นายศิปภน อรรคศรี

เศรษฐกิจโลกกำลัง disruption ?
ช่วงเวลาปี พ.ศ. 2564 กล่าวได้ว่ากระแสของการหยิบยกคำว่า “disruption” ยังคงถูกนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ หรือ influencer หลายคนนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมเกิดการปรับตัวหลังจากมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ทว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีนั้นส่งผลให้เศรษฐกิจมีความพลิกผันไปจากเดิมมากเพียงใด แล้วความพลิกผันดังกล่าวนั้นมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร หรือในทางกลับกัน เรากำลังประเมินปรากฎการณ์ของ disruptive economy สูงเกินจริงไปหรือไม่ ด้วยเหตุนี้บทความชิ้นนี้จึงต้องการเชิญชวนผู้อ่านร่วมสำรวจที่มาที่ไปของคำว่า “disruption” ทั้งในแง่การใช้ในสหรัฐอเมริกา และการนำเข้าสู่บริบทประเทศไทย ก่อนที่จะเป็นการพิจารณาข้อวิจารณ์ของ Daron Acemoğlu นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่โต้แย้งเรื่อง disruptive economy ก่อนที่จะย้อนมองกรณีเศรษฐกิจการเมืองไทยในที่สุด
Disruption คืออะไร?
เมื่อย้อนไปหารากเหง้าที่มาของคำว่า “disruption” พบว่ามาจากคำว่า “disrumpere” ภาษาละติน แปลว่า “แตกออกจากกัน” (break apart) โดยที่การนำคำว่า disruption มาใช้ในโลกวรรณกรรมภาษาอังกฤษนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 แล้วในลักษณะความหมายของ “การแตกหัก หรือแตกแยก” ขณะที่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จึงเริ่มมีการนำคำว่า “disrupt” มาใช้ประกอบเข้ากับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Merriam-Webster, 2021)
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 กล่าวได้ว่ามีอย่างน้อยสองกระแสแนวคิดสำคัญที่ริเริ่มนำคำว่า “disruption” มาใช้ในเชิงบวก กระแสแรกคือ แนวคิด“disruptive methodology” ที่ริเริ่มกระแสโดย Jean-Marie Dru นำคำว่า “disrupt” มาผนวกเข้ากับบริบทของสาขาการตลาด ส่งผลให้กลายเป็นคำอธิบายที่มีต่อการแตกออกจากวิธีคิดทางธุรกิจแบบเดิมสู่การคิดทางธุรกิจอย่างสร้างสรรค์แปลกใหม่ (Dominique Nora, 2016)
ขณะที่กระแสที่สอง มาจากงาน “The Innovator’s Challenge” (1992) ของ Clayton M. Christensen ที่นำคำว่า “disrupt” มาใช้อธิบายถึงนวัตกรรมที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในการผลิต ส่งผลให้เกิดแนวคิด “disruptive innovation”
ทั้งนี้ด้วยความที่ทั้งสองกระแสแนวคิดมีจุดนิยามต่อ disruptive ที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้เกิดความต้านต่ออีกกระแสแนวคิดหนึ่ง สังเกตได้จากบทความ “What Is Disruptive Innovation?” (2015) ที่เขียนร่วมโดย Christensen, Raynor และ Mcdonald ที่ต้องการวิพากษ์ต่อการนำคำว่า “disruption” ไปใช้อย่างผิดวิธี เนื่องจากเพียงการมีนวัตกรรมใหม่หรือความสำเร็จของธุรกิจนั้นไม่สามารถสะท้อนถึงความ disruption แต่อย่างใด ทว่าต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ตลาด อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน
ในทางกลับกัน ทางด้านของ Jean-Marie Dru เองก็ตอบโต้ในบทความ “True Disruption” (2015) เพื่อยืนกรานว่า “disruption” ในทัศนะของเขาเองถูกต้องแล้ว แต่เป็น Christenen ต่างหากที่วางกรอบแนวคิดแคบเกินไป โดยยกตัวอย่างบริษัทที่ใช้นวัตกรรมใหม่แล้วประสบความสำเร็จ เช่น Xiaomi, Alibaba หรือ Spotify เป็นต้น ว่าบริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จเพราะวิธีคิดแบบ disruptive approach
ด้วยเหตุนี้จากตัวอย่างบทความข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของกระแสแนวคิดเรื่อง “disruption” ที่แล้วแต่ผู้อ่านจะเลือกสนับสนุนฝ่ายใด หรือทั้งสอง หรือปฏิเสธทั้งสองเพื่อก่อเกิด “disruption” ในความหมายใหม่ๆ ก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้เมื่อสังเกตความสนใจของนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์อย่าง Acemoğlu แล้ว เขาจะให้ความสนใจและมีคำอธิบายอย่างไรต่อปรากฎการณ์ disruption กรณีต่อไปจึงเป็นการทำความเข้าใจผ่านแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของ Daron Acemoğlu
บรรณานุกรม
Christensen, C. M. (1992). The innovator’s challenge: Understanding the influence of market
environment on processes of technology development in the rigid disk drive industry.
Dru, J. M. (1997). Disruption: Overturning conventions and shaking up the marketplace. New York:
John Wiley & Sons.
เว็บไซต์
Christensen, C. M., Raynor, M. E. & McDonald, R. What Is Disruptive Innovation?. Retrieved from:
https://hbr.org/2015/12/what-is-disruptive-innovation. Retrieved: 22 July 2021.
Dru, J. M. (Dec. 21, 2015). True Disruption. Retrieved from: https://www.linkedin.com/pulse/true-
disruption-jean-marie-dru. Retrieved: 22 July 2021.
Nora, D. (Jan. 22, 2016). Le concept de “Disruption” expliqué par son créateur. Retrieved from:
https://www.nouvelobs.com/economie/20160122.OBS3214/le-concept-de-disruption-explique-par-son-createur.html. Retrieved: 22 July 2021.
On the Disruption of ‘Disrupt’. (2021). Retrieved from: https://www.merriam-webster.com/words-
at-play/the-new-meaning-of-disrupt. Retrieved: 22 July 2021.