Articles Pop Culture

การเมืองเรื่องฮีโร่: ความสัมพันธ์ของซุปเปอร์ฮีโร่กับสังคมการเมืองจากยุคทองถึงปัจจุบัน

ธีทัต จันทราพิชิต

หลายปีมานี้ในบรรดาภาพยนตร์ จะมีภาพยนตร์อยู่แนวหนึ่งที่ครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ นั่นก็คือภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ เรามักจะชมภาพยนตร์เหล่านั้นด้วยแว่นที่มองว่ามันปราศจากการเมือง แต่หากใครได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ Avengers: Endgame คงจะมีฉากหนึ่งที่ชวนตะขิดตะขวงใจสำหรับหลายๆ คนไม่น้อย นั่นก็คือ ฉากที่รวมตัวละครหญิงของจักรวาลมาร์เวลทั้งหมดมาไว้ในฉากเดียวเพื่อต่อสู้กับกองทัพผู้รุกรานจากต่างมิติ 

สำหรับบางคนอาจไม่ได้เห็นความสำคัญอะไรกับฉากนี้ เพราะที่จริงแล้วฉากต่อสู้สุดท้ายของ  Avengers Endgame ก็ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่แฟนๆ อยู่ก่อนแล้ว การที่จะมีการรวมตัวซุปเปอร์ฮีโร่หญิงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อมรู้ว่าฉากดังกล่าวมีความเป็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์อยู่ เราอาจเรียกฉากนั้นได้ว่าเป็น Girl Power หรือพลังหญิง หนึ่งในสิ่งที่ผู้ชมหลายๆ ท่านรู้สึกคือ รู้สึกเป็นการยัดเยียดจนเกินไป ยิ่งในบางกลุ่มที่ต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็จะบอกว่าภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องการเมือง เหมือนที่ศิลปะไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องการเมืองจริงๆ หรือไม่ และถ้าใช่มีอะไรที่กลายเป็นปัญหาของฉากรวมพลังหญิงของฉากดังกล่าวกัน เพื่อหาคำตอบนั้นเราจึงต้องไปดูตั้งแต่รากฐานของภาพยนตร์แนวนี้หรือก็คือ การ์ตูน คอมมิคอเมริกา

ซุปเปอร์แมนผู้อยู่ข้างผู้ถูกกดขี่ และกัปตันอเมริกาผู้บ้าสงคราม

            เราอาจบอกได้ว่าคอมมิคหรือหนังสือการ์ตูนในสมัยหนึ่งเป็นความบันเทิงราคาถูก ในตอนที่ Action Comics เล่มแรกซึ่งเป็นเล่มที่ซุปเปอร์แมนปรากฏตัวก็มีราคาเพียง 10 เซ็นต์ จากค่าแรงขั้นตํ่า 25 เซ็นต์ต่อชั่วโมง ผนวกกับการที่สมัยก่อนไม่ได้มีช่องทางสร้างความบันเทิงที่หลากหลายขนาดนี้ จึงไม่ได้เป็นการยากอะไรที่คอมมิคจะกลายเป็นหนึ่งในช่องทางสร้างความบันเทิงหลักพอๆ กับวิทยุในสมัยเดียวกัน

            ในสมัยนี้คอมมิคก็ไม่ได้เป็นความบันเทิงที่มีราคาถูกขนาดนั้นอีกแล้ว ในกรณีของสหรัฐอเมริกา คอมมิคแต่ละตอนมีราคา 4.99 เหรียญ จากค่าแรงขั้นตํ่า 7.25 เหรียญต่อชั่วโมง [1]พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของราคา คอมมิคก็มีพลวัตรต่างๆ มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ความเป็นการเมือง ซึ่งหลายคนบอกว่ายัดเยียดเกินจำเป็น ผิดกับสมัยก่อนที่คอมมิคไม่มีการเมืองอยู่ในนั้น คำถามที่สำคัญคือ คอมมิคในสมัยเริ่มแรกที่เป็นความบันเทิงราคาถูกนั้นปราศจากการเมืองแบบที่คนหลายๆ คนพยายามอธิบายหรือไม่ เพื่ออธิบายเราจะทำการเจาะประเด็นนี้ด้วยการยกกรณีตัวอย่างมาทั้งหมดสองกรณี ซึ่งเป็นสองกรณีที่สำคัญมากได้แก่ ซุปเปอร์แมนของ DC Comics และกัปตันอเมริกาของ Marvel Comics

            ทุกวันนี้ DC Comics จะมีภาพจำที่ค่อนข้างปราศจากการเมืองหรือพยายามที่จะไม่เป็นการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ในหลายสมัย DC ก็ยังมีการใส่ประเด็นการเมืองอยู่ตลอด กระทั่งในปัจจุบันก็ยังมีการเล่นการเมืองเชิงอัตลักษณ์อยู่ จะเห็นได้ว่าปกติแล้วทีมจัสติกลีคต้องมีสมาชิกเป็นคนแอฟริกันอเมริกันอยู่ด้วยเสมอ และหากย้อนกลับไปไกลสมัยเริ่มต้นธุรกิจ วันเดอร์วูแมนก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่เพศหญิง แม้แต่ตัวซุปเปอร์ฮีโร่คนแรกของโลกอย่างซุปเปอร์แมนก็ถูกสร้างโดยมีบริบททางการเมืองอยู่เบื้องหลัง

            สร้างโดยนักวาดการ์ตูนผู้อพยพชาวยิวสองคน ซุปเปอร์แมนถูกใส่ความเป็นผู้อพยพเข้าไปในตัว และช่วงแรกตัวร้ายที่ซุปเปอร์แมนต้องต่อกรไม่ใช่เหล่าวายร้ายที่มีพลังพิเศษอะไร ในเล่มแรกซุปเปอร์แมนศัตรูของซุปเปอร์แมนไม่มีอะไรมากไปกว่าแมงดาผู้ตบตีภรรยา และนักการเมืองผู้คดโกง ฟังดูแล้วแสนจะเป็นการเมือง แถมเป็นการเมืองแบบประชานิยม เอาใจชนชั้นล่าง เพราะมีหลายครั้งที่ซุปเปอร์แมนต่อกรกับเศรษฐี นายทุน เจ้าที่ดิน เรียกว่าหากใช้แว่นสมัยนี้มองซุปเปอร์แมนในยุคแรกเริ่มก็คือ พวกสังคมนิยมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของชนชั้นแรงงานดีๆ นี่เอง (Sitterson, 2020) มิหนำซํ้าในปี 1946 รายการวิทยุการผจญภัยของซุปเปอร์แมนยังเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้กลุ่ม KKK ต้องล่มสลายลงเพราะตัวร้ายของซุปเปอร์แมนในตอนหนึ่งของละครวิทยุเป็นกลุ่ม KKK จนเป็นเหตุสมาชิก KKK ต้องพากันถอนตัว เนืองจากลูกๆ ติดละครวิทยุซุปเปอร์แมน และเกลียด KKK จนพ่อแม่ก็ทนไม่ได้ที่จะถูกลูกมองว่าเป็นคนชั่วร้ายในสังคม

            จะเห็นได้ว่าตอนยุคแรกซุปเปอร์แมนมีการใส่ความคิดทางการเมืองไปค่อนข้างมาก และบางครั้งอิทธิพลยังส่งผลมายังโลกจริงเสียด้วย แน่นอนทุกวันนี้แง่มุมทางด้านการเมืองของซุปเปอร์แมนก็ลดลง และความเป็นฮีโร่ของผู้ถูกกดขี่จะน้อยลงตาม แต่ซุปเปอร์แมนก็ยังคงมีแง่มุมของความเป็นผู้อพยพ และถูกตีความในแง่มุมนี้หลายต่อหลายครั้ง

            ข้ามค่ายมายัง Marvel Comics ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้ใช้ชื่อว่า Marvel แต่มีชื่อว่า Timely Comics ในช่วงเวลาเดียวกับที่ซุปเปอร์แมนโด่งดัง มาร์เวลก็ได้พยายามสร้างซุปเปอร์ฮีโร่ขึ้นมาหลายต่อหลายตัว หากไม่ได้โด่งดังถึงขนาดซุปเปอร์แมนสักตัวเดียว ในช่วงนั้นเองที่นักเขียนสองคนได้ทำการสร้างตัวละครซุปเปอร์ฮีโร่ขึ้นมาภายใต้นามของ Timely comics ซุปเปอร์ฮีโร่ตัวนั่นคือ กัปตันอเมริกา โดยเราอาจบอกได้ว่ากัปตันอเมริกาเป็นตัวละครที่เป็นการเมืองที่สุดของ Marvel ในขณะนั้น แน่นอนนาเมอร์ซุปเปอร์ฮีโร่คนแรกๆ ของ Marvel ก็มีแง่มุมการเมืองที่สนับสนุน status quo กับหลักการมอนโรว์ แต่การสนับสนุนเหล่านั้นไม่ได้สร้างความท้าทายต่อสังคมเท่ากับฮีโร่ที่มีท่าทีชัดเจนว่ามีเป้าหมายปลุกระดมให้อเมริกาเข้าร่วมสงครามเพื่อสู้รบกับเยอรมัน

            พื้นหลังเหมือนเช่นกรณีซุปเปอร์แมน กัปตันอเมริกาถูกสร้างโดยนักเขียนชาวยิวสองท่าน โจว์ ไซมอน (Joe Simon) กับจาคอป เคิร์กเบิร์ก (Jacob Kurtzberg) ซึ่งรายหลังมีมีชื่อที่เป็นยิวเสียจนต้องใช้นามปากกาเพื่อไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าคนยิวเป็นคนเขียน ทำให้เรารู้จักเขาในชื่อว่า แจ๊ค เคอร์บี้ (Jack Kirby) ผู้เป็นดั่งพระเจ้าของจักรวาล Marvel ในกรณีของเคอร์บี้ เขาเห็นว่าโลกวุ่นวายเพราะว่านาซี ทางเดียวที่จะหยุดความวุ่นวายได้อเมริกาต้องเข้าร่วมสงคราม แล้วทำการชกหน้าคนอย่างฮิตเลอร์ให้สาสม สำหรับเคอร์บี้ เขาไม่ได้สนการประนีประนอมกับนาซี เขาคิดว่าถ้าเขาเจอคนแบบฮิตเลอร์ เขาจะต้องกระทืบคนแบบนั้นให้จมดิน เพราะแบบนั้นคงไม่รู้จักหลาบจำ แต่ในปี 1940 ที่กัปตันอเมริกาปรากฏตัว สหรัฐฯ ยังไม่เข้าร่วมสงคราม และยังคงยึดมั่นในหลักการมอนโรว์อย่างเหนียวแน่น การสร้างกัปตันอเมริกาของแจ็ค เคอร์บี้กับโจว์ ไซมอนจึงเป็นการปลุกให้ประชาชนอเมริกาเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมสงคราม การที่กัปตันอเมริกาต่อยหน้าฮิตเลอร์ ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นเพราะถ้าเคอร์บี้มีพละกำลังมหาศาลเหมือนกัน เขาก็คงจะทำเช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากสหรัฐฯ เข้าร่วมสงคราม เคอร์บี้ก็ได้โอกาสทำตามความฝันด้วยการไปรบในแนวรบฝั่งตะวันตก (Grote, 2017)

            ผลของการสั่นคลอนค่านิยมความเชื่อทำให้ทันทีที่กัปตันอเมริกาปรากฏสู่สาธารณชน Timely Comics ก็ต้องเผชิญกับจดหมายขู่สารพัด ซึ่งส่วนมากมีการคาดเดาว่ามากจากชุมชนชาวเยอรมันในอเมริกานั่นเอง แต่สุดท้ายทั้งไซม่อนกับเคอร์บี้ รวมถึง Timely ก็สามารถรอดพ้นวิกฤตครั้งนั้นมาได้ และในเวลาต่อมาเคอร์บี้ก็ยังเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับการเมืองอีกสารพัด แม้แต่ตัวร้ายของ DC อย่างดาร์คไซต์ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากระบบเผด็จการของนาซีเยอรมัน

            การเมืองกับซุปเปอร์ฮีโร่จึงดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรขนาดนั้น มีมาก่อนแล้ว สำหรับฉากพลังหญิงใน Endgame จึงเป็นเรื่องธรรมดามาก หากจะมีปัญหาก็คือ การเล่าที่ดูผิดที่ผิดทางไปบ้าง หากแต่ทำไมกันเล่าคนถึงเชื่อว่าซุปเปอร์ฮีโร่ถึงไม่มีความเป็นการเมือง บางทีการดูแค่ต้นกำเนิดอาจจะไม่พอ เราอาจต้องดูพัฒนาการของคอมมิคมาเรื่อยๆ ทีละสมัย

ยุคเงิน อยากไปอวกาศต้องอยู่กับอเมริกา ถ้าอยากทำนารวมก็อยู่กับพวกคอมมิวนิสต์

            หลังจากยุคเฟื่องฟูของกิจการคอมมิค ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่ายุคทอง ก็เข้าสู่ยุคต่อมาก็คือ ยุคเงิน ยุคเงินเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพื้นหลังตัวละคร โดยต้นเหตุพลังของซุปเปอร์ฮีโร่จะถูกอธิบายเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ที่มาของซุปเปอร์แมนที่ในตอนแรกอธิบายในหนึ่งหน้า และอธิบายในภาพยนตร์การ์ตูนของ Max Fleischer ประมาณเกือบสองนาที ถูกขยายเป็นเล่มๆ พร้อมกันนั้นสหรัฐฯ ก็ได้ทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต ซึ่งก็ส่งผลต่อคอมมิคไม่มากก็น้อย

            ในช่วงที่สงครามเย็นร้อนระอุที่สุด คอมมิคซุปเปอร์ฮีโร่ต่างมีการใส่ความเป็นการเมืองลงไป[2] แม้แต่ DC ที่พยายามจะไม่การเมืองก็ยังต้องยอมทำตัวเป็นการเมือง ดูได้จากที่มาของกรีนแลนเทิร์นซึ่งมีการใส่ประเด็นความขัดแย้งของสหรัฐฯ และโซเวียตลงไปเป็นกิมมิคเล็กๆ น้อย แต่เมื่อเทียบกับดีซีแล้วมาร์เวลนั่นมีความเป็นการเมืองสูงกว่ามาก กล่าวคือ ซุปเปอร์ฮีโร่ที่โด่งดังในตอนนั้นทั้งรุ่น แทบจะหาตัวที่ไม่การเมืองแทบไม่ได้

            แฟนตาทิสโฟร์ จุดเริ่มต้นของยุคเงินของมาร์เวล ต้นเหตุของพลังก็สุดแสนจะเป็นการเมือง เพราะการทดลองจรวดที่นำมาซึ่งพลังของสี่คน นั่นมีต้นเหตุมาจากความต้องการเอาชนะสหภาพโซเวียตในการแข่งขันทางอวกาศ เราจึงอาจบอกได้ว่าแฟนตาทิสโฟร์เป็นการสร้างภาพว่าไม่ใช่แค่สหภาพโซเวียตที่ส่งคนไปบนอวกาศได้ สหรัฐฯ ก็ (จะ) ทำได้เหมือนกัน

            หากแต่ไม่ใช่เพียงแค่ต้นกำเนิด ลักษณะเด่นของแฟนตาทิสโฟร์หนีไม่พ้นการเชิดชูความเป็นวิทยาศาสตร์ในสังคมอเมริกา และหลายครั้งก็มีการต่อต้านคอมมิวนิสต์อีกเป็นระยะๆ ตัวอย่างเช่น สครัล ตัวร้ายในตอนหนึ่งของแฟนตาทิสโฟร์ เป็นเผ่าพันธุ์จากต่างดาวที่สามารถแปลงร่างเป็นใครก็ได้ มีนัยยะของความสร้างความรู้สึกหวาดวิตกต่อสายลับของสหภาพโซเวียต โดยในตอนนั้นได้สื่อสารไปว่าใครก็สามารถเป็นสายลับของโซเวียตได้ทั้งนั้น

            นอกจากแฟนตาทิสโฟร์แล้วที่โด่งดังมากๆ อีกตัว และเป็นการเมืองมากพอๆ กันก็คือ ไอออนแมน โดยในตอนแรกพ่อค้าอาวุธอย่างโทนี่ สตาร์ค กลายเป็นไอออนแมนเพราะถูกเวียดกงจับไปเพื่อให้สร้างอาวุธ ตัวร้ายตัวแรกของไอออนแมนจึงเป็นพวกคอมมิวนิสต์ไปโดยปริยาย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าพื้นหลังนี้ยังคงอยู่ในตอนที่ไอออนแมนกลายเป็นภาพยนตร์แล้ว แค่เปลี่ยนจากเวียดกงเป็นตะวันออกกลางซึ่งเข้ากับบริบทการเมืองของสหรัฐฯ ในขณะนั้น หรือก็คือ จุดเริ่มต้นของจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวลเป็นตัวละครที่สุดแสนจะเป็นการเมือง และยังใส่มิติการเมืองแต่แรกแล้วนั่นเอง

            หากแต่ไม่เพียงเท่านั้น ไอออนแมนยังเป็นภาพสะท้อนของวิทยาศาสตร์ และวิทยาการของสหรัฐฯ และภาพสะท้อนนี้จะถูกขับเน้นเมื่อมีคู่ตรงข้าม ตัวร้ายคู่ปรับของไอออนแมนอย่างแมนดารินไม่ได้มีลักษณะเด่นแค่เฉพาะเป็นคนจีน ซึ่งเปรียบได้กับภาพสะท้อนของประเทศจีนในตอนนั้นเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น แต่ยังใช้พลังซึ่งตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิงที่ชื่อว่าเวทมนตร์ แสดงให้เห็นถึงการดิสเครดิตศัตรูทางการเมืองให้เป็นพวกล้าหลังโดยปริยาย

            แต่ไม่ใช่เพียงภัยคอมมิวนิสต์ ตัวละครหลายๆ ตัวของมาร์เวลก็เป็นภาพสะท้อนของการเมืองภายในของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน X-MEN เป็นภาพสะท้อนของการเคลื่อนไหว civil right movement หรือ Black Panther ก็ถูกสร้างในบรรยากาศคล้ายๆ กัน

            ในเมื่อยุคนี่คอมมิคซุปเปอร์ฮีโร่เป็นการเมืองอยู่ แล้วอะไรกันล่ะ ทำให้คนจำกันภาพคอมมิคสมัยก่อนไม่การเมือง

การทำให้ซุปเปอร์ฮีโร่ไม่ใช่เรื่องการเมือง

            ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ได้เกิดช่วงที่เรารู้จักกันว่ายุคมืดของวงการคอมมิคขึ้น หลังจากที่แนวซุปเปอร์ฮีโร่มีอายุมาหลายสิบปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน ทำให้ในช่วงยุค 1980 คอมมิคได้เข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ทางด้านเนื้อหาในทศวรรษ 1980 และสามารถผลิตงานซุปเปอร์ฮีโร่ระดับตำนานมาหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Dark Phoenix Saga ของ X-MEN, For the Man Who Has Everything ของซุปเปอร์แมน หรือ Crisis on Infinite Earths ของ DC แต่เหนือกว่างานไหนจะโด่งดังไปกว่าการ์ตูนเรื่อง Watchmen โดย Watchmen เป็นคอมมิคที่แสดงให้เห็นว่าคอมมิคก็สามารถเป็นสื่อที่เล่าเรื่องแบบผู้ใหญ่ได้  ผ่านงานเขียนที่ตั้งคำถามกับการมีอำนาจแบบศาลเตี้ยของซุปเปอร์ฮีโร่ Watchmen เลยเป็นงานที่เต็มไปด้วยเลือดและเรื่องทางเพศ เราอาจจะบอกได้ว่า Watchmen เป็นงานที่รื้อถอนขนบความเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งก็ได้ แต่ทันทีที่ Watchmen โด่งดังเป็นพลุแตกก็ได้เกิดกระแสฮีโร่สายดาร์คขึ้นมาในทันที และกลายเป็นที่มาของยุคมืดของวงการคอมมิค

            โดยที่มีคนบางส่วนเรียกยุคนี้ว่ายุคมืดไม่ใช่เพราะสินค้าขายไม่ดี ที่จริงแล้ว คอมมิคที่ได้ชื่อว่าขายดีจำนวนมาก เกิดในช่วงยุคนี้ คอมมิคที่ขายดีที่สุดอย่าง X-MEN VOL.2 #1 [3]ก็เป็นผลผลิตในยุคนี้ แต่ความมืดของคอมมิคคือ การที่ทุกอย่างเทิร์นดาร์คไปหมด ฮีโร่เริ่มที่จะไม่มีศีลธรรมอะไร เพราะผู้บริโภคและผู้ผลิตมองว่าการทำตัวเป็น nice guy เป็นเรื่องน่าเบื่อ ในช่วงนี้นี่เองที่แอนตี้ฮีโร่จำนวนมากถูกสร้างขึ้น โดยมักจะแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ไม่มีกฎเรื่องไม่ฆ่าคนซึ่งเป็นกฎที่มาสมัยยุคเงิน ขณะเดียวกันตัวละครจำนวนมากก็ถูกขับเน้นเรื่องทางเพศมากขึ้น ผู้หญิงก็มักจะมีหุ่นยั่วยวนเซ็กซี่ ขณะที่ผู้ชายก็กล้ามโตราวกับนักเพาะกาย ภาพจำของคอมมิคในยุคนี้จึงมักจะเป็นฮีโร่กล้ามโตในชุดรัดรูป ถือปืนกระบอกยักษ์ และมีชื่อเกี่ยวพันกับความตาย อย่างเช่น Deadpool เป็นต้น

            ทว่าจุดสำคัญก็คือ คอมมิคยุคนี้แม้จะมีเนื้อหารุนแรง แต่กลับไม่ใช้ความรุนแรงเล่าเรื่องในประเด็นสังคมหรือการเมือง ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นของยุคอย่าง Watchmen นั่นสุดแสนจะเป็นการเมือง ความรุนแรงในเรื่องเหล่านี้จึงดูกลวงเปล่า ไม่มีจุดหมายอะไรมากไปกว่าแค่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพียงเท่านั้น คอมมิคซุปเปอร์ฮีโร่ในช่วงนี้จึงไม่มีอะไรน่าจดจำไปกว่าซุปเปอร์ฮีโร่ไล่ตบเหล่าร้ายไปวันๆ แต่สำหรับคนชอบการ์ตูนตอนนั้นเป็นวัยเด็กของเขา และติดภาพว่าคอมมิคเป็นแบบนี้มาโดยตลอด ทั้งๆ ที่จริงๆ อาจจะไม่ใช่แบบนั้น

เช่นกันพร้อมกับลักษณะของฮีโร่ที่ลดความเป็นการเมืองลง บรรยากาศของสหรัฐฯ ก็อยู่ในช่วงที่การเมืองแทบจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรม ภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ทำให้การอ่านงานต่างๆ เป็นการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำ เพราะเป็นการกระทำที่มีความหวังผลทางการเมือง (Hamdi, 2007) ภายใต้บรรยากาศเช่นนั้น ทำให้สังคมอเมริกาในช่วงหนึ่งถูกลดความเป็นการเมืองลง กระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้าน จนพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นการเมืองไปเสียหมดในช่วงสิบปีมานี้

ความรับรู้ว่าซุปเปอร์ฮีโร่ไม่เป็นการเมืองจึงมาจากบริบทของสังคมในช่วงที่คนบางกลุ่มโตมา ซุปเปอร์ฮีโร่ถูกลดความเป็นการเมืองลงจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าปราศจากการเมือง ซุปเปอร์ฮีโร่เป็นการเมืองมาตลอด และเกี่ยวพันกับประเด็นสังคมการเมือง แน่นอนอาจจะไม่ใช่การเมืองแบบเข้มข้น แต่ก็ยังมีร่องรอยความเกี่ยวพันและเป็นภาพสะท้อนของสังคมขณะนั้นอยู่ในงานเสมอ แม้แต่ช่วงยุคมืดก็ยังมีความเกี่ยวพันกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในสหรัฐฯ อเมริกาอย่างแยกไม่ขาด เพราะการที่คนๆ หนึ่งจะเป็นศาลเตี้ยได้นั่น จำเป็นที่ระบบยุติธรรมในโลกไม่ทำงานเสียก่อน หากระบบยุติธรรมดี ก็ไม่มีเหตุจำเป็นให้คนสวมหน้ากากต่อสู้กับความอยุติธรรม

อ้างอิง

Grote, D. (2017, February 1). Jack Kirby, Nazi hunter: Wednesday Morning Quarterback. Press of Atlantic City. https://pressofatlanticcity.com/life/columns/jack-kirby-nazi-hunter-wednesday-morning-quarterback/article_0079aea5-618e-5ef1-9c16-5a94ede022cc.html.

Hamdi, T. K. (2007). A Political or Apolitical Literature? International Journal of Arabic-English Studies, 8, 5–19.

O’Neil, T. (2016, March 31). How the Cold War saved Marvel and birthed a generation of superheroes. The A.V. Club. https://www.avclub.com/how-the-cold-war-saved-marvel-and-birthed-a-generation-1798246215.

Published by Statista Research Department, & 25, M. (2021, March 25). Minimum wages in the United States by state 2021. Statista. https://www.statista.com/statistics/238997/minimum-wage-by-us-state/#:~:text=The%20federally%20mandated%20minimum%20wage,15%20U.S.%20dollars%20per%20hour.

Sitterson, A. (2020, November 20). Superheroes fought for the people – then money got in the way. Polygon. https://www.polygon.com/2020/11/19/21575175/superhero-comics-politics-left-liberal-vs-right-beef-bros.


[1] ค่าแรงขั้นต่ำดูได้จากเว็บไซต์ https://www.statista.com/statistics/238997/minimum-wage-by-us-state/#:~:text=The%20federally%20mandated%20minimum%20wage,15%20U.S.%20dollars%20per%20hour.

[2] สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ O’Neil, T. (2016, March 31). How the Cold War saved Marvel and birthed a generation of superheroes. The A.V. Club. https://www.avclub.com/how-the-cold-war-saved-marvel-and-birthed-a-generation-1798246215.

[3] X-Men Vol.2 #1 (1991) เป็นคอมมิคเล่มที่ใช้ยุทธวิธีขายปก variant หรือขายปกแยก ในกรณีของ X-Men เล่มนี้คือ การทำปกแยกมาทั้งหมด 5 ปก ซึ่งทั้ง 5 ปกสามารถเอามาเรียงต่อกันได้ ผลก็คือ X-Men เล่มนี้สามารถขายได้ทั้งสิ้น 8,186,500 เล่ม ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.polygon.com/comics/2019/7/26/8893276/best-selling-comic-book-of-all-time-x-men-1-marvel-dc

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: