Articles

ข้อเสนอ ‘การสอบสวนแบบองค์คณะ’ ในคดีสำคัญหรืออยู่ในความสนใจของประชาชน โดย ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์

ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์
*ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา กรมการปกครอง
**วิทยากรประจำหลักสูตรสืบสวนสอบสวนพนักงานฝ่ายปกครอง วิทยาลัยการปกครอง
***อาจารย์พิเศษ วิชาสืบสวนสอบสวน คณะนิติศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ

“คดีสำคัญหรือคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
ถ้าสอบสวนแบบเป็น “องค์คณะสอบสวน” จะดีไหม”

ก่อนที่จะกล่าวถึงรูปแบบการสอบสวนในคดีสำคัญฯ ที่ผมกำลังจะนำเสนอ ขอเกริ่นถึงการสอบสวนคดีทั่วไปและคดีพิเศษที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันเสียก่อน

#การสอบสวนคดีทั่วไป ของไทย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของตำรวจและฝ่ายปกครอง แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ทั้งสองฝ่ายซึ่งแต่เดิมอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยด้วยกัน ได้ออกข้อบังคับกำหนดให้การสอบสวนไปเริ่มต้นที่ฝ่ายตำรวจ โดยฝ่ายปกครองจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือควบคุมการสอบสวน

แต่เมื่อมีการออกคำสั่ง ตร.ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ตำรวจก็ปฏิเสธการเข้าควบคุมการสอบสวนของฝ่ายปกครองมาโดยตลอด เป็นเหตุให้ปัจจุบันฝ่ายปกครองคงสอบสวนกฎหมายในอำนาจหน้าที่ของตนเองเพียง 16 ฉบับ

#การสอบสวนคดีพิเศษ โดยใน พ.ศ. 2547 ได้มีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปท์ การให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และร้ายแรง อาทิ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (White Collar Crime) องค์กรอาชญากรรม (Organization Crime) หรืออาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Crime) ซึ่งได้กำหนดประเภทคดีไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จำนวน 22 คดีความผิด และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อีกจำนวน 19 คดีความผิด

ซึ่งในคดีพิเศษ นอกจากการสอบสวนด้วยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแล้ว มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้เปิดช่องให้อธิบดี DSI สามารถแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาเป็นที่ปรึกษาในการสอบสวนคดีพิเศษได้

อีกทั้งในมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ก็ยังให้พนักงานอัยการสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้คำแนะนำและตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มการสอบสวนได้อีกด้วย ทั้งมาตรา 30 และ 32 นี้ ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอบสวน และถือเป็นการสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ในการสอบสวนคดีนั้นๆ นั่นเอง

#องค์คณะสอบสวน จริงๆ แล้วนี่คือ ข้อเสนอที่นำหลักการของ DSI ในการสอบสวนคดีพิเศษมาต่อยอด โดยคดีสำคัญหรือคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนนั้น อาจไม่ได้มุ่งหมายแค่การให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างหลักประกันความยุติธรรมที่สังคมจะยอมรับได้ว่า คดีนั้นๆ ได้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและมีหลักประกันความเป็นธรรมอย่างที่สุด

การสอบสวนด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากหลายฝ่าย มาร่วมกันทำการสอบสวน อาจตอบโจทย์ในส่วนของการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพได้ แต่การสอบสวนที่สังคมจะยอมรับว่าเป็นธรรมที่สุดนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ยากมากๆ แต่สิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือ การใช้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) มาเป็นหลักประกันความยุติธรรม

Check and Balance คือ การไม่ให้คนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำงานไปโดยลำพัง อย่างผูกขาดและตัดตอน ซึ่งการให้มีคนอื่นหรือหน่วยงานอื่นได้เข้ามารับรู้ นอกจากการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้ว ก็ยังจะได้ช่วยเหลือและร่วมมือกันทำงาน ก็จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

จริงๆ แล้วในปัจจุบัน ป.วิ.อาญา ก็มีการนำรูปแบบการทำงานแบบองค์คณะมาใช้แล้วอยู่ในมาตรา 150 ในการชันสูตรพลิกศพ 4 ฝ่าย กรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (วิสามัญฆาตกรรม) หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์

เช่นนี้ การสอบสวนในคดีสำคัญและคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ในรูปแบบ “องค์คณะสอบสวน” ก็ควรเป็นการร่วมกันของผู้มีอำนาจสอบสวนจากทุกๆ ฝ่าย ตั้งแต่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง DSI และพนักงานอัยการ

ส่วน “หัวหน้าองค์คณะสอบสวน” หากเทียบเคียงเอาจากในคดีวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าว ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคดีสำคัญ ป.วิ.อาญา มาตรา 143 วรรคท้าย จึงกำหนดให้อัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจพิจารณาคดี ดังนั้น อัยการสูงสุดก็ควรเป็นหัวหน้าองค์คณะสอบสวนในคดีสำคัญและคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

อนึ่ง นอกจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีอำนาจสอบสวนดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีอำนาจสอบสวนในคดีเฉพาะด้านอีก อาทิ ป.ป.ง. ป.ป.ส. ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. เป็นต้น หรือหน่วยงานที่สายสนับสนุนกระบวนยุติธรรม อย่างเช่น สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ หรือสำนักงานคุ้มครองพยาน เป็นต้น ก็อาจเข้ามาเป็นองค์คณะสอบสวนได้เดียวเช่นกัน

ท้ายนี้ หากในอนาคตระบบการสอบสวนของไทย จะสามารถเพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ให้สามารถเข้ามา Check and Balance ได้อีกส่วนหนึ่ง ก็เชื่อว่า การสอบสวนของไทยจะเป็นที่ยอมรับได้อย่างที่พวกเราฝันเอาไว้ได้ …สักวันหนึ่ง

————————————–

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: