้ออกมาหากินตอนกลางคืน แถมมีการแอบอยู่ใต้โต๊ะหรือตามซอกต่างๆ แถมยังมีบทสนทนาที่ภรรยาบอกกับสามีตอนที่ครอบครัวนี้เข้ามาแอบกินอีกว่า“ถ้าหากคุณปาร์คกลับมาเราคงจะหนีแบบหัวซุกหัวซุนแบบแมลงสาบหรือหนู”

         แต่แมลงสาบไม่ใช่ปรสิต แมลงสาบต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงในการหากิน แล้วครอบครัวคนจนถึงจะหลอกลวง แต่เขาก็ทำงานทุกวันจริงๆ ไม่ว่าจะขับรถ เป็นแม่บ้าน หรือสอนหนังสือ ตัวละครลูกสาวนี่แทบจะเรียกได้ว่าตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่

         ผมคิดว่าพาราไซต์ไม่ได้สนับสนุนเสรีนิยมใหม่ เห็นได้จากตอนท้ายที่พระเอกสรุปมาเป็นคำตอบแบบเสรีนิยมใหม่ ผ่านภาพฝันว่าฉันจะพึ่งตัวเองแล้วหาเงินให้ได้เยอะๆ แล้วไปช่วยพ่อออกมา แต่บริบททั้งหมดของสังคมมันขัดแย้งกับความเพ้อฝันของพระเอก เสรีนิยมใหม่ขายความเพ้อฝันนี้แหละ ถ้าเราพยายาม เราสามารถชนะอุปสรรคได้ทุกอย่าง สู้ต่อไป เพียงแต่เราไม่ย้อท้อก็จะประสบความสำเร็จ มองปัญหามีเพียงปัญหาของปัจเจก ไม่มีปัญหาทางสังคม เช่น ไม่รวยสักทีก็หาว่าเพราะขี้เกียจ

เสรีนิยมใหม่จึงพยายามปลูกฝังความรับผิดชอบลงไปในสามัญสำนึกของคน ศัพท์เทคนิคหน่อยคือ responsibilization เราต้องเป็นตัวแสดงที่มีความรับผิดชอบ ต้องสะสมทุนต่างๆ ไม่ใช่แค่เงินแต่เป็นความรู้ คอนเนคชั่นทางสังคม

บทสรุปของพาราไซต์จึงเป็นการเน้นว่าเสรีนิยมใหม่คือความเพ้อฝัน ไม่ใช่คำตอบ เช่นนั้นหากเรามองว่าบงจุนโฮพยายามหาคำตอบว่าเราควรจะทำยังไงกับปัญหา ดูเหมือนเขากำลังบอกว่าทางที่พระเอกในพาราไซต์เห็นไม่ใช่ทางที่เราควรจะทำเสียมากกว่าที่จะบอกให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

สรุปก็คือวิธีคิดแบบทุกอย่างมีหมุนรอบตัวปัจเจกละเลยสังคมก็คือ เสรีนิยมใหม่นั่นเอง

         ใช่ ไม่มีปัญหาทางสังคม มีแต่ปัญหาที่ตัวคุณ ถ้ามีปัญหาสุขภาพ ไม่เกี่ยวกับสังคมเลย อ้วนก็ต้องออกกำลังกาย ไม่เกี่ยวกับการเข้าถึงอาหารคุณภาพต่ำแม้แต่น้อย ทุกอย่างจึงเป็นปัญหาของปัจเจกไปโดยปริยาย ซึ่งสอดรับกับค่านิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ที่มองไม่มีไม่มีชนชั้นเพราะทุกคนเป็นผู้ประกอบการ อาจไม่ใช่มหาเศรษฐีที่สามารถลงทุนกับทุนมากมาย แต่เราก็ลงทุนกับชีวิตของเรา เพียงแต่จะรู้จักลงทุนแค่ไหนก็อีกเรื่อง

ขอกลับไปเรื่อง The Hunger Games อาจารย์คิดอย่างไรกับการชูสามนิ้ว

         ผมไม่รู้ว่าคนที่คิดและคนที่ชูสามนิ้วในช่วงแรกๆ เขาคิดอะไรหรอกนะ มันอาจเป็นเพราะดู The Hunger Gamesแล้วรู้สึกฮึกเหิม เพราะการชูสามนิ้วในเรื่องถ้าเป็นภาค1 ภาค 2 ก็ฮึกเหิม แต่พอภาค 3 ก็อีกเรื่องหนึ่ง 

         แน่นอนมันสามารถนำมาสร้างความหมายใหม่เป็นสัญญะใหม่ให้แก่มัน ตอนชูสามนิ้วช่วงแรกนอกจากเด็กกับผู้ประท้วง สังคมก็พากันงงไปหมด แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็อาจจะเริ่มเข้าใจ ถึงจะยังไม่ชัดว่าเป็นสามนิ้วฮันเกอร์เกมส์ หรือสามนิ้วข้อเรียกร้องสามข้อ 

และด้วยความกำกวมระดับหนึ่งนี่เอง มันจึงได้รับความยอมรับได้ง่ายกว่าค้อนเคียว

พูดถึงค้อนเคียวดูเหมือนอาจารย์จะหมายถึงสัญลักษณ์ของกลุ่มRT อาจารย์พอบอกได้ไหมว่าอาจารย์คิดอย่างไรกับการเคลื่อนไหวนี้

         ช่วงหลายเดือนมานี้ นักข่าวชอบเขียนว่าการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นเรื่องต้องห้ามอีกแล้ว ศัพท์เด็กก็ตาสว่างเป็นที่เรียบร้อย แต่ดูแล้วแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ดูจะยังเป็นเรื่องต้องห้ามอยู่ดี โดยเมื่อพูดถึงก็มักจะถูกโยงเข้ากับเผด็จการหัวรุนแรงเสมอ

         ผมรู้สึกว่าฝ่ายแรกที่ตรงเข้าวิจารณ์ไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วย แต่เป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า จนถึงลิเบอรัลเสียด้วยซํ้า แต่ลิเบอรัลพวกนี้ก็ย้อนแย้งในตัว ไม่มีการพูดถึงหลักการแบบลิเบอรัลเลย ปฏิกิริยาแบบลิเบอรัลควรจะเป็นแบบ “เราไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่คุณมีสิทธิ์เสนอความหลากหลายหรือความแตกต่าง”หรือ “เราไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่เรายอมรับความแตกต่างกับคุณ ดูสิประเทศที่เป็นประชาธิปไตยโดยส่วนใหญ่ก็มีพรรคคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม ญี่ปุ่นก็มีพรรคคอมมิวนิสต์ มาเลเซียก็มีพรรคสังคมนิยม พรรคเลเบอร์ของอังกฤษก็นับว่าเป็น แล้วดูสิขนาดอินเดียประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังมีพรรคคอมมิวนิสต์มากกว่าหนึ่งพรรคเลย เรื่องแบบนี้เล็กน้อย”ถ้าดีกว่านั้นก็ควรจะเป็น “เราไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่มันก็ควรจะมีมาตรการที่จะกระจายรายได้ ปรับเปลี่ยนลดช่องว่างทางสังคมเศรษฐกิจ” 

         ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายลิเบอรัลที่วิจารณ์ไม่คงเส้นคงวากับความคิดตัวเอง แทนที่จะบอกว่าแนวคิดนี้ก็อยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้ยังไง กลับกลายเป็นโยงกับเรื่องเผด็จการคอมมิวนิสต์แล้วรีบถอยห่าง ทั้งๆ ที่จริงๆ มันซับซ้อนกว่านั้น

         ด้านหนึ่งก็คงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า แนวคิดสังคมนิยมมันมีมาก่อนมาร์กซ์ด้วยซํ้า พวก early socialism หรือพวก primative communism ก็มีมาก่อนมาร์กซ์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะชาร์ล ฟูรีเย (Charles Fourier) หรือโทมัส มัวร์ (Thomas Moore) 

         ในเมื่อแนวคิดคอมมิวนิสต์มีมาก่อนมาร์กซ์ มีมาก่อนเลนิน มีมาก่อนเหมา จึงไม่แปลกที่มันจะยังดำรงอยู่หลังจากนั้น อย่างที่บอกในปัจจุบันก็ยังมีพรรคสังคมนิยมหรือความเคลื่อนไหวของสังคมนิยมในนานาประเทศ อย่าไปสรุปว่าคอมมิวนิสต์คือ คอมมิวนิสต์ที่ปรากฏในศตวรรษที่ 20 มันมีมาก่อน และสามารถไปได้ไกลกว่านั้น

         เราอาจบอกได้ว่าระบอบคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่20 นั้นทั้งล้มเหลว ทั้งรุนแรง แต่ถ้าเราก็อาจไปดูมันได้เช่นกันว่ามันประสบความสำเร็จเรื่องอะไร แล้วเราเรียนรู้จากความสำเร็จ จากความล้มเหลวได้ไหม 

สายที่ไม่เอาเลย เหมือนเขาคิดว่ามันมีความรุนแรงโดยดีเอ็นเออยู่ในแนวคิดนี้ นำมาสู่บทสรุปอย่างเดียวก็คือ หายนะ แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น แม้แต่แนวคิดประชาธิปไตย ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน และผ่านความรุนแรงมาไม่ใช่น้อย แล้วเป็นต้นกำเนิดของทั้งฝ่ายขวา ต้นกำเนิดจักรวรรดินิยม เป็นประชาธิปไตยที่เหยียดสีผิวรุนแรงในนานาประเทศ

หลายคนก็มักจะบอกว่าคอมมิวนิสต์ในแบบทางอุดมการณ์เป็นอะไรที่ดี เป็นสังคมที่เท่าเทียมไม่มีชนชั้น แต่ล้มเหลว และเป็นหายนะในทางปฏิวัติ พูดง่ายๆ ว่าประวัติศาสตร์นั่นแหละเป็นบทสรุปว่าคอมมิวนิสต์ล้มเหลว แต่อย่าลืมว่านี่แค่ 1917 – 1989 แค่ 70  ปีของความพยายามที่จะแหวกว่ายจากทุน ความพยายามครั้งแรก ครั้งเดียวที่ล้มเหลว ถ้าเอามาตรฐานนี้มาเทียบกับประชาธิปไตย ในทางทฤษฎีดี แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหาเต็มไปหมด คนก็บอกว่าใช่ประชาธิปไตยมีปัญหา แต่เราต้องเล่นเกมนี้ต่อไป เราต้องพยายามต่อไป 

โจทย์คือ ทำไมประชาธิปไตยพัฒนาตัวเองแล้วทำให้ดีขึ้นได้ แต่คุณกลับใช้หลักการนี้ไม่ได้กับคอมมิวนิสต์ พอมาแนวคิดคอมมิวนิสต์ คุณบอกว่าจากประวัติศาสตร์ก็รู้มันล้มเหลว แล้วไม่คิดจะให้โอกาสที่สองเหมือนประชาธิปไตย ผมไม่ได้บอกว่าอันไหนมันดีกว่า อันไหนมันแย่กว่า เพียงแต่บอกว่ามาตรฐานคุณ การมองของคุณ ตรรกะคุณคืออะไร

ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์เรียกว่าความลุ่มหลงในประชาธิปไตยหรือเปล่า ดังคำกล่าว democracy is the only game in time(ประชาธิปไตยคือ เกมส์เดียวในตอนนี้)

         จริงๆ ต้องเป็น capitalism is the only game in timeทุนนิยมเป็นเกมส์ที่เล่นได้เกมส์เดียว ประชาธิปไตยที่พูดถึงก็หมายถึงประชาธิปไตยที่ไปได้ดีกับทุนนิยม ยืมคำของ อแลง บาดิยู (Alain Badiou) เขาใช้คำว่า capitalo-parliamentarianism นิยมระบอบรัฐสภาที่เรียกว่าทุนในการเลือกตั้ง

         อย่าลืมว่าสังคมนิยมก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแค่ทางการเมือง แต่เป็นในทางเศรษฐกิจด้วย คิดดูถ้าคนงานมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางต่างๆ ของที่ทำงานตัวเอง โดยที่นายทุนไม่ใช่ตัวกำหนด มันก็คือ การมีส่วนร่วมไม่ใช่เหรอ

         ประชาธิปไตยที่สังคมเข้าใจนั้นค่อนข้างแคบ และสร้างปัญหามากมาย แต่เราก็ไม่สามารถทอดทิ้งมันได้ ความลุ่มหลงหรือเฟติซ (fetish) มันก็คือ วัตถุหรือสิ่งของอะไรบางอย่างที่เรายึดติดจนยอมละทิ้งมัน เพราะการยึดติดกับมันสามารถทำให้เรายอมรับความจริงที่โหดร้ายได้ ตัวอย่างจอห์น วิคที่บ้าคลั่งหลังจากอัธพาลมาฆ่าหมาของเขาที่บ้าน เพราะหมาตัวนั้นคือสิ่งที่ภรรยามอบให้เขาก่อนตาย มันเป็นตัวแทน มันเป็นเฟติซของเขา การเลี้ยงดูหมาทำให้เขายอมรับได้ว่าภรรยาจากไปแล้วหรืออาจทำให้เขารู้สึกได้ว่ายังอยู่ใกล้ภรรยาอยู่ ทำให้เขายอมรับชีวิตที่โหดร้ายของเขาได้ 

อะไรก็เป็นเฟติซในลักษณะนี้ได้ กรณีของความลุ่มหลงในประชาธิปไตยเป็นการมองมันเป็นทางออกทางเดียว คำตอบอันเดียว ทุกอย่างดีหมด โลกพิสูจน์แล้ว จงอยู่กับมันต่อไป ถ้ามีปัญหามันเป็นปัญหาของปัจเจก ไม่ใช่ระบบ เป็นประชาธิปไตยในแบบที่แคบมากๆ เป็นเฟติซของพวกพรรคเดโมแครต ที่มองว่ากำจัดทรัมป์ ประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบาน กลับมาสู่ปี 2015เมื่อสมัยโอบาม่ายังเป็นประธานาธิบดี

ที่บอกว่าเป็นปัญหาเรื่องประชาธิปไตยที่แคบๆ มากๆ เพราะแนวคิดฝ่ายซ้ายแทบจะหายไป ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย มันเป็นปรากฎการณ์ระหว่างประเทศ

อาจารย์พอช่วยอธิบายแนวคิดทางการเมืองทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาในปัจจุบันได้ไหม

ที่ผมพยายามจะเสนอก็คือ สมดุลระหว่างซ้ายกับขวา มันเป็นผลดีกับประชาธิปไตย และเราควรจะฟื้นฟูแนวคิดของฝ่ายซ้าย เพราะในโลกที่เป็นประชาธิปไตย เวลาบอกว่ามีข้อถกเถียง มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มันก็มักจะอยู่ในวงแคบๆ ของโซนฝั่งขวา มันมักจะต่อต้านหรือปฏิเสธโซนฝั่งซ้ายไม่ให้เข้าร่วม

ผมพยายามแบ่งแนวคิดทางการเมืองออกเป็นสองโซน ซ้ายกับขวา ถามว่าฝ่ายซ้ายคืออะไร ฝ่ายซ้ายคือตัวแทนความเป็นสากล แล้วฝ่ายขวาเป็นตัวแทนของความเฉพาะเสมอ ฝ่ายซ้ายพูดถึงเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาพ ภราดรภาพ ฝ่ายขวาจัดๆ คลาสสิกในคริสตศตวรรษที่ 20 ก็แบบฟาสซิสต์ ที่เน้นเรื่องชาติพันธุ์ของเรา อารยันเท่านั้น กลุ่มของเราเท่านั้น

หากพูดถึงเน้นกลุ่ม มันก็ไม่เหมือนกันเน้นกลุ่มที่เป็นสากลกับกลุ่มที่เฉพาะ ในศตวรรษที่ 20 นาซีก็เน้นเรื่องชาติพันธุ์ หรืออีกคำหนึ่งก็คงจะเป็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ความน่าสนใจก็คือ มันเป็นศัพท์ของฝ่ายซ้ายผู้ที่บัญญัติเป็นกลุ่มสตรีนิยม ผิวดำ เลสเบี้ยน มาร์กซิสต์ ประเด็นของเธอก็คือ พวกเธอไม่ได้มองว่าการต่อต้านทุนนิยมมันขัดแย้งกับอัตลักษณ์ของเธอ เพียงแต่ว่าถ้าต้องการจะปฏิวัติสังคม ต้องให้ความทนใจกับอัตลักษณ์เฉพาะบางอย่างด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่

การเมืองเชิงอัตลักษณ์ หรือ identity politics ยุคแรกของฝ่ายซ้ายมีความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า เราอยู่ภายใต้ระบบที่กดขี่เราเหมือนกัน มาต่อสู้ร่วมกันเถอะ แต่ identity politics ในปัจจุบันกลายเป็นการเน้นเรื่องความรู้และประสบการณ์ที่ต่างกันจนไม่สามารถเข้าใจกันได้เลยด้วยซํ้า อารมณ์เรากับเธอจะเข้ากันไม่ได้เพราะเราเป็น abcd ส่วนเธอเป็น decfทำได้มากสุดคงแค่เคารพกัน

ซึ่งเป็นผลจากทุนนิยมที่เน้นความเป็นปัจเจก ซึ่งแยกออกจากกัน และมองเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก มาร์กาเร็ต เท็ตเชอร์ (Margaret Thatcher) ก็เลยบอกว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคมมีแต่ปัจเจก อย่างมากก็ครอบครัว ไม่แปลกที่ฝ่ายขวา หรือแม้แต่พวกเสรีนิยมใหม่ก็เชิดชูสถาบันครอบครัวเพราะจะได้รื้อถอนรัฐสวัสดิการ ในฐานะที่ต้องพึ่งตัวเองและครอบครัวตัวเองเท่านั้น

         ความแตกต่างหลากหลายก็ไปได้ดีกับความเป็นกลุ่ม และก็ไปได้ดีกับทุน ทุนจำเป็นต้องมี identity politics ในความเป็นปัจเจก เราก็เป็นแค่ผู้บริโภค ด้านหนึ่งก็แห้งแล้ง มันมีอะไรที่เต็มกว่านั้นก็คือ การได้เป็นสมาชิกของกลุ่มบางกลุ่มซึ่งทำให้เกิดอาการคลั่ง ไม่ว่าจะชาติ คลั่งศาสนา หรืออื่นๆ อีกมากมาย 

         ความน่าสนใจคือทุนดูเหมือนยกย่องอัตลักษณ์ แต่อัตลักษณ์ภายใต้ทุนไม่มีความหมายเลย สุดท้ายคุณก็เป็นผู้บริโภคหนึ่งคน หรือคนงานหนึ่งคนที่สามารถหาคนอื่นมาทดแทนได้ แล้วมันก็ไม่ค่อยเต็ม มันก็ต้องพึ่งอะไรที่ใหญ่กว่า มันต่างกันเยอะถ้าเขาได้กินอะไรอร่อยๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมาประท้วง หรือรู้สึกว่าเราเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ใหญ่กว่านั้น โจทย์คือ ทุนต้องอาศัย identity politics

  ข้ามมาฝั่งซ้าย ซ้ายปัจจุบันจะอยุ่โซนนี้หมด พูดง่ายๆ เป็นลิเบอรัล อย่างที่เราชอบได้ยินว่าต้องเคารพความแตกต่าง ปัญหาที่มักจะชอบได้ยินอันหนึ่งในช่วงม็อบ อยากให้อีกฝ่ายเคารพความคิดที่แตกต่างซึ่งถ้าเขาเคารพความคิดที่แตกต่าง คุณก็ต้องเคารพของเขาด้วย เราก็อยู่ในโลกของเฉพาะกับเฉพาะ ความคิดที่แตกต่างของคุณเรื่องเฉพาะของคุณ ความคิดที่แตกต่างของเราเรื่องเฉพาะของเรา ไม่มีอันไหนมันดีกว่ากัน เพราะเป็นโลกแห่งความหลากหลาย

อาจารย์บอกว่าฝ่ายซ้ายยึดกับความเป็นสากลเสมอ แต่อาจารย์ก็บอกว่าซ้ายปัจจุบันยึดโยงกับความแตกต่างหลากหลายซึ่งขัดกับธรรมชาติของความเป็นสากล ถ้าอย่างนั้นมีความพยายามที่จะสร้างความเป็นสากลหรือไม่

มีความพยายามจะตอบคำถาม โจทย์ของความเป็นสากลเช่นนี้อยู่ ผมเอามาจากหนังสือของ ท็อดด์ แมคโกวัน (Todd McGowan) ซึ่งสำหรับผมเป็นเล่มที่ดีที่สุดของปีนี้ชื่อ Universality and Identity Politics (2020) มันมีความกลัวที่จะสร้างกลุ่ม เพราะกลุ่มจะเป็นสากลได้ไง สร้างกลุ่มทีไรหมายความว่ามันต้องมีความเป็นอื่น มันต้องมีคนที่ไม่เป็นสมาชิกของกลุ่มถึงจะมีกลุ่มเกิดขึ้นได้ 

แต่แมคโกวันพยายามจะไปพ้นข้อโต้แย้งนี้ ด้วยการบอกว่าสากลไม่ใช่สิ่งที่เรามีร่วมกันแต่เป็นสิ่งที่ไม่มีร่วมกัน เราไม่มีเสรีภาพร่วมกัน ที่ไหนก็ตามในโลกทุนนิยมเราก็ไม่มีความเท่าเทียมเหมือนกัน ความเป็นสากลไม่ใช่สารัตถะ ไม่ใช่อัตลักษณ์ อัตลักษณ์ของกลุ่มต่างๆ บวกกันยังไงมันก็ไม่เป็นสากล สุดท้ายมันก็อยู่ในโลกของอัตลักษณ์ อยู่ในโลกของความเฉพาะอยู่อย่างนั้นแหละ

สำหรับผมความเป็นสากลแมคโกวันต้องเป็นสำหรับทั้งหมดไม่ใช่แค่ในมุมทางการเมือง เพราะแค่เสรีภาพหรือความเท่าเทียมทางการเมืองมันจะไม่มีความหมายเลย หากเราไม่แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเรื่องชนชั้นหรือทุนนิยม

นี่ก็คือสิ่งที่ต้องบอกสังคมนิยมไปจนถึงคอมมิวนิสต์บอกว่าเสรีภาพหรือความเสมอภาคทางการเมืองอย่างเดียวมันไม่ได้ เพราะมันก็มองว่าเสรีภาพความเสมอภาคเป็นอะไรที่มาเพียงครึ่งใบ มันไม่สามารถจะแยกออกจากเสรีภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างเด็ดขาด

ผมเลยประหลาดใจเมื่อมีการติพวกมาร์กซิสต์ว่าวัน ๆ เอาวิพากษ์หรือสงสัยเรื่องชนชั้น จนมองข้ามว่า พวกมาร์กซิสต์เป็นพวกแรกๆ ที่ออกมาต่อต้านการเหยียดสีผิว เป็นส่วนสำคัญในการต่อต้านระบบทาสในอเมริกาและหลายๆ ประเทศ รณรงค์ ปลดแอก เลิกระบบอาณานิคม จักรวรรดินิยม ให้คนผิวสีปกครองตัวเองได้ เพราะมันตั้งบนฐานของความคิดว่าประชาธิปไตยและความสามารถในการปกครองตัวเองไม่ใช่แค่ของคนผิวขาว

น่าสนใจว่าเราไม่สามารถแยกประชาธิปไตยเป็นแค่เสรีภาพของคนบางกลุ่ม หรือความเสมอภาคภายในบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งพวกนั้นเป็นประชาธิปไตยยุคแรกๆ ที่จำกัดแค่ในหมู่ผู้ชายมีฐานะ มีครอบครัว ไม่นับรวมผู้หญิงและคนอื่นๆ ประชาธิปไตยแบบที่เป็นสากลจริงๆ อยู่ในโซนซ้าย ดูได้อย่าง “กรรมชีพทั่วโลกจงรวมตัว”  worker of the world unite แรงงานไม่ได้บอกว่าอัตลักษณ์ตรงไหน แต่คือ แรงงานทั้งหมดที่ยึดโยงผ่านสิ่งที่เราไม่มีร่วมกัน worker of the world unite เพราะเราไม่มีเสรีภาพร่วมกัน เพราะเราไม่มีความเสมอภาคร่วมกันภายใต้โลกของทุนนิยม

สำหรับฝ่ายซ้ายปัจจุบันสิ่งที่มักจะพูดถึงกันก็คือ เรื่องสังคมนิยมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน สำหรับอาจารย์แนวคิดเช่นนี้เป็นยังไงครับ

แต่ก่อนสเปกตรัมทางการเมืองหลักๆ ซ้ายก็เป็นสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ แล้วก็มีกลางก็คือ ลิเบอรัล ขวาหน่อยก็พวกชาตินิยมกับทุนนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย (social democracy) จะจัดเป็นพวกซ้ายกลางอย่างพวกแบบสวีเดน ทำให้โดยธรรมชาติสังคมนิยมประชาธิปไตยจะอ่อนลงมาเมื่อเทียบกับคอมมิวนิสต์

ปัญหาเริ่มตั้งแต่สมัยเรแกน ที่เกิดเสรีนิยมใหม่ในอเมริกา แท็ตเชอร์ในอังกฤษที่เริ่มเกิด there is no alternativeก่อนจะตามมาด้วยการสลายการชุมนุมของแรงงานเหมือง ก่อนหน้านั้นเรแกนก็ไล่ออกเจ้าหน้าที่บังคับการณ์สนามบินหมื่นกว่าคน ทั้งหมดเป็นสัญญาณว่า“กูจะเอาจริงกับแรงงาน กูจะทุบแรงงาน” 

แล้วความเป็นซ้ายก็เริ่มหายไป ส่วนมากเริ่มปรับตัวจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ พวกสังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการก็อ่อนลงเรื่อยๆ พวกลิเบอรัลก็กลายเป็นลิเบอรัลแบบขวา แล้วก็ปรับตัวให้ขวามากขึ้นเพราะรู้สึกว่าเป็นซ้ายแล้วคนไม่ค่อยชอบ อยู่ตรงกลางดีกว่า มันเลยมีคำของ ทาริก อาลี (Tariq Ali) ที่เรียกว่า Extreme Centre เราอย่าพูดแค่ขวาจัด มันมีสิ่งที่เรียกว่ากลางจัดด้วย

ซึ่งพวกลิเบอรัลกลางจัด หากอธิบายในกรอบคิดของแนนซี่ แฟรเซอร์ (Nancy Fraser) เธอจะใช้คำว่า Progressive Neoliberalism มันเป็นทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ แข่งขันอย่างบ้าคลั่งไม่ปกป้องแรงงาน แถมจ้องจะทุบ ทำให้สังคมเหลื่อมลํ้า แต่มัน Progressiveเพราะมันสนใจความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะความเสมอภาคทางเพศ พหุวัฒนธรรม มันเลยระยิบระยับ ดูดีเมื่อเทียบกับขวาจัด แต่มันก็อยู่ในโลกของทุนและโลกของเสรีนิยมใหม่

นั่นทำให้สิทธิมนุษยชนก็อยู่ในฝั่งขวาได้ แต่จะเป็นสิทธิมนุษยชนที่เน้นความเป็นปัจเจก และเพิกเฉยต่อความเหลื่อมลํ้า เป็นสิทธิมนุษยชนที่ให้คนเข้าถึงความต้องการพื้นฐานให้พอหัวพ้นน้ำ แต่ไม่สนใจว่าขณะที่บางคนหัวพ้นน้ำ บางคนกลับอยู่บนเขา อยู่บนปราสาท ถ้าเน้นเรื่องความเหลื่อมลํ้าทางสังคม สิทธิมนุษยชนจะเป็นสิทธิมนุษยชนโซนฝั่งซ้าย

อาจารย์ดูจะเน้นย้ำว่าลิเบอรัลไม่ได้ซ้าย และออกจะไม่ชอบฝ่ายซ้ายเสียด้วย แต่เพราะอะไรล่ะ

         ตลอดครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และส่วนใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่ 20ความเป็นซ้ายถูกผูกติดกับคำว่าสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ และผูกติดอยู่กับการต่อต้านทุนนิยม 

ค้อนเคียวสำหรับลิเบอรัลจึงน่าหวาดกลัว แต่ค้อนเคียวไม่ใช่ผลผลิตของมาร์กซ์ ค้อนเคียมเป็นผลผลิตในยุคของเลนิน เมื่อมาร์กซ์ปลุกผีของคอมมิวนิสต์ (spectre of communism) ใน Communist Manifesto ปี 1848 ชื่อมันคือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ แต่ตอนที่มาร์กซ์เสียไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์เลย แต่คนหวาดกลัวกันฉิบหายกับพรรคที่ยังไม่มีตัวตนนี่แหละ เหมือนกับในปี 2020 ตอนวันแรกที่ค้อนเคียวโผล่ขึ้นมา แตกตื่นกันใหญ่ พรรคก็ยังไม่มี ไม่มีอะไรเลย แตกตื่นกันน่ามหัศจรรย์มาก ทำไมมันถึงน่ากลัวทั้งที่ทางวัตถุวิสัยมันยังไม่เห็นอะไร

เราอาจบอกได้ว่าลิเบอรัลมองฝ่ายซ้ายเป็นศัตรู แน่นอนการเมืองต้องมีศัตรู แต่วิธีที่ฝ่ายซ้ายปฏิบัติต่อศัตรูมักจะต่างกับวิธีคิดแบบฝ่ายขวา หรือแม้แต่พวกลิเบอรัล พวกฝ่ายขวามองศัตรูเป็นสิ่งที่ควรถูกกำจัด แต่งฝ่ายซ้ายมักจะบอกว่ามาร่วมต่อสู้ด้วยกันเพราะมีการต่อสู้มากมายที่เป็นสากล มีการต่อสู้มากมายที่ไปพ้นอัตลักษณ์ของแต่ละคน และมีการต่อสู้มากมายที่เราต้องต่อสู้เพราะเราไม่มีร่วมกัน เพราะเราไม่มีเสรีเหมือนกัน เพราะเราไม่มีความเสมอภาคเหมือนกัน ผมก็เลยรู้สึกว่าตรงนี้ก็น่าจะเป็นผลดีต่อพัฒนาการประชาธิปไตย 

         อย่างที่บอกฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ปฏิบัติต่อศัตรูไม่เหมือนกัน อันหนึ่งยอมให้กลับใจแล้วสามารถเป็นสหายกันได้ อีกอันหนึ่งก็คือ ต้องถูกกำจัด หรือต้องถูกจับไปล้างสมอง การเมืองมีศัตรูได้ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องรักศัตรูของคุณ เพียงแต่การไม่รักศัตรูไม่ได้หมายความว่าจะต้องกำจัดและทำลายเสมอไป มันมีวิธีการปฏิบัติต่อศัตรูในลักษณะอื่นอยู่ ผมเลยอยากจะเสนอว่าเราต้องหันกลับมาปกป้องความคิดทางการเมืองโซนฝั่งซ้าย ถึงคุณจะเป็นลิเบอรัลก็ตาม แต่การเป็นประชาธิปไตยจำเป็นที่จะต้องปกป้องฝั่งซ้ายด้วย ที่เรามักจะชอบพูดว่าการเมืองแบ่งเป็นซ้ายกับขวา หรือการเมืองปัจจุบันเราอยู่ในความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างถึงราก ความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างสุดขั้ว แต่เวลาเราพูดถึงอุดมการณ์ที่ขัดแย้ง มันมักจะอยู่แค่ระหว่างกลางจัดกับขวาจัด ระหว่างซ้ายแบบไทยๆ กับขวาจัดซึ่งบางทีก็บอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ

โจทย์ก็คือ มันยังมีฝั่งซ้ายอยู่ ถึงมันจะหายไปหมดแล้ว ถ้าบอกสนใจประชาธิปไตย ทำไมไม่กู้ฝั่งนี้ ฝั่งนี้จะช่วยอย่างมากในการทำให้พวกกลางจัดกลับมาเป็นลิเบอรัลอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ปรับตัวเองเข้าไปทำให้แนวคิดของฝ่ายขวา จนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม

ถ้าพูดเป็นกลางๆ หน่อยแนวคิดโซนฝั่งซ้ายอย่างสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ จำเป็นต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ ทำไมต้องมองว่ามันเป็นศัตรู ในเมื่อสามารถปรับปรุงและสร้างมันขึ้นใหม่ให้เป็นแบบศตวรรษที่ 21 ไม่มีอะไรสักหน่อยที่บอกว่าจะต้องยึดติดอยู่กับรูปแบบการนองเลือดของคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20

.

ชมผ่านคลิปวิดิโอฉบับเต็มที่เราได้ไปพูดคุยกับอาจารย์ ที่

In Their Views Playlist:


[1]Dorfman, A., Mattelart, A., & Kunzle, D. (2018). How to Read Donald Duck: Imperialist Ideology in the Disney Comic. New York; London: OR Books.

[2]รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซ ช่วงปี 2015 – 2019

[3]ผู้กำกับภาพยนตร์แนวดิสโทเปียหลายเรื่อง รวมถึง Parasite (2019) ที่เรากล่าวถึงกัน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: