Articles Pop Culture

การลดและเพิ่มความเป็นมนุษย์ใน 86

ธีทัต จันทราพิชิต
 3 พฤษภาคม 2564

ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมานี้มีอนิเมะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก และแม้การ์ตูนหลายๆ เรื่องจะจบลงไปแล้ว แต่ก็มีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันตามมาอยู่อีกเป็นระยะ โดยสำหรับการ์ตูนในช่วงนี้ที่โด่งดังคงหนีไม่พ้นเรื่อง 86 ซึ่งเป็นการ์ตูนที่สร้างจากนวนิยายดีกรีรางวัลจากการประกวดเด็งเกคิโนเวลไพร์ซครั้งที่23 โดยนอกจากเรื่องความสนุกแล้ว 86 ยังเป็นการ์ตูนที่ยังเสียดสี และพูดถึงประเด็นทางสังคมการเมืองได้อย่างน่าสนใจเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้

86 เล่าเรื่องสงครามที่มนุษย์ขับหุ่นยนต์รูปร่างเหมือนแมลงออกไปต่อสู้กับAI อัจฉริยะซึ่งมีศักยภาพสูงกว่ามนุษย์ในทุกๆ ด้าน ภายนอก 86 จึงเป็นการ์ตูน genre mecha หรือที่เรารู้จักกันว่าการ์ตูนหุ่นยนต์ ซึ่งในสมัยหนึ่งเคยเป็นแนวการ์ตูนที่ครองตลาดอนิเมชั่นของญี่ปุ่น โดยแนวการ์ตูนหุ่นยนต์มีมิติที่น่าสนใจอยู่เป็นอันมาก เพราะจัดเป็นแนวการ์ตูนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวและการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในตลาดมานานกว่าเกือบ 60 ปี และหลายเรื่องมีความสัมผัสกับสังคมการเมืองทั้งในช่วงเวลานั้น และก้าวพ้นไปเลยมากกว่านั้น 

โดย 86 เมื่อเป็นการ์ตูนหุ่นและเป็นแนวสงครามสิ่งสำคัญก็คือ ใครเป็นคนที่ขับหุ่นออกไปสู้รบ ซึ่งปกติแล้วพอเป็นการ์ตูนหุ่นมักจะไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่เป็นทหารที่ถูกฝึกมาเพื่อสู้รบโดยเฉพาะเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่มักจะใช้ตัวละครที่เป็นเด็กให้เป็นคนบังคับหุ่น ส่วนหนึ่งเป็นไปเพราะเหตุผลทางการตลาด เนืองจากการ์ตูนหุ่นในระยะแรกต้องการเจาะกลุ่มตลาดเด็กเพื่อขายของเล่นเป็นหลัก ซึ่งแม้แต่การ์ตูนหุ่นที่พยายามจะปฏิวัติวงการในช่วงแรกอย่างโมบิลสูทกันดั้มก็ยังต้องให้ตัวเอกเป็นเด็ก รวมถึงผลงานที่ปฏิวัติวงการอนิเมะอย่างอีวานเกเลี่ยนก็ยังต้องใช้เด็กเพื่อที่จะดำเนินเรื่อง

กรณีของ 86 ก็ไม่ต่างกัน คนที่บังคับหุ่นยนต์เพื่อไปต่อกรกับผู้รุกรานที่เป็นหุ่นยนต์นั้นหาใช่ใครอื่น แต่เป็นหนุ่มสาววัยรุ่น หากแต่การเป็นเด็กอย่างเดียวอาจจะไม่พอในบางครั้ง การเป็นเด็กต้องมาควบคู่กับความพิเศษบางอย่างด้วยเสมอเพื่อที่จะอธิบายเหตุผลของการที่ทำไมเด็กจึงจำเป็นต้องมาขับหุ่น ซึ่งในกรณีของการ์ตูนเรื่องนี้ก็บอกไว้ชัดเจนตั้งแต่ชื่อเรื่องกล่าวคือเหตุผลของการที่เด็กต้องเข้าสู่สนามรบเป็นเพราะพวกเขาเป็น86 เป็นมนุษย์ที่ไม่ถูกนับให้เป็นมนุษย์

และนี่นำมาสู่ประเด็นที่เป็นตีมหลักของ 86 คือ การลดทอนความเป็นมนุษย์ลง แม้แต่คำว่า 86 ก็ยังเป็นแสลงที่มีความหมายในเชิงการแบน การผลักออก โดยตามเนื้อเรื่อง 86 เคยเป็นประชาชนของสาธารณรัฐซันแมกโนเลียแต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อประเทศชาติ และนำหายนะมาสู่สาธารณรัฐ ทำให้พวกเขามีค่าไม่ต่างจากปศุสัตว์ ทางเดียวที่เหล่าผู้ทรยศจะได้รับการไถ่ถอนความผิดก็คือ การต่อสู้ในสนามรบเพื่อเผ่าอัลบาเผ่าพันธุ์ผมสีเงินซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศ 

.

จากที่กล่าวมาจะคงบอกได้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็นการ์ตูนที่ได้อิทธิพลจากการเมืองช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอิงจากกรณีที่นาซีเยอรมันกระทำกับยิว ซึ่งมีกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างเป็นระบบ โดยงานศึกษาส่วนมากในปัจจุบันที่มุ่งศึกษาการลดทอนความเป็นมนุษย์ มักจะศึกษาในแง่มุมทางจิตวิตวิทยาเป็นส่วนมาก แต่ก็มีบางแง่มุมที่ศึกษามากกว่านั้น

โดยบทความชื่อ“The Significance of Dehumanization: Nazi Ideology and Its Psychological Consequences” โดยนักปรัชญาชาวออสเตรียชื่อ โยฮันเนส สไตนซินเกอร์ (Johannes Steizinger) ได้เล่าว่ากระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์โดยพรรคนาซี ซึ่งสไตนซินเกอร์ได้เจาะลึกถึงงานเขียนของอัลเฟรท โรเซินแบร์ค (Alfred Rosenberg) ซึ่งเป็นงานเชิงมานุษยวิทยาที่มีธงในใจเป็นการเหยียดชาติพันธุ์ กล่าวคือ อุดมการณ์ของนาซีเป็นอุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก เพราะชาติพันธุ์มีนัยยะสำคัญไปถึงระดับตัวตนของมนุษย์ ซึ่งส่วนมากคำอธิบายที่พรรคนาซีพยายามจะใช้ในการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของชาวยิวมักจะเป็นการใช้ชีววิทยาเข้ามาช่วย แต่จากการอ่านงานเขียนของโรเซินแบร์ค สไตนซินเกอร์จึงสรุปได้ว่าการลดทอนของมนุษย์ของพรรคนาซีเป็นการลดทอนที่ไม่ได้อาศัยเครื่องมือแค่เพียงชีววิทยา แต่ยังอาศัยสาขาวิชาอื่นทั้งมานุษยวิทยา และปรัชญาด้วย เนืองจากตัวโรเซินแบร์คได้ขยายนิยามคำว่าเผ่าพันธุ์ไปไกลกว่าเรื่อง DNA แต่ลงลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ ซึ่งด้วยประเด็นที่เป็นนามธรรมนี้ทำให้โรเซินแบร์คเปรียบเทียบชาวยิวว่ามีสภาพไม่ต่างจากปรสิตได้สำเร็จ โดยที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับข้อเท็จจริงว่าชาวยิวก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน

จากข้างต้นเราจะเห็นจุดสำคัญของการลดทอนความเป็นมนุษย์ นั่นก็คือ การลดทอนให้คนหรือกลุ่มนั้นๆ มีสภาพไม่ต่างอะไรกับสัตว์ กรณีของ 86 ในฉบับนิยายประเด็นนี้ถูกเปิดตั้งแต่หน้าแรกๆ ของเรื่อง โดยมาในรูปแบบของบันทึกความทรงจำของตัวเอกในเรื่อง

“ไม่มีชาติใดถูกประณามว่าไร้มนุษยธรรม เพียงเพราะไม่ให้สิทธิมนุษยชนแก่หมู

ฉะนั้น หากเราให้นิยามใครสักคนที่ต่างภาษา ต่างสีผิว หรือต่างบรรพบุรุษ ว่าเป็นหมูในคราบมนุษย์ การกักขัง ข่มเหง หรือสังหารพวกเขาอย่างทารุณ จึงไม่ถือว่าไร้มนุษยธรรม ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายคุณธรรมแต่อย่างใด”

ประโยคข้างต้นแสดงถึงสถานการณ์ที่ดำเนินไปในเรื่องเมื่อชาวอัลบาพยายามเปรียบ86 เป็นหมู หรือกระทั่งมองว่า 86 เป็นแค่หน่วยประมวลผล (processor) ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และสามารถปล่อยให้ตายตามยถากรรมได้อย่างไม่ต้องลังเล ทว่าขณะเดียวกัน 86 ก็มีการเหยียดเผ่าอัลบากลับด้วยการเรียกพวกนี้ว่าหมูขาว เพราะเป็นพวกที่วันๆ เอาแต่กินกับนอน ไม่ทำอะไร จนไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้ด้วยตัวเอง

.

การ์ตูนเรื่องนี้จึงไม่ได้เล่าเพียงการเหยียดชาติพันธุ์แต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นการเล่าการเหยียดชาติพันธุ์เชิงปฏิกิริยาด้วย แต่แม้ 86 จะบอกเล่าเรื่องของการลดทอนความเป็นมนุษย์ 86 ก็ยังเล่าถึงความพยายามเพิ่มความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย เนืองจากถึงคนที่ขับหุ่นจะเป็นทหารเด็ก แต่ตัวเอกจริงๆ ของเรื่องคือ เลน่า ผู้พันชาวอัลบาซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่ทำการกดขี่เผ่าพันธุ์อื่น ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นความพยายามของเธอในการแสดงความนับถือ 86 ในฐานะเพื่อนมนุษย์อยู่ตลอด ซึ่งก็มีทั้งความสำเร็จ และล้มเหลว

หากแต่เหนือสิ่งอื่นใด 86 กลับมองว่าแม้จะคืนความเป็นมนุษย์ไปให้ แต่สำหรับเด็กที่โดนทอนความเป็นมนุษย์ลงก็จะไม่มีวันกลับเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป สิ่งที่ร้ายกาจที่สุดของการลดทอนความเป็นมนุษย์จึงไม่ใช่แค่ในวินาทีที่อาชญากรรมถูกก่อ แต่ยังรวมไปถึงชีวิตทั้งชีวิตของคนบางคนเลยทีเดียว 

อ้างอิง

Johannes Steizinger (2018) The Significance of Dehumanization: Nazi Ideology and Its Psychological Consequences, Politics, Religion & Ideology, 19:2, 139-157, DOI: 10.1080/21567689.2018.1425144

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: