Articles

การเรียกร้องรัฐสวัสดิการ: กับดักรายได้ปานกลางและการจ้างงานที่ไม่มั่นคง [ตอนจบ]

ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์

การที่เศรษฐกิจไม่มีความมั่นคง และไม่สามารถหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เป็นสาเหตุทำให้รัฐสวัสดิการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เพราะนอกจากจะไม่สามารถมีเงินพอมาจ่ายสวัสดิการแม้แต่ขั้นพื้นฐานได้แล้ว แม้ว่าจะเชื่อใน trickle-down effect ที่เชื่อว่าความมั่งคั่งจะตกลงมาสู่พื้นดินหรือไม่ก็ตาม มันยังทำให้สถานการณ์จ้างงานของแรงงานย่ำแย่ไปอีกด้วย ทำให้กำลังในการผลิตไม่เพียงพอ และยังทำให้ตลาดไม่สมบูรณ์ (incompleted market) ทำให้เกิดความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน (Jitsuchon 2012, 16) การกระจายรายได้ของประเทศจึงไม่สมดุล และเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นถึงขีดสุด (Phongpaichit 2016) แม้คำว่ากับดักรายได้ปานกลางจะดูเชย แต่ก็เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา (Phongpaichit and Benyaapikul 2012) ดังนั้น ไม่ใช่แต่เพียงการจะแก้ปัญหานี้ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมมาเพื่อค้าขายให้มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ปัญหานี้มันได้เปิดโปงให้เราเห็นถึงปัญหาของแรงงานที่ถูกผลักให้ออกจากระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ (formal sector) ทำให้หมดโอกาสในการเป็นแรงงานที่สามารถรวมตัวกันเป็นเอกภาพ เป็นกลุ่มก้อน ที่สามารถมีอำนาจต่อรองสวัสดิการได้ กลายเป็นแรงงานที่เปราะบาง ไม่มั่นคง จนถูกบีบให้กลายเป็นนายทุนน้อย

         ทุนนิยมจึงต้องการทำให้แรงงานมีความเปราะบางและอ่อนแอมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงต้องการให้แรงงานทำงานให้กับนายทุนให้ได้ผลผลิตมากที่สุดเช่นกัน การจะกดขี่ขูดรีดให้แรงงานทำงานไม่ไหวหรือตายไปจึงไม่ใช่จุดประสงค์ของทุนนิยม เพราะจะขาดคนทำงาน ผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับแรงงานจึงอยู่ที่การต่อรองของทั้งสองชนชั้น การต่อรองเพื่อให้ได้ความมั่นคงที่ดีขึ้นของการจ้างงานของแรงงาน จึงมีส่วนสำคัญและเป็นไปได้ เนื่องจากแรงงานก็เป็นส่วนที่สำคัญในการผลิตของนายทุน การรักษาแรงงานที่ดี ผลิตได้ตรงตามเวลาและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน จึงมีความสำคัญตามไปด้วย ข้อเสนอเหล่านี้จึงไม่ใช่เป็นการล้มล้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่เป็นการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่ายบนพื้นฐานของทุนนิยม หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า ‘win-win’

กรณีประเทศไทย ปัญหากับดักรายได้ปานกลางเองจึงเป็นปัญหาที่คงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นให้มีความขัดแย้งมากขึ้นไปอีกจนเกิดความเหลื่อมล้ำที่ไม่อาจประนีประนอมได้ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมีมากเกินไป และเกิดปัญหาคนส่วนบนไม่กี่เปอร์เซ็นถือครองความมั่งคั่งมากกว่า 90% ของทั้งประเทศ (Phongpaichit 2016, 5) ทำให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังทางการเมืองตามมาจากความไม่ยุติธรรมทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงทางการการเมือง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการกระจายความมั่งคั่งในยุครัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจการเมือง ที่ทำให้นายทุนยุคก่อนหน้าที่อยู่บนยอดพีระมิดหรือกลุ่ม “ร้อยละ 1” นั้นต้องเสียผลประโยชน์ และยังถูกแบ่งปันมายังนายทุนที่มีความมั่งคั่งรองลงมา ที่เป็นบรรษัทไม่ใหญ่ หรือไม่มีได้เป็นผู้ประกอบการ แต่เป็นผู้มีอิทธิพลในภาครัฐระดับสูง ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของไทยหลังทักษิณจึงเป็นเศรษฐกิจที่เอื้อให้กับคนกลุ่มน้อยที่มีความมั่งคั่ง (oligarchic economy) ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้นิยมชมชอบประชาธิปไตย เพราะทำให้ตนเองเสียผลประโยชน์ที่ได้มาจากเครือข่าย (Phongpaichit 2016, 17) และเสรีนิยมใหม่ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเก่าของไทยนั้นสั่นคลอน (Hewison 2005, 326) กลุ่มที่เสียผลประโยชน์และอำนาจเก่าจึงต่อต้านทุนสามานย์และประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน

แม้ว่าทักษิณจะทำให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่การทำให้เป็นประชาธิปไตยของทักษิณคือการทำผ่านการทำให้ไทยเป็นเสรีนิยมใหม่ โดยการเปลี่ยนแรงงานรากหญ้าให้กลายเป็นนายทุนน้อย หรือผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้านหรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งอีกแง่หนึ่งก็เป็นการถือกำเนิดใหม่ของลัทธิประชานิยมในไทย (Phongpaichit and Baker 2008) และเกิดความขัดแย้งใหม่ในการเมืองภาคประชาชนของประเทศไทย ที่มีสาเหตุมาจากการขัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่แสดงออกทางการเมืองที่หวังผลทางการเมือง และมีเบื้องหลังมาจากการถูกทำให้เป็นเสรีนิยมใหม่ ที่ทำให้แรงงานอ่อนแรงลง เพราะถูกผลักออกไปให้อยู่ในภาคส่วนการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและไม่เป็นทางการ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงและเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

การที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอยู่กับดักรายได้ปานกลางทำให้ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ และทำให้ไม่มีเงินส่วนเกินไปจ่ายส่วนที่เป็นสวัสดิการ ซึ่งตรงนี้ก็อาจมีการอภิปรายกันได้เมื่อนำตัวเลขมากางจริง ๆ ว่า มันมีมากน้อยขนาดไหน และสามารถโยกย้ายเงินส่วนไหนมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ได้ แต่คำถามที่สำคัญกว่าอีกอย่างหนึ่งคือ ใครจะให้ ? การจะเดินไปแบมือขอผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องงบประมาณให้โยกมาเป็นค่าสวัสดิการก็คงเป็นไปได้ยาก ครั้นจะรวมตัวกันเป็นการเรียกร้องที่มีอำนาจต่อรองก็ไม่ได้ เนื่องจากเป็นนายทุนน้อยไม่มีกลุ้มก้อนทางเศรษฐกิจให้รวมกลุ่มเป็นเอกภาพได้ การเคลื่อนไหวจึงออกมาเป็นแนวทางของการเมืองภาคประชาชนที่เน้นจำนวนคนและอารมณ์เป็นหลัก โดยมีจุดร่วมเพียงทุกคนเป็นประชาชน ซึ่งไม่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจได้เลย อาจมีแรงกดดันต่อรัฐได้บ้าง แต่ก็ไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่รัฐจะควบคุมได้ จากตัวอย่างการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มเยาวชนปลดแอก ในปัจจุบัน เพราะ การเรียกร้องในทางเศรษฐกิจถูกตัดขาตั้งแต่การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ให้มีแรงงานในระบบเป็นกำลังงาน (workforce) เพราะถูกผลักออกไปอยู่ในภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการและได้รับการจ้างงานแบบไม่มั่นคงทั้งสิ้น

การจ้างงานแบบไม่มั่นคงและเปราะบางจึงเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถมีสวัสดิการให้กับแรงงานได้ คนที่ไม่ใช่แรงงานยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะสัดส่วนของภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการนั้นสูงถึงร้อยละ 54 (Komin et al. 2021, 1) ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการนี้ก็เป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งงานที่ไม่มั่นคง (precarious work) นั้น เป็นงานที่ไม่แน่นอนทั้งในเรื่องเวลาและเนื้องาน มีรายได้ต่ำ และมีผลตอบแทนในทางสังคมและสถานภาพต่ำ ซึ่งทำให้ไม่มีความมั่นคง เพราะเวลาที่ไม่แน่นอนทำให้ความแน่นอนทางรายได้ไม่มี อีกทั้งยังไม่สามารถบ่งบอกถึงสถานะของอาชีพของตนเองได้ สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติเสรีนิยมใหม่ (Hewison and Tularak 2013, 447) ที่ทำให้การทำงานนั้นไม่เป็นหลักแหล่งและรายได้ถูกกระจายออกไปเป็นส่วน ๆ จึงทำให้ไม่มีความมั่นคงในสถานภาพการเงิน และที่สำคัญไม่ได้รับการคุ้มครองในสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ซึ่งอาจได้ยินกันคุ้นหูในชื่อของ “แรงงานนอกระบบ”

         ปัญหาสำคัญจึงคือการที่บรรษัทหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ต้องการรับแรงงานในระบบเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่ต้องตามมาจากการจ้างงาน ดังนั้น การตัดปัญหาเพื่อไม่ต้องใช้จ่ายในส่วนนี้ จึงต้องตัดการจ้างงานที่เป็นลักษณะประจำ มั่นคง ถาวร ออกไป แล้วหันไปจ้างงานแบบไม่มั่นคง ชั่วคราว เป็นช่วงเวลา หรือนอกเวลา มาแทน เพื่อลดต้นทุนในส่วนนั้นออกไป การจ้างานจึงนิยมจ้างงานที่ผู้รับจ้างนั้น มีเครื่องมือและอุปกรณ์สำเร็จรูปพร้อมทำงานได้แล้ว เช่นการจ้างงานแบบ          outsource ที่ผู้รับจ้างเป็นผู้ประกอบการเหมือนกัน มีเครื่องมือที่ต้องลงทุนเองมาทำงานให้บริษัทใหญ่อีกทอดหนึ่ง จึงลดต้นทุนได้ในส่วนของการจ้างประจำ ได้การจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากกว่า (Hewison and Tularak 2013, 455) บริษัทที่รับ outsource ก็เป็นบริษัทเล็กกว่า ที่ต้องแบกรับภาระการจ้างงานแรงงานของเขาเอง ซึ่งก็เป็นส่วนน้อย และหากเป็นธุรกิจ outsource ที่มีขนาดไม่ใหญ่ เป็นผู้ประกอบการรายย่อยก็อาจตกอยู่ในภาวะของการเป็นนายทุนน้อย ที่ไม่มั่นคงขึ้นไปอีก บริษัทใหญ่จึงได้ลดต้นทุน และผลักภาระความเสี่ยงเหล่านี้ไปที่บริษัทที่เล็กกว่า

นอกจากนี้ ในภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ทางการผลิต การได้มาซึ่งงาน หรือชิ้นงานหนึ่ง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องได้มาจากแรงงานอีกต่อไป ซึ่งการปฏิวัติเสรีนิยมใหม่ ได้ทำให้ชิ้นงานสามารถเกิดขึ้นได้จากนายทุนน้อย หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นนายตัวเองอีกเช่นกัน ซึ่งหากมองที่ปลายทาง ก็คือได้ชิ้นงานเหมือนกัน อาจไม่มีความแตกต่างกัน แต่ในแง่ของความเป็นแรงงานและการมีสำนึกร่วมความเป็นแรงงานนั้น มันทำให้ความสำคัญของชนชั้นแรงงานและอำนาจในการรวมตัวและต่อรองของแรงงานนั้นลดลง กล่าวคือ การทำให้มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคงมากขึ้น และการผลักให้งานเกิดจากภาคที่ไม่เป็นทางการมากขึ้นนั้น ได้ลดทอนอำนาจของแรงงานในการรวมตัวกันเป็นเอกภาพ และลดทอนการมีสหภาพแรงงานไว้ต่อรอง ร่วมถึงการต่อรองร่วม ดังที่ได้อธิปรายไปในช่วงต้นของบทความ

ดังที่ Hewison and Tularak (2013, 457 – 9) ได้ยกตัวอย่างถึงกรณีของบริษัท Goodyear (Thailand) ที่มีการจ้างงานแบบปกติ แบบระยะยาว แบบระยะสั้น และแบบรายชั่วโมง ซึ่งมีสหภาพแรงงานถึงสองสหภาพ คือ Tire & Rubber Worker Union และ Supervisor Goodyear Union ในปี 2001 มีคนงานที่รับจ้างโดยสัญญา 18 เดือนมาเข้าร่วมสหภาพแรก ทางสหภาพจึงเจรจาเพื่อต่อสัญญาอีก 3 ปี เมื่อถึงเวลา แต่ทางบริษัทกลับสงสัยว่าทำไมคนงานที่อยู่ในสัญญาระยะสั้นนั้นสามารถเข้าร่วมสหภาพได้ และไม่คิดว่าเขาควรจะได้สวัสดิการเท่ากับพนักงานประจำ และเมื่อระหว่างปี 2003 – 2004 ทางบริษัทจึงไม่ต่อสัญญาให้กับคนงานระยะสั้นเหล่านั้น และคนงานที่ไม่ยอมเซ็นสัญญาที่ลดสวัสดิการและผลประโยชน์ลงนั้นถูกไล่ออก ทางสหภาพจึงไปฟ้องศาลแรงงาน และยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมที่บริษัทหยิบยื่นให้ ที่ไม่สามารถใช้สิทธิในการต่อรองร่วมของแรงงานได้ ผลที่ได้คือทางบริษัทได้ปลดประธานสหภาพแรงงานออก เนื่องจากทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง แม้ว่าเขาจะได้กลับมารับตำแหน่งในอีกครึ่งปีต่อมาก็ตาม ต่อมาในปี 2005 บริษัทได้ยกเลิกจ้างแรงงานระยะสั้นทั้งหมด และจ้างพนักงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพมาแทน จากการสรรหาของ “ตัวแทนจัดหาแรงงาน” พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ได้ยื่นคำร้องทันที คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงตัดสินในปี 2006 ว่าพนักงานที่ถูกเลิกจ้างควรได้กลับเข้าทำงาน แต่ทางบริษัทก็เมินเฉยและฟ้องกลับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จากนั้นในปี 2006 บริษัทจึงได้ไล่ประธานสหภาพออกอีกครั้ง และแม้ว่าต่อมา ศาลแรงงานจะสั่งให้บริษัทจ่ายเงินทดแทนพนักงานที่ถูกไล่ออกทั้งหมด แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการจ้างของบริษัท Goodyear (Thailand) เลย

จึงน่าสนใจว่า นอกจากการจ้างงานที่ไม่มั่นคงจะเกิดขึ้นเพราะภาคส่วนที่ไม่มั่นคงหรือผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว ภาคส่วนที่มั่นคงที่เป็นบริษัทใหญ่อย่าง Goodyear (Thailand) ก็ยังใช้การจ้างงานแบบไม่มั่นคงในอัตราที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน สังเกตได้ว่า แม้จะเป็นบริษัทใหญ่ ที่อนุญาตให้มีการตั้งสหภาพแรงงานถึงสองแห่ง ยังพยายามที่จะลดสมาชิกและอำนาจในการต่อรองร่วมของสหภาพแรงงานลง เป้าหมายของนายทุนจึงไม่ใช่แค่การประหยัดต้นทุนและจ้างงานแบบระยะสั้นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการลดศักยภาพในการต่อรองของแรงงานอีกด้วย อีกแง่หนึ่ง เราก็เห็นว่า การมีสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกอยู่แต่เพียงในองค์กรเดียวกันนั้น ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้มาก กรณี Goodyear (Thailand) ทำให้เห็นว่า แม้แต่อำนาจศาลหรือคณะกรรมการของภาครัฐ ทางบริษัทก็ไม่ได้แยแสอะไร และกลับฟ้องกลับอีกด้วย การจะทำให้เกิดอำนาจต่อรองเพื่อเรียกร้องค่าจ้าง ความมั่นคง—ซึ่งความมั่นคงในที่นี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า security ซึ่งกินความไปถึงความปลอดภัยในชีวิตด้วย—หรือสวัสดิการในการจ้างงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินทุนเมื่อออกจากงาน หรือเงินบำนาญ จึงต้องทำในรูปแบบของแรงงานในอัตราส่วนที่ใหญ่ คือต้องมีแรงงานประเภทเดียวกันในต่างบริษัทด้วย คือหากจะเลิกจ้าง ก็ไม่สามารถไปหาคนงานมาทำแทนจากที่อื่นได้แล้ว จึงจะไม่เกิดกรณีเอาชาวนาหมู่บ้านอื่นมาเกี่ยวข้าวหมู่บ้านแรก หรือหากจะทำให้เกิดอำนาจต่อรองในระดับประเทศ จะต้องรวมตัวแรงงานทั้งหมดทุกอาชีพเข้าร่วม การใช้กลไกนัดหยุดงาน หรือการยื่นข้อเสนอเพื่อต่อรองต่าง ๆ จึงจะมีพลัง ทั้งสองชนชั้นจึงจะสามารถประเมินกำลังกันได้ และสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นธรรมได้ทั้งสองฝ่าย

แรงงานจึงต้องเข้าใจว่าการรูปแบบและลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น และดูเหมือนจะสบายนั้น เป็นกระบวนการที่นายทุนใช้ในการขูดรีดแรงงานแบบไม่รู้ตัว ด้วยการจ่ายค่าจ้างให้น้อยลง และตัดค่าใช้จ่ายในมิติอื่นรวมถึงสวัสดิการ การให้มีรายได้ขั้นพื้นฐานสากล หรือ UBI ที่ต้องการให้เงินใช้แบบฟรี ๆ ทำให้แรงงานรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำงานก็มีพอกิน จึงเป็นการลดจำนวนแรงงานลง หรือไม่ก็พยายามดึงให้แรงงานไปเป็นผู้ประกอบการ ที่เป็นนายทุนน้อย เพราะจะสามารถเปลี่ยนความรับรู้และดิสคอร์สเกี่ยวกับการจ้างงานให้กับแรงงานที่กลายไปเป็นผู้ประกอบการได้เลยในชั่วข้ามคืน เพราะเป้าหมายของผลประโยชน์ระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการนั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นนายทุนน้อยหรือนายทุนใหญ่

อ้างอิง

Hewison, Kevin. 2005. ‘Neo-Liberalism and Domestic Capital: The Political Outcomes of the Economic Crisis in Thailand’. The Journal of Development Studies 41(2): 310–30.

Hewison, Kevin, and Woradul Tularak. 2013. ‘Thailand and Precarious Work: An Assessment’. American Behavioral Scientist 57(4): 444–67.

Jitsuchon, Somchai. 2012. ‘Thailand in a Middle-Income Trap’. TDRI Quarterly Review 27(2): 8.

Komin, Wichaya, Rungnapa Thepparp, Borvorn Subsing, and David Engstrom. 2021. ‘Covid-19 and Its Impact on Informal Sector Workers: A Case Study of Thailand’. Asia Pacific Journal of Social Work and Development 31(1–2): 80–88.

Phongpaichit, Pasuk. 2016. ‘Inequality, Wealth and Thailand’s Politics’. Journal of Contemporary Asia 46(3): 405–24.

Phongpaichit, Pasuk, and Chris Baker. 2008. ‘Thaksin’s Populism’. Journal of Contemporary Asia 38(1): 62–83.

Phongpaichit, Pasuk, and Pornthep Benyaapikul. 2012. ‘Locked in the Middle-Income Trap : Thailand’s Economy between Resilience and Future Challenges’. Friedrich Ebert Stiftung: 53.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: