ขวัญข้าว คงเดชา

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันเป็นประเด็นเปราะบางที่หลายประเทศเฝ้าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอธิปไตยภายใต้การปกครองของจีน หรือประเด็นการคานอำนาจระหว่างจีนและรัฐอื่นโดยมีชะตาของไต้หวันและความมั่นคงภายในภูมิภาคเป็นเดิมพัน อิทธิพลของประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นจนสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่ม The Quad ต้องรีบวางกลยุทธ์เพื่อที่จะต่อกรกับความเสี่ยงจากการเติบโตของประเทศจีน หนึ่งในตัวแสดงที่สำคัญผู้ก้าวเข้ามามีบทบาทคือญี่ปุ่น ในปี 2021 ความเปลี่ยนแปลงในท่าทีของญี่ปุ่นต่อประเด็นของไต้หวันและอิทธิพลของจีน ถือเป็นก้าวสำคัญที่อาจจะเปลี่ยนสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน และนำความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามประเทศไปสู่ความตึงเครียดฉบับใหม่
อิทธิพลจีน ภัยความมั่นคงใหม่สำหรับสหรัฐและพันธมิตร
ความพยายามในการขยายเขตอิทธิพลของจีนพบได้ในสามมิติหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง จากที่ปรากฏในโครงการต่าง ๆ ที่จีนได้มีการดำเนินการกับหลายประเทศหลากภูมิภาคทั่วโลก อาทิโครงการ BRI การสนับสนุนทางโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศโลกที่สาม หรือการตั้งฐานทัพในพื้นที่อื่น ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างการมีอยู่ (presence) ของจีนไว้ในจุดยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อกลยุทธ์ในการเพิ่มอิทธิพลของตนเองภายในโลก ฉะนั้นแล้ว การดำเนินการเชิงรุกเช่นนี้ของจีนได้สร้างความหวาดระแวงให้แก่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่ว่าจะด้วยตัวระบอบของประเทศจีนที่ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ หรือผลประโยชน์ที่อาจจะไม่ลงรอยซึ่งกันและกัน ทำให้อิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นนั้นกลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเพื่อต่อกรกับการเติบโตของจีนแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ มีการดำเนินการเพื่อค้านอำนาจหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งกลุ่ม Quad ขึ้นมา Quadrilateral Security Dialogue คือกลุ่มภาคี 4 ประเทศต้านจีน ประกอบไปด้วยสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นกรอบความร่วมมือในหลายมิติเพื่อความมั่นคง เสรีภาพ และประชาธิปไตยภายในภูมิภาค (แน่นอนว่ารวมไปถึงมิติทางการทหารด้วยเช่นเดียวกัน)
ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ The Quad และประเทศพันธมิตรกับสหรัฐฯ โดยในแง่หนึ่ง หลายคนอาจจะถือว่าญี่ปุ่น (กับเกาหลี) นั้นเป็นประเทศที่ทำหน้าที่คล้ายกระบอกเสียงคอยส่งเสริมและชูนโยบายของสหรัฐฯ ภายในภูมิภาคก็เป็นได้ แต่การมองว่าทั้งสองประเทศนั้นอยู่ภายใต้การบงการของสหรัฐฯ ก็คงจะเป็นการมองที่ตื้นเขินเกินไป ทั้งสองต่างมีผลประโยชน์และต่างตอบแทนกับสหรัฐฯ ไม่มากก็น้อย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจกับการคบค้าสมาคมและท่าทีที่สนิทสนมเช่นนี้
อิทธิลของจีนเป็นที่ระแวงของหลายประเทศภายในภูมิภาค ไม่ใช่แค่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและญี่ปุ่นนั้นดำเนินมาแบบเย็นชา แม้ทั้งคู่ต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญต่อกัน แต่ประเด็นทางการเมือง อย่างข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู และบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่นั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่ราบรื่นเท่าไรนัก บ่อยครั้งที่มีความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความตึงเครียด ยิ่งเมื่อญี่ปุ่นมีนโยบายเข้าหายุทธศาสตร์ Free and Open Indo- Pacific ของสหรัฐฯ และร่วมตัวกับกลุ่ม Quad ทางการจีนยิ่งแสดงออกถึงท่าทีของความกังวล และยังได้ส่งสาสน์ผ่านแถลงการณ์เตือนญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง
จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ภายในปี 2021
ประเด็นเรื่องของความมั่นคงที่สำคัญภายในภูมิภาคคือเรื่องของไต้หวัน ความพยายามที่จะแยกตัวและจัดตั้งรัฐที่มีอธิปไตยของตัวเองของไต้หวันขัดกับท่าทีของทางการจีนที่ยังยืนยันถึงการเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันของจีนแผ่นดินใหญ่ ประเด็นเรื่องของไต้หวันมักจะมีการแสดงออกอย่างแข็งก้าวของจีนในนการตอบโต้ โดยทางการจีนมองว่านี้เป็นเรื่องภายในประเทศและการเข้ามามีบทบาทของประเทศอื่นนั้นถือเป็นการรุกล้ำในอำนาจอธิปไตยของจีน หรือเป็นการสนับสนุนจากอิทธิพลภายนอกในการแบ่งแยกดินแดนของจีน ฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เป็นอันขาด
ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายประเทศยืนยันรับหลักการจีนเดียว (one China policy) ที่มีรากฐานมาจาก Shanghai communique สมัยสงครามเย็น แม้ว่าจะมีการแสดงออก การสนับสนุน การเจรจาและดำเนินความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการมากนัก แต่ก็ยังไม่มีใครที่ปฏิเสธหลักการจีนเดียวนั้น (ปัจจุบันมีประเทศที่ให้การรับรองไต้หวันเป็นรัฐเหลือเพียงไม่ถึง 17 ประเทศ เนื่องจากได้เริ่มมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น)จนกระทั่งเกิดความเคลื่อนไหวในท่าทีของญี่ปุ่น จนมีความกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศที่รุนแรงกว่าเดิม
ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยเอกสารปกขาว (white paper) หรือเอกสารด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นที่ซึ่งภายในเอกสารนั้นกล่าวถึงไต้หวันอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งการเอ่ยถึงภัยความมั่นคงของไต้หวันนั้นเท่ากับภัยความมั่นคงภายในภูมิภาคจากการกระทำของจีน ยังมีการเขียนยอมรับในว่าไต้หวันนั้นเป็นประเทศ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน (ผิดกับเอกสารปกขาวที่ผ่านมาของญี่ปุ่น) ญี่ปุ่นยืนยันว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือไต้หวันหากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น
และในการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่จัดในเดือนกรกฎาคม ในช่วงพิธีเปิด ตลอดมาไต้หวันไม่สามารถเดินถือธงของตนเองได้และมักจะต้องเดินเข้าสนามพร้อมกับจีนภายใต้ชื่อของ Chinese Taipei แต่ในพิธีการเปิดครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป ได้มีการขานเรียกชื่อ ‘ไต้หวัน’ แทนการเรียกว่า Chinese Taipei และทีมตัวแทนจากไต้หวันยังได้เดินเข้าสนามในลำดับตัวอักษรแยกจากจีน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเรียกความสนใจจากหลายประเทศ ในขณะที่บางกลุ่มก็ออกมาโจมตีว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร การแข่งขนโอลิมปิกไม่ควรถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทว่าไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ กิจกรรมประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล โลก ประกวดนางงาม หรือแม้แต่การแข่งขันทางกีฬา ย่อมเป็นทางการเมือง อำนาจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย
แน่นอนว่าหลังเหตุการณ์ทั้งสอง (ไม่ว่าจะในระดับเล็กน้อยเหมือนไม่ทางการอย่างการแสดงออกในงานโอลิมปิก หรือในระดับความมั่นคงของรัฐอย่างเอกสารปกขาว) ทางการจีนได้ออกมาแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงและกล่าวตำหนิท่าทีของญี่ปุ่นว่าเป็นการสร้างความแตกแยก ปั่นกระแส และเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศของจีน ประเด็นเรื่องของไต้หวันไม่ใช่เรื่องที่ประนีประนอมกันได้ในสายตาของจีน ในวันครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวปาฐกถา มีใจความตอนหนึ่งถึงไต้หวันว่า จีนจะดำเนินการรวมชาติ (national unification) และกำจัดแนวคิดและความพยายามสร้าง ‘ความเป็นเอกราชไต้หวัน’ (Taiwan independence) โดยทางจีนถือว่านี้เป็นภารกิจครั้งประวัติศาสตร์
ตลอดมาถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ของจีนและญี่ปุ่นจะไม่ได้ราบรื่นแต่ก็ยังปฏิบัติต่อกันอย่างสงวนท่าที พยายามจะไม่ให้เกิดการปะทะกัน ทว่าการกระทำทั้งสองภายในเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่นกำลังบ่งบอกถึงทิศทางและกระแสของความตึงเครียดที่จะเปลี่ยนไป จากที่แต่ก่อนนั้นไม่ได้มีความเป็นทางการในการสนับสนุไต้หวันมากนัก แต่มาในวันนี้กลับมีการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งมากยิ่งกว่าเดิม โดยปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อการกระทำเช่นนี้ของญี่ปุ่นอาจจะเกิดขึ้นเพราะ 1. ท่าทีแข็งกร้าวของจีน เช่นในคำปาฐกถา และ 2. นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏชัดว่าญี่ปุ่นนั้นต้องการที่จะสะท้อนให้ทางการจีนเห็นถึงจุดยืนของญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวนั้นมีผลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การค้านอำนาจกับจีนในระดับภูมิภาค (ที่ซึ่งสนับสนุนด้วยสหรัฐฯ เป็นกำลังสำคัญ) แม้จะไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าการกระทำภายในปี 2021 ของญี่ปุ่นนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยน แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวหนึ่งที่อาจจะส่งผลต่อท่าทีและนโยบายการต่างประเทศของรัฐอื่น ซึ่งในที่สุดอาจจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในประเด็นของไต้หวันและจีน
ทั้งนี้ โดยที่ไม่ต้องสงสัยเส้นทางในอนาคตย่อมมีการยกดับของความตึงเครียดเนื่องจากท่าทีและการแสดงออกของญี่ปุ่นในครั้งนี้อย่างแน่นอน ทางการจีนที่สั่งสมอิทธิพลของตนเอง ยืนยันหนักแน่นว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนเองให้ถึงที่สุด และนั้นก็ร่วมไปถึงไต้หวันที่ถือเป็นเรื่องภายในประเทศด้วยเช่นเดียวกัน