Articles

[II] เศรษฐกิจการเมืองไม่พลิกผัน (undisruptive political economy): ทัศนะของ Daron Acemoğlu ต่อประเด็น “disruptive economy”

นายศิปภน  อรรคศรี

(Un) Disruptive economy ในทัศนะของ Acemoğlu

            หากกระแสแนวคิดทั้งสองแนวดังที่กล่าวไปนั้นเป็นการสนับสนุนต่อกระแสคิดเรื่อง disruption ถ้าเช่นนั้นในทางกลับกัน ผลในมุมกลับที่จะตามมาของการ disruption จะเป็นอย่างไร หรือแท้จริงแล้ว disruption ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติอันเป็นการปฏิวัติวงการเศรษฐกิจมากเพียงนั้น  เพื่อตอบโต้กับกระแส disruption ทางนักวิชาการอย่าง Daron Acemoğlu ได้นำเสนออีกมุมมองที่น่าสนในไว้ในบทสัมภาษณ์ที่มีหัวข้อว่า “Political Economy in the 21st Century – Daron Acemoğlu & Martin Wolf”[1] โดยคำถามสำคัญที่พิธีกรได้วางเป็นหลักตั้งต้นในการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือ disruptive technologies ส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ และทิศทางของปรากฎการณ์นี้เป็นอย่างไร” ทาง Acemoğlu เองก็ตั้งต้นว่าการเข้ามาของหุ่นยนต์หรือจักรกลในกระบวนการผลิตต่างก็ไม่ส่งผลต่างกันในเชิงคุณภาพ ไม่สามารถเทียบได้เลยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษที่ริเริ่มจากนวัตกรรมเครื่องปั่นด้ายที่ส่งผลให้วิถีการผลิตของระบบอุตสาหกรรมพัฒนาอย่างก้าวกระโดด นอกจากนั้น Acemoğlu ได้ตั้งข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ประการ ต่อความ undisruptive ของหุ่นยนต์, จักรกล หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อวิถีการผลิตในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ดังนี้

            ประการแรกเป็นเรื่องของความเข้าใจผิดต่อตัวแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์จะเชื่อว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีจะส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทางกลับกัน เป็นการส่งผลให้เกิดการแทนที่แรงงานที่มีหน้าที่ผลิตอยู่เดิม อีกทั้งยังเพิ่มผลิตภาพเพียงเล็กน้อยมากในเชิงเปรียบเทียบกับการผลิตด้วยแรงงานแบบเดิม โดยสังเกตได้จากภาคการเกษตร สิ่งที่เรียกว่า disruptive technologies ไม่ได้สร้างอาชีพใหม่ให้ภาคการเกษตร หากแต่เทคโนโลยีใหม่กลับมาแทนที่ส่วนการผลิตที่มีอยู่ก่อนแล้ว ส่งผลให้เกิดการยังเบียดขับแรงงานภาคการเกษตรที่มีอยู่เดิมให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

            ประการที่สองคือ เมื่อเกิด disruptive technologies แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องปรับตัวตามในวิถีการผลิตจำเป็นต้องมีทั้งการปรับตัวทางเทคโนโลยีควบคู่กับการปรับตัวเชิงสถาบัน ซึ่งจะมีจำกัดเพียงผู้ประกอบการและผู้ผลิตนวัตกรรมที่จะสามารถเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นฝ่ายการเมืองจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สนับสนุนการกระจายความมั่งคั่งให้ครอบคลุม เพื่อให้คนกลุ่มอื่นสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เช่นกัน  

            นอกจากนั้นแล้ว Martin Wolf วิทยากรร่วมในบทสัมภาษณ์ข้างต้นได้สนับสนุนทำนองเดียวกับที่ Acemoğlu ตั้งข้อสังเกตไว้ โดย Wolf ก็เห็นด้วยเช่นกันว่า ปรากฎการณ์ disruptive technology ที่ทั่วโลกให้ความสนใจนั้นไม่สามารถเทียบกับเหตุการณ์ปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีตได้เลย เนื่องจากแท้จริงแล้วความมั่งคั่งที่เกิดจาก disruptive technology มีเพียงเล็กน้อยมาก ทว่ากลับส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ลดลงอันเป็นเหตุให้การกระจายรายได้ลดลงอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วน เพราะเทคโนโลยีล้ำสมัยนั้นผูกขาดอยู่เพียงในกลุ่มทุนแคบๆ

Acemoğlu กำลังด้อยค่า Disruptive Technologies จริงหรือ?

ทว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อทำความเข้าใจต่อปรากฎการณ์ undisruptive technologies ตามที่ Acemoğlu  บรรยายไว้ ย่อมเข้าใจได้ว่าเขาไม่ได้กำลังด้อยค่าต่อ disruptive technologies เสียทีเดียว เนื่องจากเขาได้นำเสนอถึงความผิดพลาดของตัวมนุษย์เองที่ได้ใช้งาน disruptive technologies อย่างผิดวิธี ซึ่งนั่นสะท้อนว่าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดตัวของ disruptive technologies เอง โดย Acemoğlu ยังได้เสนอไว้ว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเป็นไปได้อย่างกว้างขวาง หากแต่มนุษย์เองที่จำกัดการใช้งานศักยภาพของระบบอย่างแคบเอง ทั้งที่ตัวเทคโนโลยีสามารถถูกนำมาใช้เพื่อการขยายขอบเขตการสร้างงานใหม่ รวมถึงสามารถส่งเสริมการผลิตทดแทนด้านการเกษตรที่กำลังการผลิตถดถอยลงเรื่อยๆ อันเกี่ยวพันกับปัญหาของความมั่นคงทางอาหารที่เป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสมัยใหม่อีกด้วย

ตัวอย่างที่น่าสนใจที่ Acemoğlu ได้ยกไว้คือ การที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกสังคมพูดถึงกันว่าจะมีการนำมาใช้แทนที่อาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษา ซึ่งผลที่ตามมาคือการจ้างงานในลักษณะของการแทนที่ตำแหน่งงานของแรงงานที่มีอยู่เดิมในระบบ และกลายเป็นการไล่อาจารย์ให้ออกจากระบบการจ้างงานของสถานศึกษาไปแทน ในทางกลับกัน เหตุใดปัญญาประดิษฐ์จึงไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนผู้สอนในการควบคุมการสอนให้ราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความพร้อมทางจิตใจของผู้เรียน หรือแนวทางปรับการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างที่ Acemoğlu ได้ยกมานั้นสะท้อนให้เห็นประเด็นอย่างน้อย 2 ข้อที่จำเป็นต้องคิดตามมา

ข้อแรกคือ ประเด็น disruptive technologies ไม่ได้เป็นประเด็นทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นทางการเมืองเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงจากการ disruption ส่งผลให้การจ้างงานถูกแทรกแซงด้วยการเข้ามาของจักรกลการผลิตที่มีหน้าที่ซ้ำซ้อนกับตำแหน่งงานของมนุษย์ เช่นนั้นแล้วอำนาจทางการเมืองควรถูกนำมาใช้อย่างไรเพื่อรองรับแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง นโยบายสาธารณะแบบใดที่สังคมต้องการ สหภาพแรงงานจะสามารถสร้างอำนาจการต่อรองให้แรงงานได้รับความเป็นธรรมอย่างไร หรือจะได้รับตำแหน่งงานใหม่ที่เหมาะสมได้อย่างไร รวมถึงสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไปด้วยกันได้อย่างไร รวมถึงความเป็นการเมืองของการนิยามความเป็นแรงงานด้วยว่าคุณสมบัติแบบใดจึงจะนับเป็นแรงงาน หรือแบบใดคือการตั้งตัวเป็นนายทุนน้อยที่สามารถควบคุมวิถีการผลิตด้วยทุนทรัพย์ที่เขามีอย่างเพียงพอ และยังมีประเด็นที่มีความเป็นการเมืองอีกมากซึ่งจำเป็นจะต้องคิดตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกจากนั้น ข้อสองจึงเป็นเน้นย้ำว่าลำพังความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงด้วย disruptive technologies ลำพังตัวแบบการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์ หรือการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ไม่เพียงพอที่จะรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่ยังจำเป็นต้องรับมือด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ให้สังคมมีความพร้อมในแต่ละสาขาวิชาอย่างรอบด้าน วิชารัฐศาสตร์สำคัญต่อการทำความเข้าใจความเป็นการเมืองในการต่อรองผลประโยชน์ให้สังคมได้รับความเป็นธรรม และเข้าใจการออกแบบสถาบันการเมืองที่ใช้ในรับมือปัญหาที่มนุษย์กำลังเผชิญ วิชาประวัติศาสตร์จำเป็นมากในการวิเคราะห์พัฒนาการของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญในห้วงประวัติศาสตร์ท่านมา หรือแม้แต่การเข้าใจอดีตเพื่อมองหาเส้นทางการพัฒนาที่มนุษย์กำลังมุ่งหน้าไปข้างหน้า หรือวิชาปรัชญาที่จะช่วยให้มนุษย์ตั้งคำถามกับตนเอง สิ่งรอบตัว หรือแม้แต่ทำความเข้าใจเส้นขอบฟ้าแห่งความรู้ที่มนุษย์สามารถเข้าถึงหรือไม่มีทางไปถึงได้ นอกจากนั้นยังมีองค์ความรู้อีกมากในโลกที่จำเป็นต้องนำมาประกอบเข้ากันแต่ละส่วนเพื่อให้เข้าใจยุคสมัยแห่ง disruptive technologies ที่มนุษย์จำเป็นต้องเผชิญและก้าวข้ามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

คำถามส่งท้าย: โจทย์ใหม่ของเศรษฐกิจการเมืองโลก ในศตวรรษหน้า?

ทั้งนี้จากสิ่งที่ผู้เขียนได้ทำความเข้าใจจากทั้งจุดเริ่มต้นของนวคิดเรื่อง “disruption” หรือความคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของ Acemoğlu จึงสามารถสรุปอย่างรวบรัดได้ว่า คำตอบอันแหลมคมที่มีต่อกระแส disruptive technologies นำมาสู่คำถามใหม่อันท้าทาย เหตุก็คือ คำตอบของวิทยากรทั้ง Acemoğlu และ Wolf ได้นำมาสู่คำถามสำคัญที่เศรษฐกิจการเมืองของสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และสหรัฐฯ กำลังประสบความล้มเหลวในการรับมืออย่างท่วงทีกับความเปลี่ยนแปลงฉับพลันของเทคโนโลยี นั่นก็คือคำถามที่ว่า “ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของ disruptive technologies เราจะสามารถจัดหางานที่ดีซึ่งจะเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ประชาชนได้อย่างไร” ซึ่งคำถามดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนให้เห็นวิกฤตทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ต้องหาทางช่วยเหลือแรงงานที่กำลังประสบปัญหาจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและการผูกขาดเทคโนโลยีของกลุ่มทุนใหญ่ หากแต่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือในการใช้อำนาจจัดสรรผลประโยชน์เพื่อให้การกระจายรายได้ให้ครอบคลุมแรงงานในหลายภาคส่วนการผลิต และเกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว การผู้เขียนได้หยิบยกบทสัมภาษณ์ของ Acemoğlu หรือ Wolf ในข้างต้นทั้งหมดนี้ วัตถุประสงค์หลักเป็นไปเพื่อให้ได้เข้าใจกันว่าประเด็น disruptive technologies ควรถูกเข้าใจอย่างกว้างขวางมากขึ้นในลักษณะการตัดข้ามสาขาวิชา (transdisciplinary) เนื่องจากประเด็นข้างต้นไม่ควรถูกถกเถียงกันเพียงเฉพาะในพรมแดนของความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ หากแต่ประเด็นดังกล่าวยังเข้าปริมณฑลของความเป็นการเมือง ไม่ว่าจะการตั้งคำถามถึงอำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมแก่แรงงาน (ในฐานะที่ประชาชนทุกคนต่างก็เป็นพลังการผลิตในระบบตลาด ไม่ว่าทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าตอนนี้ อดีต หรือในภายภาคหน้าก็ตาม) ผ่านการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ผู้ออกแบบจำเป็นยิ่งที่จะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงภายใต้ยุค disruption ประกอบกับการพิจารณาว่ามีใครบ้างที่ได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี, ใครบ้างที่จะถูกกีดกันออกจากการจ้างงานในระบบตลาดยุค disruption, แล้วจะช่วยเหลืออย่างไรกับผู้ที่ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็น “คนหลงทาง” ที่ไม่ทราบถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในระบบการจ้างแรงงาน ไม่ทราบว่าตนจะเป็นนายทุนน้อย หรือแรงงานอันไม่ได้รับความชอบธรรมในการคุ้มครองภายใต้ระบบตลาดที่ไร้ความมั่นคงในการจ้างงาน หรือใครบ้างที่ควรได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อรับมือปัญหาในโลกสมัยใหม่ที่ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี นี่คือสิ่งที่รัฐบาลในโลกยุคใหม่พึงตระหนักถึง “คำถามแห่งยุคสมัย” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไม่ว่าจะรับรู้ถึงมันหรือไม่ก็ตาม

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่คำถามส่งท้ายอีกหนึ่งประการว่า แล้วไทยมีความพร้อมเพียงใดในการรับมือกับ disruptive technologies ที่จะสร้างศักยภาพเศรษฐกิจการเมืองไทยให้เพียงพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุค disruption โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงาน (ในความหมายของทุกคนที่ทำหน้าที่ตามที่ได้รับการจ้างงาน โดยไม่คำนึงว่าตัวแรงงานเองจะมีสำนึกความเป็นแรงงานก็ตาม) ที่ได้รับผลกระทบในการกีดกันจากหน้าที่การงานอันได้รับผลกระทบจากการแทนที่ตำแหน่งงานด้วยจักรกลการผลิตที่มีเทคโนโลยีใหม่ รัฐบาลมีความพร้อมเพียงใด ระบบราชการมีความพร้อมเพียงใด โครงสร้างสถาบันการเมืองเปิดโอกาสให้เดินหน้าปรับตัวต่อเศรษฐกิจการเมืองยุค disruption มากแค่ไหน ทั้งนี้ทั้งนั้น ไทยล่ะมีความพร้อมรับมือแม้เพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือยัง หรือตั้งธงแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแต่แรกแล้วหรือไม่?

บรรณานุกรม

Christensen, C. M. (1992). The innovator’s challenge: Understanding the influence of market

environment on processes of technology development in the rigid disk drive industry.     

Dru, J. M. (1997). Disruption: Overturning conventions and shaking up the marketplace. New York:

John Wiley & Sons.

เว็บไซต์

Christensen, C. M., Raynor, M. E. & McDonald, R. What Is Disruptive Innovation?. Retrieved from:

https://hbr.org/2015/12/what-is-disruptive-innovation. Retrieved: 22 July 2021.

Dru, J. M. (Dec. 21, 2015). True Disruption. Retrieved from: https://www.linkedin.com/pulse/true-

disruption-jean-marie-dru. Retrieved: 22 July 2021.

Nora, D. (Jan. 22, 2016). Le concept de “Disruption” expliqué par son créateur. Retrieved from:

https://www.nouvelobs.com/economie/20160122.OBS3214/le-concept-de-disruption-explique-par-son-createur.html. Retrieved: 22 July 2021.

On the Disruption of ‘Disrupt’. (2021). Retrieved from: https://www.merriam-webster.com/words-

at-play/the-new-meaning-of-disrupt. Retrieved: 22 July 2021.


[1] สามารถรับชมได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=dJX6klIaPqk

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: