Articles Pop Culture

GTA V กับการล้อเลียนประชดประชันต่อความเฉื่อยชาของวัฒนธรรม [สมัยนิยม] ตอนที่ 1

ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์

เกม Grand Theft Auto V หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่าGTA Vเป็นเกมแนว Action-Adventure ที่ถูกพัฒนาโดย Rockstar North บริษัท Rockstar Games เป็นเกมที่ถูกจัดอยู่ในเรท18+ เนื่องด้วยเนื้อหาของเกมที่รุนแรง ทั้งคำพูด เนื้อเรื่อง ฉากที่มีการใช้อาวุธ เลือด หรือแม้แต่หน้าตารูปร่างของตัวละคร ที่มีลักษณะในการตอบโต้วัฒนธรรมสมัยนิยม หรือ popular culture อย่างรุนแรง ด้วยวิธีการล้อเลียน (parody) และ การประชดประชัด (sarcasm) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการตอบโต้ที่เป็นที่นิยมและได้ผลมากที่สุดผ่านสื่ออย่างหนึ่งของการต่อสู้ปะทะกันในสนามแห่งวัฒนธรรมในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าในสนามของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมนั้น ย่อมมีที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดังนั้น ความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness: PC) จึงไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์วัดคุณค่าได้ เพราะมีความตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าเป็นการยอกย้อนและตอบโต้

วัฒนธรรมสมัยนิยมนั้นเป็นการต่อสู้แย่งชิงความเป็นอำนาจนำทางวัฒนธรรมของวัฒนธรรมต่าง ๆ เมื่อวัฒนธรรมใดได้ครองอำนาจนำ หรือ “ชนะ” วัฒนธรรมอื่นแล้ว ก็คงจะได้เป็นวัฒนธรรมที่ “นิยม” จริง ๆ ของสังคมนั้น ๆ แต่ทว่า วัฒนธรรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากตัวมนุษย์ หากไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีสังคม ไม่มีวัฒนธรรม การต่อสู้ช่วงชิงของวัฒนธรรมเพื่อที่จะได้ครองอำนาจนำ จึงต้องมีความสัมพันธ์อันแยกออกไม่ได้กับมนุษย์ หรือ “ประชาชน” ในรัฐหนึ่ง ๆ นั่นเอง ดังนั้น วัฒนธรรมที่ชนะหรือได้ครองอำนาจนำ จึงต้องเป็นวัฒนธรรมที่ที่ถูกนิยมโดยประชาชนด้วย วัฒนธรรมสมัยนิยมจึงมีหลายชื่อเรียก เช่น วัฒนธรรมมหาชน วัฒนธรรมมวลชน หรือวัฒนธรรมประชาชน ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมที่นิยมโดยประชาชน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วัฒนธรรมสมัยนิยมจะมีความเกี่ยวโยงกับZeitgeistหรือความเชื่อความนิยมของคนในช่วงยุคสมัยหนึ่ง ๆ ซึ่งก็จะเปลี่ยนไปตามบริบทและกาลเวลาเช่นกัน

แต่เหตุใดวัฒนธรรมสมัยนิยมในปัจจุบัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจืดชืด เฉื่อยชาอย่างมาก ซึ่ง GTA ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์นั้น แล้วสาเหตุนั้นเกิดจากอะไร? เกิดจากเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็ได้เป็น “อำนาจนำทางเศรษฐกิจ” มานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นักวิชาการอย่าง Mark Fisher จึงได้เรียกทุนนิยมว่าเป็นความจริงของโลก ภายใต้กรอบคิด ‘สัจจะนิยมแบบทุน’ ไปแล้ว แต่ก็ยังเกิดกระแสการหวนกลับไปคิดถึง หรือที่นิยมเรียกกันว่าภาวะ nostalgiaของสิ่งต่าง ๆ เรื่อยมา จนเกิดเป็นวัฒนธรรมเช่นกัน เช่น วัฒนธรรมการสะสมของเก่าอย่างเครื่องเสียง การเล่นเพลงโดยใช้แผ่นเสียงไวนิล หรือเครื่องเล่นเทปรีล (analog reel tape recorder) การแต่งบ้านของข้าวของเครื่องใช้โบราณหรือAntiques การสะสมรถเก่า และการนำรถเก่ามาปรับโครงสร้างใหม่ทั้งคัน(restoration)หรือวัฒนธรรมการแต่งกายแบบวินเทจ เกิดร้านค้าขายเสื้อผ้าเก่าในราคาที่สูงลิ่ว เกิดการศึกษาถึงต้นกำเนิดของเสื้อผ้าในยุคต่าง ๆ อย่างจริงจังที่ไม่ต่างกับการทำวิจัยเชิงวิชาการ และยังมีการจัดตั้งกลุ่มพบปะสังสรรค์ในหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ Tokyo, Osaka, New York, Los Angeles, London, Paris, Berlin รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในสถานที่เช่น ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ หรือตลาดนัดจตุจักร และงานเทศกาลประจำปี “Vintage Never Die” เพื่อนำของเก่า รถยนต์ รถจักรยานยนต์เก่า มาให้ชมกัน และพูดคุยสังสรรค์กันเป็นวัฒนธรรมกระแสรอง จนปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมแฟชั่นกระแสหลักก็ยังต้องหันมาให้ความสำคัญจนนำรูปแบบของการแต่งกายแบบvintage ไปใส่ไว้ในการออกแบบเสื้อผ้าของตนเอง เช่น การมีกางเกงยีนส์ผ้าดิบ ที่ยังไม่เคยผ่านน้ำ การใส่เกงแบบพับขาหนึ่งในสี่ส่วน การใส่กางเกงแบบเอวสูง เป็นต้น 

ในแง่นี้ การมีอยู่ของความเป็นสินค้าและอุดมการณ์แบบ vintage จึงนับเป็นการ ช่วงชิงความเป็นอำนาจนำทางแฟชั่นในพื้นที่ของวัฒนธรรมการแต่งกาย แต่เราคงจะไม่เข้าไปในอาณาเขตของวิชาแฟชั่นไปมากกว่านี้ กลับมาที่คำถามว่าวัฒนธรรมสมัยนิยมปัจจุบันทำไมถึงถูกมองว่า มันธรรมดาเกินไป กล่าวคือ ในปัจจุบัน หากใครไม่มียุคที่ตนเองโหยหาในอดีตอย่างเช่น สงครามโลกครั้งที่สองในทศวรรษ 1940 วัฒนธรรมอเมริกันในทศวรรษที่ 1950 หลังจากสหรัฐอเมริกาชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ที่วัฒนธรรมอเมริกันถูกครอบงำโดยความคิดแบบสุขนิยม (hedonism) ที่สื่อทุกอย่าง วิทยุ โฆษณา เพลง หรือภาพยนตร์ ล้วนแล้วแต่พูดถึงความสุข จากทำนองของดนตรีร็อคแอนด์โรล ขบวนการศิลปะแบบ Pop Art ไปจนถึงบทภาพยนตร์ในลักษณะที่ต้องจบแบบ happy ending นั่นก็เพราะว่า ต้องการรักษาให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Hollywoodกับคนดู ให้เป็นไปอย่าง “ไม่มีผลร้ายที่จะตามมาภายหลัง อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ที่ไม่ต้องคิดมาก ไม่ได้เข้าไปค้นหา และเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ของความบันเทิง” วัฒนธรรมการหวนกลับมารักชาติในกระแสสงครามเย็นกำลังถึงจุดพีค และสวนทางกับวัฒนธรรมฮิปปี้-make love not war ในฐานะของการต่อต้านสงคราม ของทศวรรษ 1960 วัฒนธรรมโลกยุคหลังจิตวิญญาณหรือ spiritในทศวรรษ 1970 เหมือนในเพลง Hotel California(1972) ของวง Eagles มีท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “We haven’t had that spirit here since 1969” หรือท่อนที่ว่า “We are all prisoners here, of our own devices.” ที่กล่าวถึงการขังตัวเองของนักดนตรีให้เล่นแต่เพลงแนวเดิม ๆ จนไม่มีความเป็นศิลปิน จะเห็นได้ว่า ความไม่พึงพอใจต่อวัฒนธรรมสมัยนิยมของตัวเองก็มีร่องรอยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แล้ว

เรื่อยมาในทศวรรษ 1980 ที่ยังมีเรื่องราวให้จดจำที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคอยู่บ้าง ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป กับประโยคเด็ด “There is no alternatives” “..there’s no such thing as society. There are individual men and women and there are families.” ของ Margaret Thatcher อดีดนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เป็นดังหมุดหมายของสังคมโลกที่จะเปลี่ยนไปในลักษณะของการเป็นปัจเจกชนนิยมมากขึ้น ทำให้เกิดการมองว่าปัจเจกชนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับปัจเจกในฐานะตัวแสดง (agency) เกิด Theory of practice หรือทฤษฎีการปฏิบัติ ทำให้เกิดความคิดที่นิยมความเป็นแบบแผน (pattern)อันเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่เน้นอิสรภาพทางเศรษฐกิจที่ให้อิสรภาพของปัจเจกในการค้าขาย อีกอย่างคือการเกิดขึ้นของภาพยนตร์แอคชั่นเลือดสาดที่ไม่เน้นบทภาพยนตร์ หรือการสื่อความหมายใด ๆ เพียงแต่เน้นความสะใจเท่านั้น เช่น The Terminator(1984), Predator (1987), Escape from New York(1981) หรือ RoboCop(1987)

จนมาถึงทศวรรษที่ 1990 ที่มักจะถูกมองว่า เป็นจุดจบของความคิดสร้างสรรค์ เกิดความเฉื่อยชาแช่แข็งของวัฒนธรรม ทั้งภาพยนตร์ เพลง เราอาจสังเกตได้ว่า สื่อต่าง ๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาถึงปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยได้มีความแตกต่างกับยุคปัจจุบัน คือ 30 ปีให้หลังมากนัก ไม่ใช่เฉพาะผู้เขียนที่คิดไปเอง เพราะผู้เขียนก็ได้เกิดในทศวรรษ 1990 แต่สรวิศ ชัยนาม ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังได้เคยทดลองให้นิสิตของเขากลุ่มหนึ่ง ฟังเพลงจากยุค 1990 ปรากฏว่านิสิตหลายคนยังนึกว่าเป็นเพลงออกใหม่! หลายคนยังคงรู้สึกว่ายุค 1990 ไม่ได้มีความแตกต่างมากนักกับยุคปัจจุบัน แต่ยังมีกลุ่มคนหลายคน ที่โหยหวนยุค 1990 เช่น กระแส “ฉันเป็นเด็กยุค 90” ที่คร่ำครวญว่ายุค 1990 เป็นยุคที่มีความหอมหวนและน่าจดจำ เป็นต้น ในที่นี้ การเป็นเด็กยุค 90 หมายความว่าใช้ชีวิตที่จำความได้อยู่ในทศวรรษ 1990 ไม่ได้หมายความว่าเกิดในยุค 1990 ซึ่งตรงนี้ก็อาจถกเถียงได้ ว่าใครเกิดต้นทศวรรษ หรือปลายทศวรรษ มีโอกาสอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้นจริงหรือไม่ แต่นั่นก็เป็นการตอกย้ำว่า ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาเป็นยุคที่ไม่น่าจดจำ ซ้ำซากจำเจ และผู้คนอยากจะหวนกลับ หรือหลีกหนีเสมอ 

แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา วัฒนธรรมสมัยนิยมของหลังจากทศวรรษ 1990 มันไม่ได้ “สมัยนิยม” อีกต่อไปแล้ว เพราะมันดันไปนิยมในสมัยอื่น หรือสมัยก่อนหน้านี้ ก็เหมือนกับเราดูหนังเรื่อง Shawshank Redemption(1994) หรือ The Godfather(1972) ผ่าน Netflix หรือ iTunesด้วยความละเอียด 4K กล่าวคือเป็นการเสพสิ่งเดิม ความบันเทิงแบบเดิม ที่เรารู้แล้วว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร ในรูปแบบการนำเสนอที่สดใหม่กว่า ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี ที่เราสามารถชื่นชมผลงานที่ดีผ่านเทคโนโลยีที่ดีกว่าได้ แต่ในทางกลับกัน การ remaster หรือ restorationคือการปรับความละเอียดของภาพและเสียงของภาพยนตร์ให้ดีขึ้น ยังสะท้อนให้เห็นว่า ภาพยนตร์ในปัจจุบัน ไม่มีค่าพอให้ติดตามรับชม จนต้องไปค้นหาภาพยนตร์ในอดีตมาทำให้ได้รับความนิยมอีกครั้ง ทำนอง “เหล้าเก่า ในขวดใหม่” ความเป็นวัฒนธรรมที่ต้อง “สมัยนิยม”​ จึงไม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังถูกต่อต้าน กลายเป็น “สมัย” ที่ต้องยืมวัฒนธรรมจากสมัยอื่น 

อีกกรณีที่เห็นได้ชัด คือการขึ้นมามีชื่อเสียงของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกันซึ่งเป็นคนในรัฐCalifornia โดยกำเนิดอย่าง Quentin Tarantino (1963- ) ที่เป็นคนที่เรียกได้ว่า ‘refuse to live in the present’ คือปฏิเสธไม่ยอมอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน ผลงานกำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของเขาอย่างPulp Fiction(1993), Kill Bill(2005), Inglorious Basterd (2009), Django: Unchained(2013) หรือผลงานล่าสุดที่ชัดเจนที่สุดอย่าง Once Upon a Time… in Hollywood(2019) ซึ่งเป็นการตั้งชื่อให้คล้ายกับภาพยนตร์คลาสสิกอย่าง Once Upon a Time in the West(1968) ซึ่งตลอดเวลากว่า 30 ปีที่เขากำกับภาพยนตร์นั้น ภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขาจะมีช่วงเวลาของภาพยนตร์อยู่ในอดีตแทบทั้งสิ้น จะมีฉากที่สะท้อนวัฒนธรรมในยุคก่อน ๆ เช่น ฉากเต้นแบบ swing ของ Uma Thurman กับ John Travolta ในร้านอาหารสไตล์อเมริกันในยุคทศวรรษ 1950 หรือฉากการขับรถของ Cliff Booth สตั้นท์แมนของ Rick Dalton ที่ขับรถ Volkswagen Karmann Ghia ปี 1966 เปิดประทุนที่มีเสียงเครื่องยนต์คาบูเรเตอร์ดังสนั่น หรือแม้แต่การเหยียดสีผิวของทาสผิวดำที่มีการสบถคำว่า “นิกก้า” กว่าร้อยครั้ง จนนักแสดงผิวดำชื่อดังอย่าง Samuel L. Jackson (1948 – ) ถึงกับกล่าวสงสัยเชิงติดตลกว่าว่า เขามีปัญหาอะไรกับคนผิวดำจริง ๆ หรือเปล่า งานของเขาโดดเด่นจนมีผู้เขียนงานเล่าเรื่องของเขาตั้งแต่อัตชีวประวัติ จนถึงผลงานในชีวิตของเขา ว่าเคยทานในร้านเช่าวิดิโอเก่า และมีทักษะในการเล่าเรื่องโน้มน้าวให้คนเช่าจากวัฒนธรรมย้อนยุค และยังมีภาพยนตร์ที่เขาสร้างร่วมกับผู้กำกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขา Robert Rodriguez (1968 – ) อย่าง From Dusk Till Dawn(1996) หรือ Planet Terror(2007)ที่เป็นภาพยนตร์ที่ผู้กำกับทั้งสองตั้งใจใช้การถ่ายทำแบบหนังเกรดสอง (B-movies) ที่เป็นภาพยนตร์ใช้ filter ในการแต่งภาพให้มีความเก่าและไม่ชัด ทั้งมีความรุนแรงเลือดสาด และมีฉากและเนื้อหาที่หลุดโลกไม่สมจริง เช่น การกลายเป็นสัตว์ประหลาดเมื่อติดเชื้อ หรือ เมื่อโดนระเบิดขาขาดแล้วเอาปืนกลมาติดเป็นขาแทน แล้วสามารถยกขาขึ้นยิงได้ ซึ่งเป็นปกติที่พบได้ในภาพยนตร์ของ Rodriguez เช่น การเอากล่องกีตาร์มายิงเป็นจรวดใน Desperado(1995) หรือการใช้มีดเล่มใหญ่ Mechete ฟันคนขาดเป็นท่อน ๆ ใน Mechete(2010) 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการปลดปล่อยความรุนแรงที่ในสังคมปกติในชีวิตประจำวันทำไม่ได้ การใช้ชีวิตแบบปกติที่ทำตามค่านิยมของรัฐและสังคมทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้เฉื่อยชาทางวัฒนธรรม การทำให้ theme ของเรื่องมีความไม่สมจริงและหลุดโลก โดยอ้างอิงถึงวัฒนธรรมสมัยนิยมในอดีต จึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่อต้าน (Cultural Resistance) ที่มุ่งเน้นการมีและใช้วิถีชีวิตที่แตกต่าง ผ่านพิธีกรรมหรือ งานเทศกาล หรือมหรสพบางอย่าง เพื่อให้มนุษย์ได้กระทำการที่ไม่เคยได้ทำในชีวิตประจำวัน ที่ถูกควบคุมโดยรัฐหรือบรรทัดฐานทางสังคมต่าง ๆ ให้ได้มีโอกาสได้ทำ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เพื่อทำให้เกิด “การต่อต้าน” และได้มาในสิ่งที่ต้องการ แม้ว่าจะไม่ทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร ในแง่นี้ความเป็นวัฒนธรรมต่อต้านจึงมีความย้อนแย้งอยู่ไม่น้อยในตัวเอง ซึ่งในเกมยอดฮิตอย่าง GTA V ก็เป็นหนึ่งในสื่อที่ใช้การล้อเลียน และการประชดประชันเสียดสี ในการสร้างการต่อต้านวัฒนธรรมสมัยนิยม ซึ่งก็อาจนับได้ว่าเป็นวัฒนธรรมต่อต้าน ในกลุ่มเล็ก ๆ อย่างหนึ่ง แม้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ และจะเป็นการต่อต้านที่มีความหมายต่อสภาพสังคมโดยรวมหรือไม่ก็ตาม

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: