Articles

การเรียกร้องรัฐสวัสดิการ: การมีสหภาพแรงงาน [ตอนที่ 1]

ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์

การเรียกร้องรัฐสวัสดิการในปัจจุบัน อาจถือได้ว่าเป็นประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ตลอดปี พ.ศ. 2563 หรือจะเป็นการเรียกร้องของนักวิชาการ และนักการเมือง ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีสวัสดิการที่ดีแก่ประชาชน จะได้เป็นหลังพิงของประชาชนเมื่อเจ็บป่วย หรือต้องการที่พึ่งจากรัฐ ในการจัดหาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น การรักษาพยาบาล การมีงานทำ ระบบการขนส่งมวลชน หรือระบบสาธารณูปโภค ไปจนถึงรายได้พื้นฐานสากล (Universal Basic Income: UBI) ซึ่งก็มีการถกเถียงว่า สิ่งเหล่านี้ควรมีหรือไม่ หรือ บางอย่างควรมี บางอย่างไม่ควรมี การดำเนินชีวิตในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นทำให้ทุกอย่างมีต้นทุน การจะได้มาซึ่งผลประโยชน์ หรือสินค้าและบริการ ก็ควรจะมาจากศักยภาพและกำลังของปัจเจกเอง ไม่ใช่ให้รัฐมาจัดหาให้ แต่อีกฝ่ายก็อาจบอกว่าเราจ่ายภาษีให้รัฐ เราก็ควรได้รับบริการและการปฏิบัติจากรัฐที่ดี ในบทความนี้จะอภิปรายถึงความสำคัญของสวัสดิการ และกล่าวถึงสาเหตุและองค์ประกอบที่จะทำให้เราจะได้มาซึ่งสวัสดิการ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ความสัมพันธ์ทางการผลิตของระบบเศรษฐกิจและแรงงานซึ่งเป็นกำลังในการผลิต

ความสำคัญของสวัสดิการ

ทำไมจึงต้องมีสวัสดิการ ? เพราะเรานั้นอยู่ในสังคมที่เรียกร้องให้เราต้องแก่งแย่งกันเสมอ แม้ว่าจะมีประชาธิปไตยแล้ว เรามักจะได้ยินคำสั่งสอนประเภท “ต้องสอบให้ได้เรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ นะ” “ต้องทำงานหาเงินได้เยอะ ๆ นะ” “ต้องได้เป็นเจ้าคนนายคนนะ” ไปจนถึง “ต้องหาสามี-ภรรยารวย ๆ นะ” แต่เราต้องไม่ลืมว่า การที่มีคนหนึ่งได้ดี ได้ผลประโยชน์ มันก็มักมีอีกคนที่สูญเสียประโยชน์เสมอ ความคิดดังกล่าวจึงพยายามทำให้มนุษย์คิดว่าเราจะต้องเป็นข้อยกเว้นเสมอ ที่จะพังทลายข้อจำกัดของคนทั่วไปไปเป็นคนพิเศษได้ เช่นเดียวกับความคิดแบบมาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์ (Margaret Thatcher) อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ที่มีวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ที่เพิ่มอำนาจให้กับตลาดเสรีมากขึ้น ทลายกฎระเบียบต่าง ๆ กระจายอำนาจของรัฐออกไปสู่เอกชน ลดบทบาทของรัฐในการกำหนดทิศทางของตลาด (Hewison 2005, 312) นอกจากจะเชื่อในการเพิ่มกำลังในภาคเอกชนแล้ว ยังต้องการแยกมนุษย์ให้ออกเป็นปัจเจกชนให้ได้มากที่สุด (individualisation) ที่ให้แยกออกจากสังคมมากที่สุด เช่น หากตกงาน ก็เป็นความผิดของปัจเจกเอกที่หางานไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของรัฐหรือระบบเศรษฐกิจ หรือการบอกว่าไม่ควรมีลูก หากไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงลูก 

อาจมีคำถามต่อไปอีกว่า หากเราเก่ง และประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่แล้ว ทำไมเราจะต้องสนใจเรื่องสวัสดิการด้วย เพราะเราก็มีทรัพยากรมากพอที่จะจ่ายให้กับค่าสาธารณูปโภคและการรักษาพยาบาลของตนเอง แต่คำถามต่อมาคือ เราจะมั่นได้อย่างไร ว่าเราจะมีความมั่นคงแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะมีวันไหนที่เราพลาด และไม่มีหลังพิง ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานแบบไม่มั่นคง (precarious employment) และรายได้ของประเทศที่ผูกอยู่กับภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป การทำงานในหน่วยงานของรัฐ รับราชการที่มีสวัสดิการและฐานะมั่นคงเป็นน้ำซึมบ่อทรายก็ดูจะเป็นเรื่องยากขึ้น หรือหากอยู่ในภาคธุรกิจที่แข็งแกร่ง หากเจอปัจจัยที่ไม่ได้คาดคิดอย่างโรคระบาด ก็ไม่สามารถที่จะประคับประคองธุรกิจให้มีกิจการที่ดีต่อไปได้ อย่างนั้นแล้วความมั่นคงมั่นอยู่ที่ไหน ตรงนี้ จึงต้องเปลี่ยนแปลงที่ระบบ ไม่ใช่คน เพราะในระบบที่ไม่มั่นคง ต่อให้คนจะเก่งอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงได้ 

เราจึงต้องสนใจคนอื่นบ้าง ต้องมีความเห็นใจคนที่ไม่มีที่พิงหลังจากระบบเศรษฐกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐ เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) จึงมีความสำคัญ เพราะแม้ว่าปัญหาเรื่องการเมืองจะแก้ด้วยประชาธิปไตย การมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการที่ประชาชนจะไปลงคะแนนเลือกตั้งก็คือเรื่องปากท้อง หรือเศรษฐกิจนั่นเอง แม้ว่ามีการทุจริตหรือซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจับได้ ก็ยังต้องใช้เงินในการซื้อเสียงอยู่ดี เพราะเงินมันสำคัญในการดำรงชีวิตมากกว่าอุดมการณ์

เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นที่มาในการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ เพราะเป็นการเรียกคืนผลประโยชน์จากรัฐ จากเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งข้อดีก็ผู้พูดถึงมากแล้ว ทั้งนักวิชาการและนักการเมืองต่าง ๆ แต่คำถามที่สำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้ให้ได้มา และด้วยโครงสร้างรายได้ของประเทศเรานั้นเพียงพอหรือไม่ในการนำเงินมาจ่าย การมีสวัสดิการที่มั่นคงมีมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างรายได้ของไทยด้วยหรือไม่

ปัญหาแรงงาน (ที่ไม่เป็นเอกภาพ)

         หากกล่าวตามทฤษฎีชนชั้นของลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) แล้ว ชนชั้นนั้นมีอยู่ 2 ชนชั้นเท่านั้น คือ ชนชั้นแรงงาน (proletariat) และชนชั้นนายทุน (bourgeois) คือผู้ที่ไม่มีปัจจัยการผลิต และผู้ถือปัจจัยการผลิต ตามลำดับ (Marx and Engels 2014) กล่าวคือ เป็นการแบ่งชนชั้นระหว่าง ลูกจ้าง/นายจ้าง นั่นเอง และสองชนชั้นนี้ก็มีความัดแย้งกันและการต่อรองกันอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นการขัดกันทางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของแต่ละชนชั้น แต่ทั้งสองก็ยังต้องพึ่งพากันในการผลิต นายทุนก็ได้กำไร ส่วนแรงงานก็ได้ค่าจ้างเป็นค่าตอบแทน ในทางเศรษฐกิจการเมือง จึงไม่มีชนชั้นประชาชน เพราะทั้งสองชนชั้นต่างก็เป็นประชาชนเหมือนกันหมด แต่ปัญหาก็คือ การเป็นประชาชนที่เหมือนกันนั้น ไม่ได้เป็นประชาชนที่เท่ากันเพราะนายทุน ซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นผู้ถือปัจจัยการผลิต นั้นเป็นผู้กำหนดรูปแบบการผลิตและจ่ายค่าจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีทางเท่ากันได้ในเชิงเศรษฐกิจ และครอบคลุมไปถึงความสัมพันธ์ชิงอำนาจด้วย เพราะอย่างน้อยก็มีอำนาจทุนมากกว่าแรงงาน ในฐานะคนจ่ายค่าจ้าง การมองประชาชนว่าเป็นคนเหมือนกัน ก็ดูจะเป็นการละเลยปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่เราพบเจออยู่ทุกวันแต่ไม่เห็นมัน หรือกระทั่งการมองว่าคนเท่ากันในเชิงสิทธิและเสรีภาพแบบเสรีนิยม (liberalism) ก็ยิ่งทำให้การมองปัญหาในเรื่องการเมืองโดยเฉพาะการเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสวัสดิการของแรงงาน/ลูกจ้างนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะมองไม่เห็นถึงคู่ขัดแย้งของความขัดแย้งด้วยซ้ำ การต่อรองกับคู่ขัดแย้งที่ถูกต้องจึงไม่เกิดขึ้น 

         ดังนั้นการต่อสู้ที่เน้นการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่หวังผลทางเศรษฐกิจ จึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่ตรงจุด การเน้นขบวนการประชาชนที่บอกว่าคนเท่ากัน จึงเป็นการกลบเกลื่อนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากันของนายทุนและแรงงาน ทำให้คู่ต่อสู้ของผู้ที่เรียกร้องต้องการสวัสดิการไม่รู้ว่าต้องสู้อยู่กับอะไรกันแน่ รัฐ หรือนายทุน ในแง่นี้ ความคิดที่ว่าคนเท่ากันจึงมีปัญหา เพราะการพูดว่าคนเท่ากันนั้น ไม่ได้ระบุว่าเท่ากันแค่ไหน แค่มีสิทธิเลือกตั้ง 1 สิทธิ์ 1 เสียง เท่ากัน มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้เท่ากัน มีสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติจากรัฐเท่ากัน หรือควรได้รับเงินจากรัฐเท่ากันแบบรายได้พื้นฐานสากล สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คลุมเครือ เพราะไม่สามารถกำหนดได้จริง ๆ ว่าที่เท่ากันมันคืออะไร แต่ที่แน่ ๆ หากบอกว่าคนเท่ากัน แสดงว่าเราจงใจมองข้ามปัจจัยทางเศรษฐกิจไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต สิ่งแรกที่ควรถอยกลับมาตั้งหลักและคิดใหม่ก่อน ก็คือสำรวจว่า เราเป็นแรงงานหรือเป็นนายทุน 

         การเรียกร้องรัฐสวัสดิการจึงควรต้องกลับมามองที่ประเด็นแรงงานก่อน เพราะเป็นชนชั้นที่ต้องการความมั่นคง แต่เพราะเหตุใด จึงเรียกร้องไม่ได้ และแรงงานจึงมีอำนาจต่อรองน้อย เหตุผลหลักก็เพราะ เราไม่ยอมรับว่าเราเป็นแรงงาน เพราะเรามักมีการรับรู้ว่าแรงงานคือผู้ที่ใช้แรงงานในเชิงกายภาพในการทำงานอย่างเดียว เช่น คนงานก่อสร้าง คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น เป็นพนักงงานออฟฟิศ ใส่สูทผูกเนคไท ก็ไม่เป็นแรงงานแล้ว ยิ่งเป็นข้าราชการยิ่งแล้วใหญ่ เป็นเจ้าคนนายคน ไม่เป็นแรงงานแล้ว แต่แท้จริงแล้ว ผู้ที่ได้รับค่าจ้าง (wage earner) ทั้งหมดถือว่าเป็นแรงงานหมด เพราะเป็นผู้ที่ไม่ได้ถือปัจจัยการผลิต และทำงาน ลงมือลงแรง ไม่ว่าจะใช้สมองหรือแรงงานกายภาพ ในการแลกมาซึ่งค่าจ้าง ซึ่งตรงนี้ก็คือชนชั้นแรงงานทั้งสิ้น ไม่มีข้อยกเว้น 

         เมื่อแรงงานมีสำนึกความเป็นชนชั้น (class consciousness) ของชนชั้นแรงงาน ก็จะเกิดความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่มีสำนึกร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน รับชะตากรรมเดียวกัน หรือภาษาบ้าน ๆ คือ “มีหัวอกเดียวกัน” การสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้ จึงเกิดอำนาจต่อรองขึ้น ไม่ว่าจะกับนายจ้าง หรือกับรัฐ ซึ่งกรณีที่ชัดเจนที่สุดคือลูกจ้างของรัฐ เช่น ข้าราชการ หรือพนักงงานราชการก็ตาม ซึ่งมีนายจ้างคือรัฐ ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐคือนายจ้าง การรวมตัวกันเพื่อต่อรองมักถูกสร้างในรูปแบบกลไกของสหภาพแรงงาน (trade union หรือ labour union) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกที่เป็นแรงงาน ในจำนวนมาก มากพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองต่อนายจ้างต่าง ๆ ได้ ซึ่งกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่คุ้นหูกันก็คือการนัดหยุดงาน (strike) ซึ่งการนัดหยุดงานนั้นจะเป็นการทำให้กลไกการทำงานของระบบนั้นหยุดนิ่ง ไม่สามารถได้ผลผลิตของงานได้ ทำให้นายจ้างเป็นผู้เสียประโยชน์ในแง่ของรายได้และกำไร ในขณะเดียวกันแรงงานก็เสียผลประโยชน์ในแง่ของค่าจ้างด้วย แต่การนัดหยุดงาน ก็เป็นกลไกในการแสดงพลังของแรงงานที่สามารถต่อรองได้กับนายจ้าง ว่าหากไม่ทำตามที่แรงงานร้องขอ ก็จะมีการนัดหยุดงานเพื่อให้นายจ้างต้องเสียผลประโยชน์และเครดิตกับลูกค้า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแรงงานใด ๆ จะทำได้ หากปราศจากความเป็นกลุ่มก้อนที่เชื่อมโยงกันเป็นเอกภาพ (unity) 

         ความเป็นเอกภาพของแรงงานจึงมีความสำคัญอย่างมากในการใช้กลไกการนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานจึงไม่สามารถเป็นไปได้หากไม่มีองค์กรที่สามารถเป็นศูนย์รวมแรงงานได้ ซึ่งคือสหภาพแรงงานนั่นเอง เพราะลำพังหากแรงงานคนหนึ่ง หรือแค่จำนวนหนึ่งที่เป็นจำนวนน้อยหยุดงาน ก็คงไม่เป็นผล นอกจากนั้นแล้วอาจยังถูกนายจ้างหักเงิน หรือเลิกจ้าง หรือไม่ก็หาคนงานใหม่ยกชุดเข้ามาแทน การเป็นเอกภาพของแรงงานจึงไม่ได้จำกัดอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่ยังหมายถึงผู้ที่ทำอาชีพเดียวกันในต่างองค์กรอีกด้วย และหากต้องการให้กลไกการหยุดงานมีผลต่อการเมืองในระดับกว้างขึ้นในระดับประเทศ ก็ต้องมีสมาชิกสหภาพฯ เป็นแรงงานทั้งประเทศ การนัดหยุดงานของแรงงานทั้งประเทศ จึงจะเป็นแรงสั่นสะเทือนในการต่อรองได้อย่างแท้จริง เพราะทำให้กลไกการทำงานของทั้งประเทศหยุดเดิน ดังนั้น หากต้องการให้อำนาจต่อรองของแรงงานมีมากเท่าใด ก็จะต้องมีสหภาพฯ ที่ครอบคลุมแรงงานมากขึ้นเท่านั้น จึงจะมีอำนาจต่อรองมากตามจำนวนสมาชิกขึ้นไปด้วย รวมถึงเรื่องสวัสดิการ หากต่อรองได้มาก สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่แรงงานควรจะมี ก็สามารถเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง ไปกับเรื่องอื่น ๆ ได้

         การเสนอข้อเรียกร้องของสหภาพฯ อาจมีการตกลงกันมาก่อนกับนายจ้าง เช่น หากไม่ให้ในสิ่งที่แรงงานต้องการ จะมีการนัดหยุดงานเป็นเวลากี่วัน วันไหนบ้าง และอาจเพิ่มมาตรการไปเรื่อย ๆ หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของการหยุดงานจึงต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรม เช่น อยากได้สวัสดิการเพิ่ม เพิ่มอะไร การประกันสุขภาพ อย่างไรบ้าง เพิ่มเท่าไหร่ ใครมีสิทธิ์ หรือการต้องการบำนาญ เป็นต้น การกล่าวคำว่าต้องการสวัสดิการลอย ๆ โดยไม่เป็นรูปธรรม ไม่มีเป้าหมาย และกรอบเวลาที่ชัดเจน จึงไม่เป็นผล และยิ่งไม่มีสหภาพแรงงานด้วยแล้ว ก็ยากที่จะเป็นผลบวกต่อแรงงาน กระนั้นแล้ว การมีสหภาพแรงงาน แต่จำนวนของผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้นยังเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมดในสายอาชีพเดียวกัน ก็อาจทำให้การเรียกร้องนั้นไม่สำเร็จ เช่น สหภาพแรงงานนักวิชาการในสหราชอาณาจักรที่มีการหนัดหยุดแบบไม่ต่อเนื่องเป็นรายวันและหนักข้อขึ้นในแต่ละสัปดาห์เพื่อสู้เรื่องการโดนตัดเงินบำนาญ[1]หรือการนัดหยุดงานของสหภาพ Verdi ในเยอรมนีต่อบริษัท Amazon[2]และการที่สหภาพแรงงานไม่ได้รวมแรงงานในสายอาชีพอื่นเข้าร่วมด้วย ก็ยิ่งทำให้โอกาสความสำเร็จน้อยลง เพราะยังสร้างผลกระทบได้ไม่มาก หากสหภาพแรงงานที่แรงงานหลากหลายอาชีพนัดหยุดงานพร้อมกันเพื่อผลประโยชน์คนแรงงานกลุ่มอื่น ก็จะมีผลกระทบต่อนายจ้างในภาพรวมได้มากกว่า จะสร้างการต่อรองร่วม (collective bargaining) ได้มากกว่า แรงงานจึงต้องมีเอกภาพในการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน แล้วเพราะเหตุใดจึงต้องเห็นใจแรงงานกลุ่มอื่น ? ก็เพราะหากมีสำนึกความเป็นแรงงาน ย่อมมีความเห็นใจผู้ที่ได้รับค่าจ้างเหมือนกัน เพราะเป็นคนหัวอกเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวไป จะเป็นข้าราชการทำงานในห้องแอร์กับกรรมกรแบกข้าวสาร ก็คือแรงงานเหมือนกัน สวัสดิการของแรงงาน จึงขึ้นอยู่กับว่าแรงงานนั้นมีความเป็นเอกภาพมากน้อยแค่ไหน

         การรวมกลุ่มก้อนของแรงงานจึงสำคัญมาก จึงสังเกตได้ว่าประเทศที่เราเรียกว่าเป็นรัฐสวัสดิการ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน เดนมาร์ก หรือฟินแลนด์ นั้นมีจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานสูงมาก เมื่อปี 2019 ไอซ์แลนด์สูงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิกถึง 90.7% ของแรงงานทั้งหมด ตามมาด้วยเดนมาร์เป็นอันดับสอง 67% สวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ เป็นอันดับถัดลงมา ซึ่งมีสมาชิก 65.2% 58.8% และ 50.4% ตามลำดับ (OECD 2021) จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีสวัสดิการดีนั้น ส่วนมากจะมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดการนัดหยุดงานกันจนระบบเดินไม่ได้ เพราะความสามารถในการขู่ว่าจะสามารถนัดหยุดการได้ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแรงงาน และทำให้นายทุน/นายจ้างนั้นเกรงกลัวต่อการกดขี่แรงงาน การหยุดงานจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจริง เพียงแต่เป็นการ “สู้บนกระดาน” ของแรงงานกับนายทุนเท่านั้น 

แต่นั่นก็คือตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยมากที่ต้องคำนึงถึงในการจะไปให้ถึงรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นนายทุนน้อย (petty bourgeoisie) การจ้างงานที่ไม่มั่นคง ภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการ แรงงานนอกระบบ และกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap)

อ้างอิง

Hewison, Kevin. 2005. ‘Neo-Liberalism and Domestic Capital: The Political Outcomes of the Economic Crisis in Thailand’. The Journal of Development Studies41(2): 310–30.

Marx, Karl, and Friedrich Engels. 2014. The Communist Manifesto. New edition. New York: International Publishers Co.

OECD. 2021. ‘Trade Union Dataset’. https://stats.oecd.org/Index.aspx?DataSetCode=TUD (July 19, 2021).


[1] ดู https://www.ucu.org.uk/strikeforuss

[2] https://www.dw.com/en/germany-verdi-calls-on-amazon-staff-to-strike-for-three-days/a-57977216

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: